Sunday 1 September 2019

CHC - GPS (GNSS)...'หยวน' เขามาแรงในชั่วโมงนี้

บทความอ้างอิง:


หมายเหตุ: ผู้เขียนต้องขออนุญาติออกตัวแบบล้อฟรี ดัง เอี๊ยดๆ เลยว่า บทความนี้ 'มิได้มีส่วนได้ ส่วนเสีย' ใดๆ กับ 'ยี่ห้อจากแผ่นดินใหญ่' ดังกล่าว โดยการวิเคราะห์ วิจารณ์ต่างๆนั้น เป็นทรรศนะ ความคิดเห็นส่วนตัว เป็นไปโดยสุจริต ไม่ได้มีอคติใดๆ ทั้งสิ้น

>> ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ประเด็นเรื่องเครื่องมือรับสัญญาณดาวเทียมยี่ห้อ CHC นับเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ผู้เขียนถูกถามเข้ามาผ่านทางอีเมล์ และทางโซเชียลฯอยู่บ่อยครั้ง ทั้งจากชนชาวนายช่างฯกรมที่ดิน และจากสายนายช่างสำรวจฯภาคเอกชน โดยประเด็นคำถามส่วนใหญ่ ต่างมุ่งเน้น ตั้งคำถามไปที่ตัว Hardware ของตัวเครื่องมือสำรวจฯดาวเทียม รุ่น i50, i70 และ i80 เป็นสำคัญ ซึ่งถือว่า 'เป็นเรื่องที่แปลก' พอสมควร ซึ่งโดยปรกติแล้ว ผู้เขียนมักจะถูกตั้งคำถามในประเด็นเรื่องคุณภาพ ความถูกต้องแม่นยำ และทางด้านราคา เสียเป็นส่วนใหญ่

ฉะนั้น ผู้เขียนจึงขออนุญาติ นำความรู้ และประสบการณ์ส่วนตัว (เท่าที่มี/ทราบ) ที่เกี่ยวข้องกับเครื่องมือรับสัญญาณดาวเทียมยี่ห้อ CHC ดังกล่าว มาเล่าแจ้งแถลงไข จัดเป็นไกด์ไลน์กันสักครั้ง และจะว่าอันที่จริงแล้ว ตัวผู้เขียนเองก็เป็นผู้หนึ่งที่ได้ผ่านการ Training จากวิศกรของ CHCNav ที่ได้บินตรงจากแผ่นดินใหญ่ มาสอน/อบรม ทั้งภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติ ให้กับผู้เขียนโดยตรง ซึ่งได้ถ่ายทอดกลเม็ด เคล็ดลับ (อีกแล้ว) ให้ผู้เขียน ได้นำไปใช้งาน

โดยส่วนตัว ผู้เขียนเป็นผู้หนึ่งที่มีความคุ้นเคยกับอุปกรณ์สำรวจรังวัดยี่ห้อหลักๆของโลก (Trimble, Leica, Topcon, Magelland ฯลฯ) มาโดยตลอด ตั้งแต่ในยุคอดีต จนถึงยุคสมัยเซินเจิ้น ที่การ 'ลอกการบ้าน' มีความเจริญรุ่งเรือง งอกงามไปทั่วทุกวงการ ผู้เขียนจึงมีความรู้สึก 'ดูแคลน' กับสินค้าราคาถูก จากแผ่นดินใหญ่อยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะในประเด็นที่ว่า 'มันดีจริงหรือ' มันถูกต้องจริงหรือ? ฯลฯ

การมาถึงของเครื่องมือรับสัญญาณดาวเทียมยี่ห้อ CHC ตัวแรกๆ ในตลาด (ล่าง) ที่สนนราคาต่ำกว่ากันครึ่งต่อครึ่ง เมื่อเปรียบเทียบราคากับยี่ห้อหลักๆใน Class เดียวกันนั้น ผู้เขียน (ส่วนตัว) มองว่าเป็นกลยุทธทางการตลาด ที่สามารถ 'แจ้งเกิด' อยู่พอสมควร ด้วยเหตุผลที่ว่า ไม่ใช่แค่การทำเหมือน หรือทำเลียนแบบ แล้วมีคุณภาพการใช้งานที่ต่ำ หรือชำรุด/หมดอายุขัยเร็ว เหมือนกับแบรนด์เซินเจิ้นอื่นๆ...แต่เป็นการนำเอาบอร์ดรับสัญญาณฯ/ประมวลผล (OEM) คุณภาพสูง จากยี่ห้ออุปกรณ์สำรวจฯหลักๆของโลก มาใช้ในผลิตภัณฑ์ของตนเอง ซึ่งในประเด็นนี้ ผู้เขียน (ส่วนตัว) มองว่า 'เป็นเรื่องปรกติ' ในยุคปัจจุบัน ที่การไขว้ขา สับขาหลอก เป็นเรื่องธรรมดาในวงการธุรกิจ...ดูตัวอย่างกล้องฯ Topcon กับกล้องฯ Sokkia (แยกกันเดิน รวมกันตี)


