Wednesday 21 October 2015

รีวิว แบบว่าๆ 'หยวนๆ'...กับ เครื่องมือสำรวจรังวัดดาวเทียม (ระบบ GNSS) ยี่ห้อ CHC รุ่น x91

บทความอ้างอิง:

>> เป็นเวลากว่าสิบปีที่ผ่านมา ผู้เขียนได้มีโอกาสทำการทดสอบ และใช้งานเครื่องมือสำรวจรังวัดดาวเทียม 'ความละเอียดสูง' จากค่ายผู้ผลิต (ยี่ห้อหลัก) อยู่หลายยี่ห้อ/รุ่นพอสมควร อาทิ ยี่ห้อ Topcon ซีรี่ Hyper, Astech/Magellan ซีรี่ ProMark1, 2, 3, 500 และ Z-Max, Hemisphere รุ่น S320, Trimble ซีรี่ GA และ Leica ซีรี่ 1200 

จากยุคแรกเริ่ม ที่การรับสัญญาณดาวเทียมมีแค่เพียง 'ความถี่เดี่ยว' (L1) กับระบบการรับสัญญาณดาวเทียม 'เพียงหนึ่งเดียว' นั่นคือ 'ระบบ GPS' ของ NavStar (ที่ถูกเรียกกันจนติดปาก มาจนถึงทุกวันนี้) ไล่เลียงมาจนถึง L2 หรือการรับสัญญาณดาวเทียม แบบความถี่คู่ (Dual Frequency)...และจนถึงยุคปัจจุบัน (ณ พ.ศ. นี้) กับการนำเอาระบบดาวเทียม 'อื่นๆ' มาใช้ในการคำนวณ เพื่อระบุตำแหน่งบนพื้นผิวโลก 'ร่วมกัน' ซึ่งถูกเรียกในชื่อ GNSS (Global Navigation Satellite System) โดย ณ ปัจจุบัน (พ.ศ. 2558) นอกเหนือจากระบบดาวเทียม GPS (อเมริกา) ที่ชนชาวเราต่างคุ้นเคยกันดีอยู่แล้ว ยังมีระบบดาวเทียม Glonass (รัสเซีย), Compass/Beidou (จีน), Galileo (สหภาพยุโรป, ระบบยังไม่สมบูรณ์) และระบบดาวเทียม SBAS (WAAS อเมริกา, EGNOS ยุโรป, GAGAN อินเดีย และ MSAS ญี่ปุ่น)
และ สำหรับบทความนี้ คือ 'ครั้งแรก' ของผู้เขียน กับการทดสอบและใช้งาน เครื่องมือสำรวจรังวัดดาวเทียม 'สัญชาติ หยวน' ที่ชนชาวเรา (ส่วนหนึ่ง) ค่อนข้างจะดูเบา ดูแคลนอยู่มิใช่น้อย โดยเฉพาะในประเด็นเรื่อง 'เมดอินหยวน' ที่ว่า ราคาถูก, ของลอกเลียนแบบ, ความทนทานต่ำ (อายุการใช้งานสั้น), ความถูกต้องของข้อมูล (มีความคลาดเคลื่อนสูง) ฯลฯ

CHC x91
เครื่องมือสำรวจรังวัดดาวเทียม (ระบบ GNSS) ยี่ห้อ CHC รุ่น x91 (รุ่นล่าสุด) จากชนชาติหยวน ที่ผู้เขียนได้รับมาทำการทดสอบในครั้งนี้...บางที อาจจะช่วย 'ลบคำสบประมาท' ข้างต้น ก็เป็นได้ ผู้เขียนขออนุญาติทำการวิเคราะห์ (ความคิดเห็นส่วนตัว) ไปทีละประเด็น ดังนี้

ประเด็นเรื่องการ 'การลอกเลียนแบบ' (ลอกการบ้าน)
>> ในตลาดเครื่องมือสำรวจฯยุคปัจจุบัน ที่ค่อนข้างจะลึกลับ ซับซ้อน ซ่อนเงื่อน บางครั้งก็พูดได้ไม่เต็มปากว่า นั่นคือการลอกเลียนแบบ หรือใครลอกการบ้านใคร แม้ว่าตัวผลิตภัณฑ์+ออปชั่นการใช้งานต่างๆ จะดูเหมือน หรือมีความคล้ายคลึงกันก็ตามที

ในโลกการตลาดไร้พรมแดนทุกวันนี้ เราจึงเห็นบริษัทยักษ์ใหญ่ (ฺBrand name) ทางด้านการผลิตอุปกรณ์สำรวจฯทั้งหลาย ต่างพากันกระโจนลงมาทำการตลาด 'แบบตัวแทน' ขอมีส่วนแบ่งทางการตลาดเครื่องมืองานสำรวจฯ ในตลาดระดับล่าง ในชื่อแบรนด์ใหม่ ผลิตภัณฑ์ใหม่ (+ตัดออปชั่นการใช้งานบางส่วนออก) และสนนราคาไม่ต่างกันมากนัก อาทิ Leica กับ GeoMax และ Stronex, Trimble กับ Spectra และ Focus, South กับ Sanding, Horizon และ Geoland เหล่านี้ เป็นต้น

