Wednesday 1 August 2018

Dam Deformation Survey...เมื่อขาดแคลน > เตือนชาวบ้านท้ายเขื่อนฯ ล่าช้า > สูญเสียชีวิต #เขื่อนแตกในลาว

Credited: http://framework.latimes.com
>> ด้วยความที่ผู้เขียน มีความเกี่ยวดองหนองยุ่งในโครงการสำรวจฯและก่อสร้างเขื่อนฯอยู่หลายโครงการ ในสปป.ลาว อีกทั้งยังมีมิตรสหายนักสำรวจฯชาวลาว และชาวสารขัณฑ์ได้ส่งข้อมูล หรือสอบถาม/ปรึกษาในโครงการสำรวจเขื่อนฯต่างๆ มาอยู่เนืองๆ จึงทำให้ผู้เขียนรับรู้ ถึงความเป็นไปของโครงการก่อสร้างเขื่อนฯต่างๆใน สปป.ลาว อยู่พอสมควร ทั้งที่เป็นข่าวและไม่ออกเป็นข่าว...ซึ่งหลังจากเกิดเหตุวิกฤติการณ์เขื่อนแตก ที่เขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย (สันเขื่อน D) ได้ทำให้ผู้เขียนฉุกคิดขึ้นมาว่า จำเป็นที่จะต้อง 'สื่อสารอะไรบางอย่าง' ไปยังท่านผู้ที่ทำงาน หรือเกี่ยวข้องกับสายงานทางด้านนี้ และผู้เขียน ไม่อยากให้วิกฤติการณ์เขื่อนแตก เช่นนี้ เกิดขึ้นซ้ำแล้ว ซ้ำอีก....

ข่าว 'ประวัติ' เขื่อนแตกใน สปป.ลาว ที่ถูกเผยแพร่ทางสื่อต่างๆ นั้น ได้ระบุไว้ 3 เขื่อน ซึ่งได้แก่
1. อุโมงค์ไฟฟ้าเขื่อนเซกะมาน 3 แตกในปี พ.ศ. 2559 
2. เขื่อนน้ำอ้าว แตกในปี พ.ศ. 2560 (ในคลิปที่ถูกเผยแพร่ในโลกออนไลน์ แสดงภาพมวลน้ำไหลทะลักลงมาท่วมเขื่อนน้ำเงี๊ยบ 2 ตามไปด้วย)
3. เขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย แตกในปี พ.ศ. 2561

จำนวนเขื่อนแตก ทั้ง 3 เขื่อนข้างต้น คือข่าวสารที่ชนชาวเราต่างรับทราบผ่านสื่อโดยทั่วกัน...แต่ในสารบบข่าวสารงานเขื่อน ของผู้เขียน ยังมีอีก 1 เขื่อน คือ 'เขื่อนน้ำลิก' ในเขตแขวงเวียงจันทน์ (พิกัดสันเขื่อน E 196030, N 2080437 Zone 48N) ที่มีประวัติ (ลุ้นระทึก) ไม่สู้จะดีนัก ด้วยเหตุว่าเมื่อย้อนกลับไปในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ปี พ.ศ. 2554 ได้เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวในพื้นที่แขวงไซยะบุรี ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากตัวเขื่อนน้ำลิกมากนัก โดยวัดแรงสั่นสะเทือนได้ถึง 4.7 ริกเตอร์ และล่าสุด เมื่อเดือน พฤษภาคม ปี พ.ศ. 2561 ที่ผ่านมา วัดแรงสั่นสะเทือนได้ถึง 4.9 ริกเตอร์ (ทั้งนี้ยังได้เกิดแผ่นดินไหวเล็กๆน้อยๆรายวัน-รายเดือน 1-4 ริกเตอร์ ในเขตดังกล่าว มาโดยตลอด อันเนื่องมาจากการมีรอยเลื่อนแผ่นดินไหว อยู่ในพื้นที่)...ถ้าถามว่าเหตุการณ์แผ่นดินไหวเหล่านี้ ได้ส่งผลกระทบต่อตัวโครงสร้างของตัวเขื่อนฯ หรือไม่...ผู้เขียนมิอาจตอบได้ เพราะว่าหลายสิ่งหลายอย่าง ในดินแดนแห่งนี้ ดูมันช่างลี้ลับ ดำมืด การข่าวถูกปิดเงียบ มุบมิบ อุบอิบ...'มิดอิ่มซิม'
เขื่อนน้ำลิก แขวงเวียงจันทน์
แต่จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งหลังสุดนี้ เป็นที่รับทราบกันทั่วทั้งแว่นแคว้น ถึงการ 'อพยพหนีน้ำ' หนีตาย กันอย่างโกลาหล ของชาวบ้าน จำนวนหลายหมู่บ้านที่อยู่ท้ายเขื่อน ไล่ตั้งแต่ บ้านนาแซง บ้านคอนเรือง  บ้านปากงั่ว บ้านสีสะอาด บ้านสามหมื่น บ้านแก้งเซียง บ้านเมืองเฟือง บ้านโพสี บ้านนาถั่ว บ้านดอน และหมู่บ้านที่อยู่ที่ต่ำเลยไปกว่านั้น...ต่างพากันขนข้าว ขนของ อพยพขึ้นที่สูงกัน เป็นที่ชุลมุน

บ้างก็ว่ามีการแจ้งเตือนจากทางเขื่อนฯให้อพยพคนจากหมู่บ้านท้ายเขื่อนทั้งหมด บ้างก็ว่ามีคนเห็นเขื่อนเริ่มมีรอยร้าว น้ำพุ่งออกมาจากผนังเขื่อน ฯลฯ...โชคดี ที่ไม่เกิดเหตุการณ์ใดๆขึ้น ซึ่งถ้ามองในแง่ดี ก็ถือเสียว่าเป็นการ 'ซ้อมรับมือ' กับวิกฤตการณ์ร้าย ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต (ที่ไม่เกิดขึ้นเลยจะดีที่สุด)

แต่เป็นที่ประจักษ์ และรับทราบโดยทั่วกันของชาวบ้านในเขตนั้น นั่นคือ ได้มีการ 'เข้าไปซ่อมแซม' ตัวเขื่อนฯ...ซึ่งเท่าที่ผู้เขียนได้รับทราบมานั้น ได้มีการซ่อมแซมตัวเขื่อนฯ กันมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เหตุการณ์เกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ 6.3 ริกเตอร์ เมื่อปี พ.ศ. 2550 ซึ่งผู้เขียนก็ขอภาวนาว่า อย่าได้เกิดวิกฤตการณ์ร้ายใดๆขึ้นเลย สำหรับเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำดังกล่าว เพราะว่ามวลน้ำ 'จำนวนมหาศาล' ที่ถูกกักเก็บอยู่ในเขื่อนแห่งนี้ ถ้าในกรณีเกิดเหตุการณ์ 'เขื่อนแตก'...จะสร้างความเสียหายที่ 'มากกว่า' เขื่อนแตก ที่เขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย ด้วยเหตุว่า มวลน้ำมหาศาลเหล่านี้ จะไหลลงผ่านทางร่องน้ำหลัก นั่นคือแม่น้ำลิก และไหลลงต่อไปรวมกับ แม่น้ำงึม (น้ำถูกปล่อยออกจากท้ายเขื่อนน้ำงึม 1) มวลน้ำ +เพิ่มขึ้นไปอีก และจะไหลต่อไปออกสู่แม่น้ำโขง ที่เขต ต.กุดบง อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย...ท่านลองเปิดโปรแกรม Google Earth/Map และลองไล่เรียงตรวจสอบไปตามสายน้ำนี้ดูเถิด ท่านจะพบว่า ถ้าเกิดมีมวลน้ำจำนวนมหาศาล ไหล 'ล้นทะลัก' ไหลบ่ามาตามสายน้ำนี้ แล้วจะเกิด 'หายนะ' อะไรขึ้นบ้าง และไม่เฉพาะประชาชน ชาวบ้านที่อาศัยอยู่รายรอบลำน้ำสายนี้เท่านั้น ที่จะได้รับผลกระทบอย่างหนักหน่วง อาจจะรวมไปถึงตัวแขวงกำแพงนครเวียงจันทน์เอง ที่ห่างออกไปทางทิศใต้ จากบ้านท่าง่อน (ติดแม่น้ำงึม) ในระยะทางเพียง 20 กม.
Credited: คุณ ฐปนีย์ เอียดศรีไชย (พี่แยม) ข่าว 3 มิติ
* ทางการของ สปป.ลาว ได้ออกหนังสือแจ้งเตือน ไปยังเขื่อนต่างๆทั่วประเทศ ทั้งเขื่อนที่กำลังก่อสร้างกันอยู่ และเขื่อนที่ได้ก่อสร้างเสร็จแล้ว ให้ตรวจสอบ ความมั่นคงแข็งแรงของตัวเขื่อนฯในทุกมิติ...เขื่อนน้ำลิก เป็นอีกเขื่อนหนึ่งที่ควรจะได้รับการตรวจสอบ 'อย่างเข้มงวด' โดยไม่เพียงเฉพาะการตรวจสอบแค่ดู REPORT แสดงตัวเลขที่ 'สวยหรู'...ควรที่จะจัดให้มีหน่วยงานเฉพาะทาง พร้อมอุปกรณ์ตรวจสอบความมั่นคง แข็งแรง ของตัวเขื่อนฯ และทำการตรวจสอบ สำทับไปอีกชั้นหนึ่ง

เขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย 'สันเขื่อน D'
Credited: https://workpointnews.com/2018/07/25/
>> วิกฤตการณ์เขื่อนแตก ที่เขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย (สันเขื่อน D) มีข้อบ่งชี้ที่สำคัญ 3 ประเด็นหลัก ที่ชี้ให้เห็นถึงความ 'บกพร่อง (ไม่ได้มาตรฐาน)' และความ 'ขาดแคลน (เครื่องมือตรวจสอบฯ)' รวมไปถึงการ 'ขาดการเตรียมการรับมือ (การประเมินผลกระทบที่จะเกิดขึ้น)' ในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน ที่ไม่คาดคิด (ดังที่ได้เกิดขึ้นแล้ว เป็นที่ประจักษ์ อยู่ ณ เวลานี้)

1. การก่อสร้างที่ 'ไม่ได้มาตรฐาน' (บกพร่อง)
>> ปฎิเสธไม่ได้เลยว่า ได้มีการก่อสร้างตัวเขื่อนฯที่ 'ไม่ได้มาตรฐาน' ในประเด็นนี้ สำหรับผู้ที่เกี่ยวดองหนองยุ่งในงานก่อสร้างเขื่อนฯ ต่างรับทราบกันดีว่า 'แบบโครงสร้างตัวเขื่อนฯ' นั้น คือแบบโครงสร้างฯที่ได้รวบรวมศาสตร์งานทางด้านวิศวกรรมเอาไว้มากมาย หลายสาขา (ขออนุญาติ ไม่ลงในรายละเอียด)...ซึ่งผู้เขียน (ส่วนตัว) เชื่อว่า ตัวแบบโครงสร้างตัวเขื่อนฯ นั้น 'ได้มาตรฐาน'...แต่...ในการปฎิบัติ/การก่อสร้าง หน้างานจริง 'ให้เป็นไปตามมาตรฐาน?' ตามแบบโครงสร้างฯที่ออกแบบไว้นั้น...โดยให้เป็นไปตามแบบ อย่างมีมาตรฐาน หรือไม่นั้น นั่นล่ะปัญหา? และนี่คือสภาวะการณ์ ที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในเขื่อนฯต่างๆที่กำลังก่อสร้าง อยู่ใน สปป.ลาว ณ ขณะนี้ 
* โดยเฉพาะเขื่อนฯจำนวนมาก ที่กำลังถูกก่อสร้าง อยู่ ณ เวลานี้ โดยชนชาว 'เซินเจิ้น' ซึ่งต่างถูกถามกันอย่างอื้ออึงคะนึงมี ในเรื่อง 'คุณภาพ และมาตรฐาน'...คำถามข้อแรก จากผู้เขียน อ่านได้ จากประเด็นหลัก ข้อ 2. และข้อ 3. ทางด้านล่าง...เขื่อน 'เซินเจิ้น' มีระบบตรวจสอบ และระบบประเมินผลกระทบฯดังกล่าว หรือไม่ (เท่าที่ผู้เขียนรับทราบมานั้น 'ไม่มี' และไม่มีแม้กระทั่ง บริษัท Consult ประมาณว่า 'ไม่มีความจำเป็น' หรือ สิ้นเปลืองงบประมาณ)

มีคำถามเกิดขึ้นมากมาย ในเรื่องปัญหาโครงสร้างของตัวสันเขื่อน D (ทำไมถึงแตก?) โดยเฉพาะประเด็นคำถามในเรื่องการเลือกประเภทของวัสดุ (หิน/ดิน) ที่ใช้ในการบดอัดเป็นชั้นๆ ของตัวสันเขื่อน, ค่าระดับ+ความถี่ในการบดอัด, ความหนาของการฉีดทับด้วยซีเมนต์, การอัดผนังเขื่อนด้วยหิน RipRap (ได้ขนาดตามแบบ หรือไม่) ฯลฯ...แน่นอนว่า ทุกๆคำถาม ต่างมุ่งตรงไปที่ บริษัทรับเหมาก่อสร้างฯ รวมไปถึง บริษัท Consult...ซึ่งในดินแดนที่ ทุกสิ่ง ทุกอย่าง ถ้าลดจำนวนลงได้ หรือ เปลี่ยนขนาดได้ เปลี่ยนชนิดวัสดุได้ แล้วจะสร้าง 'ผลกำไร' ขึ้นอีกมากโข เช่นนี้...นั่นล่ะ 'มิดอิ่มซิม'

* สำหรับในกรณีเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย (สันเขื่อน D) แตก มีประเด็นคำถาม ที่ถูกถามกันอย่าง 'อื้ออึง' ไปยังท่านผู้รับผิดชอบเขื่อนฯหน้างาน...โดย ณ ช่วงเวลา 'ก่อน' เกิดเหตุการณ์ดังกล่าว ท่านรับทราบ Report ระดับน้ำกักเก็บทุกวัน (มี กราฟแสดงระดับน้ำให้ดูทุกวัน) ท่านต้องทราบดีว่า ในแต่ละวันนั้น ได้มีมวลน้ำ 'เพิ่มขึ้น' วันละกี่ ลบ.ม. ฉะนั้น ท่านต้องสามารถประเมินได้ว่า จะต้องใช้เวลาอีกกี่วัน ถึงจะมีระดับน้ำไปแตะที่ะดับกักเก็บน้ำสูงสุด หรือระดับน้ำล้นไปที่ Spillway...??? ทำไม ท่านถึงปล่อยให้ระดับน้ำสูงขึ้น อย่างต่อเนื่อง ??? ทำไมท่าน ไม่ทะยอย 'พร่องน้ำ/ปล่อยน้ำ' ออกมาจากตัวเขื่อน ก่อนหน้านั้น...