Huace x20
>> x20 ตัวปฐมบทของค่าย Huace (ชื่อเดิมของ CHC) ถูกปล่อยออกมาสู่ตลาดเครื่องมือสำรวจฯ ในราวปี 2005-2006 ซึ่งเป็นยุคที่เครื่องมือสำรวจรังวัดดาวเทียม 'ทั่วไป' ส่วนใหญ่ ยังคงใช้ระบบคลื่นวิทยุในย่าน PRN (Pseudo Random Noise) Codes หรือนิยมเรียกในชื่อ C/A Codes แม้ว่าระบบการใช้คลื่นวิทยุดังกล่าวในงานสำรวจรังวัดดาวเทียม จะให้ผลการสำรวจฯไม่ละเอียดมากนักก็ตาม แต่ในยุคสมัยนั้น ใครมีใช้ ถือว่า 'ไฮโซ' ทีเดียว

x20 ใช้ระบบคลื่นวิทยุในย่าน C/A Codes ในการรับสัญญาณดาวเทียม แบบความถี่เดี่ยว และสามารถรับสัญญาณได้เพียงระบบดาวเทียม GPS ของ Navstar เท่านั้น (ยุคนี้ หยวนยังไม่มีระบบดาวเทียม Compass/Beido)...ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องปรกติ เมื่อเปรียบเทียบกับเครื่องมือสำรวจรังวัดดาวเทียม ร่วมยุคสมัยยี่ห้ออื่นๆ ใน class เดียวกัน (รับสัญญาณได้เฉพาะระบบ GPS ) แต่...สิ่งที่ทำให้ x20 มีลักษณะเด่น และแตกต่างกว่าเครื่องมือสำรวจรังวัดดาวเทียมเพื่อนบ้าน ในยุคเดียวกัน ได้แก่การสนนราคา 'ถูกกว่ามาก' และการมาพร้อมกับเมนบอร์ดรับสัญญาณฯ/ประมวลผลยี่ห้อ Hemisphere (ARM) นั้น หมายถึงการซื้อยี่ห้อ CHC ในราคาถูก แต่ได้คุณภาพการใช้งานของยี่ห้อ Hemisphere (ระดับโลก) ราคาแรงมาใช้งาน
* เครื่องมือสำรวจฯดาวเทียมร่วมยุคสมัยใน Class เดียวกัน ได้แก่ Trimble R3 ราคาเกินกว่าครึ่งล้านบาท หรือแม้แต่ Astech ProMark 3 ราคาจานรับสัญญาณ Thale ของ PM3 เพียง 1 เครื่อง สามารถซื้อ x20 ได้ 2 เครื่องครึ่ง

CHC x20 (ตัวตัดขาคู่แข่ง)
- ระบบการรับสัญญาณหลัก: L1 รับสัญญาณได้เฉพาะ ระบบดาวเทียม GPS 
จำนวนช่องรับสัญญาณ: 12
ระยะทางการรังวัดสูงสุด (ห่างจากตัวสถานีฐาน): 10 กม.

ความคลาดเคลื่อน ในการรังวัดแบบสถิต (Static)
  ทางราบ: 5 mm + 1 ppm
  ทางดิ่ง: 10 mm + 2 ppm

ความคลาดเคลื่อน ในการรังวัดแบบจลน์ (RTK): ไม่รองรับ
เมนบอร์ด/Chipset: Hemisphere (ARM)


CHC x90 (RTK-GNSS)
>> 'ตีเหล็กกำลังร้อน' น่าจะเป็นนิยามที่สามารถนำมาใช้ได้กับเรื่องราวของ x90 ที่ถูกส่งเข้าสู่ท้องตลาดฯ (ล่าง) ในราว 2-3 ปีให้หลัง โดยรุ่น x90 ได้มาพร้อมกับระบบการสำรวจฯแบบ RTK (L1/L2 GPS+GLONASS) ในราคาระดับแสน+ บาท ซึ่งได้สร้างทางเลือกสำหรับชนชาวนักสำรวจฯเบี้ยน้อย หอยน้อย ชาวเรา ในการเสาะแสวงหาระบบ RTK มาใช้ในการสำรวจฯแทนกล้องฯ Total Station ที่มีข้อจำกัดทางด้าน Line of Sight ในการรังวัด

ซึ่งในยุคสมัยดังกล่าว (ในราวปี พ.ศ. 2553) อุปกรณ์สำรวจรังวัดดาวเทียมด้วยระบบ RTK (L1/L2 GPS+GLONASS) 'ราคาเรือนล้าน+' ในยี่ห้อหลักๆ ของโลก กำลังครองตลาด (บน) อาทิ Trimble R4, Leica GS8, Topcon Hyper II ซึ่งถ้าทุนหน้าตักไม่หนาจริงๆ ก็เป็นการยากที่ชาวเราจะเข้าถึงอุปกรณ์สำรวจฯในกลุ่มนี้ (เท่าที่ผู้เขียนพบเห็น ส่วนใหญ่จะใช้ Astech ProMark 500 ถูไถ RTK กันไปเป็นส่วนใหญ่ หรือดูมีระดับขึ้นมาสักหน่อย ก็เคยพบเห็น Leica GPS GX1230 แบบน้อยราย)

