Sunday 31 May 2020

แผนที่เส้นทางภายในถ้ำหลวง ขุนน้ำนางนอน ในระบบ 3 มิติ (Tham Luang Physical 3D Scanning Cave Database)


>> หลังจากปรากฏการณ์ 'การกู้ภัยระดับโลก' ที่ถ้ำหลวงฯ ผ่านพ้นไปแล้ว ผู้เขียนได้พยายามเฝ้าสดับรับฟัง ติดตามความเคลื่อนไหว สอบถามข่าวคราวจากเหล่ามิตรสหายในสายงานกรมอุทยานฯ และในวงการสำรวจฯชาวเรา ถึงความคืบหน้าในการดำเนินการสำรวจฯ และจัดทำ 'แผนที่ถ้ำหลวง' ในแบบ Full Scale ตามมาตรฐานงานสำรวจฯ ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็น 'ที่จำเป็นต้องมี' นับจากนี้ต่อไป...ด้วยเหตุว่าในช่วงของวิกฤตการณ์ถ้ำหลวงฯที่กำลังเกิดขึ้นนั้น 'ตัวแผนที่ภายในถ้ำฯ' ที่ถูกสำรวจฯเอาไว้แบบคร่าวๆ (จากวิธีการสำรวจฯที่ผู้เขียนได้อธิบายไว้ในบทความอ้างอิง ข้างต้น) ไม่สามารถใช้อธิบายความสัมพันธ์ของลักษณะทางภูมิศาสตร์ รวมไปถึงความสูง-ต่ำทางค่าระดับภายในถ้ำได้อย่างถูกต้องแม่นยำ ตามมาตรฐานงานสำรวจฯแผนที่
แผนที่ถ้ำหลวงฯ ที่ถูกใช้อ้างอิงในการดำเนินการกู้ภัยฯ
ซึ่ง 'ความขาดแคลน' ดังกล่าวได้ส่งผลกระทบ หรือเป็นอุปสรรคในการดำเนินงาน การวางแผนบริหาร-จัดการสำหรับภารกิจช่วยเหลือกู้ภัยที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ณ ช่วงเวลานั้น อาทิ การเจาะผนังถ้ำเพื่อระบายน้ำ-สูบน้ำ ต้องเจาะไปที่ตำแหน่งใด มีการตั้ง 'ค่ามุมองศา' ของหัวเจาะขึ้น-ลงเท่าไหร่ อย่างไร และรวมไปถึงระยะทางในการขุดเจาะ ซึ่งแปรผันโดยตรงกับระยะเวลา (สำคัญ) ที่ต้องใช้ในการขุดเจาะ ฯลฯ

ฉะนั้นชาวเราจึงเห็นความพยายามของสื่อ หรือหน่วยงานต่างๆ ฯลฯ ในการสรรหา และจัดทำแผนที่ Graphic ในหลากหลายเวอร์ชั่น มาช่วยอธิบายลักษณะภูมิสัณฐานต่างๆภายในถ้ำฯ ซึ่งแม้ว่าจะขาดแคลนความถูกต้องในเชิงภูมิศาสตร์ แต่ ณ เวลาที่วิกฤติเช่นนั้น ต้องถือว่า 'ดีกว่าไม่มีอะไรเลย'
ตัวอย่างแผนที่กราฟฟิค แสดงเส้นทางและระดับความสูงต่ำ (คร่าวๆ) ภายในถ้ำหลวงฯ

Credited: www.asiaone.com
Credited: Newish
ภายหลังจากที่ระดับน้ำภายในถ้ำฯได้ลดระดับลงจนแห้ง และกลับคืนเข้าสู่ภาวะปรกติ ภารกิจการเก็บกู้อุปกรณ์ที่ถูกใช้ในการกู้ภัยได้เริ่มขึ้น และสิ้นสุดลงไป...พร้อมๆกับความ 'เงียบหาย' ไร้การพูดถึงจากเจ้าภาพ? สำหรับประเด็นเรื่องการสำรวจฯและจัดทำแผนที่ถ้ำหลวงฯ...จบแล้ว ก็จบกันไป
ภาพถ่ายการเก็บกู้อุปกรณ์ต่างๆภายในถ้ำฯภายหลังระดับน้ำลดลงจนแห้งเป็นปรกติ
Credited: www.thethaiger.com
เสียงลือ เสียงเล่าอ้างในวงการสำรวจฯชาวเขา และชาวเรา ใน Social Media ได้มีการกล่าวถึง 'ทุนในการสำรวจฯถ้ำหลวง' จากต่างชาติ โดยอ้างถึงการทำการสำรวจฯและจัดทำแผนที่ตัวถ้ำฯให้โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย (ฟรี?)...เสียงล่ำลือเหล่านั้น ถูกแพร่สะพัดไปในชั่วระยะเวลาสั้นๆ และก็เงียบหายไปกับสายลม และแสงแดด...

