Thursday 10 November 2016

รีวิว แบบว่าๆ 'หยวนๆ'...กับ กล้องโททอล สเตชั่น จากค่าย South รุ่น NTS-342R6A

>> ภายในเขตบ้านพักอาศัยของผู้เขียน ได้จัดสร้างหมุดหลักฐานดาวเทียม GPS, Survey Control Target Networks (ตรวจสอบค่ามุม) และแนวเส้น Base Line (ตรวจสอบ EDM) เอาไว้สำหรับ ตรวจสอบความถูกต้อง/คลาดเคลื่อนของเครื่องมือสำรวจฯเป็นการส่วนตัว ฉะนั้นจึงมักจะมีผู้ที่รู้จักคุ้นเคยส่งกล้องฯ หรืออุปกรณ์สำรวจฯมาให้ตรวจสอบอยู่ต่างกรรม ต่างวาระกันไป
และเป็นอีกครั้งที่ผู้เขียนได้มีโอกาสทำการทดสอบและใช้งาน กล้องโททอล สเตชั่น โดยในเคสนี้เป็นรุ่น NTS-342R6A จากค่าย South ซึ่งเป็นยี่ห้อที่ผู้เขียน (ส่วนตัว) ขอสารภาพว่าในอดีตกว่า 10 ปีที่แล้วว่าเคย 'ไม่ชอบ' มาก่อน ด้วยเหตุแห่งคำกล่าวอ้าง และกล่าวถึงในหมู่ชนนายช่างฯบ้านเรา ในประเด็นเรื่อง 'การทำเหมือน/การทำให้ดูคล้าย/การลอกเลียนแบบ' โดยคำกล่าวอ้างที่ว่ามียี่ห้อ Topcon เป็นต้นฉบับ หลายต่อหลายรุ่น ทั้งรูปร่าง หน้าตา ฟังก์ชั่นการใช้งานต่างๆ ฯลฯ

ในงานสำรวจฯภาคสนาม ผู้เขียนได้มีโอกาสผ่านการใช้งานกล้องฯยี่ห้อหลักอยู่บ่อยๆ นั่นคือ Topcon, Sokkia และ Leica จึงคุ้นเคย และจดจำรูปพรรณสัณฐาน ข้อมูล และคุณสมบัติของตัวกล้องฯ จากยี่ห้อหลักเหล่านี้ อยู่พอสมควร ดังนั้น 'ในอดีต' เมื่อได้มีโอกาสจับต้อง+ลองใช้งานกล้องฯจากยี่ห้อ South รุ่นเก่าๆ จึงเกิดการเปรียบเทียบอยู่ในใจขึ้นมา และ ณ เวลานั้น ต้องขออนุญาติกล่าวเช่นเดียวกันกับเหล่านายช่างฯท่านอื่นๆ นั่นคือ ถ้าใช้งานกล้องฯยี่ห้อ Topcon ได้ ก็สามารถใช้งานกล้องฯจากยี่ห้อ South ได้เช่นกัน...คล้ายกันมาก
ฟังก์ชั่นการใช้งานของกล้องฯ South NTS-360 

ฟังก์ชั่นการใช้งานของกล้องฯ Topcon ซีรี่ GTS
>> กาลเวลาหมุนเวียนเปลี่ยนไป ผู้เขียนก็ยังคงได้มีโอกาสหยิบจับใช้งานอุปกรณ์สำรวจฯจากค่าย South อยู่เนืองๆ และสิ่งที่ผู้เขียนสังเกตพบมาตลอดสำหรับอุปกรณ์สำรวจฯจากชนชาติหยวนยี่ห้อนี้ ที่แตกต่างไปจากยี่ห้อที่มาจากแผ่นดินใหญ่อื่นๆ นั่นคือ คำว่า 'พัฒนาการที่เหนือกว่า' (บางท่านกล่าวว่า เหนือกว่าต้นฉบับ เสียอีก)

ยี่ห้อ South อาจจะเริ่มต้นปฐมบทด้วยการ 'ถูกดูเบา' ในประเด็นเรื่องการทำเหมือน+ขายในราคาถูก ในยุคแรกๆของตลาดเครื่องมือสำรวจรังวัดบ้านเรา แต่กาลเวลาที่ผ่านไปพร้อมๆกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง ได้ทำให้ South มีความแตกต่างจากยี่ห้อชนชาติหยวนอื่นๆ ที่ยังคงวิถีแห่งความเป็นตำนาน 'มณฑลเซินเจิ้น' และยังคงย่ำรอยเท้าอยู่กับที่ (พัฒนาช้ามาก หรือการตั้งหน้า ตั้งตา copycat อย่างเดียว) ในขณะที่ South เริ่มขยับเข้าไปใกล้คำว่า 'แบรนด์ชั้นนำของโลก' มากขึ้น ซึ่งสามารถพิจารณาได้จาก 'ประเภท/จำนวนของอุปกรณ์สำรวจรังวัด' ที่วางขายอยู่ในท้องตลาดเครื่องมือสำรวจฯทั่วโลกอยู่ในขณะนี้ 