ด้วยการสนนราคาค่าตัว x90 ที่ต่ำกว่ายี่ห้อชั้นนำหลักๆ 'กว่าครึ่งต่อครึ่ง' ได้ทำให้ x90 พร้อมระบบ RTK แจ้งเกิดอยู่พอสมควร รวมไปถึงการผ่านการรับรองมาตรฐาน ISO จากประเทศโปแลนด์ ได้ช่วยให้ x90 เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้นในวงการสำรวจฯ อีกทั้งการที่ใช้เมนบอร์ด/Chipset รับสัญญาณดาวเทียมจาก OEM ยี่ห้อชั้นนำหลัก (Trimble รุ่น BD-950) ทำให้ผู้ใช้งานสายทุนน้อย มีทางเลือกในการเข้าถึงอุปกรณ์สำรวจฯด้วยระบบ RTK-GPS มากยิ่งขึ้น

CHC x90 (ตัวดับ ตะวัน)
- ระบบการรับสัญญาณหลัก: L1/L2 (GPS และ GLONASS, เริ่มมีการใช้คำศัพท์ GNSS แทนคำว่า GPS)
- จำนวนช่องรับสัญญาณ: 24 (Up to 54)
- ระยะทางการรังวัดสูงสุด (ห่างจากตัวสถานีฐาน): - กม.

- ความคลาดเคลื่อน ในการรังวัดแบบสถิต (Static)
  ทางราบ: 5 mm + 1 ppm
  ทางดิ่ง: 10 mm + 2 ppm

- ความคลาดเคลื่อน ในการรังวัดแบบจลน์ (RTK)
  ทางราบ: 10 mm + 1 ppm
  ทางดิ่ง: 20 mm + 2 ppm

- Controller และชุด Modem: OEM ยี่ห้อชั้นนำหลัก
เมนบอร์ด/Chipset: Trimble  BD-950
Photo Credited: nhbbobb


CHC x900 (RTK-GNSS)
>> เจ้าตัว x900 ผู้เขียน (ส่วนตัว) ขออนุญาติเรียกว่าเป็น "ตัวแป๊ก" ของ CHCNav เลยก็ว่าได้ เพราะว่านอกจากการเพิ่มจำนวนช่องรับสัญญาณ จาก 24/54 ช่อง มาเป็น 72 ช่องแล้ว พร้อมกับเปลี่ยนรูปทรงตัวจานฯ นิดๆหน่อยๆ สเป็คอย่างอื่นแทบจะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปจากตัว x90 ก่อนหน้านี้ อีกทั้งการที่มีอุปกรณ์สำรวจรังวัดดาวเทียม จากชนชาติหยวน ยี่ห้อ SunNav ถูกส่งเข้ามาทำตลาดแบบตีคู่ไปด้วยกัน (สับขาหลอก แล้วปล่อยให้ งง) ได้ทำให้เกิดข้อกังขาถึงคำว่าใครเป็นคน 'ลอกการบ้าน' ของใคร หรือว่า 'หยวนหลอกหยวน' กันเอง....มีความ 'ไม่เชื่อมั่น' ในตัวผลิตภัณฑ์เกิดขึ้น
SunNav รุ่น M5 (ดูคล้าย CHC x900)

SunNav รุ่น M500 (ดูคล้าย CHC x90)

CHC x900 (ตัวเสียรังวัด)
- ระบบการรับสัญญาณหลัก: L1/L2 (GPS และ GLONASS)
- จำนวนช่องรับสัญญาณ: 72
- ระยะทางการรังวัดสูงสุด (ห่างจากตัวสถานีฐาน): - กม.

- ความคลาดเคลื่อน ในการรังวัดแบบสถิต (Static)
  ทางราบ: 5 mm + 1 ppm
  ทางดิ่ง: 10 mm + 2 ppm

- ความคลาดเคลื่อน ในการรังวัดแบบจลน์ (RTK)
  ทางราบ: 10 mm + 1 ppm
  ทางดิ่ง: 20 mm + 2 ppm

- Controller และชุด Modem: OEM ยี่ห้อชั้นนำหลัก
- เมนบอร์ด/Chipset: NovAtel 628 (OEM)



