Sunday 29 December 2013

การคำนวณหาความสำพันธ์ระหว่าง % ความลาดชัน, ค่ามุมเอียง และอัตรส่วนความลาดชัน (Slope Ratio)

>> หลังจากบทความเรื่อง "หลักการออกแบบแนวลาดเอียง (Slope) สำหรับงานออกแบบถนน และงาน Grading (เบื้องต้น)" ได้ถูกเผยแพร่ออกไปแล้วนั้น ผู้เขียนได้รับอีเมล์จากน้องนักสำรวจฯชาวลาวท่านหนึ่ง ได้ส่งอีเมล์เข้ามาสอบถามประเด็นเกี่ยวกับ วิธีการคำนวณอัตราส่วนความลาดชัน ด้วยเหตุว่า ถนนหนทางในประเทศลาวนั้น นิยมบอกความลาดชันเป็นหน่วย %...คำถาม คือ % ความลาดชันที่แสดงอยู่ที่ป้ายเตือนนั้น มีความสัมพันธ์กับ อัตราส่วนความลาดชัน (Slope Ratio) และ ค่ามุมเงย อย่างไร...
ในบทความเรื่อง "หลักการออกแบบแนวลาดเอียง (Slope) สำหรับงานออกแบบถนน และงาน Grading (เบื้องต้น)" ผู้เขียนได้นำเสนอหลักการเบื้องต้นสำหรับการกำหนดอัตราส่วนความลาดชันในรูปแบบ 'การใช้อัตราส่วน' (Ratio) โดยมุ่งเน้นพิจารณาที่ลักษณะทางธรณีวิทยา (ประเภทของชั้นดิน-ชั้นหิน) ในสายทางการออกแบบเป็นสำคัญ และสำหรับในบทความนี้ ผู้เขียนขออนุญาตินำเสนอ หลักการคำนวณ เพื่อคำนวณหาความสัมพันธ์ระหว่าง % ความลาดชัน (%), ค่ามุมเงย (องศา) และอัตราส่วนความลาดชัน โดยอาศัยหลักการคำนวณดังต่อไปนี้ 
  • การคำนวณหาค่า % ความลาดชัน = (ระยะทางดิ่ง / ระยะทางราบ) x 100
  • การคำนวณหาค่ามุมเงย (องศา) = arctan (ระยะทางดิ่ง / ระยะทางราบ)
  • การคำนวณหาค่าอัตรส่วนความลาดชัน (1: ?) = 1 / tan (ค่ามุมเงย)
จากภาพข้างต้น จะได้ว่า
1. % ความลาดชัน = (5 / 10) x 100 = 50%
2. ค่ามุมเงย = arctan (5 / 10) = 26.6 องศา
3. ค่าอัตรส่วนความลาดชัน (1: ?) = 1 / tan (26.6) = 2 (หรือ 1: 2)

Author supported to Thai Topo and Land Surveyors United

Saturday 2 November 2013

Leica...กว่าจะมาเป็น 'ที่สุดของโลก' ตอนที่ 1 (ปฐมบท)

บทความอ้างอิง:
>> มีความตั้งใจมาเนิ่นนาน ที่จะเริ่มต้นเขียนบทความเรื่อง 'กล้องฯ Leica' แบบจัดเต็มสักครั้ง ด้วยเหตุว่าเนื้อหาในเรื่องดังกล่าวฯ ผู้เขียนมักจะได้รับการสอบถามอยู่บ่อยครั้ง ทั้งผ่านหน้าเว็บฯ อีเมล์ และคำถามจากเพื่อนพี่น้องในงานสำรวจฯภาคสนามทั้งใน และต่างประเทศ ซึ่งประเด็นเรื่อง 'กล้องโททอล สเตชั่น' มักจะเป็นเรื่องหนึ่งที่ถูกหยิบยกขึ้นมาวิสาสะ กันอยู่เสมอๆ 

กล้องโททอล สเตชั่น ยี่ห้อ Leica ได้เข้ามาอยู่ในสาระบบงานสำรวจรังวัด ของสารขันธ์ประเทศบ้านเราตั้งแต่ยุคสมัย 'เจ้าคุณปู่' เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งชนชาวช่างสำรวจฯบ้านเรา ต่างรู้จักกล้องฯยี่ห้อดังกล่าวกันเป็นอย่างดี โดยเฉพาะชื่อเสียงในเรื่อง ความอึด ความทน ความแม่นยำ น่าเชื่อถือ ไม่เหวี่ยง ไม่งอแง....และที่เหนืออื่นใดคือ 'ราคา' ที่แพงเอาเรื่องทีเดียว เมื่อเปรียบเทียบกับราคาของกล้องฯยี่ห้ออื่นๆ ที่มีสเป็กเดียวกัน

