Tuesday 1 October 2019

เรื่องขิงๆ กับงานสำรวจฯ Levelling ในประเทศเพื่อนบ้าน...ความ 'ย้อนแย้ง' ที่ยอมรับ 'บ่ได้'

มีประเด็นขิงๆ เกี่ยวกับงานสำรวจฯ Levelling ในประเทศเพื่อนบ้าน ที่มีระยะทางของการถ่ายทอดค่าระดับ (Differential Levelling) จากตำแหน่งหนึ่ง ไปยังอีกตำแหน่งหนึ่ง ที่มีระยะทางกว่า 100+ กิโลเมตร ด้วยเหตุว่า งานสำรวจรังวัดค่าระดับดังกล่าว ได้ก่อให้เกิด 'ข้อพิพาท' ทางด้านวิธีการสำรวจฯ (Levelling Procedure) และวิธีการคำนวณ (Levelling Computationทั้งจากฟากฝั่งที่เห็นด้วย (วิธีการถูกต้อง/ทำได้) และฟากฝั่งที่ไม่เห็นด้วย (วิธีการไม่ถูกต้อง/ทำไม่ได้) และเรื่องราวดังกล่าวนี้ ได้ถูกส่งผ่านต่อมายังผู้เขียนว่า มีความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นนี้อย่างไร จะขึ้นกับฝั่งไหน?

และเมื่อผู้เขียนได้ทำการตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกต่างๆ และได้ตอบกลับไปว่า ผู้เขียน 'เห็นด้วย' กับฝั่งไหนแล้ว?...ก็ได้ทำให้เกิด 'การไม่ยอมรับ' จากอีกทางฟากฝั่งหนึ่งขึ้นมาทันที และการ 'ไม่ยอมรับเหตุและผล ที่ผู้เขียนได้ตอบกลับไป' นี้ ได้กระตุ้นเตือนให้ผู้เขียนต้อง Take Action ออกมาเป็นกรณีศึกษา (ด้วยเหตุผลกลใด ทำไมผู้เขียนถึง 'ไม่เห็นด้วย') ดังเรื่องราวต่อไปนี้...
เรื่องมีอยู่ว่า...ผู้เขียนได้รับการ 'บอกเล่า' จากทางมิตรสหายฝั่งผู้จ้างงาน (สายงานเขื่อนฯ) ถึงประเด็นการจัดจ้าง 'บ.สำรวจฯเอกชน' มีชื่อแห่งหนึ่งในประเทศเพื่อนบ้าน ให้ทำการสำรวจรังวัดถ่ายทอดค่าระดับ จากจุดตำแหน่งหมุดฯที่ทราบค่าระดับ ไปยังตำแหน่งหมุดฯที่ไม่ทราบค่าระดับ (Unknown) แห่งหนึ่ง ที่อยู่ห่างไกลออกไป เป็นระยะทางกว่า 100+ กิโลเมตร (รวมถึงหมุดฯถาวร ที่สร้างขึ้นใหม่ในสายทางการระดับ) โดย บ.สำรวจฯดังกล่าว ได้นำเสนอวิธีการสำรวจฯ ด้วยวิธีการถ่ายทอดค่าระดับแบบ Differential Levelling โดยใช้กล้องระดับแบบอ่านค่า/คำนวณอัติโนมัติ หรือ Digital Level เพื่อทำการสำรวจรังวัด ถ่ายทอดค่าระดับแบบต่อเนื่องกันไป
* เมื่อแวบแรกที่ผู้เขียนได้ยินประโยคข้างต้นนี้ ก็อดนึก 'แปลกใจ' ไม่ได้ว่า ทำไม? บ.สำรวจฯดังกล่าว จึงเลือกวิธีการทำระดับแบบปรกติ ในระยะทางที่ไกลมากๆเช่นนี้ (ณ พ.ศ. นี้)...ทำไม? ไม่ใช้วิธีการสำรวจรังวัดดาวเทียม แบบโครงข่าย Networks (ขออนุญาติไม่ลงในรายละเอียด) โดยใช้วิธีการสำรวจฯแบบ Static ที่เพิ่มเวลาในการรับสัญญาณให้มากยิ่งขึ้น หรือใช้วิธีการสำรวจรังวัดดาวเทียม ด้วยระบบ CORs Network มาใช้เป็นสถานีฐานฯ (ที่อยู่ใกล้กับพื้นที่สำรวจฯ ซึ่งในประเทศเพื่อนบ้าน มีระบบ CORs Network เกือบจะครอบคลุมทั่วประเทศแล้ว ณ ชั่วโมงนี้) ในการทำการสำรวจรังวัดดาวเทียม ซึ่งจะใช้เวลาในการสำรวจฯที่สั้นกว่า และมีเกณฑ์ความถูกต้อง ที่สามารถยอมรับได้...แต่เอาล่ะ เมื่อเลือกวิธีการสำรวจฯค่าระดับแบบ Differential Levelling ก็ว่ากันไป ไม่ผิดกติกา...เพียงแต่ว่ามันใช้เวลาในการสำรวจฯที่ 'ยาวนานกว่า' ก็เท่านั้น
>> ก่อนที่ผู้เขียนจะกระโจนลงไปตะลุมบอน ในประเด็นทางด้านวิธีการสำรวจรังวัดค่าระดับ ที่ทำได้/ทำไม่ได้ หรือถูกต้อง/ไม่ถูกต้องอย่างไรนั้น ผู้เขียนขออนุญาตินำเอา 'มะพร้าวห้าว มาขายสวน' ปูพื้นฐาน ปรับความเข้าใจ ให้ตรงกันในหลักวิธีการแบบ 'เอาแต่เนื้อมะพร้าว' เสียก่อนว่า ชนชาวเรามี 'จุดร่วม' ในประเด็นเรื่อง 'การสำรวจรังวัดค่าระดับ ขั้นพื้นฐาน'...ตรงกันหรือไม่

และบทความนี้ถือว่าเป็น '1st Article' ที่ผู้เขียนได้หยิบยกเอาประเด็นเรื่อง 'การสำรวจรังวัดค่าระดับ ด้วยวิธี Differential Levelling' ขึ้นมาสาธยาย ขยายความ ในบริบทที่ว่า 'ความรู้ในตำรา+วิชา งานสำรวจรังวัดของจริง'  


The Principle of Differential Levelling

>> การสำรวจรังวัดค่าระดับ ด้วยวิธี Differential Levelling มีหลักวิธีการ (Procedure) ที่เป็น 'สากล' (ทั่วโลก ปฏิบัติเหมือนกัน) ที่เข้าใจได้ง่าย 'ไม่ซับซ้อน' มีหลักเกณฑ์ในการตรวจสอบความถูกต้อง และมีเกณฑ์การยอมรับ เป็นไปตามมาตรฐานงานสำรวจรังวัดค่าระดับในเกณฑ์ชั้นต่างๆ
จากภาพตัวอย่างข้างต้น แสดง 'ค่าระดับ ที่ตำแหน่งหมุดฯ B' สามารถทำการคำนวณได้จากการยึดโยงค่าระดับ (RL, Reduced Level) จากหมุดฯที่ทราบค่าระดับ A ถ่ายทอดค่าระดับไปยังหมุดฯ TP-1, TP-2 และสิ้นสุดที่ตำแหน่งหมุดฯ B...ภายหลังจากการคำนวณในขั้นตอนนี้ จะทำให้ทราบค่าระดับที่หมุดฯ B...แต่ ค่าระดับของหมุดฯ B ที่คำนวณได้นั้น เป็นเพียงค่าระดับ 'เบื้องต้น' ที่ยังไม่มีคุณภาพใดๆรับรอง อีกทั้งไม่สามารถตรวจสอบความถูกต้องได้ ฉะนั้น หลักวิธีการสำรวจรังวัดค่าระดับ ด้วยวิธี Differential Levelling จึงกำหนดให้มีวิธีการตรวจสอบความถูกต้องของงานระดับ โดยวิธีการสำรวจฯระดับ 'ย้อนกลับไปยังหมุดฯเริ่มต้น' (Closed Loop) 
Figure-3

