Tuesday 20 December 2011

การสำรวจ และการคำนวณปริมาตรมวลน้ำ ต่อภาวะวิกฤตน้ำท่วม 2554

>> ได้ยินกันทุกวี่ ทุกวัน ทั้งจากสื่อ หรือคำประกาศจากภาครัฐ กับรายงานปริมาตรมวลน้ำที่ผ่านประตู หรือสถานีตรวจวัดระดับน้ำ ณ สถานที่ต่างๆ อาทิ ปริมาตรมวลน้ำผ่านสถานีตรวจวัดที่ปากน้ำโพ จ.นครสวรรค์ 4,650 ลูกบาศก์เมตร/วินาที
 
การคำนวณตัวเลขดังกล่าว จะต้องทราบ 'ตัวแปร' พื้นฐานที่สำคัญ ดังต่อไปนี้
- พื้นที่หน้าตัดที่ 1 (Left to Right of River bank Area)
- พื้นที่หน้าตัดที่ 2 (Left to Right of River bank Area)
- ความสูงของระดับน้ำของวันที่ ทำการวัด (เพื่อใช้คำนวณปริมาตรมวลน้ำ ณ วัน/เวลา ที่ต้องการรู้มวลปริมาตร)
- ระยะทางระหว่างพื้นที่หน้าตัดที่ 1 ถึง หน้าตัดที่ 2 (ในกรณีนี้ คือระยะทางที่น้ำเคลื่อนที่ไปได้ ในระยะเวลา 1 วินาที)

* ในการหาอัตราเร็ว หรือค่าเวโรซิตี้ของมวลน้ำ ถ้าเป็นแบบหยาบ เราสามารถกำหนดจุดอ้างอิงบนตลิ่ง ไว้หนึ่งจุด แล้วโยนวัตถุน้ำหนักเบา เช่น กิ่งไม้ ลูกบอล ฯลฯ ลงไปในแม่น้ำ ณ ตำแหน่งอ้างอิง แล้วจับเวลา ใน 1 วินาที (หรือ 2,3,4...แล้วเอาระยะทางที่ได้มาหาค่าเฉลี่ย) ตรวจสอบดูว่า ใน 1 วินาที วัตถุที่เราโยนลงไปนั้น สามารถเคลื่อนที่ไปได้ในระยะทางเท่าใดจากสถานีอ้างอิง...ระยะทางที่ได้ดังกล่าว เอาไปคำนวณร่วมในสูตรการหาปริมาตร แบบวิธีธรรมดา เช่น Average End Area (เฉลี่ยหัว-ท้าย) เราก็จะได้ปริมาตรมวลน้ำ ลูกบาศก์เมตร/วินาที 

* ส่วนวิธีการหาค่าเวโรซิตี้ของมวลน้ำ แบบละเอียดนั้น มีอุปกรณ์สำรวจมากมาย หลากหลายยี่ห้อ ส่วนที่ทำงานของผู้เขียน เราใช้ ADCP (Acoustic Doppler Current Profiler) ซึ่งสามารถทำการตรวจวัดพื้นผิวหน้าตัดใต้น้ำและคำนวณปริมาตร อัตราเร็วของมวลน้ำ ณ ตำแหน่งต่างๆ ได้โดยตรง....(ท่านใดสนใจ ติดต่อได้ครับ...ขอโฆษณานิดๆ อิอิ)
>> ประเด็นที่อยากจะกล่าวถึง คือการคำนวณค่าดังกล่าวข้างต้นของหน่วยงานภาครัฐ ว่ามีความถูกต้องแม่นยำ หรือ คลาดเคลื่อนมากน้อยเพียงใด โดยเฉพาะตัวแปรที่สำคัญอย่าง พื้นที่หน้าตัด ของลำน้ำ ลำคลอง...ถ้าเป็นคลองขุดใหม่ เราสามารถทราบพื้นที่หน้าตัด ของตัวคลองได้จากการสำรวจรังวัดทั่วไป และสามารถคำนวณปริมาตรมวลน้ำได้อย่างถูกต้อง ผลลัพธิ์ที่คำนวณได้อยู่ในเกณฑ์ที่ยอมรับได้

แต่ในกรณี อาทิ แม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งมีการกัดเซาะ และพังทลายของตลิ่งอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกๆปี และรวมถึงการทับถมของดินตะกอนใต้ท้องน้ำ สันดอนปากแม่น้ำ ซึ่งเป็นสิ่งกีดขวางการระบายของน้ำ...ผู้เขียนไม่ทราบว่าประเทศสารขันธ์ของเรา ได้มีการสำรวจ ตรวจสอบ ขุดลอก สิ่งต่างๆ เหล่านี้อยู่เป็นประจำหรือไม่ อย่างไร แต่เท่าที่ได้ยินจากการให้สัมภาษณ์ออกโทรทัศน์ ของลุงที่อาศัยอยู่บริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยาช่วงที่ไหลออกสู่ทะเล...ลุงแกบอกว่า ตั้งแต่เกิดมา ยังไม่เคยเห็นหน่วยงานใดๆ ของรัฐ มาทำการดูด ขุดลอก ดินตะกอน บริเวณปากแม่น้ำแห่งนี้ แม้แต่ครั้งเดียว...O_o

หรือแม้แต่ ข้อมูลจากภาครัฐ เรื่องอัตราการไหล ของน้ำในลำคลองต่างๆ ของ กทม. เช่น คลองแสนแสบ คลองรังสิต คลองบางเขน ฯลฯ สามารถรองรับมวลน้ำได้ เช่น 30 ลบ.เมตร/วินาที......ข้อมูลพื้นที่หน้าตัดที่ใช้ในการคำนวณ ไม่ทราบว่า อ้างอิง ปี พ.ศ.ไหน?...แม่น้ำ ลำคลอง ยิ่งนานวัน ยิ่งตื้นเขิน ครับท่าน...ไม่ใช่ยิ่งนาน ยิ่งลึก

>> จึงเป็นที่มาของคำถามที่ว่า คำประกาศแจ้งเตือนปริมาตรมวลน้ำ ของสถานีตรวจวัดน้ำต่างๆ มีความถูกต้อง/คลาดเคลื่อนมากน้อย เพียงใด ?...จากภาพข้างต้น ถ้ายังคงใช้ ขนาดของพื้นที่หน้าตัดเดิม (อาจจะสำรวจไว้เมื่อ 50 ปีที่แล้ว) มาใช้ในการคำนวณ...แน่นอนว่า มีความคลาดเคลื่อน (สูง) ของปริมาตรมวลน้ำ ที่คำนวณได้...และเมื่อข้อมูลตั้งต้นมีความคลาดเคลื่อน ผลลัพธ์ย่อมคลาดเคลื่อนตามไปด้วย
ดั่งสายน้ำเชี่ยวกราด หวาดเสียวใจ

No comments:

Post a Comment