CHC x91 (RTK-GNSS)
>> ผู้เขียนขออนุญาติเรียกเจ้ารุ่น x91 ว่าเป็นตัว 'พลิกเกมส์' ของ CHCNav อย่างแท้จริง หลังจากออกอาการ 'แป๊ก' เดินสะดุดขาตัวเอง ไป 2-3 ปี จากรุ่นก่อนหน้านี้ โดยเจ้าตัว x91 (เวอร์ชั่น x90 ปัดฝุ่น) มาพร้อมกับการ 'จัดเต็ม' กับความสามารถในการรับสัญญาณดาวเทียมจาก 4 ระบบหลัก (ในยุคนี้ หยวน ได้มีระบบดาวเทียม Compass/Beido ของตนเองแล้ว) พร้อมๆกับการมีจำนวนช่องรับสัญญาณฯที่เพิ่มมากขึ้นถึง 220 ช่อง และด้วยสเป็คขนาดนี้ เมื่อเหลือบสายตามอง (บน) ไปยังอุปกรณ์สำรวจรังวัดดาวเทียมใน Class เดียวกัน ในยี่ห้อหลักๆของโลกแล้ว...'เงินล้านต้องมีในกระเป๋า' ในขณะที่การเข้าถึงเจ้าตัว x91 จำนวน 1 ชุด (Base+Rover) เพียงแค่ในระดับไม่กี่แสนบาท ก็สามารถเสาะแสวงหามาครอบครองได้

x91 ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่ในวงการสำรวจรังวัดด้วยดาวเทียมอยู่พอสมควร นั่นคือความละเอียด ความถูกต้องของข้อมูลสำรวจฯที่สูงขึ้น 'มาก' เมื่อเปรียบเทียบกับยุคก่อนหน้า ในราคาค่าตัวที่ 'ทำไม มันถูกกว่าชาวบ้านเขา' สิ่งสำคัญที่ถูกมองว่าการซื้อ CHC x91 มีความคุ้มค่า คุ้มราคานั้น ก็เพราะว่าเหมือนกับการ ได้ซื้อ Trimble R8 มาใช้งานนั่นเอง ด้วยเหตุผลที่ว่า ตัวประมวลผล/Chipset ยี่ห้อ Trimble รุ่น BD970 อันเป็นตัวเดียวกันกับที่ถูกใช้อยู่ใน Trimble R8 ได้ถูกฝังอยู่ภายในตัวจานรับสัญญาณฯ x91 
* ผู้เขียน ก็เป็นผู้หนึ่งที่ได้กระโจนเข้าไปตะลุมบอนกับเจ้าตัว x91 กับเขาด้วย ก็ด้วยเหตุผลเดียวกันนี้ ที่ว่า ซื้อ CHC x91 แต่ได้คุณภาพ Trimble R8 มาใช้งาน...คุ้มจริงๆ
* ชนชาวหม่อง เพื่อนบ้านของชาวเรา จัด CHC x91 ไป 520 เครื่อง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557...ข้อมูลเพิ่มเติม >> คลิก

CHC x91 (ร่างทรงของ Trimble R8)
- ระบบการรับสัญญาณหลัก: GPS, GLONASS, Galileo และ Compass/Beido
* ระบบรอง SBAS, QZSS ไม่นับรวมในการพิจารณา (จำนวนดาวเทียม ยังไม่มากพอ ณ พ.ศ. นี้)
- จำนวนช่องรับสัญญาณ: 220
- ระยะทางการรังวัดสูงสุด (ห่างจากตัวสถานีฐาน): 200 กม.

- ความคลาดเคลื่อน ในการรังวัดแบบสถิต (Static)
  ทางราบ: 2.5 mm + 1 ppm
  ทางดิ่ง: 5 mm + 2 ppm

- ความคลาดเคลื่อน ในการรังวัดแบบจลน์ (RTK)
  ทางราบ: 10 mm + 1 ppm
  ทางดิ่ง: 20 mm + 1 ppm

- Controller และชุด Modem: OEM ยี่ห้อชั้นนำหลัก, CHCNav
เมนบอร์ด/Chipset: Trimble BD-970


CHC i50, i70, i80 (RTK-GNSS)
>> i50, i70 และ i80 รุ่น 'หม้อ' หุงข้าว (แทน 'จาน' รับสัญญาณฯ) เป็นซีรี่ที่ผู้เขียนถูกถามเข้ามาทางอีเมล์มากที่สุดในช่วง 1-2 ปีมานี้ โดยเฉพาะประเด็นที่ว่าจะเลือกซื้อรุ่นไหนดี? ทำไมสเป็คมันดูคล้ายกันไปหมด? สับขาหลอกหรือปล่าว? ใช้เมนบอร์ด Trimble เหมือนกับตัว x91 หรือว่าใช้เมนบอร์ดของ CHCNav ?...ฯลฯ
* ผู้เขียน (ส่วนตัว) ได้ยินมาว่าตัว i80 นั้น ใช้บอร์ดรับสัญญาณฯ Trimble รุ่น BD-930?
เมนบอร์ด CHCNav BD380 OEM
ประเด็นนี้มันดูจะขำๆ ออกแนวย้อนแย้ง ก็ตรงที่ว่า เหล่าท่านทั้งหลายที่ได้สอบถามมายังผู้เขียนเรื่องเมนบอร์ด/ชิปเซต ที่ถูกใช้อยู่ในรุ่น/ซีรี่ i เหล่านี้ เหล่าท่านล้วนต่างมีความต้องการ หรืออยากได้เมนบอร์ดของ Trimble มาใช้งาน 'มากกว่า' การที่จะต้องได้ใช้เมนบอร์ดของ CHCNav อันเป็นเจ้าของตัวผลิตภัณฑ์โดยตรง (อารมณ์ประมาณว่า อยากได้บรรยากาศแบบ x91 ที่ได้ใช้ Trimble ของดี ในราคาหยวนๆ...แต่ไม่อยากใช้เมนบอร์ด/ชิปเซต 'เมดอินหยวน' ในราคาหยวนๆ)

