Monday 6 July 2020

GNSS Solutions...กับความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน (ลงทุนฆ่าควาย แต่เสียดายพริก)

>> ผู้เขียนขออนุญาติ หยิบยกเอาประเด็นคำถามที่น่าเคลือบแคลงสงสัยผ่านทางหลังไมค์ ถึงเรื่องวิธีการใช้งานตัวโปรแกรมฯ CGO Office ในการประมวลผลข้อมูลดาวเทียมที่ได้จากจานรับสัญญาณฯ ยี่ห้อ CHC รุ่น i80...ซึ่งผู้เขียนได้สอบถาม ไล่เลียงไปถึงว่าตอนที่ซื้อหาเครื่องมือสำรวจฯยี่ห้อดังกล่าว ทางตัวแทนจำหน่าย/ศูนย์ฯ เขาไม่สอนวิธีการใช้งานตัวโปรแกรม CGO Office หรืออย่างไร?

คุยกันไป คุยกันมา เลยจับประเด็นได้ว่า ตอนที่ซื้อเครื่องมือสำรวจฯดาวเทียมในยี่ห้อ/รุ่น ดังกล่าวมาใช้งานนั้น 'ไม่ได้' ซื้อตัวโปรแกรมฯ CHC CGO Office ติดมาด้วย (ราคา ณ ยามนั้น 'หลายหมื่นบาท') ด้วยเหตุว่ามีตัวโปรแกรมฯ GNSS Solutions (version 3.x) ของเดิมอยู่แล้ว ซึ่งใช้สำหรับประมวลผลข้อมูลดาวเทียม ที่ได้จากจานรับสัญญาณฯ ยี่ห้อ Ashtech รุ่น ProMark 3 และรุ่น ProMark 500 ที่ ณ ปัจจุบัน จานรับสัญญาณเหล่านี้ ยังใช้งานได้ดีอยู่
Ashtech ProMark 500 (งานแท้ คุณภาพมาเต็ม)
โดยเมื่อนำข้อมูลดาวเทียม (*.HCN) ที่ได้จากจานรับสัญญาณฯ CHC-i80 มาแปลง (Covert) เป็นไฟล์ RINEX (*.??O) เพื่อนำเข้าสู่ตัวโปรแกรมฯ GNSS Solutions...ผลลัพธ์ที่ได้จากการประมวลผลฯนั้นมีค่า 'ใกล้เคียง' (แตกต่างในระดับ มม. อย่างไม่มีนัยยะ) กับค่าการประมวลผลที่ได้จากจานรับสัญญาณฯ Ashtech ProMark 3/ProMark 500 โดยเทียบผลลัพธ์ผลการคำนวณ กับหมุดฯคู่/เส้น Baseline ที่ทราบค่าฯมีอยู่เดิม ซึ่งมีระยะห่างประมาณ 100 ม...จึงสรุปได้ว่า ตัวโปรแกรมฯ GNSS Solutions สามารถใช้ประมวลผลข้อมูลดาวเทียม ที่ได้จากจานรับสัญญาณฯ CHC-i80 ได้?

จากเรื่องราวข้างต้น ได้กระตุ้นให้ผู้เขียนต้อง Release บทความ 'ปรับความเข้าใจ' ในประเด็นที่ว่านี้กันสักครั้ง และไม่เฉพาะชนนายช่างฯชาวเราเท่านั้น (ชนกลุ่มน้อยบางส่วน) ที่ยังคงไว้ซึ่ง 'สายอนุรักษ์นิยม' ในตัวโปรแกรมฯ GNSS Solutions แต่ยังรวมไปถึงชนนายช่างฯใน สปป.ลาว ที่ผู้เขียนรู้จัก/บาง บ.สำรวจฯ ที่ยังคงใช้จานรับสัญญาณฯ Ashtech Z-Max และ ProMark 500 ร่วมกับจานรับสัญญาณฯ CHC/ComNav ฯลฯ แต่กลับยังคงไว้ซึ่งวิถีแห่ง GNSS Solutions ??