>> ด้วยเหตุว่าบทความเรื่อง  'กล้องฯ Leica' ดังที่จะเล่าแจ้ง แถลงไข ในลำดับถัดไป เป็นเรื่องราวที่มีเนื้อหาค่อนข้างมากพอสมควร ผู้เขียนจึงขออนุญาติ 'แบ่งยุคสมัย' ของกล้องโททอล สเตชั่นยี่ห้อดังกล่าว ออกเป็น 2 ยุค (2 ตอน)

กว่าจะมาเป็น 'ที่สุดของโลก' ตอนที่ 1 (ปฐมบท)
>> เป็นระยะเวลากว่า 200 ปีผ่านมาแล้ว ที่เผ่าพันธ์มนุษย์ได้ประดิษฐ์คิดค้น อุปกรณ์สำรวจรังวัดทางมุม และอุปกรณ์สำรวจรังวัดทางระดับความสูง ขึ้นมาเพื่อใช้ในภารกิจงานสำรวจฯ โดยเฉพาะอุปกรณ์สำรวจที่ต้องอาศัยการ 'ส่องเล็ง' ด้วยสายตาของผู้ทำการรังวัด โดยอาศัยทฤษฎี 'การหักเหของแสง' ผ่านเลนส์ เพื่อช่วยในการย่อ-ขยายภาพ (Zoom) และทฤษฎีของ 'วงกลม' (ถ่ายทอดลงบนจานองศา) ในการบอกถึงความสัมพันธ์ทางมุมระหว่างวัตถุ หรือเป้าหมายในการสำรวจฯ และการใช้ทฤษฎี 'สามเหลียม' ในการคำนวณหามุม และความยาวของด้านที่ไม่สามารถทำการรังวัดได้
กล้องสำรวจฯ ในยุคปฐมบทนั้น เปรียบเสมือนหนึ่งเป็นการนำเอากล้องส่องทางไกล รวมเข้ากับจานเข็มทิศในแนวราบ (และมีจานองศาดิ่ง ถูกพัฒนาเพิ่มเติมเข้าไปในยุคถัดมา)...แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ด้วยข้อจำกัดทางด้านเทคโนโลยีการผลิตฯในยุคดังกล่าว ทำให้ความแม่นยำของการสำรวจรังวัด ยังมีความคลาดเคลื่อนสูง หรือมีความถูกต้องของข้อมูลสำรวจฯยังไม่ดีเท่าที่ควร
ผู้ให้กำเนิดอุปกรณ์สำรวจรังวัด จนกลายมาเป็น Leica ในทุกวันนี้
>> Heinrich Wild ชายชาวสวิตเซอร์แลนด์ คือผู้ซึ่งคร่ำหวอด คลุกคลี อยู่ในวงการงานสำรวจฯของประเทศ และยังเป็นหนึ่งในทีมวิศวกร ร่วมพัฒนากล้องสำรวจฯยี่ห้อดังอย่าง 'KERN' ซึ่งเป็นกล้องสำรวจฯที่มีชื่อเสียงมากในยุคนั้น (อีกทั้ง Heinrich Wild ยังผ่านการทำงานในบริษัทผลิตเลนส์ชื่อดังอย่าง 'Ziess')