และสำหรับเจ้า CHC รุ่น x91 นี้ ก็เป็นดั่งเช่นการตลาดที่ลึกลับ ซับซ้อน ซ่อนเงื่อน ข้างต้นเช่นกัน แต่ทั้งนี้ เป็นที่เปิดเผยแล้วว่า ตัวบอร์ดที่ใช้ในการรับสัญญาณดาวเทียม ในรุ่น x91 นั่นคือ ตัวบอร์ด Trimble BD970 ซึ่งเป็นตัวบอร์ดรับสัญญาณดาวเทียม 'แบบเดียวกัน' กับที่ใช้ในเครื่องมือสำรวจรังวัดดาวเทียม ยี่ห้อ Trimble รุ่น R8 (ราคาระยิบ ระยับ)
บอร์ดฯ Trimble BD970 ใน Trimble R8 (ภาพด้านล่าง)
ส่วนประเด็นที่ว่า ตัวบอร์ด Trimble BD970 ที่ใช้ในการรับสัญญาณดาวเทียม ของค่ายแบรนด์เนม Trimble ดันมาโผล่อยู่ในเครื่องมือสำรวจรังวัดดาวเทียม ยี่ห้อ CHC ในรุ่น x91 'ได้อย่างไร?' ผู้เขียนก็อยากจะคาดเดาไปว่า ค่าย CHC อาจจะทำสัญญาซื้อตัวบอร์ดฯ ดังกล่าว มาจากค่าย Trimble ก็เป็นได้ เพราะเป็นที่ปรากฏชัดแจ้งแล้วว่า แม้แต่เครื่องมือสำรวจรังวัดดาวเทียม รุ่น x900+ ก่อนหน้านี้ ของ CHC ก็ได้ใช้ตัวบอร์ดฯ รุ่น OEM628 จากค่ายแบรนด์เนม Novatel ฉะนั้นเจ้า x91 กับประเด็นเรื่องมีการ 'ลอกเลียนแบบ' หรือไม่...ผู้เขียน (ส่วนตัว) จึงคิดว่า 'ไม่' (เป็นเพียงแค่กลยุทธ เทคนิคทางการตลาด)

ประเด็นเรื่อง 'ความทนทาน' (อายุการใช้งาน)
>> ด้วยเหตุที่ว่า การใช้งานเครื่องมือสำรวจรังวัดดาวเทียมทุกประเภท (ทุกยี่ห้อ) ต้องทำการสำรวจรังวัดในพื้นที่ 'เปิดโล่ง' เห็นท้องฟ้า เพื่อการรับข้อมูลสัญญาณดาวเทียมให้ได้คุณภาพดี ฉะนั้นจึงไม่สามารถหลีกเลี่ยงจากแสงแดด ความร้อน ความเปียกชื้น และฝุ่นละออง ไปได้...เครื่องมือสำรวจรังวัดดาวเทียมเหล่านี้ จึงถูกผลิต และออกแบบให้มีการป้องกันอันตรายจากปัจจัยต่างๆ ข้างต้น แต่ทั้งนี้ เป็นที่ทราบกันดีว่าวัสดุที่ใช้ในการประกอบตัว Body มีหลายเกรด หลากหลายคุณภาพ (หลากหลายความทนทาน) ซึ่ง 'สินค้าที่ถูกผลิตขึ้นจาก ชนชาวหยวน' จึงมักจะถูก 'ดูแคลน' จากเหล่าชาวโลก ในประเด็นเรื่อง 'คุณภาพของสินค้า' เป็นสำคัญ

แต่จากการที่ผู้เขียนได้สัมผัส จับต้อง พินิจ พิเคราะห์อย่างถี่ถ้วน (+เคาะแรงๆ) วัสดุที่ใช้ในการประกอบตัวจานรับสัญญาณฯ รุ่น x91 ดังกล่าวนั้น จัดอยู่ในเกรดดีเยี่ยมทีเดียว ผู้เขียนเข้าใจว่าวัสดุที่ใช้คือ คาร์บอนอัลลอยด์แข็ง ไม่ใช่พลาสติกทำขันอาบน้ำทั่วๆไป และ (ส่วนตัว) คิดว่าวัสดุที่ใช้ประกอบน่าจะ 'ดีกว่า' วัสดุที่ใช้ในจานรับสัญญาณฯยี่ห้อดัง อย่าง Thale อยู่หลายรุ่น ทีเดียว...ในประเด็นเรื่อง ความทนทานนานปี ผู้เขียน (ส่วนตัว) คิดว่า 'ของเขาทนจริง' แต่ทั้งนี้การใช้สีขาว สำหรับตัว Body นั้น จะทำให้มันเปลี่ยนเป็นสี 'เหลือง' ซีดๆ ในกาลถัดไป อย่างแน่นอน
การทดสอบความทนทาน 'ไม่ต้องเยอะ ก็ได้'

ประเด็นเรื่อง 'ความถูกต้องของข้อมูล'
>> ความถูกต้องของข้อมูล ที่ได้รับจากการใช้เครื่องมือในการทำการสำรวจฯนั้น ถือเป็น 'แก่น' ของการพิจารณาเลือกซื้อ และการใช้งานเลยทีเดียว โดยเครื่องมือสำรวจรังวัดดาวเทียม ยี่ห้อ CHC รุ่น x91 ดังกล่าว มาพร้อมกับ สเป็คหลักๆ ที่ 'แรง' เอาเรื่อง เทียบได้กับสเป็คสูงๆ จากยี่ห้อแบรนด์เนมทั้งหลาย ณ พ.ศ. นี้ ได้อย่างสบาย