ค่าความต่างทางระดับ ไป-กลับ (Forward-Backward) ที่หมุดฯเริ่มต้น สามารถนำมาคำนวณตรวจสอบตามเกณฑ์ความถูกต้อง และเกณฑ์การยอมรับทางงานระดับชั้นต่างๆ ร่วมกันกับ 'ระยะทางรวม ไป-กลับ จากการสำรวจฯระดับ'
* ระยะทางรวม ไป-กลับ จากการสำรวจฯระดับ หมายถึง ระยะทางจากตัวกล้องฯระดับ ไปยังไม้ Staff หน้า-หลัง แบบต่อเนื่องกันไป และ มิใช่ การนำเอาระยะทางจากการเดินทางโดยรถ, ระยะทางจากการเดินทางโดยเรือ หรือระยะทางจากทางอากาศ (เป็นเส้นตรง) มาใช้ในการคำนวณ 
* การนำผลรวมของ 'จำนวนจุดตั้งกล้องฯ' มาใช้ในการคำนวณปรับแก้ แทนการใช้ระยะทางรวม 'ไม่เป็นที่นิยม' 
สูตรการคำนวณ การผ่านเกณฑ์มาตรฐานงานสำรวจรังวัดระดับของ FGCC
Credited: www.ngs.noaa.gov

จากตัวอย่างงานสำรวจฯระดับตามภาพ Figure-3 แสดงค่าความคลาดเคลื่อนเข้าบรรจบ (Mis-Closure Error) = +0.005 เมตร...หมายความว่า; 



  • งานสำรวจรังวัดระดับ ด้วยวิธี บรรจบตัวเอง ชั้นที่ 1 Class 1 > 4x√0.9629 = 3.85 มม. (ไม่ผ่านเกณฑ์)
  • งานสำรวจรังวัดระดับ ด้วยวิธี บรรจบตัวเอง ชั้นที่ 1 Class 2 > 5x√0.9629 = 4.90 มม. (ไม่ผ่านเกณฑ์)
  • งานสำรวจรังวัดระดับ ด้วยวิธี บรรจบตัวเอง ชั้นที่ 2 Class 1 > 6x√0.9629 = 5.88 มม. (ผ่านเกณฑ์)
  • งานสำรวจรังวัดระดับ ด้วยวิธี บรรจบตัวเอง ชั้นที่ 2 Class 2 > 8x√0.9629 = 7.85 มม. (ผ่านเกณฑ์)
  • งานสำรวจรังวัดระดับ ด้วยวิธี บรรจบตัวเอง ชั้นที่ 3 Class - > 12x√0.9629 = 11.77 มม. (ผ่านเกณฑ์)
  • ฉะนั้น งานสำรวจรังวัดระดับจากหมุดฯ A ไปยังหมุดฯ B ดังกล่าว มีความคลาดเคลื่อน และเกณฑ์การยอมรับสูงสุด อยู่ในระดับงานสำรวจรังวัดระดับ ด้วยวิธี 'บรรจบตัวเอง' ชั้นที่ 2 Class 1...ส่วนในกรณีที่ค่าความคลาดเคลื่อนเข้าบรรจบ ในสายทางการระดับสายนี้ มีค่าเกินกว่า 11.77 มม. ขึ้นไป ต้องทำการ Re-Survey! 

    วิธีการ 'ปรับแก้' ค่าความคลาดเคลื่อนทางระดับ +0.005 เมตร "ที่เกินมานี้" นิยมใช้วิธีแบบ Manual (คำนวณแบบลูกทุ่งๆ) นั่นคือ การกระจายความคลาดเคลื่อนไป 'ตามระยะทาง' ในแต่ละ Section ดังต่อไปนี้
    - สายทางระดับ A > TP-1 มีระยะทาง 140.807 ม. จะได้ว่า (0.005/0.9629) x 0.1408 = -0.0007 มม. 
    - สายทางระดับ TP-1 > TP-2 มีระยะทาง 162.024 ม. จะได้ว่า (0.005/0.9629) x 0.1620 = -0.0008 มม. 
    - สายทางระดับ TP-2 > B มีระยะทาง 179.058 ม. จะได้ว่า (0.005/0.9629) x 0.1791 = -0.0009 มม. 
    - สายทางระดับ B > TP-3 มีระยะทาง 161.264 ม. จะได้ว่า (0.005/0.9629) x 0.1612 = -0.0008 มม. 
    - สายทางระดับ TP-3 > TP-4 มีระยะทาง 164.556 ม. จะได้ว่า (0.005/0.9629) x 0.1645 = -0.0009 มม.
    - สายทางระดับ TP -4 > A มีระยะทาง 154.680 ม. จะได้ว่า (0.005/0.9629) x 0.1546 = -0.0008 มม. 
    ส่วนในกรณีที่ต้องการทำการ 'ปรับแก้อย่างละเอียด' โดยการใช้โปรแกรมประยุกต์ (มีมากมาย หลายโปรแกรมฯ) ที่ส่วนใหญ่จะใช้ module การปรับแก้ด้วยวิธีการทาง Least Square Analysis โดยมีค่าความถูกต้องภายหลังการปรับแก้ อยู่ในเกณฑ์ที่ดีกว่าวิธีการ (ปรับแก้แบบลูกทุ่ง) ข้างต้น 
    ภาพตัวอย่าง แสดงการปรับแก้ค่าระดับ ด้วยโปรแกรม MicroSurvey Star*NET (ในตำนาน)
    >> จากตัวอย่างสาธิตข้างต้น คือหลักวิธีการสำรวจรังวัดระดับแบบ Differential Levelling (Closed Loop) 'ทั่วไป' ซึ่งเป็นหลักวิธีการ 'พื้นฐาน' ที่ชนชาวนักสำรวจฯในสายงาน Land Surveying ต่างพากันรับทราบ และเข้าใจกันเป็นอย่างดี

    แต่...ด้วยข้อจำกัดทางด้านสภาพภูมิประเทศ ในสายทางการสำรวจรังวัดค่าระดับ ที่มีความยากลำบาก ในการ 'สำรวจรังวัดค่าระดับ แบบย้อนกลับมายังหมุดฯเริ่มต้น' จึงมีผู้คิดค้นวิธีการสำรวจรังวัดระดับ ประเภท 'ไปข้างหน้า' ในทิศทางขาเดียว โดยมีวิธีการตรวจสอบความถูกต้อง ตามวิธีการดังต่อไปนี้

    การสำรวจรังวัดค่าระดับ ด้วยวิธี Double Rodded Levelling
    Figure-4
    >> เป็นวิธีการสำรวจรังวัดค่าระดับประเภทหนึ่ง แบบ 'ปลายเปิด' หรือ Opened Levelling (จัดอยู่ในสาขาย่อยของ Differential Levelling) ที่ต้องอาศัยการอ่านค่าระดับ BS จากตำแหน่ง Turning Point ที่ต่างกันจากทั้ง 2 ตำแหน่ง โดยการใช้กล้องฯระดับเพียง 1 ตัว และทำการอ่านค่า FS ไปยังไม้ Staff หน้า FS ทั้ง 2 ตำแหน่ง...หลังจากนั้น ทำการย้ายกล้องฯ และอ่านค่า BS จากไม้ Staff ทั้ง 2 จากขั้นตอนก่อนหน้านี้ และทำการอ่านค่า FS ไปยังไม้ Staff หน้า (ถัดไป) FS ทั้ง 2 ตำแหน่ง...ทำซ้ำในลักษณะเช่นนี้ ต่อเนื่องกันไปจนถึงหมุดฯเป้าหมาย