* ในสภาวะการณ์ ที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ ณ เวลานี้ กับเขื่อนน้ำอู 2 และ เขื่อนกั้นแม่น้ำแบ่ง ในแขวงอุดมไซ ที่ต่างพากันเร่ง 'พร่องน้ำ/ปล่อยน้ำ' กันอย่างอึกทึก ด้วยเหตุว่ากลัวน้ำจะล้นเขื่อน หรือกลัวว่าเขื่อนจะแตก จนเป็นเหตุให้บ้านเรือนประชาชนที่อาศัยอยู่ท้ายเขื่อนฯ ต่างได้รับผลกระทบจากมวลน้ำที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างฉับพลัน ตามที่เป็นข่าวจากสื่อหลายสำนัก...ภาพตัดกลับไปที่ เขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย 'ช่วงเวลาก่อนเขื่อนแตก' ในขณะที่มีปริมาณฝนตกอย่างต่อเนื่อง มีระดับน้ำกักเก็บในเขื่อนเพิ่มสูงขึ้นทุกวัน...แต่ท่านผู้ดูแลเขื่อนฯ ก็ยัง...ชิล ชิล

หมายเหตุ: เนื้อหาถัดไปทางด้านล่างนี้ เจาะจงผู้อ่านกลุ่มเป้าหมายที่เป็นนายช่างสำรวจฯ นายช่างชลประทาน หรือในสาขาที่เกี่ยวข้อง ทั้งในสารขัณฑ์ประเทศ และมิตรสหายสายงานสำรวจฯเขื่อน ใน สปป.ลาว

2. Dam Deformation Survey...เมื่อขาดแคลน (เครื่องมือตรวจสอบฯ) > เตือนชาวบ้านท้ายเขื่อนฯ ล่าช้า > สูญเสียชีวิต
>> และนี่คือ 'แก่น' ของบทความในเรื่องนี้ ที่ผู้เขียนมีความชำนาญ และมีประสบการณ์มากพอสมควร ซึ่งผู้เขียนอยากจะถ่ายทอดความรู้/สื่อสารไปยังชนชาวเขื่อนฯ ทั้งหลาย ที่ยังไม่มี หรือยังขาดแคลน ระบบการสำรวจฯตรวจสอบดังกล่าว อยู่ในตัวเขื่อนฯของท่าน ให้ได้จัดหา จัดเตรียม และเล็งเห็นถึงความสำคัญในงานสำรวจฯ ตรวจสอบการเคลื่อนตัว และทรุดตัว ของตัวเขื่อนฯ

Deformation Survey เป็นสาขาของงานสำรวจรังวัดประเภทหนึ่ง ที่ใช้ในการตรวจสอบการการเคลื่อนตัว (แนวแกน X,Y) และทรุดตัว/ยกตัว (แนวแกนดิ่ง Z) ของวัตถุ สิ่งก่อสร้าง หรือสิ่งปลูกสร้าง ฯลฯ ใดๆ โดยอาศัยการสำรวจรังวัด เพื่อตรวจสอบเปรียบเทียบ 'ความเปลี่ยนแปลง' ของค่าพิกัด X,Y และค่าระดับ Z ที่เกิดขึ้นภายหลัง โดยเมื่อนำไปเปรียบเทียบกับข้อมูลค่าพิกัด+ระดับ ที่ถูกสำรวจฯไว้ในครั้งแรกสุด X (fixed),Y (fixed) และค่าระดับ Z (fixed) 
* Deformation Survey ถูกใช้ในงานตรวจสอบการเคลื่อนตัว และทรุดตัว ในงานเหมืองแร่ แบบ Open Pit, เขื่อนฯขนาดใหญ่ งานก่อสร้างตึกสูง ฯลฯ

Dam Deformation Survey PROCEDURE:
  2.1 เครื่องมือ/อุปกรณ์ สำรวจฯ ที่ต้องจัดหา จัดเตรียม (ในงานตรวจสอบการเคลื่อนตัว และทรุดตัว ของตัวเขื่อนฯ)
     2.1.1 กล้อง Total Station (ความละเอียดทางมุม ไม่เกิน 2" )
     2.1.2 Prism Target (ประมาณ 25 ม./1 ตัว หรือตามงบฯ? วางยาวไปตามแนวสันเขื่อน) + อุปกรณ์ยึดติดกับ (เสา/กำแพง/รั้ว) สันเขื่อน หรือติดตั้ง Prism Target เพิ่มเติม ในแนว Reinforce หรือแนวด้านลาดของผนังเขื่อน ...'ไม่นิยม' Reflective Target sheet
     2.1.3 จุด/สถานี ตั้งกล้องฯ แบบ Fixed ตำแหน่ง (นิยม หลักเสาแบบ Pillar)

ภาพตัวอย่าง การติดตั้ง Prism Target และ กล้อง Total Station 

  2.2 การติดตั้งเครื่องมือ/อุปกรณ์ สำรวจฯ
     2.2.1 ติดตั้ง Prism Target ให้แข็งแรง มั่นคง ไม่ขยับ/ย้ายที่ โดยกระแสลม-ฝน โดยหันหน้าปริซึมไปหาตำแหน่งที่กล้อง Total Station ตั้งอยู่
     2.2.2 ตำแหน่งที่กล้อง Total Station ตั้งอยู่ ต้องเล็ง/ส่องเห็น Prism Target ทุกๆตัว ได้อย่างชัดเจน

  2.3 การทำการสำรวจรังวัด
 >> ในประเด็นนี้ มีวิธีทำการสำรวจฯ และการคำนวณอยู่หลายวิธี ซึ่งผู้เขียนขออนุญาตินำเสนอหลักวิธีการสำรวจฯ และการคำนวณ แบบเข้าใจง่าย ไม่ซับซ้อน 
     2.3.1 กำหนดตำแหน่งทิศอ้างอิง (R.O) หรือกำหนดแนวทิศอาซิมัท ให้กับตัวกล้องฯ โดยให้พยายามตั้งฉากกับทิศทางของแนว สันเขื่อนมากที่สุด โดยจุดตำแหน่ง (R.O) อาจจะสร้างจากหัวเหล็ก ตะปู น๊อต ฯลฯ ที่ค่อนข้างคงทนถาวร (ไม่จำเป็นต้องใช้/ติดตั้งเป้า B.S.) โดยการทำการสำรวจฯทุกครั้ง จะต้องใช้จุดตำแหน่ง (R.O) ที่ได้กำหนดไว้ข้างต้นทุกครั้ง
     2.3.2 ทำการส่องเล็ง และอ่านค่าพิกัด และค่าระดับ (กำหนดค่าความสูงของตัวปริซึมให้เป็น 0 ทุกตัว) ที่ตำแหน่งปริซึม ทุกๆตัว...จดบันทึก/Save+ Backup ข้อมูลดังกล่าว ไว้ในที่ปลอดภัย ด้วยเหตุว่าข้อมูลค่าพิกัด และค่าระดับ ที่สำรวจรังวัด/อ่านได้ในการสำรวจฯครั้งแรกนี้ จะต้องใช้เป็นข้อมูลแม่บท ในการเปรียบเทียบกับข้อมูล ที่สำรวจรังวัด/อ่านได้ในการสำรวจฯ ในครั้งต่อๆไป
>> จากการทำการสำรวจฯ อ่านค่าพิกัด และค่าระดับ ข้างต้น จะได้ข้อมูล X,Y และ Z ของปริซึมแต่ละตำแหน่ง มา 1 ชุดข้อมูล ซึ่งชุดข้อมูลดังกล่าวคือ 'สภาพทางกายภาพของตัวเขื่อน' ที่ 'ยังไม่แตก' ไม่มีการเคลื่อนตัว หรือทรุดตัว ใดๆเกิดขึ้น ซึ่งสามารถแสดงเป็น ข้อมูล Magnitude Error ที่แสดงทิศทางการเคลื่อนตัว หรือทรุดตัว/ยกตัว ตามภาพด้านล่าง
ภาพตัวอย่างชุดข้อมูล Magnitude Error จากการสำรวจฯครั้งแรก (ไม่การเคลื่อนตัว และทรุดตัวใดๆ)
    2.3.3 จำนวนการทำการสำรวจรังวัด ตรวจสอบหาค่าการเคลื่อนตัว และทรุดตัว ของตัวเขื่อนๆ ในแต่ละวันนั้น ไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัว ว่าจะต้องทำการสำรวจฯเท่านั้น เท่านี้ ต่อวัน ซึ่งมีปัจจัยทางด้านบุคลากร/งานบริหาร ฯลฯ มาเกี่ยวข้อง...บางเขื่อนฯอาจจะทำการสำรวจฯ เช้า-สาย-บ่าย-เย็น หรือบางเขื่อนอาจจะทำการสำรวจฯ 3 เวลาหลังอาหาร หรือบางเขื่อนฯมีนายช่างฯว่างงาน ชอบแอบงีบหลับ/เล่นมือถือ ก็จัดให้ทำการสำรวจฯทุกๆ 2 ชั่วโมง หรือ 1 ชั่วโมง ก็ไม่ผิดกติกาแต่อย่างใด