การรับสัญญาณดาวเทียม
- GPS: L1C/A,L2C, L2E, L5
- GLONASS: L1C/A, L1P, L2C/A, L2P
- Compass/Beidou: B1, B2, B3
- SBAS: WAAS, EGNOS, GAGAN, MSAS
- Galileo: GIOVEA and GIOVEB

ความคลาดเคลื่อน ในการสำรวจฯด้วยระบบ RTK
- ค่าพิกัดทางราบ: 10mm+1ppm
- ค่าระดับ: 20mm+1ppm

ความคลาดเคลื่อน ในการสำรวจฯ แบบ Static
- ค่าพิกัดทางราบ: 2.5mm+1ppm
- ค่าระดับ: 5mm+1ppm
- ระยะทางในการทำการสำรวจรังวัด จากสถานีฐาน (ฺBase Station): สูงสุดไม่เกิน 200 กิโลเมตร


ระบบที่ถูกเรียกว่า 'GNSS รุ่นบุกเบิก' ที่เคยหากินพื้นๆ อยู่กับ 2 ระบบหลัก อาทิ ระบบ GPS และระบบ Glonass อยู่นานหลายปี ซึ่งให้เกณฑ์ความถูกต้องของข้อมูลสำรวจฯอยู่ในระดับสูง (มีความถูกต้องมากกว่าระบบ GPS เดิม ที่มีเพียงระบบเดียว) เมื่อได้ระบบ Compass/Beidou และระบบ Galileo มาช่วยเสริมอีกแรง ยิ่งทำให้ข้อมูลสำรวจฯที่ได้รับ มีความละเอียดถูกต้อง 'สูงยิ่งขึ้น' ไปอีก (มีความถูกต้องมากกว่าระบบ GPS+Glonass ที่มีอยู่เพียง 2 ระบบ)

การประมวลผล ข้อมูลดาวเทียม
>> CGO Office คือ ชื่อโปรแกรมที่ใช้ในการประมวลผลข้อมูลดาวเทียม ที่ได้จากเครื่องมือสำรวจรังวัดดาวเทียมจากค่าย CHC ซึ่งค่อนข้างจะ พ้องชื่อ+พ้องเสียง กับโปรแกรม TGO จากค่าย Trimble และ LGO จากค่าย Leica รวมไปถึงหน้าตาโปรแกรม และวิธีการใช้งานโปรแกรม ที่คล้ายๆกัน โดยมิได้นัดหมาย?
ซึ่งผู้เขียน ขออนุญาติไม่ลงลึกในรายละเอียดเกี่ยวกับตัวโปรแกรมที่ใช้ในการประมวลผลข้อมูลดาวเทียมดังกล่าว ด้วยเหตุผลที่ว่าโปรแกรมฯเหล่านี้ (จากหลายค่าย หลายสำนัก) ใช้หลักการคำนวณทางคณิตศาสตร์ที่เหมือนๆกัน  และมีลำดับการประมวลผล ที่คล้ายคลึงกัน ซึ่งผู้เขียนได้ลอง Convert ข้อมูลดาวเทียมที่ได้จากเจ้า x91 (*.HCN) เป็นไฟล์ RINEX เพื่อใช้ในโปรแกรม Carlson GNSS และ GNSS Solution (GPS+Glonass) ของค่าย Spectra (พัฒนาโปรแกรมประมวลผลข้อมูลดาวเทียม จำหน่ายให้กับค่ายแบรนด์เนม อื่นๆ) ปรากฏว่า ได้ผลลัพธ์ออกมาใกล้เคียงกันมาก 
>> ถ้าจะกล่าวว่า สินค้าที่มาจากประเทศหยวน มีราคาถูก+คุณภาพต่ำ อาจจะเป็นคำกล่าวที่ถูกต้อง สำหรับชนชาวสารขัณฑ์ ที่ต่างคุ้นเคยกับสินค้าหยวน กันเป็นอย่างดี โดยเฉพาะอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า เมดอินหยวน...แต่ราคาถูกแบบหยวนๆ อาจจะใช้ไม่ได้กับเจ้า CHC รุ่น x91 ที่สนนราคาค่าตัว 'แรงพอตัว' โดยใน 'สเป็คเดียวกัน' จัดชุดเซ็ต เหมือนกัน (อาทิ ชุด RTK ตามภาพข้างต้น ที่มี 1 Base+1 Rover+1 Modem+1 Controller) โดยเปรียบเทียบกับยี่ห้อหลัก อื่นๆ นั้น เจ้า x91 จะมีราคา 'ถูกกว่า' ประมาณ 30-35%...ชุด RTK ที่ผู้เขียนได้รับมาทำการทดสอบ ตามภาพข้างต้นนั้น มีราคาค่างวด อยู่ที่ราวๆ 5-6 แสนบาท 

