Saturday 25 May 2013

งานสำรวจฯ 'วงรอบ 2D' ตอนที่ 4...ตัวอย่าง งานสำรวจฯวงรอบที่คลาดเคลื่อน 'พิมพ์นิยม'

บทความอ้างอิง:
ตัวอย่าง งานสำรวจฯวงรอบที่คลาดเคลื่อน 'พิมพ์นิยม'
>> ตัวอย่างงานงานสำรวจฯ (เท่าที่ผู้เขียนจะรวบรวมได้) ซึ่งผู้เขียนได้ตรวจสอบแล้วว่า 'มีความผิดพลาด' เกิดขึ้นจริง นำมาให้เหล่าท่านได้รับทราบเป็นกรณีศึกษา และผู้เขียนขออนุญาติคัดลอกข้อความที่ผู้เขียนได้เคยกล่าวไว้ในตอนที่ 1

นานนับ 10 ปี จนถึงปัจจุบันกับงานตรวจสอบ และวิเคราะห์ดังกล่าว ผู้เขียนได้ผ่านพบเห็นอะไร ต่อมิอะไรมากมาย ทั้งงานสำรวจฯที่ถูกต้อง งานสำรวจที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อนขนาดใหญ่ หรือแม้แต่การ 'Make Up' ข้อมูลสำรวจฯ (แบบ 'ไม่เนียน' เอาเสียเลย) ก็ยังถูกส่งมาให้ตรวจสอบ (*_* '' )

1. งานสำรวจฯสิ่งปลูกสร้าง (As Built): คืองานสำรวจฯ เก็บตำแหน่งสิ่งปลูกสร้าง (ที่สร้างเสร็จแล้ว) อาทิ อาคาร ถนน ท่อน้ำ เสาไฟฟ้า ฯลฯ (คล้ายกับงานสำรวจโทโปฯ แต่ลักษณะงานจะมีความละเอียดมากกว่า โดยเฉพาะทางตำแหน่ง) เพื่อตรวจสอบว่า สิ่งปลูกสร้างที่สร้างเสร็จลงไปแล้วนั้น ถูกต้องตามแบบหรือไม่ ทั้งตำแหน่ง ขนาด ทิศทาง ฯลฯ...โรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่สร้างเสร็จแล้ว เป็นตัวอย่างของงานสำรวจฯประเภทนี้
* สังเกตุที่มุมขวาบน จะเห็นมีทิศเหนือกำกับ...บ่งชี้ว่างานสำรวจฯดังกล่าวใช้กริดสมมุติ Local Grid

โดยหลักการทั่วไป ก่อนทำการก่อสร้างใดๆ วิศวกรผู้รับผิดชอบจะต้องจัดให้มี หมุดฯควบคุม (หมุดหลักฐานอ้างอิง) เพื่อใช้ในโครงการฯ ซึ่งอาจจะได้มาจากวิธีการสำรวจฯวงรอบปิด โดยใช้กริดสมมุติ (นิยมใช้ ในไซต์ก่อสร้าง...ไม่จำเป็นต้องไปอ้างอิงกับพิกัดภูมิศาสตร์โลก ใดๆ) หรือใช้การสำรวจฯดาวเทียมด้วย GPS มากำหนดค่าพิกัดภูมิศาสตร์ให้กับหมุดฯควบคุม ซึ่งพบได้ในไซต์งานขนาดใหญ่ อาทิ นิคมอุตสาหกรรม สนามบิน เหมืองแร่ สนามกอล์ฟขนาดใหญ่ ฯลฯ

สิ่งที่ผู้เขียนตรวจพบ>> ขนาดความยาว ของตัวอาคารที่ได้จากงานสำรวจฯด้วยกล้องฯโททอล สเตชั่น 'ยาวกว่า' ความยาวที่กำหนดในแบบ (เกินไป 20 ซม.) ซึ่งจากการตรวจสอบเบื้องต้นโดยใช้เทปวัดระยะทาง พบว่าตัวอาคารถูกสร้างถูกต้องตามแบบ โดยวัดระยะด้วยเทป พบความยาวเกินมาเพียง 2 ซม. ซึ่งถือว่าใช้ได้ และเมื่อตรวจสอบความยาวของด้าน ด้วยกล้องฯโททอล สเตชั่น กับตัวสิ่งปลูกสร้างอื่นๆ พบว่าระยะทางบางด้าน ก็ถูกต้องสอดคล้องกับเทปวัดระยะ แต่ระยะทางบางด้านก็ผิดไป ต่างกันมาก...เกิดอะไรขึ้น กับงานสำรวจฯด้วยกล้องฯโททอล สเตชั่น?