    วิธีการตรวจสอบความถูกต้อง: วิธีการ Double Rodding ข้างต้นนั้น อาศัยการเปรียบเทียบ 'ค่าความสูงแกนกล้อง' หรือค่า HI (High of Instrument) ที่จุดตั้งกล้องฯ จากการอ่านค่า BS จากทั้ง 2 ไม้ Staff โดยถ้ามีค่าความสูงแกนกล้อง (HI) ต่างกันเกินเกณฑ์ยอมรับ (ขึ้นอยู่กับประเภทงานสำรวจฯระดับ) แสดงว่าได้เกิดการ 'อ่านค่าผิด'...ให้ทำการตรวจสอบ และอ่านค่าระดับ และคำนวณค่า HI ใหม่ จนกว่าจะมีค่า HI เท่ากัน หรือต่างกันเพียงเล็กน้อย อยู่ในเกณฑ์ยอมรับได้

    เกณฑ์มาตรฐานงานสำรวจรังวัดระดับ: วิธีการ Double Rodding เป็นวิธีการสำรวจรังวัดถ่ายทอดค่าระดับ แบบต่อเนื่อง 'ไปข้างหน้า' มิได้ย้อนกลับเข้าบรรจบหมุดฯแรกออกงาน ฉะนั้นจึงไม่มีเกณฑ์การรับรองความถูกต้องในชั้นงานประเภทนี้...ซึ่งผู้เลือกวิธีการดังกล่าว จึงควรที่จะตระหนักในประเด็นนี้ และควรที่จะหลีกเลี่ยงวิธีการดังกล่าว ในสายทางการสำรวจรังวัดค่าระดับ ที่มีระยะทางยาวไกล

    วิธีการปรับแก้ค่าระดับ: จากตัวอย่างภาพงานสำรวจฯ Double Rodding (Figure-4) ข้างต้น แสดงค่าระดับที่ถูกถ่ายทอดค่าระดับจากหมุด A ไปยังหมุดฯเป้าหมาย B คือ 106.521 และ 106.523...โดยถ้าการทำการสำรวจรังวัดถ่ายทอดค่าระดับดังกล่าว มีความปราณีต ละเอียด ถูกต้องตามหลักวิธีการ และได้กำหนดให้มีเกณฑ์การยอมรับ อาทิ ค่าผลต่างทางระดับ ไม่เกิน 5 มม. ที่หมุดฯ B แล้ว...ค่าเฉลี่ยทางระดับที่หมุดฯ B = 106.522 สามารถยอมรับ (ในหลักวิธีการดังกล่าวฯ) ได้ เป็นต้น
    * วิธีข้างต้น ไม่มีการกระจายความคลาดเคลื่อน (Error Distribution) ใดๆ ไปยังหมุดฯย่อยต่างๆ ในสายทางการระดับ

    การสำรวจรังวัดระดับ ด้วยวิธี Double Run Levelling
    >> วิธีการสำรวจรังวัดค่าระดับแบบ Double Running (จัดอยู่ในสาขาย่อยของ Differential Levelling) ซึ่งเป็นวิธีการสำรวจฯที่ตัวผู้เขียนเอง ก็มิได้เคยผ่านการเรียน-การสอนการสำรวจรังวัดค่าระดับ ด้วยวิธีการเช่นนี้มาก่อน (ไม่มีในตำราเรียน) อีกทั้งวิธีการสำรวจฯดังกล่าว ยังเป็นวิธีการสำรวจรังวัดค่าระดับที่ยังไม่มีผู้ใด ให้คำ 'นิยาม' (แบบ Absolute) อย่างเป็นทางการ ถึงวิธีการ และกฎเกณฑ์ต่างๆ...ยังไม่เคลียร์ How to?

    และเมื่อ 'ยังไม่เป็นทางการ' จึงมีผู้นำวิธีการที่เรียกว่า Double Running ไปใช้อธิบายขยายความ งานสำรวจรังวัดทางระดับในแบบต่างๆ ซึ่งต่างฝ่าย ต่างก็พากัน 'เคลม' ว่า วิธีการของตน คือวิธีการ Double Run Levelling ที่ถูกต้อง

    ผู้เขียน เป็นผู้หนึ่งที่ได้ถูก Training วิธีการสำรวจรังวัดระดับในแบบ Double Running เหล่านี้ มาเช่นกัน แต่ก็ยัง 'ไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้' ว่าวิธีการใด ที่สมควรจะถูกเรียกว่า Double Running จริงแท้...โดยผู้เขียนขออนุญาติยกเอาความคิดเห็น (ส่วนตัว) ขึ้นมาพิจารณา โดยอาศัยประสบการณ์การสำรวจรังวัดถ่ายทอดค่าระดับ (ในต่างประเทศ) ที่ชาวฝรั่งพากันเรียกว่า Double Run Levelling ขึ้นมา 'เป็นกรณีตัวอย่างเทียบเคียง' ซึ่งมีวิธีการสำรวจฯอยู่ 3 วิธีหลักๆ คือ
    1. Double Run Levelling Closed Loop (งานแท้): 
    >> วิธีการ (งานแท้) ข้างต้น เป็นการจำลองลักษณะวิธีการสำรวจรังวัดค่าระดับแบบ Differential Levelling มาทั้งองคาพยพ ไล่ตั้งแต่วิธีการสำรวจฯ การเข้าบรรจบแบบ ไป-กลับ (Closed Loop) ไปจนถึงวิธีการคำนวณ การปรับแก้ (ตรวจสอบ และการกระจายความคลาดเคลื่อนๆ) เกณฑ์มาตรฐานการยอมรับในชั้นงานสำรวจฯทางระดับต่างๆ...โดยวิธีการสำรวจฯดังกล่าว ได้จัดให้มีการ 'เพิ่ม' กล้องฯระดับเข้าไปอีก 1 ตัว และเพิ่มผู้ถือไม้ Staff อีก 2 คน (หรือการเพิ่มทีมกล้องฯเข้าไป อีก 1 ทีม กลายเป็น 2 ทีม หรือเรียกว่า Double Running นั่นเอง)
    * มีผู้ตั้งชื่อวิธีการสำรวจฯระดับข้างต้น ว่างานสำรวจฯ 'วงรอบระดับ' แบบละเอียด

    วิธีการสำรวจรังวัดถ่ายทอดค่าระดับ จากหมุดฯ A ไปยังหมุดฯ B ของทั้ง 2 ทีม เป็นไปโดยอิสระมีความเป็นเอกเทศ (Individual) โดยอาจจะมี/หรือไม่มี จุดตำแหน่ง Check Point (จุด Closure ร่วมกัน) ในสายทางระดับ...ซึ่งวิธีการ Double Run Levelling ดังกล่าว จะสามารถให้ผลงานสำรวจรังวัดทางระดับ มีความถูกต้อง แม่นยำสูง อยู่ในเกณฑ์ชั้นงานสำรวจฯทางระดับ แบบละเอียด (Precise Levelling) 

    2. Double Run Levelling Closed Loop (งานเทียบ):
    >> วิธีการ (งานเทียบ) ข้างต้น เป็นการจำลองลักษณะวิธีการสำรวจรังวัดค่าระดับแบบ Differential Levelling มาใช้เช่นเดียวกัน โดยการใช้ทีมกล้องฯเพียง 1 ทีม แต่...มีข้อแตกต่างในประเด็นเรื่องการสำรวจรังวัดค่าระดับย้อนกลับเข้าบรรจบ (Re-Turn) ซึ่งต้องจัดให้มี 'ความแตกต่าง' อาทิ ต่างวัน ต่างเวลา ต่างอุณหภูมิ (เช้า-เย็น) หรือแม้กระทั่งการใช้ผู้อ่านกล้องฯ และผู้ถือไม้ Staff ต่างชุด/ต่างทีม เข้ามาสำรวจฯแทนที่ ส่วนวิธีการตรวจสอบความถูกต้อง การปรับแก้ เกณฑ์มาตรฐานการยอมรับ เป็นไปตามกรรมวิธีแบบ Differential Levelling (Closed Loop) ทุกประการ
    * อ้างอิงวิธีการฯ จากหนังสือ Precision Surveying: The Principles and Geomatics Practice ผู้แต่ง John Olusegun Ogundare Ph.D.