เพิ่มเติม เรื่องตัว Controller
>> สำหรับตัว Controller ที่ติดมาในชุดเซ็ต RTK ที่ถูกส่งมาให้ผู้เขียนทำการทดสอบนี้ เป็นรุ่น LT30 (ชื่อเรียกในยี่ห้อ CHC) ซึ่งผู้เขียนขออนุญาติไม่กล่าวถึงรายละเอียดมากนัก ด้วยเหตุว่าเป็นเพียงตัว Controller ทั่วๆไป ที่มีจำหน่ายในท้องตลาดเครื่องมือสำรวจฯ ซึ่งชาวเราสามารถพบเห็นเจ้าตัว Controller ตามภาพข้างต้น จำหน่ายคู่กับเครื่องมือสำรวจรังวัดดาวเทียมแบรนด์เนม อื่นๆ อาทิ Sokkia, SunNav, Getac ฯลฯ

การควบคุม สั่งงานตัวจานรับสัญญาณดาวเทียม x91 ด้วยตัว Controller นั้น สามารถใช้ตัว Controller ยี่ห้อ และรุ่นใดๆ ก็ได้ ที่ใช้ระบบปฏิบัติการ 'Windows Mobile' และมีฟังชั่น Bluetooth (ขาดไม่ได้) และสิ่งสำคัญที่ต้องมีคือตัว 'โปรแกรมสั่งงาน' ซึ่งเจ้าตัว LT30 ที่ผู้เขียนได้รับมานี้ มาพร้อมกับชุดโปรแกรม Landstar v6.0 แต่ทั้งนี้ท่านสามารถใช้งานเจ้าตัว x91 ร่วมกับโปรแกรม SurveCE และ Survey Genius ได้เช่นกัน...อนึ่ง อุปกรณ์ Pocket PC ที่ใช้ระบบปฏิบัติการ 'Windows Mobile' และมีฟังชั่น Bluetooth (+ชุดโปรแกรมควบคุม ข้างต้น) และมีฟังก์ชั่นการทำงานแบบ Handheld GPS สามารถนำมาใช้กับเจ้า x91 ได้ โดยไม่ผิดกติกา แต่อย่างใด

สรุป แบบหยวนๆ
>> บทความนี้ มิได้เป็นรายการแนะนำสินค้า หรือเชียร์สินค้า แต่อย่างใด และตัวผู้เขียนเองก็มิได้ รู้จักหรือเกี่ยวดองหนองยุ่งกับ บ.ผู้ผลิต หรือผู้จัดจำหน่าย ใดๆ ทั้งสิ้น...จากการที่ได้ทำการทดสอบ ผู้เขียนรู้สึกอย่างไร ก็เขียนไปอย่างนั้น ถึงแม้ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ มีระบบใหม่ๆจากที่ไม่เคยเห็น และไม่เคยใช้งานมาก่อนก็ตามที แต่จากที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นว่า ผู้เขียนได้ผ่านงานการสำรวจฯประเภทนี้มาเนิ่นนานนัก จึงไม่ค่อยจะรู้สึก รู้สากับอุปกรณ์ หรือเครื่องมือเหล่านี้มากนัก ซึ่งส่วนใหญ่ มีการใช้งาน และการประมวลผลข้อมูลที่คล้ายคลึงกัน ในทุกๆ ยี่ห้อ

เป็นที่ทราบกันดีว่า ราคาค่างวดของชุดเครื่องมือสำรวจรังวัดดาวเทียม (ชุด RTK) เพียง 1 ชุด (ที่มีสเป็ค+ออปชั่น เดียวกัน โดยเฉพาะการมีออปชั่นการรับข้อมูลดาวเทียมจากทั้ง 3 ระบบหลัก) จากค่ายแบรนด์เนม ยี่ห้อหลักๆ นั้น ราคาพุ่งไปถึงเฉียดๆ ล้านบาท (หรือสูงกว่า ในบางยี่ห้อ) ซึ่งอาจจะเป็นข้อจำกัดอย่างหนึ่ง สำหรับท่านที่มีเบี้ยน้อย หอยน้อย (เช่นผู้เขียน) ในการมองหา หรือพิจารณาเลือกซื้อชุดเครื่องมือดังกล่าว เอาไว้ใช้งานสักชุด...(ส่วนตัว) ถ้าผู้เขียนมีงบประมาณ 1 ล้านบาท สำหรับการพิจารณาเลือกซื้อชุดเครื่องมือสำรวจรังวัดดาวเทียม ระบบ GNSS (ชุด RTK) สักชุด ผู้เขียนจะให้น้ำหนักมาที่เจ้า CHC รุ่น x91 มากกว่า ด้วยเหตุผลที่เคยประทับใจในแบรนด์ Trimble เป็นการส่วนตัวตั้งแต่ในยุคอดีต และอีกหนึ่งเหตุผลง่ายๆ ที่ว่า 'ยังมีเงินเหลือ เพื่อนำไปซื้อกล้องโททอล สเตชั่น รุ่นดีๆ ได้อีก 1 ตัว'

* สำหรับท่านใดที่สนใจ หรือต้องการเรียนรู้การใช้งานตัว Hardware และการประมวลผลข้อมูล Software ของเจ้า CHC รุ่น x91 (ร่างอวตาร ของยี่ห้อ Trimble รุ่น R8) สามารถติดต่อผู้เขียนผ่านทางอีเมล์ ยินดีถ่ายทอดความรู้ สำหรับท่านที่สนใจ


Author supported to Land Surveyors United

Sunday 14 June 2015

งานสำรวจฯ 'วงรอบ 2D' ตอนที่ 5...ตารางการคำนวณ และปรับแก้งานสำรวจวงรอบ (ชิวๆ by Geospatial)