จริงๆแล้ว กระบวนการข้างต้น ในการใช้ตัวโปรแกรมฯ GNSS Solutions ประมวลผลข้อมูลดาวเทียมที่ได้จากจานรับสัญญาณฯ ในยี่ห้อ/รุ่นต่างๆ ณ ยุคปัจจุบันนั้น 'สามารถทำได้'...แต่..."มันมีอะไรที่มากกว่านั้น" 


>> ขออนุญาติ 'จั่วหัว' ไว้แค่บรรทัดนี้ก่อน <<

SPECTRA Precision Software
>> ในยุคสมัยราวๆปี พ.ศ. 2541 ซึ่งเป็นยุคสมัยที่อุปกรณ์สำรวจฯดาวเทียมความละเอียดสูง ยังมีราคาเรือนล้าน แพงลิบลิ่ว เข้าถึงยาก และสามารถรองรับสัญญาณดาวเทียมในระบบ GPS (L1/L2) เท่านั้น โดยไม่นับรวมดาวเทียมในกลุ่มไม้ประดับ อย่าง SBAS ...การเข้าถึงยาก โดยเฉพาะทางด้าน 'ราคา' ที่ไม่ค่อยจะเป็นมิตรเท่าใดนัก...ทำให้งานสำรวจฯประเภท Control Survey ในยุคสมัยนั้น ที่มีพื้นที่สำรวจขนาดกว้างใหญ่ ระยะทางสำรวจฯยาวไกล จึงยังต้องอาศัย 'งานสำรวจฯวงรอบ' ในการกำหนดตำแหน่งหมุดฯควบคุมต่างๆ ซึ่งเป็นงานสำรวจรังวัดด้วยกล้องฯ ที่ต้องใช้ระยะเวลาในการสำรวจฯยาวนาน และได้นำมาซึ่งต้นทุนในการสำรวจฯที่สูงขึ้น

ราวๆขวบปีให้หลัง การมาถึงของอุปกรณ์สำรวจฯรังวัดดาวเทียมในกลุ่ม 'เอื้ออาทร' ที่ทำให้ชนนายช่างฯชาวเรา (บางส่วน และรวมถึงตัวผู้เขียน) ได้มีโอกาส 'เข้าถึง' เข้าไปศึกษาเรียนรู้ในเทคโนโลยีการสำรวจรังวัดดาวเทียมดังกล่าว และหนึ่งในอุปกรณ์สำรวจฯรังวัดดาวเทียมเหล่านั้น คือการมาถึงของอุปกรณ์รับสัญญาณดาวเทียมในยี่ห้อ Ashtech (+Magellan/Thales) รุ่น ProMark 1, ProMark 2 และ ProMark 3 ที่ทำให้ชนนายช่างฯชาวเรา สามารถคบหาดูใจได้ในระดับหนึ่ง (ราคาค่าตัว ยังแรงพอสมควร)
* ในยุคสมัยดังกล่าว ถือว่าเป็น 'ยุคเปลี่ยนผ่าน' ในวงการสำรวจรังวัดอย่างแท้จริง ที่แต่เดิมนั้นงานสำรวจฯ Control Survey จะถูกอ้างอิงจากค่า 'มุม และระยะทาง' จากการส่องกล้องฯเป็นสำคัญ และเมื่ออุปกรณ์สำรวจฯรังวัดดาวเทียม ได้เข้ามามีบทบาทในการระบุตำแหน่ง (ความละเอียดสูง) บนพื้นผิวโลก ได้ช่วยให้งานสำรวจฯ Control Survey ในพื้นที่สำรวจฯที่มีขนาดใหญ่ มีความถูกต้อง แม่นยำมากยิ่งขึ้น อีกทั้งใช้เวลาในการทำการสำรวจฯที่สั้นลง
ProMark 2 และ ProMark 3 (ความละเอียดในระดับ 'เซนติเมตร')
Photo Credited: Researhgate และ Archive.amerisurv.com
และการมาถึงของอุปกรณ์สำรวจฯรังวัดดาวเทียมยี่ห้อ Ashtech นี้เอง ที่ทำให้ชนนายช่างฯ (สาย Ashtech) ต้องได้เข้าไปศึกษาเรียนรู้กับตัวโปรแกรมประมวลผลข้อมูลดาวเทียมที่ชื่อว่า Ashtech Solution (รุ่นบุกเบิก) และได้ถูกพัฒนาเปลี่ยนมาเป็น GNSS Solutions ในระยะ 2-3 ปีต่อมา จากค่าย Spectra
หน้าตาโปรแกรมฯ GNSS Solutions
Photo Credited: Javad GNSS
ตัวโปรแกรมฯ GNSS Solutions เป็นโปรแกรมประมวลผลข้อมูลดาวเทียม ที่ผู้เขียนได้เคยใช้งานอยู่หลายปีพอสมควร และต้องขออนุญาติกล่าวว่าเป็นโปรแกรมฯที่อยู่ในชั้น 'ดีเยี่ยม' (ให้ 9 เต็ม 10 ไม่หัก) เมื่อต้องทำการประมวลข้อมูลดาวเทียมในระบบ GPS และ GLONASS (ทั้ง L1/L2) เมื่อให้เวลาในการรับสัญญาณดาวเทียมที่มากพอ จะได้ค่ามุมและระยะทางของเส้น Baseline ที่แน่น ไม่งอแง เมื่อสอบเทียบกับกล้องฯ Total Station อีกทั้งยังเป็นโปรแกรมที่ใช้งานค่อนข้างง่าย ไม่ซับซ้อน สามารถรองรับไฟล์ RINEX จากจานรับสัญญาณฯจากยี่ห้ออื่นๆ นำเข้ามาประมวลผลร่วมกันได้
* ท่านใดสนใจ สามารถดาวน์โหลดไปทำการทดสอบกันได้ ในแบบ Trial version (30 วัน) ลองดูว่า 'ทำไมมันดีกว่าชาวบ้านเขา' ดาวน์โหลด >> Click!
>> ด้วยความที่การใช้งานตัวโปรแกรมฯ GNSS Solutions นั้นมีความสะดวก รวดเร็ว มีความถูกต้องแม่นยำสูง...อาจจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผู้ใช้งาน 'บางท่าน' ติดอกติดใจ (ผู้เขียนทราบมาว่า มีบางท่านถึงขนาด 'ยึดติด' ไม่ปล่อยวาง) ไม่ยอมที่จะเมียงมองไปยังโปรแกรมประมวลผลข้อมูลดาวเทียม อื่นๆ และนั่นคือประเด็นสำคัญที่ทำให้เกิด 'การมองข้าม' สิ่งสำคัญบางอย่าง? หรืออาจจะคิดไปว่ามันคือโปรแกรมฯที่ชื่อ GNSS ก็ต้องมีความสามารถประมวลผลข้อมูลดาวเทียมในระบบ  GNSS ได้ทั้งหมด ?