ผู้เขียน (ส่วนตัว) ในฐานะที่เป็นนายช่างสำรวจฯผู้หนึ่ง ที่ต้องได้เกี่ยวดองหนองยุ่งอยู่กับตัวผลิตภัณฑ์ในกลุ่มนี้ อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ได้ตั้งข้อสังเกตอยู่หลายประการ สำหรับความแตกต่าง ระหว่างรุ่น/ซีรี่ i เหล่านี้ กับตัวรุ่น x91 ก่อนหน้า ว่าได้มีการพัฒนา ปรับปรุง เปลี่ยนแปลงไปอย่างไร โดยเฉพาะประเด็นที่สำคัญที่สุด นั่นคือ ความละเอียด ความถูกต้องแม่นยำของข้อมูลสำรวจฯ เมื่อนำตัวอุปกรณ์ฯไปใช้งานจริง

ประเด็นสำคัญ ที่ถูกนำมาพิจารณาสำหรับรุ่น i50. i70 และ i80
1. การมาพร้อมกับระบบที่ช่วยเพิ่มความสะดวกในการใช้งานทางด้าน Networks ที่ถูกพัฒนาให้ดีขึ้น (ใช้ระบบ 4G) นั่นคือสามารถรับ-ส่งข้อมูลได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น (ในประเด็นนี้ ผู้เขียนไม่ได้ให้น้ำหนัก โดยถ้าไม่ได้ใช้งานเกี่ยวกับระบบ Networks แบบ VRS โดยใช้ CORS เป็นสถานีฐานด้วยแล้ว ระบบดังกล่าว ไม่มีความจำเป็น)
2. การมาพร้อมกับระบบ WiFi ซึ่งสามารถช่วยให้ตัว Controller สามารถสื่อสารกับตัวจานรับสัญญาณฯได้รวดเร็ว และมีระยะทางในการสื่อสารได้ไกลกว่าการใช้สัญญาณ Bluetooth  (ในประเด็นนี้ ผู้เขียนไม่ได้ให้น้ำหนักเช่นกัน ด้วยเหตุผลที่ว่า ผู้ทำการสำรวจฯ (ทั่วไป) ต้องเคลื่อนที่ไปพร้อมกับ pole RTK+จานรับสัญญาณฯ ในระยะใกล้ด้วยกันอยู่แล้ว สัญญาณ Bluetooth ที่มีระยะทำการประมาณ 10 เมตร จึงมีความเพียงพอ) และการเชื่อมต่อสัญญาณ WiFi สำหรับการกำหนดค่า IP/Browser และอื่นๆ ผู้เขียนมองว่า เป็นเพียงออปชั่นเสริม เพื่ออำนวยความสะดวกในการใช้งานตัวจานรับสัญญาณฯเท่านั้น
3. การเพิ่มออปชั่น มีแบตเตอรี่ 2 ก้อน เพื่อที่จะสามารถใช้งานได้ยาวนานขึ้น หรือการมีหน้าจอแสดงผล/ระบบสัมผัส , การที่ไม่ต้องใช้เสาอากาศ, การเอียงจานรับสัญญาณ ก็ยังสามารถทำการรังวัดได้, การมีความจุของข้อมูลสำรวจฯที่เพิ่มขึ้น ฯลฯ...ผู้เขียน (ส่วนตัว) มองว่าเป็นเพียงลูกเล่นของผลิตภัณฑ์ เท่านั้น (ออปชั่นเสริม)
4. ผู้เขียน (ส่วนตัว) เชื่อว่ายังคงใช้จำนวนช่องรับสัญญาณฯ 220 ช่อง เหมือนกับรุ่น x91 ก่อนหน้านี้?...ในประเด็นนี้ ผู้เขียนได้ให้น้ำหนักเต็มที่ และขออนุญาติตั้งข้อสังเกตแบบ ?? ตัวใหญ่ๆ เลยว่า โดยปรกติทั่วไปแล้ว อุปกรณ์สำรวจฯรังวัดดาวเทียมรุ่นหนึ่งๆ จะมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น ก็ต่อเมื่อมีจำนวนช่องรับสัญญาณฯ (Channel) ที่ถูกเพิ่ม/ขยาย ให้กว้างมากยิ่งขึ้น แปรผันไปตามความสามารถในการรับสัญญาณฯจากระบบดาวเทียมต่างๆ ที่เพิ่มมากขึ้น (หลายระบบ)