แต่ทั้งนี้ ด้วยเหตุผลทางการตลาด/การลงทุนข้ามชาติที่สลับซับซ้อนในจีนแผ่นดินใหญ่ ที่บางครั้งยากที่จะเข้าใจ ในประเด็นเรื่อง OEM (ได้กล่าวไว้ในบทความ อื่นๆ)...เราจึงเห็นกล้องโททอล สเตชั่น ที่มีหน้าตา รูปร่างเหมือนกัน การใช้งานที่เหมือนกัน ไปปรากฏในชื่อแบรนด์ใหม่ ชื่อรุ่นใหม่ วางจำหน่ายในทวีปอื่นๆ แม้แต่กล้องฯ South รุ่น NTS-342R6A ที่ผู้เขียนกำลังวิสาสะอยู่นี้ ก็ได้มีญาติพี่น้อง ไปปรากฏตัวอยู่ในตลาดอุปกรณ์สำรวจรังวัด อยู่ในหลายชื่อ ซึ่งผู้เขียนเองก็ไม่แน่ใจว่า เป็นเจ้าของเดียวกันหรือไม่ หรืออาจจะทำการตลาดแบบ 'แยกกันเดิน รวมกันตี' (เงินก็ไหลมาเข้ากระเป๋าเดียวอยู่ดี) อาทิ
RUIDE ซีรี่ RIS >> http://www.ruideinstrument.com/products/pro_info.asp?id=178
Horizon H9A >> http://www.horizon.sg/wp-content/uploads/2012/12/H9A_Brochure.pdf
* บางตัวมีกล้องถ่ายถ่ายรูปติดมาด้วย (เป็นออปชั่นเสริม)

>> ต้องขออภัย ที่ผู้เขียนมัวแต่ชักแม่น้ำแยงซีเกียงกับแม่น้ำฮวงโห ซะยืดยาว จนเกือบลืมเข้าเนื้อหาหลักของบทความ  (โรคเก่าอีกแล้ว^^) 
ประเด็นหลักที่ผู้เขียนขออนุญาตินำเสนอในบทความนี้ เป็นเรื่องการรีวิวกล้องโททอล สเตชั่น จากค่าย South รุ่น NTS-342R6A และการใช้งานทั่วไป โดยมีหัวข้อพิจารณาหลัก (เช่นเคย) ดังนี้