หลังจากการสืบสาวราวเรื่อง พบว่าทีมสำรวจฯได้ใช้เครื่องมือ GPS ทำการกำหนดพิกัดทางราบให้กับหมุดฯควบคุมใหม่ (ของเดิมถูกไถทิ้งไปแล้ว) เป็นคู่ๆ (ตามภาพตัวอย่างด้านล่าง) เพื่อให้กล้องโททอล สเตชั่นใช้ออกงาน เก็บตำแหน่ง ฯลฯ
<คลิกที่ภาพ เพื่อขยาย>
จากภาพข้างต้น กล้องฯที่หมุดฯ GPS-1 ทำการส่องหลัง (B.S) ไปที่ GPS-2 ในขั้นตอนนี้กล้องฯ จะทำให้ทราบค่ามุมอะซิมัทไป-กลับระหว่างตัวกล้องฯ และเป้าหลัง และมีค่าความคลาดเคลื่อนของตำแหน่งพิกัดที่ได้จาก GPS  (มาก-น้อย) รวมอยู่ด้วย...จากนั้น หมุนกล้องส่องไปอ่านเก็บตำแหน่งของมุมอาคาร GYM...และในกรณีที่กล้องฯส่องไม่เห็นตัวมุมอาคารอีกด้าน ทีมสำรวจได้ใช้ GPS มาทำการกำหนดตำแหน่ง หมุดฯคู่ออกให้ คือ GPS-5 และ GPS-6 และใช้กล้องฯ ทำการสำรวจฯเก็บตำแหน่งต่อไป (ทีมสำรวจฯ ได้ทำซ้ำในลักษณะเดียวกัน สำหรับด้านอื่นๆ ที่กล้องฯส่องไม่เห็น

>> เมื่อผู้เขียนตรวจสอบ และ Process ข้อมูล Raw Data ของ GPS แต่ละหมุดฯ พบว่าค่าความคลาดเคลื่อนมากที่สุด (แสดงในตัวโปรแกรมฯ) มีเพียง 1 ซม. เท่านั้น...จากนั้น ผู้เขียนได้ทำการตรวจสอบ 'สมุดสนาม' ของผู้อ่านกล้อง ฯ ซึ่งได้จดบันทึก ความคลาดเคลื่อนทางมุม และระยะทางที่กล้องฯอ่านได้ ซึ่งปรากฎว่า...มีความคลาดเคลื่อนเฉลี่ยแกนละ 8-10 ซม. และนั่นคือที่มาของปัญหา ว่าทำไมระยะทางที่อ่านได้จากกล้องโททอล สเตชั่น ถึงได้แตกต่างจาก การวัดด้วยเทปวัดระยะ
แนวทางการแก้ไข: ให้ทำการสำรวจใหม่ โดยทำการเลือกหมุดฯ GPS ที่มีค่า Error (ค่าต่างทางมุม และระยะทาง) น้อยที่สุด นำมาใช้เป็นหมุดหลักฐานโครงงานฯ จากนั้น ทำการสำรวจฯขยายวงรอบออกไป และเข้าบรรจบกับหมุดฯคู่ออก และทำการคำนวณปรับแก้วงรอบ (ถ้างานวงรอบ 'ตกเกณฑ์ ให้กลับไปทำการสำรวจฯใหม่)...จากนั้น ใช้หมุดฯที่ปรับแก้ค่าพิกัดแล้ว ออกงาน เก็บตำแหน่ง (Side Shot) ต่อไป
>> ปัญหาการใช้เครื่องมือสำรวจฯดาวเทียม GPS ร่วมกับการใช้งานกล้องฯ ในงานสำรวจฯสิ่งปลูกสร้าง As Built ข้างต้น เป็นปัญหาที่ผู้เขียนตรวจพบ 'บ่อย' มากที่สุด ทั้งจากข้อมูลสำรวจฯที่ถูกส่งเข้ามาให้ทำการจาก บ.ในประเทศ และจากประเทศเพื่อนบ้าน (ปัญหาเดียวกัน 'เป๊ะ') ซึ่งสามารถสันนิษฐานได้ว่าปัจจุบันนี้ เครื่องมือสำรวจฯดาวเทียม GPS มีราคาถูกลงมาก จึงถูกนำมาใช้ในงานกำหนดตำแหน่งให้กับหมุดฯควบคุม แทนการทำการสำรวจรังวัดวงรอบ...และเมื่อไม่ให้ความสำคัญ หรือ 'มองข้ามงานสำรวจวงรอบ'...ตัวอย่างความคลาดเคลื่อนข้างต้น คือคำตอบ...'ต้องกลับไปทำการสำรวจฯใหม่'
* เคยเห็นโครงการบ้านจัดสรร และไซต์ก่อสร้างเล็กๆบางแห่ง เอา GPS ไปสร้างหมุดฯแบบข้างต้น แล้วรู้สึก 'เสียว' แทน...การสร้างหมุดฯลอย โดยใช้กริดสมมุติจะได้ผลลัพธ์ที่ดีกว่า อีกทั้งค่า 'มุม และระยะทาง' จะแน่นกว่า ไม่ต้องมาเสียวเรื่องมุมอะซิมัทเหวี่ยงไป เหวี่ยงมา อันเนื่องมาจากค่าพิกัดที่ได้จาก GPS (ณ พ.ศ. นี้, ในอนาคต อาจจะดีกว่านี้)