บทความอ้างอิง: 

Credited: twitter.com/rplsnews/status/703997843980156929

>> ไปๆ มาๆ 'ตอนที่ 5' ก็ถูกเขียนขึ้นมาจนได้ (เกือบๆ 2 ปี หลังจากการเขียนบทความ ตอนที่ 4) หลังจากที่ได้มีการติดต่อหลังไมค์ หลายกรรม หลายวาระกับน้องๆ นักสำรวจฯจาก สปป.ลาว และนายช่างสำรวจฯจากสารขัณฑ์ประเทศบางท่าน ในประเด็นเรื่อง 'ตารางการคำนวณ และปรับแก้งานสำรวจวงรอบ' ซึ่งบางท่าน บอกกับผู้เขียนว่าได้รับ 'มรดกตกทอด' จากรุ่นพี่ (สมัยเรียน) หรือไม่ก็หน่วยงาน/บริษัทฯ (ที่ทำงาน) ต่อๆกันมา โดยต่างมีประเด็นร่วมที่เหมือนกันคือ 'การใช้งานยาก' อาทิ บางตารางฯ ต้องลบค่าเดิมทั้งหมดออกเสียก่อน จึงจะป้อนข้อมูลใหม่ลงไปได้ หรือบางตารางฯ มีการบังคับจำนวนหมุดฯ เท่านั้น เท่านี้ จำนวนตายตัว (มิเช่นนั้น จะคำนวณไม่ได้) ฯลฯ...และที่หนักไปกว่านั้น กับคำบอกเล่า ที่ว่า "งานสำรวจรังวัดวงรอบ ไม่มีความจำเป็นเท่าใดนัก แค่การ RUN ทราเวิรส ไปข้างหน้าเรื่อยๆ  ส่อง B.S./F.S ให้ถูก ก็แค่นั้น"....โอววว นายช่างฯเด็กๆ สมัยนี้ (T_T '') 

และนั่นคือ ที่มาของบทความ ในตอนที่ 5 นี้ครับ
>> เป็นความจริงที่ว่า...ในยุคหนึ่ง สมัยหนึ่ง 'ตารางการคำนวณ และปรับแก้งานสำรวจวงรอบ' ถือเป็น Rare Item (ของหายาก) ประเภทหนึ่งในวงการสำรวจฯ เฉกเช่นเดียวกับสูตรงานสำรวจฯในเครื่องคิดเลข ซึ่งการมีไว้ครอบครอง หรือการเป็นเจ้าของ หาได้มีกันได้ง่ายๆ และการส่งต่อเป็น 'มรดกตกทอด' ให้แก่กันนั้น ค่อนข้างอยู่ในวงจำกัด (ถ้าไม่รักกันจริง ก็ไม่ให้กันง่ายๆ) โดยผู้ที่มีไว้ครอบครอง ส่วนใหญ่จะเป็นการพัฒนาโดยใช้โปรแกรม Excel 'ใช้กันเอง' ในหน่วยงาน, บริษัทฯ (ของใครของมัน ไม่มีแบ่ง) 

การที่ผู้เขียน ได้มีโอกาสวิสาสะ สนทนากับท่านผู้อ่าน แบบ Interactive ข้างต้น ทำให้ผู้เขียนได้ตระหนักถึงความขาดแคลน และการเข้าถึง Rare Item ประเภทดังกล่าว จึงทำให้เกิดแนวคิดที่จะ 'ตัดแบ่งเวอร์ชั่น'  'ตารางการคำนวณ และปรับแก้งานสำรวจรังวัดวงรอบ' ที่ผู้เขียนได้พัฒนาใช้อยู่ในหน่วยงาน นำมาเผยแพร่ ต่อท่านผู้สนใจ ที่เอาใส่ใจในเรื่อง 'ความถูกต้อง' ในวิชาการงานสำรวจรังวัด ได้ลองเอาไปใช้งานกันครับ


Password: ใช้ Password เพื่อปลดล๊อค *.rar จากการอ่านบทความ (ใช้ Password เดียวกัน) http://geomatics-tech.blogspot.com/2012/01/casio-fx-cg10-prizm.html

REPEAT!
>> ในการเขียนบทความงานสำรวจฯลงเว็บบล๊อค ผู้เขียนมักจะเขียนย้ำเตือนท่านผู้อ่านอยู่เสมอๆ เพื่อชี้ให้เห็นถึงความสำคัญ "อย่างยิ่งยวด" ในประเด็นเรื่อง ความถูกต้องของค่าพิกัด/ระดับ ของหมุดหลักฐานฯ ที่ใช้เริ่มต้นออกงานสำรวจฯ ไม่ว่าจะเป็นการใช้กล้องฯ หรือเครื่องมือ GPS...โดยมีแนวคิดง่ายๆ ที่ว่า ถ้าเริ่มต้นออกงานสำรวจฯจากค่าพิกัด/ระดับ ที่ถูกต้อง มีความแม่นยำสูง (หรือ มีความคลาดเคลื่อนน้อยที่สุด)...ผลลัพธ์ หรือข้อมูลสำรวจฯที่ได้ ก็จะมีความถูกต้อง และแม่นยำตามไปด้วย แต่ ในทางกลับกัน ถ้าการสำรวจฯนั้น ได้เริ่มต้นออกงานสำรวจฯ จากค่าพิกัด/ระดับ ที่ไม่ถูกต้อง มีความคลาดเคลื่อนสูง...ข้อมูลจากการสำรวจฯที่ได้รับ ก็จะมีความคลาดเคลื่อนสูงตามไปด้วย...Basic Logic!