ชุดข้อมูลที่ได้จาการสำรวจรังวัด จะถูกแสดงให้อยู่ในรูปข้อมูล ของ Magnitude Error ซึ่งนิยมบอกหน่วยวัดเป็น 'มิลลิเมตร' ที่จะบ่งชี้ถึงแนวทิศทางการเคลื่อนตัว+ทรุดตัว/ยกตัว ของตำแหน่งปริซึม (ในกรณีนี้คือตัวเขื่อน) ว่ามีความเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างฯ ไปในทิศทางใด สูงขึ้น/ต่ำลง อย่างไร โดยมีหลักการคำนวนพื้นฐาน ตามตัวอย่างสมมุติ;

ที่จุด A มีค่าพิกัด+ค่าระดับ ที่ถูกสำรวจฯไว้ในครั้งแรกสุด คือ X= 2053.271, Y = 5752.364,  Z= 100.597
ที่จุด B มีค่าพิกัด+ค่าระดับ ที่ถูกสำรวจฯไว้ในครั้งแรกสุด คือ X= 2056.599, Y = 5775.411,  Z= 100.485
ที่จุด D มีค่าพิกัด+ค่าระดับ ที่ถูกสำรวจฯไว้ในครั้งแรกสุด คือ X= 2065.701, Y = 5806.025,  Z= 100.510

ที่จุด A มีค่าพิกัด+ค่าระดับ ที่ถูกสำรวจฯไว้ในครั้งหลัง คือ X= 2053.274, Y= 5752.362,  Z= 100.598
ที่จุด B มีค่าพิกัด+ค่าระดับ ที่ถูกสำรวจฯไว้ในครั้งหลัง คือ X= 2056.599, Y = 5775.412, Z= 100.485
ที่จุด D มีค่าพิกัด+ค่าระดับ ที่ถูกสำรวจฯไว้ในครั้งหลัง คือ X= 2065.700, Y = 5806.022,  Z= 100.512

   2.4 Magnitude Error Calculation:
  • ที่จุด A (สำรวจฯครั้งหลัง) X 2053.274 - X 2053.271 (สำรวจฯครั้งแรกสุด) = 3 มม. มีทิศทางไปทางทิศตะวันออก ของแนวแกน X 
  • ที่จุด A (สำรวจฯครั้งหลัง) Y 5752.362 - Y 5752.364 (สำรวจฯครั้งแรกสุด) = -2 มม. มีทิศทางไปทางทิศใต้ ของแนวแกน Y 
  • ที่จุด A (สำรวจฯครั้งหลัง) Z= 100.598 - Z= 100.597 (สำรวจฯครั้งแรกสุด) = +1 มม. มีค่าระดับการ 'ยกตัว' ของแนวแกนดิ่ง Z 

  • ที่จุด B (สำรวจฯครั้งหลัง) X 2056.599 - X 2056.599 (สำรวจฯครั้งแรกสุด) = 0 มม. ไม่มีการขยับตัวของตัวเขื่อน ในแนวแกน X
  • ที่จุด B (สำรวจฯครั้งหลัง) Y 5775.412 - Y 5775.411 (สำรวจฯครั้งแรกสุด) = 1 มม. มีทิศทางไปทางทิศเหนือ ของแนวแกน Y 
  • ที่จุด B (สำรวจฯครั้งหลัง) Z= 100.485 - Z= 100.485 (สำรวจฯครั้งแรกสุด) = 0 มม. ไม่มีการทรุดตัว/ยกตัว ในตำแหน่งดังกล่าว

  • ที่จุด D (สำรวจฯครั้งหลัง) X 2065.700 - X 2065.701 (สำรวจฯครั้งแรกสุด) = -1 มม. มีทิศทางไปทางทิศตะวันตก ของแนวแกน X
  • ที่จุด D (สำรวจฯครั้งหลัง) Y 5806.022 - Y 5806.025 (สำรวจฯครั้งแรกสุด) = -3 มม. มีทิศทางไปทางทิศใต้ ของแนวแกน Y 
  • ที่จุด D (สำรวจฯครั้งหลัง) Z= 100.512 - Z= 100.510 (สำรวจฯครั้งแรกสุด) = +2 มม. มีค่าระดับการ 'ยกตัว' ของแนวแกนดิ่ง Z 
>> ในสภาวะการณ์ปรกติ ชุดข้อมูลสำรวจฯที่อ่านได้จากกล้องฯ ควรจะมีค่าผลต่างไม่เกิน +/- 5 มม. หรือไม่เกิน +/- 10 มม. เป็นอย่างสูง ซึ่งอาจจะเกิดจากความคลาดเคลื่อนแฝงของอุปกรณ์สำรวจฯ และอาจจะมีปัจจัยเพิ่มเติม ที่ก่อให้เกิดความคลาดเคลื่อนทางตำแหน่ง และทางระดับ อาทิ ไอน้ำ หรือละอองน้ำหลังเขื่อน, อุณหภูมิพื้นผิวของตัวเขื่อน (คอนกรีตเสริมเหล็ก) เป็นต้น
* การบันทึกชุดข้อมูล แต่ละช่วงเวลา ในแต่ละวัน ลงในโปรแกรม Excel และพล๊อตออกมาเป็นเส้นกราฟ จะช่วยให้สามารถตรวจสอบสภาวะความปรกติ และความผิดปรกติ ทางตำแหน่ง และทางระดับ ของโครงสร้างตัวเขื่อนฯ ได้อย่างชัดเจน

