Tuesday 9 July 2013

บันทึกการสำรวจ และบุกเบิกในดินแดนสยาม (Surveying and Exploring in Siam)

ผู้เขียน ในฐานะที่เป็นผู้หนึ่งที่ได้ศึกษาชีวประวัติของ เจมส์  แมคคาร์ธี  (พระวิภาคภูวดล  เจ้ากรมแผนที่ฯคนแรกของสยาม) ผ่านงานแปลของ ร.อ.หญิง สุมาลี  วีระวงศ์ (ยศในขณะนั้น)  ซึ่งลงตีพิมพ์ในวารสารแผนที่ ฉบับพิเศษ ครบรอบ 200 ปี กรุงรัตนโกสินทร์ และลงเผยแพร่ในเว็บไซต์ของสมาคมสำรวจข้อมูลระยะไกลและสารสนเทศภูมิศาสตร์แห่งประเทศไทย

ผู้เขียนมีความประทับใจในเรื่องราว และประสบการณ์งานสำรวจฯในดินแดนต่างๆ ที่ถูกบันทึกไว้ เมื่อกว่า 120 ปีที่แล้ว ซึ่งผู้เขียนขอยกย่องให้ปูมการเดินทางสำรวจฯดังกล่าว เป็นองค์ความรู้ที่มีคุณค่าต่ออนุชนรุ่นหลังเป็นอย่างยิ่ง ทั้งในด้านการศึกษาเชิงภูมิศาสตร์ สังคมศาสตร์ และประวัติศาสตร์ของอาณาจักรสยามในสมัยนั้น และทั้งนี้ เพื่อให้เนื้อหาในปูมบันทึกการเดินทางสำรวจฯ มีความครบถ้วนสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ผู้เขียนจึงขออนุญาติคัดลอกปูมบันทึกการสำรวจฯดังกล่าว เพื่อทำการเผยแพร่อีกทอดหนึ่ง โดยขออนุญาติเพิ่มเติมภาพถ่าย เพื่อให้สอดคล้องกับเนื้อหา และทั้งนี้ ยังคงเนื้อหาบทบันทึกการสำรวจฯเดิม ไว้ทุกประการ...
ด้วยความนับถือ
Geospatial JS



บันทึกการสำรวจและบุกเบิกในดินแดนสยาม
(Surveying and Exploring in Siam)

เจมส์ แมคคาร์ธี (พระวิภาคภูวดล เจ้ากรมแผนที่คนแรก)

คำนำ

ตลอดเวลาสิบสองปีที่ผ่านมา (ค.ศ. ๑๘๘๑ - ๙๓) ข้าพเจ้าวุ่นอยู่กับการรวบรวมข้อมูลเพื่อประกอบแผนที่ประเทศสยาม ซึ่งอาจใช้เป็นพื้นฐานสำหรับระบบการสำรวจระดับชาติได้ต่อไป เมื่อหวนรำลึกถึงกาลครั้งนั้น ทั้งงานหนัก ทั้งความรำคาญใจและอุปสรรคนานาประการที่เกิดขึ้นกีดขวางการทำงานด้วยแล้ว ก็อดเสียมิได้ที่จะรู้สึกแปลกใจที่ยังสามารถประสบความสำเร็จได้ถึงเพียงนี้ ความเปลี่ยนแปลงที่บังเกิดในหน่วยราชการของสยามมีมาเสียจนกระทั่งผู้ที่เคยเห็นแต่สภาพในปัจจุบันจะไม่สามารถนึกฝันได้เลยว่าการทำงานในระบบเดิมนั้นเปลืองแรงกายแรงใจมากเพียงไร

เพื่อที่ว่า ผลงานช่วงเวลาสิบสองปีดังกล่าวจะได้อยู่ในที่ที่ปลอดภัย และเข้าใช้ได้ง่าย ข้าพเจ้าจึงได้มอบบันทึกให้ราชสมาคมภูมิศาสตร์เก็บรักษาไว้ บันทึกเหล่านี้ รวบรวมไว้แต่เหตุการณ์ และข้อสังเกตที่คาดว่าจะเป็นประโยชน์แก่ผู้สนใจความก้าวหน้าทางภูมิศาสตร์ทั่วโลก เป็นบันทึกข้อเท็จจริงที่ได้จากการทำงานอย่างไม่ย่อท้อต่ออันตรายที่เกิดมีขึ้นในบางคราว

กรมทำแผนที่ของสยามในปัจจุบันมีเจ้าพนักงานจำนวนมาก และได้เริ่มต้นงานสำรวจที่ดินตามแบบไปบ้างแล้ว โดยอาศัยแผนที่สำรวจมาตราส่วนใหญ่บริเวณใกล้เมืองหลวง และการสำรวจเบื้องต้นด้วยเข็มทิศและโซ่ในบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาที่ทำสำเร็จไปแล้วนั้นเป็นเครื่องช่วย และแม้ว่าจะขาดลักษณะผจญภัยอย่างห้าวหาญเช่นนักสำรวจยุคบุกเบิกไปบ้าง ก็คงจะสามารถสร้างผลประโยชน์เชิงกิจปฏิบัติได้มากอยู่

ข้าพเจ้าหวังว่า ทั้งแผนที่และบันทึกทั้งปวงจะช่วยเพิ่มพูนความสนใจในประชาชนและประเทศที่น่าสนใจอย่างยิ่งอยู่แล้วนี้ และคงจะเป็นประโยชน์แก่นักเดินทางตามสมควรยิ่งกว่าอื่นใด ข้าพเจ้าหวังว่าผลงานนี้จะได้เป็นประโยชน์ต่อชาวสยามทั้งหลายด้วย

เจเอเอส. แมคคาร์ธี
ลอนดอน
๑ มิถุนายน ๑๘๙๘


แผนที่อาณาจักรสยาม 
(ในช่วงสมัยของ พระวิภาคภูวดล เจ้ากรมแผนที่ฯคนแรก)

๑.  เริ่มงานที่ระแหง  และกรุงเทพฯ

ในปี ค.ศ.๑๘๘๑  ข้าพเจ้าเริ่มเตรียมการทำแผนที่ทั่วไปสำหรับประเทศสยาม  หลังจากต้องประสบเรื่องน่ารำคาญต่าง ๆ  จนล่าช้าไปถึงสองเดือน  ข้าพเจ้าจึงได้ออกเดินทางพร้อมกับกรรมาธิการชาวสยามสองนาย  เพื่อไปสำรวจเส้นทางที่จะวางสายโทรเลขจากกรุงเทพฯ  ผ่านระแหงหรือตากไปยังมะละแหม่ง

ชุดการสำรวจเขตแดนด้านตะวันออกของอินเดีย  ได้กำหนดจุดยอดเขาทางตะวันตกของระแหง (Raheng)  ไว้ด้วย  จึงน่าที่จะระบุตำแหน่งของระแหงโดยงานชุดสามเหลี่ยมเล็กโยงยึดกับยอดเขาดังกล่าว  กว่าจะทำสำเร็จข้าพเจ้าก็ต้องผจญภัยกับการกีดขวางจากเจ้าพนักงานสยามหัวเก่าเสียอ่อนใจ  และต้องทำงานหนักเกินจ้ำเป็นไปมากทีเดียว

คงไม่จำเป็นที่จะต้องบันทึกวิธีการทำงานลงไว้อย่างละเอียด  มีอยู่คราวหนึ่ง  หลังจากบุกฝ่าข้ามเนินเขามาจนเหนื่อยอ่อน  พอกลับมาถึงที่พักแรมคืนปรากฏว่ากระโจมที่พักหายเกลี้ยง  เหลือแต่ร่องรอยพอให้รู้ว่าช้างเดินไปทางไหนเท่านั้น  คนที่มากับข้าพเจ้าก็ไม่มีใครรู้ทาง  และส่งภาษากันไม่รู้เรื่องด้วย  ตกลงไม่มีหนทางอื่นนอกจากยึดแนวลำน้ำเป็นหลัก  ไต่ตามหินลิ่นไปทั้งมืด ๆ  บางทีบุกน้ำลึกถึงคอ  เย็นเฉียบกว่าจะถึงที่พักได้ก็เลยเที่ยงคืน  อีกคราวหนึ่ง  คนที่ถือตะเกียงคอยส่องเวลาข้าพเจ้าทำการรังวัดอะซิมุทหอบตะเกียง (Referring Lamp)  หนีหายไป  ข้าพเจ้าต้องให้คนรับใช้ชาวอินเดียผู้ซื่อสัตย์ทูนตะเกียงไว้บนหัว  ส่องแนวหาแผงตะเกียง  โชคดีที่พบว่ายังอยู่ในที่เดิม
เมื่อกำหนดตำแหน่งของระแหงเสร็จแล้ว ข้าพเจ้าก็ไม่มีงานอื่นนอกจากทำงานวงรอบไปยังเมืองกำแพง ซึ่งอยู่ห่างออกไปประมาณ ๔๐ ไมล์ แต่งานนี้มีอุปสรรคและมีคนขัดขวางมาก ทั้งไม่มีผู้ช่วงจึงเป็นอันว่าต้องละการแบ่งซอยเส้นวงรอบนั้นไว้ก่อน แต่จากกำแพง (Kampeng) ไปนครสวรรค์ซึ่งมีระยะทาง ๙๐ ไมล์นั้น ได้ทำงานวงรอบด้วยโซ่และเข็มทิศเสร็จเรียบร้อยแล้ว พอดีกับฝนเริ่มตกหนักน้ำท่วมทั่วไป ข้าพเจ้าไม่ถึงกับเจ็บป่วยเป็นแต่รู้สึกว่ามีอาการเหนื่อยล้าทางประสาทเนื่องจากความวิตกกังวล จึงจำต้องเดินทางกลับกรุงเทพ
ภูมิประเทศระหว่างระแหงกับมะละแหม่ง  โดยมากเป็นเนินเขา  สันปันน้ำสำคัญเป็นแนวตรงอยู่เพียง ๑๕ ไมล์  ทั้งสองเมืองติดต่อกันโดยตรงด้วยทางเดินเท้าตัดผ่านสันปันน้ำที่ระดับสูงกว่าสองพันฟุตสายหนึ่ง  ทางสายอื่นใช้ได้แต่ในฤดูแล้ว  เพราะมีหญ้าแห้งสำหรับพวกสัตว์ต่างที่ใช้ในการขนส่งอยู่มากกว่า

ที่มะละแหม่งมีการค้าขายมากอยู่  ทุกวันพอพ่อค้าชาวนาจำนวนมากจะผ่านมากเพื่อขนสินค้าจากแมนเชสเตอร์และเบอร์มิงแฮมไปขายถึงแดนไกลกันดารในสยาม

จากระแหงถึงนครสวรรค์เป็นพื้นที่ราบ  เดินทางด้วยเกวียนได้  แต่ทางหลวงสายใหญ่นั้นคือแม่น้ำซึ่งกว้างถึงสองพันฟุตที่ระแหง  ในฤดูแล้งน้ำเกือบจะแห้ง  ตลิ่งทรายกว้างมีไม่ซุงก่ายกองนับร้อย ๆ  ท่อนรอเวลาน้ำหลากคราวต่อไป

ประชากรส่วนใหญ่อาศัยอยู่ริมฝั่งแม่น้ำ  หมู่บ้านที่อยู่ลึกเข้าไปในที่ดอนมีขนาดเล็ก  จำนวนคนน้อย  สายโทรเลขนั้นสร้างขึ้นไว้นานแล้ว  แต่ส่วนที่อยู่ระหว่างระแหงกับชายแดนนั้นไม่ค่อยจะได้ซ่อมแซม  เนื่องจากนิยมใช้สายโทรเลขจากบางกอก  ผ่านกาญจนบุรีไปทวาย (Tavoy)  มากกว่า

เมื่อกลับมาถึงบางกอก  ประจวบกับกำลังมีงานเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสครบรอบร้อยปีของราชวงศ์ปัจจุบัน  และระลึกการสถาปนาบางกอกด้วย  มีงานนิทรรศการแสดงผลงานต่าง ๆ  ของชาวสยาม  ปรากฏว่าประสบผลสำเร็จอย่างดียิ่ง  มีผู้คนมาร่วมชมงานมากมายเอิกเกริก

แต่ความหวังที่จะแสวงหาข้อมูลดิบให้เพียงพอสำหรับแผนที่ประเทศสยามนั้นยังดูออกจะมีมืดมน ระหว่างนี้  พอดีถึงกำหนดเก็บภาษีต่างด้าวจากพวกชาวจีน  มีผู้เสนอให้ทำการสำรวจมาตราส่วนใหญ่ในเขตสำเพ็งซึ่งเป็นบริเวณที่มีคนอยู่อาศัยหนาแน่นที่สุดในบางกอกนับว่าเป็นโอกาสอันดีสำหรับจะฝึกฝนหนุ่ม ๆ  ชาวสยาม  ในคูคลองแถบนั้นมีสิ่งตกจมถมทับจนตื้นเขิน  กลิ่นเหม็นคลุ้ง  ตรอกซอยแคบ ๆ  คดเคี้ยว  เหม็นอับเหลือทนทาน  แต่ดูเหมือนชาวจีนก็อยู่ได้อย่างสบาย  และดำเนินกิจการโรงเหล้า  โรงยาฝิ่นกับสถานอบายมุขต่าง ๆ  ไปทั้ง ๆ  ที่มีขยะกองอยู่รอบ ๆ
บ่อยครั้งจะได้เห็นคนจีนหนุ่ม ๆ ถูกมัดมือด้วยเชือกติดกันเป็นพวง ๆ สักยี่สิบคนเห็นจะได้ เดินมาตามถนน มีเจ้าพนักงานสยามซึ่งไม่มีเครื่องแบบเฉพาะ แต่ถือไม้ท่อนโตเดินคุม พาไปเข้าคุกขังไว้จนกว่าจะมีมิตรสหายนำเงินภาษีมาจ่ายตามกำหนด เนื่องจากชาวจีนทั้งหมดล้วนแต่เป็นสมาชิกของสมาคมลับไม่แห่งใดก็แห่งหนึ่ง ดังนั้นไม่นานก็จะมีคนมาไถ่ตัวให้เป็นอิสระทุกรายไป ชนชาวจีนเป็นกลุ่มที่ต้องเสียภาษีน้อยกว่าชนต่างด้าวอื่น คือ เพียงสี่บาทต่อสามปี เปรียบเทียบความหนาแน่นกับสิงคโปร์ซึ่งมีประชากรหมื่นห้าพันคนแล้ว ก็เห็นจะพอกะคร่าว ๆ ได้ว่าบางกอกมีประชากรราวสามหมื่นคนซึ่งเป็นชาวจีนเสียเกือบครึ่งหนึ่ง

สมาคมลับต่าง ๆ ซึ่งรัฐบาลทั้งในและประเทศจีน ฮ่องกง และสหพันธรัฐมลายูพยายามจำกัดควบคุมอย่างเต็มที่นั้น กำลังเป็นปัญหาใหญ่สำหรับบางกอก ใน ค.ศ.๑๘๘๙ พวกเหล่านี้ได้ก่อการจลาจลกระทั่งทหารต้องออกมาปราบปราม

สมาคมเหล่านี้ บางสมาคมตั้งขึ้นเพื่อช่วยเหลือชาวพื้นเมืองที่นับถือศาสนาคริสต์ โดยที่บาดหลวงชาวฝรั่งเศสเป็นเจ้ากี้เจ้าการรับสมาชิก มีอดีตพระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ซึ่งเคยเป็นที่ปรึกษาของผู้สำเร็จราชการคนก่อน แต่ภายหลังลาสึกแล้วแปลงรีตเป็นคริสต์เข้าสนับสนุนจนมีกำลังมาก เป็นผลให้เกิดมีสมาคมฝ่ายตรงกันข้ามขึ้นมาแข่งขันอีก ปัจจุบันมีอยู่สักหกสมาคมนอกกฎหมายที่กำลังรบกวนความสงบ และคุกคามความปลอดภัยของสังคม

ชนชาวจีนเป็นพ่อค้าโดยกำเนิด และชาวพื้นเมืองก็ชอบติดต่อค้าขายด้วยเป็นอันมาก ผลคือถนนแคบ ๆ ในบริเวณสำเพ็งซึ่งชาวยุโรปน้อยนักจะได้เข้ามาเห็นนั้นแออัดยัดเยียดไปด้วยกลุ่มคน ชายคาหน้าร้านยื่นออกมาจดกันกลางถนน ทำให้อากาศยิ่งร้อนอบอ้าว แม้แต่สำหรับชาวบ้านที่เดินสวนกันไปมาทั้ง ๆ ที่เปลือยครึ่งท่อน บางคนก็กำลังจะเอาของที่ขโมยมาได้ไปจำนำ อาจเป็นหมวกที่เพิ่งฉกจากหัวคุณมาเมื่อเย็นวานก็เป็นได้ บ้างก็ตรงแน่วไปศาลเจ้า เพื่อเสี่ยงเซียมซีหาเลขไปแทงหวยคราวต่อไปที่กะว่าจะทุ่มทุนหมดตัว หลังเที่ยงคืนไปแล้วจึงจะมีคนร้องบอกเลขหวยที่ออกไปตามถนน เสียงดังลั่นแข่งกับเสียงหมาจรจัดที่หอนโหยหวนน่าชัง บางครั้งคราวจะเห็นฝูงชนแตกกระจายเปิดทางให้ชายชาวจีนที่กวัดแกว่งดาบวิ่งมากลางถนน มีพรรคพวกตีฉาบกระหน่ำกลองติดตามมาเป็นพรวน นี่ก็พากันเข้าไปในศาลเจ้าเหมือนกัน ข้าพเจ้าลองไต่ถามดู พ่อคนรับใช้ชาวจีนก็ไม่ยอมอธิบาย พูดแต่ว่า "ชิงชิงเจา (Chin Chin Jo) ให้ทำ" ภายหลังจึงได้ความว่า นายคนแกว่งดาบนั้นต้องแสดงการทรมานกายต่าง ๆ ในกระบวนแห่ มีอาทินั่งบนคมดาบ กรีดหลัง หรือเอาอาบแทงทะลุแก้มคาไว้เป็นต้น


๒. ในป่าสักภาคตะวันตก

ระหว่างทำการสำรวจสำเพ็ง ข้าพเจ้าจำเป็นต้องเดินทางขึ้นเหนือเพื่อไปทำแผนที่ในบริเวณหุบแม่ทูนซึ่งเป็นแควของแม่น้ำปิง และเพื่อเก็บข้อมูลเกี่ยวกับเขตแดนที่กำลังเป็นปัญหาระหว่างเชียงใหม่กับระแหง ต้นเรื่องนั้นเกิดจากภาษีค่าต้นไม้สัก เจ้าพนักงานเมืองเชียงใหม่อุทธรณ์ว่าระแหงล้ำแดนเข้ามา แดนเมืองทั้งสองนี้ถือว่าแบ่งกันที่ลำธาร แต่ฝ่ายระแหงถือเอาลำน้ำสายหนึ่งในขณะที่เชียงใหม่ถือว่าต้องเป็นอีกสายที่อยู่ใต้ลงมาอีกสอบไมล์

ต้นน้ำแม่ทูน (Me Tun) เกิดจากเนินเขาที่มีป่าสักปกคลุมหนาทึบ ไหลลงทางใต้จนบรรจบน้ำแม่สะเมอ (Me Same) แล้วจึงเลี้ยวไหลขึ้นเหนือ ลงสู่แม่น้ำปิง (Me Ping)

การเพาะปลูกมีน้อย ประชากรก็น้อย โดยมากเป็นชาวเขาเผ่ากระเหรี่ยงซึ่งทำป่าไม่สักเป็นอาชีพ อย่างไรก็ดี ทรากเมืองทูน (Maung Tun) เก่าก็แสดงอยู่ว่าที่แห่งนี้เคยมีคนตั้งหลักแหล่งอยู่ถาวรมาแล้ว ตอนที่ข้าพเจ้าไปถึงผู้ที่ได้สัมปทานป่าสักเป็นชาวพม่า มีซุงถึงประมาณพันท่อนกองอยู่ในมะเรอรอหน้าฝนจึงจะล่องลงแม่ปิงได้ นายพม่าคนนั้นก็เช่นเดียวกับพ่อค้าพม่าทั่วไป กล่าวคือมีหนี้สินท่วมตัวทีเดียว กำลังรับประมูลเช่าช่วงสัมปทานป่า ดูเหมือนว่าบริษัทบอร์เนียวจะประมูลได้

ต้นสักนั้นต้องควั่น คือเฉาะโดยรอบลำต้นลึกประมาณสองสามนิ้วให้ต้นตายเสียก่อน ทิ้งไว้สามปีให้แห้งดีแล้วจึงโค่นลง จัดการขนส่งไปบางกอกด้วยความยากลำบากต่อไป
พวกกะเหรี่ยงทำตามธรรมเนียนของชาวเขาทั่วไป เมื่อโค่นต้นสักลงแล้วก็ถางที่ข้างเขาปลูกข้าว(ต่างพันธุ์กับที่ปลูกตามพื้นราบ) ยาสูบ ข้าวโพคอินเดีย และผัก สองสามปีดินจืดแล้วก็ย้ายหมู่บ้านไปถางที่ใหม่ ระวังแต่ไม่ให้ไปล้ำของเผ่าอื่นเป็นใช้ได้ อีกไม่นานก็จะวนกลับมาที่เดิมอีก พวกนี้เก่งงานป่าไม้ ในหุบแม่ทูนนี้คนงานป่าไม้เป็นกระเหรียงทั้งสิ้น

เมื่อข้าพเจ้าไปถึงหุบแม่ทูน หัวหน้าพวกกะเหรียงไม่อยู่ถูกเรียกตัวไประแหง ต้องดำเนินการมากมายหลายวิธีเพื่อให้ได้พบ คนที่จัดการเป็นผู้รับผิดชอบบริเวณชายแดน แต่เจ้าเมืองระแหงบอกว่า เป็นฆาตกร และเจ้าหน้าที่ฝ่ายอังกฤษที่อยู่แดนต่อแดนรู้จักในฐานะหัวหน้าโจร

ข้าพเจ้ามีแต่คนรับใช้ชาวจีนคนเดียวเดินทางไปด้วย จึงออกจะยากลำบากขลุกขลักอยู่มิใช่น้อย เริ่มแรกที่เดียวทั้งช้างและครวญพากันหนีหายไป พวกหัวขโมยกลั่นแกล้งมายิงปืนขู่อยู่รอบๆ ที่พักเวลากลางคืน โชคดีที่ข้าพเจ้าเป็นไข้เสีย ไม่อย่างนั้นคงได้ทำอะไรที่รุนแรงลงไปบ้างเป็นแน่ ในทีสุดเมื่อหาช้างได้เชือกหนึ่ง ก็ปรากฏว่าเบาะที่นั่งแสนจะสกปรก เหม็นคลุ้งเหลือทนทาน เมื่อยังตั้งใจจะไปต่อข้าพเจ้าก็ต้องเดินทางเท้าฝ่าแดดไปทั้งๆที่กำลังไข้ขึ้น การที่ต้องย่ำบุกน้ำเสมอๆ ทำให้รองเท้าเปื่อยจนยุ่ย ต้องเดินเท้าเปล่าทางเดินหรือก็ขรุขระเป็นโขดหิน  ค่ำลงแล้วจึงได้หยุดพักริมลำธาร  เหนื่อยหมดแรง  เท้าหรือก็แตกยับเยิน

คนอื่น ๆ  เดินตามรอยเท้าข้าพเจ้ามา  กว่าจะถึงก็จวนเที่ยงคืน  ข้าพเจ้ากำลังนอนแผ่  เจ็บปวดรวดร้าวไปหมดทั้งตัว  ต้องหามกันเข้าไปที่ระแหง  เคราะห์ดีที่ได้พบนายสตีเวนสัน (Mr.Stevenson) พ่อค้าไม้ใจดีช่วยดูแลรักษา  แต่เป็นอันว่าความไข้เข้ามาเกาะกุมตัวข้าพเจ้าไว้อย่างมั่นคงนับแต่นั้นมาเหมือนเป็นเพื่อนสนิทอยู่ด้วยกันประจำทั้งตาปี


๓.  ในคาบสมุทรมลายู  สงขลาและตานี  (Singora & Tani)

เพิ่งจะหายไข้ได้ไม่นาน  ข้าพเจ้าก็ต้องออกเดินทางไปยังคาบสมุทรมลายู  เพราะตอนนั้นเกิดปัญหาเรื่องเขตแดนระหว่างเปรักซึ่งเป็นรัฐในอารักขาของอังกฤษ  กับปัตตานีแต่การกำหนดเขตแดนที่เป็นปัญหานั้นทำได้โดยยาก  เพราะข้อเสนอฝ่ายมลายูระบุถึงดินแดนในสภาพที่เคยเป็นอยู่เมื่อสี่สิบห้าปีมาแล้ว  เนื่องจากไม่เคยได้รับรู้ว่ารัฐบาลสยามได้จัดแบ่งเขตการปกครองรัฐปัตตานีออกเป็นเจ็ดรัฐย่อย  ดังจะได้กล่าวถึงต่อไปข้างหน้า  บริเวณที่เกิดวิวาทกันนั้นอยู่ในรัฐรามัน (State of Raman)

เมื่อเตรียมการเบื้องต้นเสร็จแล้ว  นายยอร์ช  บุช (Mr.George Bush)  ร่วมเดินทางไปกับข้าพเจ้าด้วย  เราลงเรือชื่อ  แนโรว์  บีม ("Narrow Beam")  พร้อมกับกรรมาธิการฝ่ายสยาม  พระยาพิไชยสงคราม  กัปตันเรือเป็นลูกครึ่งเขมร - มาเลย์  ซึ่งเพิ่งจะขอลาไปแสวงบุญที่เมกกะแล้วไม่ได้รับอนุญาต  จึงออกจะอารมณ์ไม่สู้จะดีนัก  เขาออกตัวว่าไม่รู้จักฝั่งตะวันตกของอ่าวไทยเลย  มีอยู่แต่แผนที่เดินเรือแถบชายฝั่งโนวา  สโกเชีย

เราพบว่าไม่อาจเข้าห้องพักในเรือได้เพราะลูกกุญแจอยู่ในพระราชวัง  เป็นอันว่าต้องรอนแรมกันไปบนดาดฟ้าซึ่งไม่มีที่คุ้มแดดคุ้มฝนสักเท่าไร  ในเมื่อกัปตันชาวมาเลย์ยืนยันว่าไม่รู้จักเส้นทางชายฝั่งตะวันตก  ก็จำเป็นต้องตัดไปทิศตะวันตกของประภาคารทอดสมอตอนกลางคืน  และใช้จักรเดินเลียบฝั่งไปตลอดวัน
แนวชายฝั่งของสยามงดงามยิ่งยวด  แต่ความรู้สึกชื่นชมมักจะลดลงเมื่อได้รู้ว่าในแถบถิ่นภูเขาที่ปกคลุมด้วยป่าทึบนั้นมีความไข้ระบาดอยู่ทั่ว  เทือกเขาสามร้อยยอดเป็นภาพงามตา  กอร์ปด้วยหินปูน  แต่ไม่มีผู้อาศัยอยู่แม้แต่คนเดียว  และบรรดานักเดินทางก็ยังจำกันได้อยู่ว่า  พระเจ้าแผ่นดินในรัชกาลก่อนต้องสิ้นพระชนม์ด้วยความไข้หลังจากเสด็จพร้อมเหล่านักดาราศาสตร์ชาวยุโรปมารังวัดสุริยุปราคาเต็มดวงที่ชายฝั่งฟากนี้ใน  ค.ศ.๑๘๖๗

เราทอดสมอที่ชุมพร  อันอาจเรียกได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของคาบาสมุทรมลายู  อ่าวเล็ก ๆ  นั้นระกะด้วยโขดหินที่มีหอยนางรมเกาะเต็ม  ทิวมะพร้าวและทุ่งหญ้าเป็นที่หมายเขตหมู่บ้าน

ก่อนที่ข้าพเจ้าจะมาถึงไม่กี่เดือน  วิศวกรชาวฝรั่งเศสกลุ่มหนึ่งได้เดินทางมาแถบนี้เพื่อสำรวจหาที่สำหรับขุดคลองเดินเรือตัดผ่านคาบสมุทร  จุดที่สูงสุดในเส้นทางอยู่ที่ระดับ ๒๕๐ ฟุต  เหนือระดับน้ำทะเล

วันที่ ๑๕ มิถุนายน  เราทอดสมอจอดนอกฝั่งสงขลา  พักอยู่ที่นั่นสามวันรอผู้รักษาการเจ้าเมืองซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมาธิการด้วย  ตอนที่ไปถึงฝั่งนั้นพอดีกำลังมีงานมหรสพ  เนื่องในการศพพรยาสุนทรา (Pia Suntara) ๑*  ทุกแห่งหนดารดาษด้วยธงทิว  กีฬาการแข่งขันก็มีสารพัด  รวมทั้งการแข่งขันชกมวยแบบพื้นเมือง  ตามกฎนั้นยอมให้เตะได้เต็มที่และก็เห็นเตะกันอย่างคล่องแคล่ว  เหวี่ยงเท้าจับเปาะเข้าที่คางฝ่ายตรงข้ามอย่างรุนแรงน่าทึ่งทีเดียว  ยังมีการชนควายอีกอย่างหนึ่ง  เจ้าของเสี้ยมปลายเขาจนแหลมขึ้นเงาวับ  ล่อให้เข้าประกันท่ามกลางคนดูที่ตื่นเต้นสนุกสนาน  ตะโกนโห่ร้องกันทุกคราวที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งล้มลงเลือดอาบ
ผนังด้านหนึ่งของห้องรับรองในจวนเจ้าเมือง  มีรูปสลักนูนทำด้วยทองแดง  เป็นฉากยึดเมืองสงขลา  ปู่ของเจ้าเมืองคนปัจจุบันมาจากเอ้หมึงระยะเดียวกับการสถาปนาบางกอก  และได้เข้าโจมตียึดเมืองสงขลาจากชาวมาเลย์พื้นเมืองอย่างง่ายดาย  แถบชายฝั่งคาบสมุทรนี้ทั้งฟากตะวันตกและตะวันออกของตอนเหนือ  ล้วนตกเป็นเหยื่อของนักผจญภัยชาวจีนที่มาถึงโดยทางเรือแทบทั้งสิ้น

ดินแดนสยามในคาบสมุทรมลายู  ที่มีผู้ปกครองเป็นชาวมาเลย์ได้แก่  มณฑลเกดะหรือไทร  กลันตัน  ตรังกานู  และปัตตานีที่แบ่งออกเป็น  ตานี  หนองจิก  ยะลา  ยะหริ่ง  สายระแงะ  และรามัน๒*  ซึ่งทุกเมืองเหล่านี้ส่งต้นไม้เงินทองผ่านเจ้าเมืองสงขลาไปยังกรุงบางกอก  แต่สามรัฐแรกนั้นส่งไปเองโดยตรง

เราเดินเรือจากสงขลาไปปัตตานี  ทอดสมอห่างฝั่งแล้วใช้เรือแคนูท้องแบนพายขึ้นไปตามลำน้ำปัตตตานีจนกระทั่งถึงเมืองที่คนจีนอยู่  มีบ้านเรือนหลายหลังปลูกรวมกันเป็นกลุ่มอยู่ในกำแพงอิฐสูง  ซึ่งแวดล้อมบริเวณกว้างประมาณ ๒๐๐ ฟุต  และยาว ๖๐๐ ฟุต

วังของราชาอยู่เหนือขึ้นไปตามลำน้ำประมาณไมล์ครึ่ง  แต่องค์ราชาซึ่งยังหนุ่มพระชนม์ราวยี่สิบพรรษาเสด็จไปอยู่เสียที่กลันตัน  เพื่อทำพิธีอภิเษกสมรสกับธิดาเจ้าผู้ครองแคว้นนั้น
มีบริเวณกว้างอยู่แห่งหนึ่ง  เป็นที่ปลูกข้าวมาก่อน  แต่ตอนที่ผ่านเห็นปศุสัตว์พันธุ์ดีกำลังกินหญ้าอยู่เป็นฝูง  ที่น่าแปลกใจคือเห็นมีแกะอยู่ด้วยหลายตัว  ค้านกับที่ข้าพเจ้าเคยเชื่อมาก่อนว่าที่ใดไผ่งอกงามแกะจะเลี้ยงไม่รอด  กิจการค้าขายทั้งหมดอยู่ในมือของคนจีนซึ่งขยันขันแข็ง  สินค้าหลักได้แก่ตะกั่ว  ดีบุก  งาช้าง  หนังสัตว์และยาง  ฝิ่นนั้นสูบกันทั่วไปทั้งคนชั้นสูงและชั้นต่ำทีเดียว

การทำงานสำรวจร่วมกับกรรมาธิการชาวสยามหัวโบราณนับว่าเป็นศิลปะอย่างหนึ่งทุกคนที่เกี่ยวข้องกับข้าพเจ้าล้วนแต่ไม่ไว้วางใจ  และแสดงความฉลาดหรือทดสอบความอดทนของข้าพเจ้าด้วยการพยายามขัดขวางการทำงานซึ่งจำเป็นต้องปรับให้เข้ากับสภาพการณ์ในเมื่อเส้นเขตแดนของประเทศที่ต้องทำเกือบจะเป็นแนวเหนือใต้  ข้าพเจ้าจึงถือโอกาสรังวัดละติจูด  กำหนดอิซิมุทของเส้นที่ทอดไปยังยอดเขาสำคัญ  และทำการสำรวจเส้นทางในระหว่างด้วย


๔.  คาบสมุทรมลายู - งานในรามัน

ป่านั้นหนาทึบมาก  และริมฝั่งน้ำก็ดูราวกับว่าไม่มีทางจะฝ่าเข้าไปได้  เนื่องจากเครือเถาหวายที่มีใบเขียวเข้มรูปเหมือนใบปาล์ม  ขึ้นเกี่ยวพันต้นไม้ต่าง ๆ  เป็นซุ้มเซิงไปหมดบุชกับข้าพเจ้านั่งเรือลำเล็กถ่อค้ำทวนกระแสน้ำอันไหลแรงของแม่น้ำปัตตานีขึ้นไปเรื่อย ๆ  ค่ำลงก็เหเรือเข้าเกยหาดที่พอจะใช้เป็นที่ทำครัวได้  หาไม้สามท่อนมาปักลงเป็นที่แขวนหม้อ  จุดไฟเข้ากับเชื้อเพลิงซึ่งหาได้ง่ายจากบริเวณใกล้มือนั้นเอง  เอามากองใต้ไม้ค้ำ  เราตั้งกระโจมพักขึ้นได้ในไม่กี่นาที  ใช้หินก้อนกลม ๆ  จากในลำธารนั้นเองต่างหมุดกันมิให้เคลื่อนที่ได้  รุ่งขึ้นก็กินอาหาร  เก็บกระโจมและออกเดินทางก่อนแสงตะวันส่อง

เรามาถึงท่าซับ (Ta Sap)  อันเป็นสถานีเก็บภาษีของราชาเมืองยะลา  ที่นั่นมีเรือนสภาพดีอยู่หลายหลัง  ซึ่งบุชกับข้าพเจ้ายึดเป็นสำนักงานเสียหลังหนึ่ง  การที่ทำเช่นนั้นออกจะดีอยู่  เพราะแม้เราจะเตรียมการล่วงหน้าอย่างดีโดยส่งคนล่วงหน้ามาเตรียมการเดินทางแล้วการก็ปรากฏว่ายังไม่มีอะไรพร้อมเลย  และเราก็จำเป็นต้องถ่วงเวลารออยู่

ใกล้ ๆ  ท่าซับมีถ้ำทีน่าสนใจสองสามแห่ง  อยู่บนเขาหินปูนสูงชันซึ่งมีทะเลสาบน้ำเป็นโคลนขุ่นล้อมรอบ  และมีบัวขึ้นอยู่หลายชนิด  ที่ตีนเขาข้ามสะพานทุ่นไม่ไผ่เข้าไปแล้วนั้นมีกุฏิพระหลายหลัง  ในคาบสมุทรมลายูนี้วิธีการเดินทางที่เป็นสามัญก็คือนั่งไปบนหลังช้างโดยผูกเบาะคู่  มีหนังดิบรองใต้เบาะสองสามชั้น  เมื่อข้าพเจ้าจะไปดูถ้ำก็ต้องหาช้างมาเชือกหนึ่งสำหรับข้ามน้ำ  ตัวเองนั่งบนเบาะข้างหนึ่ง  อาฟุก (Ah Fuk)  คนรับใช้ชาวจีนนั่งบนเบาะอีกข้างหนึ่งเป็นการถ่วงน้ำหนักในตัว  พอดีเกิดมีคนมายิงปืนที่ใกล้ ๆ นั้น  ช้างตื่นวิ่งเตลิดออกไปกลางทุ่ง  ครั้นหยุดได้ข้าพเจ้าถามอาฟุกว่าใครยิงปืน  เขาชี้ไปที่คนเชื้อชาติเดียวกันคนหนึ่ง  ปากก็ว่า  "ไอ้เจ๊กผีนั่นไงยิง"

ข้ามทะเลสาบไปได้แล้ว  เราก็ลงจากช้าง  เข้าไปในถ้ำซึ่งมีความยาว ๑๘๐ ฟุต  และสูง ๕๐ - ๖๐ ฟุต  มีหินงอกหินย้อยงดงามดังที่จะได้พบในถ้ำหินปูนทั่วไป  นอกนั้นยังมีพระพุทธรูปปางไสยาสน์องค์หนึ่ง  เป็นหินสลักประกอบปูน  และพระพุทธรูปนั่งอีก ๑๙ องค์  ซึ่งเป็นฝีมือในสมัยปัจจุบัน  ถ้ำมืดที่อยู่ติด ๆ  กันมีค้างคาวชุม  คนมาเก็บขี้ของมันไปขายเสมอเมื่อยืนอยู่หน้าถ้ำจะได้เห็นภูมิประเทศกว้างไกล  หมู่บ้านเล็กเรือนน้อยเห็นเป็นหย่อมอยู่ไร ๆ  ระหว่างสวนผลไม้  มะพร้าว  หมาก  แวดล้อมด้วยผืนนากว้างมีคันแบ่งเป็นแปลงใหญ่  และทิวเขากั้นอยู่สุดสายตา

วันที่ ๔ กรกฎาคม  เราเคลื่อนย้ายไปยังโกตาบารูอันเป็นที่พำนักของราชาเมืองรามัน  ซึ่งมีชื่อเสียงว่าเป็นนักกีฬาตัวเอ้  ใช้เวลาเดิน ๔ ชั่วโมง  เหนือโกตาบารูขึ้นไปคือเขาสูงประมาณสี่พันฟุต  ชื่อเขาบลินเยา (Blinyaw)  มีป่าทึบปกคลุมจนถึงยอด  ข้าพเจ้าเตรียมการจะขึ้นเขาเพื่อไปบุกเบิกถากถาง  ราชาทรงมอบพรานคู่พระทัยสองคนให้เป็นเพื่อนเดินทาง  และยังมีคนงานชาวมลายูอียี่สิบคน  ทุกคนมีขวานประจำมือ  ช่วงแรกที่เริ่มปีนเขานั้นป่าทึบเสียจนมองอะไรไกลตัวไม่เห็น  หนทางก็ขรุขระขึ้นสูงลงต่ำน่าเวียนหัวสำหรับนักไต่เขามือใหม่  นึกว่าขึ้นถึงยอดเขาแล้วเป็นหลายครั้ง  แต่เมือถึงพลบค่ำปรากฏว่ายังอยู่แค่เพียงลาดเขาเท่านั้นเอง