ตัวอย่างวิธีการใช้งาน

1. พิมพ์ข้อมูล (หรือ Copy/Paste) ข้อมูลสำรวจฯจากภาคสนาม ลงในตาราง ที่ช่อง Cell สีเหลือง
        1.1 พิมพ์ชื่อหมุดฯ ตำแหน่งตั้งกล้องฯ (Station No./ID)
        1.2 พิมพ์ค่าระยะทางราบ (Horizontal Distance)
        1.3 พิมพ์ค่ามุม อะซิมัทจากตำแหน่งตั้งกล้องฯที่หมุดฯแรก 'เวียนไปทางขวา' และ ค่ามุม อะซิมัท "เข้าบรรจบ" กับหมุดฯแรกอีกครั้งหนึ่ง
            1.3.1 ในกรณีที่ผู้ทำการสำรวจฯ ต้องการความละเอียดทางมุม 'มีความถูกต้องสูง' สามารถทำการอ่านค่ามุม (ระหว่างแขนของมุม แต่ละหมุดฯ) เป็นชุด/ทบ จากนั้นจึงนำค่ามุม (ชุด/ทบ) ดังกล่าวมาหาค่าเฉลี่ย และทำการคำนวณกลับมาเป็นค่ามุมอะซิมัท เพื่อใช้ในตารางฯต่อไป...ซึ่งผู้เขียน ขออนุญาติไม่ลง  ในรายละเอียดวิธีการคำนวณดังกล่าว และขออนุญาติละไว้ในฐานที่เข้าใจ (ความรู้พื้นฐานเรื่อง มุมอะซิมัท)
       1.4 พิมพ์ข้อมูลค่าพิกัดเริ่มต้น หรือจุดตั้งกล้องฯจุดแรก (จุด A) สำหรับใช้ออกงานสำรวจฯ ลงในตารางที่ช่อง Cell สีเหลือง (มุมขวาบน ของตาราง)

2. ตารางแสดงค่าพิกัด [2D] ที่ถูกปรับแก้แล้ว ซึ่งค่าพิกัดดังกล่าว สามารถนำไปใช้เป็นค่าพิกัดควบคุมทางราบ ในงานสำรวจฯต่อไป

3. ตารางแสดงค่าความคลาดเคลื่อนที่เกิดขึ้น และเกณฑ์การยอมรับ ในงานสำรวจรังวัดวงรอบ

หมายเหตุ:

1. สำหรับงานทางระดับ [1D] ในสายทางการสำรวจฯวงรอบ ในกรณีที่ต้องการค่าระดับ มีเกณฑ์ความถูกต้องอยู่ในเกณฑ์สูง ควรใช้วีธี 'เดินระดับ' (Levelling) ร้อยหมุดฯ ในวงรอบเข้าด้วยกัน แล้วปรับแก้ตามเกณฑ์งานระดับ ซึ่งจะให้ความถูกต้องมากกว่าค่าระดับที่ได้จากการใช้กล้องวัดมุม หรือกล้องโททอล สเตชั่น

2. ตารางการคำนวณ และปรับแก้งานสำรวจรังวัดวงรอบข้างต้น ได้กำหนดให้มีจำนวนจุดตั้งกล้องฯ สูงสุด 12 จุด (หมุดฯ)...ในงานสำรวจฯภาคสนาม ผู้ทำการสำรวจฯ จึงควรที่จะวางแผนงาน กำหนดทิศทางของวงรอบ และกำหนดจำนวนจุดตั้งกล้องฯ ให้ครอบคลุมพื้นที่การสำรวจฯ โดยให้มีจำนวนจุดตั้งกล้องฯ น้อยที่สุด  เพื่อลดความคลาดเคลื่อนที่จะเกิดขึ้น และพึงระลึกไว้เสมอว่า "เมื่อเริ่มต้นการสำรวจรังวัด ความคลาดเคลื่อน (Error) ก็ได้เกิดขึ้นแล้ว"

3. ตัวอย่างภาพด้านล่าง แสดงตัวอย่างแบบจำลองการคำนวณปรับแก้หมุดฯควบคุมทางราบ โดยเปรียบเทียบก่อน-หลัง การทำการคำนวณปรับแก้

4. ในเชิงธุรกิจ (หน่วยงานของผู้เขียน) ผู้เขียนได้พัฒนาตารางการคำนวณ และปรับแก้งานสำรวจรังวัดวงรอบ ข้างต้น โดยให้มีการคำนวณปรับแก้ ตำแหน่งสำรวจฯ หรืองาน Details อื่นๆ ในสายทางวงรอบ ไปในคราวเดียวกัน

5. ในงานสำรวจฯทางวิศวกรรม ที่ต้องการความถูกต้องทางตำแหน่ง และทางระดับ [3D] อยู่ในเกณฑ์สูง (+/- 2 มิลลิเมตร) ผู้เขียนได้พัฒนาตารางการคำนวณการปรับแก้ หมุดสำรวจฯ แบบโครงข่าย (Control Networks) ด้วยวิธี Least Squares Analysis ซึ่งให้ผลลัพธ์ความถูกต้อง ของการคำนวณปรับแก้ฯ อยู่ในเกณฑ์สูง