    3. Double Run Opened Levelling งานเทียม (พิมพ์นิยม):
        3.1 การใช้ทีมกล้องฯ 2 ทีม (รวมทั้งหมด 6 คน)
    >> วิธีการสำรวจฯค่าระดับแบบ 'ปลายเปิด' (งานเทียม) ข้างต้น เป็นวิธีการที่มีชนนายช่างฯ 'จำนวนไม่น้อย' ทั้งชาวเขา-ชาวเรา ต่างนิยมใช้วิธีการดังกล่าวในการถ่ายทอดค่าระดับจากตำแหน่งหนึ่ง ไปยังอีกตำแหน่งหนึ่ง ด้วยเหตุผลที่ว่ามีความสะดวก รวดเร็ว และมีทิศทาง 'ไปข้างหน้า เพียงขาเดียว' (ไม่ย้อนกลับ) โดยการใช้ทีมกล้องฯ 2 ทีม (เคลมเอาว่า นี่คือวิธีการ Double Running ทำระดับตีคู่ไปด้วยกัน 'ของแท้') ทำการสำรวจถ่ายทอดค่าระดับในทิศทาง 'ไปข้างหน้า' ด้วยกันทั้ง 2 ทีม การสำรวจฯค่าระดับเป็นอิสระต่อกันแบบเอกเทศ โดยอาจจะมี/หรือไม่มี จุดตำแหน่ง Check Point (จุด Closure ร่วม) ในสายทางการระดับ

    ผลลัพธ์ค่าระดับที่หมุดฯตำแหน่งเป้าหมาย B จะมีค่าระดับเพียง 2 ค่า โดยอาศัยแนวคิดที่ว่า 'ใช้ผลลัพธ์ ตรวจสอบ ยันกันเอง' ซึ่งในกรณีนี้ ถ้าได้ผลลัพธ์ค่าระดับที่หมุดฯ B มีค่าแตกต่างกันไม่มากนัก (ยอมรับได้) ชนนายช่างฯ 'ส่วนใหญ่' มักจะนิยมใช้วิธีการ 'จับมาบวกกัน แล้วหารด้วย 2' นั่นคือ วิธีการคำนวณหาค่าระดับเฉลี่ยที่หมุดฯ B...ส่วนในกรณีที่ผลลัพธ์ค่าระดับ 'มีความแตกต่างกันมาก' และไม่รู้ว่าเกิดจากความผิดพลาดของทีมกล้องฯใดกันแน่ โดยในประเด็นนี้ ต้องใช้ทีมกล้องฯอย่างน้อย 1 ทีม ทำการสำรวจฯใหม่ทั้งหมด เพื่อยืนยันผลลัพธ์

    เกณฑ์มาตรฐานงานสำรวจรังวัดระดับ: วิธีการ Double Running โดยการใช้ทีมกล้องฯ 2 ทีมข้างต้น เป็นวิธีการสำรวจรังวัดถ่ายทอดค่าระดับ แบบต่อเนื่อง 'ไปข้างหน้า' มิได้ย้อนกลับเข้าบรรจบหมุดฯแรกออก ฉะนั้นจึงไม่มีเกณฑ์มาตรฐานการรับรองความถูกต้อง สำหรับงานสำรวจฯค่าระดับประเภทดังกล่าว....แต่ช้าก่อน "ชนนายช่างฯส่วนใหญ่" มักจะนิยม 'เคลม' เอาว่าเมื่อได้ผลลัพธ์ค่าความต่างทางระดับ ออกมา 2 ค่า เช่นนี้แล้ว น่าจะสามารถ (เคลมแบบเนียนๆ) จัดงานสำรวจฯระดับด้วยวิธีการที่ว่านี้ เข้าสู่ชั้นมาตรฐานงานทางระดับได้ อาทิ ค่าความต่างทางระดับของงานสำรวจฯระดับงานหนึ่ง มีค่าความต่างระดับ (ผลลัพธ์ค่าระดับ จากทั้ง 2 ทีม) = 50 มม. ต่อระยะทาง 20 กม. นั่นหมายความว่า (12x√20 = 54 ซม.) งานสำรวจฯค่าระดับดังกล่าว สามารถจัดเข้าอยู่ในชั้นงานสำรวจฯ ชั้นที่ 3 ได้ 'แบบเนียนๆ' ??
    * ส่วนในกรณีที่มีค่าความต่างทางระดับ ต่อระยะทาง 'สูงเกิน' เกณฑ์มาตรฐานงานสำรวจฯค่าระดับ (เกินชั้นที่ 3)...ต้องทำการ Re-Survey เท่านั้น (พยายามที่จะยกวิธีการสำรวจฯดังกล่าว ขึ้นไปเทียบเคียงกับกฎเกณฑ์งานสำรวจฯค่าระดับมาตรฐาน)
    * ถ้ามี 'ไอ้ปื๊ด' ยกมือขึ้นถามว่า ถ้าในกรณีที่ทีมกล้องฯทั้ง 2 ทีม เกิดมีความผิดพลาดขนาดใหญ่ขึ้นทั้งคู่ ทีมละ 1 เมตร เท่ากันในสายทางการระดับ โดยที่แต่ละทีมต่างไม่รู้ตัวว่า ได้มีความคลาดเคลื่อนเกิดขึ้น (ตรวจสอบไม่ได้) แล้วบังเอิญว่า ได้ค่าผลลัพธ์สุดท้ายที่หมุด B มีความต่างทางระดับเพียง 2-3 มม. เท่านั้น...คำถามคือ การใช้วิธีการสำรวจฯดังกล่าว มีความถูกต้อง สามารถยอมรับค่าระดับที่เฉลี่ยแล้วนั้นได้ ใช่หรือไม่??

    วิธีการปรับแก้ค่าระดับ: ไม่มีวิธีการปรับแก้ใดๆ สำหรับวิธีการสำรวจฯดังกล่าว ด้วยเหตุว่าวิธีการสำรวจฯเช่นนี้ จะใช้วิธีการพิจารณาเปรียบเทียบ 'ผลลัพธ์ค่าระดับ' ที่หมุดเป้าหมาย จากทั้ง 2 ทีม (วิธีการ 'จับมาบวกกัน แล้วหารด้วย 2' ไม่ถูกเรียกว่าเป็นวิธีการปรับแก้ที่แท้จริง)
    * วิธีข้างต้น ไม่มีการกระจายความคลาดเคลื่อน (Error Distribution) ใดๆ ไปยังหมุดฯย่อยต่างๆ ในสายทางการระดับ
      