แต่ในรุ่น/ซีรี่ i ข้างต้นนั้น การมีจำนวนช่องรับสัญญาณฯ ที่ยังคง Fix ไว้ที่ 220 ช่อง พร้อมกับความสามารถในการรับสัญญาณดาวเทียมที่ถูกเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย (เพิ่ม L/E code) 'แบบไม่มีนัยยะ' มากนัก...ได้ทำให้ผู้เขียน (ส่วนตัว) ตระหนักว่า ในรุ่น/ซีรี่ i50, i70 และ i80 เหล่านี้ อาจจะยังคงใช้เมนบอร์ด Trimble (BD970) ของเดิม จากตัว x91 อยู่หรือไม่?? (พูดแบบนี้ เหล่าสาวก CHC รุ่น/ซีรี่ i ทั้งหลายต่างพากันร้อง เฮ ด้วยความดีใจ...อยากให้มี Trimble ชิปเซต อยู่ภายในเครื่องฯที่ตนเองครอบครองอยู่)
* Trimble R10 รุ่นเทพ มีจำนวนช่องรับสัญญาณฯ สูงถึง 672 ช่อง
* ในประเด็นเรื่องความคลาดเคลื่อนแฝงคงที่ ของตัวอุปกรณ์ อาทิ  x mm + x ppm ...ผู้เขียน (ส่วนตัว) มองว่า 'บางยี่ห้อ' ได้ใช้เป็นเพียงลูกเล่นทางตัวเลข เพื่อใช้เป็นกลยุทธ์การตลาด เท่านั้น 
* แนวคิดที่ว่า รุ่น/ซีรี่ i50, i70 และ i80 เหล่านี้ อาจจะยังคงใช้เมนบอร์ด Trimble (BD970) ของเดิม จากตัว x91 นั้น...ผู้เขียนได้แนวคิดนี้มาจากเว็บไซต์ ตัวแทนจำหน่ายของ CHC ในแบรนด์ย่อยที่ชื่อว่า iGage ซึ่งได้นำเอารุ่น i70 มาแปลงร่างเป็น iG8 จำหน่ายเป็นเซ็ตคู่กับโปรแกรม Carlson SurvCE (ไม่ใช้ LandStar?) โดยในหน้าเพจ 'Spec.' ได้ระบุถึง 'ตัวเมนบอร์ด' เอาไว้ว่า Trimble BD-970
Credited: https://ig8g.com/specifications.htm

>> ประเด็นคำถามเรื่องยี่ห้อของเมนบอร์ด/ชิปประมวลผล ในตัวอุปกรณ์รับสัญญาณดาวเทียมของ CHC ในรุ่น/ซีรี่ i เป็นประเด็นที่เหล่าสาวกผู้ถือครอง/ใช้งาน ตัวเครื่องมือฯจากยี่ห้อดังกล่าว ต่างพากันให้ความสำคัญมากกว่าประเด็นอื่นๆ...ครั้น ผู้เขียนจะตอบกลับไปว่า 'ก็ลองแกะ ออกมาดูสิ' ว่าเมนบอร์ด/ชิปเซต ที่อยู่ข้างในนั้น มันคือ 'หมู่ หรือ จ่า' ซึ่งคำตอบเช่นนี้ อาจจะก่อให้เกิดการยุยง ส่งเสริม 'การทำเครื่องมือพัง' โดยไม่เจตนาก็เป็นได้ ฉะนั้น ผู้เขียนจึงขออนุญาตินำพาท่านผู้อ่าน เดินทางไปดูงานที่ 'ประเทศยูเครน' เพื่อใช้เป็นกรณีศึกษา ในประเด็นเรื่องเมนบอร์ด/ชิปเซต ที่ว่านี้ก็แล้วกัน


ElNav i70 (ยูเครน)
>> มิใช่เรื่องแปลก ในแวดวงธุรกิจยุคสมัยนี้ ที่เครื่องมือสำรวจรังวัดของยี่ห้อหนึ่งๆ จะไปปรากฎตัว แปลงร่าง เปลี่ยนสี เปลี่ยนชื่อ เปลี่ยนยี่ห้อ ในอีกพื้นที่หนึ่งๆ ซึ่ง CHC i70 เป็นอีกตัวอย่างหนึ่ง ที่ได้ไปปรากฎตัวอยู่ในประเทศยูเครนในชื่อยี่ห้อ ElNav รุ่น i70 โดยในประเด็นทางด้าน Specification ของตัวอุปกรณ์นั้น ไม่ต้องมาเสียเวลาสาธยายกันให้เมื่อยตุ้ม มาดู 'เครื่องใน' กันถึงห้องแลปเลยดีกว่า
ภาพแสดง x91 นอนหงาย ตายกันเป็นแพ