โปรแกรมฯ GNSS Solutions เวอร์ชั่นล่าสุด เท่าที่ผู้เขียนได้รับทราบคือ version 3.80.8 ซึ่งเป็นช่วงปลายยุคสมัยของระบบ GNSS รุ่นบุกเบิกที่มี GPS+GLONASS อยู่เพียง 2 ระบบหลัก และพร้อมๆกับการมาถึงของระบบดาวเทียม Multi-GNSS ที่ความสามารถของตัวจานรับสัญญาณฯ ได้ถูกพัฒนาให้รองรับสัญญาณดาวเทียมในระบบหลักอีก 2 ระบบ นั่นคือระบบ Galileo และ Beidou (Compass)
Photo Credited: NASA
ในยุคปัจจุบันที่ตัวจานรับสัญญาณฯในระบบ Multi-GNSS กำลังได้รับความนิยมอยู่ ณ ขณะนี้ ที่ใครๆ ต่างมีไว้ใช้งาน เข้าถึงได้ตามกำลังทรัพย์บนหน้าตัก ทั้งสายหยวน สายยุ่น สายยุโรป สายอเมริกา หรือแม้แต่ 'สายลูกทุ่ง' (ซื้อบอร์ดรับสัญญาณฯ OEM มาพัฒนากันต่อ และแปะยี่ห้อของตนเข้าไป) 
บอร์ด OEM ยี่ห้อ TERSUS รุ่น BX10C  
(คุณภาพมาเต็ม ทุกดอก)
Photo Credited: TERSUS
ซึ่งตัวจานรับสัญญาณฯเหล่านี้ ล้วนต่างมาพร้อมกับโปรแกรมประมวลผลฯประจำค่ายของตน ที่ต้องใช้ในการประมวลผลข้อมูลดาวเทียมจาก 4 ระบบหลัก (+ในอนาคตอันใกล้ ระบบดาวเทียม QZSS 'สายยุ่น' กำลังทยอยเข้ามา อยู่ ณ ปัจจุบัน หรือแม้แต่ระบบดาวเทียม 'สายโอปป้า' และ 'สายอาบัง')