        3.2 การใช้ทีมกล้องฯ 3 ทีม (รวมทั้งหมด 9 คน)
    >> เนื่องด้วย อาจจะยังมีข้อกังขาในประเด็นเรื่องความถูกต้อง จากวิธีการใช้ทีมกล้องฯ 2 ทีม (รวมทั้งหมด 6 คน) โดยเฉพาะประเด็นคำถามจาก 'ไอ้ปื๊ด' ข้างต้น...จึงได้มี ผู้คิดค้นแนวทางการตรวจสอบความถูกต้อง 'เพิ่มเติม' โดยการเพิ่มทีมกล้องฯเข้าไป (อย่างน้อย) อีก 1 ทีม (รวมเป็น 3 ทีม จำนวนบุคลากร 9 คน หรือเรียกว่าวิธีการ Triple Running) ซึ่งทีมกล้องฯทีมที่ 3 จะช่วย 'ยืนยัน' ผลลัพธ์ค่าระดับที่หมุด B ให้กับทีมที่ 1 และทีมที่ 2 
    * สำหรับวิธีการสำรวจฯข้างต้นนี้ ถ้ามี 'ไอ้ปื๊ด' (คนเดิมอีกแล้ว) ยกมือขึ้นถามว่า ถ้าผลลัพธ์ค่าระดับที่หมุดฯ B จากทีมที่ 1 = 100.050, จากทีมที่ 2 = 100.100 และจากทีมที่ 3 = 100.150 ...จะทำอย่างไรดี? ทั้ง 3 ทีมต้องทำการสำรวจฯใหม่ทั้งหมด ใช่หรือไม่?? หรือว่าจะใช้วิธี จับมาบวกกัน แล้วหารด้วย 3 ?? เนียนๆกันไปเลย

       3.3 การใช้ทีมกล้องฯ 1 ทีม...โดยใช้วิธี 'สับขา (กล้องฯ)'
    >> วิธีการข้างต้น คือวิธีการสำรวจฯค่าระดับแบบ 'ปลายเปิด' ที่เป็นวิธี 'พิมพ์นิยม' โดยชนชาวเราทั้งหลาย และรวมถึงตัวผู้เขียน ล้วนต่างพากัน 'นิยมใช้/ได้ใช้/เคยใช้' วิธีการดังกล่าว ในการสำรวจรังวัดถ่ายทอดค่าระดับ ในทิศทางแบบ 'ไปข้างหน้า' ขาเดียว โดยการใช้กล้องฯระดับเพียง 1 ตัว และใช้ผู้ถือไม้ Staff 2 คน โดยวิธีการสำรวจฯนั้น ใช้วิธีการอ่านค่าระดับ BS/FS > จดบันทึก > คำนวณค่าความต่างทางระดับ (ΔH) ต่อจากนั้น 'สับขากล้องฯ (ย้ายกล้องฯ)' ไปในตำแหน่งใกล้เคียง > ทำการอ่านค่า BS/FS (ตำแหน่งเดิม) > จดบันทึก > คำนวณค่าความต่างทางระดับ (ΔH) > ทำการเปรียบเทียบค่าความต่างทางระดับ (ΔH)  จากการอ่านกล้องฯทั้ง 2 ตำแหน่ง > ยอมรับ (ไปต่อ)/ไม่ยอมรับ (ย้ายกล้องฯ อ่านค่าใหม่)...ทำซ้ำขั้นตอนข้างต้น จนถึงหมุดตำแหน่งเป้าหมาย

    วิธีการย้ายกล้องฯ จำนวน 2 ครั้ง ในระหว่างไม้ Staff หน้า-หลัง ในแต่ละช่วง (Session) ได้ทำให้เกิดการบันทึกข้อมูลการอ่านค่าระดับ จำนวน 2 ชุด นั่นหมายความว่า ที่ตำแหน่งหมุดเป้าหมาย จะได้ค่าผลลัพธ์ค่าระดับ จำนวน 2 ค่า ดังนั้นวิธีการพิมพ์นิยม ที่มักจะถูกนำมาใช้นั่นคือ 'จับมาบวกกัน แล้วหารด้วย 2' เป็นค่าเฉลี่ย

    เกณฑ์มาตรฐานงานสำรวจรังวัดระดับ: วิธีการดังกล่าว เป็นวิธีการสำรวจรังวัดถ่ายทอดค่าระดับ แบบต่อเนื่องกัน 'ไปข้างหน้า' (ไปยังหมุดฯที่ไม่ทราบค่าระดับ) โดยมิได้ย้อนกลับเข้าบรรจบหมุดฯแรกออกงาน ฉะนั้นจึงไม่มีเกณฑ์การรับรองความถูกต้องในชั้นงานประเภทนี้

    วิธีการปรับแก้ค่าระดับ: ไม่มีวิธีการปรับแก้ใดๆ สำหรับวิธีการสำรวจฯดังกล่าว ด้วยเหตุว่าวิธีการสำรวจฯเช่นนี้ จะใช้วิธีการพิจารณาเปรียบเทียบ 'ผลลัพธ์ค่าระดับ' ที่หมุดเป้าหมาย คล้ายคลึงกับวิธีการสำรวจฯค่าระดับแบบ Double Rodding
    * วิธีการฯข้างต้น ไม่มีการกระจายความคลาดเคลื่อน (Error Distribution) ใดๆ ไปยังหมุดฯย่อยต่างๆ ในสายทางการระดับ
    * มีผู้นำวิธีการฯ ตามข้อ 3.3 ข้างต้น ไปทำการ Feturing เข้ากับวิธีการ ตามข้อ 3.1 ซึ่งทำให้เกิดค่าผลลัพธ์ ที่หมุดฯเป้าหมาย จำนวน 4 ค่า (ถ้าได้ผลลัพธ์ใกล้เคียงกัน จะจับมาบวกกัน แล้วหารด้วย 4) นั่นหมายถึง มีความถูกต้องทางงานระดับที่สูงขึ้น
    >> 'หลักวิธีการ' ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดข้างต้น ที่ผู้เขียนได้อธิบายขยายความนั้น เพื่อที่จะใช้เป็น 'กำแพงอ้างอิง' ในประเด็นคำถาม ที่จะตามมาทางด้านล่าง ถัดไป