ภาพตัวอย่างชุดข้อมูล Magnitude Error แสดงพฤติการณ์ การขยับตัวของตัวเขื่อนฯ ในสภาวะ 'ปรกติ'
>> สำหรับ ในสภาวะการณ์ ที่ 'เริ่ม' มีสิ่งผิดปรกติเกิดขึ้น โดยการพิจารณาจากชุดข้อมูลสำรวจฯ ตามภาพตัวอย่างทางด้านล่าง ซึ่งเกิดความคลาดเคลื่อนทางตำแหน่ง ประมาณ 3 ซม. ไปทางทิศตะวันออกของแนวแกน X และเกิดความคลาดเคลื่อนทางตำแหน่งประมาณ 3 ซม. ไปทางทิศใต้ของแนวแกน Y และ งานทางระดับเกิดการ 'ทรุดตัว' ของตัวเขื่อนประมาณ 3-4 ซม...ในสภาวะการณ์ เช่นนี้ ผู้รับผิดชอบฯต้องรีบเร่งหาสาเหตุ และรีบทำการซ่อมแซม (ในกรณีที่สามารถทำการซ่อมแซมได้) และในส่วนของงานสำรวจฯ จะต้องทำการ 'เพิ่มจำนวนรอบ' การสำรวจฯเก็บข้อมูลฯ ให้ถี่ยิ่งขึ้น หรืออาจจะต้องทำการสำรวจฯเก็บข้อมูล และรายงานสภาวะการเคลื่อนตัวฯ แบบ Real Time (Monitoring Survey) 
ภาพตัวอย่างชุดข้อมูล Magnitude Error แสดงพฤติการณ์ 
การขยับตัวของตัวเขื่อนฯ ในสภาวะที่ 'ต้องเฝ้าระวัง' อย่างใกล้ชิด
และในกรณีที่ชุดข้อมูลที่ได้จากการสำรวจฯ แสดงค่า Magnitude Error มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นโดยลำดับ และผู้รับผิดชอบฯได้ทำการประเมินแล้วว่า เกินขีดความสามารถที่จะทำการซ่อมแซม หรือรักษาตัวเขื่อนฯไว้ได้...การรีบเร่งออกประกาศแจ้งเตือน ไปยังประชาชนที่อาศัยอยู่ท้ายเขื่อนโดยทั่วกันแต่เนิ่นๆ ให้รีบเร่งอพยพขึ้นสู่ที่สูง จึงเป็นสิ่งที่ต้องรีบเร่งกระทำเป็นอย่างยิ่ง
ภาพตัวอย่างชุดข้อมูล Magnitude Error แสดงพฤติการณ์ 
การขยับตัวของตัวเขื่อนฯ ในสภาวะที่ 'เริ่มเข้าสู่ระยะวิกฤติ' (ตรวจพบรอยแยก รอยร้าว)
>> ผู้เขียน (ส่วนตัว) เชื่อว่า 'มีระยะเวลาที่มากพอ' ในการอพยพของประชาชนที่อาศัยอยู่ท้ายเขื่อนฯ อย่างน้อยก็ไม่ต่ำกว่า 3-4 วัน ตั้งแต่ช่วงเวลาการตรวจสอบพบค่าความคลาดเคลื่อนทางตำแหน่งของตัวเขื่อนที่ 'เริ่มผิดปรกติ' ในครั้งแรก ไปจนถึงช่วงเวลาที่ค่าความคลาดเคลื่อนทางตำแหน่ง แสดงแนวโน้มที่จะมีการขยับตัว 'เพิ่มมากขึ้น' ซึ่งต้องมีการประกาศแจ้งเตือนไปยังประชาชนที่อาศัยอยู่ท้ายเขื่อนฯ และจนถึงช่วงเวลาของการพังทลายของตัวเขื่อนฯ
* การเกิดการพังทลายของตัวเขื่อน โดยการแซกซึมผ่านของน้ำ ซอกซอน ไปตามรอยปริแตก รอยแยกของแนวกั้นผนังเขื่อนนั้น เป็นกระบวนการที่ต้องอาศัย 'ระยะเวลา' อยู่พอสมควร ซึ่งเมื่อเกิดการเคลื่อนตัว หรือทรุดตัวใดๆ ขึ้นภายในตัวเขื่อน สามารถตรวจสอบรับรู้ได้ จากรายงานการสำรวจฯดังที่กล่าวข้างต้น...ส่วนในกรณีที่เกิด 'แผ่นดินไหว' ขนาดใหญ่ มีความรุนแรงใกล้ๆกับตัวเขื่อนฯ อย่างฉับพลันนั้น ในประเด็นนี้ ไม่ต้องรอประกาศแจ้งเตือนจากทางเขื่อนฯ ให้เมื่อยตุ้ม...ประชาชนที่อาศัยอยู่ท้ายเขื่อนฯ ควรรีบเร่งเอาชีวิตรอด อพยพขึ้นสู่ที่สูง จะเป็นการดีที่สุด
ภาพตัวอย่าง แสดงทิศทางการพังทลาย ของตัวเขื่อนฯ (จากข้อมูลฯตัวอย่าง ข้างต้น)

หมายเหตุ: สาเหตุที่ต้องกำหนดให้แนวทิศควบคุมทางราบ หรือแนวทิศอะซิมัทต้องมีทิศทางตั้งฉากกับแนวสันเขื่อนนั้น ก็เพราะว่า ถ้าท่านใช้ค่าพิกัดในระบบสากล ทั่วไป (หรือมีหมุดฯงานสำรวจฯของเดิม อยู่ภายในบริเวณเขื่อน) ซึ่งมีทิศอ้างอิงไปทางทิศเหนือนั้น ค่า Magnitude Error ก็จะแสดงทิศทางอ้างอิงไปตามแกน E,N และ Z ตามระบบพิกัดนั้นๆ...ซึ่ง จากภาพตัวอย่างทางด้านล่าง ท่านจะเห็นว่า 'ได้เกิดความไม่สะดวก' ในการบ่งชี้ทิศทาง 'ของแรงที่มากระทำ' กับตัวเขื่อน ซึ่งในกรณีนี้ คือทิศทางของแรงดันน้ำที่อยู่ด้านหน้าเขื่อน นั่นเอง
>> ท่านผู้อ่านสามารถที่จะมองเห็นภาพ 'ความขาดแคลน หรือการไม่มีระบบตรวจสอบ ติดตามการเคลื่อนตัว และทรุดตัว' ที่เขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย (สันเขื่อน D)...ผู้เขียน (ส่วนตัว) เชื่อว่าที่เขื่อนฯดังกล่าว 'ไม่มี' ระบบตรวจสอบฯที่ผู้เขียนได้กล่าวไว้ข้างต้น...ด้วยเหตุว่า ข่าวจากสื่อหลายสำนักทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ต่างรายงานตรงกันว่า ได้มีการออกประกาศแจ้งเตือนไปยังหน่วยงานต่างๆของภาครัฐ ก่อนหน้าที่เขื่อนจะแตกเพียงไม่กี่ชั่วโมง และกว่าที่การแจ้งเตือนนั้นจะถูกส่งต่อไปยังนายบ้าน (ผู้ใหญ่บ้าน) และส่งสารต่อลงไปยังระดับครัวเรือน...เวลานั้น มวลน้ำมหาศาลก็ได้มายืนเคาะประตูอยู่หน้าบ้านแล้ว (จากการสัมภาษณ์ของนักข่าวฯในศูนย์อพยพ มีผู้คนจำนวนไม่น้อย ที่ไม่รู้ตัวเลยด้วยซ้ำว่าเกิดเหตุการณ์เขื่อนแตก โดยต่างอ้างว่า 'เป็นภัยธรรมชาติ')
* และเท่าที่ผู้เขียนได้ยินได้ฟังมาจากเหล่ามิตรสหายชนชาวนักสำรวจฯใน สปป.ลาว โดยเฉพาะที่กำลังทำงานอยู่ในเขื่อนฯของชนชาว 'เซินเจิ้น' นั้น ล้วนต่างพากันบอกว่า ระบบการตรวสอบฯดังกล่าว 'บ่มีเด้อ'...ผู้เขียนเสียวแทน จริงๆ
ภาพแสดง แนวสันเขื่อน D เกิดการเคลื่อนตัว และทรุดตัว 
(จากภาพ ไม่พบการติดตั้งตัวปริซึม ใดๆ)
Credited: www.tkvariety.com
ผู้เขียน (ส่วนตัว) เชื่อว่า ถ้าสมมุติว่า เขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย มีการติดตั้งระบบตรวสอบฯดังกล่าวข้างต้น การประกาศ แจ้งเตือนการอพยพฯ ควรจะเกิดขึ้นก่อนหน้าที่เขื่อนฯจะแตก ล่วงหน้าอย่างน้อย 3-4 วัน ซึ่งในระยะเวลา 3-4 วันนี้ สามารถที่จะขนข้าว ขนของ ขนย้ายทรัพท์สิน ฯลฯ ได้มากในระดับหนึ่ง และที่สำคัญ 'จะไม่มีผู้บาดเจ็บ หรือเสียชีวิต' เกิดขึ้นเลย เพราะทุกคนต่างรับทราบคำประกาศแจ้งเตือนล่วงหน้า มาก่อนหน้านั้นแล้ว....