1. รูปพรรณ สัณฐานทางกายภาพ ทั่วไป
>> ด้วยเหตุว่า ผู้เขียนเคยหยิบจับ+ทดลองใช้กล้องฯของ South ในรุ่น NTS-342R5 มาก่อน จึงมีความคิดแต่เดิมว่า ก็ไม่น่าจะแตกต่างกันมากนัก สำหรับกล้องฯรุ่นน้อง อย่าง NTS-342R6A...ซึ่งเมื่อแรกเปิดกล่องกล้องฯออกมา เห็นสีเหลืองตัดดำ ความคิดแวบเข้ามาในหัวทันที 'นี่มันคือกล้องฯยี่ห้อ CST/ฺBerger ไม่ใช่เหรอ'? ผิดวิสัยของยี่ห้อ South ซึ่งมักจะใช้โทนสีเหลืองอ่อนๆทั้งตัว เป็นสีประจำของผลิตภัณฑ์ หรือแม้แต่กล้องฯรุ่น 342R5 ก่อนหน้านี้ก็ใช้สีเหลืองอ่อน และสำหรับส่วนประกอบของตัวเครื่องส่วนอื่นๆ ถือว่าดู 'ผิดหู ผิดตา' เปลี่ยนแปลงไปมากทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นเฟรมหน้าจอสัมผัส ตำแหน่งของช่องเสียบประเภทเมโมรี่ต่างๆ แผงปุ่มกดที่เปลี่ยนมาใช้ระบบ 'ปุ่มเข็ม' แทนปุ่มกดแบบยาง และฝาปิด (พลาสติกแข็ง) ที่ด้านข้าง ทั้ง 2 ด้าน...แต่ทั้งนี้ยังคงกลิ่นอายของ Topcon ที่ตัวล๊อคแกนราบ-แกนดิ่ง และตัวส่องเล็งหัวหมุดฯ
NTS-342R5 หน้าจอระบบสัมผัส
วัสดุที่ใช้ประกอบตัวเครื่องฯ อันหมายถึงความแข็งแรง ทนทาน ของตัวกล้องฯ คือสิ่งที่ผู้เขียนให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกเมื่อได้หยิบจับ สัมผัสแรก ซึ่งเจ้า NTS-342R6 รุ่นนี้ ก็ทำเอาทึ่ง+อึ้งไปไม่น้อยทีเดียวนั่นคือ การใช้ 'โลหะ' อัลลอยด์แข็ง ประกอบเป็นตัว body หลัก (แทนการใช้ พลาสติกแข็ง) ซึ่งแม้แต่กล้องฯจากยี่ห้อหลักๆอย่าง Sokkia และ Topcon รุ่นแพงๆบางรุ่น ยังไม่ใช้ตัววัสดุดังกล่าวทำเป็นตัว body (แต่ Leica ในซีรี่ TPS-1200 หลายรุ่น ใช้วัสดุดังกล่าวประกอบเป็นตัว body)
* ตัว NTS-342R6A ที่ผู้เขียนได้ทำการทดสอบนี้ เป็นรุ่นที่มีความละเอียดทางมุมของกล้องฯ 2" มาพร้อมระบบ Reflectoress ที่ระยะทำการ 600 เมตร โดยมีตัวส่องหัวหมุดฯเป็นแบบ dot เลเซอร์ และหน้าจอเป็นระบบสัมผัส
* ตัวกล้องฯค่อนข้างจะมีน้ำหนักมากกว่า กล้องฯยี่ห้ออื่นๆใน class เดียวกัน (หนักมาก ทั้งที่ตัวกล้องฯก็ไม่ได้ใหญ่โตเกินไปนัก)
* การ 'ไม่มี' ที่ใส่ตัวป้องกันแสงแดดให้กับเลนส์หน้ากล้อง (Lens hood) อาจจะไม่สะดวกนัก ในกรณีที่ต้องใช้งานกล้องฯในพื้นที่ประเภท 'หันหน้ากล้องฯสู้แสงตะวัน'
>> ประเด็นสำคัญที่ผู้เขียน ตรวจพบในกล้องฯซีรี่นี้ ซึ่งถือว่าดีเยี่ยม นั่นคือ การมีเซ็นเซอร์ตรวจจับสภาพอากาศ ทั้งอุณหภูมิ ความชื้นสัมพัทธ์ และความดันบรรยากาศ โดยตัวกล้องฯสามารถทำการปรับแก้ค่าการรังวัดระยะทางแบบ Real Time ตลอดการทำการรังวัด (สภาพอากาศส่งผลโดยตรงต่อการวัดระยะทาง ของตัว EDM ภายในกล้องฯ)
NTS-342R6 มาพร้อมกับเซนเซอร์ ตรวจวัดสภาพอากาศ
ตั้งค่าไว้ที่ ON เป็นการปรับแก้ค่าการรังวัด แบบ Real Time
ในยุคเมื่อ 10 กว่าปีก่อน กล้องโททอล สเตชั่น ยังไม่มีออปชั่นการปรับแก้ค่าการรังวัดจากปัจจัยทางด้านสภาพอากาศเหล่านี้ เราจึงพบว่าการทำการรังวัดในช่วงตอนเช้าที่มีอากาศเย็น ได้ค่าผลลัพธ์การรังวัด (ดีกว่า) 'แตกต่าง' จากการทำการรังวัดในช่วงตอนกลางวันที่มีอากาศร้อน...ในยุคนั้น เราจึงเห็นการตั้งกล้องฯจึงมักจะมี 'ร่ม แบบชายหาด' กางไว้เพื่อป้องกันแสงแดด กันความร้อนให้กับตัวกล้องฯ หรือคนอ่านกล้องฯ ? (ตัวผู้เขียนเอง ก็เป็นหนึ่งในนั้น lol)
ภาพ: ผู้เขียน กับงานสำรวจฯภูมิประเทศ แขวงสาละวัน สปป.ลาว ปี พ.ศ. 2551
ในกล้องฯยุคต่อมา มีการเพิ่มออปชั่นเมนู การตั้งค่า (ป้อนข้อมูล) สภาพอากาศ ขณะทำการรังวัด ซึ่งก็ออกจะขลุกขลัก อยู่พอสมควร เพราะเป็นการ 'fix ค่าตัวแปร' อาทิ อุณหภูมิขณะทำการรังวัด ซึ่งบางพื้นที่สำรวจฯ อุณหภูมิอาจจะมีขึ้น-ลง ตลอดทั้งวัน (รวมถึงฝนตก) การจะไปกำหนดค่าอุณหภูมิแบบ 'ตายตัว' สำหรับ Job หนึ่งๆ นั้น ไม่น่าจะถูกต้อง ครั้นจะสร้าง Job ใหม่ๆตามอุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลงไป (มีเทอโมมิเตอร์วัด) ก็ออกจะ 'งานงอก' เกินไปหน่อย ส่วนทางด้านค่าความชื้นสัมพัทธ์ และค่าความดันบรรยากาศ ที่ต้องป้อนค่าเหล่านี้ลงไปในตัวกล้องฯด้วย ก็ต้องมีเครื่องมือวัดค่าสภาพอากาศเหล่านี้โดยเฉพาะ...วุ่นวายหนัก เข้าไปอีก
* ผู้เขียนเคยใช้งานกล้องฯ Leica ในซีรี่ TPS-1200 บางรุ่นที่มีชุดคำสั่งเหล่านี้ ปรากฎว่าต้องใช้ 'ค่าเฉลี่ยตลอดทั้งปี' ทั้ง 3 ค่า ของสภาพอากาศในท้องที่นั้นๆ ซึ่งเป็นการป้อนค่า fix แบบตายตัวเข้าไป (ใช้ตลอดทั้งโครงการฯ)...เอาน่า ไม่ใช่ก็ใกล้เคียง...ถูๆ กันไป (เพราะในยุคนั้น ยังไม่มีตัวเซนเซอร์ ปรับแก้ดังกล่าว)
* การผลิตกล้องฯ และการตั้งค่าพารามิเตอร์ต่างๆให้กับตัวกล้องฯ จากโรงงานผู้ผลิต (ต่างประเทศ) ที่มีสภาพแวดล้อมทางด้านสภาพอากาศ ทั้งอุณหภูมิ (ห้อง) ความชื้นสัมพัทธ์ และความดันบรรยากาศ 'มีความแตกต่าง' ไปจากการใช้งานตัวกล้องฯจริงในสภาพอากาศที่แตกต่างกันไป อาทิ ในประเทศสารขัณฑ์ของเรา (ร้อนมาก) รวมไปถึงการขนส่ง (การสั่นสะเทือน)...ปัจจัยเหล่านี้ มีผลโดยตรงต่อการทำการรังวัด ของตัวกล้องฯ