    มิตรสหายฝั่งผู้ว่าจ้างฯ ได้บอกกับผู้เขียนว่า ภายหลังจากได้รับข้อมูลงานสำรวจฯระดับ จาก บ.สำรวจฯดังกล่าวแล้ว ทีมงานได้ตรวจพบความผิดปรกติ มีความน่าสงสัย อยู่ 2 ประเด็นใหญ่ๆ คือ
    1. ค่าความคลาดเคลื่อนบรรจบ 'ภายหลังการปรับแก้' ที่มีค่าเพียง '2-3 มิลลิเมตร' ?? จากระยะทางการสำรวจฯ 100+ กิโลเมตร และในสายทางการสำรวจฯระดับดังกล่าวนั้น ต้องทำการถ่ายทอดค่าระดับข้ามแม่น้ำโขง อยู่หลายตำแหน่งแห่งที่ โดยมีระยะความกว้างของแม่น้ำฯเฉลี่ยประมาณ 200 เมตร จากขอบฝั่งหนึ่ง ถึงอีกขอบฝั่งหนึ่ง (วิธีการถ่ายค่าระดับข้ามแม่น้ำโขง ทีมสำรวจฯได้ใช้กล้องฯ Total Station แทนการใช้กล้องระดับแบบ Digital Level ที่มี 'ระยะทำการ' ไม่ไกลมากนัก)...ค่าความคลาดเคลื่อนเข้าบรรจบ 2-3 มม. (Final Result) ที่เกิดขึ้น เป็นไปได้หรือไม่?
    2. การใช้คำว่า 'เข้าบรรจบ' (Closed Loop) ที่หมุดฯเริ่มต้นออกงานสำรวจฯระดับ จากการที่ใช้วิธีการ 'รังวัดระดับไปข้างหน้า' เพียงทิศทางเดียว (ไม่ได้ เข้าบรรจบแท้จริง)...โดยมีรายละเอียด Procedure ดังนี้;
       2.1 บุคลากร:ในสายทางการระดับที่ยาวไกลดังกล่าว ได้ใช้กล้องฯระดับแบบ Digital level จำนวน 2 ตัว และใช้คนอ่านกล้องฯ 2 คน และได้ใช้ผู้ถือไม้ Staff จำนวน 2 คน (รวมจำนวนบุคลากร ทั้งหมด 4 คน)
       2.2 วิธีการสำรวจฯ: ใช้วิธีการถ่ายทอดค่าระดับแบบ Differential Levelling ทั่วไป (จากหมุดฯ BM ไปหาหมุดฯ GP ตามภาพตัวอย่างด้านล่าง) โดยทำการสำรวจรังวัดค่าระดับแบบ 'ไปด้วยกัน' หรือเรียกว่า Double Running และใช้วิธีการตรวจสอบค่าความคลาดเคลื่อนทางระดับ จากการอ่าน 'สอบค่าระดับ' ระหว่างไม้ Staff หน้า-หลัง จากการอ่านกล้องฯระดับ 2 ตัว (ใช้ไม้ Staff หน้า-หลัง ร่วมกัน/ตำแหน่งเดียวกัน) และเมื่อตรวจดูที่จอแสดงผลค่าระดับที่ตัวกล้องฯ (คำนวณอัติโนมัติ) ถ้าพบว่ามีความต่างทางระดับไม่เกิน 2 มม. สามารถทำการย้ายกล้องฯไปต่อได้ หรือในกรณีถ้าค่า error มีค่าเกิน 2 มม. ต้องทำการอ่านค่าใหม่ จนกว่าค่าความต่างทางระดับจะมีค่าใกล้เคียงกัน หรือเหมือนกัน...ทำซ้ำเช่นนี้ จนไปถึงหมุดฯตำแหน่งเป้าหมาย
    3. ค่าความคลาดเคลื่อนก่อนการปรับแก้: ณ หมุดฯตำแหน่งเป้าหมาย พบว่ามีค่าความแตกต่างทางระดับระหว่าง กล้องฯระดับ ตัวที่ 1 และกล้องฯระดับ ตัวที่ 2 มีค่า = 0.10x เมตร (หรือประมาณ 10 ซม.)
    4. วิธีการปรับแก้ค่าระดับ: 'ด้วยวิธี ไป-กลับ แบบบรรจบตัวเอง (Closed Loop)' โดยการนำข้อมูล (BS/FS) จากการอ่านกล้องฯระดับตัวที่ 2 มาทำการ 'กลับค่า' (กลับหัว กลับหาง) ทั้งหมด และเปลี่ยนค่า BS ให้เป็น FS  เพื่อที่จะสามารถทำการ 'คำนวณย้อนกลับ' จากหมุดฯตำแหน่งเป้าหมาย กลับไปหา หมุดฯตำแหน่งเริ่มต้น (ตามตัวอย่างภาพ Figure-1) โดยภายหลังจากการปรับแก้ ปรากฎว่า มีค่าความคลาดเคลื่อนเข้าบรรจบ เหลือเพียง 2-3 มม. เท่านั้น
    คำถาม: วิธีการสำรวจฯดังกล่าว มีความถูกต้องหรือไม่ และผลลัพธ์การคำนวณโดยอ้างการเข้าบรรจบแบบ 'ไม่ได้เข้าบรรจบแท้จริง' จะมีความถูกต้อง ยอมรับได้หรือไม่ ?
    Figure-1
    * บางท่านอาจจะฟังวิธีการสำรวจฯข้างต้นแล้ว รู้สึกราบรื่น ระรื่นหู ท่าทีดูขึงขลัง น่าคล้อยตาม...แต่ผู้เขียนกลับรู้สึกทะแม่งๆ รู้สึกถึงความ 'ย้อนแย้ง' ในหลายประเด็น เกิดคำถาม 'เกาะอยู่ตามขอบโต๊ะ' ขึ้นมาทันที...ท่านผู้อ่าน ก็อาจจะรู้สึกคล้ายๆกัน

    ความ 'ย้อนแย้ง' ที่ยอมรับ 'บ่ได้' 
    >> ในประเด็นแรก...ความคลาดเคลื่อนเข้าบรรจบ หรือค่า Mis-Closure Error ที่มีค่าเพียงแค่ 2-3 มม. ต่อระยะทางการสำรวจฯระดับกว่า 100+ กม. นั้น ผู้เขียน (ส่วนตัว) มองว่า 'เป็นไปได้ยากมาก ถึงยากที่สุด' (หรืออาจจะใช้คำว่า 'เหลือเชื่อ' แทนก็ได้) ที่จะได้ค่าความคลาดเคลื่อนเพียงเล็กน้อยเช่นนั้นได้ เอาแค่การบริหารค่า 'ความคลาดเคลื่อนสะสม' (Cumulative Error) ไปตามเส้นทางการระดับ อันเป็นเรื่องปรกติที่ต้องเกิดขึ้นในสายทางการสำรวจฯค่าระดับ นี่ก็ว่ายากแล้ว และยิ่งเมื่อทราบว่าทีมสำรวจฯต้องทำการถ่ายค่าระดับ 'ข้ามแม่น้ำโขง' ที่ค่อนข้างมีระยะทางกว้างมากนั้น ยิ่งทำให้มีโอกาสที่จะเกิดความคลาดเคลื่อนสูงขึ้นไปอีก อีกทั้งต้องทำการถ่ายค่าระดับ ข้ามไป-ข้ามมา ในหลายๆตำแหน่ง ถึงแม้ว่าจะใช้กล้องฯ Total Station ในภารกิจนี้ก็ตามที ซึ่งมีหลายปัจจัย ที่อาจจะก่อให้เกิดความคลาดเคลื่อน (ขนาดใหญ่) ขึ้นได้...ในประเด็นนี้ ผู้เขียนได้ตอบกลับไปว่า "ไม่เชื่อ ว่าค่าความคลาดเคลื่อน (Final Result) ในสายทางการระดับข้างต้น จะมีค่าแค่เพียง 2-3 มม. ส่วนค่า Error ที่มีค่ามากกว่านี้ จะไปตกหล่น ลด-เพิ่ม ที่แห่งหน ตำบลใดนั้น ผู้เขียนมิอาจทราบได้"
    * วิธีการสำรวจรังวัดถ่ายทอดค่าระดับข้ามแม่น้ำ ลำคลอง ด้วยวิธีการแบบ 'สากล' นั้น จะใช้วิธีการสำรวจฯค่าระดับ ที่เรียกว่า Reciprocal Levelling หรือวิธีการรังวัดสอบค่าระดับ ไป-กลับ เพื่อคำนวณหาค่าความต่างทางระดับ ระหว่างหมุดฯ แต่ละฟากฝั่ง...ส่วนในกรณีการรังวัดค่าระดับ 'ข้ามแม่น้ำโขง' ซึ่งมีระยะความกว้างเกินกว่าที่กล้องฯระดับทั่วไป (ระยะทำการ <300 ม.) จะทำการรังวัดได้อย่างแม่นยำ ซึ่งในประเด็นนี้ ผู้เขียน 'เห็นด้วย' ว่าการนำกล้อง Total Station มาใช้ในการรังวัดจะให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่า...แต่ ในการทำการรังวัดนั้น ควรที่จะจัดให้มีการ สอบค่าไป-กลับ เพื่อหาค่าเฉลี่ย จากจำนวนการรังวัดหลายๆครั้ง (ยิ่งมากครั้ง ยิ่งมีความละเอียด) และจำเป็นที่จะต้องพิจารณาเลือก สภาวะแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการรังวัด โดยเฉพาะ 'อุณหภูมิ และความชื้น/ไอน้ำ/คลื่นความร้อน เหนือผิวน้ำ' เป็นสำคัญ อันจะส่งผลโดยตรงต่อความคลาดเคลื่อน ที่จะเกิดขึ้นมาก-น้อย ในการทำการรังวัดนั้นๆ
    Reciprocal Levelling
    * ผู้เขียน เป็นผู้หนึ่งที่ได้เคยผ่านงาน Differential Levelling มาไม่น้อย โดยเฉพาะในสายทางงานระดับที่มีระยะทางยาวไกล ขึ้นๆ-ลงๆ ไปตามเส้นทางบนภูเขาสูงชัน มีระยะทางเกือบร้อยกิโลเมตร...ค่า Error 100 มม. ก็เคยได้ผ่านพบ 'บรรจบมาแล้ว' (ตกไปอยู่ในเกณฑ์งานสำรวจฯระดับชั้นที่ 3)...ไม่ต้องไปพูดถึง ค่า Error เพียงแค่ 2-3 มม. ต่อระยะทาง 100+ กม. ให้เมื่อยตุ้ม...(ส่วนตัว) ขอสารภาพว่า 'ข่อยเฮ็ดบ่ได้'