>> เขียนอธิบายความ รวมไปถึงการสาธิตการคำนวน นั่น นู่น นี่ ฯลฯ ยืดยาวมาจนถึงบรรทัดนี้ 'อาจจะ' มีบางท่านคิดว่า ผู้เขียนได้ มโน/ฝันกลางวัน หรืออย่างไร หรือว่า มีด้วยหรือ ระบบตรวจสอบฯที่ว่านี้ โม้หรือป่าว นั่งเทียนเขียนหรือป่าว...คำตอบคือ 'มีครับ' และเป็นระบบตรวจสอบฯที่มีความสำคัญ 'อย่างยิ่งยวด' เสียด้วย ในสายงานการสำรวจฯเขื่อน และสายงานสำรวจฯเหมืองแร่ (แบบ Open Pit) ฯลฯ

ในสารขัณฑ์ประเทศ ก็มีการติดตั้งระบบฯดังกล่าว อยู่ตามเขื่อนขนาดใหญ่ กระจายอยู่ทั่วประเทศ...เมื่อช่วงปี พ.ศ. 2555 ผู้เขียนได้เดินทางไปสำรวจฯยังเขื่อนเขาแหลม (หรือในชื่อพระราชทานว่า  เขื่อนวชิราลงกรณ์) อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี ก็ได้พบเห็นระบบฯดังกล่าว ติดตั้งไว้อยู่แล้ว

มีห้องปฎิบัติการฯ โดยเฉพาะ

มองจากระยะไกล น่าจะเป็นกล้องฯ Leica ตระกูล TC1100 (รุ่นอ้วนเขียว)
ในยุคปัจจุบัน อาจจะถูกเปลี่ยนเป็นกล้องฯที่ใช้ระบบ Robotic +ระบบ ATR ติดตามปริซุึม

การติดตั้งตัวปริซึม บนแนวสันเขื่อนฯ

ตัวปริซึม ถูกติดตั้ง ไปตามแนวยาวของสันเขื่อนฯ

3. การขาดการเตรียมการรับมือ ในกรณีที่เกิดภาวะวิกฤติ (Worst Case Scenario) และการประเมินผลกระทบที่จะเกิดขึ้น
>> ในประเด็นนี้ เมื่อแรกผู้เขียนตั้งใจจะเขียนอธิบายรายละเอียดในหลายประเด็น แต่เมื่อตรวจสอบหัวข้อดูแล้ว มันเยอะเกินไป จนอาจจะทำให้บทความนี้ กลายเป็นตำราเรียนไปเสีย ซึ่งเมื่อผู้เขียนได้ไตร่ตรองดูแล้ว น่าจะนำเสนอโปรแกรมประยุกต์ ที่มีความสามารถเฉพาะทาง ทางด้านการตรวจสอบ วิเคราะห์ผลกระทบ ในกรณีเขื่อนแตก ผ่าน Youtube ซึ่งน่าจะทำให้ท่านผู้อ่าน ได้เข้าใจได้รวดเร็วยิ่งขึ้น กว่าการอ่านผ่านตัวหนังสือ

โปรแกรมประยุกต์ที่มีชื่อว่า Flow-3D คือโปรแกรมที่สามารถสร้างแบบจำลอง 'สภาวะการณ์เขื่อนแตก' โดยอาศัยข้อมูลสภาพพื้นผิวภูมิประเทศ (Terrain Surface) 'จริง' ในบริเวณเขื่อนทั้งหมด ทั้งพื้นที่อ่างกักเก็บน้ำ และรวมไปถึงพื้นที่ท้ายเขื่อน โดยโปรแกรมฯดังกล่าวสามารถรองรับ ไฟล์ข้อมูลพื้นผิว หลายประเภท อาทิ *.DEM, *.DXF, *.LAS (LiDAR) ฯลฯ...ตัวโปรแกรมฯสามารถทำการจำลองการสร้างผนังเขื่อนกั้นน้ำ และสามารถกำหนดค่า 'ระดับน้ำกักเก็บใดๆได้' ซึ่งในประเด็นนี้ ตัวโปรแกรมฯจะทำการสร้างเส้นระดับอาณาเขต ไปตามค่าระดับกักเก็บน้ำ 'ที่กำหนด'...และเมื่อนำค่าระดับน้ำกักเก็บน้ำที่กำหนด มาประมวลผลร่วมกับข้อมูลสภาพพื้นผิว ดังที่กล่าวข้างต้น ก็สามารถที่จะคำนวณปริมาตรมวลน้ำทั้งหมด (ลบ.ม.) ที่มีอยู่ในอ่างเก็บน้ำ หรือเขื่อนนั้นได้

การจำลอง 'สภาวะการณ์เขื่อนแตก' สามารถที่จะกำหนดให้ตัวโปรแกรมฯแสดงการจำลอง การแตกของเขื่อน เพื่อศึกษาพฤติการณ์ของมวลน้ำว่า จะมีทิศทางการไหลไปในทิศทางใด มีปริมาตรมวลน้ำเท่าใด ใช้เวลาเท่าใด ในการเดินทางจากตัวเขื่อน ไปจนถึงเป้าหมาย (สมมุติว่า เป็นตำแหน่งที่ตั้งหมู่บ้าน ใดๆ) และเมื่อมวลน้ำไปถึงเป้าหมาย หรือพื้นที่ นั้นๆแล้ว ระดับน้ำจะมีความสูงกี่เมตร จากระดับพื้นผิวดิน เหล่านี้ เป็นต้น
* ถ้ามีโอกาสอันดี ในกาลข้างหน้า ผู้เขียนจะทำเป็น Hand On สอนการใช้งานโปรแกรมดังกล่าวนี้ครับ
Credited: www.youtube.com/watch?v=Q7x55ohyDxA

Credited: www.youtube.com/watch?v=0CBF2AnaqQA

Credited: www.youtube.com/watch?v=xsKx4L9QThI
>> ตัดภาพมาที่เขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย...ผู้เขียน (ส่วนตัว) ไม่ทราบว่าทางเขื่อนฯ ได้มีการศึกษาผลกระทบที่จะเกิดขึ้น 'ในกรณีเขื่อนแตก' ดังที่ผู้เขียนได้อธิบาย ไว้ข้างต้นหรือไม่...แต่จากสิ่งที่เห็นเป็นที่ประจักษ์ อยู่ ณ เวลา นี้...เข้าใจว่า 'อาจจะไม่มี'

* ข้อมูลโครงการก่อสร้างเขื่อนไฟฟ้า ที่กำลังอยู่ในระหว่างการทำการสำรวจฯก่อสร้าง อยู่ ณ เวลานี้ และที่กำลังอยู่ในระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ในการสร้างเขื่อน พอสังเขป โดยเริ่มจากภาคเหนือ ลงไปหาทิศใต้ ใน สปป.ลาว โดยมีประเทศสารขัณฑ์เป็นผู้รับซื้อกระแสไฟฟ้ารายหลัก
Credited: The Foundation for Ecological Recovery


แขวงพงสาลี
1. เขื่อนน้ำบูน 2

แขวงอุดมไซ
1. เขื่อนน้ำพาก 1
2. เขื่อนน้ำพาก 2
3. เขื่อนน้ำพาก 3
4. เขื่อนปากแบ่ง

แขวงหัวพัน
1. เขื่อนน้ำซำ

แขวงเซียงขวาง
1. เขื่อนน้ำโม้ 1
2. น้ำแท้
3. เขื่อนน้ำมัด 1
4. เขื่อนน้ำมัด 2
5. เขื่อนน้ำจัด 2

แขวงหลวงพระบาง
1. เขื่อนน้ำงา 1
2. เขื่อน้ำแสง

แขวงไซยะบุรี
1. เขื่อน้ำรำ

แขวงเวียงจันทน์
1. เขื่อนน้ำบาก 1
2. เขื่อนน้ำมอน
3. เขื่อนน้ำแก่น
4. เขื่อนน้ำแถน
5. เขื่อนน้ำลิก 2 (แก่งหลวง)
6. เขื่อนน้ำสะแนน
7. เขื่อนน้ำสะนา Upper
8. เขื่อนน้ำเฟือง Lower