>> เรื่องที่ผู้เขียนได้ จั่วหัว เอาไว้ข้างต้น 'เราจะไปกันต่อ' นับจากบรรทัดนี้ <<

การนำข้อมูลดาวเทียมจากจานรับสัญญาณฯในระบบ Multi-GNSS ไปแปลง (Covert) เป็นไฟล์ RINEX เพื่อนำเข้าสู่ตัวโปรแกรม GNSS Solutions เพื่อทำการประมวลผลนั้น สามารถ 'ทำได้'...แต่มันทำได้ ในบริบทที่ว่า ต้องยอมรับเงื่อนไขที่จะต้อง 'ถูกระงับการใช้งาน' ข้อมูลดาวเทียมในระบบ Galileo และ Beidou ด้วยเหตุว่าตัวโปรแกรม GNSS Solutions นั้น สามารถรองรับข้อมูลดาวเทียมได้เพียง 2 ระบบหลักเท่านั้น นั่นคือระบบ GPS และ GLONASS (เกินกว่านี้ ตัวโปรแกรมฯไม่รู้จัก)
ออปชั่นการเลือกข้อมูลระบบดาวเทียมที่ใช้ในการประมวลผล ของตัวโปรแกรม GNSS Solutions
นั่นหมายความว่า...สู้อุตส่าห์ 'ทุบหมูออมสิน' ลงทุนซื้อหาจานรับสัญญาณดาวเทียมระบบ Multi-GNSS ราคาหลายอัฐ โดยมีความคาดหวังเอาไว้ว่า ข้อมูลการสำรวจฯดาวเทียมที่ได้รับจากทั้ง 4 ระบบหลักนั้น จะช่วยให้ข้อมูลการสำรวจฯมีความถูกต้อง แม่นยำ มากกว่าข้อมูลที่ได้รับจากระบบดาวเทียมเพียง 2 ระบบเดิม...แต่กลับกลายเป็นว่า มา 'ตกม้าตาย' เมื่อเลือกใช้โปรแกรมฯ GNSS Solutions ทำการประมวลผลข้อมูล

แล้วจะซื้อตัวจานรับสัญญาณดาวเทียมระบบ Multi-GNSS ราคาแพง มาเพื่ออิหยัง? ในเมื่อนำมาประมวลผลด้วยโปรแกรม GNSS Solutions แล้ว ให้ผลลัพธิ์การคำนวณ ความถูกต้อง เหมือนกับจานรับสัญญาณฯในระบบ GNSS รุ่นบุกเบิกเพียง 2 ระบบหลัก...ท่านสาธุชน โปรดนำไปคิดกันต่อ

ยัง...ยังไม่จบเพียงเท่านี้

ไม่เพียงแต่ปัญหาในเรื่องที่ตัวโปรแกรม GNSS Solutions ไม่รองรับข้อมูลดาวเทียมในระบบ Galileo และ Beidou เท่านั้น...แต่ยังมีปัญหาต่อไปอีก นั่นคือปัญหาในการกำหนดค่า Parameter ให้กับจานรับสัญญาณประเภท Multi-GNSS อาทิ จานรับสัญญาณฯ CHC รุ่น i80 ซึ่งตัวโปรแกรมฯ GNSS Solutions ไม่มีฐานข้อมูล 'คุณลักษณะ' ของตัวจานรับสัญญาณฯ (Antenna) ฉะนั้นเหล่าสาวก GNSS Solutions จึงจำเป็นที่จะต้องขวนขวาย หาข้อมูล ค่า Config. ต่างๆของตัวจานรับสัญญาณฯ เพื่อนำมา 'เติมลงในช่องว่าง' ให้ถูกต้อง ดังต่อไปนี้...ซึ่งผู้เขียนได้ลองทดสอบดูแล้ว ผลปรากฎว่า 'เหลว' 
จงเติม 'ค่า' ลงในช่องว่างให้ถูกต้อง (แทนที่เลข 0)
* ผู้เขียนได้ทำการทดลองกำหนด (+ค้นหาใน Google) ค่าต่างๆลงไปในช่องว่างข้างต้น โดยใช้จานรับสัญญาณฯ CHC x91+S เป็นตัวอย่างในการทดสอบ และทำการประมวลผลด้วยโปรแกรมฯ GNSS Solutions ซึ่งผลปรากฎว่า ค่าพิกัด และค่าระดับของตัว Rover ซึ่งมีระยะห่างจากตัว Base Station ประมาณ 100 ม. ที่คำนวณได้นั้น ต่างกับค่า Known Point ที่ผู้เขียนมีอยู่เดิม เพียง 3-4 มม. ซึ่งไม่มีนัยยะใดๆ...แต่เมื่อผู้เขียนได้ทำการ เพิ่มระยะทางให้กับตำแหน่ง Rover ให้ห่างจากตัว Base Station เป็น 3.5 กม. ผลปรากฎว่า ทางด้านค่าพิกัด E/N นั้น ยังไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยยะ...แต่...ทางด้านค่าระดับ (Elevation) 'เกิดความแตกต่าง' ถึง 95 มม. (9.5 ซม.)