เราถางที่ริมธารน้ำใส  ตั้งกระโจมสำหรับพักแรมคืน  พฤกษชาติในบริเวณนั้นมีนานาพันธุ์  รวมทั้งเฟิร์นหลายชนิด  ตั้งแต่ใบเล็กละเอียดจนเป็นต้นสูงลิ่ว  นกก็มีมากมายสำหรับนกยูงใหญ่นั้นเห็นบิดผาดหนีไปไม่น้อยกว่าครั้งหนึ่ง  ชะนีส่งเสียงไทยสลับกับเสียงนกหัวขวานคล้ายเจาะไม้เป็นจังหวะ  ชาวมลายูมีตำนานเล่าว่านกชนิดนี้ชาติก่อนเป็นผู้หญิงที่เกียจคร้านและไม่เชื่อฟังสามี  จึงต้องสาปให้คร่ำครวญไม่รู้หยุด  พอตะวันรอนเสียงเหล่าแมลงก็ดังแซ่สนั่นจนน่าแปลกใจว่าสัตว์ที่มีขนาดเพียงเท่านั้นไม่น่าทำเสียงได้ถึงเท่าที่ได้ยินเลย  รุ่งขึ้นอีกวันเราจึงขึ้นถึงยอดเขา  ใช้เวลาตัดฟันถากถางต้นไม้อยู่สองวันจึงพอมองเห็นภูมิทัศน์ได้ถนัดตา  แต่ก็นับได้ว่าคุ้มกับความพยายาม  เราสามารถมองเห็นแนวชายฝั่งโดยตลอดจากสงขลามาถึงกลันตัน  เห็นเนินเขาประปรายอยู่ห่างกันสองสามลูกทำให้พื้นทีราบต่ำอันอุดมสมบูรณ์นั้นชวนดูขึ้น  พื้นที่ราบชายฝั่งค่อย ๆ  แคบเข้าเป็นหุบห้วยยื่นเข้าไปตอนในของแผ่นดิน  จนในที่สุดพื้นที่เพาะปลูกก็กลืนหายไปในป่าทึบทีแผ่กว้างตลอดเทือกเขาอันเป็นเสมือนกระดูกสันหลังของคาบสมุทรมลายู

แผนที่ภูมิภาคแถบนี้  แสดงให้เห็นแม่น้ำสำคัญทุกสายที่ไหลลงช่องแคบมะละกาฟากหนึ่ง  และไหลลงอ่าวไทยอีกฟากหนึ่ง  ประกอบกันเข้าแล้วแลดูเป็นที่ราบลุ่มกว้างน่าอัศจรรย์ใจ  แต่ถึงกระนั้นแถบถิ่นนี้ก็ยังมีภูเขาที่ได้ชื่อว่าสูงที่สุดในคาบสมุทรมลายู

หลังจากเสร็จงานบนภูเขา  ซึ่งรวมถึงการรังวัดละติจูดและอาซิมุทด้วยแล้ว  แทนที่จะกลับไปโกตาบารู  เราลัดทางข้ามเขาไปบรรจบเส้นทางเดินเท้าจากโกตาบารูไปยะรอม (Yarom)  เลยทีเดียวเพื่อมิให้เสียเวลา

ทางที่ไปมีที่เรียกว่าถนนได้จริงเพียง ๙ ไมล์  เป็นผลงานของบริษัทชาวอังกฤษที่เคยมาทำเหมืองตะกั่วแถบนี้  ปัจจุบันเหมืองดังกล่าวชาวจีนเป็นผู้ทำ

ระหว่างกำลังไต่ลงตามทางชัน  ช้างเผือกหนึ่งเกิดตื่นไล่ชนอีกเชือกหนึ่งคว่ำไปนับว่าโชคดีอย่างมหัศจรรย์ที่อาฟุกคนรับใช้ของข้าพเจ้าไม่ได้เป็นอะไรไปด้วย  ตอนนั้นเขากำลังสูบฝิ่นอยู่ตามปรกติ  เลยพาลตกใจหายเมา
ที่ยะรอม วันที่ ๓ สิงหาคม ข้าพเจ้าได้พบนายบอสโซโลว์ (Mr.Bossolow) เจ้าพนักงานรัฐเประ ซึ่งเดินทางมาเตรียมสถานที่ไว้ต้อนรับ เซอร์ฮิว โลว์ (Sir Hugh Low) ผู้ว่าการรัฐเประซึ่งกำลังเดินทางร่วมกับผู้สำเร็จราชการ ในชั่วไม่กี่วันนั้นยะรอมกลายเป็นศูนย์กลางของกิจกรรมขนานใหญ่ ราชาเมืองรามันก็เสด็จมาด้วยขบวนช้างกับผู้มาติดตามอีกห้าสิบห้านาย และได้ทรงแบ่งคนมาให้ข้าพเจ้าบ้าง เราพากันไปขึ้นภูเขาสูงในบริเวณใกล้ ๆ ชื่อว่าออกุส (Augus) ปรากฏว่าเมฆมากจนข้าพเจ้าต้องนั่งคอยอยู่ทั้งคืนกว่าจะทำการรังวัดได้ เพราะพอเลือกได้ดาวที่จะใช้สำหรับรังวัดนอกเมริเดียนเมฆเป็นต้องลอยเข้ามาบดบังเสียร่ำไป ต่อรุ่งเช้าขึ้นอากาศจึงค่อยสว่างใส ข้าพเจ้าสามารถมองเห็นภูเขาใหญ่ที่ต้นน้ำปะหังและประเป็นครั้งแรก ความสูงของภูเขานั้นเห็นจะเกิน ๘,๐๐๐ ฟุต เหนือระดับน้ำทะเล มีป่าทึบเป็นที่อาศัยพักพิงแหล่งสุดท้ายของชาวป่าเผ่าซาไกเชื้อสายเนกริโต กล่าวกันว่าแม่น้ำเประเป็นเส้นกั้นเขตแดนระหว่างเผ่าซาไกกับซามัง ทั้งสองเผ่านี้ชาวมลายูเรียกรวม ๆ กันว่าโอรังอุตัง (คนป่า)
ซาไกนั้นคล้ายคลึงกับชาวเกาะอันดามันมาก  ต่างแต่ที่สูงกว่า  เส้าผมอ่อนดำสนิทและหยิก  ส่วนซามังมีผมหยาบเส้นตรง  ผิวดำ  และดูขรุขระ  ทั้งสองพวกมีตาหลุกหลิก  ป่าเถื่อน  ไม่รู้จักเพราะปลูกหรือก่อสร้างบ้านเรือน  เที่ยวเก็บหาพืชผลของป่ากิน  ทิ้งร่องรอยที่อยู่ที่นอนไว้น้อยที่สุดและไม่สนใจจะมีที่มุงที่บังอย่างหนึ่งอย่างใดเลย  บางคราวชนพวกนี้จึงจะเข้ามาติดต่อกับชาวมลายูในหมู่บ้าน  นำอ้อยกับยางมาแลกข้าว  ที่รับจ้างทำงานก็มีบ้างและในเประปรากฏว่ามีพวกชาวป่าเข้ามาตั้งบ้านเรือนในหมู่บ้านบ้างเหมือนกัน

วันที่ ๒๒ สิงหาคม  เซอร์ฮิว  โลว์  เดินทางมาถึงยะรอมด้วยพาหนะช้างอย่างสามัญ  มีเสมียนเป็นผู้นั่งถ่วงน้ำหนักมาในเบาะอีกฟากข้างหนึ่ง  ในเประนั้นไม่มีคนคิดปรับปรุงการเดินทางด้วยช้างให้มีความสะดวกสบายขึ้นเลย  เบาะที่นั่งนั้นวางพาดบนหลังช้างโดยไม่มีหลังคาบัง  ทำให้ผู้นั่งมองรอบตัวได้โดยไม่มีสิ่งกีดขวางก็จริงอยู่  แต่ในคาบสมุทรนี้ภาพที่มองเห็น  ได้จากหลังช้างดูจะไม่คุ้มกับที่จะต้องเปียกฝนหรือโดนหนามเกี่ยว

ชาวมลายูเรียนรู้วิชาฝึกช้างจากชาวสยาม  เพราะฉะนั้นในรัฐสลังงอร์และรัฐอื่น ๆ ที่อยู่นอกเหนืออิทธิพลของสยามจะมีก็แต่ช้างเถื่อนเท่านั้น

เซอร์ฮิว  โลว์  เข้าร่วมประชุมกับข้าราชการฝ่ายสยาม  และดูเหมือนจะได้เสนอว่าสันปันน้ำแห่งสำคัญนั้นเป็นเส้นเขตแดนที่แท้จริงของเประ  การประชุมสิ้นสุดลงในวันที่ ๒๕ ครั้นวันที่ ๒๖ ร้อยโทยอร์ช  คอลฟิลด์ (Lt.George Caulfield)  เจ้าพนักงานฝ่ายเประและบุช  ก็ออกเดินทางร่วมกับข้าพเจ้าเพื่อไปสำรวจท้องที่ระหว่างสันปันน้ำที่กล่าว  กับเส้นเขตแดนปัจจุบัน

ราวตะวันพลบเราเริ่มได้ยินเสียงเหมือนปืนใหญ่ดังโครมครืนติดต่อกันไปตลอดคืนและอีกตลอดวันถัดมา  พวกชาวมลายูอธิบายว่าเป็นเพราะภูตผีรบกันในกลางอากาศ  แต่ที่แท้จริงนั้น  เป็นเสียงระเบิดของภูเขาไฟกรากะตัวในชวา
เราตัดข้ามสันปันน้ำลงไปในบริเวณลุ่มน้ำเประ  ทางที่เดินลำบากกันดาร  ป่าก็ทึบก่อนถึงบาลอม (Balom) ซึ่งอยู่เกือบจะต้นน้ำมีหมู่บ้านเล็ก ๆ  อยู่เพียงแห่งเดียว  ที่บาลอมนั้นมีกระท่อมมุงหญ้าอยู่ไม่กี่หลัง  เป็นทางผ่านระหว่างระแงะ  กลันตันและเประ

การสำรวจเป็นงานที่น่าเหน็ดเหนื่อย  ความสำเร็จขึ้นอยู่กับดินฟ้าอากาศ  ในภูมิประเทศที่ฝนชุกเช่นนี้จำเป็นต้องย้ายที่ตั้งอยู่เป็นประจำ  และการย้ายที่ไปในบริเวณอันยังไม่มีคนเคยไปนั้นยิ่งยุ่งยากน่าเบื่อหน่ายเป็นที่สุด  คอลฟิลด์ร่วมเดินทางไปกับข้าพเจ้าจนถึงยอดใกล้บาลอมซึ่งนับว่าเป็นโชคดี  เพราะคนงานชาวมลายูของข้าพเจ้าล้าหลังอยู่ห่าง  เป็นภาระแก่บุชกว่าเขาจะพาบางคนขึ้นมาถึงยอดเขาได้ก็ล่วงเข้าห้าทุ่มคืนนั้น  คอลฟิลด์ขอแยกทางไปในวันรุ่งขึ้น  เนื่องจากเขาเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายเประ  และการที่เขาอยู่เป็นเหตุให้พวกคนงานสมลายูยกเป็นข้ออ้างสำหรับทำการขัดขวางต่าง ๆ  ข้าพเจ้าออกจะเสียดายที่ต้องขาดเพื่อนที่มีไมตรีต่อกันไปเสีย  เมื่อทำงานบนเขาเสร็จ  ข้าพเจ้าลงมาถึงบาลอมแล้วก็รีบออกเดินทางต่อไปยังบริเวณต้นน้ำเประโดยทันที
ช่วงแรกของการเดินทาง  เราต้องผ่านเหมืองทองซึ่งเจ้าของเป็นคนจีนที่เคยไปทำเหมืองในออสเตรเลีย  บนตลิ่งซึ่งสูงชันลิ่วลึกลงไปสักสามสิบฟุต  ตัดหน้าดินเห็นชั้นหินดินดานหินเขี้ยวหนุมาน  หินทรายและหินอัคนีนั้นมีสายน้ำฉีดสินแร่ลงไปในคูข้างล่าง  มีคนงานใช้เท้าและท่อนเหล็กกวนโดย  น้ำและฝุ่นละอองถูกระบายลงไปแม่น้ำ  เหลือสินแร่ไว้ตรวจค้นหาทอง

แควสายสำคัญของแม่น้ำเประเป็นวังน้ำลึงหลายห้วงติดต่กัน  ในเมื่อป่าทึบมากและเราไม่มีแรงคนสำหรับถางทาง  เราจึงจำเป็นต้องยึดแนวลำน้ำเป็นหลัก  บางคราวต้องว่ายน้ำไป  แม้แต่ช้างบรรทุกสัมภาระก็ยังไม่ลำบาก  เราพบทรากเหมืองทองเก่าหลายแห่งที่ถูกทิ้งร้างไว้ไม่รู้ว่านานเท่าใดแล้ว  มีทางเดินเชื่อมระหว่างเหมืองทองที่บาลอมกันที่โต๊ะโมะ  ผ่านหุบเขาเตโลเบน (Teloben)  ซึ่งพวกจีนไปตั้งทำเหมืองอยู่เหมือนกัน  พวกทำเหมืองเหล่านี้กำลังต่อต้านไม่ยอมเสียภาษีให้แก่ราชาเมืองระแงะ  พวกเจ้าพนักงานไม่มีหนทางจะบังคับได้ด้วยวิธีอื่นนอกจากตัดเสบียง  แต่ในเมื่อพวกจีนที่โต๊ะโมะยังได้รับเสบียงจากบาลอมก็ยังแข็งขีนได้ต่อไป

ในเมื่อจวนจะสิ้นฤดูแล้วงานยังไม่ก้าวหน้าไปมากนัก  เราก็ผูกแพล่องลงมาบาลอมถึงที่นั่นเวลาสี่ทุ่ม  รุ่งขึ้นวันที่ ๒๕ กันยายน  กว่าจะได้ช้างมาเริ่มเดินทางได้ก็ตกบ่าย  วันนั้นอากาศชื้นแฉะเหลือร้ายกว่าจะถึงที่พักแรมก็เลยพลบ  ตอนจวนรุ่งคนงานมลายูคนหนึ่งถูกเสือคาบไป  ข้าพเจ้าได้ยินเสียงร้อยให้ช่วย  วิ่งออกมาไต่ถามเห็นเงียบก็นึกสรุปเอาว่าคงเป็นการล้อกันเล่น  แต่พอคนงานเริ่มขานชื่อเรียกกันจึงเกิดรู้ขึ้นว่าหายไปคนหนึ่ง  ถูกลากออกไปจากกลุ่มที่นอนอยู่ด้วยกันหกคนใต้หลังคากูบช้างอันทำด้วยเปลือกไม้  พวกมุสลิมกลัวการที่ศพจะไม่ได้ฝังเป็นที่สุด  และคนที่หายไปนับว่าเป็นคนดีมาก  ข้าพเจ้าจึงตัดสินใจว่าจะต้องหาศพเขาให้พบ  รุ่งเช้าขึ้นเราจึงออกตามรอยเสือ เห็นเลือดหยดเปื้อนพุ่มไม้เป็นทางไม่ช้าก็ได้กลิ่นสาบ  ชาวมลายูสองคนที่ไว้ใจได้ค่อยหมอบคลานเข้าไปพร้อมกับข้าพเจ้าปรากฏว่าเสือได้ลากทรากเหยื่อของมันลงลาดเขาไปถึงสามสิบหลา  และทิ้งไว้ในซุ้มไม้แห้ง ๆ  เราจึงนำศพกลับมายังที่พัก  พวกเพื่อน ๆ  ช่วยกันฝัง  คนที่นอนเคียงอยู่กับคนตายตกใจจนผมหงอกขาวในชั่วคืนเดียวซ้ำพูดไม่ออกอีกด้วย  ต้องส่งขึ้นช้างกลับไปบ้าน
เราผูกแพล่องลงมาตามลำน้ำเประห้าวันโดยไม่พบใครเลยในระหว่างทางที่กวาลา  ตะมังเกา (Guala Tamangaw) สายน้ำแคบเพราะมีแก่งหินกีดขวางใช้แพไม่ได้  ข้าพเจ้าจึงขึ้นเดินบกข้ามไปยังโกรน (Krone) ที่พำนักของราชาเมืองเล็กแห่งหนึ่ง

แม่น้ำในหุบเขานั้นงดงามทุกสาย  พฤกษชาติชอุ่มเขียวรายตลอดแนวฝั่งก็งามชวนตา  แต่ความอ่อนไหวนั้นเห็นจะเหลือน้อยเต็มทีสำหรับคนที่บุกฝ่าป่าทึบมามิใช่น้อยวัน

จากโกรน  ข้าพเจ้าเดินทางต่อไปอิตัน (Itan) ซึ่งมีคนจีนอยู่ประมาณร้อยคนตำบลนี้ควรเรียกได้ว่าเป็นกับดักมรณะ  ที่ที่สะอาดที่สุดดูเหมือนจะเป็นป่าช้า  ข้าพเจ้าต้องตั้งค่ายแรมคืนอยู่ระหว่างหลุมฝังศพ  พวกคนงานแถบนั้นดูเหมือนถูกพามาจากเอ้หมง(Amoy) และคงจะแทบไม่เคยออกจากเหมืองไปไหนเลย  ส่วนมากเป็นแผลเฟอะเนื่องจากธาตุตะกั่วในน้ำ  ที่พวกจีนไม่ยอมจ่ายภาษีก็โดยอ้างเหตุว่าไม่ได้รับการคุ้มครองให้พ้นภัยจากโจร  และไม่มีถนนใช้เป็นเส้นทางคมนาคม  เราเดินทางไปจนถึงโกร (Kro) อันเป็นที่ราบสูงกว่าระดับน้ำทะเลประมาณพันฟุต  แม่น้ำบริเวณนั้นไหลเอื่อย  และพอบรรจบกับแม่น้ำรู (Sungai Rue) แล้วก็ไหลวกลงใต้ดิน

นับว่าข้าพเจ้าทำงานสำเร็จแล้ว  และได้เห็นชัดว่าข้อเรียกร้องของรัฐบาลเประกินความเพียงใด  ดินแดนที่รัฐเประอ้างสิทธิปัจจุบันอยู่ในปกครองของรามัน  กินที่ไปถึงจุหงันปันยัง (Jugan Panjang) แก่งยาว  ในลำน้ำเประแล้วเส้นเขตแดนทอดตามแนวเขาไปทางตะวันออกของสันปันน้ำใหญ่  ตะวันตกของกุหนุงอินัส (Kunung lnas) รวมเป็นพื้นที่ถึงสองพันตารางไมล์

ข้าพเจ้าล้มเจ็บเป็นไข้อีกครั้ง  ต้องลงเรียกเรือเล็กล่องตามลำน้ำบาลิง (Baling) ไปกับบุช  ไปรักษาตัวอยู่กับหมอแฮมเชอร์ (Dr.Hampshire) ที่ปีนังจนหายในไม่ช้า  และได้เดินทางผ่านสิงคโปร์กลับถึงบางกอกในวันที่ ๙ พฤศจิกายน


๕.สู่ชายแดนอิสาน - วันโสกันต์

ระยะนี้  ข้าพเจ้าเริ่มเตรียมการจะเดินทางออกจากสยาม  แม้ว่าจะได้เคยรู้สึกกระตือรือร้นที่จะทำงานมาก่อน  แต่ก็ดูจะมีหวังน้อยเหลือเกินที่จะทำงานสำคัญใด ๆ  ให้สำเร็จได้  อุปสรรคหลักไม่ใช่ดินฟ้าอากาศหรือความยากลำบากซึ่งเป็นธรรมดาสำหรับคนในอาชีพนี้  แต่เป็นการขัดขวางจากเจ้าพนักงานซึ่งมีตำแหน่งเป็นผู้ควบคุมการสำรวจโดยตรงคนเหล่านี้มองเห็นข้าพเจ้าเป็นแต่คนรับใช้ระดับสูงหน่อย  มีหน้าที่ช่วยเสริมความสำคัญของเขาขึ้นมา  ผลก็คือการปะทะซึ่ง  แน่ละ  ในเมื่อมีแต่ตัวคนเดียว  ข้าพเจ้าก็ต้องยอมทน  ถึงล้มเจ็บลงด้วยความกังวลเป็นหลายครั้ง

อย่างไรก็ตาม  ปรากฏว่าพระเจ้าแผ่นดินสยามทรงมีความสามารถอย่างสูงในเชิงดึงดูดใจ  เป็นอันว่า  ข้าพเจ้าต้องเปลี่ยนใจเป็นเตรียมการเดินทางอีกครั้งหนึ่งเพื่อปฏิบัติงานตามพระราชประสงค์

รายงานข่าวที่เข้ามาถึงกรุงบางกอกเกี่ยวกับพวกฮ่อเข้ามารุกรานชายแดนสยามด้านตะวันออกเฉียงเหนือนั้น  ออกจะสับสน  หมู่บ้านที่ถูกปล้น  ถูกทำลายก็ไม่มีผู้รู้แน่ว่าตั้งอยู่ที่ใด  พระเจ้าแผ่นดินจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ๆ  ให้ข้าพเจ้านำคณะออกไปสำรวจภูมิภาคที่กำลังเกิดเรื่องวุ่นวายอยู่นั้น  แม้จะรู้ดีว่ายังมีความขาดตกบกพร่องอยู่มาก  แต่ข้าพเจ้าก็เห็นว่าเป็นโอกาสที่ไม่ควรละ  ภูมิภาคชายแดนดังกล่าวเป็นพื้นที่กว้าง  น่าสนใจอย่างยิ่งสำหรับการวิจัยเชิงภูมิศาสตร์  เพราะเป็นที่ที่ยังไม่มีชาวยุโรปคนใดเคยเดินทางไปถึงในแผนที่ปรากฏเป็นเพียงที่ว่างเปล่า  ไม่มีรายละเอียด

เนื่องจากตำบลที่เราจะต้องทำงานมีโจรผู้ร้ายชุกชุม  จึงมีการจัดทหารคุ้มกันจำนวนสองร้อยนายส่งไปให้อยู่ในความควบคุมของลีโอโนเวนส์ (Leonowens) ผู้นำกองกำลังป้องกันส่วนท้องถิ่น

บุชกระตือรือร้นอยากไปด้วย  ถึงกับขอร้องให้หมอประจำตัวมารับประกันว่าไปได้นอกนั้นข้าพเจ้ายังเลือกชายชาวสยามที่ได้ฝึกฝนการสำรวจแล้วนั้นไปด้วยอีกเจ็ดนาย

สิ่งที่ต้องทำต่อจากนั้นคือเลือกวันเวลาที่มีโชคสำหรับออกเดินทาง  ในสยามนี้  ถือกันว่าวันและเวลามีอิทธิพลต่อการกระทำของมนุษย์ได้อย่างแปลกประหลาด  ข้าพเจ้าได้เคยเห็นข้าราชการไทยนั่งซึมอยู่บนหลังช้าง  จ้องดูเข็มนาฬิการาคาสิบห้าชิลลิงเป๋งทีเดียว  เพื่อให้สามารถออกคำสั่งเคลื่อนขบวนได้ตรงเวลาเผง
เราออกเดินทางเที่ยงตรง  วันที่ ๑๖ มกราคม ๑๘๘๔  นับเป็นวันโชคดีพิเศษ  ตรงกับงานฉลองเนื่องในโอกาสโสกันต์เจ้าหญิงราชธิดาสามพระองค์  เด็ก ๆ  ชาวสยามที่ตระกูลดีจะได้ผมยามทกลางศีรษะขมวดเข้าเป็นปมและปักปิ่นทองงามหรู  ทั้งมักจะรัดมาลัยดอกไม้ตูมสีขาวมีกลิ่นหอม  ทำให้ดวงหน้าน้อย ๆ  ไร้เดียงสานั้นแลดูอ่อนโยนน่ารัก  พิธีตัดผมนั้นจะจัดขึ้นเมื่ออายุได้สิบเอ็ดหรือสิบสามขวบ  สำหรับเด็กหญิง  พิธีนี้มีความสำคัญเป็นรองแต่เพียงพิธีแต่งงานเท่านั้น  ญาติสนิทมิตรสหายที่ได้รับเชิญจะนำเงินทองของขวัญมาให้และสิ่งเหล่านั้นก็จะได้ใช้เป็นสินสมรสเมื่อถึงคราวแต่งงานต่อไป  

งานโสกันต์เกศาของเจ้าหญิงถือเป็นพิธีฉลองใหญ่  กินเวลาอย่างน้อยอาทิตย์หนึ่ง  การบรรยายรายละเอียดของพิธีนั้นเหลือที่จะทำให้  ในฐานะผู้ดู  ท่านย่อมจะเป็นเช่นเดียวกับทุกคนที่นิ่งอึ้งตะลึงตะไลเมื่อได้เห็นขบวนแห่ราชการผู้มีตระกูลสวมเสื้อผ้าบางเบาฟ่องและหมวกขาวทรงสูงแหลมเดินนำ  ถือว่าแทนพราหมณ์  ถัดไปเป็นหมู่เด็กหญิงสวมเสื้อผ้าทอสอดเส้นทอง  ถือดอกบัวทอง  แล้วจึงถึงเจ้าหญิงพระราชธิดา  ทรงภูษาทองประทับบนเสลี่ยงปิดทองประดับเพชรพลอย  ท้ายขบวนเป็นหญิงสาวนานชาติที่อยู่ในพระราชอาณาจักร  ล้วนแต่งกายตามแบบประจำเชื้อชาติของตน  มีทั้ง  มลายู  พม่า  เขมร  และญวน  พระเจ้าแผ่นดินแต่งพระองค์เต็มยศประทับคอยอยู่ที่ประรำพิธี  ทรงเป็นผู้ตัดพระเกศาปอยแรกออก  แล้วบรรดาเจ้าชายจึงเข้าช่วยโกนพระเกศาทั้งหมด


๖.  จากบางกอก สู่โคราช (Korat)
แม่น้ำเจ้าพระยา (The Me Nam Chuo P'ia) เป็นแม่น้ำใหญ่ คำว่าแม่น้ำเป็นคำบ่งประเภท และชื่อเจ้าพระยานั้นแสดงว่าเป็นแม่น้ำสายสำคัญของสยามราชอาณาจักร ชาวยุโรปที่แรกมาถึงย่อมอดเสียมิได้ที่จะเห็นว่าแม่น้ำนี้งามน่าชม แต่แม้ว่าจะอยู่มานานจนชินตาแล้ว ก็ยังเห็นมีแง่มุมใหม่ ๆ ที่น่าสนใจและน่าประทับใจเพิ่มเติมอยู่มิได้ขาด ตลิ่งอันต่ำนั้นมีไม่ผลปลูกอยู่สะพรั่ง ตันมะพร้าวและหมากที่ขึ้นอยู่เคียงบ้านเรือนไม้ให้ร่มเงา แลเห็นยอดโอนไสวไปตามลม หลังคาวัดแวววับจับแสงแดดเมื่อแลลอดใบไม้ไปเห็นเข้าก็ดูดุจภาพลวงตา ยอดเจดีย์อันงามสง่าสูงเหนือแนวไม้ ที่แลเห็นเป็นครั้งคราวก็สวยสะดุดตาน่าตื่นใจ ทุ่งนากว้างใหญ่แลลิบสุดตา มีเทือกเขาหินปูนเตี้ย ๆ สลับสลอนเป็นแนวกั้นอยู่สุดขอบฟ้า ที่นั่นคือลพบุรี และพระบาทอันเป็นสถานศักดิ์สิทธิ์สำหรับจาริกแสวงบุญ
เรือกลไฟที่เข้ามาถูกร่องน้ำแล้วอาจแล่นด้วยความเร็วเต็มที่ขึ้นมาถึงกรุงบางกอกได้ทั้งกลางวันหรือกลางคืน  โดยไม่ต้องเกรงว่าจะถูกหินโสโครก  ข้อนี้ต่างจากแม่น้ำในพม่าแต่ที่เพราะเรือกลไฟที่เข้ามาได้จะต้องกินน้ำลึกไม่เกิน ๑๒ ฟุต ๖ นิ้ว  จึงจะผ่านสันดอนได้สะดวก  มีบางคนเสนอให้ขุดลอกสันดอนเสีย  เพื่อว่าเรือใหญ่กินน้ำลึกจะได้แล่นเข้ามาถึงบางกอกโดยสะดวก  แต่ก็มีผู้คนค้านว่าการทำเช่นนั้นจะเป็นผลให้น้ำทะเลไหลเข้ามาจนน้ำที่กรุงบางกอกใช้ไม่ได้  เพราะย่อมเป็นที่รู้กันทั่วไปว่าในช่วงน้ำตายก่อนจะถึงฤดูฝน  กระแสน้ำทะเลที่เอ่อท้นเข้ามาทำให้เกิดน้ำเสียเน่าไปจนถึงเหนือตัวเมืองหลายครั้ง  ทำให้เกิดความไข้ระบาดไปทั่ว  เท่าที่ปรากฏการณ์จะเป็นเช่นที่ว่าหากในปีที่แล้วมานั้นฝนแล้งเข้าด้วย
เราเดินทางไปถึงบางปะอินในเวลาเย็น  จึงจอดทอดสมอแรมคืนที่นั่น
บางปะอินประกอบด้วยเกาะสองเกาะ  เกาะหนึ่งเป็นที่ตั้งพระราชวัง  อีกเกาะหนึ่งมีวัดพุทธศาสนาที่สร้างตามแบบโกธิค  ประกอบด้วยหน้าต่างกระจกสี  ม้านั่งและแท่นบูชาครบชุด  เล่ากันมาว่าที่ตำบลนี้เป็นที่พระเจ้าแผ่นดินโปรดประพาสมาแต่รัชกาลพระเจ้าปราสาททอง  เมื่อ ค.ศ.๑๖๓๑  บนเกาะซึ่งเป็นที่ตั้งพระราชวังในปัจจุบันนี้  ในรัชกาลก่อนมีอาคารเล็ก ๆ  เป็นที่โปรดมาทรงปีนในยามว่างพระราชกิจ  และได้ทรงปลูกต้นมะม่วงไว้ด้วย

พระเจ้าแผ่นดินรัชกาลปัจจุบันจึงทรงอนุรักษ์สถานที่นี้ไว้เป็นที่สำหรับทรงพักผ่อนโดยความรำลึกถึงพระราชบิดา

สองฟากฝั่งระหว่างที่เราเดินเรือทวนน้ำขึ้นไปเป็นทุ่งนาโดยตลอด  ในแม่น้ำมีเรือคับคั่ง  ใบเรือสีขาวแลดูเหมือนปีกนกโฉบว่อนอยู่กับผิวน้ำ  ตลิ่งบางตอนเป็นรูพรุน  เป็นรังของนกกระเต็นและนกกินแมลงขนเขียว  ตัวค่อนข้างโต  บางรูลึกถึง ๘ ฟุต  บ้างก็อยู่บนพื้นตลิ่ง  บ้างก็อยู่ในที่ที่งูเข้าถึงได้ง่าย  แต่คนแถบนั้นเขาว่างูไม่กล้าเข้าไปในรูเช่นนี้เพราะรูนั้นตรงและแคบเข้าไปแล้วออกไม่ได้  เจ้านกสองประเภทนั้นก็ดูคล้ายจะรู้ว่าไม่มีอันตราย  เห็นมันอยู่รวมกันอย่างสันติสุข

เย็นนั้นเราไปถึงบ้านสักแดง (Ban Sak Dang) เป็นท่าขึ้นสำหรับไปพระบาท  และเป็นจุดสุดท้ายที่เรือกลไฟสามารถขึ้นถึง  เวลานั้นกำลังมีการตระเตรียมตัดถนน  ถางป่าเพื่อรับเสด็จ
พระบาทหรือรองเท้าศักดิ์นี้  เป็นหลุมกว้างราว ๒ ฟุต  ยาวราว ๕ ฟุต  บ้างก็อยู่บนพื้นตลิ่ง  บ้างก็อยู่ในโขดหินปูนข้างผาชัน  มีอาคารแบบที่เรียกกันว่ามณฑปครอบอยู่  พื้นภายในคาดด้วยเสื่ออันทอด้วยเส้นเงินที่สานเป็นเปีย  ผู้แสวงบุญจำนวนมากเดินทางมาเยือนทุกปี  บางคนอธิบายว่าที่จริงไม่ใช่รอยเท้า  แต่เป็นสัญลักษณ์ทางศาสนาอย่างหนึ่ง  เราลงจากเรือใหญ่ใช้เรือเล็กแจวต่อขึ้นไปตามลำน้ำซึ่งบัดนี้คดเคี้ยวและตลิ่งสูงชัน

เรามาถึงสระบุรีวันที่ ๑๘ มกราคม  เป็นอันสิ้นสุดการเดินทางน้ำ  ต่อนี้ไปก็เริ่มการบุกเบิก
สระบุรีเป็นเมืองสำคัญในย่านนั้น  แต่ก็เช่นเดียวกับเมืองอื่น ๆ  ของสยาม  กล่าวคือนอกจากวัดกับพระเจดีย์แล้ว  ก็ไม่สิ่งก่อสร้างถาวรใด ๆ อีก  บ้านเรือทำด้วยไม้ไผ่สับกับไม้จริง  จนเจ้าเมืองเป็นอย่างหลังนี้  ไม่มีเมืองใดในสยามที่มีลักษณะว่าตั้งได้มั่นคงแล้ว  ประชาชนดูเหมือนจะยังมีนิสัยชอบท่องเที่ยวตามแบบบรรพบุรุษที่เที่ยวไปทำสงครามตีชิง  หรืออพยพหลบหนีการตีซิงอยู่มิได้หยุดจนไม่มีโอกาสจะก่อตั้งเมืองได้

ในเมื่อปัจจุบันมีทางรถไฟไปถึงสระบุรีแล้ว  คงไม่มีใครย้อนคิดไปถึงว่าก่อนหน้านี้การเดินทางต้องมีการตระเตรียมกันอย่างมากมายเหน็ดเหนื่อยเพียงใด

ในสยามหากมิได้เดินทางทางน้ำ  พาหนะที่ใช้เป็นหลักก็คือช้างและวัว  ช้างนั้นเป็นสิ่งจำเป็นที่ขาดเสียมิได้สำหรับสวัสดิภาพของมนุษย์  ดังนั้นจึงไม่แปลกเลยที่จะได้รับยกย่องเป็นสัญลักษณ์ของชาติโดยเฉพาะอย่างยิ่งช้างเผือก

นักท่องเที่ยวที่เข้าไปดูช้าเผือกในบางกอกออกจะผิดหวังที่ไม่เห็นมีโรงหลวงอันงามสง่าอย่างที่ควร  จานเงินจานทองหรือพิธีบูชาอย่างที่ปรากฏในหนังสือท่องเที่ยวแต่ก่อนก็หามีไม่  นับว่าเป็นการเขียนยกเมฆโดยแท้  แม้แต่ช้างเผือกก็มิได้มีสีขาว  แต่เป็นสีฝุ่น

พวกผู้ชำนาญทั้งหลายพยายามโน้มน้าวให้เห็นกันว่าช้างนั้นที่จริงสีออกคล้ายเถ้าตาเป็นสีชมพู  และเล็บตีนสีขาว  แต่พวกนักท่องเที่ยวก็ได้แต่มองดูเจ้าสัตว์ธรรมดาเฉพาะหน้าพลางตั้งคำถามตัวเองว่า  นี่ละหรือคือช้างที่เลื่องชื่อนักหนาในประวัติศาสตร์
ชาวสยามแบ่งช้างใช้งานเป็นสามรุ่น ใหญ่ กลาง เล็ก สูงสี่ศอกคืบ (เก้าสิบนิ้ว) สามศอกครึ่ง และสามศอกตามลำดับ รุ่นใหญ่บรรทุกได้ ๕๓๐ ปอนด์ รุ่นกลาง ๔๐๐ ปอนด์และรุ่นเล็ก ๒๕๐ ปอนด์ สำหรับทางพื้นราบ หากเป็นแดนเขาก็น้อยกว่านี้ แน่ละว่าไม่มีทางเทียบได้กับช้างอินเดียซึ่งบรรทุกได้เกินพันปอนด์ขึ้นไป อันที่จริงช้างอินเดียกับช้างสยามก็เป็นพันธุ์เดียวกันนั่นเองแยกกันไม่ออก แต่ที่ช้างในอินเดียทำงานได้ดีกว่าก็เพราะได้รับการเลี้ยงดูดีกว่า และกูบบรรทุกของออกแบบได้ดีกว่ามาก ช้างของสยามยังไม่ค่อยจะเชื่องนัก สืบพันธุ์อย่างอิสระแม้จะอยู่ในที่จำกัด

ครั้งหนึ่งระหว่างเดินทางแม่ช้างเชือกหนึ่งคลอดลูกทำให้เสียขบวนไปหมด ข้าพเจ้ามีช้างอยู่ห้าเชือก นางแม่ช้างเรียกเอาช้างพังอีกสองเชือกไปช่วยดูแลลูก ลูกช้างแรกเกิดสูงเพียงสามสิบนิ้ว ความยากจากหัวถึงหางก็ดูจะไม่เกินกว่านั้น อายุได้สองวันก็ดูท่าทางแข็งแรง อาบน้ำแล้วก็นอนพักกลางแดด มีแม่ช้างทั้งสามคอยระแวดระวังอยู่ใกล้ ๆ เสมอถ้าลูกช้างตื่นตกใจแม่ช้างจะกรูกันเข้าล้อมลูกยกงวงชูร่อนคอยต่อต้านผู้บุกรุก

กูบช้างของสยามเป็นแบบที่ได้ปรับปรุงให้เหมาะกับการเดินทาง ทั้งสะดวกสบายกันได้ทั้งแดดฝนและเรียวหนามในเวลาที่บุกป่าฝ่ารุก เวลากลางคืนก็ใช้เป็นที่นอนได้เป็นอย่างดีเพราะอยู่สูงจากดินมากพอ

ความสูงเฉลี่ยของช้างที่โตเต็มขนาดแล้วประมาณ ๙๐ นิ้ว แต่ข้าพเจ้าเคยมีช้างเชือกหนึ่งซึ่งวัดความสูงถึงไหล่ได้ ๑๑๐ นิ้ว พระยาปราบฯ ("P'ia Prap") ในกรุงบางกอกก็สูง ๑๐๕ นิ้ว บางคราวเกเรเอาเรื่อง ชอบเล่นคว่ำรถบรรทุกน้ำ หรือเอางวงคว้าคนเหวี่ยงไปไกลหลาย ๆ หลา

วัวควายดูออกจะมีประโยชน์น้อยเมื่อเทียบกับช้าง แต่การขนส่งภายในประเทศก็ใช้วัวมากอยู่ วิธีบังคับสัตว์เหล่านี้ ใช้ลวดร้อยผ่านรูจมูก และมีแอกไม่ไผ่คู่หนึ่งพาดคร่อมข้างหลัง บางตัวมีหนังเสือหรือหนังหมีประดับ กระจกเงาและหางนกยูงเป็นเครื่องประดับศีรษะด้วย ที่แอกนั้นมีกระดิ่งห้อย ไม่ว่าจะไปแห่งใดก็มีเสียงกระดิ่งดังไพเราะกล่าวกันว่าวัวพวกนี้จำเสียงกระดิ่งได้ เวลาเย็นเมื่อจะต้อนวันเข้าคอก เจ้าของก็จะเขย่ากระดิ่งให้เกิดเสียงเท่านั้น

ระยะทางระหว่างสระบุรีไปโคราชไม่มีที่ใดสนใจเป็นพิเศษนอกจากป่าดงพญาไทซึ่งมีชื่อว่าความไข้รุนแรงอย่างยิ่ง ระหว่างสร้างทางรถไฟคนงานชาวจีนตายไปนับร้อย และกว่าจะเสร็จก็คงต้องตายอีกหลายราย