แขวงไซสมบูรณ์
1. เขื่อนน้ำพวน
2. เขื่อนน้ำแจ Lower 1
3. เขื่อนน้ำแจ Lower 2

แขวงบลิคำไซ
1. เขื่อนน้ำเทิน 4
2. เขื่อนน้ำซอ
3. เขื่อนน้ำซัน

แขวงคำม่วน
1. เขื่อนเซเหนือ
2. เขื่อนน้ำหินบูน Lower

แขวงสาละวัน
1. เขื่อนเซโปน 3
2. เขื่อนเซโดน
3. เขื่อนห้วยสะเพ้อ 2
4. เขื่อนเซเสด-แก่งซัน

แขวงจำปาศักดิ์
1. เขื่อนเซละบำ
2. เขื่อนเซเปียน 2 (ห้วยจอก)
3. เขื่อนเซน้ำน้อย 5 (ห้วยกะเดิบ)
4. เขื่อนสมพะนิด (หลี่ผี)
5. เขื่อนดอนซม 2
6. เขื่อนห้วยจำปี
7. เขื่อนเซคำพอ Upper
8. เขื่อนน้ำพาก Lower
9. เขื่อนห้วยเจียด
10. เขื่อนเซสัด 4

แขวงอัตตะปือ
1. เขื่อนเซกะมาน 2A
2. เขื่อนเซกะมาน 2B
3. เขื่อนเซกอง A Lower
4. เขื่อนน้ำกิง 1
5. เขื่อนห้วยปะยู
6. เขื่อนห้วยป๊อก

สำหรับชนชาวเรา แค่เพียงแนวคิดที่จะมีการก่อสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น 'เพียงเขื่อนเดียว' 
ก็ยังมี ดราม่า ข้ามภพ ข้ามชาติกันไม่จบ ไม่สิ้น...
ด้วยเหตุว่า เรื่องราวดราม่าได้กลายสิ่งเสพติด ที่ถูกกฎหมายไปเสียแล้ว ในสารขัณประเทศแห่งนี้
Author supported to Land Surveyors United

8 comments:

  1. หน่วยงานผมไม่มีงบประมาณพอที่จะติดตังเป้าปริซึมสะท้อน ทุกๆ 25 เมตร เราสามารถปรับเป็น ทุกๆ 100 เมตร ได้ไหมครับ และจำเป็นไหมครับที่ต้องสร้างห้องตั้งกล้อง ผมกลัวกล้องหายครับ

    ReplyDelete
  2. โดยหลักการแล้ว จำเป็นต้องมีการติดตั้งตัวปริซึมไปตามแนวสันเขื่อนให้ถี่ๆเข้าไว้ครับ แต่นั่นก็ต้องแลกมาด้วยงบประมาณ และเวลาที่จะใช้ในการสำรวจฯ โดยเฉพาะเขื่อนที่มีความยาวของแนวสันเขื่อนมากๆ

    ข้อดี ที่สำคัญในการติดตั้งตัวปริซึมแบบถี่ๆ ก็คือ ในกรณีที่ตัวโครงสร้างของเขื่อนมีการขยับตัว หรือมีความเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างฯ เฉพาะจุด หรือเฉพาะตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่ง อาทิ ทางปีกซ้าย ของแนวสันเขื่อน...ในกรณีนี้ ชุดข้อมูลที่ได้จากการสำรวจฯ จะบอกได้ทันทีครับว่า ได้เกิดการขยับตัวอยู่ทางปีกซ้ายของเขื่อน และผู้ที่รับผิดชอบฯสามารถทำการตรวจสอบ แก้ไข ซ่อมแซม ณ ตำแหน่งนั้น ได้อย่างทันท่วงที

    ในทางกลับกันถ้าสมมุติว่า ได้ติดตั้งตัวปริซึมไว้เพียงตัวเดียว อยู่ตรงกลางของแนวสันเขื่อน...ในกรณีนี้ ข้อมูลจากการสำรวจฯ อาจจะตรวจสอบไม่พบว่ามีการขยับที่ปีกซ้ายของตัวเขื่อน ซึ่งถ้าจะตรวจพบความผิดปรกติจากตัวปริซึมตัวนี้ ที่เกิดจากการลุกลามขยับตัวกระจายมาจากทางปีกซ้าย มาถึงส่วนกลางของสันเขื่อนแล้ว ซึ่งอาจจะทำการแก้ไข หรือซ่อมแซมไม่ได้แล้ว

    ส่วนในประเด็น เรื่องสถานที่ หรือ กล้องฯหาย ในกรณีขึ้นอยู่กับสถานที่ และงบประมาณฯครับ ถ้าสถานที่ ไม่มีความปลอดภัยอย่างเพียงพอ เราก็อาจจัดสร้างเฉพาะหลัก Pillar สำหรับตั้งกล้องฯก็ได้ครับ โดยเมื่อจะทำการสำรวจฯเมื่อใด ก็เอากล้องฯมาตั้งบนหลัก
    * เหมื่องแร่ทองคำภูเบี้ย ในสปป.ลาว ก็ใช้วิธีการข้างต้นนี้ล่ะครับ

    ReplyDelete
  3. ຂອບໃຈທ່ານຫຼາຍໆເດີ້ ສໍາລັບຄວາມຮູ້

    ReplyDelete
  4. 'ไปยุ่งกับเรื่องชาวบ้านทำไม'
    บทความนี้ได้ถูกเผยแพร่ออกไปเพียงไม่กี่วัน ผู้เขียนก็ได้รับอีเมล์สอบถามกลับมาอย่างอุ่นหนาฝาครั่ง กันเลยทีเดียว โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการใช้งานโปรแกรม FLOW-3D ซึ่งเหล่าท่านคงจะได้รับคำตอบผ่านทางอีเมล์กลับไปแล้วว่า...ถ้าท่านคิดว่าการใช้งานชุดคำสั่งของโปรแกรม AutoCAD นั้นว่า ยาก หรือยากกว่านั้นคือชุดคำสั่งของโปรแกรม 'MapInfo' หรือยากขึ้นไปอีก คือชุดคำสั่งของ ArcGIS....ชุดคำสั่งของโปรแกรม FLOW-3D ที่ว่าด้วยเรื่อง 'กลศาสตร์ของไหล' นี้มีความยาก ขึ้นอีกเท่าทวีคูณ ซึ่งตัวผู้เขียนเองยังเป็นผู้ใช้งานแบบพอไปถึงแค่ประตูวัดเท่านั้น แต่ยังงัยก็ตาม ก็จะพยายามหาโอกาสยกเรื่องโปรแกรม FLOW-3D ขึ้นมาเป็นบทความโดยเฉพาะซักครั้ง

    * และได้มีหมู่ชน ใน Google+ ที่ได้ส่งคำชี้แนะและคำถามในทำนองว่า "ไปบอกไปสอนเขาทำไม บ้านของเขา เขื่อนของเขา ประชาชนของเขา ไปยุ่งกับเรื่องชาวบ้านทำไม"...ซึ่งผมคงไม่ กระโจนลงไปตะลุมบอน ในวงดราม่า นั้นหรอกครับ และขออนุญาติ BLOCK เหล่าท่านเลยนะครับ...เรามีทรรศนคติ ที่ต่างกัน

    ReplyDelete
    Replies
    1. สวัสดีครับ พี่ ผม ติดตาม มา นาน 5555 บทความพี่ ดีดี เยอะ นานๆ ได้ เข้า มา ที ถ้า พี่ เปิด บทความ เรื่อง flow sci (Flow 3d) เยี่ยมเลย ครับ ผม ก็ใช้ อยู่ ถ้า พี่ ขาดของ ตัวนี้ ผม ยินดี แบ่งบัน ครับ.