    >> ในประเด็นที่สอง ซึ่งถือว่าเป็น 'แก่นสาร' อันนำมาซึ่ง 'ข้อพิพาท' ในเรื่องวิธีการ และการตรวจสอบความถูกต้องในงานสำรวจรังวัดค่าระดับดังกล่าว โดยผู้เขียนขออนุญาติแยก ออกมาเป็น 2 ประเด็น คือ
    1. ประเด็นเรื่อง วิธีการสำรวจรังวัดค่าระดับ: ทีมสำรวจฯ ได้ใช้กล้องฯระดับ 2 ตัว และมีผู้ถือไม้ Staff 2 คน นั่นหมายความว่า ระหว่างไม้ Staff หน้า และไม้ Staff หลัง จะใช้กล้องฯระดับ 2 ตัวทำการอ่านค่า BS/FS ที่ตำแหน่งไม้ Staff เดียวกัน และเมื่อสอบค่าความต่างทางระดับระหว่างไม้ Staff หน้า-หลังทั้งสองแล้ว 'ผ่าน' จึงจะสามารถไปต่อได้ หรือในกรณีที่ 'ไม่ผ่าน' ต้องทำการอ่านค่าใหม่ จนกว่าจะผ่าน (ยอมรับได้)...ซึ่งวิธีการดังกล่าว ได้สอดคล้อง ตรงกันกับวิธีการสำรวจฯค่าระดับ ที่ผู้เขียนได้อธิบายขยายความเอาไว้ในเรื่อง "Double Run Levelling งานเทียม (พิมพ์นิยม)" ข้อ 3.3 (การใช้ทีมกล้องฯ 1 ทีม...โดยใช้วิธี 'สับขา') โดยเปลี่ยนจากการย้ายกล้องฯไปที่ตำแหน่งใหม่ในบริเวณใกล้เคียง 'เปลี่ยนมาเป็นการใช้กล้องฯระดับอีก 1 ตัว ทำการอ่านค่าระดับแทน'
    ฉะนั้น ต่อคำถามที่ว่า วิธีการสำรวจฯดังกล่าว ถูกต้องตามหลักวิธีหรือไม่?...ผู้เขียน (ส่วนตัว) ขออนุญาติตอบว่า ไม่ถูกต้องตามหลักวิธีการตามแบบ 'สากล' แต่มีความถูกต้องยอมรับกันได้ ในระดับหนึ่ง ในหมู่ชนกลุ่มหนึ่งๆ' ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้;
       1.1 เนื่องด้วย วิธีการสำรวจฯค่าระดับดังกล่าว ถือว่าเป็นงานสำรวจฯ Double Run Levelling 'แบบปลายเปิด' ประเภทหนึ่ง ที่ไม่ได้ย้อนกลับเข้าบรรจบที่หมุดฯเริ่มต้น หรือเข้าบรรจบที่หมุดฯทราบค่าระดับใดๆ นั่นหมายถึง "การขาดการตรวจสอบทางด้านคุณภาพ"...ด้นกันไปสดๆ ถึงเป้าหมายแล้วหยุด 'กองไว้ตรงนั้น' ทั้งคู่ โดยอาศัยการเทียบเคียงข้อมูลสำรวจฯจากกล้องฯอีกหนึ่งตัว โดยถ้าสมเทียบกันแล้ว ข้อมูลสำรวจฯมีความใกล้เคียงกันมาก ก็ Happy...แต่ในทางกลับกัน ถ้าข้อมูลสำรวจฯมีความแตกต่างกันมาก อันเนื่องมาจากความคลาดเคลื่อนสะสมมาก-น้อย ในสายทางการระดับของแต่ละทีม...ก็นั่นล่ะ Re-Survey!
       1.2 การใช้ปัจจัยแวดล้อมที่เหมือนกัน ระหว่างการอ่านกล้องฯทั้ง 2 ตัว นั่นคือ ตำแหน่งไม้ Staff หน้า และหลัง ที่ตำแหน่งเดียวกัน ในทุกๆ ตำแหน่ง Turning Point...อาจจะทำให้เกิดพฤติการณ์ที่ว่า การลืมตั้งไม้ Staff ให้อยู่บน plate/หลัก (Basic Error) หรือพฤติการณ์ที่ว่า 'ความไม่พร้อม' ของคนถือไม้ Staff (ไม้ Staff เอียง/ไม่ได้ระดับ) ในขณะที่กล้องฯ ทั้ง 2 ตัวกำลังส่องเล็งอ่านค่ามาพอดี (อย่าชะล่าใจ ว่าเหตุการณ์เช่นนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้ โดยเฉพาะในสายทางการระดับ ที่มีระยะทางยาวไกล)
    * ดังที่ผู้เขียนได้กล่าวเอาไว้ในข้อ 3.3 ว่าวิธีการสำรวจฯเช่นนี้ เป็นวิธีการ 'พิมพ์นิยม' โดยทั้งๆที่ต่างก็รู้ว่าวิธีการดังกล่าว ไม่ถูกต้องตามหลักวิธีการ แต่ก็มีผู้คนจำนวนมาก นิยมเลือกใช้วิธีการฯดังกล่าว...ด้วยเหตุผลสำคัญ ที่ว่าใช้กล้องฯระดับเพียงแค่ 1 ตัว ทำการตั้งกล้องฯ 2 ครั้ง (ไปข้างหน้าขาเดียว ไม่ต้องย้อนกลับ) โดยถ้าทำการสำรวจรังวัดค่าระดับอย่างปราณีต ใส่ใจในทุกๆรายละเอียดแล้ว...ผลลัพธ์ที่ได้ ถือว่า 'ดีหนึ่ง ประเภทหนึ่ง' ได้เหมือนกัน (จับบวกกัน แล้วหาร 2)

    2. ประเด็นเรื่อง วิธีการคำนวณ และการปรับแก้: เป็นที่เข้าใจตรงกันว่า วิธีการสำรวจฯ Double Run Levelling 'แบบปลายเปิด' ข้างต้น จะได้ผลลัพธ์ค่าระดับที่หมุดฯเป้าหมายเพียง 2 ค่าเท่านั้น โดยถ้าค่าระดับทั้ง 2 มีความใกล้เคียงกัน (ยอมรับได้) วิธีการ 'พื้นบ้าน' อย่าง 'จับมาบวกกัน แล้วหารด้วย 2' จึงเป็นตัวเลือกทางยุทธวิธี ที่มักจะถูกนำมาใช้เป็นอันดับแรก (โดยไม่สามารถทำการปรับแก้ใดๆได้)

    ประเด็นขิงๆ มันอยู่ตรงนี้
    วิธีการปรับแก้ค่าระดับ: 'ด้วยวิธี ไป-กลับ แบบบรรจบตัวเอง (Closed Loop)' โดยการนำข้อมูล (BS/FS) จากการอ่านกล้องฯระดับตัวที่ 2 มาทำการ 'กลับค่า' (กลับหัว กลับหาง) ทั้งหมด และทำการเปลี่ยนค่า BS ให้เป็น FS เพื่อที่จะสามารถทำการ 'คำนวณย้อนกลับ' จากหมุดฯตำแหน่งเป้าหมาย กลับไปหา หมุดฯตำแหน่งเริ่มต้น