เช้าตรู่วันที่ ๓๐ มกราคม เราเคลื่อนขบวนมาถึงโคราช กำแพงเมืองทำด้วยอิฐแดงเหมือนเชียงใหม่ ลำพูน และลคร เรารู้ได้ทันทีว่ากำลังจะเข้าสู่เมืองของชาวลาว และบรรดาชาวเมืองก็ต้องตื่นจากหลับด้วยเสียงแตรก้องประสานเสียงฝีเท้าของทหาร


๗. ตัวเมืองโคราช และโบราณสถาน

ราวแปดโมงเช้าเราจึงตั้งค่ายพักนอกตัวเมืองเสร็จ ต่อจากนั้นจึงได้เยี่ยมเคารพพระยาราชนรากุล (P'ia Rajnarakun) นายพลสยามผู้บัญชาการกองทัพ พร้อมทั้งได้นำลายพระหัตถ์เจ้าชายดำรง ๆ ที่ประทานไปสำหรับแนะนำตัวพวกเราไปมอบให้ด้วย เราได้รับการปฏิสันถารอย่างมีไมตรีจิตเป็นอันมาก เห็นได้ชัดว่าความในลายพระหัตถ์นั้น คงได้ขอร้องท่านนายพลให้ความช่วยเหลือแก่เราทุกอย่างเท่าที่จะต้องการ เนื่องจากเราเป็นชาวยุโรปที่ยังไม่คุ้นกับประเพณีไทย

พระยาราชฯ เล่าให้เราฟังว่า บิดาของท่านเป็นผู้ว่าการมณฑลฝ่ายเหนือคนก่อนซึ่งได้นำทัพมารบกับพวกฮ่อเมื่อสิบหรือสิบเอ็ดปีที่แล้ว ตัวท่านเองได้บัญชาการกองหน้าทำลายกำลังหลักของพวกฮ่อที่ทุ่งเชียงคำได้สำเร็จ

เราเดินทางเข้าเมืองกับพระยาราชฯ กำแพงเมืองขนาดใหญ่คงสร้างด้วยแรงคนเป็นอันมาก แต่ดูออกจะทรุดโทรมทั่วไป มีประตูใหญ่อยู่สี่ประตู ประตูทางทิศใต้ชื่อประตูผีเป็นทางนำศพออกจากเมือง พวกที่เชื่อโชคลางพยายามหลีกเลี่ยงเสมอ แต่พระยาราชฯ ไม่สนใจเรื่องเช่นนี้ เราจึงเข้าทางประตูนั้น
ตัวเมืองด้านเหนือกับด้านใต้มีความยาวประมาณ ๕,๔๐๐ ฟุต  ส่วนทางทิศตะวันออกกับตะวันตก  กว้างประมาณ ๓,๒๐๐ ฟุต  กล่าวตามคำบอกของท่านผู้บัญชาการฯ  ด้านใต้มีป้อมเล็กสามป้อม  ป้อมปืน ๑๕ แห่ง  ตลอดแนวกำแพงมีป้อมปืน ๑,๔๐๐ แห่ง  ช่องปืนใหญ่ ๗๓ ช่อง  ด้านเหนือมีป้อมสี่ป้อม  ป้อมปืน ๑,๑๐๗ แห่ง  ช่องปืนใหญ่ ๖๐ ช่อง  ด้านตะวันออกและตะวันตกมีสองป้อมปืน ๘๖๑ แห่ง  ตลอดแนวกำแพง  กำแพงนั้นพอกดินหนา  มีคันสูงจากพื้นถนนถึง ๑๕ ฟุต  คูเมืองโดยรอบกว้างถึง ๒๐๐ ฟุต

ผ่านประตูด้านตะวันตกออกไป  ก็ถึงหมู่บ้านจีน  มีคนจีนประมาณ ๘๐๐ คน  ทำอาชีพค้าขายทุกอย่าง  รวมตลอดถึงอาชญากรรมต่าง ๆ  ด้วย  บ่อนการพนัน  ดื่มเหล้าสูบฝิ่น  เป็นต้น

หัวหน้าชาวจีนได้กล่าวว่า  ถ้าซ่อมทางระหว่างโคราชกับสระบุรีให้ดี  จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศเป็นอันมากในด้านการค้า  สินค้าหลักได้แก่ข้าว  น้ำตาล  หนังและเขาสัตว์

รอบเมืองเป็นนาข้าว  ทิศเหนือมีแหล่งเกลือสินเธาว์  น้ำในคลองบริบูรณ์ (Klong  Boribun) ตอนเหนือนั้นเน่า
ซากวัดพนมวัน (Wat Nomwan) อยู่ห่างจากตัวเมืองโคราชในระยะเดินทางไม่เกินสองชั่วโมง ถึงจะไม่ใหญ่โตแต่ก็น่าสนใจคุ้มเวลา ตัววัดเป็นสี่เหลี่ยมจตุรัส กำแพงซึ่งยาวด้านละ ๒๐๐ ฟุต สร้างจากหิน (ดูเหมือนหินทราย) ตัดเป็นก้อนสี่เหลี่ยมผืนผ้ายาว ๘ ฟุต กว้าง ๓ ฟุต และสูง ๒ ฟุต ปัจจุบันทลายลงมากองเรี่ยรายทั่วไป หินแต่ละก้อนมีรูกลมลึกประมาณสองสามนิ้ว และมีหน้าเรียบโดยไม่มีร่องรอยว่าได้ใช้เครื่องมือขัด ประตูด้านตะวันออกนั้นงดงามมาก ประกอบด้วยจั่วเรียบ ๆ 

และหินแท่งซึ่งดูดคล้ายเสาเซาะร่อง บนดินเกลื่อนกลาดด้วยแผ่นหินอันน่าจะเป็นเครื่องประดับประตู ลายสลักแห่งหนึ่งเป็นรูปกบมีฟันเหมือนคน คาบงูไว้ข้างปากด้านละตัว นอกนั้นมีลายดอกไม้เครือเถาเกี่ยวพันกันอย่างงดงาม ตัวโบสถ์แบ่งเป็นสองส่วน เชื่อมกันด้วยทางเดินมีหลังคาครอบ อาคารด้านตะวันออกดูจะเก่ากว่า แต่มีขนาดและลักษณะเชิงสถาปัตยกรรมเหมือนกัน หน้าต่างมีเสาประดับฉาบปูน เห็นจะสร้างขึ้นภายหลัง ในอาคารเป็นโถงเพดานโค้ง ไม่เห็นใช้ปูนในที่ใดเลย ผนังใช้แทนหินซ้อนกันขึ้นไป ความยาวของโบสถ์ ๖๐ ฟุต ส่วนกว้างที่สุด ๕๐ ฟุต ภายในมีรูปเคารพของฮินดู ส่วนใหญ่ทำด้วยหิน บางรูปผุก่อนไปตามเวลา ที่ผนังตอนหนึ่งสลักเป็นอักษร แต่ไม่สามารถอ่านได้แล้ว เข้าใจว่าเป็นบันทึกเรื่องราวที่ไม่สำคัญบางอย่างเกี่ยวกับกำเนิดวัด เพราะผู้สร้างวันนี้ดูจะเป็นผู้มีรสนิยมประณีตอยู่ และตำแหน่งที่พบตัวอักษรนั้นเป็นที่ที่ไม่น่าจะเลือกสำหรับจารึกข้อความสำคัญใด ๆ อันที่จริงเมื่อเอาตะเกียงส่องดูก็พอจะเห็นได้เป็นเค้า ๆ แต่ความมืดและความลึกลับของสถานที่ก็ยิ่งทำให้หดหู่ใจ

ในมณฑลโคราชมีซากโบราณสถานอยู่ทั่วไป เพราะดินแดนนี้งคงเคยเป็นชุมชนที่เจริญรุ่งเรืองมาแล้วครั้งหนึ่ง


๘. ที่ราบสูงโคราช สู่หนองคาย

เที่ยวแรก เราเดินทางจากโคราชไปท่าช้าง (Tachang) ซึ่งอยู่ห่างออกไป ๑๑ ไมล์และตั้งค่ายพักที่นั่นโดยจอดเกวียนเรียงต่อกันเป็นจตุรัส ข้างในวางกูบช้าง วัวและช้างนั้นผูกไว้ข้างนอกวง มีหญ้าน้ำเป็นเสบียงพร้อม

วันต่อมา เราออกเดินทางไปพิมาย (Pimai) ใช้เวลาวันหนึ่งตรวจสอบซากโบราณสถานที่น่าสนใจในบริเวณนั้น แล้วจึงเดินทางกลับ ภูมิประเทศเป็นที่ราบ มีป่าไม้ประปรายส่วนใหญ่ยังทำการเกษตรไม่เต็มที่ ระหว่างทางมีสะพานใหญ่สองแห่ง

ถึงตอนเย็น เราข้ามแม่น้ำมูล (Pimun) ซึ่งมีความกว้างพอสมควร เข้าสู่ตัวเมืองพิมาย กำแพงเมืองเก่าพังจนแทบไม่เหลือทรากแล้ว แต่ทั้งเมืองดูร่มรื่นด้วยมะพร้าวและไม้ผลต่าง ๆ

เช้าวันรุ่งขึ้น เราไปเที่ยวชมซากวัดพระปรางค์ (Wat Pra Prang) ซึ่งเป็นวัดเก่าแม้จะปรักหักพังไปมากแล้วก็ยังมีลักษณะคุ้นตาอยู่ หน้ามุขและกำแพงมีช่องเจาะสำหรับติดเทียนคล้ายโบสถ์ฮินดู บริเวณโดยรอบประมาณ ๒๐๐ ตารางหลา มีกำแพงกั้นเป็นหินแท่งเหมือนที่โคราช แต่มาตราส่วนขยายใหญ่กว่าทุกอย่าง นอกจากรูกลม ๆ ลึกราวสองนิ้วแล้ว ยังมีลอยระลึกเป็นรูปตัวทีซึ่งปลายเส้นด้านล่างจดริมของแท่งหินด้วย ไม่ทราบแน่ว่ามีไว้เพื่อประโยชน์ใด อาจใช้สำหรับให้เข้ากับเครื่องยก หรือเป็นรองที่พิมพ์ก็ได้ ตัวโบสถ์นั้นตั้งอยู่กลางบริเวณมีรูปเป็นสี่เหลี่ยม แต่ละมุมเป็นหอสูงอยู่แยกกัน ข้าพเจ้าได้เข้าไปในหอแห่งหนึ่ง และได้พบว่าพื้นนั้นถูกขุดหาสมบัติจนพรุนไปทั่ว รูปเคารพที่เป็นหินสลักล้มคว่ำกระจัดกระจาย และบ้างก็ขาดเศียร รูปพระพรหมประทับนั่งขนาดใหญ่คว่ำลงมาจากฐาน เศียรที่ขมวดมุ่นโมลีถูกต่อยออกแล้ว และที่ฐานนั้นมีรอยเลื่อยใหม่ ๆ สด ๆ ราวกับเพิ่งทำเมื่อวาน นอกจากนี้ รูปสลักที่น่าสนใจก็ได้แก่รูปหญิงสามคนกำลังคุกเข่า
ในส่วนตัวโบสถ์  แท่งหินที่ประตูสูงถึง ๙ ฟุต  และกว้างเกือบ ๔ ฟุต  สลักลวดลายตกแต่งอย่างงดงามลงมาจนถึงพื้น  ลายเหนือประตูนั้นดูคล้ายกับที่พบ ณ โบโรบุดูร์ในชวา  งามสง่าน่าชม  และน่าเสียดายที่ไม่รู้ถึงกำหนดและจุดประสงค์ของการก่อสร้าง  ต่อมาภายหลังเจ้าเมืองผู้เป็นนักรบเก่าเคยปราบกบฏเขมรเมื่อ ค.ศ.๑๘๔๐  ได้บอกแก่ข้าพเจ้าว่าที่นั่นมีหินก้อนหนึ่งที่มีรอยเท้าคนและรอยตีนสุนัข  แต่ข้าพเจ้าไม่มีโอกาสจะได้เห็น  เพราะต้องรีบเดินทางกลับตั้งแต่บายสามโมง

แม้ว่าจะเป็นช่วงปลายฤดูฝน  เช้าวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์  ฝนที่ตกในเวลากลางคืนได้ช่วยให้อากาศยามเช้าเย็นชื่นสดใส  และภูมิทัศน์โดยรอบก็แลดูงามตา  เมื่อยามรุ่งสางเรามาถึงทุ่งหญ้ากว้างมีหมู่ไม้ใหญ่ขึ้นเป็นกระจุกประปราย  ที่ขอบฟ้าเป็นแนวป่าทึบ  ที่ใดเป็นหมู่บ้านก็แลเห็นต้นหมากกับมะพร้าวสูงระหง  ยิ่งเดินต่อไปป่านนั้นก็ค่อยโปร่งกลายเป็นทุ่งราบ  และก็มีต้นผลไม้ขึ้นเป็นหมู่  ดูเป็นแหล่งที่เหมาะสำหรับล่าสัตว์อย่างยิ่ง  เพราะตามบึงบางเหล่านั้นมีนกน้ำนานาชนิด  ควายทีเห็นมีผู้บอกว่าเป็นควายป่า  มันเข้ามาใกล้ค่ายพักของเราตอนบ่าย ๆ  เราพากันออกมาล้อมล่า  ตื่นเต้นกันใหญ่ด้วยเกรงว่ามันจะพุ่งเข้าใส่  ลีโอโนแวนส์  เป็นผู้ยิงล้มลงตัวหนึ่งในระยะ ๓๐ หลา  
และพวกหนุ่ม ๆ  ก็พากันดีใจเอิกเกริกที่ได้อาหารเนื้อสด  อย่างไรก็ดีเจ้าสัตว์พวกนี้จะเรียกว่าสัตว์ป่าก็ได้แต่ในความหมายที่ว่ามันไม่มีเจ้าของแน่นอน  และถูกปล่อยให้ท่องเที่ยวไปตามใจเท่านั้นเอง  ถ้ามีการเก็บเกี่ยวมากเป็นพิเศษ  มันก็จะถูกนำไปใช้งาน  ดังนั้นจึงออกจะเป็นเรื่องตลก  ที่เอาเข้าจริงเราอาจจะไปล่าเอาสัตว์เชื่อง ๆ  เข้า  แถมไม่มีทางจะรู้เสียด้วยว่าจะต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ใคร

การเดินทางในวันรุ่งขึ้น  ภูมิประเทศยังคงงดงามอยู่  แต่มีรอยคราบน้ำอยู่ตามลำต้นไม้สูงถึง ๔ ฟุต  แปลว่าในหน้าน้ำแถบนี้คงมีลักษณะเป็นทะเลทีเดียว

ใกล้ ๆ  ค่ายพักที่ท่าหลวง (Taluang) มีทั้งป่าโปร่งและป่าทึบ  เป็นที่ทำเหมืองเกลือได้ปริมาณมากด้วย
จากภูไทสง (Pu Thai Song) เส้นทางช่วงแรกผ่านป่าไม้ต้นเตี้ยไม่น่าสนใจนัก  แต่พอเดินไปสองพัก  ป่าก็ทึบเข้า  ทางเดินวกเวียนขรุขระตะปุ่มตะป่ำลำบากแก่เกวียนเทียมวัวเป็นอันมาก  แต่แล้วปุบปับทั้งป่าและทางก็หายไป  เราโผล่ออกมาที่บริเวณลานเกลืออันกว้างขวาง  ไม่มีต้นไม้แม้แต่ต้นเดียวและร้อนระอุ

แม้ภูมิประเทศเท่าที่ผ่านมา  มีประชากรน้อยมาก  แต่มีหลักฐานแสดงว่ามีการเกษตรกรรมอย่างกว้างขวางทั่วไป  ที่นั่นมีการทำเหมืองเกลือ  ซึ่งมีสะสมอยู่เป็นปริมาณมากในลานเห็นเป็นแสงเรือนระยิบอยู่บนผิวดิน  เหมือนเกล็ดน้ำค้างแข็งเมื่อมองในเวลาเช้าเขาจะต้องเอาหน้าดินเหล่านี้ใส่ลงในลำรางหยาบ ๆ  ซึ่งโดยมากทำจากลำต้นไม้ขุดให้เป็นโพรงด้านล่างเจาะช่องให้น้ำไหลได้  แล้วเอาน้ำที่ละลายผสมกับดิน  ถ่ายจากรางลงภาชนะอื่นทางช่องนั้น  ดำเนินกรรมวิธีดังนี้จนกว่าน้ำนั้นจะไม่มีรสเค็มอยู่อีกต่อไป  แล้วนำน้ำในภาชนะนั้นไปทำให้ระเหยแห้งเหลือแต่ผงเกลือไว้
ใกล้ ๆ  กุมภวาปี (Kumvapi) พื้นที่ราบเรียบไม่มีต้นไม้ใหญ่เลยเป็นไมล์ ๆ  ดูจะเป็นทุ่งหญ้าชนิดดีสำหรับเลี้ยงปศุสัตว์  ที่เห็นกระจัดกระจายอยู่ทั่วไปนับไม่ถ้วนฝูง  ต่อจากกุมภวาปีเส้นทางตัดผ่านป่าใหญ่มีด้านช้างหลายสาย  พอออกพ้นป่าก็เข้าเขตเมืองใหญ่  ข้ามทุ่งนากว้างไปถึงหนองคายพอดี


๙. หนองคาย และเวียงจันทน์

คนของเราเดินจากโคราชด้วยอัตราเร็วเฉลี่ยวันละ ๑๗ ไมล์ นับระยะทางรวม ๒๘๓ ไมล์ สุขภาพโดยส่วนรวมนับว่าดีมาก ไม่มีเสียงบ่นเรื่องร้ายแรงอะไรแต่คนส่วนใหญ่ยังไม่เคยยิงปืนมาก่อนเลยเป็นกองทหารที่ออกจะประสมปนเปกันมากอยู่
หนองคายเป็นเมืองใหญ่ของอาณาเขตกว้างขวางแถบนี้ แทนที่เวียงจันทร์ซึ่งเป็นเมืองหลวงเก่าอยู่เหนือน้ำขึ้นไปไม่ไกลนัก ดูเป็นที่น่าสบาย ข้าว เกลือ และปลามีมากพอเพียง

ในเมืองมีร้านค้าคนจีนขายผ้าลายดอกแบบแมนเชสเตอร์ มียี่ห้อโรงงานที่สิงค์โปร์ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดี และสินค้าโลหะของเยอรมัน ไหมดิบ งาช้าง หนังเขาสัตว์ และเกลือเก็บรวบรวมได้จากท้องถิ่นนั่นเอง การค้าของเหล่านี้ก็อยู่ในมือคนจีนเช่นกัน รวมทั้งผลผลิตจากเมืองเหนือและจากท้องถิ่นไกลกันดารด้วย พวกพ่อค้าเร่ชาวฉานก็มีอยู่บ้างที่หนองคายพยายามแทรกแซงเข้ามาหาผลกำไรบ้างเหมือนกัน
วัดเมืองอยู่ฝั่งขวาของแม่น้ำโขงซึ่งกว้างใหญ่มาก วัดจากฝั่งถึงฝั่งได้ ๑,๐๐๐ หลา และขณะน้ำลดต่ำสุดมีอัตราไหล ๔๘,๐๐๐ ลูกบาศก์ฟุตต่อวินาที มีการตระเตรียมต้อนรับพระยาราชฯ อย่างเอิกเกริกตั้งแต่นอกเมืองมีซุ้ม พระสงฆ์นำน้ำมนต์มาประพรมให้พรลีโอโนเวนส์ อุตส่าห์เกณฑ์คนของเขามาตั้งแถวรับด้วยเป็นพิเศษ ตกบ่ายทหารเดินเท้าก็นำหน้ามาถึง ถัดมาเป็นขบวนช้างนายทหารผู้น้อย แล้วก็ถึงพระพุทธรูป ถัดนั้นจึงเป็นพระยาราชฯ พอท่านลงจากช้างก็มีเสียงแตรก้องขึ้น

เจ้าเมืองอายุราว ๖๐ ปี ตาบอด ได้รับตำแหน่งนี้เป็นรางวัลที่มีความจงรักภักดีต่อฝ่ายกรุงเทพฯ เมื่อเกิดกบฏเวียงจันทน์เมื่อครั้งนั้นพ่อของท่านถูกมัดเอาตัวไปเตรียมประหารแล้ว แต่ยังอุตส่าห์หนีรอดชีวิตมาได้

บุชเดินทางไปกับข้าพเจ้าจนถึงเวียงจันทน์ ซึ่งเคยเป็นนครใหญ่ แต่ปัจจุบันมีสภาพเป็นหมู่บ้านธรรมดา
ใกล้เวียงจันทน์ มีเจดีย์สถานที่น่าสนใจ ชื่อวัดหลวง (Wat Luang) เป็นที่ซึ่งศาสนาและการสงครามเข้ามาผูกพันอยู่ด้วยกัน ตอนล่างมีลักษณะเป็นป้อมปราการ มีช่องปืนใหญ่ พวกฮ่อเข้ามายึดครองวัดนี้โดยไม่มีผู้ขัดขวาง และได้ทำลายยอดเจดีย์ซึ่งสร้างด้วยหินทรายถากเหลี่ยมหยาบ ๆ ลงเสียในระหว่างขุดค้นหาขุมทรัพย์ หลังจากนั้นก็บุกเข้าโจมตีเวียงจันทน์ ปล้นทรัพย์สินของชาวเมืองที่ไม่มีทางป้องกันตัว ในเวลานั้นข้าหลวงไทย คือ พระยามหาอำมาตย์ (P'ia Maha Amat) อยู่ที่อุบล พอได้ข่าวเดินทางขึ้นมารวบรวมผู้คนต่อสู้กับฮ่อซึ่งมีจำนวนชายฉกรรจ์ ๘๐๐ คน จนพ่ายแพ้ยับเยินแตกไปยึดวัดเป็นที่มั่นสร้างกำแพงล้อม มีป้อมปืนขึ้นอย่างหยาบ ๆ แต่ในที่สุดก็ถูกจับได้และถูกประหารหมดฮ่อพวกนี้เที่ยวปล้นมาจนไกลพวกพ้อง ไม่มีทางติดต่อได้ ข้าหลวงได้ตัดหัวเจ้าเมืองเวียงจันทน์ เนื่องจากเหตุที่ยอมพ่ายแพ้ต่อฮ่อ และสยามก็ได้ตระหนักถึงความรุนแรงของปัญหา จึงส่งกองทัพมาขับไล่พวกฮ่อให้ออกไปพ้นดินแดน พวกโจรฮ่อไปตั้งมั่นอยู่ที่ทุ่งเชียงคำ แต่ในที่สุดก็แตกพ่ายและถูกกองทัพของพระยาราชนรากุลฆ่าตายแทบทั้งหมด

เวียงจันทน์เคยเป็นเมืองขึ้นต่อหลวงพระบาง ซึ่งเคยมีอาณาเขตแผ่ไปแทบตลอดลุ่มน้ำโขง แต่เมื่อเวียงจันทน์ก่อการกบฏตั้งตัวเป็นอิสระ ความสามัคคีมั่นคงในหมู่ลาวพุงขาว (White bellied Lao) ก็สูญสลายไปโดยสิ้นเชิง ลาวในท้องถิ่นแม่น้ำโขงเพื่อให้แตกต่างจากลาวพุงดำที่อาศัยอยู่ทางตอนบนของแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งได้ชื่อเช่นนั้นเพราะสักลายตลอดหน้าท้องและต้นขอ แต่ลาวแม่น้ำโขงไม่ทำเช่นนั้น
ตามเรื่องที่เล่ากันนั้นว่า เมื่อเจ้าอนุเป็นเจ้าเมืองเวียงจันทน์อยู่ราว ร.ศ.๑๘๒๓ ลูกชายของเขาถูกเรียกตัวลงไปบางกอกเพื่อคุมคนขุดคลองเชื่อมท่าจีนกับบางกอก ปรากฏว่าถูกข้าราชการที่คุมงานนั้นทั้งเตะและซ้อมเข้า เมื่อเดินทางกลับมา เจ้าอนุได้ทราบเรื่องก็พิโรธและก่อการกบฏขึ้นกองทัพจากบางกอกทำลายเวียงจันทน์โดยสิ้นเชิง แต่เจ้าอนุหนีเข้าอานัม (Anam) เจ้ากรุงอานัมแนะให้ถอยไปเชียงขวาง (Chieng Kwang) แต่เจ้าเมืองนั้นแจ้งข่าวไปให้ฝ่ายบางกอกทราบ แม่ทัพบางกอกจึงจับเจ้าอนุได้ แล้วคุมตัวเป็นนักโทษส่งลงมายังบางกอก ถูกเอาตัวใส่กรงประจานไว้ริมแม่น้ำจนตาย มีบางคนเล่าว่าพวกบริวารของเขาสอบส่งยาพิษเข้าไปให้ จึงฆ่าตัวตายได้สำเร็จ ในระหว่างนี้ เจ้าน้อย (Chao Noi) เป็นเจ้าเมืองพวน (Puan) พระเจ้ากรุงอานัมทราบว่าเจ้าอนุตายก็ส่งกองทัพมาจับตัวเจ้าน้อยไปประหาร และคุมบุตรเจ้าน้อยทั้งห้าคนไปขังไว้ แล้วส่งตัวเจ้าแสน (Chao San) ซึ่งเป็นญาติของเจ้าน้อย ไปเป็นเจ้าเมืองเชียงขวาง โดยนำกำลังทหารไปด้วย ๓,๐๐๐ คน แต่พอแม่ทัพไทยได้ข่าวเจ้าแสน ก็ยกทัพจากหนองคายเข้าตีเมืองในเวลากลางคืน ฆ่าพวกญวณเสียแทบไม่เหลือแม้แต่คนเดียว เจ้าแสนต้องลงไปบางกอกทิ้งเมืองพวนให้ร้างอยู่ เช่นนั้น

ครั้นพระเจ้าตูดุ๊ก (Tuduk) ขึ้นครองราชในอานัม ก็ได้ปล่อยตัวบุตรตัวเจ้าน้อยทั้ง ๕ คน ให้เป็นอิสระ ได้แก่เจ้าโพ (Po) เจ้าทบ (Top) เจ้าโพธิมา (Po - ma) เจ้าเอื้อง (Ung) และเจ้าคำ (Kam) เมื่อเจ้าโพกลับมา ทางบางกอกก็ส่งคำบัญชามาใช้ฝ่ายหลวงพระบางตั้งให้เป็นเจ้าเมือง

ต่อจากเจ้าโพ เจ้าเอื้องก็ได้ขึ้นครองเมือง ในสมัยเจ้าเอื้องนั้นเองพาฮ่อเข้ามาตีปล้นเมืองพวนจับเจ้าเอื้องฆ่าเสีย แต่ภายหลัง ค.ศ. ๑๘๗๓ พระยามหาอำมาตย์แม่ทัพไทยกับพระยาราชนรากุล ก็เข้าโจมตีชุมนุมฮ่อที่เวียงจันทน์และทุ่งเชียงคำตามลำดับ พระพนมสารริทร์ (Pnom Sararin) หลานของเจ้าน้อย ได้รับการแต่งตั้งจากพระยามหาอำมาตย์ให้เป็นเจ้าเมืองชั่วคราว ต่อมาเจ้าขันตี (Kanti) บุตรเจ้าเอื้องผู้เคราะห์ร้ายก็ได้เป็นเจ้าเมือง

เชียงขวาง เป็นจุดหมายหลักสำหรับการเดินทางบุกเบิกของเรา ตามข่าวที่ได้ยินนั้นว่าไม่มีผู้คนอาศัยอยู่เลย การจัดเตรียมเพื่อป้องกันภัยอันตรายจึงเรียกได้ว่าลำบากมากเราต้องเตรียมการสำหรับเดินทางถึง ๒๕ พัก โดยไม่มีโอกาสที่จะพบผู้คนเลย นอกจากโจรฮ่อซึ่งแน่นอนว่าจะพยายามมารบกวนเราเท่านั้น
ลักษณะอาการของช้างในเวลาจะข้ามแม่น้ำนั้นน่าสนใจมากทีเดียว บางเชือกว่ายข้ามไปอย่างง่ายดาย บ้างก็ไม่ยอมข้ามง่ายนัก แต่พอชักจูงก็ยอมข้าม แต่บางเชือกจะทำอย่างไรก็ไม่ยอมข้าม ถึงจะใช้ไม้ตีหรือไฟไล่ก็ยังหันหลังวิ่งหนี ข้างพวกนี้ต้องใช้วิธีอื่นเขาเอาหรือขุดมาเทียบข้างกัน ๓ ลำ ดอกไม้ขวางทับบนยาว ๔ ฟุต กว้าง ๓ นิ้ว หนาเท่ากัน ปูไม้นิ้วทับแล้วเอากล้วยอ้อยและอาหารกลบข้างบนอีกที ข้าพเจ้ามองดูแล้วอดสงสัยว่าเจ้าแพจำเป็นนี้จะแข็งแรงพอทานน้ำหนักช้างได้สักตัวหรือ แต่แล้วก็ต้องประหลาดใจเมื่อได้เห็นว่า ช้างก้าวขึ้นไปยืนบนนั้นถึง ๓ เชือก และแพก็พามันข้ามฟากได้โดยปลอดภัยเมื่อพาฝูงสัตว์ต่างข้ามไปได้ทั้งหมดด้วยวิธีนี้แล้ว เราก็พร้อมที่จะออกเดินทาง

บุชล่องเรือลงไปหลวงพระบาง และลีโอโนเวนส์มากับข้าพเจ้า เราข้ามแม่น้ำมาถึงก็ตั้งค่ายพัก เจ้าเมืองผู้ตาบอดนั้นให้ความช่วยเหลือเราทุกอย่างเท่าที่จะทำได้ และบอกว่าเราต้องมีโชคดีเป็นแน่ เพราะวันนั้นอากาศมืดครื้ม และลมที่พัดไปทางเหนือนั้นคือ เทวดามาเบิกทางให้


๑๐. กลางหมู่แม้ว

การเดินทางเข้าพักแรมในภูมิประเทศที่เป็นพื้นราบ ไม่มีสิ่งน่าสนใจ แต่เราได้ผ่านพบหมู่บ้านหลายแห่ง ตรงกันข้ามกับที่ได้คาดไว้ว่าเป็นที่เปลี่ยวโดยสิ้นเชิง พื้นภูมิแถบนี้ดูไม่สู้จะอุดมสมบูรณ์นัก มีบึงบางเป็นระยะ ๆ รายไป

เช้าวันหนึ่ง ข้าพเจ้าเห็นหมาป่าลาย ๆ ตัวหนึ่งยืนอยู่ใต้ต้นไม้ เจ้าหมาล่าเนื้อที่เอามาในคณะโจนเข้าใส่ แต่ข้าพเจ้าเรียกมันกลับมา เจ้าหมาป่านั้นวิ่งไปแล้วยังหันหลังมามองทำท่าเหมือนผิดหวังตาละห้อยมองดูเจ้าหมาของเรา ก็อย่างที่เคยไม่รู้ว่าเป็นของข้าพเจ้าไปอยู่เสียที่ไหนยิ่งเราเดินทางไกลออกไป ก็ยิ่งได้ข่าวลือเรื่องความโหดร้ายของฮ่อ ที่เข้าโจมตีหมู่บ้านฆ่าฟันและกวาดต้อนผู้คนไปมากขึ้นเรื่อย ๆ

ใกล้ซอมที (Somdi) ภูมิประเทศเริ่มขรุขระเป็นเนินซับซ้อน และซอมทีนั้นเองเป็นที่พักแรมที่น่าสนใจมาก ตัวหมู่บ้านตั้งอยู่ริมฝั่งขวาของน้ำลึก ซึ่งเป็นแม่น้ำกว้างพอดูและน้ำใจแจ๋ว เราตั้งค่ายพักในค่ายร้างแห่งหนึ่ง ซึ่งเสาระเนียดที่ปักรายเป็นรั้วยังคงอยู่

เหตุการณ์หนึ่งที่แสดงให้เห็นชัดว่า พวกลาวหวาดกลัวฮ่อซึ่งเป็นศัตรูของตนเพียงไรก็คือ คืนหนึ่งขณะที่กำลังหลับสนิทกันทั้งค่าย ชายคนหนึ่งละเมอร้องขึ้นมา ปรากฏว่าเพื่อนฝูงสะดุ้งผวา ตะโกนว่า "ฮ่อ ฮ่อมา" ตื่นเต้นกันทั่วไป

เลยซอมที เราเดินทางเข้าไปในป่าทึบแทบจะไม่ต้องแสงตะวัน ไปถึงหมู่บ้านงานแห่งหนึ่งเชิงเขาสูง คนที่นั่นอพยพหนีฮ่อจากเมืองหัวพ้นทั้งห้าทั้งหก (Hua Pan Tang Ha Tanh Hok) มาตั้งถิ่นฐานใหม่ที่นี่

ชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นโรคคอพอก อาจเป็นด้วยมีหินปูนอยู่มากในบริเวณนั้น ยอดเขาข้าง ๆ ก็มีรูปทรงแปลกประหลาด มองจากบางด้านดูราวกับทรากป้อมปราการปรักหักพังชาวบ้านปลูกข้าว ฝ้าย และคราวไว้ใช้เองในหมู่บ้าน เขาสะกัดสีน้ำเงินได้จากเถาวัลย์ชนิดหนึ่งชื่อว่า ผักเม่ (Buck Me) และมีสีดำได้จากเปลือกต้นไม้ใหญ่ที่ชื่อ นังเต็ง (Nung Teng) เขาเอาใบครามมาหมักแช่น้ำไว้ ๓ วัน แล้วคั้นเอาน้ำไปผสมมะนาวทิ้งไว้วันหนึ่ง แล้วกรองน้ำออก กากเอามาทำสี ใบผักเม่อก็ทำแบบเดียวกันนี้ แต่สำหรับสีดำนั้นต้องเอาเปลือกนังเต็งมาทุบสด ๆ แล้วเอาไปละลายน้ำทีเดียว แล้วเอาผ้าที่จะย้อมลงแช่แล้วเอาออกตาก แช่แล้วตากติด ๆ กัน ๔-๕ วัน แล้วจึงเอาไปซักในลำธาร เตรียมไว้ใช้ได้

หัวหน้าหมู่บ้านคนหนึ่ง สวมเสื้อยาวสีแดง บอกแก่ข้าพเจ้าว่าเขามีผีเข้าสิง และผีมันจะสิงอยู่อีก ๓-๔ วัน ทางที่จะเอาใจผีก็คือต้องดื่มเหล้าหมักเองมาก ๆ อย่างเดียวเท่านั้น ข้าพเจ้าเห็นว่าสภาพของชายนั้น แสดงว่าได้เอาใจผีมานานแล้ว ผีควรจะพอใจเสียที แต่เขาก็ยังยืนคำว่าผีจะยังคงอยู่อี ๔ วันแน่ ๆ จึงไม่มีทางอื่นจะช่วยได้นอกจากให้เหล้าเขากินต่อไป

มีผู้บอกว่า ตอนที่เจ้าอนุวงศ์หนีจากเวียงจันทน์ไปอานัมนั้น ก็ได้ผ่านมาทางนี้ และจำเป็นต้องทิ้งขบวนช้างไว้ เพราะทางกันดารมาก ข้าพเจ้าออกไปตรวจทางล่วงหน้าก็ได้เห็นว่าช้างน่าจะไต่ทางขึ้นไปไม่ได้ เนินเขานั้นมีป่าคลุมทึบ แต่บางตอนก็มีผาหินปูนโผล่พ้นขึ้นมาขวางทางไว้ อย่างไรก็ตามพอถึงเย็นก็ค้นพบด่านช้างเข้าสายหนึ่งด้วยความลำบากอย่างยิ่ง

ช้างเป็นสัตว์ที่มีเกียรติ ไม่ต้องเกรงกลัวเลยว่าจะไม่ทำหน้าที่ของมัน ตัวปัญหาที่แท้ก็คือควาญชึ่งแสนจะร้อยเล่ห์ ถ้าทำได้เราก็คงไม่จ้างให้มาด้วยเสียแล้ว พอช้างก้าวไปข้างหน้า เจ้าควาญก็ทำท่าลังเลต้องส่งภาษาให้กำลังใจกับขรมจึงค่อยกล้าขึ้น และในไม่ช้าช้างทั้งขบวนก็ผ่านพ้นจุดที่คาดว่าเป็นอันตรายนั้นไปได้ ค่อย ๆ ไต่ขึ้นไปบนเนินเขาซึ่งสูง ๔,๔๐๐ ฟุต จากระดับน้ำทะเล

เราตั้งค่ายพักอยู่ต่ำลงมาจากทางผ่านยอดหิน ใกล้ ๆ กับหมู่บ้านแม้ว (ภาษาจีนว่า เมียวจี Mial Tzee) ชนเผ่านี้น่าสนใจมาก ไม่มีเคราเค้าหน้าเหมือนจีน แต่ลักษณะทั่วไปทำให้นึกถึงชาวอาฟฆาน ใช้เสื้อผ้าสีดำ ผู้ชายนุ่งกางเกงหลวม ๆ เสื้อคลุมตัวหลวมยาว และมีผ้าโพกศีรษะอย่างเรียบร้อย ผู้หญิงเปลือยเท้าและขาขึ้นมาถึงถึงเข่า สวมกระโปรงชั้นในจีบเป็นพวงซึ่งกระพือเผยอย่างมีศิลป์ในเวลาเดิน และชั้นนอกเป็นเสื้อแบบแจกเก๊ตปกกลาสีมีผ้าโพกศีรษะเหมือนกัน ละล้วนมีลายปักอยู่ทั่วไป บางทีก็เป็นเดินเส้นไหม เครื่องประดับสำคัญคือวงเงินเล็ก ๆ มีจี้รูปรียาวห้อย ด้านหนึ่งเป็นลายจีนและอีกด้านหนึ่งเป็นตัวอักษรจีน ซึ่งเชื่อว่าเป็นคาถากันผีปีศาจ พวกแม้วไม่มีอักษรของตัวเอง หัวหน้าหมู่บ้านถักเปียแบบจีน คนอื่น ๆ โกนหัวเกลี้ยงเฉพาะตรงกลางกระหม่อม ปล่อยผมส่วนอื่นปรกลงมาถึงบ่า
พวกนี้แบ่งออกเป็นเผ่าย่อยราว ๑๐-๑๒ เผ่า บอกจำนวนแน่ไม่ได้ ล้วนแข็งแกร่งอดทนอาชีพหลักคือปลูกฝิ่น ชอบเลือกที่อยู่ตามยอดเขาซึ่งมีอากาศเย็น และมีอคติต่อการอาศัยอยู่ที่พื้นราบแม้จะเป็นพื้นที่ราบสูงก็ตาม ชาวลาวกล่าวถึงพวกนี้ว่าจะไม่สามารถอาศัยอยู่ในที่ที่มีเสียงกบร้องได้ พอดินในย่านที่อยู่จืดลง พวกนี้จะมองสำรวจจากยอดเขาหากแลเห็นที่ใดเป็นแหล่งหินปูน ก็จะส่งคนออกไปสำรวจพื้นที่แล้วกลับมารายงาน