      Delete
  5. สวัสดีครับท่านแอดมินเพจ ผมเป็นนายช่างรังวัดอยู่ที่เมืองบึงกาฬ ที่ท่านคงจะทราบว่าตอนนี้ถูกน้ำไหลเข้าท่วมเพราะว่าเขื่อนน้ำงึมในลาวปล่อยน้ำออกมา บ้านผมก็ท่วมสูงครึ่งบ้าน ที่นาหลายไร่ที่เพิ่งดำไปเดือนก่อนตอนนี้จมอยู่ใต้น้ำเสียหายหมด ยังไม่รู้เลยว่าปีหน้าจะเอาข้าวที่ไหนกิน ตอนน้ำขึ้นสูงที่หนองคายบ้านผมยังไม่ท่วมเลย แต่พอกลางเดือน ส.ค. เขื่อนในลาวปล่อยน้ำบ้านผมก็ท่วม ตอนนี้ชีวิตความเป็นอยู่ลำบากสุดๆท ่านแอดมินคงจะนึกภาพออก ผมอ่านข่าวน้ำท่วมจากเพจในลาว เขาว่าเป็นภัยธรรมชาติ
    ท่านแอดมินว่าเป็นภัยธรรมชาติตรงไหนครับ ฝีมือมือมนุษย์ทั้งนั้น ถ้าไม่เชื่อลองปิดประตูเขื่อนกั้นน้ำงึมสิน้ำหยุดท่วมทันที แล้วผมต้องรออีกเมื่อไหร่กว่าเขาจะปิดบานประตูเขื่อน แล้วทำไมประเทศเราต้องมารองรับผลกระทบจากประเทศอื่น ผมรู้ว่าเขาไม่มาช่วยเราหรอกเอาแค่คนเขาเองก็อย่างที่เห็น ที่ท่วมก็ท่วมไป ประชาชนตะเกียกตะกายหนีตายกันเอาเอง พวกเขื่อนไฟฟ้าก็ไม่ช่วยเหลืออะไร ผมไม่ได้หวังอะไรหรอกครับ แค่คิดว่าเมื่อไหร่เขาจะปิดประตูเขื่อน ผมติดตามท่านมานานได้ความรู้ที่ไม่รู้มาก่อน แต่วันนี้ขอแชร์ความทุกข์ร้อนครับ
    นพดล

    ReplyDelete
  6. น้ำที่ถูกปล่อยออกจากเขื่อนน้ำงึม 1 นั้นเป็นฝีมือมนุษย์ครับ ไม่ใช่เป็นภัยจากภัยธรรมชาติ โดยเป็นเรื่องของการบริหารจัดการน้ำเข้า-น้ำออก ที่ขาดประสิทธิภาพ ในแต่ละช่วงเวลา ซึ่งตัวเลขพวกนี้ เป็นสิ่งที่ทำการคำนวณได้ว่ามีน้ำเข้าอ่างมีปริมาตรเท่าไหร่ต่อวัน และจะต้องเก็บไว้เท่าไหร่ หรือจะต้องปล่อยน้ำออกเมื่อไหร่ ปริมาตรเท่าไหร่/วินาที ฯลฯ โดยมีกราฟระดับน้ำของเขื่อนที่เพิ่มขึ้น-ลดลง ในแต่ละวันจะเป็นตัวชี้บอกถึง แนวทางการบริหารจัดการน้ำภายในเขื่อน และเป็นความจริงที่ว่า มีเขื่อนใหญ่ อีก 2 เขื่อน (น้ำงึม 2 และน้ำงึม 5) ที่อยู่เหนือขึ้นไป ต่างเร่งปล่อยน้ำลงมาสู่อ่างกักเก็บน้ำของเขื่อนน้ำงึม 1 เพราะกลัวน้ำจะท่วมล้นสันเขื่อน โดยในประเด็น 'การสื่อสาร' ระหว่างเขื่อนถึงเขื่อนจึงเป็นสิ่งสำคัญโดยเฉพาะการส่งผ่านข้อมูลตัวเลขต่างๆ ระหว่างกัน

    การทะยอยพร่องน้ำ/ปล่อยน้ำออกมาตั้งแต่ช่วงแรกๆ หรือที่เรียกว่า "การปล่อยน้ำเก่าทิ้งไปเพื่อรองรับน้ำใหม่ ที่จะกำลังจะเข้ามาแทนที่" จะทำให้ไม่เกิดปัญหาน้ำท่วมล้นตลิ่งดังเช่นที่เป็นอยู่ ส่วนปัญหาน้ำท่วมที่กำลังเกิดขึ้นกับผู้คนที่อาศัยอยู่ใต้เขื่อนนั้น ก็เพราะว่า น้ำเก่าก็ไม่ปล่อย น้ำใหม่ก็จะเอา...แต่พอรู้ตัวว่าเอาไม่ไหว ก็ต้องรีบปล่อย ด้วยเหตุว่ากลัวจะเกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยกับเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อยดัง ที่เป็นข่าว

    น้ำคือ "วัตถุดิบ" ที่สำคัญอย่างยิ่งยวด ในการผลิตกระแสไฟฟ้าขาย หรือจะเรียกว่า 'น้ำก็คือเงิน' ก็ว่าได้ ฉะนั้น การปล่อยน้ำทิ้งไป โดยไม่ผ่าน 'มอเตอร์' หรือเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้า ก็เหมือนโยนเงินทิ้งไปเฉยๆ ฉะนั้น การบริหารกักเก็บน้ำให้มีเพียงพอสำหรับผลิตกระแสไฟฟ้าขายได้ตลอดทั้งปี จึงเป็นเป้าหมายหลักของธุรกิจประเภทนี้ แต่เพราะว่า "การบริหาร" ที่ขาดประสิทธิภาพดังที่กล่าวข้างต้น ว่าน้ำเก่าไม่ปล่อย น้ำใหม่ก็จะเอา...นั่นล่ะ คือปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ ณ เวลานี้

    ส่วนในประเด็นเรื่องการช่วยเหลือ หรือความรับผิดชอบต่างๆ ตรงนี้อย่าไปหวังเลยครับ 'ไม่มี' อย่างแน่นอน โดยเรื่องนี้ถูกโยน/โทษให้เป็นเรื่องของภัยธรรมชาติไป อย่าว่าแต่ชาวเราเลยครับ ประชาชนชาวลาวที่อาศัยอยู่ใต้เขื่อนก็โดนหนักกว่าบ้านเราเยอะ ใครมีบ้าน 2 ชั้นก็โชคดีหน่อย แต่ก็ต้องอยู่อย่างยากลำบากทั้งขาดไฟฟ้า อาหาร และน้ำดื่ม ฯลฯ ส่วนใครที่มีบ้านชั้นเดียวนี่ไม่ต้องพูดถึง และที่สำคัญ ช่วงเดือน สองเดือนที่แล้ว เป็นช่วงที่เพิ่งแล้วเสร็จจากการดำนาข้าว...แล้วมาเจอน้ำท่วมเสียหาย

    ผมขอเป็นกำลังใจให้ครับ แต่ก็อดเป็นห่วงไม่ได้ ด้วยเหตุว่าในช่วงเดือนกันยายน ตุลาคม จนถึงเดือนพฤษจิกายน ที่จะถึงนี้ จะเป็นช่วงที่มีปริมาณฝนตกอย่างหนาแน่น และไม่นับรวมพายุเป็นลูกๆ ที่พัดเข้ามาในช่วงเดือนเหล่านี้

    ผ่านไปให้ได้นะคับ สู้ๆ ครับ

    ReplyDelete
  7. ขอขอบคุณท่านแอดมินครับ ที่ช่วยชี้แนะ ตามที่ท่านแอมินพูดว่าถ้าทะยอยปล่อยน้ำเก่าๆออกมาตั้งแต่ทีแรก หรือปล่อยออกมาก่อนเข้าหน้าฝนเลยก็ได้ ปัญหาน้ำท่วมใต้เขื่อนคงไม่เกิดขึ้น ก็รู้อยู่แล้วว่ากำลังจะเข้าหน้าฝน ก็น่าจะปล่อยน้ำเก่าออกมาก่อนก็สิ้นเรื่อง และผมคงไม่ต้องมาพลอยโดนลูกหลงไปด้วย วันนี้น้ำที่บ้านขึ้นสูงอีกเกือบเมตร
    นพดล

    ReplyDelete