ราวๆช่วงปลายปีที่แล้ว ผู้เขียนได้รับทราบข่าวคราวเกี่ยวกับเรื่องถ้ำหลวงฯอีกครั้ง จากชนในสายงานป่าไม้ฯ เมื่อได้มีกลุ่มบุคคลชาวต่างชาติพร้อมอุปกรณ์ได้ทำการเข้า-ออกถ้ำหลวงฯ นานติดต่อกันหลายสัปดาห์...ซึ่งข้อมูลก็ไม่ได้บอกว่า เข้าไปทำอะไร และก็มิใช่เรื่องที่เป็นสาระสำคัญ ถ้าจะมีชนชาวต่างชาติกลุ่มใด คณะใด เข้า-ออก ถ้ำฯดังกล่าว โดยไม่ผ่านการรับรู้ของเจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ หาเป็นไปได้ไม่

ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา...'ความอึมครึม' ดังกล่าว(ส่วนหนึ่ง) ได้ถูกเปิดเผยขึ้น ถึงสิ่งที่ผู้เขียน (เสียงเล็กๆ) ได้พยายามเขียนกระตุ้นเตือนสู่สาธารณะชนถึงการถอดบทเรียน 'จากความขาดแคลน' แผนที่ถ้ำฯ (มาตรฐานงานสำรวจฯ) ผ่านทาง Blog และในโลกออนไลน์ นับตั้งแต่ช่วงเกิดวิกฤตการณ์ฯ นั่นคือ การสำรวจฯและจัดทำแผนที่ถ้ำหลวง แบบมาตรฐาน...ซึ่งมันได้เกิดขึ้น และสัมฤทธิ์ผลลงแล้ว โดยชุดข้อมูลตัวถ้ำฯดังกล่าว จะได้กลายมาเป็น Map Database หรือแผนที่แม่บทที่สำคัญ เพื่อใช้ในการอ้างอิงทางด้านภูมิศาสตร์ (ที่มีความละเอียดถูกต้อง แม่นยำสูง) ของตัวถ้ำฯ ต่อไปในอนาคต...
ข้อมูล Point Cloud (ส่วนหนึ่ง) แสดงลักษณะสัณฐานทางภูมิศาสตร์ของถ้ำหลวงฯ ในระบบ 3 มิติ
Credited: National Geographic (ทีมสำรวจฯ)

and This Link!

ภาพถ่าย ทีมงาน Scanning ณ ตำแหน่งที่สูงที่สุด (ทางระดับ) ที่ค้นพบทีมหมูป่า
Credited: www.forbes.com (คลิกที่ภาพ เพื่อขยาย)