ในภูมิภาคที่ตั้งหมู่บ้านใหม่ได้ จะมีผู้ออกเดินทางไปก่อนสักสองสามครอบครัวขนไปทั้งหมา แพะ ไก่ และบางทีก็มีวัวเทียมเกวียนขนของด้วย พวกผู้ชายขนของใช้ประจำวันผู้หญิงสะพายลูกอ่อนติดหลังเด็ก ๆ ก็ยังช่วยหอบของด้วย ดูร่าเริงเบิกบานกันทุกคน พอไปถึงที่ที่เลือกไว้ ซึ่งมักอยู่ใกล้พุน้ำ ก็ช่วยกันตัดฟันไม้ สับเป็นกระดานทำฝาเรือน และมุงหลังคาที่อยู่อย่างง่าย ๆ ไม่มีปัญหาเรื่องการระบายลม ควันจากเตาหุงต้มลอยลอดออกไปตามช่องฝากระดานอย่างสะดวก บางทีก็ใช้ไม้ไผ่ทำท่อส่งน้ำมาลงถังไม้ ซึ่งมีฝาปิดกันฝุ่นผงลง

ในหมู่บ้านจะเห็นพวกผู้หญิงทำงานกันวุ่นวายตามหน้าที่ของตน บ้างก็ป่นแป้งข้าวโพดด้วยเครื่องมือบด บ้างก็เตรียมครามย้อมผ้า เย็บปักถักร้อยสภาพหมู่บ้านดูสดใสน่ามองด้วยที่ตั้งและสถานที่แวดล้อมอยู่ ด้านหนึ่งเป็นทุ่งข้าวโพดหรือไร่ผัก อีกด้านเป็นไร่ปอ หรือยาสูบ แล้วก็ต้องมีพื้นที่กว้างใหญ่ที่อุทิศให้แก่การปลูกฝิ่น พอถึงเดือนกุมภาพันธ์ ฝิ่นจะออกดอกดาดไปทั่วทุ่ง เห็นดอกโตมีทุกสี่ตั้งแต่ขาวไปถึงม่วงเข้มงามตระการตา ที่นี่ก็มีงานให้ผู้หญิงทำเหมือนกัน จะเห็นพวกหล่อนถือถ้วยกระเบื้องเดินเก็บยางฝิ่นอับไหลเอิบอาบจากรอบกรีดที่กระเปาะดอกของมัน
พวกแม้วดูแลวัวและม้าอย่างระมัดระวังมาก มักจะยกพื้นคอกสูงจากดิน มีหมาพันธุ์ดีไว้เฝ้าหมาบางตัวไม่มีหางเลย

ชาวบ้านพวกนี้ก็เช่นเดียวกับชาวเขาเผ่าอื่นที่ใช้เวลาปีละหลายเดือนตัดไม้ตามลาดเขา ขยายพื้นที่ออกไปเรื่อย ๆ สำหรับเพาะปลูก แต่พอต้นไม้ชักเบาบางเกินขนาด ก็ถึงเวลาที่จะออกแสวงหา "ป่าชุ่ม ทุ่งใหม่" กันอีก

พวกแม้วฝังศพพวกของตนไว้ใกล้หมู่บ้าน ขุดหลุมกลบด้วยดินและหิน สิ่งที่ฝังไปกับศพ ได้แก่ ไก่ผู้ ๑ ตัว นิยมสีขาวเป็นพิเศษ ข้าวชามหนึ่ง และเหล้าสำหรับปลุกวิญญาณให้รื่นเริงในปรภพ


๑๑. ตามรอยฮ่อ

เราเข้ามาอยู่ในดินแดนที่พวกฮ่อมีอิทธิพลอยู่โดยตรงแล้ว
เมื่อสิบปีก่อน พระยาราชฯ ได้ทำลายที่มั่นของพวกโจรพวกนี้ลงโดยสิ้นเชิง แต่เมื่อว่าเป็นพวกที่ดุร้ายเหี้ยมโหด เป็นที่หวาดระแวงของคนทางประเทศนี้เป็นใครกันเล่า ว่าโดยย่อพวกนี้ก็คือ โจรจีนนั่นเอง กาลครั้งหนึ่งพ่อค้าชาวจีนซึ่งเป็นที่รู้จักกันในหลวงพระบางในนามว่า ฮ่อ ได้เดินทางจากเหนือลงมาติดต่อค้าขายกับชาวบ้าน เมื่อพวกพ่อค้าพวกนั้นหมดไปมีแต่พวกโจรเชื้อชาติเดียวกันมาแทน คำว่าฮ่อก็เลยเลื่อนความหมายไปเป็นโจรพวกนี้ด้วยนับแต่โจรพวกนี้ปรากฏตัวเข้ามา การคมนาคมและค้าขายก็ถูกตัดขาดเกิดการจลาจลไปทั่วดินแดน ลักษณาการของพวกปล้นแสดงให้เห็นว่ามีกองกำลังขนาดใหญ่เป็นขบวนการแล้วข้าพเจ้าได้รับข่าวว่า เจ้าฟ้าวง (Chao Fa Wong) ผู้ครองแคว้นยูนานเป็นหัวหน้าขบวนการโจรร้ายเหล่านี้ เมื่อคราวที่พวกฝรั่งเศสทำสงครามในตังเกี๋ย (Tankin) เขาก็สั่งให้พวกโจรที่ท่องเที่ยวอยู่ในเขตหลวงพระบางเหล่านี้เข้าโจมตีพวกฝรั่งเศสด้วย

การปล้นแบบทำลายล้างเริ่มขึ้นในราว ค.ศ.๑๘๗๐ พวกโจรขยายแนวรุกจากใกล้เขตแดนตังเกี๋ย เข้าเขตหลวงพระบาง สิบสองจุไทย (Sibsawng Chu Tai) และเมืองหัวพ้นทั้งห้าทั้งหก (เดิมมี ๕ แคว้น แล้วจึงมีแคว้นที่ ๖ รวมเข้าภายหลัง) จนกระทั่งถึงเมืองเชียงขวางหรือเมืองพวนด้วย ก่อนหน้านั้นดินแดนแถบนี้ค่อนข้างสงบสุข ส่วยสาอากรเก็บได้สม่ำเสมอ ผู้เก็บส่วยของหลวงพระบาง เป็นข้าราชการเก่าซึ่งยังมีชีวิตอยู่มาจน ค.ศ.๑๘๙๓ แต่หลังจากพวกฮ่อมาตีปล้นปรากฏว่า สภาพการณ์ก็แปรเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง พวกโจรบุกเข้ามาโดยปราศจากการขัดขวางจนถึงเวียงจันทน์ และแม่น้ำโขงจึงได้ถูกปราบปรามแต่ก็ไม่ก่อนที่จะได้ก่อความพินาศให้เกิดขึ้นแล้ว
เราอาจตามรอยการเดินทางของพวกนี้ได้จากเถ้าถ่านของหมู่บ้าน และประจักษ์พยานที่พวกมันทิ้งไว้ในวัดและเจดีย์ต่าง ๆ ซึ่งถูกขุดค้นหาทรัพย์สินที่อาจฝังไว้ด้วยความชำนาญอย่างยิ่ง ในวัดหลายแห่งมีรอยขุดเฉพาะบริเวณที่น่าสงสัยเท่านั้น ส่วนอื่น ๆ มิได้ถูกแตะต้องอเลย

เราได้เห็นใบประกาศที่พวกหนีตายจากหมู่บ้านที่ถูกฮ่อปล้นนำมาให้ ประกาศนั้นเขียนด้วยภาษาลาว แต่มีตราจีนรูปสี่เหลี่ยมประทับ เนื้อความเรียกร้องให้ชาวบ้านออกมาอ่อนน้อมยอมอยู่ใต้อำนาจฮ่อและขู่เอาโทษตายแก่ผู้ที่ยอมเชื่อฟัง ใครก็ตามที่หนีไปหลวงพระบางจะต้องถูกตามจับเอาตัวกลับมาก

ชาวบ้านที่น่าสงสาร อาศัยอยู่ในป่าดง เพาะปลูกตามที่ลาดเขาเหล่านี้ มีชีวิตที่ยากแค้นแสนเข็ญไหนจะถูกพวกโจรขู่ฆ่ารุกราน ไหนจะต้องอดทนต่อการบังคับจากเจ้าขันตีผู้ครองเมือง ซึ่งมีอำนาจเหนือตนอีกฝ่ายหนึ่งด้วย

พวกฮ่อ ซึ่งเป็นชายฉกรรจ์จำนวน ๑๘๐ คน กำลังเดินทางอยู่ห่างจากเราเพียงชั่วเดินสองพักและอาจเป็นได้ที่เราต้องเผชิญหน้ากัน พวกทหารของเราจึงเอาปืนออกมาฝึกซ้อม แต่ส่วนใหญ่แล้วกลัวอำนาจปืนเสียเอง น้อยคนที่สามารถยิงเป้าขนาดใหญ่ได้ถูกในระยะ ๘๐ หลา ด้วยไรเฟิล ส่วนปืนเล็กยาวนั้นยิงผิดเสียกว่า ๖๐% เมื่อพิจารณาโดยถี่ถ้วนแล้ว ออกจะเป็นอันตรายมากหากต้องปะทะกับพวกฮ่อโดยที่เครื่องมือยังใหม่ และคนไม่พร้อมเช่นนั้น ถ้าคนของเราไม่อาจรักษาพื้นที่ไว้ได้ ก็ไม่มีอะไรที่สามารถจะยับยั้งพวกฮ่อไว้ได้อีก เหมือนกับว่าพวกนั้นสามารถเอาชนะทหารหลวงได้นั่นเอง แล้วใครจะรู้ว่าพวกมันจะก่อการร้ายต่อไปอีกสักเท่าใด ดังนั้นเราจึงตัดสินใจจะนำคนไปเพียง ๓๐ คน ส่งที่เหลือกลับไปค่ายที่หลวงพระบาง เพื่อที่ว่า หากเกิดเหตุร้ายใด ๆ ขึ้น พวกฮ่อก็จะได้ไม่มีเรื่องจะอวดโอ่มากนัก

ขณะที่เราจะออกเดินทาง ก็มีชาวบ้านบงมาจากที่ซ่อนบนภูเขา เราจ้างพวกนี้ไว้ช่วยนำทาง และตัดฟันไม้เบิกทางด้วยอัตราวันละกึ่งบาท

ตามรายทาง มีไม้ไผ่เสี้ยมปลากปักอยู่ตลอด สำหรับคนสวมรองเท้านั้นไม่เป็นไรแต่คนที่เดินเท้าเปล่านั้นถึงแก่เป็นแผลเฟอะ อย่างไรก็ตามคนเดินช่วงนี้ได้พบสิ่งน่าสนใจมากขึ้น เส้นทางค่อยมีสภาพเป็นถนน เกือบจะราบได้ระดับ ลาดไปตามลูกเนินที่มีป่าสนใบยาวปกคลุม ลมพัดโชยชื่น และพื้นดินก็ดาษด้วยดอกไม้สีสด ภาพท้องทุ่งร้างริมหมู่บ้านแห่งหนึ่งที่เราโผล่ออกมาเห็นเข้า ทำให้เราถึงแก่ยืนจ้องตะลึง ข้าพเจ้าสงสัยอยู่ว่าประสบการณ์ของเราที่บุกฝ่ามาในป่าทึบมือตื้อก่อนหน้านั้น คงจะมีผลต่อความรู้สึกของเราบ้างกระมัง

ทุ่งร้าง ซึ่งอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลกว่า ๔,๐๐๐ ฟุต มีดอกหญ้าขาวสะพรั่งโอนเอนไสว ดูราวกับมีผู้ดูแลอย่างดี เนินเขาแถบนั้นโล่งไม่มีป่า มีไม้ใหญ่ขึ้นอยู่เป็นกระจุกเท่านั้น พื้นดินมีหญ้าอ่อนเขียวขจี ซึ่งต้องแสงตะวันรอนแลราวกับเป็นสีม่วงเหลือบทอง

เราเลือกตั้งค่ายพักที่ริมลำธารน้ำใสไหลเอื่อยสายหนึ่ง

เมื่อเตรียมการระวังป้องกันอันตรายจากพวกฮ่อเรียบร้อยแล้ว เราก็พากันไปตรวจดูวัดใกล้ ๆ นั้นตัวอาคารดูน่าสนใจตั้งแต่ภายนอก รูปแบบเหมือน ๆ กับที่เห็นทั่วไปในสยามแต่ดูประณีตและบอบบางกว่าประตูลงรักปิดทองแพรว แต่ทั่วไปถูกทำลายยับเยิน พระพุทธรูปองค์ใหญ่กลิ้งตะแคงข้างอยู่ ส่วนฐานถูกรื้อหาทรัพย์สินที่ซ่อนไว้ ในซากปรักหักพังนั้นมีรูปเคารพเล็ก ๆ ที่คนของเราต้องการมาก วัดแทบทุกแห่งจะมีพระพุทธรูปท่าประทับนั่ง บ้างก็สร้างด้วยอิฐปูนปิดทองทับหนา บ้างก็เป็นทองแดง หรือบ้างก็เป็นนาก (ทองผสมทองแดง) ที่เรียกว่าโคตมะเพชร (เข้าใจว่าหมายถึงขัดสมาธิเพชร - ผู้แปล) นั้นนับว่าเก่าที่สุด และกำหนดเรียกจากลักษณะของพระบาท เป็นลักษณะสำคัญยิ่ง แต่นอกนี้ยังมีลักษณะอื่น ๆ อีกที่แสดงว่าพระพุทธรูปองค์ใดศักดิ์สิทธิ์กว่าองค์อื่น

เจดีย์หลายองค์ ส่งยอดเรียวสูงไสวอย่างเชิญชวน แต่เราไม่อาจออกห่างจากค่ายพักได้ไกลนัก เพราะพวกฮ่ออาจจะแอบซ่อนอยู่หลังพุ่มไม้ใดก็ได้ วัดนั้นถูกทำลายพินาศสิ้น คัมภีร์ใบลานกองเขละเป็นพะเนิน ถ้าไม่มีคนดูแลโดยเร็วก็คงจะเสียหายไปทั้งหมด

ภูมิประเทศยังดูดีขึ้นเรื่อย ๆ ต้นแอปเปิ้ลป่ากำลังออกดอก และสนกำลังผลิใบ ลาดเนินที่ทอดแนวไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือมีหญ้าอ่อนงอกขึ้นคลุมชอุ่มจากเถ้าทรากหญ้าปีก่อน ทันทีนั้นเองเราก็มาถึงหนองแตง (Nawg Tang) ที่ระดับสูง ๔,๐๐๐ ฟุต เหนือระดับน้ำทะเล หนองนั้นกว้างครึ่งไมล์ ยาวไมล์หนึ่ง และน้ำไม่เคยแห้ง ฝั่งฟากตะวันออกมีผาหินปูนสูงราว ๑๐๐ ฟุต

ท้องฟ้าสีน้ำเงินสดสะท้อนเงาลงในกลางหนอง มีแต่เสียงปีกนกกระพือแหวกความเงียบอันสงัดทำให้ความรู้สึกชื่นชมภูมิทัศน์อันงามยิ่งเพิ่มความเบิกบานใจยิ่งขึ้น

กำเนิดของหนองนี้ ตามตำนานของท้องถิ่นเล่ากันว่า แต่เดิมมาที่นี่เคยเป็นหมู่บ้านชาวบ้านคนหนึ่งเป็นพรานไปยิงกวางหน้าขาวเข้า คืนนั้นเองก็เกิดพายุ แผ่นดินไหว แยกสูบเอาหมู่บ้านและคนลงไปในน้ำหมด และเลยกลายเป็นหนองน้ำใหญ่แต่นั้นมา
ถึงแม้ภูมิประเทศจะงดงามปานใดก็ดี เท่าที่แลเห็นไม่มีร่องรอยผู้คนอาศัยอยู่เลยเราพบนกยูงสองสามตัว ซึ่งปกติไม่ค่อยมีในที่สูงถึงเพียงนี้ และแน่นอนที่ใดมีนกยูง ที่นั่นต้องมีเสือ ไม่ช้าเราก็ได้พบรอยเสือเข้า นกกระทาและกวางมีอยู่กลาดเกลื่อน เราข้ามทุ่งที่ใช้เป็นสนามรบไปหลายแห่ง และได้พบค่ายเก่าแห่งหนึ่งที่กุ่งก้อย หรือข่อย (Kung Koi)

เราข้ามน้ำแตง (Nam Tang) ซึ่งเป็นลำธารเล็ก ๆ ไหลไประหว่างหุบเหว ตลิ่งสองฝั่งสูงถึง ๑๐๐ ฟุต และห่างจากกัน ๘๐๐ หลา หุบนั้นเป็นที่เหมาะสำหรับปลูกข้าวพอไต่ขึ้นมาถึงยอดตลิ่ง เราก็ต้องแปลกใจที่ได้เห็นทุ่งราบกว้างชื่อว่า กุ้งม้าเล่น (Kung Malen) กว้าง ๖ ไมล์ ยาว ๑๐ ไมล์ อยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลประมาณ ๓,๕๐๐ ฟุต ราบเรียบราวกับพื้นโต๊ะ มีหญ้าขึ้นงามใช้เลี้ยงปศุสัตว์จำนวนมากได้อย่างดี และก็เคยได้ใช้เช่นนั้นมาแล้วในกาลก่อน เราพักเหนื่อยใต้ต้นสน แลเห็นเส้นทางเดินลดเลี้ยวขึ้นไปตามแนวเนินราวกับงูเลื้อยได้ชัดเจน

ด้านขวามือ มีวัดงามอยู่แห่งหนึ่ง แลเห็นสีขาวเด่นตัดกับท้องฟ้าสีน้ำเงิน ราวกับมีวิญญาณยืนเพ่งพินิจความงามสงบรอบข้าง เลยนั้นไปอีกำไกลแลเห็นบางสิ่งคล้ายเต๊นท์พอเข้าใกล้อีกหน่อย ก็ออกจะดูเหมือนฝูงปศุสัตว์ อาจเป็นด้วยเราอยากให้เป็นอย่างนั้นก็ได้แต่พอใช้กล้องส่องทางไกลจึงได้เห็นว่า ที่แท้แล้วเป็นไหหินขนาดยักษ์ บางใบตั้งอยู่บางใบก็ตะแคง บ้างก็แตกเป็นเศษเล็กเศษน้อย รอบ ๆ นั้นมีร่องรอยว่าดินถูกขุด เราขุดดินได้ไหใบหนึ่งพบร่องรอยเผาถ่านกับลูกกระพรวนทำด้วยเหล็กขึ้นสนิม ไหที่สูงสุดตั้งเอียง ๆ ด้านข้างเรียบ วัดได้ ๗ ฟุต ๖ นิ้ว ใบอื่น ๆ วัดได้ ๖ ฟุต ๔ นิ้ว จากพื้นดิน วัดรอบส่วนที่ป่องที่สุดได้ ๑๙ ฟุต และหนา ๑ ฟุต อีกใบหนึ่งรูปร่างดีกว่าและมีคอคอด ตั้งเอียงคว่ำลงมามากกว่า สูงเกือบ ๖ ฟุต วัดรอบได้ ๑๕ ฟุต ที่ส่วนป่องที่สุด เส้นผ่านศูนย์กลางปากไห ๔ ฟุต ๖ นิ้ว เนื้อไหบางใบมีหินเขี้ยวหนุมานฝังอยู่เป็นปุ่ม ๆ ข้าง ๆ กองไหนั้นมีหินแบน ๆ แผ่นหนึ่งยาว ๗ ฟุต หนา ๖ นิ้ว ที่ตรงริม แต่ตรงกลางแผ่นหนากว่านั้น และแผ่นเล็กอีกแผ่นหนึ่ง เมื่อจับพลิกขึ้นมีปุ่ม ๓ แห่ง ยาวราว ๒-๓ นิ้ว สูงขึ้นจากพื้นหินราว ๑ นิ้ว
ภาชนะเหล่านี้ คงมิได้ถูกหาบหามมาจากทื่อื่น แต่คงสร้างขึ้นที่ตรงนี้เองมาแต่แรก ชาวบ้านเชื่อกันว่าเทวดามาสร้างไว้ใส่น้ำกิน


๑๒. บนที่ราบสูงเชียงขวาง

เมื่อเริ่มเดินต่อไป เราผ่านหุบขาแคบ ๆ หลายแห่ง ซึ่งเคยเป็นแหล่งปลูกข้าวอันอุดมสมบูรณ์ภูเขาสองฟากชันลิ่วขึ้นไปอีก ๓,๐๐๐ ฟุต ทางด้านใต้มีป่าไม้ปกคลุมแน่นทึบหุบเขาบางหุบสามารถปรับปรุงเป็นแหล่งปลูกข้าวได้อย่างดี และอาจทำนาได้ถึงปีละ ๓ หน การชักน้ำเข้านาไม่ต้องออกแรงมากเท่าใดเลย

เราพบกับกลุ่มผู้นำแคว้นเชียงขวาง ทุกคนแต่งกายดี นำข้าวมาให้เป็นของขวัญเขาพาเราเดินฝ่าทุ่งนาที่ไขน้ำเข้าเต็มเตรียมหว่าน ดูเหมือนบุกน้ำไปมากกว่าเดินถนน

ไหนเล่าคือเมืองใหญ่ ที่มีรายงานว่ามีกำลังป้องกันถึง ๔,๐๐๐ คน พอเลี้ยวรอบเชิงเนินเราก็แลโล่งไปเห็น สูงขึ้นไปอีก ๒ ไมล์ ที่ปลายเนินอันเป็นป่าทึบ เห็นยอดแหลมของพระเจดีย์โผล่ขึ้นมายอดหนึ่ง นั่นแหละที่เขาบอกเราว่า คือเมืองเชียงขวาง

เมืองนั้นตกอยู่ในอำนาจของพวกฮ่อ ชาวบ้านต่างพากันรู้สึกว่านายใหม่กลุ่มนี้รีดนาทาเร้นอย่างรุนแรง ที่มั่นของพวกโจรซึ่งอยู่ที่ทุ่งเชียงคำ (Tung Chiing Kam) ห่างอออกไปชั่วเดิน ๓ วัน เพิ่งจะถูกไฟไหม้ด้วยอุบัติเหตุ และพวกชาวบ้านก็ถูกกวาดต้อนไปใช้แรงงานซ่อมแซม เชียงขวางอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลปานกลาง ๓,๗๗๐ ฟุต ตั้งอยู่บนยอดเขาชื่อภูเชียว ชาวบ้านที่แก่ที่สุดเล่าว่า สมัยก่อนโน้นมีหมู่บ้านพักสร้างด้วยไม้อยู่หมู่หนึ่งในทุ่งข้ามลำน้ำเหนือไปอีกฟากหนึ่ง มีทรากตึกดินมีสภาพเกือบสมบูรณ์อยู่แห่งหนึ่ง ซึ่งสร้างขึ้นเมื่อครั้งเจ้าอนุถูกจับและพาตัวกลับไปบางกอก

ธรรมเนียมชาวสยาม เมื่อสร้างวัดหรือเจดีย์ใด ๆ จะมีผู้อุทิศเงินและเครื่องเพชรพลอยบรรจุไว้ได้ฐานพระพุทธรูป หรือในพระอุระ หรือมิฉะนั้นก็ฝังไว้ในพื้นวัดตรงแนวสายตาของพระพุทธรูปนั้น

เมื่อพวกฮ่อเข้ามารุกราน พวกชาวบ้านก็ถูกบังคับให้ขุดทรัพย์สินขึ้นจากที่เหล่านี้ โดยที่พวกโจรถือดาบคอยคุมอยู่ตลอดเวลา

แม้เจดีย์บนเนินเขา ซึ่งนับว่างามที่สุดในถิ่นนี้ก็มิได้รอดพ้น เมื่อมองจากที่ไกลจะเห็นว่ายังสมบูรณ์แต่พอเข้าใกล้ก็เห็นรอยแตกทั้ง ๓ ด้าน ตั้งแต่เกือบยอดคอระฆังมาจนถึงฐาน โชคยังดีที่ยอดแหลมสูงถึง ๖๐ ฟุต นั้นยังอยู่ดีไม่หักลงมา ว่ากันว่าพวกฮ่อได้ทองหนักถึง ๗๐๐ รูปี จากเจดีย์นี้ เศษโถที่บรรจุของพุทธรูปบูชายังหล่นกระจายอยู่ทั่วไป เห็นได้ว่ารูปทรงงดงามมาก

ชาวเมืองพวน นับว่ามีวัฒนธรรมสูง แต่ความประณีตเชิงรสนิยมย่อมไม่อาจต่อต้านกับคนป่าเถื่อนได้ ที่จริงชาวพื้นเมืองเดิมเป็นพวกขมุ (Kamu) และดินแดนแถบนี้เคยมีชื่อว่า เมืองข่าปทุม (Ka Patum) ดูเหมือนว่าจะเคยถูกพม่าเข้ารุกรานในสมัยรัชกาลพระเจ้าราช ("หนู"๑ ) ครองกรุงหงสาวดี (พะโค)

ประวัติเชียงขวางไม่มีผู้ใดรู้มากนัก ชนพื้นเมืองเดิมถึงจะไม่มีอำนาจมาก ก็ดูจะขยันขันแข็งพอดูแต่ปัจจุบันประชากรก็เป็นชาวลาวหลวงพระบางนั่นเอง ใช้ภาษาพูดและภาษาเขียนอย่างเดียวกัน

ชาวสยามและชาวลาว เป็นชนเผ่าเดียวกัน ใช้ภาษาเดียวกัน ลักษณะรูปร่างหน้าตาก็เป็นแบบเดียวกัน ถ้าเอามายืนรวมกลุ่มกันเข้าแล้วแยกไม่ออกเลยว่าไหนเป็นชาวสยามและไหนเป็นชาวลาว
เมื่อออกจากเชียงขวางเราก็ย่ำข้ามทุ่งนาซึ่งเป็นโคลนแฉะ ทำความลำบากให้แก่ช้างเป็นอันมากเจ้าสัตว์ตัวหนักคอยแต่จะจมแล้วก็ดิ้นขลุกขลัก จนกระทั่งชาวสยามผู้ฉลาดเฉลียวทำพื้นรองเดินให้สำเร็จเขาผ่าไม้ไผ่แล้วเอามาสานเป็นเสื่อปูลงบนโคลน และเจ้าช้างก็เดินไปบนสะพานเสื่อนี้ได้อย่างสะดวกสบายใจ และออกจะกตัญญูต่อความช่วยเหลือเหล่านี้อยู่ในที

ลักษณะภูมิประเทศต่อไปก็เป็นเช่นเดียวกับที่เราเคยผ่านพบมาแล้ว มีทุ่งร้าง ไม่มีร่องรอยผู้คนอาศัย เราส่องกล้องวาดไปทั่วครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ไม่พบจุดหมายใด ๆ

เมื่อตั้งค่ายพักใกล้ป้อมค่ายเก่าที่มีรอยไฟไฟไหม้เสร็จแล้ว เราก็ออกเดินบุกทรากหมู่บ้านที่มีเค้าว่าเคยรุ่งเรืองเจริญมาก่อน ไปดูวัดและเจดีย์หลายแห่งที่ถูกปล้น

ต่อจากเมืองฝาง เราพบหมู่บ้านและป้อมค่ายที่ถูกเผาวอดไปหลายแห่ง แสดงว่าชาวบ้านได้พยายามต่อต้านพวกฮ่อมาเมื่อไม่กี่เดือนก่อนหน้านั้นเอง แต่รั้วค่ายนั้นดูเหมือนมีอายุได้สัก ๒-๓ ปีมาแล้ว

เราไต่เนินเขาที่มีป่าคลุมทึบขึ้นไปสัก ๖๐๐ ฟุต พอใกล้จะถึงยอดก็พบเครื่องกีดขวางเก่าแก่และเห็นเมืองงัน (Ngan) ตั้งอยู่ที่เชิงเขา ลาดเข้าด้านทิศใต้ไม่มีต้นไม้เลยแม้แต่ต้นเดียว เมืองนั้นอยู่ที่ระดับสูงกว่า ๔,๘๐๐ ฟุต และอากาศก็สดชื่นชวนใจให้ร่าเริง แลเห็นบ้านเรือนตั้งอยู่เคียงกันเป็นหมู่ หมู่ละสองหรือสามหลัง ชาวบ้านกำลังดำนา พอเราเดินเช้าไปใกล้ พวกผู้หญิงก็หอบลูกวิ่งหนีพลางไล่ควายพลาง เห็นได้ชัดว่าคงจะคิดว่าเราเป็นฮ่อ แต่เราส่งคนล่วงหน้าไปบอก และปลอบใจให้กลับมาได้

ผู้นำของเมืองชื่อ ตาเมืองจัน (Ta Muang Chan) ออกมาแสดงตัวและเล่าเรื่องความเดือนร้อนให้เราฟังตั้งแต่ต้น
มีบาดหลวงฝรั่งเศสสองรูป อาศัยอยู่ที่เมืองงันมากกว่า ๑๐ เดือน เท่าที่ข้าพเจ้าพอจะจับเค้าได้ ดูเหมือนจะชื่อบาดหลวงจอน (John) กับบาดหลวงอันโตนิโอ (Antonio) นักทัศนาจรชาวฝรั่งเศสคนหนึ่งชื่อ ด๊อกเตอร์ไนส์ (Dr.Neiss) เดินทางมาถึงก่อนพวกเรา ๑๖ เดือน เวลานั้นเจ้าขันติอยู่ที่นี้ด้วย ด๊อกเตอร์ไนส์มาถึงเมืองงันแล้วก็รีบส่งจดหมายไปยังพวกฮ่อที่ทุ่งเชียงคำ และได้รับคำตอบมาโดยเร็ว ด๊อกเตอร์ไนส์ได้แจ้งแก่ชาวบ้านว่า พวกฮ่อยกทัพมาโจมตี ถ้าชาวบ้านยอมเป็นเมืองขึ้นฝรั่งเศสเขาจึงจะอยู่ช่วย เมื่อได้รับคำตอบว่าชาวบ้านไม่มีสิทธิจะยกดินแดนให้แก่ใคร เขาก็ขู่ซ้ำว่าเช่นนั้น ชาวบ้านจะต้องรับผิดชอบหากเขาถูกพวกฮ่อปล้นเอาข้าวของไป เมื่อชาวบ้านไม่ยอม แต่เสนอว่าจะช่วยเอาของของเขาไปซ่อนในป่าให้ แล้วจะนำมาคืนเมื่อพวกฮ่อถอยกลับไปหมดแล้ว เขาก็ขนของเข้าไปไว้ในบ้านหลังหนึ่ง ติดป้ายประกาศไว้หน้าประตูบ้านเป็นภาษาอานัมว่า ดินแดนนี้เป็นของอานัม และถ้าพวกฮ่อมาทำลายข้าวของของเขา เขาจะร้องทุกข์ต่อกษัตริย์อานัม ตอนที่พวกฮ่อยกมานั้น ด๊อกเตอร์ไนส์พาบาดหลวงทั้งสองรูปไปหนองคาย ชาวบ้านผู้เคราะห์ร้ายถูกปิดล้อม บ้านเรือนถูกเผาและปศุสัตว์ก็ถูกฆ่า ต่อสู้อยู่ได้สามวันทั้งเสบียงทั้งน้ำและอาวุธก็หมดลง จำต้องพ่ายแพ้และถูกเก็บภาษีอย่างหนัก พวกฮ่อทารุณกับชาวบ้านที่เคยสนิทสนมกับด๊อกเตอร์ไนส์เป็นพิเศษ หลังจากที่ยึดเอาปืนไปแล้วก็จุดไฟเผาบ้านพักของบาดหลวง ขนเอาเสื้อผ้าและหนังสือของด๊อกเตอร์ไนส์ไปโยนทิ้งกลางทุ่ง


๑๓. ตามลำน้ำโขง

เราเดินจากเมืองงัน พ้นเขตที่ราบสูงอันงามตาเข้าสู่ป่าทึบ มีทางเดินขรุขระสูง ๆ ต่ำ ๆ ค่ายพักของเราที่ตั้งขึ้นกลางไร่ข้าวโพดนั้นมีผู้หญิงและเด็ก ๆ ที่หลบหนีพวกฮ่อแวะเข้ามาบ่อย ๆ ข้าพเจ้ารู้สึกแปลกใจมากที่ได้เห็นเด็ก ๆ ห้อยเหรียญรูปีไว้รอบคอต่างเครื่องประดับ อันที่จริงเหรียญรูปีเป็นเงินที่ใช้กันอยู่ในแถบนี้ พ่อค้าชาวต้องสู้จากพม่า ซึ่งหอบข้าวของเล็ก ๆ น้อย ๆ เร่ขายไปทุกแห่งเป็นผู้นำเข้ามาใช้ ออกจะมาน่าตกใจอยู่บ้างที่ได้รับรู้ว่ามีการค้าทาสด้วย เอาฝิ่นมาแลกกับหญิงชายที่พวกฮ่อจับตัวได้นั่นเอง

เราเดินทางต่อไปท่าตม (Ta Tom) ซึ่งพวกฮ่อที่ตีเมืองงันเดินทางต่อไปตีปล้นเสียแล้ว บ้านเรือนถูกเผาเกือบหมดเหลืออยู่เพียงสองหลัง ชาวบ้านถูกกวาดต้อนไปทุ่งเชียงคำมีมะพร้าวปลูกไว้มากมาย และเมื่อไม่มีใครเป็นเจ้าของ คนของเราก็เก็บกินกันเอกเกริกทีนี้ดูจะเป็นชุมชนสำคัญ มีทุ่งนากว้าง ระยะทางจากท่าตมถึงน้ำจัน (Nam Chan) พอจะเดินเรือได้ เราจึงเตรียมตัวจะไปทางนั้น

ช้างของเราได้ทำงานหนักมามาก เพาจึงตัดสินใจจะส่งมันกลับไปหนองคายหลังเปล่า เราผูกแพไม้ไผ่ขึ้น ล่องผ่านทิวมะพร้าวและที่ตั้งหมู่บ้านหลายแห่ง แต่ไม่ได้พบผู้คนเลย ระหว่างที่พักแรมคืนถูกพวกแมลงเล็ก ๆ รบกวนอย่างหนัก ส่วนใหญ่ก็คือยุงนั่นเอง

แม่น้ำช่วงนี้แคบ สองฟากฝั่งเป็นป่าทึบ แพของเรากระทบถูกแง่หินบ่อบครั้ง แก่งหลายแก่งผ่านได้ยากมากทีเดียว แต่ในที่สุดเราก็มาถึง บริคำ อลิคำ (Bori Kam Ali Kam) เมื่อวันที่ ๑๑ พฤษภาคม เปลี่ยนจากแพเป็นเรือขุดลำเล็ก ๆ ที่นี่เป็นแหล่งชุมชนใหญ่ ญาติของเจ้าขันตีเป็นผู้ปกครอง

เราถ่อเรือตามลำน้ำโขงมาอย่างเบิกบาน ระดับน้ำกำลังสูงขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อเรามาถึงหนองคายในวันที่ ๑๔ พฤษภาคม

ที่นั่นมีเรือมากมาย ดูเหมือนกำลังทำการค้ากันขนานใหญ่ พาหนะที่ใช้ขนส่งคือแพซึ่งส่วนมากยาวถึง ๖๐ ฟุต ลักษณะเหมือนรวงผึ้งลอยน้ำ ปรับปรุงให้เหมาะต่อการเดินทางอาจล่องลงไปถึงเขมราฐ แต่ต่อนั้นนไปมีแก่งน้ำเชี่ยวเกินกว่าจะผ่านไปได้
เราออกจากหนองคายในวันที่ ๑๖ พฤษภาคม ได้ยินเสียงฆ้องกลองแว่วมาจากวัดจังหวะฟังเพราะหู ฆ้องขึ้นนำแล้วกลองจึงตามสามลา แล้วแทรกเสียงฆ้องอีกลูกหนึ่งที่ระดับสูงกว่าลูกแรก กลองนั้นสูง ๔ ฟุต เส้นผ่าศูนย์กลาง ๒๑๒ -๓ ฟุต หน้างกลองใช้หนังดิบขึง

ที่เกาะแก่ง (Kaw Keng) ทางเริ่มลำบากมากขึ้น น้ำเชี่ยวกราก มีแก่งหินอยู่รอบด้านเห็นผิวพื้นมันวูบวาบเหมือนโลหะ เดี่ยวเขียวเรือง เดี่ยวเขียวดำเหมือนถ่าน เปลี่ยนไปตามคราบน้ำเกาะ ที่หนองเชียงแสน(Nawng Chieng San) มีห้วงน้ำที่แยกจากลำน้ำใหญ่ด้วย หาดทรายสีเงินและโขดหิน เป็นที่จับปลาได้มากในฤดู น้ำวนมีกระแสเชี่ยวมาก หลายครั้งระหว่างพยายามต้านแรงดูดเบื้องล่าง เราหลุดเข้าไปหมุนอยู่ในวนก่อนที่จะผ่านพ้นโขดหินข้างหน้าขึ้นไปได้

วันที่ ๒๑ พฤษภาคม เรามาถึงเชียงคาน (Chieng Kan) ได้อย่างลำบากยากเข็ญเรือลำหนึ่งล่มเสียที่แก่งจัน (Keng Chan) โชคดีว่ายังกู้คืนได้ กลางคืนก็มีพายุจัด คืนหนึ่งข้าพเจ้าฝันร้าย ตกใจตื่นเพราะพังงาเรือลำหนึ่งร่อนทะละหลังคาเรือเข้ามาตกปุลงบนอกเพื่อนของข้าพเจ้า คือ ลีโอโนเวนส์ นอนอยู่ในเรือที่เกือบจะชนเรือข้าพเจ้าล่มนั่นเอง แต่แม้ข้าพเจ้าจะแผดเสียงตะโกน เขาก็ยังหลบต่อไปได้ ข้าพเจ้าต้องผลักเรือลำนั้นออกไปด้วยความยากลำบาก กว่าจะทำได้ก็เปียกโชกเข้าไปถึงกระดูก ทีนี้ก็ไม่เหลือเครื่องคุ้มหัวกันฝนฟ้าอะไรอีกแล้ว หลังคาเรือที่โหว่รั่วเกินแรงซ่อม เช้าขึ้นข้าพเจ้าเลยเป็นหวัดอย่างแรง ยิ่งน่าโมโหมากขึ้นเมื่อนึกถึงว่าข้าพเจ้าได้เสนอแนะไว้ก่อนแล้วว่า ต้องไม่โยงเรือไว้ชิดกันเกินไป เผื่อว่าจะมีพายุ แต่เขาคงจะเลื่อนที่กันหลังที่กันหลังจากข้าพเจ้ากลับมานอน

หลังจากที่เปลี่ยนทั้งคณะคนเรือที่ปากลาย (Pak Lai) เราก็เดินทางต่อ ตอนนี้แม่น้ำไหลเป็นแนวตรงช่วงยาว กระแสเชี่ยวจัด มีแก่งหินใหญ่อยู่สองฟาก ภูเขาที่มีป้าคลุมทึบลาดลงมาจดขอบตลิ่ง แต่หมู่บ้านมีน้อยแห่ง เหนือแก่งหลวงซึ่งทั้งยาวและผ่านยากนั้นขึ้นไปจึงค่อยเดินทางสะดวกขึ้น และจากเหนือเมืองน่านขึ้นไปก็ค่อยมีหมู่บ้านมากแห่งขึ้นด้วย