ความแตกต่างทางด้านค่าระดับเกือบๆ 10 ซม. ในระยะทางเพียง 3.5 กม. ข้างต้นนี้ 'มีนัยยะที่สำคัญ' ที่ผู้เขียนเชื่อว่า อาจจะเกิดจากการกำหนดค่า 'ความสูง หรือค่าองศา' ต่างๆ เพื่อคำนวณหาค่า Phase Center ที่แท้จริง? ให้กับตัวจานรับสัญญาณฯ...โดยผู้เขียนได้พยายามเปลี่ยนตัวแปรในการทดลอง อาทิ การใช้การกำหนดค่าจานฯ เปรียบเทียบกับการที่ไม่ต้องไปกำหนดค่าใดๆ (ปล่อยให้เป็น 0, ตัวโปรแกรมฯไม่รู้จัก) แต่ผลการคำนวณที่ได้รับนั้น ก็ยังคงมีความแตกต่าง คลาดเคลื่อนทางงานระดับ อย่างมีนัยยะ

ในทรรศนะของผู้เขียน: โปรแกรมฯ GNSS Solutions 'มีความเหมาะสม' ที่จะใช้ในการประมวลผลข้อมูลดาวเทียม ที่ได้จากจานรับสัญญาณฯ GNSS ที่รองรับข้อมูลดาวเทียมในระบบหลัก อย่าง GPS และ GLONASS 'เท่านั้น' ส่วนในกรณีที่ทางหน่วยงาน บริษัท ห้างร้านใดๆ ที่มีจานรับสัญญาณฯประเภท Multi-GNSS ผู้ใช้งานควรที่จะสรรหาตัวโปรแกรมฯของยี่ห้อนั้นๆ มาใช้ในการประมวลผลข้อมูล และในกรณีที่ต้องการประมวลผลข้อมูลดาวเทียมฯร่วมกับข้อมูลจากจานรับสัญญาณฯ GNSS รุ่นบุกเบิก ผู้ใช้งานควรที่จะนำเอาข้อมูลดาวเทียมจากจานรับสัญญาณฯ GNSS รุ่นบุกเบิกดังกล่าว มาทำการแปลงเป็นไฟล์ RINEX เพื่อนำเข้าสู่ตัวโปรแกรมฯที่สามารถรองรับข้อมูลดาวเทียมจากหลายระบบ แล้วทำการประมวลผลร่วมกัน ซึ่งจะได้ผลการคำนวณที่มีความถูกต้อง แม่นยำมากกว่า...ไหนๆก็เสียเงิน เสียทอง ลงทุนซื้อหาจานรับสัญญาณฯราคามิใช่น้อยๆ มาใช้งานกันแล้ว ก็ควรที่จะจัดหาตัวโปรแกรมประมวลผลฯที่มีความเหมาะสมมาใช้งานคู่กันด้วย ซึ่งมีคำโบราณท่านกล่าวไว้ว่า 'ฆ่าควาย อย่าเสียดายพริก'
Photo Credited: Blogdit
บทส่งท้าย...
>> สำหรับเหล่าสาวก ค่าย Spectra ที่ยังคงมีความเชื่อมั่น ถือมั่น ในโปรแกรมฯ GNSS Solutions รุ่นเดอะ ข้างต้นนั้น...ผู้เขียนขออนุญาติแจ้งให้ทราบว่า ทางค่าย Spectra ได้ออกโปรแกรมประมวลผลข้อมูลดาวเทียม ที่สามารถรองรับข้อมูลระบบดาวเทียมหลัก 'ทุกระบบ' ณ พ.ศ. นี้ ภายใต้ชื่อทางการค้าว่า (SPECTRA) Survey Office ซึ่ง ณ พ.ศ. นี้ ได้ถูกพัฒนาไปถึงเวอร์ชั่น 5.2 กันแล้ว
โปรแกรมฯ Survey Office (มีออปชั่นให้เลือกหลาย Module ตามประเภทการใช้งาน)
ผู้เขียนได้ทำการทดสอบ และใช้งานแล้ว ผลปรากฎว่า...'ชั้นเยี่ยม' แต่ผู้ใช้งานจะต้องทำความเข้าใจกับค่า Setting อยู่พอสมควร และเป็นโปรแกรมฯที่ผู้เขียนมองว่า มีความเหมาะสมในการ ใช้วิเคราะห์ข้อมูลดาวเทียมที่ไปทำการสำรวจรังวัดมา แบบลงลึกในรายละเอียด (ถึงรากหญ้า) โดยเฉพาะการมีชุดคำสั่งล้ำๆ อย่างการ Plot เส้น Baseline ลงในตัวโปรแกรม Google Earth แบบอัติโนมัติ