2. หน้าเดียว ก็เสียวได้: เป็นวิธีการ 'พิมพ์นิยม' ของนายช่างฯเด็กแนว พ.ศ. นี้ ที่ผู้เขียนพบเห็นอยู่บ่อยๆในหน้างาน ทั้งเด็กแนวในสารขันธ์ประเทศ และนายช่างฯเด็กแนวในประเทศเพื่อนบ้าน...เมื่อเด็กแนวทำการสำรวจฯวงรอบ เด็กแนวจะทำการอ่านค่าพิกัดจากกล้อง 'หน้าซ้าย'...BS/FS ไปเรื่อยๆ อ่านกล้องฯหน้าเดียวตลอดทั้งงานวงรอบ (ไม่เปลืองว่างั้น) และเมื่อกลับเข้ามาบรรจบกับหมุดฯแรกออก เด็กแนวจะทำการเปรียบเทียบค่าพิกัดที่ใช้ออก กับค่าพิกัดที่กล้องฯอ่านได้ตอนเข้าบรรจบ...ต่างกันกี่เซนติเมตร (หรือกี่เมตร?) ถ้าต่างกันมากเด็กแนวจะเริ่มลังเล เพราะไม่รู้จะปรับแก้ยังงัยดี เพราะจดบันทึกไว้เฉพาะค่าพิกัดหน้า กับค่าพิกัดหลัง มุมภายในก็ไม่ได้จดเอาไว้...ซวยล่ะสิ เอางัยดี ถ้าเสียเวลากลับไปสำรวจฯวงรอบใหม่เดี๋ยวโดนหัวหน้าด่า อ่อ...นึกออกแล้ว! เอาค่าพิกัดที่กล้องฯอ่านได้ มาคำนวณหาค่าอะซิมัท กับระยะทาง เท่านี้ก็คำนวณวงรอบได้แล้ว ถ้างานวงรอบไม่เข้ามาตรฐานค่อย Make Up เอาก็แล้วกัน...มุบมิบ อุบอิบ เอาไว้ ไม่มีใครรู้ อิอิ ^_^