ภาพแสดง เครื่องใน ของ x91

ภาพแสดง ElNav i70 ถูกเปิดฝาหม้อออก

เห็นเมนบอร์ด ไกลๆ ไม่ชัด

Zoom in เข้ามาอีกนิด ก็นั่นล่ะ...ท่านผู้ชม (เฮ)
All Photo Credited to ElNav i70: www.elnav.com.ua/production/
>> ผู้เขียนขออนุญาติสงวนท่าที และ 'ไม่ขอยืนยัน' ว่า เจ้าตัว CHC i70 ที่อยู่ในมือของท่านนั้น ได้มีเมนบอร์ด/ชิปเซตของ Trimble ฝังอยู่ในตัวเครื่องฯ เฉกเช่นเดียวกับตัว ElNav i70 ข้างต้น หรือไม่? และขออนุญาติเตือนเหล่าท่านทั้งหลายว่า 'อย่าได้แกะ หรือเปิดฝาหม้อ ออกมาดู เป็นอันขาด'...ส่วนท่านทั้งหลายที่ใช้เครื่องมือฯ รุ่น i ข้างเคียงอย่าง i50 และ i80 ก็เช่นเดียวกัน 'อย่าได้เปิดฝาหม้อออก' (ถ้าไม่อยาก...หงายเงิบ)


ยังไม่จบ...กับการ 'ไขว้ขา' + ตีลังกา ม้วนหน้า 3 ตลบ แล้วปล่อยให้ งงๆ กับรุ่นย่อย ล่าสุด
CHC x5, x9 และ x10 (RTK-GNSS)

>> ผู้เขียนขออนุญาติ ไม่ลงในรายละเอียด ว่าอะไร ยังงัย...แต่ขอกล่าว สั้นๆ แค่ว่า เจ้า 3 ตัวใหม่ล่าสุด ข้างต้นนี้ 'อาจจะ' ยังคงใช้จำนวนช่องรับสัญญาณ 220 ช่อง ขนาดเท่าเดิม เพียงเท่านี้ ก็คงจะพอทำให้ท่านผู้อ่าน คิดมโนกันเอาเอง สามารถเดากันไปต่างๆ นา ได้...ขออนุญาติเตือนกันอีกครั้งว่า 'อย่าได้ทำการเปิดฝาหม้อ ออกมาดู'

ยัง 'ฟิน' ได้ต่อเนื่องกับ CHC รุ่น M6
Credited: www.youtube.com/watch?v=6_xMp9McrxA
>> เวอร์ชั่นล่าสุด ณ ชั่วโมงนี้ กับ CHC รุ่น M6 ซึ่งมาพร้อมกับ จำนวนช่องรับสัญญาณ 220 ช่อง ขนาดเท่าเดิม (อีกแล้ว)
* มีตัวสับขาหลอก ในยี่ห้อ Geobox รุ่น FORA A20

รุ่น i90 ล่าสุด ส่งท้ายปี 2019 (336 ช่องสัญญาณ)
* ผู้เขียน (ส่วนตัว) เชื่อว่าตัว i90 ข้างต้น อาจจะใช้เมนบอร์ด/Chipset ของ Trimble รุ่น BD990 (336 ช่อง)...ข้อมูลเพิ่มเติม >> คลิก

* ชั่วโมงนี้ ในตลาด OEM ของเมนบอร์ด/Chipset ระบบ Multi-GNSS ที่ค่ายเล็ก ค่ายน้อยต่างกำลังพากันมะรุมมะตุ้ม ตะลุมบอน กับเมนบอร์ด/Chipset ยี่ห้อ NovaAtel รุ่น OEM-719 กันให้ฝุ่นคลุ้ง ด้วยความที่มีระบบการรับสัญญาณดาวเทียม 'จัดมาเต็มทุกดอก' และมาพร้อมกับ จำนวนช่องรับสัญญาณสูงถึง 555 ช่อง....ในขณะที่ทาง CHC์Nav กลับยังคง 'ขี่ม้าเลียบเมืองไปเรื่อย' (เล่นกับเมนบอร์ด 220 ช่อง อยู่หลายรุ่น จน 'งง')
เมนบอร์ด/Chipset ทรงพลัง: NovAtel 719 (OEM)

บทส่งท้าย: ณ ชั่วโมงนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่าเครื่องมือสำรวจฯรังวัดดาวเทียม ยี่ห้อ CHC สัญชาติหยวน ข้างต้น ได้เข้ามามีบทบาทแบบ 'คลื่นกำลังแรง' ในสารขันฑ์ถิ่นของชาวเรา ทั้งภาครัฐ (กรมที่ดิน) และภาคเอกชน ด้วยเหตุผลที่สำคัญ อยู่ 2 ประการ นั่นคือ 'ราคา และคุณภาพ' ซึ่งทางด้านคุณภาพนั้น สามารถตอบโจทย์ การใช้งานในการรังวัดทั่วไป ได้เป็นอย่างดี และทางด้านราคา ที่สามารถคบหาได้ เข้าถึงได้ มากกว่ายี่ห้อหลักๆ ของโลก ที่แค่เพียงตัว Base กับตัว Rover ก็ปาเข้าใกล้น้องๆตัวเลข 7 หลัก ทั้งที่มีคุณภาพ การใช้งานอยู่ใน Class เดียวกัน...
* ณ ปัจจุบัน CHCNav ได้ทำการ 'อัพเกรด' รุ่น x20+, x90+, x900+ (ต่อท้ายด้วย เครื่องหมาย + หรือต่อท้ายด้วย i ในบางประเทศ) ให้มีความสามารถในการรับสัญญาณดาวเทียม จากระบบดาวเทียมหลักๆ ได้ทัดเทียมรุ่นอื่นๆแล้ว