คนสำคัญที่เราได้พบก็คือ คนทรง ประจำตัวเมืองหลวงพระบาง เขาเป็นคนฉลาดและมีตำแหน่งที่น่าอิจฉายิ่ง เพราะเจ้าเมืองผู้ชราจะไม่มีวันทำสิ่งใดก่อนที่จะได้ปรึกษาเขาเสียก่อน เมื่อถูกรียกมาเข้าทรง เขาจะเรียกร้องให้เตรียมการอย่างเต็มที่ ต้องมีเหล้าเถื่อนไม่จำกัดปริมาณ และต้องล้มควายด้วยตัวหนึ่ง หลังจากกินอาหารมื้อใหญ่ตบท้ายด้วยเหล้าอีกมาก แล้วเขาก็สะกดตัวเองให้เคลิ้มคลั่ง บิดเอี้ยวร่างกายไปต่าง ๆ บางทีก็ถึงน้ำลายฟูมปากด้วยความเหน็ดเหนื่อย ตอนนี้ก็ถือว่าผีเข้าแล้ว เริ่มตั้งคำถามได้ คำตอบของเขาถือเป็นเทวโองการทีเดียว การถามตอบนี้ดำเนินไปจนคนทรงฟุบหลับไปด้วยความเหนื่อยและเมา โดยมากคนแปลกหน้าจะถูกกีดกันไม่ให้เข้าร่วมพิธี และแม้ว่าธรรมเนียมนี้จะค่อยจางลงไปมากแล้ว ชาวบ้านที่พอจะทำได้ก็จะหาคนทรงประจำตัวไว้สักคนหนึ่ง

ข้าพเจ้าหาคนเรือได้ไม่ครบ ในเมื่อคนทรงรายนั้นถือท้ายเรือได้ ข้าพเจ้าก็เอาเขาไปด้วย แม้เขาจะเตือนข้าพเจ้าว่ามีผีสิงเขาตามอยู่ก็ตาม เรื่องนั้นไม่เห็นสำคัญอะไร เขาถือท้ายเรือให้ข้าพเจ้าอย่างดีเยี่ยม จนเรามาถึงหลวงพระบางในค่ำวันที่ ๒๙ พฤษภาคม นับว่าเดินทางมาก่อนหน้านี้เพียงเดือนเดียวจะลำบากมาก ตอนนี้ระดับน้ำสูงขึ้นเรือล่องผ่านมาได้ ไม่เช่นนั้นแล้วจะต้องฝ่าแก่งน้ำเชี่ยวเพิ่มขึ้นอีกหลายแห่ง


๑๔. เมืองหลวงพระบาง
เราตกใจมากเมื่อได้พบว่าค่ายพักตั้งอยู่ในที่ที่เลวอย่างยิ่ง และการจัดการทุกอย่างตรงกันข้ามกับที่เราได้สั่งไว้ ฝนก็เริ่มตกแล้ว และชาวบ้านก็ได้ถูกเกณฑ์มาปลูกสร้างกระท่อมเลว ๆ นั้นเป็นจำนวนมากแล้ว จนเรารู้สึกว่าไม่สมควรจะให้เขามาสร้างให้ใหม่อีก

มีรายงานข่าวมาว่า พวกฮ่อตั้งอยู่ที่เมืองยิว (Muan) เราจึงไม่อาจจะเดินทางกลับบางกอกได้ เพราะหากทำเช่นนั้นพวกฮ่อก็อาจคิดว่าเรากลัว เท่ากับชวนเชิญให้พวกมันมาปล้นหลวงพระบางนั่นเอง เราต้องจัดการให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ เมื่อไม่อาจป้องกันความไข้ในหมู่คนของเราได้แล้ว เราก็เลือกสถานที่สร้างโรงพยาบาล และเริ่มงานก่อสร้างขึ้นทันที

พระยาสุโขทัย (Pai Sukotai) ควรจะเป็นผู้ป้องกันเมืองยิว และก็ได้ก่อสร้างรั้วค่ายขึ้นไว้แล้วด้วยจุดประสงค์ดังกล่าว แต่เขาล้มเจ็บเป็นก่อนที่พวกฮ่อจะมา จนต้องเดินทางกลับมาหลวงพระบาง พวกฮ่อจึงได้เผารั้วค่ายนั้นเสีย

สมาชิกสภาเสนาบดีสองสามคนมาพบและถามข้อกำหนดวันที่ข้าพเจ้าจะเข้าเฝ้าเจ้านคร

หนังสือราชการหรือศุภอักษร วางไว้ในพานเงินมีฉัตรกั้น และมีขบวนปี่กลองนำไปยังคุ้มเจ้านคร ไม่ช้าเจ้านครก็เสด็จมา พระองค์เป็นชายชรา อายุ ๗๗ พรรษา คงมีอารมณ์เย็นและเป็นที่รักของประชาชน ข้าพเจ้าเคยอ่านพบว่าหลวงพระบางเคยขึ้นต่ออานัมมาครั้งหนึ่งแต่เมื่อได้ทูลถาม เจ้านครก็ตรัสตอบสั้น ๆ อย่างมั่นคงว่า "ไม่เคย" พระองค์ตรัสว่า อานัมเป็นเมืองขึ้นของจีน และหลวงพระบางเคยส่งส่วยบรรณการแก่จีนทุก ๑๐ ปี บรรณาการซึ่งส่งจากเมืองไซ (Muang Sai) ไปยังเมืองไล (Muang Lai) ในสิบสองปันนา (Sib Sarng Pang) และต่อไปยังเจ้าผู้ครองแคว้นยูนนาน ซึ่งเรียกว่า เจ้าฟ้าวง () นั้นประกอยด้วย ช้าง ๔ เชือก ล่อ ๔๑ ตัว นาก (ทองผสมทองแดง) ๕๓๓ ปอนด์ นอแรด ๒๕ ปอนด์ งา ๒,๐๐๐ ปอนด์ ผ้าทอ ๒๕๐ พับ เขา ๑ กิ่ง หมาก ๑๕๐ ทะลาย มะพร้าว ๑๕๐ ผล ไข่ปลาบึก ๓๓ ลอน

ขณะที่เราสนทนากับเจ้านครอย่างออกรส เสียงกบร้องกันให้ขรมอยู่ใต้ถุนนั่นเอง ตลาดเมืองหลวงพระบางมีคนแน่นในตอนเช้า ผู้คนชายหญิงปะปนแลกเปลี่ยนซื้อขายสินค้ากันให้เสียงขรม

เงินเหรียญรูปีนั้น ไม่เห็นค่อยจะได้เอามาใช้เป็นเงินตรา แต่มักจะเอาไปหลอมทำเป็นเครื่องประดับแปลก ๆ ลวดลายงามแบบลาว เช่น กล่องทรงกระบอก ชาม เชียนหมาก และด้ามมีด

แต่ก่อนดินแดนนี้มีไหมดิบคุณภาพยอดเยี่ยม ข้อที่จะต้องปรับปรุงก็มีแต่วิธีสาวไหม เพราะอย่างที่ทำกันอยู่นั้นเส้นไหมมักเป็นปม ต่อไปนี้เป็นรายการสินค้าพร้อมทั้งราคา

หายหนึ่งเท่ากับเหรียญเมกซิกัน ๒, ๔๐๐ เหรียญ หรือ ๑๓๓.๓๓ ปอนด์ โดยน้ำหนัก
กำยานชั้นที่หนึ่ง ต่อหาบ ๒๐๐ รูปี
กำยานชั้นที่สอง ต่อหาบ ๑๐๐ รูปี
ไหมยอดชั้นที่หนึ่ง ๕๐๐ รูปี
ไหมปน ชั้นที่สอง ๒๕๐ รูปี
ขี้ผึ้ง ๑๐๐ รูปี
สีเสียด ๑๐ รูปี
กระวาน (อบเชย) ๒๐ รูปี
เกร็ดลีน ๑๐๐ รูปี
รายการสุดท้าย เป็นเกล็ดของตัวกินมด (Armadillo) ซึ่งหมอจีนและลาวใช้เข้าเครื่องยา

ความยากลำบากอยู่ที่การขนส่ง ทางที่สะดวกที่สุดคือลงเรือไปปากลาย ค่าขนส่ง ๒๐ รูปี ต่อ ๖,๐๐๐ ปอนด์ แล้วจึงบรรทุกช้างหรือวัวต่างไปยังอุตรดิตถ์ การขนส่งช่วงหลังนี้แพงมาก หากว่าช้างได้รับการดูแลอย่างอีเท่าช้างในอินเดีย และมีเบาะแบบเดียวกันจะบรรทุกได้ถึง ๑,๐๐๐ ปอนด์ - ๑,๒๐๐ ปอนด์ แต่เท่าที่เป็นอยู่ ๓๐๐ ปอนด์ก็นับว่าหนักมากแล้ว และต้องใช้เวลาถึง ๘ วัน ค่าบรรทุก ๑๒ รูปีต่อช้าง ๑ เชือก แต่อัตรานี้ขึ้นลงตามน้ำหนักบรรทุกด้วย

นอกจากสินค้าที่กล่าวแล้วยังมีของป่า เช่น ไม้มะเกลือจำนวนมาก คราม และอบเชย สามชนิด ได้แก่ แก่ไห่(Ke Kai) แก่หมู(Ke Mu) และแก่หนัง (Ke Nang) แก่หนัง เป็นชนิดดีที่สุดราคาถึงกึ่งหนึ่งน้ำหนักเงิน ใช้เข้ากับเครื่องยาเช่นเดียวกับนอแรด งาช้างและฝ้ายเคยมีมากแต่ปัจจุบันหาได้จำนวนน้อยลง ขายราคา ๑๐ ปง(Pong) ต่อเงินสลึง บางคราวมีชาจำนวนมากลงจากไร่ชาที่ไอบัง (I Bang) และไอวู(I Wu) ต้นน้ำอู (Nam U) ส่วนใหญ่เป็นชาดำ แต่เฉพาะที่ถวายเจ้านครเป็นแท่งสี่เหลี่ยมขนาด ๖*๔ นิ้ว สีอ่อน ประทับตราอักษรจีน แสดงว่าเป็นของสำหรับส่งไปกรุงปักกิ่ง

ชาวหลวงพระบาง มีมาตราชั่งตวงแบบทศนิยม ดังนี้

๑๐ ฟิน = ๑ เต(Te)
๑๐ เต = ๑ หง(Hong)
๑๐ หง = ๑ ขุน(Khunn หรือ ปง Pong) ๑ หง = ๓.๓๓ รูปี
๑๐ ปง = ๑ ราวี(=๑๐๐) (Ravi)
๑๐ ราวี = ๑ ปุนน์(Punn)

เดือนมิถุนายน เป็นเดือนที่ชาวประมงหลวงพระบางทำงานหนัก เรือแทบทุกลำออกจับปลา และแต่ละลำต้องเอาปลาใหญ่มาถวาย ปลาใหญ่ที่ต้องการกันมากก็คือ ปลาบึก(Pla Buk) และปลาแร่ม(Pla Rerm) ชนิดหลังซึ่งตัวเล็กกว่ามีน้ำหนักเฉลี่ย ๗๐ ปอนด์ มีฟันครีบยาวประหลาด ไม่มีเกล็ด สีออกเทาแกมแดง ดูไม่ค่อยน่ากิน มีชุกในเดือน มีนาคม เมษายน และพฤษภาคม ราคาตัวละสัก ๓ รูปี ลาบึกที่ข้าพเจ้าไปช่วยจับมาได้นั้นหนัก ๑๓๐ ปอนด์ ลำตัวยาว ๗ ฟุต งัดรอบได้ ๔ ฟุต ๒ นิ้ว ปลายหางวัดได้ยาว ๑ ฟุต ๙ นิ้ว ไม่มีเกล็ด ไม่มีฟัน ขายได้ ๑๐ รูปี ไข่ปลาชนิดนี้ถือว่าเป็นอาหารเลิศรสที่เดียว ปลานี้จับได้เฉพาะช่วงเดือน ๖ เดือน ๗ หรือ มิถุนายน - กรกฏาคม และสิงหาคมเท่านั้น เพราะมันมาว่ายทวนน้ำ แต่เมื่อมันล่องกลับในเดือนพฤศจิกายน มันจะลงน้ำลึก จับได้แต่ตัวที่หลงๆไม่กี่ตัว มันอาศัยอยู่แต่ในแม่น้ำโขงเท่านั้น ไม่เลยขึ้นไปถึงแม่น้ำอูซึ่งเป็นถิ่นของปลาแร่มเลย
อวนที่ใช้ดักปลาชนิดนี้ ยาวตั้งแต่ ๑๕๐ - ๒๐๐ ฟุต กว้าง ๖ ฟุต ทำด้วยเชือกหนา ๑/๘ นิ้ว เมื่อหย่อนจากเรือเล็กลงน้ำต้องใช้คนสองคน มุมด้านหนึ่งผูกพวงน้ำเต้าใช้เป็นลูกลอย ห่างช่วงละ ๘ ฟุต อีกมุมหนึ่งผูกหินถ่วง เดือนมิถุนายน น้ำเป็นสีแดงขุ่น และปลาซึ่งว่ายอยู่ใกล้ๆฝั่งนี้เองจะถูกจับได้โดยง่าย ยิ่งดิ้นก็ยิ่งถูกข่ายอวนรัดแน่นเข้าทุกที ก้อนหินจะครูดกับท้องเรือดังแกรกกราก ชาวประมงดึงอวนขึ้นเมื่อได้ปลา การจับปลาวิธีนี้มิใช่ว่าจะปราศจากอันตรายโดยสิ้นเชิง บางทีคนจับก็ถูกปลาลากลงจากเรือเข้าไปติดพันอยู่ในอวนเหมือนกัน

พวกที่สนใจเรื่องนาคน้ำคงจะชอบใจถ้าได้รู้ว่า ชาวลาวก็ทีนาคน้ำอยู่ในแม่น้ำโขง ด้วยตามแก่งต่างๆ คนเล่าอ้างว่าได้เคยเห็นเองด้วยซ้ำ ตัวยาวตั้ง ๕๓ ฟุต หนา ๒๐ นิ้ว พอมีคนจมน้ำ มันจะเข้ามาขม้ำกระชากผมออกเป็นกระจุกหนึ่งแล้วก็ดูดเลือก ถ้าพบศพใครมีสภาพผิดไปเช่นนั้น ก็เชื่อว่าเพราะตกเป็นเหยื่อของนาคแถบหลวงพระบาง


๑๕. ธรรมเนียนเมืองหลวงพระบาง
เราไปเยี่ยมเจดีย์บนเนินเขา ชื่อ พระชอนศรี(Pra Chawn Si) ซึ่งถือว่าบรรจุอัฐิธาตุของพระพุทธเจ้า เจดีย์นั้นทรวดทรงงาม ปิดทองทับ สร้างอยู่บนเนินหินปูนสูง ๒๓๐ ฟุต เชิงเนินเป็นตัวเมืองหรืออันที่จริงก็เท่ากับหมู่บ้านใหญ่ๆ แห่งหนึ่ง ลาดเนินด้านตะวันตกมีขั้นบันไดชันทอดขึ้นไปถึงยอด มีคนเผ้าคนหนึ่ง คอยย่ำระฆังตามเวลา เพราะถ้าไม่ทำเช่นนั้นแล้วผีจะโกรธ

ชนพื้นเมืองในลุ่มแม่น้ำโขงล้วนเชื่อผีปีศาจอย่างน่าแปลกใจ เลือกเชื่อแต่ผีร้ายๆด้วย ทุกปีจะมีการฆ่าสัตว์บวงสรวงแก้บนเป็นประจำ

ตัวเมืองหลวงพระบาง เป็นภูมิทัศน์อันงามตาโดยเฉพาะในเวลาเย็น เมื่อแสงตะวันรอนฉาบฉายอยู่ทั่วทิวเขา แม่น้ำกว้าง ๑,๗๗๐ ฟุต น้ำนิ่ง แลเห็นเป็นแนวไกลสุดตาและเนินเขาลาดลงมาจดตลิ่ง คล้ายจะแวดล้อมห้วงน้ำไว้ให้ดูเหมือนเป็นทะเลสาบ ยอดเจดีย์ประปรายอยู่ที่นั่นบ้างที่นี่บ้าง ยิ่งทำให้เป็นเสน่ห์แก่ตามากขึ้น บางแห่งมีหลังคาโค้งสร้างมาแต่โบราณกาล และมีแห่งหนึ่งเล่ากันว่าสร้างตอมะนาวและตอฝรั่งที่พูดได้(มะงั่วหาว-มะนาวโห่ ในนิทาน พระรถ-แมรี ผู้แปล) วัดพระฝางนั้นสร้างขึ้นในปี ๓๐๐ จุลศักราช เทียบราว ค.ศ. ๙๓๘ เป็นวัดที่เก่าที่สุด

ที่วัดหลวง มีงานพิธีและงานเฉลิมทางศาสนาเป็นประจำ และชาวขมุเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญเสมอ ที่นี้เป็นสถานที่จัดงานสถาปนาหัวหน้าเผ่าคนใหม่ด้วย พวกผู้นำของเป่าจะมาชุมนุมเพื่อกระทำสัตย์สาบานว่าจะถวายชีวิตแก่หัวหน้า และยิงธนูข้าบัลลังก์ เพื่อแสดงว่าจะต่อสู้กับศัตรู แล้วถือเทียนที่จุดไฝแล้วเข้ามาสาบากว่าหากผู้ใดไม่ทำตามที่สาบานไว้ ก็ให้ถูกเหล็กเผาไฟแทง และฟ้าถล่มทับ

บนฝังขวาของแม่น้ำ มีเนินเขาเล็กๆ ชื่อ เขานางเมรี (Nang Meri) มีตำนานเล่าว่าเมื่อนางเมรีตายแล้ว ศพก็กลายเป็นภูเขา ถ้ามองในเวลาโพล้เพล้เห็นแนวเนินพอจะคล้ายรูปผู้หญิงนอนอยู่ได้เหมือนก้น บนฝังซ้ายมีคล้ายรอยเท้า เล่ากันว่าเป็นรอยเท้าข้างขวาของนางคู่กัยรอยเท้าซ้ายซึ่งอยู่อีกฝั่งหนึ่ง ห่างกันประมาณ ๑.๐๐๐ หลา เป็นก้าวสุดท้ายของนาง

ทางทิศตะวันออกมีเขาชื่อ ภูสวง(Pu Suang) เป็นที่ที่ ชาลส์มูโอติ์(Charles Mouhot) นักวิทยาศาสตร์ผู้ท่องเที่ยวมาตามลำพังมาสิ้นชีวิต และยังคงเป็นที่จดจำรำลึกด้วยความรักของชาวท้องถิ่นแถบนั้น อย่างไรก็ดี ชาวลาวเชื่อกันว่าเขาตายเพราะผีทำ เนื่องจากบนยอดเขานั้นมีขุมทรัพย์ ซึ่งมังกรเฝ้าอยู่ แม้จนกระทั่งทุกวันนี้ยังมีคนเห็นมันต่อสู้กันอยู่ในท้องฟ้า ผู้ที่พยายามไต่เขาจะต้องตายทุกคนไป มูโอติ์ ได้พยายามแล้วก็จับไข้และตายอยู่ แต่เห็นจะไม่ค้องบอกก็ได้ว่ามีผู้คนจำนวนมากได้เคยขึ้นไปยอดแล้ว โดยมิได้พบขุมทรัพย์หรือมังกรเลย และทั้งยังมิได้ตายด้วย

หลวงพระบาง เป็นเมืองเก่าแก่ที่สุดเมืองหนึ่งในภูมิภาคอินโดจีน และมีประวัติน่าสนใจ เท่าที่ข้าพเจ้าพอรวบรวมได้จากตำนานพื้นเมืองที่โอรสองค์โตของเจ้านครเล่าให้ฟังมีเนื้อความดังนี้.-

กษัตริย์องค์แรกคือ ขุนบรม (Khun Boron)ครองเมืองเต็ง (Teng) (ซึ่งพันตรี เยรินี (Gerini) ระบุว่าเป็นเมือง Dusana หรือ Doana ของ พโทเลมี) ซึ่งมีต้นไม้ใหญ่ยอดสูงถึงสวรรค์อยู่ต้นหนึ่งแผ่ร่มเงาไปตลอดทั้งแคว้นหลวงพระบาง กษัตริย์มักจะทรงไต่ต้นไม้นี้เล่นขึ้นลงระหว่างสวรรค์กับโลกมนุษย์เสมอ จนกระทั่งผีร้ายมาลอบตัดต้นไม้นั้นเสียเพื่อมิให้สามารถขึ้นลงระหว่างสวรรค์ได้อีก ต้นนั้นยังอยู่จนกระทั่งทุกวันนี้เรียกว่า ขัวเขาขาด(Kua Kao Kat) และแน่นอนที่เนื้อไม้ถือว่าเป็นเครื่องรางกันภูตผีทั้งปวง กษัตริย์ทรงปลูกฟักทองด้วย วันหนึ่งทรงอยากทดลองว่าฟักทองสุกหรือยัง ก็ทรงใช้หอกเหล็กแทงดู ปรากฎว่ามีเลือดไหลออกมาจากฟักทอง จึงทรงรออยู่ ๒-๓ วัน แล้วทรงแทงอีก คราวนี้ปรากฎว่ามีชายผิวคล้ำออกมาเป็นต้นกระกูลพวกกะเฉ่(Kache) หรือขมุ หลังจากนั้นทรงแทงฟักทองลูกอื่น มีชายผิวขาวออกมา ชายนี้เป็นต้นตระกูลชาวลาว ตามตำนานนี้จึงเชื่อว่าทั้งสองเป็นพี่น้องกัน

นานๆเข้า ทั้งชาวลาวและขมุก็มีจำนวนมากขึ้น ต้องเดินทางออกไปตั้งถิ่นฐานใหม่จึงเกิดเการแข่งขันกันขึ้นระหว่างครอบครัวนั่นเอง ชาวลาวเป็นฝ่ายที่ฉลาดกว่า เมื่อเดินทางออกจากเมืองเต็งก็ใช้เรือไม้และแพ แต่พวกกะเฉ่ใช้เรือทำด้วยหนังควาย ต่างล่องลงไปตามลำน้ำเหนือ(Nam Nua) แต่พอถึงแก่งเหม็นวาย(Men Kwai) เรือของพวกกะเฉ่ก็แตก ต้องขอให้พวกลาวช่วยพามาจนถึงที่ตั้งเมืองหลวงพระบางปัจจุบัน เดมที่เมืองที่ตั้งขึ้นนั้นชื่อว่า เมืองสาวา(Sawa) มีอาณาเขตแผ่กว้างไปตลอดลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งเมืองตั้งตามหินใหญ่ที่ตั้งพระเจดีย์วัดเชียงทอง(Chieng Tawng)

ในประวัติศาสตร์ไม่มีกล่าวถึงเรืองฟักทอง แต่กล่าวว่าชนที่มายังเมืองสาวาเป็นกลุ่มแรก เป็นเชื้อสายของขุนลอ(Khun Law) ซึ่งเป็นบุตรคนใหญ่ของขุนบรมกับนางโปลา ชายาเอก บุตรคนใหญ่ชื่อเจตเจียง(Chet Chieng) ผู้ที่ตั้งเมืองเชียงขวางหรือเมืองพวน และบุตรคนที่สามชื่อ ติผาลัน(Ti Palan) ผู้ตั้งลักษคูหา(laksa Kuha)หรือยูนนาน

ภรรยาคนรองของขุนบรมมีบุตร ๔ คน จูสง(Chu-Song)ผู้ที่ตั้งเมืองผาคุง(Pa-Kung)หรืออานัม ลักสง(Lak-Song) ผู้ตั้งเมืองหงสาวดี(พะโค) ไลปง(Lai-Pong) ผู้ตั้งเมืองเชียงดาวหรือ อเลเว(Aleve) (เชียงฮุ้ว หรือเชียงรุ้ง ในภาษาสยาม ชาวลาวไม่มีเสียงตัว ร) ขุนอินลูกคนสุดท้อง เป็นผู้สร้างกรุงศรีอยุธยา ดังนั้นเมืองเต็งจึงเป็นศูนย์กลาง หรือจุดเริ่มต้นของประชากรในท้องถิ่นภูมิภาคอินโดจีนทั้งหมด

เมื่อตัดสินข้อพิพาทให้ยุติว่า ใครคือผู้มีอำนาจเหนือในระหว่างชาวลาว และกะเฉ่ ได้มีการตกลงกันว่า ผ่ายใดสามารถทำเฉลกกันผีและกันเสือได้สูงที่สุดก็จะได้เป็นาย พวกกะเฉ่ลงมือสร้าง แต่ทำได้ไม่สูงเท่าไร ส่วนพวกลาวทำเฉลวเอาขึ้นแขวนปลายยอดไม้ไผ่แล้วปล่อยให้ดีดขึ้นไปสูงลิ่ว เลยเป็นอันชนะได้เป็นนาย จนเมื่อไม่นานมานี้เอง พวกกะเฉ่ ก็ยังต้องส่งส่วยให้แก่ลาวตามที่ฝ่ายนี้ต้องการ ในสมัยก่อนเงินรูปีเดียวแลกข้าวได้มากเกินสี่คนหามเสียอีก

หันหน้า หรือ กษัตริย์ ใช้คำนำหน้าว่า ขุน อยู่ ๑๕ ชั่วคน แล้วใช้คำว่าท้าว ๖ ชั่วคน ชื่อเมืองก็เปลี่ยนเป็น ลานสาง(Lan Sang) (คือช้างในภาษาสยาม ภาษาลาวไม่มีเสียงตัว ช) ซึ่งพระยาฤทธิรงค์(P'ia Riddhirong) กรรมาธิการฝ่ายไทยแปลว่า สถานที่ชุมนุมช้าง เนืองจากทิวเขาโดยรอยชื่อว่า สาง (ช้างในภาษาสยาม) นั่นเอง ต่อมาจึงได้เปลี่ยนชื่อเป็นหลวงพระบาง เนื่องจาพระพุทธรูปชื่อพระบางซึ่งสร้างที่ลังกา และได้นำมายังประเทศเขมร ผ่านหลวงพระบางไปเวียงจันทร์ บางกอก แล้วย้อนกลับมายังหลวงพระบางในที่สุด

ในต้นศตวรรษนี้ หลวงพระบางถูกเวียงจันทร์ตีแตกหลังจากแยกจากกันไปเป็นเวลานาน เจ้าเมืองคือ เจ้าอนุราธ(Anurata) และโอรส ถูกจับเป็นเชลยส่งไปยังบางกอก และถูกจำขังอยู่ถึง ๑๒ ปี เมื่อสิ้นพระชนม์หลังจากนั้นอีก ๒๐ ปี หม่องตา(Mong Ta) ได้ขึ้นปกครองอยู่ ๑๒ ปี ถัดนั้นเป็นเจ้าหลวงเสริม(Chao Luang Serm) ซึ่งครองอยู่ ๑๙ ปี แล้วจึงถึงเจ้าเมืองคนก่อนซึ่งขึ้นครองเมื่อ ค.ศ. ๑๘๗๐ ชื่อ เจ้าหลวงอุ่นคำ (Chao Luang Un Khum)


๑๖. ความไข้กลางฤดูฝน - ถอยกลับบางกอก - เส้นทางสายอุตรดิตถ์ 

ในเมื่อไม่สามารถทำงานได้ในฤดูฝน ลีโอโนเวนส์ จึงเดินทางกลับบางกอก บุชยังคงอยู่ตามความปรารถนาของเขา และข้าพเจ้าก็ส่งทาหร ๗๐ คน ลงไปยังหนองคาย ซึ่งเป็นที่เหมาะแก่อนามัยยิ่งกว่าเพื่อให้อยู่ในปกครองของพระยายมราชฯ แม่ทัพผู้กำลังเดินทางไปปราบฮ่อ อย่างไรก็ตามท่านผู้นั้นได้จัดการส่งทหารของเราทั้งพวกลงไปยังบางกอกทันที่ที่สิ้นฤดูฝน

ฝนตกหนักอย่างสม่ำเสมอ และความไข้ก็ระบาดไปทั่ว ข้าพเจ้าจับไข้ล้มลุกคุกคลาน คนรับใช้ทุกคนป่วยหมด บุช ซึ่งเคยบ่นอุบอิบอยู่เป็นคราวๆ ก็อาการทรุด จนข้าพเจ้าต้องเอาเขาเข้ามานอนในห้องเดียวกัน เพื่อที่จะได้ดูแลได้ดียิ่งขึ้น

เย็นวันที่ ๒๘ มิถุนายน ไข้ของเขาทรุดเพียบลงอย่างรวดเร็ว สักห้าทุ่มครึ่งก็เงียบไปจนข้าพเจ้าทั้งเหนื่อย ทั้งเจ็บไข้ สุดที่จะยอมรับได้ว่า เพื่อนผู้มีอายุเพียงยี่สิบเอ็ดปีตายจากไป แต่ความจริงที่น่าสลดใจอย่างสุดซึ้ง ก็เป็นเช่นนั้น

ข้าพเจ้ากระทบกระเทือนใจมากที่เขาตาย แต่โชคดีที่ได้มิตร คือเจ้าเมืองพิชัย ช่วยเหลือทุกอย่างด้วยความกรุณาและรอบคอบอย่างที่จะหาที่เปรียบมิได้ ท่านได้จัดเตรียมฝั่งศพเพื่อนของข้าพเจ้าอย่างเรียบร้อยทั้งหาโลงให้ และจัดที่ฝั่งศพที่ใกล้วัดมหาธาตุ(Wat Tat) ในเมื่อเจ็บป่วยทั้งกายและใจครั้งนี้ ข้าพเจ้าก็ไม่เห็นประโยชน์จะอยู่ต่อไป แม้จะพอประคองตัวอยู่ได้ ก็ไม่มีสุขภาพที่ดีพอที่จะทำงานหนักในฤดูฝนได้อีก เห็นจะเป็นการดีกว่าหากจะกลับไปพักที่ยางกอกเพื่อเตรียมตัวสำหรับฤดูถัดไป

วันที่ ๕ กรกฎาคม ข้าพเจ้าเข้าอำลาต่อเจ้าเมืองผู้ใจดีซึ่งมอบเรือให้เราหลายลำ แล้วหันหลังให้แก่เมืองหลวงพระบาง ที่นี่ภูมิทัศน์งดงามนัก แต่ไม่เหมาะแก่สุขภาพอนามัย ทั้งของคนแปลกหน้าและของชาวพื้นเมืองเลยในฤดูฝน ระบบทางระบายน้ำไม่มีเลย หลังจากฝนตกคราวหนี่งๆ กลิ่นไอต่างๆ ก็ลอยวนดูราวกับหมอกตก ความไข้ที่ระบาดก็ไม่ใช่ชนิดธรรมดา คนไข้จะอาเจียนอย่างน่ากลัว อาการทรุดหนักและตาย บางรายก็ภายใน ๑๒ ชั่วโมง นับจากอาการเริ้มปรากฏ ไม่เป็นเรื่องแปลกที่ชายฉกรรจ์ซึ่งยังสุขภาพดีเลิศอยู่ในตอนเย็นจะจับไข้ตอนกลางคืน และเช้าขึ้นก็กลายเป็นศพไปเสียแล้ว บางคนกลายเป็นบ้าไปเลย พวกชาวจีนกลัวท้องถิ่นนี้มาก ถึงหน้าฝนแล้วเป็นไม่ยอมอยู่แม้แต่รายเดียว พ่อค้าจะมาจากเมืองหนองคายและพิชัยในหน้าแล้ง แต่ก็รีบกลับก่อนจะถึงหน้าฝน

การเดินทางล่องลงมาตามลำน้ำสะดวกรวดเร็วดีมาก ข้าพเจ้ามาถึงปากลายในตอนเที่ยงของวันที่ ๓ แม่น้ำเปลี่ยนไปจนจำไม่ได้ วังน้ำวนอันตรายมาก แต่คนเรือก็เชี่ยวชาญอย่างน่าอัศจรรย์ใจ

เราออกจากปากลายพร้อมกับคนเจ็บ และการเดินแม้ระยะสั้นๆ ก็เหนื่อยเกินสำหรับพวกพวกเขาต้องหยุดพักที่เมืองว้า(WA) วันหนึ่งทางเดินสันปันน้ำใหญ่สะดวกสยายมาก แต่ลาดเขาด้านตะวันตกตลอดจนถึงที่ตั้งค่ายพักริมน้ำพัด(Nam Pat) หมู่บ้านที่ใกล้แม่น้ำเจ้าพระยาที่สุด เพื่อหาเรือให้ได้โดยเร็ว โชคร้ายที่มีคนตายไปคนหนึ่ง แต่ที่เหลือไปถึงยานดู่ได้โดยปลอดภัย พอได้เห็นแม่น้ำที่จะไปบางกอก เท่านั้นก็รู้สึกว่าดีใจกันทั่วหน้า เรือที่เราพากันล่องลงไปแม้จะเล็ก ก็ปรากฏว่าเป็นความเปลี่ยนแปลงที่ดีสำหรับพวกเราทุกคน

เรามาถึงอุตรดิตถ์ ซึ่งมีหมู่บ้านรายเรียงตามแนวแม่น้ำฝั่งขวา และมีคนจีนอยู่มาก ตัวเมืองแบ่งเป็น ๓ ส่วน ส่วนเหนือคือท่าอิฐ(Ta It) ส่วนกลางกับอุตรดิตถ์เป็นที่ตั้งจวนเจ้าเมือง และบ้านโพ(Ban Po) ซึ่งเป็นถิ่นชาวจีนตามที่ข้าพเจ้าได้เห็นและขอเรียกเช่นนั้น นับเป้นศูนย์กลางการค้าขายของลาว และสินค้าจากยูนนานที่จะส่งไปบางกอกหรือที่อื่นๆ อย่างไรก็ดีการขนส่งนั้นเป็นจุดอ่อนอยู่มาก ลงเป็นคนแปลกหน้าแล้วหาเรือที่จำเป็นสำหรับล่องลงไปไม่ได้เลย อุปสรรคในการเดินทางกลับยังมีมากกว่านั้นอีก พ่อค้าจึงมักเลือกเดินทางไปทิศตะวันนกโดยทางบก กลายเป็นว่าสินค้าราคานับเป็นพันๆปอนด์ ถูกขนไปยังมละแหม่งเสีย แทนที่จะลงมายังบางกอก

ทิศตะวันตกของเมืองอุตรดิตถ์ มีเจดีย์วัดพระเถระ (Pra Ten) ขนาดย่อมๆ ทรวดทรงแบบไทยเปิดทองหลายชั้น แระตูซึ่งนับว่าเก่าแก่ บานใหญ่มาก และแกะสลักอย่างงาม เมรุตั้งศพซึ่งสร้างขึ้นบนแท่นหินนั้น มีผู้เล่าว่ายาว ๑๒ ฟุต กว้าง ๖ ฟุต และสูง ๒ ฟุต ปิดทองทึก ที่ตรงกลางเจาะช่องผ่าศูนย์กลาง ๖ นิ้ว สำหรับให้คนใส่เครื่องบูชาหรือทองคำเปลวลงไป บริเวณโดยรอบมีพระพุทธรูปจำนวนมาก เทียนบูชาทำด้วยขี้ผึ้งปักรายไป บางครั้งบางคราวผู้นับถือก็ใช้เป็นที่จุดบุหรี่ ดูออกจะน่าขันสำหรับคนนอก เพราะในขณะที่ชายคนหนึ่งกำลังจุดเทียนบูชาพระ อีกคนหนึ่งก็ถือบุหรี่รอโอกาสแล้วก็ชะโงกเข้าไปเอาบุหรี่จ่อเปลวไฟที่เดียว แต่ดูเหมือนว่าจะเป็นเรื่องปกติธรรมดา ไม่มีคนสนใจเลย พระภิกษุมีหลายรูป บางรูปก็ค้ายารักษาโรค และเครื่องรางกันภูตผีจนร่ำรวย

จากอุตรดิตถ์ มีเส้นทางค้าไปยังแพร่ (P're) สวรรคโลก (Sawankalok) เมืองสัชนาลัยเก่า (Anciant Sajanalai) และสุโขทัย (Sukothai) ซึ่งมีตำนานน่าสนใจเล่าต่อกันมาดังนี้

เจ้าอภัยคามณี (Chao Abhaya - Gaman) ราชาเมืองสุโขทัย ได้บวชเป็นฤษี ไปสำนักอยู่ที่เขาหลวง ทางทิศตะวันตก หลานสาวของพญานาคชำแรกมาจากใต้ดิน แปลงกายเป็นสาวงามมาอยู่ร่วมกับราชฤษีนั้นชั่วอาทิตย์หนึ่ง

เมื่อจะพรากจากกัน พระราชาก็มอบแหวนให้นางวงหนึ่ง กับผ้าโพกผืนหนึ่งเป็นเครื่องหมาย และนัดว่าจะนำขบวนนางในชาวสุโขทัยแห่ออกมารับนางเข้าเมืองในวันที่กำหนด แต่พอถึงวัน เสด็จก็หาได้มาพบนางไม่ ต้องเสด็จกลับเข้าเมืองทั้งที่ทรงพิโรธ ทั้งนี้เพราะนาคกับมนุษย์นับวันคลาดเคลื่อนกันวันหนึ่ง เมือนางนาคพาโอรสมาตามที่กำหนดของนาง จึงไม่ได้พบผู้ใด ด้วยความโกรธและน้อยใจที่พระราชาผู้เป็นชู้รักเสียสัตย์ นางจึงทิ้งโอรสและสิ่งสัญญาณนั้นไว้ในอาศรมร้างของฤษี แล้วกลับรูปเป็นอย่างเดิม

ในป่านั้นมีนายพรานสองคน กำลังเหน็ดเหนื่อยหิวน้ำอยู่พอดี ผ่านมาถึงที่นั้นพลางก็เถียงกันว่าที่นี่ไม่มีน้ำ ไม่น่าจะเป็นอาศรมของฤาษี จึงได้มาพบเด็กกับแหวนและผ้าโพกผมเข้าพอดี และได้พาเด็กนั้นไปเลี้ยงดู เรื่องนี้ว่าตามตำนานก็เกิดขึ้นใน พ.ศ. ๑๒๔๐ หรือ ค.ศ.๖๙๗

เมื่อเด็กนั้นอายุได้ ๑๐ ขวบ ก็ตามนายพรานไปดูพิธีช่อฟ้าปราสาท ได้ตั้งข้อสังเกตว่ายอดปราสาทนั้นเอียง จะล้มไปทางทิศนั้นๆ ปรากฏว่ายอดปราสาทก็ถล่มลงตามปากว่าจริง มีผู่นำความไปทูล พระราชาจึงตรัสสั่งให้เบิกตัวนายพรานกับเด็กมาเข้าเฝ้าและเมื่อได้ทรงทราบเรื่องราวความเป็นมาของเด็กนั้น ก็ทรงตระหนักว่าเป็นราชโอรสของพระองค์ จึงประทานนามว่า อรุณราชการ (Arun Rajakuman) ระหว่างนั้น แม้จะเป็นราชอาณาจักรใหญ่ แต่สุโขทัยยังคงเป็นประเทศราชของกัมพูชา หรือพระเจ้ากรุงอินทปัตถ์(Inthapat) อยู่ ราชกุมารเป็นผู้แนะนำให้พระราชบิดาแข็งเมือง พระเจ้ากรุงกัมพูชาจึงส่งมนุษย์วิเศษ หรือ ขอมดำดิน (Khom Dam Din) มาดักจับผู้ก่อการกบฎ ตอนนั้นเจ้าชายน้อยอายุได้ ๑๓ พรรษา กำลังกวาดลานวัดอยู่พอดีขอมโผล่ขึ้นมาถามหาพระองค์ เลยถูกเจ้าชายสาปให้เป็นหิน ทรากคงปรากฏอยู่ทุกวันนี้ แต่กำลังกร่อนไปอย่างรวดเร็วสม่ำเสมอ เพราะชาวบ้านแกะสะเก็ดไปเป็นเครื่องรางกันภัย พันตรี เยรินี ไปชันสูตรลักษณะหินที่เหลืออยู่ ปรากฏว่าทรวดทรงท่อนกลางของรูปปั้นโบราณ เมื่อเจ้าชายเจริญพระชนม์ขึ้น ก็ได้อภิเษกสมรสกับธิดาของ พญาบาธรรมราช (P'ia Ba Tamarat) กษัตริย์แห่งศรีสัชชนาลัย