จากภาพถ่ายข้างต้น แสดงเครื่องมือ 'ตาเทพ' 3D Terrestrial Scanner ที่ถูกนำมาใช้
ยี่ห้อ RIEGL ซีรี่ VZ-400/VZ-1000 
Credited: RIEGL
>> มีประเด็นที่น่าสนใจ จากการที่ทีมงานฯ National Geographic ได้เลือกใช้อุปกรณ์สำรวจฯ RIEGL ซีรี่ VZ-400/VZ-1000 ข้างต้น ซึ่งผู้เขียนได้เคยกล่าวไว้ในบทความอ้างอิง ในประเด็นเรื่อง 'น้ำหนัก' ของตัวอุปกรณ์สำรวจฯ ซึ่งนั่นหมายถึงอุปสรรค และความยากลำบากในการเคลื่อนย้ายนำพาตัวอุปกรณ์  ภายในพื้นที่ๆมีลักษณะการเข้าถึงที่ยากลำบาก และมีขนาดพื้นที่ๆจำกัด
Credited: www.wsj.com
อีกทั้งการเลือกใช้อุปกรณ์สำรวจฯที่ต้องติดตั้งอยู่บน 3 ขา (Tripod) ซึ่งนั่นหมายถึง การเพิ่มน้ำหนักสัมภาระในการเคลื่อนย้าย และการเลือกใช้อุปกรณ์สำรวจฯดังกล่าว ในการทำการสำรวจฯ จะทำให้เกิดตำแหน่ง Blind Spot ที่จุดตั้งอุปกรณ์ในทุกๆตำแหน่ง ซึ่งในประเด็นนี้...มิใช่สาระสำคัญอะไรนักในสายงานสำรวจฯแผนที่ถ้ำ
ภาพแสดง ตำแหน่งจุด Blind Spot ทุกๆตำแหน่งจุดตั้งอุปกรณ์
บทส่งท้าย: ปฐมบทของบทความงานสำรวจฯแผนที่ถ้ำหลวงฯนี้ เกิดขึ้นมาจากการสอบถามในประเด็นเรื่องความถูกต้องแม่นยำของตัวแผนที่ของตัวถ้ำฯ ที่ถูกใช้อยู่ ณ ช่วงเวลาที่วิกฤติเช่นนั้น ว่ามีความถูกต้อง และมีความคลาดเคลื่อนอย่างไร และเมื่อทำการ 'เจาะ' ไปยังตำแหน่งที่แสดงไว้ในแผนที่ฯ (ภายหลังการบูรณาการเข้ากับแผนที่แสดงพื้นผิวสภาพทางกายภาพนอกตัวถ้ำ) จะพบเจอแนวเส้นทางของตัวถ้ำฯหรือไม่? ซึ่งคำตอบของผู้เขียนที่ตอบกลับไป นั่นคือ...การใช้แผนที่ตัวถ้ำฯ ที่มีอยู่เดิมซึ่งเกิดจากกระบวนการ การสำรวจฯอย่างคร่าวๆเป็นแผนที่อ้างอิงในการกำหนดตำแหน่งหลุมเจาะนั้น มีโอกาสผิดพลาด 'สูงมาก' และนั่นคือเวลา (ที่มีค่ายิ่ง) ที่สูญเสียไปโดยไร้ประโยชน์

ณ วันนี้ ตัวแผนที่ ที่แสดงลักษณะทางภูมิศาสตร์ของพื้นที่ภายนอกตัวถ้ำฯ ที่ได้จากกระบวนการสำรวจฯจากทางอากาศ มีความถูกต้องแม่นยำสูง และเมื่อนำมาบูรณาการ ผนวกเข้ากับตัวแผนที่ๆแสดงเส้นทางภายในถ้ำฯ ความละเอียดสูง...คำถามที่ว่า 'เจาะแล้วจะเจอหรือไม่?' จะถูกตอบกลับไปได้อย่าง ชิวๆ
Credited: ArcGIS
* เหล่าท่านผู้นำของชนชาวเรา สามารถที่จะลงทุนซื้อหาอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆนาๆ ในราคาเป็นพันล้าน หมื่นล้านบาท ทั้งๆที่ไม่รู้ว่าในยุคปัจจุบันนี้จะ 'เอาไปรบกับใคร หรือทำให้ใครเกรงใจ' (หรือมีไว้เพียงแค่โชว์ให้เด็กๆดู ปีละครั้ง) ก็ยังสรรหาซื้อมาได้...แต่กับเจ้าอุปกรณ์ 'ตาเทพ' ซึ่งมีประโยชน์ในการสำรวจฯแผนที่ถ้ำ ราคาไม่ถึงสิบล้านบาท กลับกลายเป็นสิ่งที่ชาวเรา 'มีความขาดแคลน'

จะเป็นการดีสักเพียงใด ถ้าทุกๆถ้ำที่สำคัญในสารขัณธ์ประเทศชาวเรา 
มีข้อมูลถ้ำในระบบ 3 มิติ เฉกเช่นที่เกิดขึ้นที่ ณ ถ้ำหลวง ขุนน้ำนางนอน


Special Thanks

เมื่อยามนั้นมาถึง...ตัวตน ชนชาวเราจะเป็นเช่นนั้น เสมอ

Credited: TODAYonline
Author supported to Land Surveyors United

No comments:

Post a Comment