CHC x20i (รุ่น อัพเกรดเป็นระบบ GNSS)

Author supported to Land Surveyors United

7 comments:

  1. อย่า ลืมเอาไปใช้ Network RTK ของกรมที่ดินด้วยน่ะครับ X91+ ของผม upgrade Firmware.ให้สามารถใช้ระบบ Ntrip ของกรมที่ดินได้แล้ว (Up ฟรี) มี reciever ตัวเดียว มีสัญญา Net มีมือถือ Load โปรแกรม landstar7 ก็สามารถทำงานได้แล้วครับ คุ้มค่า คุ้มราคาจริงๆ

    ReplyDelete
  2. @ekasa52 อัพฟรีได้ที่ไหน ครับ

    ReplyDelete
  3. ติดต่อไปที่ CHC Thailand ได้เลยครับ น้องแมน Tel. 087-8510787
    หลังจากนี้ไป การวางโครงข่าย งานสำรวจทั่วประเทศจะเปลี่ยนไป จะอยู่บนพื้นฐานข้อมูล ในรูปแบบเดียวกันแล้วครับ ผมล่ะรอมานานจริงๆ จากนี้ก็ขอให้ model geoid ของประเทศไทยเสร็จเร็วๆ จะได้ใช้งานระดับได้อย่างสบายใจ(ในระดับหนึ่ง)กันซะที

    ReplyDelete
  4. ขอบคุณมากครับ @ekasa52

    เรื่อง 'หมุดหลักฐานงานสำรวจฯ' ของประเทศเรานั้น เป็นที่รับทราบโดยทั่วกันถึงการขาดความ 'มีเอกภาพ' โดยต่างหน่วยงาน ก็ต่างมีหมุดหลักฐานฯใช้งานกันเอง เมื่อทำการรังวัดตรวจสอบความคลาดเคลื่อนระหว่างหมุดฯของหน่วยงานต่างๆ พบว่า 'ไปกันคนละทิศ คนละทาง'

    นับจากนี้ หวังว่าเป็นอย่างยิ่งว่า ปัญหาข้างต้นน่าจะได้รับการแก้ไขต่อไป

    ReplyDelete
  5. กระแสงานสำรวจแผนที่ฟาร์มไก่ ว่ารุกที่ป่าหรือป่าว เห็นตามข่าวเอา rtk ไปเก็บขอบเขต เนื้อที่

    ReplyDelete
  6. ถ้าจะได้พื้นที่การสำรวจฯมากยิ่งขึ้น และใช้เวลาการสำรวจฯที่สั้นลงในแปลงที่ดิน ที่กำลังมีปัญหาดังกล่าวฯ ควรที่จะใช้โดรนบินถ่ายภาพทำแผนที่ หรือถ้าจะทำการตรวจสอบการบุกรุกพื้นที่ป่าไม้ "ยกทั้งจังหวัด" ควรที่จะใช้ภาพถ่ายดาวเทียมความละเอียดสูง อาทิ จาก Ikonos, GeoEye, Quickbird ฯลฯ

    จากนั้นนำพื้นที่ เส้นขอบเขตป่าไม้ มา Overlay ทับลงไป ก็จะสามารถตรวจสอบได้ว่า มีพื้นที่ใดบ้าง มีเนื้อที่เท่าไหร่ ที่รุกล้ำอณาเขตพื้นที่ป่าไม้ ในปัจจุบัน...หลังจากนั้นส่งเจ้าหน้าที่ เข้าไปตรวจสอบ ฯลฯ

    * ประเด็นที่สำคัญ ไม่ใช่เรื่องราวของวิธีการสำรวจฯ แต่มันอยู่ที่เรื่อง "ทางกรมป่าไม้ ไม่เห็น ไม่รับทราบ ไม่รู้เรื่อง เลยหรือ??? ถึงปล่อยให้มีการบุกรุก ดังกล่าว มาเป็นสิบปี" โดยถ้านำเรื่องราวดังกล่าว ไปเปรียบเทียบกับกรณีการบุกรุกพื้นที่ป่าไม้ อื่นๆของชาวบ้าน ตาสีตาสา...ที่ต่าง พากันติดคุกกันระนาว

    ชาวสารขัณฑ์

    ReplyDelete
  7. ฉันมี X91 CHC ที่บันทึกลงวันที่ 2004 ฉันจะดําเนินการปรับปรุงได้อย่างไรขอบคุณ

    ReplyDelete