2. การใช้งาน เมนูคำสั่ง
>> (ส่วนตัว) ฟังก์ชั่นการใช้งานตัวโปรแกรม เหมือนกับรุ่นก่อนหน้านี้ทุกประการ (ไม่ใช้ระบบวินโดว์) โดยตัวโปรแกรมในซีรี่ 342Rx เป็นโปรแกรมที่ใช้งานค่อนข้างง่าย บันทึกข้อมูลจากการอ่านได้รวดเร็ว ไม่แฮ้งค์ ค้าง อืด เหมือนกล้องฯที่ใช้ระบบวินโดว์ ซึ่งผู้เขียนขออนุญาติไม่ลงในรายละเอียดมากนัก ด้วยเหตุว่ากล้องฯ รุ่นใหม่ๆทุกวันนี้ มีหลักการใช้งาน 'พื้นฐาน' ที่คล้ายๆกันไปหมด นั่นคือเริ่มจากการสร้าง Job > ตั้งค่าจุดตั้งกล้องฯ+เป้า B.S. หรือจากวิธีการ Resection ซึ่งเมื่อตัวกล้องฯรู้ตำแหน่งแห่งที่+ค่าระดับของตัวกล้องฯแล้ว ก็สามารถทำการรังวัดใดๆ ต่อไปได้
* ผู้เขียน เคยใช้งานกล้องฯที่มีระบบปฏิบัติการวินโดว์ เป็นตัวโปรแกรมหลักอยู่นานหลายปี  (ส่วนตัว) รู้สึกไม่ค่อยชอบเท่าไหร่ ด้วยเหตุผลหลักนั่นคือ มันอ่าน/บันทึกจุดได้ 'ช้า' เสียง (เหมือนมี) เข็มมันจะตี แต๊ก ๆๆ (แม้แต่อยู่ในโหมดอ่าน แบบหยาบ) รวมถึงมีอาการหน้าจอค้าง ต้องคอยถอดแบตฯออก แล้วใส่เข้าไปใหม่ จึงจะเปิดเครื่องฯได้
Youtube Credited: Alfa Topografia