ในปี ค.ศ. 1921  ได้ก่อตั้งบริษัท 'Heinrich Wild' เพื่อดำเนินการผลิต และจัดจำหน่ายอุปกรณ์สำรวจรังวัด โดยผลิตกล้องสำรวจฯธีโอโดไลท์  Wild T2 และ Wild T3 ออกมาจำหน่ายในช่วงปี ค.ศ. 1924-1925 ซึ่งกล้องฯรุ่นดังกล่าว ได้ถูกยกย่อง และได้รับการยอมรับไปทั่วทวีปยุโรปว่า มีความถูกต้องแม่นยำทางมุม มากที่สุดในยุคนั้น
Wild T2 และ Wild T3
ในช่วงเวลาต่อมา ด้วยเหตุผลในเชิงธุรกิจ Heinrich Wild ได้ผันตัวเองออกมาเป็นนักออกแบบกล้องสำรวจฯ (อิสระ) โดยปล่อยให้ผู้ร่วมลงทุนคนอื่นๆ ในบริษัทฯ ดำเนินกิจการ ต่อไป
* นอกเหนือจากการเป็นผู้ออกแบบ และพัฒนากล้องสำรวจฯธีโอโดไลท์  Wild T2 และ Wild T3 แล้ว Heinrich Wild ยังเป็นผู้ออกแบบกล้องสำรวจฯให้กับบริษัท KERN (คู่แข่งทางธุรกิจ การผลิตกล้องสำรวจฯธีโอโดไลท์  ในยุคเดียวกัน) ซึ่งมีกล้องสำรวจฯที่ Heinrich Wild เป็นผู้ทำการออกแบบ คือ KERN รุ่น DK1, DKM1, DM2, DKM2, และ DKM3
>> ย้อนกลับมาที่บริษัท Heinrich Wild ซึ่งต่อมาภายหลังได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น Wild Heerbrugg (ตามชื่อเมือง Heerbrugg ที่ตั้งของบริษัทฯ) ซึ่งยังคงดำเนินธุรกิจการผลิต และการพัฒนาอุปกรณ์สำรวจฯมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในส่วนของกล้องวัดมุม กล้องระดับ กล้องฯที่ใช้ในภารกิจการทหาร รวมถึงอุปกรณ์ทางการแพทย์ และเครื่องมือที่ใช้ในการทำแผนที่จากภาพถ่ายทางอากาศ


เส้นทางการพัฒนากล้องสำรวจฯ ในช่วงปี 1932 - 1940 (พ.ศ. 2475 - 2483)

# จับเอากล้องฯธีโอโดไลท์  Wild T2 มาปรับปรุง ปรับโฉม ปัดฝุ่นวางตลาดกันใหม่ 
(แต่ยังคงใช้ชื่อรุ่นทางการตลาดว่า Wild T2 เช่นเดิม)
* ผู้เขียน ยังคงมีกล้องรุ่นนี้ใช้อยู่ครับ O_O (ความละเอียดทางมุม 1")

# ออกวางจำหน่ายกล้องฯธีโอโดไลท์  Wild T1

# ออกวางจำหน่ายกล้องฯธีโอโดไลท์  Wild T0 


เส้นทางการพัฒนากล้องสำรวจฯ ในช่วงปี 1941-1950 (พ.ศ. 2484 - 2493)

# ออกวางจำหน่ายกล้องฯธีโอโดไลท์  Wild T4 สำหรับงานสำรวจรังวัดทางดาราศาสตร์ 

# ออกวางจำหน่ายกล้องฯธีโอโดไลท์ Wild T12 (สำหรับงานตรวจสอบศูนย์ดิ่ง)

# ออกวางจำหน่ายกล้องฯธีโอโดไลท์  Wild RDS (กล้องวัดระยะทางด้วยวิธีทาคีโอเมทรี)


เส้นทางการพัฒนากล้องสำรวจฯ ในช่วงปี 1951-1960 (พ.ศ. 2494 - 2503)

# ออกวางจำหน่ายกล้องฯธีโอโดไลท์  Wild T2 
(รุ่นพิเศษ) ฉลองครบ 50,000 เครื่อง ยอดจำหน่ายทั่วโลก
* Wild T2 รุ่นพิเศษ ถูกย่อขนาดลงเล็กน้อย (ใช้สีขาว-ดำ)

# ออกวางจำหน่ายกล้องฯธีโอโดไลท์  Wild T1A

# ออกวางจำหน่ายกล้องฯธีโอโดไลท์  Wild T16 
ซึ่งถือกันว่าเป็นกล้องสำรวจฯ รุ่นที่ดีที่สุดในซีรี่กล้องฯตระกูล Wild 
* ผู้เขียนเคยฝึกใช้สมัยยังเป็นนิสิต O_O


เส้นทางการพัฒนากล้องสำรวจฯ ในช่วงปี 1961-1970 (พ.ศ. 2504 - 2513)

# ออกวางจำหน่ายกล้องระดับ Wild NA2 ซึ่งถือเป็นกล้องระดับระบบ Auto ตัวแรกของบริษัทฯ
 อ่า...ผู้เขียนยังมีกล้องระดับรุ่นนี้ ใช้งานอยู่ครับ O_o (จะเป็นพิพิธภัณฑ์ ซะแล้วสิ T_T )