Wednesday 20 May 2015

ยังหายใจอยู่ครับ!...กับภารกิจงานสำรวจฯ และก่อสร้างโมดูล ท่อส่งก๊าซธรรมชาติ (Onshore LNG Facilities Project)

>> ในช่วงระยะเวลากว่า 1 ปีครึ่ง ที่ผู้เขียนได้ถูกถามไถ่ผ่านทางอีเมล์เข้ามาจำนวนไม่น้อย ในประเด็นที่ว่า ผู้เขียนหายไปไหน, เงียบไปเลย, ไม่อัพเดทบล๊อก ฯลฯ ซึ่งผู้เขียนก็ได้เขียนตอบอีเมล์ทุกฉบับ ถึงเหตุผลของการ 'หายไป' ตลอดช่วงปี ที่ผ่านมานี้...แต่เมื่อช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา มีท่านผู้อ่านท่านหนึ่งได้ส่งอีเมล์เข้ามาสอบถามในประเด็นเดียวกันนี้เข้ามาอีก พร้อมกับคำพูดที่ค่อนข้างจะ 'แรงไปซักนิด' กับประโยคที่ว่า "พี่หายไปนานเลย พี่ตายหรือยัง"

จากประโยคคำพูดนี้เอง ที่สะกิดใจผู้เขียนแบบโดนๆ และเป็นเหตุให้ผู้เขียนต้อง 'Take Action' อะไรซักอย่างออกมาสู่สาธารณะชน ก่อนที่จะมีท่านใดตั้งคำถามเข้ามาในประเด็นเช่นข้างต้นเข้ามาอีก (*_* ")...ผู้เขียนจึงขออนุญาติ เล่าแจ้ง แถลงไขอีกครั้ง ผ่านหน้าเว็บบล๊อกนี้ว่า "ผู้เขียน ยังมีลมหายใจอยู่ครับ" ยังไม่ได้ล้มหายตายจาก หรือหายไปไหน และสาเหตุที่ทำให้ผู้เขียนต้องหยุดการเขียนบล๊อก 'เป็นการชั่วคราวนั้น' เนื่องมาจากผู้เขียนติดภารกิจงานสำรวจฯ ในโครงการสำรวจฯขนาดใหญ่ (อาจจะเรียกได้ว่า 'ใหญ่ที่สุด') ของประเทศสารขัณธ์แห่งนี้ (เท่าที่เคยมีมา) ดังจะได้เล่าแจ้ง ในลำดับถัดไปครับ
>> ในช่วงปี 2013 ได้มีโครงการสำรวจฯ และก่อสร้างโมดูลท่อส่งก๊าซธรรมชาติ (Onshore LNG Facilities Project) เพื่อจัดส่งไปยังต่างประเทศ โดยพื้นที่โครงการฯ ตั้งอยู่ในเขตท่าเรือแหลมฉบัง อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี โดยโครงการฯดังกล่าว ถือเป็นโครงการลงทุนก่อสร้างโมดูลท่อส่งก๊าซธรรมชาติขนาดใหญ่ ทั้งทางด้านปริมาณ และทางด้านปริมาตร 'ของเหล็ก' (ที่มากที่สุดในสารขัณธ์ประเทศ เท่าที่เคยมีการบันทึกไว้ นับจากอดีต จนถึงปัจจุบัน)

ซึ่งโครงการฯลงทุนก่อสร้างดังกล่าว ได้ก่อให้เกิด 'อัตราการจ้างงานจำนวนมาก' ในหลากหลายตำแหน่ง หลากหลายสาขาอาชีพ ซึ่งงานในตำแหน่งนายช่างสำรวจรังวัด ในสาขา Dimensional Control Survey ก็เป็นหนึ่งในนั้น เช่นกัน...และด้วยเหตุผลหลักที่สำคัญที่สุด (ความเป็นจริง) ที่เป็นแม่เหล็ก 'ดึงดูด' เหล่าชาวยุทธ์ นายช่างสำรวจฯทั้งหลาย จากทั่วยุทธจักร ต่างพากันเบนเข็มชีวิต เข้ามาร่วมวงไพบูลย์ในงานสำรวจฯดังกล่าว นั่นคือ 'รายได้ หรืออัตราจ้างที่่สูง' (หลายเท่าตัว) โดยถ้าเปรียบเทียบกับงานสำรวจรังวัดในสาขาอื่นๆ