    >> ประโยคข้างต้น ได้นำมาซึ่ง 'ความย้อนแย้ง' อยู่ในตัวมันเอง ซึ่งมีคำถามตามมาว่า "จะทำเช่นนั้น ไปเพื่อ??" ก็ในเมื่อวิธีการสำรวจฯที่ได้เลือกใช้นั้น เป็นวิธีการฯแบบ 'ปลายเปิด' จากการใช้กล้องฯระดับ 2 ตัว ทำการสำรวจฯคู่กันไปในทิศทางทางเดียวกัน จนถึงหมุดเป้าหมาย ซึ่งผลลัพธ์ค่าระดับที่ได้ จะมีอยู่เพียง 2 ค่าเท่านั้น ส่วนจะนำค่าระดับ 2 ค่า มาก-น้อยเหล่านี้ มาทำการหาค่าเฉลี่ย ก็ขึ้นอยู่กับว่า จะยอมรับผลงานกันได้หรือไม่...ณ จุดๆนี้ ถือเป็นอันสิ้นสุด
    แต่ที่ไม่ยอมสุด...เมื่อนำเอาข้อมูลการอ่านค่า BS/FS จากกล้องฯตัวที่ 2 มากลับหัว-กลับหาง เปลี่ยนค่า BS ให้เป็น FS เพื่อที่จะสามารถทำการ 'คำนวณย้อนกลับ' จากหมุดฯตำแหน่งเป้าหมาย กลับไปหา หมุดฯตำแหน่งเริ่มต้น...ซึ่งวิธีการเช่นนี้ 'มองเป็นอื่นไปไม่ได้' ว่านี่คือวิธีการ 'ลักไก่ หลอกนายจ้างฯ' โดยการ เคลม/ตีเนียน เอาว่า งานสำรวจรังวัดระดับของตนนั้น "ได้เข้าบรรจบ" และสามารถทำการปรับแก้ค่าความคลาดเคลื่อนได้ ตามหลักวิธีการงานสำรวจรังวัดค่าระดับ ตามมาตรฐานสากล

    ชาวฝรั่งเขามีคำพูดในเชิง 'ดูแคลน' ต่อวิธีการสำรวจรังวัดค่าระดับ เช่นนี้ว่า

    "Artificial Levelling"

    >> 'ในเชิงคณิตศาสตร์' การนำเอาข้อมูลการอ่านค่า BS/FS ที่มีทิศทางไปข้างหน้า มาทำการกลับหัว กลับหาง แล้วทำการคำนวณย้อนกลับนั้น 'สามารถทำได้' ดังตัวอย่างต่อไปนี้
    ภาพตัวอย่าง ตารางคำนวณค่าระดับ (แบบปรกติ) โดยใช้ข้อมูลสำรวจฯจากทีมกล้องฯ 2 ทีม

    ภาพตัวอย่าง แสดงวิธีการนำข้อมูลการอ่านค่า BS/FS จากกล้องฯตัวที่ 2 
    มาทำการ กลับหัว-กลับหาง กลับทิศทางการคำนวณ เพื่อให้ดูเหมือนว่า 'ย้อนกลับเข้าบรรจบ'
    >> ฉะนั้น ต่อคำถามที่ว่า ผลลัพธ์การคำนวณโดยอ้างการเข้าบรรจบ แบบ 'ไม่ได้เข้าบรรจบแท้จริง' จะมีความถูกต้องหรือไม่ ?...ผู้เขียน (ส่วนตัว) ขออนุญาติตอบว่า "ผลลัพธ์ที่คำนวณได้มีความถูกต้อง ในเชิงการคำนวณทางคณิตศาสตร์ แต่ไม่ถูกต้อง และไม่ถูกยอมรับ ในหลักวิธีการสำรวจรังวัดค่าระดับ ตามข้อ 3.1, 3.2 และข้อ 3.3 ซึ่งวิธีการฯเหล่านั้น เป็นวิธีการสำรวจรังวัดค่าระดับ 'แบบปลายเปิด' (Opened Levelling) โดยมีการตรวจสอบความถูกต้อง (ด้วยวิธีเปรียบเทียบผลลัพธ์กันเอง) จากข้อมูลการสำรวจฯอย่างน้อยอีก 1 ชุด เพื่อยืนยันผลต่างทางระดับที่ตำแหน่งหมุดฯเป้าหมายว่า ผ่าน (ยอมรับได้)/ไม่ผ่าน (ยอมรับไม่ได้) ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจ ของผู้เกี่ยวข้อง...โดยไม่จำเป็นที่จะต้องทำการ 'ปลอม/จำลอง' ข้อมูลสำรวจฯ ว่าได้ทำการย้อนกลับเข้าบรรจบ ครบถ้วนกระบวนความ ตามมาตรฐานสากล

    การสำรวจรังวัดค่าระดับที่มี 'เงื่อนงำ': ตามคำบอกเล่าจากมิตรสหาย (สายงานเขื่อนฯ) ที่ว่า;
    3. ค่าความคลาดเคลื่อนก่อนการปรับแก้: ณ ตำแหน่งหมุดฯเป้าหมาย พบว่ามีค่าความแตกต่างทางระดับระหว่าง กล้องฯระดับ ตัวที่ 1 และกล้องฯระดับ ตัวที่ 2 มีค่า = 0.10x เมตร (หรือประมาณ 10 ซม.)
    >> จากที่ผู้เขียนได้อธิบายเอาไว้ข้างต้นว่า การเลือกแนวทางการสำรวจฯประเภทนี้ จะยังผลให้มีผลลัพธ์ที่ตำแหน่งหมุดฯเป้าหมาย เพียง 2 ค่าเท่านั้น ส่วนจะมีค่าความต่างทางระดับมาก-น้อย ยอมรับ/ไม่ยอมรับ เป็นเรื่องที่ผู้เกี่ยวข้อง ต้องร่วมกันพิจารณา 

    จากคำบอกเล่าที่ว่า ความต่างทางระดับที่เกิดขึ้น มีค่าเท่ากับ 10 ซม. (ก่อนการปรับแก้)...บ.สำรวจฯดังกล่าว อาจจะมองว่า 'มันมีค่าความต่าง มากเกินไป' ครั้นจะจับมาบวกกัน แล้วหารด้วย 2 เพื่อหาค่าเฉลี่ย ก็ยังเป็นตัวเลขที่ไม่น่าพอใจนัก จึงได้ใช้วิธีการ 'ลับ ลวง พราง' ข้างต้น ในการทำให้ข้อมูลสำรวจฯ กลับหัว-กลับหาง สามารถที่จะย้อนกลับเข้าบรรจบได้ และเมื่อสามารถคำนวณย้อนกลับได้ ก็จะสามารถทำการคำนวณปรับแก้ ค่าความต่าง 10 ซม. 'ให้กระจาย สลายไป' ยังหมุดฯตามรายทางอื่นๆ...Happy Ending

    บทส่งท้าย:
    เรื่องราววุ่นๆ ในงานการสำรวจรังวัดค่าระดับ ที่เกิดขึ้นข้างต้น ก็เนื่องมาจาก 'มีผู้ที่ไม่เข้าใจ' หลักการพื้นฐานในงานสำรวจรังวัดถ่ายทอดค่าระดับ อีกทั้งยังได้ใช้วิธีการ ลับ ลวง พราง เพื่อให้ผู้ว่าจ้างฯเข้าใจ ไปในแนวทางที่ 'ตนต้องการ'
    Author supported to Land Surveyors United