กษัตริย์แห่งศรีสัชนาลัย กับอนุชา คือ พระกิตติกุมาร (P'ia Kithikuman) เสด็จลงเรือแจวสามสิบคนพายไปเมืองจีน พอไปถึงก็เกิดสุริยคราส จักรพรรดิจีนส่งคนมาถามสาเหตุ ขุนแก้วอมาตย์ (Khun Kao Amat) ก็รายงานว่าเพราะเจ้าชายทั้งสองพระองค์เสด็จมาเป็นการต้องกับคำทำนายที่มีมาแต่ก่อน จักรพรรดิจึงได้พระราชทานราชธิดาให้แก่กษัตริย์เมืองสวรรคโลก มอบราชสมบัติให้กึ่งหนึ่ง และมอบคนให้พันคนสำหรับพาราชธิดาไปส่งยังบ้านเมืองใหม่ คนเหล่านั้นได้มาตั้งหลักแหล่งอยู่ที่ เตาทุเรียน (Tao Turian) เหนือเมืองเก่า (Maung Kao) ในจังหวัดสวรรคโลกจึงเป็นแหล่งดินขาว และทำการเผาถ้วยชามสืบสกุลมาจนกระทั่งพม่าตีกรุงแตกจึงได้สูญวิชาไป พระกิตติการนั้นได้อภิเษกกับนางมาลิกา ราชธิดาเจ้านครเชียงใหม่

เราเดินต่อไปถึงเมืองพิชัย ข้าพเจ้าได้รับความกรุณาอย่างมากจากพระยาอุตตรการณ์(P'ia Uttaraka) ผู่เป็นเจ้าเมือง และเป็นญาติกับมิตรข้าพเจ้าที่หลวงพระบางท่านหาห้องให้ข้าพเจ้าพักอยู่ในบ้านอย่างสะดวกสบาย ที่นี่เรามีโอกาสฟังเพลงไทย ซึ่งข้าพเจ้าชอบมากเสมอ และรู้สึกว่ามีเสียงระฆังกังวานชวนหีระลึกถึงน้ำตก ออกจะแปลกที่ได้ยินเสียงดนตรีไทยเล่นเพลง Yankee Doodle กับ Wait For The Wagon เสียด้วย

น้ำท่วมล้นฝั่งแล้ว และคนจำนวนมากส่วนใหญ่เป็นหญิง ก็เล่นแข่งเรือกันลักษณะพิเศษเฉพาะของการแข่งเรือนี้ คือลูกเรือจะเป็นชายล้วน หรือหญิงล้วน ไม่มีปนกันเลย ผู้หญิงล้วนสาวๆอยู่ในวัยหาคู่ และอันที่จริงก็เป็นโอกาสหาคู่นั่นเอง พวกหล่อนมาท้าผู้ชายแข่ง ในเรือจำนวนมากมีพระอยู่มากกว่าคฤหัสถ์ บางลำก็เป็นพระล้วนๆ ถ้าจะคิดถึงกฏพรหมจรรย์ละก็ ออกจะดูเป็นเรื่องอื้อฉาวอยู่สักหน่อย

พระยาอุตตรการณ์ บอกแก่ข้าพเจ้าว่า เมื่อไม่กี่ปีมานี้เกิดน้ำท่วมใหญ่ น้ำแดงขุ่นและปลาก็ถูกพิษเบื่อเมาจากพืชชนิดหนึ่งที่ชาวลาวเรียกว่า อีดำ (Idam) ซึ่งมีขึ้นอยู่แต่ในเขตแดนลาวเท่านั้น มีปลาสองชนิด คือปลาหมอ(Pla Maw) และปลาโฉม (Pla Chom) หนีไปได้ เพราะสามารถขึ้นจากน้ำหนีข้ามไปทางบกได้

พวกลาวมีวิธีพิสูจน์สัตว์ด้วยน้ำ ตัวอย่างเช่นที่พระยาอุตตรการณ์ เล่าให้ข้าพเจ้าฟังว่า มีกรณีหนึ่งที่นายพรายยิงกวาง แล้วตามรอยไปจนถึงริมแม่น้ำ พบคนถือหอกปักอยู่ในรอยลูกปืนที่ตัวกวาง ต่างฝ่ายต่างอ้างว่ากวางเป็นของตน ชายคนถือหอกท้าให้นายพรานชี้รอยลูกปืนพอดีผู้พิพากษาท้องถิ่นมาพบเข้า และตัดสินให้พิสูจน์ด้วยน้ำ (ดำน้ำ) คนหนึ่งหันหน้าไปทางเหนือน้ำ อีกคนหนึ่งหันหน้าไปตามน้ำ พอได้สัญญาณก็ดำลงพร้อมกัน ชายถือหอกโหล่ขึ้นมาติดสินบนผู้พิพากษาก่อน ผู้พิพากษาก็รับแล้วบอกให้ดำน้ำลงไปอีก แล้วคนถือปืนก็โผล่มาติดสินบนบ้าง ผู้พิพากษาก็รับไว้อีก แล้วบอกให้ดำลงไปใหม่ ที่นี้คนถือหอกก็โผล่ขึ้นจากน้ำหายตัวไปเลยโดยไม่ได้เอาอะไรไป พอคนถือปืนโผล่ขึ้นมาอีกก็ถูกกล่าวหาว่าเป็นคนฆ่าอีกคนหนึ่งตาย เพราะไม่เห็นโผล่ขึ้นมาอีกเลยเป็นอันว่ากว่าจะไปได้ต้องเสียให้ผู้พิพากษาทั้งเสื้อผ้า อาวุธ ดินปืน และกวางตัวนั้นด้วย



๑๗.เดินผ่านเมืองน่าน 

ลีโนเวนส์ ตัดสินใจไม่ยอมกลับไปหลวงพระบางอีกในนาทีสุดท้าย นาย ดี,เจ,คอลลินส์(Mr.D.J. Collins) เพื่อนร่วมโรงเรียนเก่าของข้าพเจ้าซึ่งไม่ได้พบกันมาถึง ๑๒ ปี แล้วนั้น ได้ลาออกจากการสำรวจแห่งประเทศอินเดียมาร่วมงานกับข้าพเจ้าในสยาม

ทหารเรือสามสิบคน ในความควบคุมของ เรือโท รอสมุสเซน (Lt. Rossmussen) ชาวเดนิช ช่างสรรพาวุธ เป็ฯหน่วยคุ้มภัยให้แก่เรา ข้าพเจ้าได้รับคำสั่งให้ติดต่อกับแม่ทัพสองท่านคือ พระยาราชวรากุล (P'ia Rajwaranakul) แลพระยาพิชัย (P'ia Pichai) ซึ่งเป็นผู้รับพระราชบัญชาให้ออกมาปราบฮ่อ และให้ช่วยเหลือคุ้มครองกองสำรวจทุกประการ

เราออกจากบางกอก ในวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน ๑๘๘๔ ผ่านไชยนาท สถานีเก็บภาษีไม้สัก ถึงคุ้งน้ำประหลาดแห่งหนึ่ง ฝั่งซ้ายมีเนินเขาย่อมๆ สลับซับซ้อน และเลยนั้นไปแม่น้ำแยกออกเป็นสองแคว

หลังจากแล่นเรือเลียบฝั่งขวาซึ่งมีเนินเตี้ยๆ รายไปพักหนึ่ง เราก็มาถึงนครสวรรค์

การเดินทางแต่แรกมาจนถึงบัดนี้ นับว่าสะดวกสบาย และเราก็เดินทางต่อไปยังปากน้ำโพ (Paknam Po) อันเป็นที่บรรจบแควสองสายที่ไหลมาจากภาคเหนือของสยามซึ่งสยามเรียกว่าลาวนั้น กลายเป็นแม่น้ำใหญ่ที่เรียกว่าแม่น้ำเจ้าพระยา (Me Nam Chao P'ia)ในแม่น้ำมีเรือแพสารพัดชนิด บางแบบก็ไม่มีใช้กับแม่น้ำอื่นๆ แควใหญ่ (Kwei Yai) ที่ไหลมาจากน่านนั้น แคบและลึก แต่แควน้อบ(Kwei Noi) จากเชียงใหม่ตื้นและกว้างในบางแห่ง เช่นที่ ระแหง กว่างถึง ๘๐๐ หลา

เราเดินทางต่อไปจนถึงอุตรดิตถ์ จึงขึ้นจากเรือ เดินบกไปยังเมืองน่านผ่านทางเมืองแฝก (Fek)

ช้างบรรทุกจำนวนหนึ่งหนีไป ทำให้ข้าพเจ้าต้องเสียเวลา และชดเชยเวลาที่เสียไปในวันรุ่งขึ้นด้วยการเดินทางไปยัง ม.หิน๑ (M.Him) รวดเดียว ๑๑ ชั่วโมง ช่วงหลังของระยะทางต้องใช้คบไต้ ให้แสงสว่างที่ทำจากลำไผ่แห้งเกรียมปลาย ฉวยเอาได้จากที่ขึ้นอยู่ข้างทางนั่นเอง

ทางเดินต่อไปถึงเมืองน่าน ผ่านภูมิประเทศที่น่าสนใจ ทีทุ่งนากว้างที่ได้รับการชลประทานอย่างดี

น่านเป็นเมืองที่เจริญที่สุดในถิ่นลาวพุงดำ ชาวเมืองล้วนร่ำรวย เจ้านครคนปัจจุบันนี้ ปกครองอย่างยุติธรรมและมั่นคงมากว่า ๖๐ ปีแล้ว เขาเป็นเชื้อสายคนที่นำทัพพม่าจากเมืองลา(La) มาให้ ถูกโจมตีที่ริมลำธารสามพัน (Sam Pam) ระหว่างที่มุ่งจะเข้าโจมตีเมืองน่าน เขาอายุได้สักสี่ปี เมื่อหนีพม่ามาจากเมืองสวรรคโลกใน ค.ศ. ๑๘๑๕ ลูกๆ ของเขามีตำแหน่งสำคัญในวงการบริหาร คนที่ทำผิดกฏหมายไม่เคยพ้นโทษไปได้เลย

๑ คงย่อจากม่อน ที่แปลว่าเนินเขา (ผู้แปล)

ก่อนข้าพเจ้าจะมาถึงที่นี่ ๓ ปี เกิดน้ำท่วมใหญ่ เพราะฝนตกหนักจนลำน้ำยาว (Nam Yao) และน้ำยาง (Nam Yang) อันเป็นแควของลำน้ำน่านกลายเป็นทะเลสาบ แล้วตลิ่งก็ทะลายลง เมืองเอื้อน (Uen) เมืองยาง (yang) และเมืองยม (Yom) พังราบ คนตายไปเป็นจำนวนมาก กำแพงเมืองน่านซึ่งมีปริมณฑล ๗ ไมล์ ก็เสียหายด้วย แต่ได้ซ่อมแล้วเรียบร้อย

ทุ่งนาปลูกข้าวเต็มทั่ว การชลประทานดี และมีผู้ระวังรักษามิให้บกพร่องได้ มีการปรับปรุงบึงแห่งหนึ่งให้เป็นอ่างเก็บน้ำโดยขุดดินมาพูนเป็นคันรอบ ส่งน้ำไปให้ที่นาได้นับร้อย เอเคอร์ อีกทั้งดินก็อุดมดี คำนวณอย่างคร่าวๆ จำนวนชายหญิงที่ส่งส่วยข้าวให้ฉางหลวงในเมืองนั้น มีถึง ๖๐,๐๐๐ คน ประชากรรวมทั้งแคว้น ข้าพเจ้ากะประมาณว่าคงมีราว ๒๕๐,๐๐๐ คน ในจำนวนนี้ ประมาณ ๕,๐๐๐ คน อยู่ในส่วนที่เป็นเมืองน่านตอนเหนือแม่น้ำโขง มีคนที่อพยพมาจากสิบสองปันนา และขมุ ที่มาจากหลวงพระบางเข้ามาตั้งหลักแหล่งอยู่มาก และจำนวนประชากรเผ่าเย้าและแม้วเพิ่มขึ้นตามลำดับ การปกครองเมืองน่านนับว่าเป็นยุติธรรม อาชญากรต้องได้รับโทษหนัก แต่นับว่าได้ผลทางการควบคุม ขโมยจะถูกตัดหัวเพราะเชื่อว่าการปล้นแทบทุกครั้งมักจะประกอบด้วยการฆ่าเจ้าทรัพย์ แม้ว่าในระยะ ๑๐ ปี อาจมีคนถูกประหารเพราะลักทรัพย์อย่างเดียวก็ตาม การลดหล่อนโทษก็อาจทำให้เสียชีวิตคนไปมากกว่านั้น

ใกล้ๆต้นแม่น้ำน่าน ในบริเวณเดียวกันกับสันปันน้ำมีบ่อเกลืออยู่หลายแห่ง เป็นเหลือคุณภาพดี มีผู้ดูแลรักษาอย่างหวงแหน คนโดยมากเชื่อว่าถ้าไปทำอะไรไม่ดีผีมักจะทำร้ายเอาได้ มีอยู่สองสามคนเท่านั้นที่มีสิทธิพิเศษจะเข้าไปขุดเกลือ และต้องจ่าย ๑ รูปี ต่อเกลือ ๔ มุน(Mun) หรือประมาณ ๕๓๐ ปอนด์ บ่อนั้นลึกราว ๓๐-๔๐ ฟุต ว่ากันว่าตักน้ำขึ้นมา ๓ ถัง จะได้เกลือราว ครึ่งถัง ทำได้แต่ในหน้าฝน พอหน้าแล้งน้ำแห้งก็หยุดงาน ไม่มีร่องรอยปรากกว่าพบเหลืออย่างไร หรืออะไรทำให้นึกจะขุดบ่อตรงนี้ใครๆ ก็ว่าบ่อเกลือนั้นเก่าแก่แล้ว เมื่อไรได้มีการสำรวจทางธรณีวิทยา คงจะได้ผลว่ามีแร่ธาตุอุดมสมบูรณ์ที่เดียว

คอลลินส์ กับ รอสมุสเซน เดินบกผ่านเมืองฮุ่ง (Maung Hung) ไปหลวงพระบาง แต่ข้าพเจ้าไปทางเรือ จากท่านุ่น ในแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นทางที่เร็วกว่า

ระหว่างทางเราผ่านเมืองลวง ( Maung Luak) ซึ่งเรียกว่าหงสาวดีแต่นั้นมา ตั้งอยู่ในทุ่งราบกว้าง ๖ ไมล์ ยาวประมาณ ๑๐ ไมล์ มีเนินสูงชันล้อมรอบ ที่สูงจากระดับกินในทุ่งขึ้นไปประมาณ ๒๐๐ ฟุต คือภูเขาไฟสองลูกซึ่งยังระอุอยู่ มีชื่อที่รู้จักกันว่าภูไฟใหญ่ ( Pu Fai Yai ) และภูไฟน้อย ( Pu Fai Noi )

ข้าพเจ้าแวะดูภูไฟใหญ่ ไต่ตามทางเดินขึ้นไปถึงยอดวัดรอบขอบปากบ่อโดยรีได้ ๑๐๐ หลา โดยขวาง ๕๐ หลา ดูเป็นรูปไข่ ด้านหนึ่งดูสูงกว่าอีกด้านหนึ่ง ๕๐ ฟุต เหมือนส่วนตัดเฉียงรูปกรวยมีโพรง พรอนลึก ๆ ควันลอยขึ้นมาเป็นกลุ่ม ๆ บางแห่งมีกลิ่นเหม็นถ้าเอาไม้แห้งเข้าไปจ่อปากโพรงเหล่านั้นจะเกิดเสียงเหมือนเป้าสูบไฟ แล้วไม้นั้นก็จะติดไฟลุกเป็นเปลวไฟทันที แต่บางโพรงก็มีแต่ควันคลุ้มตลบ ไม่มีเปลวไฟหรือเสียงอย่างที่ว่า เวลารุ่งสางมีหมอก และเวลาแดดจัดควันจะน้อยลง แต่เปลวไฟหรือเสียงจะเกิดมีปรากฏขึ้นเสมอ คนทั่วไปกลัวภูเขาไห และถือว่าเป็นปีศาจร้าย แร่ที่พบในภูเขาไฟได้แก่กำมะถันและทราเวอร์ไทน์ ( Travertine) อิเก็นกีเซล (สินแร่เหล็กดินเหนียว ซึ่งมีมากั่วไปในสยาม) นั้น เวลาร้อน ๆ จะอ่อนนิ่ม บดด้วยนิ้วก็ละเอียดเป็นผง และยังมีเกลืออลูมินา โปแตส แร่อาลัม เหล็กเปรอกไซด์ อย่างแห้งไลโมไนท์ และกำมะถันละลาย

เมื่อมาถึงท่านุ่นเราก็ลงเรือ ล่องไปตามลำแม่น้ำ ยิงนกยูงได้จำนวนมาก เพราะมีชุมเหลือเกิน คราวหนึ่งเห็นนกยูงตัวหนึ่งดิ้นปัด ๆ อยู่บนกาดทราย คนเรือบอกว่ามันถูกเหยี่ยวขนาดเล็กโฉบตีและเกาะอยู่ใต้ปีก ด้วยเหตุที่คิดเอาเองว่ามีนคงจะยุ่งอยู่กับเรื่องนั้นแล้วเราคงจะจับมันได้โดยง่าย เราก็หยุดเรือเข้าฝั่ง แต่พอถึงฝั่งเข้าไปใกล้ เหยี่ยวก็บินร่อนหนีไป และนกยูงกิวิ่งหัวซุกหัวซุนเข้าป่าไปได้ คนเรือบอกว่า นกยูงหนีไปไหนไม่ได้เพราะเหยี่ยวซึ่งตัวเล็ก โตกว่านกกระจอกบ้านไม่ถึง ๒ เท่านั้นจะกลับมาโฉบตีมันใหม่เป็นพัก ๆ และดูดเลือดกินเนื้อเหยื่อ ทั้ง ๆ ที่ยังเป็น ๆ อยู่เช่นนั้นเอง
เราไปดูถ้ำที่อยู่ตรงข้ามปากน้ำอู ทางขึ้นมีขั้นบันไดทำให้เดินสะดวก ถ้ำนั้นไม่ใหญ่นัก แต่มีรูปเคารพอยู่ประมาณ ๑๐๐ - ๒๐๐ รูป ขนาดสูงตั้งแต่ ๓ นิ้วขึ้นไปถึงหลาย ๆ ฟุต กลางถ้ำมีเจดีย์เล็ก ๆ ทรวดทรงงาม กระจ่างตาจับแสงตะวันเรือง


๑๘. ปฏิบัติการปราบฮ่อ

เมื่อเรามาถึงหลวงพระบางนั้น พระนาพิชัยพร้อมด้วยกองทหารชาวหลวงพระบางได้เดินทางไปยังทุ่งเชียงคำแล้ว ข้าพเจ้าไปเฝ้าเยี่ยมเจ้านครผู้ชราซึ่งแม้จะทรงจับหืดก็ยังมรอนามัยดี และโปรดให้โอรสองค์ใหญ่ คือเจ้าราชวงศ์ ( Chao Rajawong ) เป็นผู้พาข้าพเจ้าไปยังทุ่งเชียงคำ
คอลลินส์ และ รอสมุสเซน นำกองช้างจากน่านมาถึงหลวงพระบาง แต่ข้าราชการเมืองน่านไม่ยอมเดินทางต่อจากนี้ถ้าไม่ได้รับคำสั่งจากบางกอก ในเมื่อสิ่งจำเป็นรีบด่วนที่สุดขณะนี้คือเสบียง เราจึงขนข้าวบรรทุกช้างไปให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แล้วออกเดินทางตามพระยาพิชัยและกองทัพไป ข้าพเจ้าแปลกใจมากขึ้นทุกวันที่ได้เห็นว่า การเคลื่อนขบวนทัพที่ประกอยด้วยคนจำนวนมากนั้น ทำได้เร็วและคร่อง แม้หนทางจะทุรกันดาร

เมื่อถึงบ้านแล ( Ban Le) เวียงแสน (Wieng Sen) ข้าพเจ้าได้รับบันทึกจากพระยาพิชัยเป็นเนื้อความห้ามมิให้ข้าพเจ้าเดินทางไปยังเชียงคำ เนื่องจากเสบียงค่อนข้างขาดแคลน กุลีขนส่งของเราก็หนีหายตัวไป แต่ข้าพเจ้าก็ได้ส่งช้างที่บรรทุกข้าวทั้ง ๙ เชือกไปล่วงหน้า ตามที่กะกันไว้นั้น กองทัพของพระยาราช ฯ จากหนองคาย กับกองทัพพระยาพิชัยจากหลวงพระบางจะมาบรรจบกันที่ทุ่งเชียงคำตามกำหนดนัด เพื่อร่วมกันโจมตีที่มั่นของฮ่อ หากฝ่ายหลังนี้ไม่ยอมจำนนโดยดี

พระยาราช ฯ เป็นข้าราชสำนักมาแต่รุ่นหนุ่ม และไม่สู้พอใจนักที่ได้รับพระราชบัญชาให้มาทำงานร่วมกับพระยาพิชัย ซึ่งเป็นคนบ้านนอก ยิ่งกว่านั้นท่านยังดูหมิ่นพวกฮ่ออย่างมาก จำแน่ใจว่าเพียงแต่ท่านมาให้เห็นตัว พวกนั้นก็คงแตกหนีหรือยอมแพ้ ดังนั้นท่านผู้นี้จึงเดินทัพมาช้า ๆ และหวังว่าจะได้เสบียงจากฝ่ายข้าศึก ดังทีนโปเลียนเคยหวังมาแล้ว

พระยาพิชัยกระตือรือล้นที่จะทำการตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายมาให้สมบูรณ์จึงเร่งรัดเดินทางทุรกันดาร ขึ้นเขาลงลงห้วยไปทั้ง ๆ ที่จำนวนรทหารมีมากและเสบียงน้อยไปถึงทุ่งเชียงคำตามเวลาที่กำหนดนัด แต่เนื่องจากไม่ชินต่อการบังคับบัญชา กองทัพทั้งกองก็เลยหย่อนระเบียบวินัย พวกฮ่อรู้ตัวและวางกำลังต่อต้าน ท่านจึงตั้งที่มั่นลงห่างจากค่ายพวกฮ่อประมาณ ๒ ไมล์ และคุมกองทัพอยู่ ณ ที่นั่นนานกว่าเดือนหนึ่ง รอข่าวสหายศึกซึ่งกำลังเดินทางมาอย่างช้า ๆ ตามสบาย กว่าจะมาถึงพร้อมหน้ากัน และพระยาราช ฯ ก็ไม่พอใจ "ทหารบ้านนอก" อย่างยิ่งเสียอีกด้วย โดย "ทหารบ้านนอก" ได้พยายามทำทุกอย่างที่จะได้ให้บังเกิดผลสำเร็จ ทั้งที่ต้องฝ่าฟันความยากเข็นอย่างสุดแสน และยอมทำตามคำบัญชาของพระยาราช ฯ ทุกประการ พระยาราช ฯ ตั้งค่ายห่างจากพวกฮ่อมากขึ้นไปอีกและเชื่ออย่างมั่นคงว่าพวกฮ่อคงจะทิ้งค่ายหนีไปแล้ว เมื่อได้ข่าวว่าท่านมาถึงกองลาดตระเวนของท่านก็มารายงานว่าได้ยินเสียงนกในบริเวณนั้น ท่านจึงได้ออกไปลาดตระเวนดูด้วยตนเอง แต่พอเข้าในเขตวิถีกระสุน ก็มีเสียงปืนกระหน่ำออกมาห่าใหญ่เป็นการยืนยันให้ท่านเชื่อว่าค่ายฮ่อนั้นยังไม่ร้าง ท่านต้องรีบถอนกลับโดยด่วน และแล้วก็วางแผนจะเข้าโจมตีพวกฮ่อให้แตกพ่ายไป อย่างที่ท่านว่า - ในครึ่งชั่วโมง

ตอนนั้นเองที่ข้าพเจ้าพร้อมกับคอลลินส์ และรอสมุสเซน เดินทางไปถึงทุ่งเชียงคำตามที่พระยาพิชัยได้จดหมายเรียกให้ไปพบนายทหารทั้ง ๒ ท่านนั้น เพื่อปรึกษาการงานพวกฮ่อได้เริ่มปฏิบัติการอย่างโหดเหี้ยมตามปกติในเขตนี้แล้ว มีผู้พบศพชาวลาว ๒ ศพคอขาดจมอยู่ในลำธาร และข่าวความทารุณโหดร้ายของพวกฮ้อก็เล่ากันอื้อฉาว พวกฮ่อส่งหน่วยลาดตระเวนมาคอยดักจับผู้สื่อข่าวหรือคนที่เปะปะออกมาจกค่ายทหาร ขมุเคราะห์ร้ายคนหนึ่งถูกจับตัวไปตัดนิ้วและใบหูออก แล้วจึงถูกส่งตัวกลับมา เป็นการขู่ขวัญพวกกองลำเลียงเสบียง ภรรยาของชายผู้นี้ก็ถูกจับตัวไปด้วย และในเมื่อหล่อนมีครรภ์อยู่ก็เลยถูกฆ่า เพราะเชื่อกันว่าเลือดของเด็กในครรภ์นั้น นำมาทำให้เป็นผงแล้วมีอำนาจพิเศษในการฆ่าศัตรู ส่วนเหรียญเงินเอามาเป็นลูกปืนศักดิ์สิทธิ์ ยิงศัตรูตายทุกนัด

วันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ เราไปถึงสนามรบ หาฤกษ์ได้ว่าควรลั่นกระสุนโจมตีนัดแรกในเวลา ๑๐ โมงเช้า พอ ๑๑ โมงเช้า ทหารก็กำลังรุกหนักกระหน่ำปืนใหญ่อยู่อื้ออึง

รอสมุสเซน กับข้าพเจ้าเคลื่อนเข้าไปอยู่ในระยะ ไมล์ จากที่มั่นของฮ่อจึงเห็นปฏิบัติการทุกขั้นตอนอย่างชัดเจน ที่มั่นนั้นยาว ๔๐๐ หลา กว้าง ๒๐๐ หลา มีกอไผ่เป็นรั้วทำให้มองทะลุเข้าไปได้โดยยาก มีหอรบ ๗ หอ สูง๔๐ ฟุต มีควันลอยออกมาจากทางนั้นเป็นระยะ ๆ แสดงว่ากำบังทำกิจกรรมบางอย่างอยู่ภายใน ด้านเหนือ ตะวันตก และตะวันออกเป็นทุ่งนาโล่ง ๆ แต่ด้านใต้เป็นป่าทึบ กองทัพฝ่ายสยามแบ่งเป็น ๒ ส่วน ทหารที่มาจากหลวงพระบาง พิชัย และสุโขทัย ล้อมอยู่ด้านทิศเหนือรายไปตะวันออก ทหารหนองคายล้อมอยู่ทิศตะวันตกไปทิศใต้ เราสามารถแลเห็นได้ชัดเจนทั้งทิศเหนือและทิศใต้ ฝ่ายรุกตั้งแถวคืบหน้าเข้าไปแถวละราว ๕๐ คน แต่ละชุดมีธงช้างพื้นขาวหลายคัน และปืนใหญ่กระบอกสั้นขนาด ๖ ปอนด์ ยี่ห้ออาร์มสตรอง ๑ กระบอก รุกเข้าไปซ่อนอยู่หลังเครื่องกำบังชั่วคราวที่พวกทหารโล่ลวงหน้าเข้าไปทำไว้ โล่ที่ว่านั้นเป็นไม้ไผ่ขัดเตะ ๒ ชั้น หนักมาก และผู้ถือมักถูกกระสุนบริเวณขาและแขน ซึ่งไม่มีเครื่องกำบัง

ต่างฝ่ายต่างกระหน่ำปืนเข้าใส่กัน แต่เท่าที่เห็น มีผลก็แต่ทางเสียงท่านั้น ที่ได้ผลจริง ๆ ก็คือปฏิบัติการด้วยอาวุธสั้น ฝ่ายสนามรุกเข้าไปห่างจากที่มั่นของฮ่อไม่เกิน ๑๐๐ หลา และพยายามสร้างรั้วค่ายชั่วคราวขึ้นอีก หลายคนถอยออกจากที่มั่นเป็นกลุ่มกลุ่มละ ๒-๓ คน เอาผู้ที่บาดเจ็บขึ้นหลังม้าหรือหามมา ดูพวกเขาไม่ค่อยใส่ใจกับบาดแผลนัก และมีกำลังใจดีมากทีเดียว

รางบ่ายสองโมงเย็น ทั้งสองฝ่ายก็หยุดยิง สงบปฏิบัติการชั่วคราว พอสามโมงก็เริ่มยิงกันอึกเอาเป็นเอาตาย ไม่ช้านักก็มีข่าวว่าพระยาราช ฯ บาดเจ็บ เพราะถูกลูกกระสุนหนักถึง ๒ ปอนด์ ซึ่งแฉลบเลียบริมศาลเจ้าที่ท่านยืนอยู่ เข้ามาถูกบริเวณขา

จนถึงเวลาเย็น ก็ยังยืดที่มั่นไม่ได้ การระดมยิงยังมีอยู่จนตลอดคืน และเสียงตะโกนด่าทายจากทั้งสองฝ่ายก็ดังสนั่นไปไกล รู้กันทั่วว่าพวกฮ่อนั้นติดฝิ่นงอมแงมเข้ากระดูกดำ ถ้าถูกยิงกระหน่ำอยู่ตลอดคืนจนไม่มีเวลาได้หลับก็จะอิดโรยมาก วันนั้นฝ่ายสยามเสียกำลังพลไปมากข้างพระยาพิชัยตายไป ๑๕ นาย บาดเจ็บ ๒๐ นาย ส่วนด้านพระยาราช ฯ นั้น ตายและบาดเจ็บรวมกันไม่ต่ำกว่า ๕๐ นาย

ฝ่ายสยามเริ่มใช้ยุทธวิธีล้อม แล้วโอบเข้าโจมตีที่มั่นของฮ่อเป็นคราว ๆ แต่ในเมื่อไม่มีการนัดร่วมกำบังเข้าตีพร้อม ๆกัน จึงถูกต้านจนต้องถอยกลับและสูญเสียมาก ค่ายรบฝ่ายสยามมีคนเจ็บเต็มทุกวัน คอลลีนส์กับรอสมุสเซน ทำหน้าที่หมอสนามทำแผลให้คนกว่าวันละ ๔๐ ราย บาดแผลบางคนต้องพยาบาลอยู่เป็นชั่วโมง ๆ รอสมุสเซนนั้นประสาทแข็งพอที่จะทำผ่าตัดได้ด้วย ถึงแม้วิธีที่เขาเอาลูกกระสุนออกอาจจะทำให้หมอจริง ๆ ตาเหลือกหากได้มาเห็น แต่ก็ทำให้คนเจ็บหายเดือดร้อนไปได้เหมือนกัน

วันหนึ่งเหตุการณ์สงบดี ข้าพเจ้ากับรอสมุสเซน ออกไปตระเวนห่างจากที่มั่นของพวกฮ่อสัก ๔๐๐ หลา พอสังเกตเห็นว่าหลังคาหอรบนั้นมุงหญ้า รอสมุสเซน ซึ่งเป็นทหารเหล่าสรรพาวุธจึงแนะนำพระยาพิชัย ซึ่งตามมาเตือนเราให้ถอยกลับในทันทีนั้นว่าควรใช้ลูกกระสุนเพลิงยิงเผาหลังคาหอ เป็นอันตกลงกันว่าจะรับความคิดนี้ไปให้ทหารยามปฏิบัติ

มีการสร้างร่างร้านไม้ไผ่ขึ้นตรงข้ามหอรบเหล่านั้น สูงราว ๔๐ ฟุตเท่ากัน แล้วก็ขนปืนใหญ่กระบอกสั้น (เฮาวิตเซอร์) ขึ้นไปบนยกพื้น อัดติดปืนเข้าที่ด้วยหญ้าใช้แทนสำลี ใช้กรวยไม้กรอกดินประสิว แล้วยิงทิ้งทันที เมื่อได้สัญญาณปืนของพระยาพิชัยสะท้อนเสเสียงตอบมาจากทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ และหอรบนั้นก็ลุกไหม้เป็นเปลวขึ้นฉับพลันนั้น แต่ปืนด้านอื่น ๆ เล่า ข้าพเจ้าทราบข่าวว่า กระสุนปืนลูกหนึ่งหล่นมากลางหมู่ทหารสยามที่นั่งสูบบุหรี่ปุ๋ยอยู่รอบ ๆ ร่างร้านนั้นเอง พวกฮ่อนั้นพอเห็นหลังคาติดไฟรู้ว่าเป็นอันตรายก็รับรื้อแย่งสิ่งที่ติดไฟได้ลงเสียจนหมด อย่างไรก็ตามหอรบด้านตะวันออกเฉียงเหนือก็มอดไหม้ไปแล้ว

คราวนี้ก็มีแผนการใหม่ ให้ทหารตั้งแนวรุกขนานกันเป็นแถว หอยเชื้อเพลิงเขาไปสุมรั้วค่ายแล้วจุดไฟเผาค่ายไปเสียทั้งหมด เสียเวลาหาที่มั่นกันหลายวัน แต่พอเอาไปกองไว้หน้าแนว พวกฮ่อได้ลอบมาจุดไฟและระดมยิงจนฝ่ายสยามต้องถอยทัพ เพิ่มจำนวนคนเจ็บและตายให้มากขึ้นไปอีก

พวกฮ่อใช้อุบายออกลาดตระเวนกลางคืน แต่ละคนหิ้วถุงใส่ดินปืนราวสองออนซ์ไปด้วย ใช้จุดโยนใส่ชาวสยาม แสงไฟจะทำให้เห็นตัวเหยื่อได้ชัดเจนพอที่จะแทงเสียด้วยหอกได้ แล้วก็คืบคลานไปยังค่ายพักของตน ชาวสยามมักจะระดมยิงไปในทิศทางที่เห็นแสงไฟเลยเป็นผลให้พวกเดียวกันเองเจ็บไปบ้างตายไปบ้าง ฮ่อพวกนี้เคยถูกจับได้คนหนึ่งแต่บอบช้ำหนัก และถึงแก่ความตายจากคืนที่ถูกจับได้นั้นเพียงวันเดียว

เสือ ก็เป็นปัจจัยที่เพิ่มความลำบากให้แก่เรา เพราะมันชอบโผล่เข้ามาในเวลาที่กำลังมีเสียงเอะอะเอ็ดตะโร คราวหนึ่งมาคาบคนคนของเราไปถึงสองคน กองทัพฝ่ายสยามอยู่ในสภาพที่น่าสังเวชมาก ในเวลากลางคืน ข้าพเจ้าเองแม้ว่าจะมีเสื้อผ้าแห้งเพียงพอ ก็ยังถึงแก่สั่นด้วยความหนาว แต่พวกทหารต้องนอนบนดินชื้นโดยไม่มีเครื่องปกคลุม อาหารปันส่วนแต่ละวันก็มีแต่ข้าวไม่กี่ออนซ์ กินกับอะไรเท่าที่จะหาได้ในป่า แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่เคยได้ยินเสียงบ่นเลยสักคำ ตอนกลางคืนพวกเขาจะจับกลุ่มกันพวกละสองสามคน ย่องเข้าเขตที่มั่น เที่ยวมองหาของกิน บางทีเคยได้ยินเสียงตะโกนล้อกันบ้าง ด่ากันบ้างทำยองไสหัวให้อีกฝ่ายให้ไปอยู่กับพวกฮ่อ ซึ่งเป็นต้นเหตุของความทุกข์ร้อนทั้งปวง ดูราวกับกำลังออกไล่ราวกวางหรืออะไรเช่นนั้น

แม่ทัพ คือพระยาราช ฯ ก็ไม่ใช่จะดีไปกว่านัก ถ้าหากไม่ต้องบาดเจ็บเสียเช่นนั้นก็อาจเป็นได้ที่ท่านจะเข้าโจมตีที่มั่นโดยรีบร้อน เพราะท่านเป็นคนกล้าหาญมากและทหารก็คงจะทำตามท่านไปทั่วทิศ แต่ท่านก็ทำอะไรไม่ได้เลย เวลากลางวันอากาศร้อนจัดแมลงวันก็ชุม ในเมื่อท่านไม่มีเครื่องป้องกันตัวให้พ้นจากแมลงวันเหล่านั้น ข้าพเจ้าก็ต้องสละเต๊นท์ของตนให้ท่าน และพนานามชักชวนให้ท่านเลิกการปิดล้อม และถอยทัพกลับไปเชียงขวางเพื่อพักพลและเตรียมการหาเสบียงใหม่ ข้าพเจ้าเสนอว่าหากท่านเฝ้าอยู่พวกฮ่อก็คงจะหนีไป แล้วท่านก็จะเปลืองแรงเพียงพยายามป้องกันไม่ให้พวกนั้นหวนหลับมาอีกได้เท่านั้นข้อเสนอนี้ทำให้ท่านประหลาดใจมาก เพราะจนถึงขณะนั้นท่านยังนึกอยู่ว่าโอกาศที่จะเอาชนะพวกฮ่อได้ยังมีอยู่ ข้าพเจ้าเรียนแก่ท่านว่าตามสถานการณ์พอที่จะเท่าปรากฏ เราไม่มีทางที่จะล้อมจับพวกฮ่อได้สำเร็จ เพราะพวกนั้นมีเสบียงอาหารสมบูรณ์พอที่จะทนอยู่กับความคิดเดิมคือไม่ยอมถอย ตอนนั้น มีข่าวว่ากองโจรฮ่อจะเดินทางมาจากสบเอ็ด (Sob Et ) และอาจจะไปเมืองไลผ่านทางสอน (Sawn) และสบเอ็ด โดยให้พระยาพิชัยเป็นผู้พาไป เนื่องจากท่านผู้นี้เป็นผู้ตรวจการหลวงพระบางและอาณาเขตบริเวณนี้อยู่ในความรับผิดชอบของบท่านก็เป็นอันตกลงตามนั้น หลังจากอยู่ที่ทุ่งเชียงคำได้ ๒๐ วัน เราออกเดินทางพาเอาคนเจ็บในกองทัพของพระยาพิชัยไปด้วย พอมาถึงบ้านเล (Ban Le) เราก็หยุดพักดูแลคนเจ็บ ๒-๓ วันแล้วเตรียมการที่จะสั่งพวกเขาไปหลวงพระบาง รอสมุสเซนล้มป่วยลงด้วย เราจึงส่งเขากลับไปพร้อมกับคนเจ็บทั้งนั้น และนำทหารเรือไปด้วยพียง ๑๕ คน เพื่อเป็นหน่วยป้องกัน




๑๙. สู่เมืองเต็ง (Teng) - เผ่ากะเฉ่ (Ka Che)