อีกหนึ่งวิธีการที่เด็กแนวนิยม คือการขยายหมุดฯควบคุม ด้วยกล้องหน้าซ้าย ไปเรื่อยๆ 'แบบเปิด' ไม่ต้องไปเสียเวลา 'เข้าปิด' กับหมุดฯใดๆ ให้เสียอารมณ์ 
>> ผู้เขียนได้มีโอกาสตรวจสอบ ตารางคำนวณวงรอบในลักษณะเช่นนี้ ของชนชาวเด็กแนว อยู่บ่อยๆ นั่นคือ มีแต่มุมอะซิมัท+ระยะทาง และตารางการปรับแก้ค่า Latitude กับ Departure ส่วนมุมภายใน 'ไม่มี'
* งานสำรวจรังวัดวงรอบ เป็นงานที่มีการตรวจสอบสภาวะทางมุมและระยะทาง ด้วยกฏของเรขาคณิต จากจุดเริ่มต้นออกงานไปจนถึงจุดเข้าบรรจบ ฉะนั้นมุมภายใน (หรือคำนวณปรับแก้แบบใช้มุมภายนอก) ในแต่ละแขนของมุม จึงมีความสำคัญมาก...จึงได้มีการตั้งเป็นกฏเกณฑ์มาตรฐานงานสำรวจฯวงรอบ ในการอ่านกล้องฯทั้งหน้าซ้าย-หน้าขวา เพื่อขจัดความคลาดเคลื่อนทางมุม

3. จะ Make Up งานคำนวณวงรอบทั้งที ก็ Make ให้มัน เนียนๆ หน่อย อย่า 'ปล่อยไก่: งานตรวจสอบข้อมูลสำรวจฯชิ้นนี้ คืองานตรวจการคำนวณวงรอบ ของงานสำรวจฯชลประทาน (คลองระบายน้ำ) ที่ประเทศเพื่อนบ้าน...ผู้เขียนตรวจฯงานไป ก็ขำ+ฮา ไปด้วย เหตุที่ว่า แค่มองเผินๆ ก็รู้แล้วว่า Make ข้อมูลส่งมา แต่ทำไมถึงได้ Make แบบ 'ปล่อยไก่' กันทั้งเล้าขนาดนั้น 'ไม่เนียน' เอาเสียเลย....เรื่องมีอยู่ว่า ผู้รับผิดชอบโครงการฯได้ตรวจพบค่า Ratio เข้าบรรจบของตารางคำนวณวงรอบ (Excel) ได้เกือบ 1:500,000  ประมาณว่า 'งานสำรวจวงรอบชั้นที่ (เกิน) 1' ขั้นเทพ!...,มันจะเป็นไปได้หรือ? ตารางคำนวณดังกล่าว จึงถูกส่งต่อมาให้ผู้เขียนตรวจสอบ
Cut ภาพ ตัวอย่างมาบางส่วน
>> จากตารางข้างต้น จะเห็นว่ามีมุมภายใน ระหว่างหมุดฯถูกสำรวจฯมาด้วย (งานวงรอบ มันต้องมีมุมภายในแบบนี้สิ ถึงจะถูก) แต่เริ่มแปลกใจว่าทำไม หมุดฯ B1, B2, B3 และ B4 ทำไมถึงมีค่ามุมภายใน 'เท่ากัน' เป๊ะๆ ทั้ง 4 หมุด ทำได้งัยเนี่ย?...พอมองไปที่คอลัมน์ ระยะทาง โอวว...แม่เจ้า! ระยะ 300-400 ม. ถือว่าไกลมากแล้ว ผู้เขียนมิหาญกล้าเด็ดขาด โดยเฉพาะตอนอากาศร้อนๆ ไอแดดระยิบระยับ...แถมท้ายด้วย หมุดฯ B5 และ B6 ทำไมระยะทางวงรอบถึง 'สั้นได้ใจ' จริงๆ เพียงแค่ 7.775 ม.?? ...แต่ที่ทำเอาตะลึง พรึงเพลิดกันทั้งแว่นแคว้น แดนสารขันธ์ ต้องระยะทาง 1727.391 ม. นี่สิ คุณพระช่วย...ทำได้งัยเนี่ย (1.7 กิโลเมตร) ? ผู้เขียน ยังไม่เคยอาจหาญ เอากล้องไปอ่านเป้าไกลๆถึงเพียงนั้น...มันต้อง 'ขั้นเทพ' เท่านั้น ถึงจะรังสรรค์ผลงาน จากสวรรค์เช่นนั้นได้...