โดย ณ ขณะนี้ ในโครงการสำรวจฯที่ผู้เขียนทำงานอยู่ทั้ง 2 ไซด์งาน มีจำนวนทีมสำรวจฯ กว่า 40+ ทีมเข้าไปแล้ว (กว่าร้อยชีวิต) ที่กำลังวุ่นวายขายปลาช่อน อยู่ในโครงการฯ ทั้งนายช่างฯ ทั้งผู้ช่วยฯ ทั้งนักเขียนแบบ (Drafman) เป็นที่อึกทึก ครึกโครม กันเลยทีเดียวเชียว...ซึ่งผู้เขียนคิดว่า นี่คือโครงการฯสำรวจฯ ที่ได้มีการ 'รวมตัว' ของเหล่าบรรดานายช่างสำรวจรังวัด จากทั่วยุทธจักร ที่มีจำนวน 'มากที่สุด' ในสารขันณ์ประเทศแห่งนี้ (Surveyors recorded)
>> สำหรับตัวผู้เขียน ซึ่งก็เป็นหนึ่งในจำนวนจอมยุทธ์งานสำรวจฯ ที่ได้มีโอกาสเข้ามาร่วมวงไพบูลย์ในโครงการฯ กับเขาด้วยเช่นกัน และด้วยเหตุผลเช่นเดียวกับเหล่าชาวยุทธ์ท่านอื่นๆ นั่นคือ 'อัตราค่าจ้าง' ที่สามารถ สร้างแรงดึงดูดต่อผู้เขียนได้...โดยตำแหน่ง-หน้าที่ความรับผิดชอบของผู้เขียน ในโครงการฯดังกล่าว คือ Survey Auditor หรือเรียกเป็นภาษาบ้านๆ ว่า 'เซอร์เวย์ เช็ค เซอร์เวย์' (อีกแล้ว) 

ด้วยชั่วโมงทำงาน 10 ชั่วโมง/วัน และ 6 วัน/สัปดาห์...ได้ทำให้ผู้เขียนเป็น 'โรคขาดแคลนเวลา' อย่างสาหัส และต้องขอสารภาพว่า ผู้เขียน 'ไม่มีเวลา' เพียงพอที่จะอัพเดทบล๊อค จริงๆ (เลิกงานกลับมาถึงบ้าน ก็นอนแผ่หรา หมดสภาพ T_T") ...แต่อย่างไรก็ตาม ด้วยเหตุแห่ง 'จิตวิณญาณ นักสำรวจฯ ' ที่มันยังคงแล่นไหลเวียนอยู่ในสายเลือดอยู่ตลอดเวลา ทำให้ผู้เขียนยังมีความพยายามที่จะเสาะหาเวลา ยามว่าง (เท่าที่จะมีได้) เก็บเล็ก ผสมน้อย ในเรื่อง....
  • การเขียนบทความงานสำรวจฯ (แบบร่าง) ใส่กระดาษเก็บเอาไว้ก่อน โดยหวังว่าเมื่อเสร็จสิ้นโครงการสำรวจฯข้างต้น ก็จะได้นำมาลงถ่ายทอด ความรู้ และประสบการณ์ ทางด้านงานสำรวจฯ กันอีกครั้ง
  • การนำศาสตร์ทางด้าน Least Squares Adjustment มาประยุกต์ใช้ในโปรแกรมงานสำรวจฯ
  • การพัฒนาสูตรงานสำรวจฯ สำหรับโปรแกรม Excel
  • การพัฒนาสูตรงานสำรวจฯ สำหรับโทรศัพท์มือถือ/แท๊ปเล๊ต ที่ใช้ระบบปฏิบัติการ Android
  • การพัฒนาสูตรงานสำรวจฯ (สูตรใหม่ๆ) ให้กับเครื่องคิดเลข Casio-fx 5800P และรุ่น fx-CG10
  • การพัฒนาสูตรงานสำรวจฯ ให้กับเครื่องคิดเลข Casio-FD10 Pro (รุ่นใหม่ล่าสุด จาก Casio) ซึ่งถูกผลิตขึ้นมาสำหรับนักสำรวจฯ โดยเฉพาะ  (มีออปชั่น กันน้ำ, กันฝุ่น, กันสะเทือน ฯลฯ)...ตัวเครื่องฯ ถูกส่งมาถึงมือผู้เขียนตั้งแต่ ช่วงปลายปีที่แล้ว แต่ยังไม่มีเวลาที่จะจับต้องเท่าใดนัก...โอกาสหน้า จะหาเวลาจับเจ้า FD10 Pro ตัวนี้มารีวิว กันครับ
Casio-FD10 Pro (หรือรุ่น Surveyor)

>> และในช่วงระยะเวลา (หายตัว) ดังกล่าว ผู้เขียนต้องขอขอบคุณท่านผู้อ่านชาวสารขัณฑ์ และน้องๆนักสำรวจฯ ใน สปป.ลาว ที่ยังคงส่งอีเมล์สอบถามเข้ามา ไม่ว่าจะเป็นการทักทาย หรือในประเด็นต่างๆที่เกี่ยวข้องกับงานสำรวจฯ...รวมไปถึงการเดินเข้ามาทักทายซึ่งหน้า "พี่ Geospatial ใช่มั้ย ผมจำโลโก้พี่ได้"...ผู้เขียน ขอขอบคุณ ท่านทั้งหลาย มา ณ โอกาสนี้ (ผ่านไป ผ่านมา ทักทายกันได้ครับ)

งานสำรวจฯ (Dimensional Control Survey) ที่ผู้เขียนกำลังดำเนินอยู่นี้ กำลังเข้ามาอยู่ในช่วงเฟสสุดท้ายของโครงการฯแล้ว...แล้วพบกันครับ

See You Soon...
Geospatial JS กับ Leica TS30 (0.5") Robotics 
(Dimensional Control Survey)


geospatialjs@gmail.com
Author supported to Thai Topo and Land Surveyors United