สำหรับตัวโปรแกรมเสริม ที่ทำงานกับจุดสำรวจฯ COGO ต่างๆ กล้องฯรุ่นใหม่ๆ ในยุคนี้ มักจะมีโปรแกรมเหล่านี้มาให้เลือกใช้อย่างพร้อมสรรพฯ ยกเว้น กล้องฯจากยี่ห้อหลักๆบางรุ่น ที่ต้อง 'เสียเงินเพิ่ม' ถ้าต้องการมีโปรแกรมเหล่านั้นไว้ในตัวเครื่องฯ

Export File: ในซีรี่ 342Rx สามารถทำการส่งออกไฟล์ได้ในหลายรูปแบบ ทั้งประเภทไฟล์ RAW, Code, XYZ รวมไปถึงไฟล์ CAD (.dxf)...แต่ก็มีปริศนา? ให้ขบคิดกันเล็กน้อยในประเด็นเรื่องการ Export ไฟล์ RAW ซึ่งมีให้เลือกส่งออกเป็นไฟล์ของ Topcon และ Sokkia...มีบางอย่างผิดปกติ?

3. ความถูกต้องของข้อมูล ที่ได้จากการรังวัด โดยเปรียบเทียบกับ Base line และ Control Networks
>> ในประเด็นนี้ ตัวกล้องฯเพิ่งจะผ่านการคาริเบท มาหมาดๆ ฉะนั้นเมื่อนำมาเช็คสอบกับแนวเส้น  Base line และ Control Networks ผลลัพธ์ที่ได้จึงอยู่ในเกณฑ์ปกติ...(ส่วนตัว) มีข้อวิจารณ์เล็กๆเกี่ยวกับการแสดงผลของจำนวนตำแหน่งทศนิยม ซึ่งในซีรี่ดังกล่าวสามารถแสดงตำแหน่งทศนิยม ของระยะทางได้ 3 ตำแหน่ง ซึ่งถ้าเปลี่ยนเป็น 4 ตำแหน่งได้นี่ จะให้เพิ่มอีก 1 คะแนน (งานละเอียด^^) 

4. ความเหมาะสมทางด้านราคา และคุณภาพ
>> เท่าที่ได้รับการบอกเล่าถึงราคาค่างวดของรุ่น NTS-342R6A (Reflectorless 600 เมตร) ข้างต้น ราคา ณ ปัจจุบัน ต่ำกว่า 2 แสนบาทนิดๆครับ และราคาจะเกิน 2 แสนบาท ในรุ่นที่มีระบบ Reflectorless ที่ระยะทาง 1000 เมตร...ซึ่งราคาในระดับนี้ กับ Spec. แบบนี้ ทางค่ายกล้องฯใหญ่ๆ แบรนด์ดังๆ 'มีหันหน้ามาค้อนขวับๆ' เพราะถ้า Spec. แบบนี้ ค่ายใหญ่ๆกำหนดราคาขายทะลุ 4 แสนบาทขึ้นไป อย่างแน่นอน

สำหรับท่านที่กำลังพิจารณาเลือกซื้อกล้องโททอล สเตชั่น ในงบประมาณที่มีอย่างจำกัด แต่อยากได้ Spec.กล้องฯ ในระดับราคา 4-5 แสนบาท ในกล้องฯแบรนด์ดัง (ยกเว้น Leica ซึ่งราคาจะสูงกว่านั้นมาก)...NTS-342R6A เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจทีเดียวครับ และสำหรับสารขัณฑ์บ้านเรา มีศูนย์บริการไว้รองรับพร้อมสรรพ >> www.wisai.co.th

>> อีกนิด สำหรับท่านที่เมียงมองไปถึงซีรี่ NTS ที่ดู 'ล้ำหน้ากว่า'...ก็จัดไปสิครับ จะรออะไร กับ NTS-391S Robotic (ตัวนี้ 'รุ่นโอปป้า')
NTS-391S Robotic...ผู้เขียน ได้แต่ออกอาการ 'น้ำลายหยด แหมะๆ'
Youtube Credited: Geoinfo d.o.o.


หมายเหตุ: บทความข้างต้น เป็นบทความที่ 'มิใช่' รายการเชียร์สินค้า หรือรายการโฆษณาสินค้าแต่อย่างใด โดยตัวผู้เขียนเองก็มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับทางค่ายผู้ผลิต ใดๆทั้งสิ้น...แต่เป็นความรู้สึก 'ส่วนตัว' ภายหลังการทดลองใช้งานตัวกล้องฯรุ่นดังกล่าว รู้สึกนึกคิดอย่างไร ก็เขียนไปอย่างนั้น ตามสภาพความเป็นจริง อ้างอิงจากความรู้ และประสบการณ์ส่วนตัวที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการนี้ มาเนิ่นนาน...