เราหยุดพักอยู่หลายวันที่ชุมนุมชาวแม้วแห่งหนึ่ง ซึ่งมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกลับพวกฮ่อที่ทุ่งเชียงคำ ในชุมนุมนั้นมีตัวแทนเผ่ากะเฉ่กว่า ๒๐๐ คน พวกนี้ได้ถูกยุยงให้ก่อการกบฏขึ้นเมื่อไม่กี่ปีมานี้ ปรากฏว่าตายเพราะถูกฆ่าและเพราะอดอาหารไปกว่าครึ่งหนึ่ง โดยปกติพวกนี้ถูกเรียกว่า ข่ากะเฉ่ (แปลว่าทาส) ตั้งถิ่นฐานอยู่จามบาดเขาทั่วไปในเขตหลวงพระบาง เป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ เส้นเขตกั้นแกนหมู่บ้าน เป็นสิ่งที่เคารพในศาสนา โดยเฉพาะจุดที่เส้นทางตัดกันซึ่งจะมีเครื่องหมายกำกับอยู่เสมอ มีการถางป่าอยู่เรื่อย ๆ เพื่อหาที่ดินใหม่สำหรับเพาะปลูกเพิ่มขึ้นทุกปี หมู่บ้านใดมีที่ดินน้อยไม่พอหมุนเวียนเพาะปลูกให้ครบรอบ ๗ ปี ก็จะต้องส่งสมาชิกของหมู่บ้านนั้นบางส่วนออกไปหาที่ทำกินตามลาดเขาแห่งอื่น
เผ่าที่รู้จักกันดีมี ขมุ ขแม (Kame) ปาย(Pai) ละม็ด(Lamet) บิด(Bit) และฮก (Hok) ครั้งหนึ่งพวกเหบ่านี้เคยติดต่อแต่เฉพาะกับหลวงพระบางแต่หลังจากการกบฏแล้ว กว่า ๒๐,๐๐๐ คน ได้เดินทางไปตั้งถิ่นฐานใหม่ในเขตเมืองน่าน กิจการค้าไม้ในเขตสยามอาศัยแรงพวกนี้เป็นส่ายใหญ่ เนื่องจากเป็นพวกชำนาญป่า แข็งแรง ทำงานหนักและยินดีรับค่าแรงน้อย พวกเขานับถือผี พิธีกรรมประกอบด้วยการร่วมกินเลี้ยงในศาลาเจ้าผี ซึ่งตอนกลางสร้างเตสายาว ๆ ไว้เป็นที่ย่างขาควายสำหรับเลี้ยงนั้น แล้วก็มีเหล้าหมักเองไว้ดื่มล้างคอควบไปด้วยทีละมาก ๆ พวกกะเฉ่ไม่มีภาษาเขียน มีนิทานเล่ากันว่าครั้งหนึ่งนานมาแล้ว กษัตริย์ของพวกข่ามาเยือนหลวงพระบาง ได้พบบ้านเรือนที่สร้างด้วยอิฐและหินปูน เมื่อสอบถามได้ความว่าปูนนั้นทำมาจากหินแล้วก็ได้กลับมาบอกแก่ราษฎรของตนให้ทดลองทำปูนดูบ้าง ความยากอยู่ที่การสะกัดหินปูน ซึ่งกษัตริย์ได้บอกให้ใช้มีดผลปรากฏว่ามีดหักหมด ราษฎรจึงพากันโกรธแค้น และฆ่ากษัตริย์องค์นั้นเสีย แต่แล้วก็ต้องเสียใจในภายหลัง เพราะกษัตริย์พระองค์นั้นเป็นผู้เดียวที่รู้จักเขียนภาษาข่า เพื่อที่จะไม่ให้วิขาการเขียนภาษาข่าสูญหาย ก็มีผู้เสนอให้นำเนื้อของกษัตริย์มาทำเป็นหารแบ่งกันกิน แต่ปรากฏว่าไม่ได้ผล และวิชาการเขียนภาษาข่าก็สูญไปนับแต่นั้นมา เวลาส่งข่าวถึงกัน ต้องใช้วิธียากไม่เป็นเครื่องหมายประกอบ ยิ่งมีรอยบากมาก แปลว่าผู้ส่งข่าวมีศักดิ์สูง ถ้าเป็นข่าวด่วนก็มีพริกเม็ดหนึ่งกันขนนกอันหนึ่งกำกับไปด้วย หมายความว่าให้ดำเนินการโดยรีบเร่ง และรวดเร็ว

วิญญาณของกษัตริย์ข่าพนักอยู่ในหลวงพระบาง และยังมีพิธีบวงสรวงประจำวันมาจนกระทั่งเร็ว ๆ นี้ ถ้ามีใครล้มเจ็บลง ก็มีพิธีเอาไม้มาหักดู วิธีการหักไม้นั้นจะเป็นสิ่งแสดงว่าสัตว์ที่จะต้องนำมาฆ่าบูชาเพื่อเอาใจผีร้ายนั้น เป็นหมู หรือ ไก่ หรือ สุนัข กันแน่

มีนิทานเรื่องหนึ่ง ว่าด้วยต้นตอกรณีพิพาทระหว่างข่าสองเผ่า คือ ข่าบิด ซึ่งอยู่บริเวณสันปันน้ำหลัก ได้รับเชิญไปกินเลี้ยงกับพวกข่าที่อยู่ทางตอนเหนือของลำน้ำอูครั้งนั้นถึงแก่ล้มช้างลงทำอาหาร เพื่อเป็นการให้เกียรติแก่แก ต่อมาพวกข่าบิดจัดงานเลี้ยงตอบแทนบ้าง แต่หาช้างไม่ได้ ก็เอาเม่นมาทำอาหารแทน พอข่าน้ำอูมาเห็นเข้าก็โกรธมากที่มีเนื้อมาเลี้ยงน้อย ถึงกับลุกขึ้นกลับมาจากงานเลี้ยงทันที และได้กล่าวว่า " ข้าให้เจ้ากินสัตย์ใหญ่ที่สุดในป่าทั้งตัว แต่เจ้าซิมีสัตย์ที่คงจะใหญ่กว่าช้างเสียอีก เพราะขนมันยังแข็งเหมือนท่อนไม้ แล้วกลับให้ข้ากินเนื้อมันนิดเดียว พวกเจ้าทรยศคดโกง ข้าจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับเจ้าอีกแล้ว " เมื่อมาถึงเมืองสอน เราได้พบกองทหารอาสา ซึ่งตั้งมั่นอยู่ที่นั่นมาหกเดือนแล้วและกินเสบียงอาหารที่มีอยู่จนหมดโดยมิได้คิดที่จะแสวงหามาเพิ่มเติมอีกแม้แต่น้อย เมืองสอนเป็นที่สำคัญเนื่องจากเคยเป็นที่ที่พวกฮ่อหลายกลุ่มมาเกิดการวิวาทกันจนแตกร้าวแยกกันไป ณ ที่นี้ พวกธงดำ (Black Flag)1
* ของ เจ้าไล (Chao Lai) 2
* เป็นฝ่ายเอาชนะพวกฮ่อทุ่งเชียงคำได้

ทางไปเมืองไลมี ๒ ทาง และเราก็เลือกทางสายที่ผ่านสบเอ็ด ซึ่งอ้อมกว่า เพราะต้องการพิสูจน์ข่าวลือที่ว่ามีพวกฮ่อมาชุมนุม อยู่ที่นั่น ขณะเดียวกับพระยาพิชัย และโอรสของเจ้าผู้ครองหลวงพระบางได้ส่งจดหมายไปบอกแก่เจ้าไลว่าเราจะเดินทางไปเยือน

ทุกอย่างดูวุ่นวายยุ่งเหยิง แต่แน่นอนที่ข้าพเจ้าไม่สามารถเข้าไปยุ่งกับแผนการของแม่ทัพได้ อย่างไรก็ตาม ข้าพเจ้าเอ่ยขอข้าวเป็นเสบียงสำหรับ ๒๐ วัน และได้เห็นคนขนข้าวจำนวนนั้นเดินผ่านไปต่อหน้าแล้ว เมื่อเดินจากเมืองสอนไปเมืองเก่า ได้ถือโอกาสสำรวจน้ำเอ็ด (Nam Et) ซึ่งเป็นลำธารที่ค่อนข้างกว้าง คอลลินส์กับข้าพเจ้าจึงตัดสินใจผูกแพล่องลงไป ชาวบ้านต่างบอกเราว่ามีมีทางทำได้ แต่เราเคยได้ยินคนพูดถึงทางสะดวกว่าไปไม่ได้มาหลายครั้งเต็มทีแล้ว เลยคิดว่าจะลองไปดูเอง เจ้าราชวงศ์โอรสองค์ใหญ่ของเจ้าผู้ครองหลวงพระบางทรงนึกสนุกตามเราไปด้วย ซึ่งก็นับว่าเป็นโชคดีของเราที่ทรงทำเช่นนั้น ตอนตั้งต้นก็ดูท่าดี แต่ไปได้มีกี่ไมล์ก็พบว่าท้องน้ำมีโขดหินขรุขระเต็มไปต้องลงยกแพขึ้นท่องน้ำไปแทน ต่อไปอีกหินก็ยิ่งมากขึ้นยิ่งไปยากหนักเข้า แต่เราก็โซซัดโซเซไปจนกระทั่งถึงคอคอดที่น้ำไหลตกลงไปสูงถึง ๓๐ ฟุต เป็นอันว่าไม่มีทางไปต่อได้ต้องทิ้งแพขึ้นจากน้ำ ตอนนั้นก็บ่ายมากแล้วจะกลับไปร่วมทางกับค่ายไม่ทัน แต่ท่านเจ้ายังทรงมีอารมณ์ดีมาก จนค่ำลงแล้วเราจึงเดินทางถึงหมู่บ้านแห่งหนึ่ง และท่านเจ้าก็ช่วยให้เราได้มีที่พักและมีไฟผิงอย่างอบอุ่นในคืนนั้น หลังจากที่เดินกันมาจนเหน็ดเหนื่อยและเท้าปวดเมื่อยทั่วกัน

1* เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี ใช้ว่า ทรงดำ-ซ่งดำ = สวมเสือผ้าสีดำเป็นหลัก
2* เมืองไลเจา ชาวลานนาเรียกหลายเจ้าก็มี เพราะขึ้นทั้งกับ ลาว จีน และญวน

วันรุ่งขึ้น เรากลับไปรวมที่ค่าย แล้วเลยเคลื่อนที่ต่อไปยังเมืองเก่า ที่นี่เป็นจุดร่วมทางแยกไปเมืองไล แต่คนส่วนใหญ่ในคณะก็แยกไปด้วย ข้าพเจ้าสงสัยว่าพระยาพิชัยเป็นผู้วางแผนให้เขาแยกไป ที่เมืองเก่านี้เราหยุดพักทำพ่วงแพล่องตามน้ำลงไปถึง สบโพน (Sob Pon) ออกเดินต่อได้พักหนึ่งก็ได้รับรายงานว่าในคณะมีมีข้าวเหลือเลย นับว่าเป็นกรณีวิกฤตมาก แต่ข้าพเจ้าเชื่อว่าเป็นแผนของพระยาพิชัยที่จะขัดขวางไม่ให้เราไปสบเอ็ดอย่างไรก็ตามการที่ไม่มีข้าวเหลือเลยนั้นก็ทำให้เราลำบากใจมาก ตกลงต้องเอาข้าวที่เราขนมาเอาออกแบ่งเฉลี่ยให้ทุกคน ตอนนั้นเราอยู่กึ่งทางระหว่างสบเอ็ดกับเมืองสอน แต่เมื่อต่อไปไม่ได้ก็ต้องกลับ พอวันที่สองก็พบกับกองเสบียงเห็นได้ชัดว่าการขอดแคลนข้าวนั้นย่อมมิใช่อุบัติเหตุอย่างแน่นอน

ข้าพเจ้าพูดกับพระนาพิชัยอย่างเอาจริง ถามท่านว่าต้องการจะไปให้ถึงเมืองไลหรือไม่ ถ้าไม่ก็หยุดเดินทางทันที แต่ถ้าจะไปต่อก็จะต้องไม่มีการล่อหลอกใด ๆ อีก ต้องเดินทางตรงต่อไปทีเดียว ท่านก็ตกลง ตอนนั้นฤดูฝนเริ่มตกแล้ว ทำให้การเดินทางยากลำบากทางนั้นไม่ได้มีคนใช้มาหลายปี มีทากเต็มไปหมด ในเมื่อข้าวไม่พอ เราก็ต้องเปลี่ยนแผนทั้งหมด เป็นอันกลับมายังเมืองงอย ( Muang Ngoi) ริมลำน้ำอู เพื่อสาวขึ้นไปยังสบเอ็ด คอลลินส์ก็เดินทางขึ้นไปทางเหนือน้ำอูจนสุดเขตหลวงพระบางไม่ช้ากว่า ๑ มิถุนายน พระยาพิชัย ท่านเจ้า และข้าพเจ้าเองบุกป่าฝ่าดงไปด้วยกัน กว่าจะถึงเมืองเต็งก็หมดแรงเว้นแต่พระยาพิชัยกับข้าพเจ้าเสียแล้ว คนอื่น ๆ ก็จับไข้กันหมดทุกคน



๒๐. การเมืองและบุคคลในเมืองเต็ง

ภูมิฐานเมืองเต็ง เป็นที่ราบกว้างกว่า ๖๐ ตารางไมล์ อยู่ที่ต้นน้ำเหนือ อันเป็นแควของน้ำอู นับเป็นที่สำคัญมาหลายยุคสมัย และเป็นแหล่งหลบภัยของกลุ่มพวกกบฏต่อกษัตริย์อานัม ริมฝั่งแม่น้ำกว้างที่ราบนั้นมีป้อมค่ายเก่า เรียกว่า เชียงเล (Chieng Le) ซึ่งมีต้นไม้ขึ้นคลุมทึบ ที่นี่เอง เมื่อพวกฮ่อมาถึงเป็นครั้งแรก พวกลู้ (Lus) จากสิบสองปันนา ในบังคับบัญชาของลอลี่(Lawli) ซึ่งเดินทางมาจากหลวงพระบาง ได้โจมตีขับไล่พวกโจรแตกพ่ายไป และได้ฆ่าหัวหน้าโจรเสียด้วย อย่างไรก็ตามพวกฮ่อได้หลับมาและสร้างที่มั่นไว้บนเนินข้างฝ่ายทิศตะวันออกเฉียงเหนือ

เมื่อมาถึง ทั้งท่านเจ้าและคนทั้งค่ายก็ล้มเจ็บ ซ้ำร้ายก่อนหน้านั้นคืนหนึ่งยังเกิดพายุหนัก ทั้งค่ายต้องย้ายที่พักไปยังหมู่บ้านหนองหลวง (Nawng Luang) พระยาพิชัยเป็นผู้พาข้าพเจ้าไปยังที่มั่นเก่าของฮ่อ ซึ่งคงเหลือแต่ไม้ไผ่กับยกพื้นที่มุมสูงราว ๑๒ ฟุต ปเยเปา (Puye Pao) ที่ปรึกษาของเจ้าไลมาพบเรา ทั้งเขาและพวกธงดำดูมีอารมณ์ดีมากข้าพเจ้า จึงเชิญเขามาพบพวกเราที่หนองหลวง เมื่อติดต่อธุรกิจกันเรียบร้อยแล้ว เราจำเป็นต้องเดินทางกลับ เพราะมีคนเจ็บมากและฝนก็ตกหนักแล้ว เราจึงผูกแพล่องลงไปตามน้ำเหนือ พักรอให้คนเจ็บไข้ค่อยทุเลาสักสองสามวัน และส่งข่าวไปยังเจ้าไลว่าเราไม่อาจไปเยือนเมืองไลได้ในปีนั้น เขาส่งบุตรชายคนโปรด ๒ คน ชื่อคำกุ่ย (Kam Kui)และคำล่า(Kam La) นำของขวัญ คือ ลูกม้าพันธุ์ดีมาให้ท่านเจ้าไป

จดหมายของเจ้าไลเป็นที่น่าพอใจมาก เนื้อความยืนยันว่ายังคงจงรักภักดีต่อสยามเช่นเคย และได้พยายามป้องกันมิให้กษัตริย์อานัมเข้ามายึดครองสิบสองจุไทย ทั้งสองฝ่ายหลังนี้ได้พยายามรุกเข้ามาตั้งแต่เมื่อพวกฮ่อเริ่มรุกราน หัวแรงฝ่ายอานัมคือชายคนหนึ่งซึ่งอ้างว่าตนชื่อไก่ทอง(Kaitong) เจ้าไลเคยเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรม แต่ภายหลังทรยศลอบหนีไปอานัม ขอกองทัพจากตูดุ๊กกลับมาโจมตีผู้อุปถัมภ์เดิม เจ้าไลต้องขอให้พวกธงดำมาช่วย และขอยืนยันว่าอะไรจะเกิดขึ้น จะไม่มีวันให้ไก่ทองเข้ามาใกล้แคว้นสิบสองจุไทเป็นอันขาด แต่เนื่องจากเจ้าไลชราแล้วไม่อาจมาเยี่ยมเราได้ด้วยตนเอง จึงได้ส่งบุตรชายที่โปรดปราณมาแทนตัว ส่วนบุตรคนอื่นขอไว้ป้องหันตนเผื่อว่าจะเกิดอันตราย เนื่องจากเมื่อไม่นานมานี้ ฝรั่งเศสกับอินเดียเกิดรบกันที่ลำน้ำเต่า (Tao หรือน้ำแดง Red Rover) ท้ายจดหมายนั้นว่ายินดีต้อนรับเป็นอันมากหากเราเดินทางไปเมืองไลได้

บุตรของเจ้าไลเป็นชายหนุ่มที่น่าคบ ข้าพเจ้ารู้สึกยินดีที่ได้รู้จัก วันที่ ๒๔ พฤษภาคม ซึ่งเป็นวันราชสมภพของพระราชินี ชาวเผ่าต่าง ๆ ได้มาร่วมประชุมกันกับท่านเจ้า และพระยาพิชัยเพื่อปรึกษาการงานในอนาคต ส่วนข้าพเจ้าก็เตรียมการเดินทางไปหลวงพระบางตามที่ได้สัญญาไว้ว่าจะไปให้ถึงภายใน ๑ มิถุนายน

ในท้องถิ่นแถบนี้ มีธรรมเนียมประหลาดที่ทำให้เกิดเรื่องยุ่งยากขึ้นหลายคราว คือการแยกอำนาจการครอบครองสถานที่ออกจากการควบคุมบุคคล ดังนั้น หากชาวหนองคายเข้ามาตั้งถิ่นฐานในหลวงพระบาง เขาจะต้องจ่ายภาษีให้เจ้าเมืองหนองคายในฐานะขาวเมืองนั้น แล้วจ่ายภาษีที่ดินต่อเจ้าแคว้นหลวงพระบางสองเท่าของภาษีบุคคล ชาวหนองคายที่มาอยู่หลวงพระบางต้องจ่ายภาษีให้แก่เจ้าเมืองหนองคาย ๒ รูปีต่อปี แต่พอถึงรุ่นลูกก็ถือว่าเป็นชาวหลวงพระบางไปแล้ว

ที่ร้ายกว่านั้น คือผู้ที่มีอำนาจครอบครองดินแดนที่เป็นของราชอาณาจักรถึงสามฝ่ายอย่างเจ้าไล ซึ่งดินแดนนครอบครองมีทั้งที่เป็นส่วนของจีน สยามและอานัม ( เรียกว่าแซ่สามฝ่าย Sae Sam Fai* หรือขึ้นกับทั้งสามฝ่าย ) ทำให้เกิดความวุ่นวายเป็นอันมากเมืองไลตั้งขึ้นในศตวรรษนี้เอง เจ้าหลวงเสิม (Serm) แห่งแคว้นหลวงพระบางได้ส่งคนมาช่วยตั้งเมืองขึ้น

เจ้าหลวงแคว้นหลวงพระบางองค์ก่อน ตั้งให้เจ้าไลมีอำนาจปกครองแคว้นสิบสองจุไท ส่วนที่อยู่ส่วนขวาของลำน้ำเต ( Nam Te) หรือน้ำดำ (Black River) และเจ้าไลต้องคอยต่อต้านมิให้ฝ่ายอานัมล่วงล้ำเข้ามาทางด้านนั้นอยู่เสมอ ก่อนจะเกิดเรื่องโจรฮ่อทุกอย่างสงบดี ฝ่ายหลวงพระบางสามารถเก็บภาษีได้เป็นปกติ แม้แต่จากชาวอานัมที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานเพรี่เจ้าหลวงบอกแก่ข้าพเจ้า หากไม่ยอมจ่ายภาษีก็จะตั้งถิ่นฐานเพราะอย่างที่เจ้าหลวงบอกแก่ข้าพเจ้า หากไม่ยอมจ่ายภาษีก็จะมาตั้งตั้งถิ่นฐานอยู่ไม่ได้ เมื่อวียงจันทร์กบฏ เกิดจราจลอยู่คราวหนึ่ง และฝ่ายสยามก็ใช้วิธีแก้ปัญหาแบบโบราณ คือขับไล่ชาวอานัมออกไปเสีย

ไก่ทอง ศัตรูของเจ้าไลเป็นคนแปลกน่าสนใจอยู่ไม่น้อย พ่อของเขาเป็นชาวกวางตุ้ง (Canton) ตัวเขาเกิดในกวางตุ้ง (Kwang Tung) ใน ค.ศ.๑๙๔๐ มีชื่อจริงว่าวังหวังเหล็ง (Wang Wang Leng) เที่ยวค้าขายมาจนถึงน้ำเต และได้เป็นที่ปรึกษาของเจ้าไล แล้วเดินทางลงไปยังอานัม ได้เข้าเฝ้าเป็นตูดุ๊ก ซึ่งทรงตั้งให้เขาเป็นเจ้าเมืองเต็ง แต่พอกลับมาเจ้าไลก็ตั้งตนเป็นศัตรู ต้องเสียเวลาไปหลายปีโดยไร้ผลไม่อาจตีหักเข้าไปครองดินแดนที่ได้รับมอบหมายมาได้ เขาไปขอความช่วยเหลือจากเต็งฮุ่ง ( Teng Hungอาจเป็นฮานอย) และในที่สุดก็เข้าไปถึงเมืองเต็งได้ แต่คืนนั้นเองถูกทหารของเจ้าไลเข้าล้อมตี เกือบหนีไม่รอดตัวตกลงต้องถอยไปโพนไซ (Pon Sai) พบข้าราชการลาวผู้หนึ่งและหลังจากเสี่ยงทายดูกระดูกไก่ที่ฆ่าเพื่อทำพิธีแล้ว ก็ได้ผลว่าผีชักนำเข้าไปพบท่านผู้ตรวจการฝ่ายสยาม เมื่อได้พบแล้วปรากฏว่าแทนที่ท่านขุนนางชราผู้นั้นจะช่วยเหลือ กลับแนะนำว่าควรตัดหัวเขาเสีย เพราะเขาเป็นผู้นำฮ่อเข้ามาในเขตแคว้นหลวงพระบางและก่อการจราจลเดือดร้อนขึ้นมากมาย

วันที่ ๒๖ พฤษภาคม เราอำลามิตรสหายแล้วล่องแพออกเดินทางไปได้ไม่นานพบเรือก็เข้าย้ายข้ามไปลงเรือด้วยความยินดี ถึงที่แก่งใกล้ปากน้ำเหนือเรือลำหนึ่งเกยหินและเกือบจะพังยุบอยู่ โชคดีว่ามีผีไม้ไผ่กระหนาบข้างเรือกันไว้ นี่เป็นเหตุการณ์ขลุกขลักเพียงครั้งเดียวตลอดระยะทางที่ล่องลงมา เย็นวันที่ ๑ มิถุนายน เราก็มาถึงหลงพระบางโดยปลอดภัย และข้าพเจ้าก็ได้พบคอลลินส์กับรอสมุสเซน
* เจ้าพระยาสุรศักดิ์ ฯ สืบจากชาวพื้นถิ่นใช้คำว่า เมืองส่วยสามฝ่ายฟ้า


๒๑. การปล้นครั้งสุดท้ายของฮ่อ และการยึดหลวงพระบาง

ฝ่ายสยามตัดสินใจแน่วแน่ว่าจะปราบฮ่อให้ราบคาบสิ้นเชิงทุกแห่ง จึงได้จัดการให้พระนาสุรศักด์มนตรี เป็นแม่ทัพใหญ่ มีอำนาจสั่งการได้ทั่งทั้งเขตแคว้นหลวงพระบางด้านหนึ่ง และให้พระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าชายประจักดิ์ ๑ คุมกองทัพเสด็จมาหลวงพระบางอีกด้านหนึ่ง ในประวัติศาสตร์สยามไม่มีครั้งใดเป็นโอกาสสำหรับทำงานใหญ่เพื่อผลประโยชน์ของประเทศได้เท่าครั้งนี้ และไม่มีครั้งไหนที่คนมีความสามารถรวมกันอยู่มากเท่าครั้งนี้

เจ้าชายประจักดิ์ ซึ่งเป็นพระเจ้าน้องนาเธอ ทรงมีพระยาสีหราชเดโช เป็นที่ปรึกษา ท่านผู้นี้เคยไปเรียนที่ วูลิช (Woolwich) และเคยเป็นนายทหารเหล่าสรรพาวุธของอังกฤษมาแล้ว ท่านเป็นหน่อเนื้อเชื้อไขของตระกูลดีเลิศ เป็นรองแต่พระราชวงศ์เท่านั้น พระยา สุรศักดิ์มนตรีซึ่งเป็นญาติ ก็เป็นพระสหายที่พระเจ้าแผ่นดินทรงไว้วางใจอย่างยิ่งยวด หากการศึกษาคราวนี้ล้มเหลวไปแม้แต่เล็กน้อย ท่านแม่ทัพทั้งสองก็จะได้รับคำตำหนิโดยตรงทีเดียว

ในปีที่แล้วมาพระยาราช ฯ จำเป็นต้องเลิกปิดล้อมทุ่งเชียงคำหลังจาก ๓ เดือนและถอยทัพกลับมายังหนองคาย

เจ้าชายประจักดิ์ เสด็จไปยังหนองคาย และผู้ช่วยของพระองค์ก็เดินทัพต่อไปถึงทุ่งเชียงคำ แต่ก็ต้องผิดหวังที่เหยื่อหนีไปเสียแล้ว อย่างไรก็ตามท่านก็สั่งเผาทำลายที่มั่นแห่งนั้นสียมิให้ใช้การได้อีกต่อไป

พระยาสุรศักดิ์ ตั้งทัพหลวงอยุ่ที่เมืองสอน และพักทัพอยู่ ณ ที่นั่นจนตลอดฤดูฝนต้องประสบความลำบากยากเข็ญเป็นอันมาก ต่อมาไม่นานฝ่ายฝรั่งเศสก็เริ่มมีบทบาท ผู้มาแทนตัวดอกเตอร์ไนส์ คือ ม. ปาวี ชายอายุประมาณ ๓๕ ปี ซึ่งเคยทำงานให้ปก่ราชการสยามอยู่คราวหนึ่ง คือเป็นผู้สร้างเส้นทางโทรเลขจากบางกอกไปถึงพระตะบอง เขาเคยเดินทางไปมาระหว่างสยามและกัมพูชาหลายครั้ง และได้สร้างทางสายโทรเลขผ่านอานัมไปยังตังเกี๋ย

อังกฤษได้เซ็นสนธิสัญญากับสยาม ตั้งสถานกงสุลขึ้นที่เชียงใหม่ ฝรั่งเศสก็ได้ทสัญญาสัมพันธ์มตรีกับสยามด้วย และจะมีสถานกงสุลในหลวงพระบาง ถึงแม้ว่าในบริเวณแคว้นที่กล่าวนั้นจะไม่มีประชากรในบังคับฝรั่งเศส ไม่ว่าจะเป็นชาวตังเกี๋ย อานัมหรือเขมร อาศัยอยู่เลยแม้แต่คนเดียวก็ตาม ม.ปาวี จะได้ตำแหน่งเป็นรองกงสุลคนแรก (ทำหน้าที่กงสุล)

ในเมื่อข้าพเจ้าจะต้องเดินทางขึ้นเหนือไปรวมกองกับของพระยาสุรศักดิ์มนตรีเป็นคนแน่ทีแรกก็คิดกันว่า ข้าพเจ้าน่าจะได้เดินทางร่วมไปกับ ม. ปาวี และกองต์ เดอ แกการาดี (Count de Kergaradie) ผู้แทนฝ่ายฝรั่งเศส ซึ่งแสนจะสุภาพ อ่อนโยน ก็ได้จัดการดังนั้นข้าพเจ้าได้เลือกเส้นทางสายผ่านเชียงใหม่ เพื่อหลีกเลี่ยงไม่เข้ายุ่งเกี่ยวกับการขนส่งเสบียงอาวุธให้แก่กองทัพที่หลวงพระบาง ม. ปาวี ก็พอใจเส้นทางสายนี้เช่นกัน แต่เพื่อมิให้ตนเองต้องเข้าไปเกี่ยวพันกับเรื่องใด ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ข้าพเจ้าจึงจัดการนิยามสัมพันธภาพระหว่างเราให้แจ่มแจ้ง เป็นอันตกลงกันว่า ข้าพเจ้ากับเขา ต่างฝ่ายจะเดินทางโดยเรือพวงของตน โดยใช้เรือกลไฟลำเดียวกันสำหรับลากจูง เมื่อใดถึงจุดที่เรือกลไฟไปต่ออีกไม่ได้แล้วแยกทางกัน

พอเลยปากน้ำโพ เรือลากจูงของเราก็เกยหาดทราย ซ้ำกระแสน้ำซัดจนเรือแจวของข้าพเจ้าที่ผูกพ่วงไว้ชิดนั้นแทบจะคว่ำ เมื่อติดตื้นเข้าเช่นนั้น ข้าพเจ้าก็ได้ทำตามที่ได้ตกลงกันไว้ คือกว่าวคำอำลาต่อ ม. ปาวี แล้วต่างฝ่ายต่างก็แยกไปตามทางของตัว

ม. ปาวี มีทีท่าสุภาพเสมอ และได้พยายามทุกทางที่จะให้การเดินทางเป็นไปโดยความสะดวกสบาย และสนุกสนานที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่การติดต่อสัมพันธ์กับเขาสืบไปย่อมไม่ก่อให้เกิดผลดีขึ้นเลยไม่ว่าจะด้านใดก็ตาม ยิ่งเมื่อพิจารณาถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่อมาภายหลังแล้ว ข้าพเจ้าก็ยิ่งรู้สึกดีใจที่เราได้แยกทางกันเสียแต่ตอนนั้น

ผู้ที่ร่วมทางไปหับข้าพเจ้า คือ คอลลินส์ และลุยส์ เดอ เปลซีส เดอ ริเชลิเออ ( Louis de Plessis de Richelieu) เราเร่งรีบเดินทางไปถึงเชียงใหม่ แล้วต่อไปเขียงรายลงเรือไปหลวงพระบางต่อไปถึงเมืองเต็งในวันที่ ๑๖ ธันวาคม

พระยาสุรศักดิ์ ฯ ได้มาถึงก่อนหน้าเราไม่กี่วัน และได้คุมตัวบุตรเจ้าไลซึ่งเดินทางมาต้อนรับ เป็นนักโทษคุมขังอย่างใกล้ชิด ข้าพเจ้าแน่ใจทีเดียวว่าจะเกิดเรื่อง และปรารถนาจะคงพักอยู่กับพระยาสุรศักดิ์ ฯ ต่อไป แต่ท่านผู้นี้ไม่ยินยอม ข้าพเจ้าจึงเสนอขอไปเมืองไล แต่ท่านก็แสดงความสงสัยว่าข้าพเจ้าจะไปทำอะไรที่นั่น ถ้าท่านยอมตกลงข้าพเจ้าก็คงจะได้ถือโอกาสขอให้ปล่อยตัวบุตรของเจ้าเสียแล้ว เพราะเหตุการณ์ทุกอย่างหมุนเข้ามาหาจุดวิกฤต และหากท่านไม่ระงับสียก็จะเกิดความวุ่นวายต่อไปไม่มีที่สิ้นสุดท่านเป็นผู้มีอิทธิพลเหนือเขตแคว้นแถบนี้ทั้งหมด ตลอดไปถึงสิบสองปันนา เดิมเจ้าเมืองไลอาศัยอยู่ฝั่งขวาของลำน้ำเตมาก่อน ด้วยอิทธิพลของฝ่ายจีน ร่วมกับการถือโชคลางเกี่ยวกับหมูซึ่งว่ายข้ามน้ำไปตกลูกอีกฝ่ายหนึ่งเป็นนิจศีล เขาจึงย้ายบ้านกลับไปอยู่ฝั่งขวาอีก

พระยมสุรศักดิ์ ฯ เชื่อเอาเป็นแน่ว่า เจ้าไลจะต้องเดินทางมาเมืองเต็งเพื่อเห็นแก่ลูก ระหว่างนั้นท่านจึงหันไปจัดการกัยพวกหัวหน้าธงดำ ชื่อ องบา (Ong Ba) ซึ่งกลัวท่านเสียลานราวกับแมลงวันกลัวมุม จนพยายามขอเลื่อนกำหนดมาพบด้วยข้ออ้างต่าง ๆ เป็นต้นว่า ครั้งแรกอ้างว่าจะจัดงานครบรอบวันเกิดของย่า และอีกครั้งหนื่งว่าต้องอยู่ไหว้วิญญาณคนหนึ่ง

ข้าพเจ้าอยากเดินทางไปเมืองไล เพื่อสำรวจเส้นเขตแดนสยามแต่คำสั่งที่ได้รัยมอบหมายให้ข้าพเจ้าอยู่ในบังคับบัญชาของพระยาสุรศักดิ์ ฯ ท่านผู้นี้สั่งให้ข้าพเจ้าเดินทางไปยังกองทัพน้อยที่สบเอ็ดสำรวจเขตแดนบริเวณหัวพันที้งห้าทั้งหก แล้วกลับทางหนองคาย เดอริเชลิเออ ล้มเจ็บ ต้องเรือล่องไปหลวงพระบางและกนองคายก่อน แต่คอลลินส์ยังคงไปกับข้าพเจ้า ระหว่างเดินทางไปเมืองเต็ง และระหว่างอยู่ในเมืองเต็งข้าพเจ้ามีอาจุกเสียดอย่างแรง ( เนื่องจากไส้พอง) หลายครั้ง ในที่สึดพอถึงเมืองยา(Muang Ya) อาการยิ่งกำเริบจนหมดกำลัง ซ้ำเริ่มจะมีไข้ขึ้น กลางคืนได้ยินเสียงคนในหมู่บ้านสวดไล่ผีให้ออกจากตัวคนไข้กันอย่างโหยหวน ข้าพเจ้ามีการหนักตั้งแต่วันที่ ๒๓ ธันวาคม กว่าจะฟื้นตัวพอเดินทางไปไหน ๆ ได้ก็ตกเข้าวันที่ ๑๐ มกราคม ข้าพเจ้าจึงได้เดินทางมายังหลวงพระบาง เพื่อกลับสู่บางกอก

ในเวลาไล่เลี่ยกัน ม. ปาวี ได้เดินทางมาถึงหลวงพระบาง แล้ววกขึ้นไปตามลำน้ำอูแต่พอมาถึงปากน้ำเหนือ ก็พบพวกลาวที่กำลังแตกหนีฮ่อ ซึ่งบุตรคนโตของเจ้าไลไปขอกำลังมาแก้แค้นที่น้อง ๆ ถูกจับกุม ม.ปาวี จึงกลับไปหลวงพระบาง ซึ่งพระยาสุรศักดิ์ ฯ ได้จัดการทำลายป้อมค่ายเครื่องป้องกันเสียโดยสิ้นเชิงแล้วก่อนจะเดินทัพไปพักอยู่ที่ปากลายพวกฮ่อบุกลุกลงมาตามแนวลำน้ำอู จนถึงเมืองงอย () ที่ตรงนั้นเป็นคอคอดกว้างสักไมล์หนึ่ง มีเนินเขาเป็นผาหินปูนสูงชันลงมาจบขอบน้ำซึ่งลึกมากแต่กระแสน้ำไม่เชี่ยว และเรือที่ล่องลงมาไม่มีทางที่จะไปต่อได้หากมีลมประทะด้านหัวเรือ ฝ่ายที่จะคิดโจมตีทางนั้นไม่มีทางผ่านได้ แต่พวกฮ่อรู้ดีว่ากำลังสู้กับคนประเภทใด พวกมันปืนเขาขึ้นไปยึดปืนที่ตั้งไว้ป้องกันตำแหน่งนั้นเอาไปทิ้งน้ำเสีย แล้วรุกคืบหน้สมายังหลวงพระบางตั้งมั่นอยู่ที่วัดเชียงทอง () ม.ปาวี และท่านผู้ตรวจการฝ่ายสยามเดินทางออกจากเมืองไปก้อรหน้านั้นแล้ว เจ้าอุปราชก็ไปแล้วด้วยเช่นกัน แต่ถูกเจ้าหลวงผู้มีพระประสงค์จะยอมตายในหลวงพระบางเรียกกลับมา โอรสองค์หนึ่งของเจ้าหลวงได้นับสมัครทหารพม่าอาสา ๒๐ คน สำหรับเป็นทหารรักษาพระองค์เจ้าหลวง
พวกฮ่อได้กระทำการอันโหดร้ายทารุณ ทั้งในบริเวณวัดที่พวกมันยึดเป็นที่พักอาศัยและทั่วไปในบริเวณตัวเมือง เจ้าอุปราชถูกประหาร และเจ้าหลวงผู้ชราถูกบรรดาโอรสและทหารรักษาพระองค์บังคับให้ลงเรือหนี โอรสองค์หนึ่งถูกยิงตายต่อพระพักตร์ หลวงพระบางถูกปล้นและถูกเผาแต่พระพุทธปฏิมาทองคำมีชื่อในประวัติศาสตร์ว่าพระบาง นั้น ชาวลาวผู้ฉลาดคนหนึ่งได้นำไปซ่อนไว่ เจ้าหลวงผู้ชราล่องเรือมาพบ ม. ปาวีในระหว่างทาง เลยพากันไปยังปากลาย ต่อจากนั้น เจ้าหลวงก็เสด็จต่อไปยังบางกอก

ฤดูแล้งปีถัดมา ฝ่ายฝรั่งเศสจะปราบการจลาจลในตังเกี๋ยเป็นคราวสุดท้ายชวนให้ชาวสยามเข้าร่วมมือด้วย อย่างไรก็ตาม กองทัพฝ่ายสยามในบังคับบัญชาของพระยาสุรศักดิ์ ฯ ยังมิทันจะออกจากลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ฝ่ายฝรั่งเศสก็ได้เข้าโจมตีพวก ธงดำที่ลาวไก (Pra Bang) ก่อนเดินทัพไปถึงเมืองไล และเลยไปตั้งมั่นอยู่ ณ เมืองเต็ง โดยมิได้ถูกต่อต้านแต่ประการใด เท่ากับว่าได้เข้ายึดครองอาณาเขตสิบสองจุไทไว้ในอำนาจอย่างเงียบ ๆ ระหว่างที่ ม. ปาวี ได้เดินทางไปตลอดสิบสองจุไท เขสมีคนคุ้มกันชาวสยามผู้กล้าหาญ ซึ่งได้ช่วยชีวิตเขาให้รอดพ้นจากอันตราย เมื่อถูกพวกฮ่อล้อมโจมตีครั้งหนึ่งและในที่สุดก็ได้เข้าไปพำนักอยู่ร่วมกับกองทัพฝรั่งเศส



๒๒. การสำรวจทางรถไฟในมณฑลลาวใต้

ระหว่างเวลาที่กล่าวนี้ ( ค.ศ. ๑๘๘๗ -๘๘ ) ทางราชการกำลังพิจารณาโครงการพัฒนาประเทศด้วยการสร้างทางรถไฟ ได้มีการติดต่อกับบริษัทรับเหมาก่อสร้างทางรถไฟชื่อ Messrs Punchard and Co. ของอังกฤษโดยผ่าน เซอร์แอนดรูว์ คลาร์ค (Sir Andrew Clarke) เพื่อจัดให้มีการสำรวจเส้นทางรถไฟขึ้น