# ในช่วงปีดังกล่าว เป็นช่วงเวลาที่มีการคิดค้น วิจัย และพัฒนาการใช้คลื่นอินฟาเรด
 และคลื่นไมโครเวฟ เพื่อใช้ในการวัดระยะทาง 
  
อุปกรณ์วัดระยะทาง DI10 และ DI50


# มีการประดิษฐ์คิดค้น และพัฒนาเครื่องมือ Gyroscope (ค้นหาทิศเหนือจริง)
Wild GAK1


เส้นทางการพัฒนากล้องสำรวจฯ ในช่วงปี 1971-1980 (พ.ศ. 2514 - 2523)

# ออกวางจำหน่ายกล้องฯธีโอโดไลท์ Wild DI3 และ Wild DI4 
โดยนำเอาอุปกรณ์วัดระยะทาง EDM มาติดเข้ากับตัวกล้องธีโอโดไลท์

# ออกวางจำหน่ายกล้องโททอล สเตชัน TC1 (สามารถบันทึกข้อมูลสำรวจฯได้ ตัวแรกของโลก)



เส้นทางการพัฒนากล้องสำรวจฯ ในช่วงปี 1981-1990 (พ.ศ. 2524 - 2533)

# ในช่วงปีดังกล่าว ได้เปลี่ยนชื่อบริษัท Wild Heerbrugg มาเป็นชื่อ 'Wild Leitz' 


# ออกวางจำหน่ายกล้องฯธีโอโดไลท์ ระบบดิจิตอล TC2000
 

# ออกวางจำหน่ายกล้องฯธีโอโดไลท์ ระบบดิจิตอล TC1000

# ออกวางจำหน่ายกล้องโททอล สเตชัน TC1600

# ออกวางจำหน่ายกล้องฯธีโอโดไลท์ ระบบดิจิตอล TM3000v

# ออกวางจำหน่ายกล้องระดับ NA2000 (แบบเลเซอร์ ตัวแรกของโลก)


เส้นทางการพัฒนากล้องสำรวจฯ ในช่วงปี 1991-1996 (พ.ศ. 2534 - 2539)

# ในช่วงปีดังกล่าว ได้เปลี่ยนชื่อบริษัท Wild Leitz มาเป็นชื่อ 'Leica' 

# ออกวางจำหน่ายกล้องโททอล สเตชัน TC500

# ออกวางจำหน่ายกล้องโททอล สเตชัน TC600/800


# ออกวางจำหน่ายกล้องโททอล สเตชัน TC1800


เส้นทางการพัฒนากล้องสำรวจฯ ในช่วงปี 1997-1998 (พ.ศ. 2540 - 2541)

# ในช่วงปีดังกล่าว ได้เปลี่ยนชื่อบริษัท Leica มาเป็นชื่อ 'Leica Geosystems' จนถึงทุกวันนี้
 (คนทั่วไปยังคงเรียกชื่อสั่นๆ ว่า Leica)

# ออกวางจำหน่ายกล้องโททอล สเตชัน TC1000/1100
* เป็นรุ่น 'ยอดนิยม' ในบ้านเรา ในยุคหนึ่งสมัยหนึ่งกันเลยทีเดียว (เรียกว่ารุ่น 'อ้วนเขียว')...แพงฝุดๆ


เส้นทางการพัฒนากล้องสำรวจฯ ในช่วงปี 1998-2000 (พ.ศ. 2541-2543)
# ออกวางจำหน่ายกล้องโททอล สเตชัน TC5000 (รุ่น 'อ้วนขาว')
ตัวอย่างรุ่นย่อย TDA5000 และ TM5000A (ธีโอโดไลท์)
* กล้องสำรวจฯ 'อ้วนขาว' ทุกรุ่นย่อย TM, TDA, TDM มีค่าความละเอียดทางมุม 0.5"
* ความคลาดเคลื่อนต่อการวัดระยะทาง: 1mm x (+/-)1ppm (บทความเพิ่มเติม >> ppm (1 ในล้านส่วน)

ติดตาม 'ภาคต่อ' (ยุค Modern) ในโอกาสต่อไปครับ
Author supported to Thai Topo and Land Surveyors United