ผู้เขียนไล่ตรวจสอบ หาค่าแปลกปลอมอื่นๆ ก็ไม่พบ เป็นแค่เพียงตารางวงรอบ ที่สร้างจากโปรแกรม Excel  (ใส่สูตรฯ) ธรรมดา แต่ที่ไม่ธรรมดาจริงๆ เมื่อมีค่า Misclosure วงรอบเท่ากับ 1:480,520 นี่มัน งานวงรอบชั้นที่ 1 Class A ขั้นในฝัน ของชนชาวรังวัด ที่ได้แต่แค่ฝันถึง...เมื่อสอบถามถึงชนิด+รุ่นของกล้องสำรวจฯที่ใช้ ปรากฏว่าเป็นกล้อง Topcon รุ่น 102N ธรรมดา หรือรุ่นสับขาหลอก แล้วปล่อยให้ งง ที่ชื่อ Gowin 102
  
>> บั้นปลาย ท้ายที่สุด ผู้เขียนทราบต่อมาว่าผู้บริหารฯเรียกผู้เกี่ยวข้องไปสอบถามในความผิดปรกติของข้อมูลงานวงรอบดังกล่าว และค้นพบว่า Make ข้อมูลกันจริงๆ...โดน 'เฉ่ง' ตั้งแต่หัวหน้ายันลูกน้อง โทษฐานรังสรรค์ผลงานวงรอบ 'ขั้นเทพ' (ขั้นสวรรค์สร้าง)

4. ในพื้นที่สำรวจฯ มีหมุดฯ GPS ให้แล้ว...แต่มีให้เพียงหมุดเดียว: นายช่างรังวัดบางท่าน ถึงกับออกอาการ 'ไปไม่เป็น' กันเลยทีเดียว เพราะไม่รู้ว่า จะเอาอะไรมาเป็นแบ๊คไซด์ (เครื่องมือสำรวจฯดาวเทียม GPS ก็ไม่มี) แล้วทำงัยดีล่ะ?

- บางท่าน นำเอาเป้าแบ๊คไซต์ (B.S) ไปตั้งที่หมุดฯ GPS ที่ทราบค่าพิกัด จากนั้นไปเดินหาตำแหน่ง ที่ควรจะใช้เป็นจุดตั้งกล้องฯ โดยเมื่อเล็งมาที่เป้าแบ๊คไซต์ (B.S) ตั้งอยู่ จะต้องเห็นอยู่ในตำแหน่งทิศเหนือพอดี (เทียบเอาจากเข็มทิศ)...วิธีการนี้ ผู้เขียนเอง ก็ไปไม่เป็นเหมือนกัน (*_* " )

- บางท่านใช้วิธีตั้งกล้องฯ บนหมุดฯ GPS นั่นล่ะ แล้วเอาเป้าแบ๊คไซต์ (B.S) ไปตั้งทางทิศเหนือของหมุดฯ (เล็งเอาจากเข็มทิศ) ก็สามารถทำการออกงานต่อได้ โดยใช้ค่าพิกัดจากหมุดฯ GPS ที่มีอยู่แล้วเป็นค่าออกพิกัด และคำนวณต่อๆกันไป...แต่ 'ลืมคิดไปว่า' ได้ใช้เข็มทิศเป็นตัวกำหนดทิศทางของโครงงานสำรวจฯ และค่าพิกัดของหมุดฯ GPS ที่ใช้ออกค่าพิกัดนั้นก็เปรียบประหนึ่ง 'ค่าสมมุติเท่านั้น' (แต่เข้าใกล้ค่าจริง)


การนำเข็มทิศมากำหนดทิศทางให้กับงานสำรวจแผนที่ฯนั้น จะทำให้โครงงานสำรวจฯ ถูกหมุนไปในทิศที่เรียกว่า 'ทิศเหนือแม่เหล็ก' (เรียกมุมอ้างอิงทิศเหนือแม่เหล็กว่า 'อะซิมัทแท้' แต่ไม่จริงแท้ 100% เพราะเป็นทิศเหนือที่ได้จากเข็มแม่เหล็ก ซึ่งยังมีความคลาดเคลื่อนอยู่มาก ในการชี้ทิศไปที่ตำแหน่งขั้วโลกเหนือที่แท้จริง) 