ภาพตัวอย่าง แนวเส้น Vector ถูก plot ลงในโปรแกรม Google Earth (มีโลโก้ Spectra ทางมุมซ้ายบน)
และการมีชุดคำสั่ง Session Editor ที่ช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถเข้าไประงับ หรือยกเลิกการประมวลผลข้อมูลดาวเทียม 'ณ ช่วงเวลา' ที่เกิดสภาวะการณ์ Cycle Slip (ข้อมูลขาดๆหายๆ เป็นช่วงๆ ขาดความต่อเนื่อง) และยังสามารถสั่งให้ระงับ (Cancel) ดาวเทียม 'บางดวง' (หรือหลายๆดวง ในกรณีที่เกิดรวมหัวกันเอ๋ๆ เอ๋อๆ) ที่ให้ข้อมูลแบบ 'ขาดตกบกพร่อง' อันเนื่องมาจากปัจจัยต่างๆ อาทิ การรบกวนจากสภาพแวดล้อม การบดบัง การสะท้อนของสัญญาณ, Multipath ฯลฯ

ภาพตัวอย่าง การเกิดสภาวะการณ์ Cycle Slip

ภาพแสดง การติ๊กเลือก/ไม่เลือก ดาวเทียมที่ไม่ต้องการ

* ตัวโปรแกรมฯ (CHC) CGO v. 2.x มีชุดคำสั่งในการจัดการกับข้อมูล Cycle Slip คล้ายๆกันนี้
ภาพแสดง การสั่ง 'ระงับ' ข้อมูลดาวเทียมในช่วงขาดๆ หายๆ ไม่ต่อเนื่อง

ภาพแสดงการ 'ติ๊กไม่เลือก' (ยกเลิก) ดาวเทียมหมายเลข G16 ในระบบ GPS
(ข้อมูลขาดๆ หายๆ อันเนื่องมาจากปัจจัยแวดล้อมต่างๆ)

ข้อกังขา...ที่อดสงสัยเสียมิได้
>> ผู้เขียน ได้เคยเป็นผู้ใช้งานตัวโปรแกรมฯ GNSS Solutions อยู่นานหลายปี จึงสามารถจดจำรูปร่าง ลักษณะหน้าตา (Interface) ของตัวโปรแกรมฯได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะในแถบ Panel ทางด้านซ้าย ของตัวโปรแกรมฯ ที่แสดงลำดับขั้นตอน ในการประมวลผลข้อมูลดาวเทียม
ภาพแสดงแถบ Panel ทางซ้าย ที่แสดงลำดับการประมวลผลฯ ในโปรแกรมฯ GNSS Solutions
แต่...เมื่อได้มาพบเจอตัวโปรแกรมประมวลผลข้อมูลดาวเทียม จากค่ายอื่นๆ ที่แสดงรูปร่างหน้าตา และลำดับการประมวลผลข้อมูลฯ ของตัวโปรแกรมฯ 'คล้ายๆกัน' กับตัวโปรแกรมฯ GNSS Solutions ข้างต้น จึงทำให้ผู้เขียนอดคิดไม่ได้ว่า เป็นไปได้หรือไม่? ที่ทางค่าย SPECTRA 'อาจจะ' เป็นผู้พัฒนาตัวโปรแกรมประมวลผลข้อมูลดาวเทียม ให้กับทางค่ายต่างๆเหล่านี้ (ชื่อตัวโปรแกรมฯ พ้องเสียง กันเสียด้วย)
TGO (Trimble Geomatics Office)
Photo Credited: Docburan