>> เมื่องานสำรวจฯดังกล่าว (เป็นไฟล์ CAD) ถูกส่งมาถึง...ผู้เขียนได้ตรวจพบว่า จุดสำรวจฯทั้งหมดถูกบิด/หมุน ไปตามทิศทางของเข็มทิศ ชี้ไปทางทิศเหนือ (ไม่ได้ถูกหมุนไปตามทิศเหนือกริด ในระบบ UTM) แต่ในรายงานการสำรวจ กลับอ้างถึงการใช้ระบบ WGS84-UTM โซน 47N เป็นระบบที่ใช้ในการสำรวจทั่วทั้งโครงงานฯ ซึ่ง 'ไม่ถูกต้อง' ในความเป็นจริง
* การกำหนดทิศทาง ของโครงงานสำรวจฯให้อ้างอิงเข้ากับทิศเหนือ "จริงๆ" (ไม่ใช่ ทิศเหนือลับ ลวง พราง ที่ได้จากเข็มทิศ 'ป๋องแป๋ง') นั้น...เท่าที่ ผู้เขียนทราบ ค่าย Sokkia (Topcon) มีกล้องโททอล สเตชั่น ที่สามารถค้นหาตำแหน่งทิศเหนือ "จริง" โดยมีค่าความคลาดเคลื่อนจากทิศเหนือจริง เพียง 15" เท่านั้น คือ Sokkia รุ่น 'GYRO X' และที่สำคัญ มันไม่ต้องการแบ๊คไซด์...O_o
ชนชาวช่างรังวัด ที่ชื่นชอบการสร้าง 'หมุดลอย' ในไซต์งานก่อสร้าง
ต่างพากันซี๊ดปาก อยากได้ซักตัว (เรือนล้านบาท)


Conclusion:
>> "งานสำรวจรังวัดวงรอบ" เป็นงานที่ 'ยังมิได้ล้มหายตายจากไป' อย่างที่ชนบางกลุ่มเข้าใจ และยังเป็นงานที่มี 'ความสำคัญอย่างยิ่ง' ในศาสตร์การสำรวจรังวัด...แต่ที่ไม่ปรากฏ ให้พบเห็นบ่อยนัก ดังเช่นในอดีต ด้วยเหตุว่าในปัจจุบันนี้ งานสำรวจรังวัดวงรอบได้ถูก 'ละเลย และไม่ให้ความสำคัญ หรือคิดว่าไม่ใช่สิ่งจำเป็น'...ซึ่งความคิดเช่นนั้น เป็นความคิดที่ Absolutely Wrong และได้นำมาซึ่ง 'ความผิดพลาด' ของงานสำรวจฯ ดังตัวอย่างข้างต้น

ถึงแม้ว่าอุปกรณ์สำรวจรังวัดดาวเทียม GPS จะเป็นเครื่องมือที่เข้ามามีบทบาทในงานสำรวจฯ เกือบทุกประเภทในปัจจุบัน...แต่...ก็เป็นเพียงงานสำรวจฯในพื้นที่เปิดโล่งเท่านั้น ส่วนในพื้นที่ปิด อาทิ พื้นที่ป่าทึบที่ต้องใช้การถากถาง  ตัดฟัน อุโมงค์ใต้ดิน หรืออุโมงค์รถไฟ ฯลฯ ซึ่งต้องอาศัยงานสำรวจฯวงรอบปิด เท่านั้น...เป็นอื่นไปมิได้

อุปกรณ์สำรวจรังวัดดาวเทียม GPS ณ พ.ศ. นี้ ยังเป็นอุปกรณ์ที่มีความคลาดเคลื่อนทางมุม และระยะทาง อยู่พอสมควร 'จึงไม่เหมาะสม' สำหรับงานสำรวจฯที่ต้องการความละเอียดสูง หรืองาน Detail ทางวิศวกรรม ต่างๆ


ผู้เขียนมีความคาดหวังว่า บทความในชุด งานสำรวจฯ 'วงรอบ 2D' ทั้ง 4 ตอนนี้ 
จะเป็นสิ่งที่ช่วยกระตุ้นเตือนให้ท่านผู้ศึกษา ได้เห็นถึงความสำคัญของงานสำรวจฯวงรอบ
เพื่อผลสัมฤทธิ์ และมีความถูกต้อง ของงานสำรวจรังวัดที่ดำเนินอยู่ ต่อไป
Author supported to Thai Topo and Land Surveyors United

9 comments:

  1. สวัสดีครับ ผมแอบติดตามพี่ เมื่อไม่กี่วันนี้ พอดีสนใจอยากจะเขียน เรียนรู้ C3d ให้เป็นครับ จะได้สอนคนอื่นได้ อ่าน blog พี่ได้เนื้อหา สาระมากมายครับ
    blog นี้ ผมขอเสริม เรื่อง GPS หมุดเดียว ใช้ออกงาน เหล่านักสำรวจทั้งหลาย คงลืมเรื่อง การรังวัดทางดาราศาสตร์ ไปแล้วกระมังครับ

    ReplyDelete
  2. ขอบคุณครับ ที่แวะมาเยี่ยมชม
    การรังวัดค่าละติจูดจากดาวเหนือ และค่าลองจิจูดจากดวงอาทิตย์ จะเป็นบทความในโอกาสถัดไปครับ

    ReplyDelete
  3. ขอบคุณครับ ขออนุญาติติดตามบทความ ไปเรื่อยๆ ครับ
    และประเด็นนี้ ผมหมายถึง การรังวัด Azimuth จาก ดาวเหนือ และดวงอาทิตย์ ครับ
    แล้วมาแก้ด้วย grid convergence ครับ

    ReplyDelete
  4. ขอบคุณครับ ขาดตก บกพร่องประเด็นใด ช่วยชี้แนะด้วยครับ

    ReplyDelete
  5. มิบังอาจครับ ผมความรู้น้อยครับ พยายามเก็บเกี่ยวความรู้ ประสบการณ์จากการฟัง การอ่าน การปฏิบัติครับ
    ขออาศัยความรู้ของพี่ก็แล้วกันครับ พี่ Geospatial JS เท่าที่อ่านบทความพี่ ผมว่าพี่ยอดเยี่ยมแล้วครับ
    ที่ให้ความรู้กับผู้อื่นโดยไม่หวงวิชา นับถือครับ

    ReplyDelete
  6. บทความเรื่องการรังวัดทางดาราศาสตร์ ได้ลงเผยแพร่แล้วครับ>> การสำรวจรังวัดค่า Latitude และค่า Longitude จากทางดาราศาสตร์ เพื่อกำหนดตำแหน่งภูมิศาสตร์ ให้กับหมุดหลักฐาน >> http://geomatics-tech.blogspot.com/2013/09/latitude-longitude.html

    ReplyDelete
  7. ขอบคุณผู้จัดทำมากๆ นะครับ ข้อมูลและความรู้เรื่องนี้ในบ้านเรายากมาก ต้องขอขอบคุณอีกครั้งครับ

    ReplyDelete
  8. ผมสนใจกระทู้ของคุณ wanlop takhioa เรื่องหมุด GPS หมุดเดียวใช้ออกงานเช่นกันครับ เพราะเกี่ยวข้องกับงานที่ทำโดยตรงบ่อยฯ และใฝ่รู้เทคนิคต่างฯ
    เป็นช่างกลทั่วไปครับ แต่หลุดวงโคจรทะลุอาซิมัท 361 องศามาทำเซอเวย์ เพียงแต่มี background ทางคณิตศาสตร์และภาษาอังกฤษพอถูไถไปได้บ้าง จึงศึกษาเองบ้าง ทั้งจาก web ของไทยและเทศ โดยเฉพาะฝั่งยุโรปซึ่งเป็นผู้ผลิตเครื่องมือสำรวจรายใหญ่แข่งกับญี่ปุ่น อยากขอคำชี้แนะจาก geospatial ให้เป็น
    แนวทางการทำงานด้วยครับ

    ReplyDelete
  9. >> เป็นเทคนิคที่สามารถนำมาใช้ได้ ในกรณีที่ไม่มี หมุดอ้างอิงทิศทาง ครับ...ยินดีครับ ตัวผมเอง ก็อาศัยเรียนรู้จากงาน และจากประสบการณ์เกือบยี่สิบปี ผ่านงานสำรวจฯมาทุกสาขา ผิดพลาดก็มี แต่นำมาเป็นครู...ทุกวันนี้ ยังพยายามเรียนรู้อยู่ตลอดเวลาครับ

    ReplyDelete