LGO (Leica Geo Office)
>> เป็นโปรแกรมประมวลผลฯ ที่ผู้เขียน (ส่วนตัว) ให้คะแนน 7 เต็ม 10 ไม่หัก โดยเปรียบเทียบกับโปรแกรมฯจากค่ายอื่นๆ ใน Class เดียวกัน...ทาง Leica น่าจะพัฒนาให้ดีกว่านี้
LGO มีชุดคำสั่ง ระงับการประมวลผลข้อมูลดาวเทียม ณ ช่วงเวลาต่างๆ เช่นเดียวกัน...แต่ผู้เขียนได้ทำการทดสอบแล้ว (Version 8.x) ผลปรากฎว่า 'ยังไม่โดน'
ภาพแสดง ตำแหน่งการยกเลิก/ระงับ การประมวลผลฯบางช่วงเวลา
จากระบบดาวเทียม Beidou หมายเลข C09
ในยุคปัจจุบัน Leica ได้ออกตัวโปรแกรมประมวลผลข้อมูลดาวเทียมรุ่นใหม่ ในชื่อทางการค้าว่า Leica Infinity ซึ่งผู้เขียนได้ทำการทดสอบใช้งานแล้ว (ส่วนตัว) มองว่ายัง 'ไม่ถึงเครื่อง' โดยเฉพาะในชุดคำสั่งที่เกี่ยวข้องการยกเลิก/ระงับ การประมวลผลฯบางช่วงเวลา
โปรแกรมฯ Leica Infinity (คำสั่งการวิเคราะห็ข้อมูลดาวเทียม)

CGO (CHC Geomatics Office) version 1.x

โปรแกรม CGO Office v.1.x ไม่รองรับข้อมูลดาวเทียมระบบ Galileo

HGO (Hi-Target Geomatics Office)

TGO (Tersus Geomatics Office)
>> เวอร์ชั่นที่ผู้เขียนใช้ในการทดสอบ คือ v.1.1 (Update ปี 2017) ซึ่งผู้เขียน (ส่วนตัว) เห็นว่าหน้าตา Interface ต่างๆ ในเวอร์ชั่นนี้ มีความละม้ายคล้ายคลึงกับตัวโปรแกรม CGO v.1.x ข้างต้น และที่สำคัญ ในเวอร์ชั่นนี้ ทั้ง CGO และ TGO ยังไม่รองรับข้อมูลดาวเทียมจากระบบ Galileo หรือระบบใหม่ๆ ในยุคปัจจุบัน (CGO v.1.x กระโดดไป v2.x แล้ว)

Photo Credited: tersusgnss

GGO (G Geomatics Office) ค่าย GINTEC

* ท่านใดมีความสนใจที่จะเรียนรู้การใช้งานโปรแกรมฯทางด้านล่างเหล่านี้ ในส่วนของการประมวลผลข้อมูลดาวเทียม ติดต่อหลังไมค์ได้ครับ ยินดีถ่ายทอดความรู้ให้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้น 
  1. SPECTRA Survey Office
  2. Trimble Business Center 
  3. Topcon Magnet Office
  4. Leica Infinity
  5. CGO Geomatics Office v.1.x และ v.2.x
  6. Tersus Geomatics v.1.x
  7. Stonex Cube Manger v.4.x
Author supported to Land Surveyors United

4 comments:

  1. interface ของ (SPECTRA) Survey Office เหมือนกันมากๆกับ Trimble business Center (TBC) ไม่รู้ใครเลียนแบบใคร

    ReplyDelete
  2. ในยุคปัจจุบัน Spectra (รวมไปถึง Thales และ Magelland) ได้เข้าไปอยู่ภายใต้ร่มเงาของ Trimble ส่วนตัวเชื่อว่า Spectra น่าจะเป็นผู้พัฒนาตัวโปรแกรมประมวลผลข้อมูลดาวเทียมให้กับ Trimble และยีห้ออื่นๆอีกมาก

    ReplyDelete
    Replies
    1. ขอบคุณครับ
      ปล.บทความเรื่อง Elevation mask ไม่สามารถอ่านได้ครับ

      Delete
    2. แก้ไขลิงค์แล้วครับ ขอบคุณครับที่ช่วยแจ้งเตือน

      Delete