เนื่องจากมีส่วนงานนี้ ข้าพเจ้าจึงได้ร่วมทางไปกัย มิสเตอร์ วิลเลี่ยม กัลเวย์ (Mr William Galway) หัวหน้าวิศวกร กะกันว่าเส้นทางนั้นจะตรงไปอยุธยา เมืองหลวงเก่าซึ่งถูกพม่าทำลายใน ค.ศ.๑๗๘๗ แม้ว่าเมืองเก่านี้จะไม่มีอะไรเหลือหรือนอกจากทรากวัดและเจดีย์ แต่ก็ยังเป็นสถานที่สำคัญและมีประชากรมาก จากอยุธยาก็มีโครงการจะวางเส้นทางต่อไปยังโคราช และอีกฝ่ายหนึ่งแยกไปพระบาทซึ่งเป็นสถานที่มีงานบุญประจำปีแล้วต่อไปถึงเมืองลพบุรี

ลพบุรีมีโบราณสถานที่น่าสนใจหลายแห่ง สร้างขึ้นในสมัยที่ชาวกรีกชื่อ คอนสแตนติน ฟอลคอน ได้ดำรงตำแหน่ง อัครเสนาบดีกรุงสยามใน ค.ศ.๑๖๖๕

เมืองนั้นเป็นที่ชุมนุมคนค้าปศุสัตว์ที่เดินทางมาจากลุ่มน้ำโขง พื้นที่ทั้งหมดจึงใช้ในการเลี้ยงสัตว์จากลพบุรี เส้นทางรถไฟจะทอดข้ามที่ราบลุ่มน้ำเจ้าพระยาไปยังอุตรดิตถ์ และต่อไปยังแพร่  ในมณฑลลาว ช่วงสุดท้ายนี้เท่านั้นที่ภูมิประเทศเป็นเนินเขาสลับซับซ้อน

เมืองแพร่เป็นรูปจตุรัสประมาณครึ่งตารางำไมล์มีกำแพงรอบ เมื่อรอบตั้งอยู่ในปกครองของเมืองน่าน แต่ปัจจุบันแยกการปกครองออกเป็นต่างหาก ตัวเมืองอยู่บนฝั่งซ้ายของลำน้ำ เมื่อฝนตกหนักก็จะเกิดน้ำท่วมในตัวเมืองเสมอ เป็นเหตุให้กำแพงเมืองชำรุดทรุดโทรมอย่างที่เราได้เห็น

แทบทุกปี ระหว่างเดือนมีนาคม - เมษายน จะเกิดไฟไหม้เป็นประจำสม่ำเสมอจนเกินกว่าที่จะคิดว่าเป็นการที่จะคิดว่าเป็นการบังเอิญอุบัติเหตุ พวกจีนตั้งหลักแหล่งอยู่ทางตะวันออกของตัวเมือง เป็นผู้ชักนำให้ชาวบ้านเล่นการพนัน สูบฝิ่น กินเหล้า และอบายมุขอื่น ๆ ก่อให้เกิดอาชญากรรมต่าง ๆ ขึ้นบ่อยครั้ง ระหว่างที่ข้าพเจ้าอยู่ที่นั่น พ่อค้าเร่ชาวเงี้ยว () ถูกปล้นฆ่าที่หน้าประตูจวนเจ้าเมืองเองทีเดียวและซ้ำมีมีใครสนใจติดตามหาตัวฆาตกรเลยด้วย

ระบบบริหารการศาลยังไม่เจริญ ผู้ร้ายฉกรรจ์ไปได้ ก็มีการคุมตัวเมียผู้ร้ายมาให้ไปเกลี้ยกล่อมเอาตัวสามีกลับมา ปรากฏว่าถูกฆ้อนตอกตราไม้ฟาดกลางแสกหน้าตายคาที่ระหว่างสอบสวนอยู่กลางสวนนั่นเอง

ที่แพร่ ข้าพเจ้าได้พบพ่อค้าฮ่อที่น่าสนใจคนหนึ่ง ชื่อสุไลมาน มารินดินี (Suliman Marindine) หรือชื่อจีนว่า ม้ายื่อเซ็น (Ma Yue chen) เขาค้าขายอยู่ในมณฑลลาวประมาร ๑๕ ปีแล้ว ได้เคยไปถึงเมกกะ บอมเบ กัลกัตตา ร่างกุ้ง และมะระแหม่งด้วยหลายครั้ง เพื่อนร่วมทางของเขาคนหนึ่ง ชื่อสุไลมาน มาลิกี (Suliman Maliki) หรือม้าเชา (Ma Chaw) ซึ่งยังไม่เคยเดินทางไปไหนมาก่อนและกำลังคิดจะเดินทางผ่านบางกอกไปเมกกะ แล้วกลับทางมะละแหม่ง อีกคนหนึ่งชื่อ ยูซุฟ ชื่อจริงว่านาลิงฟาง (Naling Fang) ทั้งสามคนถืออิสลาม นิกายวาตาบี (Watabi) งดเว้นการสืบยาโดยสิ้นเชิง ข้าพเจ้าได้ทราบชัดเมื่อเชิญเขามานั่งในกระโจมพัก แล้วส่งซิการ์ให้ แต่เขาปฏิเสธว่าศาสนาของเขาห้ามมิให้ใช้ยาสูบ

พ่อค้าทั้งสามนี้อ้างตนเป็นชาวอาหรับ แต่ทั้งหน้าท่าทางเป็นจีน ซ้ำมีชื่อจีนกำกับอีกด้วย พวกเขามีล่อต่าง ๑๘๐ ตัว สำหรับบรรทุกฝิ่น และขี้ผึ้งอีกบ้าง ล่อตัวหนึ่งบรรทุกได้ ๑๓๓ ปอนด์ ฉะนั้นทั้งหมดก็จะบรรทุกฝิ่นได้เป็นน้ำหนักอย่างน้อย ๑๓,๐๐๐ ปอนด์ แต่การค้าฝิ่นออกจะเป็นปัญหาอยู่ไม่น้อย นายหน้าค้าฝิ่นรออยู่ที่อุตรดิตถ์ ถ้าตกลงราคากันไม่ได้ก็ต้องขนของกลับ แต่สุไลมานมีแผนเผื่อไว้ว่าจะขนต่อไปยังมะละแหม่งเพราะในเมื่อเขาเคยไปมาแล้วหลายครั้ง ก็คงจะพอหาทางให้เจ้าหน้าที่ยินยอมให้ "สินค้า" ของเขาผ่านด่านเข้าไปได้

มีชายฉกรรจ์ท่าทางแข็งแรงอยู่ประมาณ ๕๐ คน ยกเว้นสุไลมาน มาลิกี คนเดียวที่ไม่เคยเดินทางไกล และกำลังเป็นไข้อยู่ ข้าพเจ้าจึงเจียดยารักษาไข้ของหมอโกแวน (Dr.Gowan) ให้ไปบ้าง ยานี้หมอปรุงขึ้นเอง ได้ผลชะงัดมาเสมอไม่เคยเหลวไหลเลย ค่าจ้างคนเลี้ยงล่อซึ่งเป็นพวกคัฟฟีร์ (Kaffir) เสียประมาณ ๒๐ คน นั้น ตกประมาณ ๔-๘ รูปีต่อเดือนเส้นที่พวกนี้ใข้ได้แก่จากเวนาสิง (We Na Sing) ซึ่งอยู่ริมทะเลสาบไปสีชิง(Siching) ฉวง (Chong) ไปท่าลี่(Tali) ๘ วัน ท่าลี่ไปพลั้ว (Pururh) ๕ วัน (น่าจะเป็น ๑๕ วัน เป็นอย่างน้อย ) พรั้วถึงสโม (Smo) ๒ วัน สโมถึงเชียงฮุ่ง (Chieng Hung สยามว่ารุ้ง) ๖ วัน เชียงฮุ่งถึงเมืองสิงห์ (Muang Sing) ๑๐ วัน เมืองสิงห์ถึงเมืองเลน(Muang Len) ๖ วัน เมืองเลนถึงเชียงแสน (Chiang San) ๔ วัน

พวกนี้ล้วนแต่ฉลาดเฉลียว แต่ไม่สามารถที่จะวาดเส้นทางเป็นรูปรอยบนพื้นดินได้และดูเหมือนจะไม่เข้าใจเรื่องทิศทางเลย ในด้านนี้นับว่าด้อยกว่าชาวลาว ซึ่งแทบทุกคนสามารถใช้ไม้เขี่ยขีดทำรูปเส้นทางบนดินได้ โดยถูกต้องแม่นยำพอควรทั้งทิศทางและระยะทาง แต่พอดูได้จากรอยสึกที่ส้นเท้าว่าพวกนี้เดินทางผ่านที่ทุรกันดารโดยแท้

พวกเขาเที่ยวค้าขายของเมืองจีน ได้แก่ ฝิ่น ขี้ผึ้ง จานเหล็ก เหล็กก้อน พลวง และเกาลัด (Walnut) ไปจนถึงมะละแหม่งแล้วก็ซื้อผ้าลายดอกพิมพ์ของแมนแชสเตอร์กลับมาแลก ฝ้ายดิบ ไหมดิบ ระหว่างทางกลับไปเชียงฮุ่ง ฝ้ายดิบที่แพร่ ขายกัน ๒๕ รูปี ต่อ ๑๓๓ ปอนด์

เส้นทางรถไฟที่กะกันไว้ทอดตามเส้นทางค้าที่ขรุขระลำบากยากเย็นไปถึงนครลำปาง (Nakawn Lampang) ซึ่งเรียนกันว่าชาวละคร (Lakawn) เป็นเมืองเก่าที่มีกำแพงรอบตั้งอยู่สองฝั่งลำน้ำแม่วัง (Me Wang) เจ้าจากเมืองนี้เองเป็นผู้ก่อตั้งเมืองเชียงใหม่(Chieng Mai) และลำพูน (Lampun) ที่นี้เปรียบเหมือนแหล่งล่าสัตว์ของชาวจีนที่เป็นเจ้าภาษีกดขี่ชาวเมือง ระหว่างหน้าแล้ง คนที่มีไม่รู้วิธีการขุดคลองชลประธาน จึงต้องอดอยากขาดแคลนอาหารเป็นนิจ จากลครเส้นทางก็ทอดไปลำพูน ซึ่งเป็นเมืองมีกำแพงง้อมอยู่ริมน้ำกวง (Nam Kuang) คัวเมืองทรงรี วัดรอบได้ประมาณ ๓ ไมล์ วัดกับเจดีย์งามมากและมีฆ้องใหญ่ผ่าศูนย์กลางยาว ๖ ฟุต หนา ๔ นิ้ว มีอักษรสลักไว้ด้วยแขวนก้อยอยู่ เจ้าหลวงองค์เก่าได้สร้างถนนในจังหวัด โดยเอาดินเหนียวมาถมทางทำให้เหนอะหนะมาก คนในลำพูนถูกละให้อยู่ลำพังตนโดยมาก เวลาเย็น ๆ ค่ำ ๆ ได้ยินหนุ่ม ๆ ถือเครื่องดนตรีเสียงหวานคล้ายกีต้าร์ เรียกว่า เพี้ย (Pia) เที่ยวกีดเกี่ยวสาว มันมีสี่สายขึงไว้กับแป้นไม้ซึ่งประกบไว้กะลามะพร้าวผ่าครึ่ง เวลาเล่นก็หันส่วนที่เป็นกะลาเข้าแนบกับตัวเปล่า ๆ ถ้าไม่ทำอย่างนั้นก็ฟังไม่เพราะ

ทางจากลำพูนถึงเชียงใหม่เป็นระยะ ๑๗ ไมล์ ราบเรียบดีมาก เชียงใหม่เมืองหลวงของลาวพุงดำ อยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลปานกลาง ๑,๐๐๐ ฟุต เนื้อที่ ๑ ตารางไมล์ มีคูเมือง มีคูเมืองรอบและกำแพงสูซง ประตูเมืองที่สำคัญมี ๕ แห่ง จากมุมตะวันออกเฉียงเหนือ มีเนินโค้งครึ่งวงกลมสูงพอเท่า ๆ กับกำแพงเมือง แต่ขรุขระ ทอดแนวอ้อมไปถึงมุมด้านตะวันตกเฉียงเหนือห่างจากกำแพงชั้นในประมาณครึ่งไมล์ กำแพงนั้นเจาะช่องทางตรงกับประตูเมืองด้วย ฝ่ายสยามเป็นผู้สร้างขึ้นในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ ครั้งที่ยกกองทัพขึ้นมาตีเมืองได้ใน ค.ส. ๑๖๖๑ เชียงใหม่มีถนนหลายสาย วัดก็มากและล้วนสวยงาม ตลาดติดทุกวัน ส่วนใหญ่ผู้หญิงเป็นทั้งผู้ขายและผู้ซื้อ และถ้าจะให้ตัดสินจากแบบการแต่งกานแปลก ๆ แล้ว ก็จะต้องกล่าวว่ามีหลายเชื้อผ่าพันธ์อยู่ปนเปกัน รวมทั้งหมดที่เห็นราวสัก ๓,๐๐๐ คน ไม่มีตำรวจเลยแม้แต่คนเดียว และเท่าที่ข้าพเจ้าได้เห็น ก็ไม่จำเป็นต้องมีไม่ใช่เรื่องแปลกทีจะได้เห็นช้างสักเชือกเดินเอื่อยอยู่กลางตลาดร่วมกับกลุ่มคนชาวยาง(กะเหรี่ยง) เงี้ยว(ฉานจากลุ่มน้ำสาละวิน) เขิน (จากเชียงตุง) ขมุ (จากอีกฟากหนึ่งของแม่น้ำโขง) หรือแม้แต่ไทยจากแดนไกลถึงสิบสองจุไท และฮ่อจากยูนนาน ประชากรทั้งหมดดูมีระเบียบ และเข้ากันได้ดี เป็นทัศนียภาพที่ส่าสนใจยิ่งนัก

เมื่อออกจากทุ่งเชียงใหม่ เส้นทางก็ไต่ขึ้นเขาอันเป็นอุปสรรคแก่การสร้างทางรถไฟอย่างมาก และเมื่อขึ้นไปสูงถึง ๓,๔๐๐ ฟุต เหนือระดับน้ำทะเลแล้วก็ลาดลวงไปยังพุน้ำร้อนบนเทือกแม่ลาว (Me Lao) เลยต่อไปถึงเวียงป่าเป้า (Wieng Papu) ซึ่งเพิ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อราว ค.ศ. ๑๘๘๕ คราวที่กองทัพฝ่ายสยามถอยจากเชียงตุง ต่อจากนั้นเส้นทางก็ทอดไปสู่เชียงรายและเลยไปสิ้นสุดที่เชียงแสนริมฝั่งแม่น้ำโขง

การเดินทางสำรวจเส้นทางสำรวจเส้นทางรถไฟบรรลุจุดมุ่งหมายโดยปราศจากอุบัติเหตุใด ๆ เคราะห์ร้ายแต่ก่อนกำหนดวันที่จะเดินทางกลับไม่นาน มิสเตอร์ กัลเวย์ นายช่างใหญ่ ลงเรือไปเที่ยวในอ่าวสยามแล้วจมน้ำตาย


๒๓. กำหนดเส้นเขตแดน ค.ศ. ๑๘๙๐

ขณะนี้ ข้าพเจ้าเริ่มงานสำรวจเพื่อกำหนดเส้นเขตแดนด้านตะวันออกเฉียงเหนือระหว่างสยามกับพม่า อย่างไรก็ดี ตำแหน่งของข้าพเจ้าออกจะทำให้ลำบากใจอยู่ เพราะแม้จะได้ทำงานมาถึงเก้าปีแล้วก็ยังไม่วายจะมีคนคอยสงสัยว่าจะร่วมมือกับฝ่ายอังกฤษเอาเปรียบสยามอยู่นั่นเอง พอสำรวจเสร็จข้าพเจ้าก็รับถอนตัว แต่ที่นำมากล่าวไว้ด้วยก็เนื่องจากมันส่งผลให้ข้าพเจ้าไดรับแต่งตั้งให้ตรวจสอบเขตแดนของสยามโดยรอบ ซึ่งนับว่าเป็นงานใหญ่และน่าสนใจอย่างยิ่ง แม้การสำรวจชายแดนด้านพม่าจะประสบความยากลำบากมากมายก็ตาม ก็ยังนับว่ามีข้อปลอบใจประการหนึ่ง ชายหนุ่มชาวสยามซึ่งต่อไปนี้ ข้าพเจ้าขอเรียกว่า พระสฤษดิ์ เป็นผู้ที่ข้าพเจ้าได้ฝึกฝนอบรมมาแต่วัยรุ่น และได้แสดงความกตัญญูต่อข้าพเจ้าอย่างดีเลิศ ถึงแก่ยอมเอาตัวเข้ามาเสี่ยง การที่หนุ่มน้อยผู้นี้ได้รับความยกย่องและประสบความสำเร็จสมกับความสามารถ ในภายหลังต่อมานั้น ทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกชื่นใจยิ่งนัก

ผู้ร่วมงานกับข้าพเจ้าในครั้งนี้เป็นสุภาพบุรุษชาวสยามทั้งคณะ หลายคนเคยร่วมงานกับข้าพเจ้ามาแล้วคนละหลาย ๆ ปี วันที่ ๑ ธันวาคม ค.ศ. ๑๘๙๐ เราพากันลงเรือไฟลำเล็กติดพังงาท้าย อันเป็นสมบัติของดอกเตอร์ ชีค นักธุรกิจชาวอเมริกันซึ่งพำนักอยู่ในสยามมานานหลายปีแล้ว เราแล่นเรือทวนน้ำขึ้นไปถึงบางประอิน และได้เข้ายังคมลาพระเจ้าแผ่นดิน ซึ่งประทับอยู่ในระหว่างนั้น การเดินทางทวนน้ำไปยังค่อนข้างสะดวกเพราะฝนตกมาสักสองสามวัน ทำให้ระดับน้ำสูงขึ้นสัก ๒ ฟุต เราจึงขึ้นไปได้ถึงนครสวรรค์ในวันที่สี่ ในหน้าฝนเรือกลไฟสามารถขึ้นไปได้ถึงระแหง แต่พอถึงหน้าแล้งจะขึ้นไปนครสวรรค์ได้ก็ทั้งยาก
พอถึงปากน้ำโพ เราก็แยกกันเป็นสองขบวน ขบวนหนึ่งอยู่ในบังคับบัญชาของพระสฤษดิ์ ซึ่งได้ปรับปรุงตนจนเป็นสักสำรวจชั้นเลิศ ทั้งไม่ย่อท้อต่อความยากลำบากซื่อตรงและมีความสนใจในงานอย่างจริงจัง เป็นกำลังสำคัญของข้าพเจ้า เราตกลงกันว่าพระสฤษดิ์จะออกสำรวจดินแดนที่ยังไม่เคยมีผู้สำรวจมาก่อนให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แล้วเดินทางไปพบข้าพเจ้าที่เมืองฝาง (Muang Fang) ปัจจัยสำคัญในการคำนวณของเราก็คือปริมาณอุปสรรคที่เราจะได้พบในการสำรวจพบปะติดต่อกับเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ค่อยจะชื่นชมยินดีกับแผนการของเรานัก และถ้าหากเขาไม่ร่วมมือกันเราอย่างเต็มที่แล้วราบรื่นที่สุดเท่าที่จะทำได้ ตัวข้าพเจ้าเองออกเดินทางไปเชียงใหม่ ซึ่งเป็นศูนย์บัญชาการของภาคเหนือ เพื่อช่วยหัวหน้าข้าราชการที่นั่นจัดการเกี่ยวกับการขยายโครงการของเรา เรือที่ข้าพเจ้าไปนั้นเป็นเรือเล็ก แต่ทว่าไปได้เร็ว แม่น้ำนั้นกว้างมีแก่งสูงชัน แต่ร่องน้ำมักจะมีสันทรายขวางถึงแก่ต้องขุดให้เรือผ่านในหน้าแล้ง หลายแห่งน้ำตื้นไม่พอจะให้ล่องซุงผ่านได้ ก็ต้องใช้ช้างมาชักลาก แห่งหยึ่งที่เราผ่านเห็นกำลังชักลากซุงตั้งกว่าสองร้อยต้นเพื่อจะเอาไปปากน้ำโพ ซึ่งอยู่ห่างจากที่นั่นราว ๔๐ ไมล์
ขึ้นเหนือต่อไปอีก เราก็ได้เห็นเมืองกำแพงเพชร (Kampeng Pet) ซึ่งคราวหนึ่งเคยเป็นเมืองสำคัญ ยังแลเห็นทรากปรักหักพังของวัดที่ก่อสร้างด้วยหินแลง ซึ่งมีอยู่มากในท้องถิ่นแถบนั้น และทรากป้อมค่ายอีกมาก การขุดค้นในบริเวณนี้คงจะทำให้ได้รับความแจ่มกระจ่างเกี่ยวกับประวัติศาสตร์สยามหลายด้านที่ล้วนน่าสนใจ (มีปฏิมากรรมโบราณรูปหนึ่งเป็นรูปนาค งามมาก ถูกคนขโมยไปจากกำแพงเพชร แต่ยัดนี้ได้มาอยู่ในพิพิธภัณฑ์ที่บางกอก ) เมืองตากหรือระแหง เป็นเมืองสำคัญที่สุดบนฝั่งแม่ปิง(Me Ping) ระหว่างปากน้ำโพกับเชียงใหม่ และกำลังขยายใหญ่ขึ้น เพิ่มความสำคัญขึ้นทุกปี ตัวเมืองอยู่บนฝั่งซ้ายของแม่น้ำตรงจุดที่วัดความกว้างได้ ๒,๐๐๐ ฟุตจวนเมืองสร้างด้วยอิฐและปูน แต่ที่เรียงรายไปตามริมน้ำไปว่า ๔ ไมล์นั้นเป็นเรือนไม้ หรือเรือนมุงหญ้า (แฝก) ใต้ถุนสูง มีวัดซึ่งสร้างด้วยอิฐปูนแทรกอยู่เป็นแห่ง ๆ แระชากรในจังหวัดนี้มีประมาณ ๒๐,๐๐๐ คน ส่วนใหญ่ตั้งบ้านเรือนอยู่ใกล้ ๆ จวนเจ้าเมืองตามประเพณีเดิม หมู่บ้านที่อยู่ห่างออกไปบางหมู่บ้านอยู่เพียงสามหลังและล้วนซอมซ่อ ครั้งหนึ่งระแหงเคยร่วมอยู่ในอาณาเขตเชียงใหม่ แต่ถูกมอบเป็นสินสอดเมื่อเจ้าหญิงเชียงใหม่เศกสมรสกับเจ้าเมืองน้อยซึ่งต่อมายอมขึ้นอยู่กับสยาม รอบ ๆ ระแหงไม่ค่อยมีนาข้าวมากนัก ทุ่งนาที่ปลูกข้าวเลี้ยงเมืองอยู่บนฝั่งขวาของแม่น้ำห่างมะละแหม่งเป็นระยะเดินทาง ๗ วัน พวกพ่อค้าเร่ชาวพม่าเที่ยวค้าขายทั่วเมืองสยามถึงสุโขทัย พิษณุโลก หรือพิชัย บนริมฝั่งแม่น้ำน่าน เลยตลอดลุ่มน้ำโขงจนกระทั่งหลวงพระบาง เชียงคานและหนองคาย โดยเฉพาะในเขตลุ่มน้ำโขงนั้นพบพวกนี้แทบจะทุกแห่งหน เที่ยวค้ากระดุมทองแดงปั้มตรารูปเศียรพระราชินีมีไม้ขีดไฟ เข็มเย็บผ้าและอื่น ๆ อีกสารพัด ขายได้แล้วก็ซื้อช้าง ซื้อไหมดิบ หรือกำยานเอากลับไปพม่า มีทางเดินชั้นดีผ่านเถิน (Tern) และไล (Lai) ไปถึงเชียงใหม่ ซึ่งช้างไปถึงได้ชั่วเดิน ๙ พัก เป็นเส้นทางวางสายโทรเลขด้วย

เจ้าเมืองซึ่งเป็นมิตรเก่าของข้าพเจ้าไม่อยู่ เมื่อข้าพเจ้าไปถึง แต่ปลัดเมืองอยู่ เขาผู้นั้เป็นนักสำรวจชั้นดีผู้หนึ่ง และสนใจงานด้านนี้อยู่เสมอ ได้ช่วยเหลือเรามามาก เราเสียเวลาเปลี่ยนเรืออยู่สองสามวัน แล้วก็หาคนเรือชาวลาวที่ชำนาญการแจว หรืออันที่จริงถ่อเรือ เขาใช้ไม้ไผ่ลำยาวเสริมปลายด้วยเหล็กแหลมยาวประมาณนิ้วหนึ่ง เพื่อให้จับต้นซุงหรือก้อนหินนั้นได้ถนัดมือ ระหว่างเดินตามกราบข้างแคมเรือคนถ่อไปทางตรงข้ามพร้อมกับเดินกลับไปยังท้ายเรือในขณะที่เรือแล่นลอยไปข้างหน้า ปกติเรือลำหนึ่งจะมีคนถ่อสามคน ถ่อตามกันไปได้อย่างรวดเร็ว เพื่อให้เรือแล่นไปอย่างสม่ำเสมอตลอดเวลา

ในไม่ช้าเราก็ออกเดินทางต่อ ในวันแรกออกเดินทางนั้นเองก็ได้เห็นสัญญลักษณ์ของการเปลี่ยนแปลงทางกาลเวลา มีผู้ส่งโต๊ะบิลเลียดขนาดใหญ่ไปเชียงใหม่ด้วย ผ่านสันทรายกว้างที่มีซุงเกลื่อนกลาดอยู่บนที่แห้งเขินแล้วเราก็มาถึงปากแควสำคัญของลำน้ำปิง คือน้ำวัง (Nam Wang) อันมีเมืองใหญ่ ๆ ถึงสามเมืองตั้งอยู่ริมฝั่ง ได้แก่ เมืองวัง (Wang) ลคร (Lakawn) และเถิน (Tern) ซึ่งก็ล้วนเป็นศูนย์กลางการค้าไม้สักทั้งสิ้นเราหาซื้อเชือกที่บ้านนา (Ban na) เพื่อเตรียมตัวผ่านขึ้นแก่ง ที่ตรงนี้ภูเขาค่อยบีบเข้ามาใกล้ลำน้ำซึ่งตีบแคบลง และภูมิทัศน์งามขึ้นทุกวัน เราได้เห็นฝูงวัวลุยข้ามน้ำหลายครั้งเพื่อเดินทางไปมะละแหม่ง ทำให้เกิดความสงสัยว่าเมื่อสิบปีที่แล้วชาวพื้นเมืองในท้องถิ่นแถบนี้จะทำการค้าขายมากกว่าในปัจจุบันหรือเปล่า ธุรกิจการค้านั้นเพิ่มขึ้นจริง แต่อยู่ในมือของชาวยูโรป จีน และพม่ามากกว่าชาวพื้นเมือง

ช่วงนั้นเองเราก็เข้าถึงแก่งระยะแรก และคนเรือซึ่งมีทีท่าว่าประหลาดใจที่ต้องออกแรงเพิ่มขึ้นก็โดดลงน้ำ ส่งเสียงกันเอะอะระหว่างที่นำพวกเราผ่านขึ้นไป แก่งนั้นมีต่อกันมาติด ๆ ชั่วระยะ ๕๐ ไมล์ มีอยู่สัก ๓๓ แก่ง ไม่มีแก่งใดอันตราย นอกจากทำให้เสียเวลาแล้วก็มิได้เกิดเหตุขลุกขลักใด ๆ ขึ้น มีตำนานเล่ากันมาว่า ที่แก่งสร้อย เคยมีคนจากเมืองหนึ่งใกล้ ๆ เมืองไลในปัจจุบัน อยากรีบไปถึงวัดเก่าที่ริมแม่น้ำปิง เลยผูกแพแล้วคัดท้ายพุ่งข้ามโขดหินฝั่งซ้ายไปเลยทีเดียว

แทบจะไม่มีข้อสงสัยว่า ที่ว่าวัดร้างแห่งนั้นเคยเป็นของพวกละว้า (Lawas) ซึ่งเป็นชนเผ่าที่เคยครอบครองถิ่นเทือกเขาแถบนี้ แต่ปัจจุบันแทบจะสูญเชื้อชาติไปแล้ว คงเหลืออยู่ส่วนน้อยทางแถบตะวันตก มีอาชีพหลอมเหล็กเป็นหลัก ถัดจากตลิ่งเข้าไปเป็นทุ่งนาร้าง ที่พวกนักล่าสัตว์อาจเข้าไปยิงกวาง หรือบางทีถ้าไม่ระมัดระวังก็ยิงพลาดไปถูกคนแก่เข้าเพราะเข้าใจผิด เรื่องน่าเศร้าที่เล่านี้เกิดขึ้นจริง ๆ ก่อนเราจะเดินทางไปถึงไม่นานแต่หญิงชราคนที่กล่าวไม่ถึงแก่บาดเจ็บมากนัก

ชาวเชียงใหม่ได้เคยพยายามมาหลายครั้งที่จะตั้งถิ่นฐานในท้องถิ่นแถบนี้ แต่เข้ามาทีไรก็ถูกปล้น เราได้ข่าวมาว่าพวกปล้นยังมาก่อกวนอยู่เสมอ บางทีก็ถึงแก่ฆ่าคน แต่อันตรายก็คงยังไม่มากนักเพราะข้าพเจ้าได้เห็นผู้ชายล่องแพไม้ไผ่มาตามลำพังตนโดยไม่หวั่นกับโจรหลายครั้งด้วยกัน ชาวยุโรปก็ไม่เคยถูกโจมตี ทั้ง ๆ ที่ปีหนึ่ง ๆ มีการขนเงินใส่เรือทวนน้ำขึ้นไปเที่ยวละเป็นแสนรูปี

ก่อนถึงบ้านมุกดา (Bam Mukda) เราก็พ้นเขตแก่งพอมองเห็นทุ่งราบเมืองเชียงใหม่มีเรื่องเล่ากันมาแต่โบราณว่า พื้นที่อันอุดมดว้าง ๕ ไมล์ ยาวประมาณ ๙๐ ไมล์นี้ เดิมเคยเป็นท้องทะเลสาบ แต่ปัจจุบันปลูกข้าวเต็มหมดและมีระบบการชลประทานดี เขตแดนระหว่างเชียงใหม่กันจังหวัดใกล้เคียง คือ ลำพูนนั้นจะกำหนดแน่ได้ยาก เนินเขาเตี้ย ๆ ซึ่งมีเจดีย์งามองค์หนึ่ง ชื่อ ดอยกุง (Doi Kung) เคยเป็นที่เจ้าหลวงเมืองเชียงใหม่เดินทางมาสักการะ แต่ปัจจุบันไม่ค่อยเสด็จมา เจดีย์นั้นจึงถูกทอดทิ้งอย่างน่าเสียดาย เล่ากันว่าพงสาวดารของแคว้นจารึกลงใบลานขอบทอง บรรจุหีบไม้สักยังอยู่ใต้โขดหินริมฝั่งน้ำ และมีผีเฝ้ารักษาด้วย การเดินทางช่วงนี้ไม่มีสิ่งที่น่าสนใจเท่าไรนัก เราก็ถ่อเรือขลุกขลักผ่านไป

ม่อนฮอด (M.Haut) ซึ่งเป็นสุดปลายเส้นทางจากพม่าเป็นที่น่าสนใจที่สุดที่เราผ่านพบ ณ ที่นั้นเราได้พบขมุกกลุ่มหนึ่ง ขนกลองโลหะงาม ๆ มาด้วย กลองเหล่านี้ประดับรูปกบสลักไว้รอบขอบจึงมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "กลองกบ" ชาวกะเหรี่ยงแดง (Red Karen) เป็นผู้ทำ ชาวสยามนำมาใช้ตีเฉพาะในพิธีหลวง เรียกว่ากลองมโหรทึก พวกขมุเหล่านี้สู้อุตส่าห์ทำงานหนักนับปี ๆ ด้วยความทะเยอทะยาน อยากได้กลองแบบนี้ไปที่หลวงพระบาง

ที่ปากน้ำกันหรือขัน (Nam Kan) มีหมู่บ้านคนโรคเรื้อนหมู่ใหญ่ คนที่นี่ไปไหน ๆ ได้ทั่วไปไม่มีข้อจำกัด ที่ตลาดเมืองเชียงใหม่ก็พบบ่อย ๆ จากที่นี่เห็นเทือกเขาเป็นภูมิทัศน์อันงดงามตา ทางทิศตะวันตก คือ ดอยอินทนนท์ สูง ๘,๔๕๐ ฟุต สูงที่สุดในแคว้นเชียงใหม่และนับตั้งแต่นั้นเมื่อฝรั่งเศสรุกเข้ามายึดดินแดนไปแล้ว ก็ถือว่าสูงที่สุดในสยามด้วย ต่อจากนั้นก็ยอดดอยสุเทพ ซึ่งอยู่ห่างตัวเมืองเชียงใหม่ ๘ ไมล์ แลเห็นยอดเจดีย์แหลมระยับอยู่กึ่งทางขึ้นยอดดอย ไม่ช้าเราก็เข้าถึงตัวเมืองเชียงใหม่ ปะปนไปกับเรือต่างรูปต่างขนาดนับร้อย ๆ ลำ ที่แจวแล่นอยู่ในลำน้ำ



๒๔. จากเชียงใหม่ไปเมืองฝาง
ตัวเมืองเชียงใหม่ดูคับคั่งด้วยธุรกิจก้าวหน้าเฟื่องฟู มีลักษณะว่าได้รับการเปลี่ยนแปลงตามอิทธิพลอารยธรรมแบบตะวันตกไปบ้างแล้ว มีสะพานไม้สักเชื่อมสองฝั่งแม่น้ำคนสร้างคือ ดอกเตอร์ ชีค ผู้ล่วงลับ ซึ่งได้สร้างโบสถ์ไม้ไว้หลังหนึ่ง มีหอคอยด้วย ไว้เป็นศูนย์กลางของกิจการศาสนานิกายเพรสไบทีเรียน โรงสีข้าวใช้กำลังไดน้ำซึ่งคณะนักสอนศาสนากลุ่มนั้นตั้งขึ้น ยังทำงานอยู่โดยใช้แรงคนงานขมุ เห็นคนกำลังปลูกบ้านขึ้นรอบ ๆ โรงงานออกเต็มไป มีบ้านพักกงศุลอังกฤษ บ้านพักและโรงเรียนของนักสอนศาสนา และอาคารหลังใหญ่เป็ฯที่สำหรับเล่นบิลเลียด ทางเดินมีสภาพดีเยี่ยม และการประปาก็นับว่าดีขุดเป็นคลองส่งน้ำแบบเปิดมาจากดอยสุเทพซึ่งอยู่ห่างออกไป ๘ ไมล์ และยังมีบ่อน้ำอีกมากมาย ขุดดินลงไปไม่ถึง ๔๐ ฟุต ก็ถึงตาน้ำ น้ำที่พุ่งขึ้นมานั้นใสสะอาด ในเขตใกล้ ๆ นั้นมีที่ลุ่มกว้าง หน้าฝนมีลักษณะเหมือนเป็นที่ตั้งเมืองที่มั่น (Muang Timan) ซึ่งสลายล่มลงด่อนที่จะตั้งเมืองเชียงใหม่ขึ้น ทางทิศตะวันตกห่างไปเพียงสองไมล์ มีทรากเมืองโบราณเล็ก ๆ เมืองหนึ่ง

ยอดดอยสุเทพสูง ๕,๕๐๐ ฟุต จากระดับน้ำทะเลปานกลาง และเจดีย์ซึ่งอยู่ที่ระดับสูง ๓,๕๑๐ ฟุต นั้น แต่ก่อนเคยเป็นที่จารึกแสวงบุญประจำ ชาวยุโรปเคยมาที่นี่บ้างเหมือนกัน แต่ถูกต่อต้านว่าเป็นการบุกรุก และคนที่นำทางมาก็ถูกลงโทษ บริเวณแถบนั้นมีน้ำใช้บริบูรณ์ พวกนักสอนศาสนาจึงสร้างสถานพยาบาลขึ้นในที่ใกล้ แต่ที่ตั้งที่เลือกไว้ให้ช้างป่าเหยียบย่ำทำลาย เนินเขานั้นมีต้นโอกขึ้นอยู่สะพรั่ง มีบริเวณที่ภูมิทัศน์งามน่าปลูกบ้านพักอยู่หลายแห่งด้วยกัน ลาดเขาด้านตะวันตก เป้นที่ทำไร่ชา (เมี่ยง)

ชาที่นี่ นับว่าเป็นพันธ์เดียวกับชาอัสสัมนั่นเอง แต่วิธีบริโภคไม่เหมือนกัน ทำให้การปลูกลี้ยงต่างกันไปด้วย บนภูเขาหลายแห่งมีต้นชาป่าขึ้นอยู่งอกงามเป็นจำนวนมาก แต่ชาที่นี่เว้นระยะห่างกันต้นละ ๖ ฟุต ไม่ต้องพรวนดินและปล่อยให้เจริญขึ้นจนถึงขั้น "ติดเม็ด"๑ ตามภาษาราชาที่อัสสัม ต้นชานี้มีอายุยืนได้ปีละ ๔ หน เมี่ยงหัวปี เก็บได้ราวเดือนกรกฏาคม เมี่ยงกลางราวเดือนกันยายน เมี่ยงสาวี (Sawi) ราวเดือนพฤศจิกายนและเมี่ยงม่อย (Moi) ราวเดือนมกราคม ใบที่เก็บได้จะนำไปนึ่งด้วยวิธีเดียวกับการนึ่งข้าวเหนียว ซึ่งเป็นหลักประจำถิ่น โดยใช้ภาชนะสานรูแกรวย เอาปลายด้านสอบใส่ลงไปในคอหม้อดินซึ่งใส่น้ำไว้ประมาณ๓/๔ เอาตระแกรงใส่ในนั้นอีกชั้น ล้วจึงวางตระแกรงบนใบไม้อีกทีพอนึ่งได้ที่ก็ปล่อยให้เย็น ซ้อนเข้ามัดแล้วเอาไปฝัง เวลากินก็เอาเกลือโรยแล้วม้วนเป็นก้อนกลมแข็งขนาดเท่าเม็ดถั่ว เคี้ยวดูดไปตลอดวัน ชาวบ้านถือเป็นยาชูกำลัง ทำให้อดข้าวได้เป็นเวลานานๆ จึงนิยมบริโภคเมี่ยงกันมาก แทบว่าวัวต่างม้าต่างจะไม่ได้บรรทุกสิ่งอื่นเลย พวกเจ้าลาวถือว่าเมี่ยงเป็นของหรูหราส่วนตัวทีเดียว ถึงแก่เคี้ยวเมี่ยงแทนหมากพลูด้วยซ้ำ

เจ้าพระยากลาโหม เมื่อครั้งเป็นมหาเทพ เคยอยู่ที่เมืองเชียงใหม่ถึง ๑๒ ปีและได้เป็นข้าหลวงไปปราบจลาจล หรือที่เรียกว่า กบฏ เมื่อครั้งก่อตั้งเมืองเชียงแสน ท่านเป็นคนเคร่งประเพณีและสุภาพ ชอบสนทนาทางปรัชญา และสังเกตุผลกระทบต่อผู้ฟังของท่านด้วย

เจ้าศัตรูเก่าคือความไข้ กลับมาจับข้าพเจ้าอีก ระหว่างที่เดินไปตลอดวันตามทางชั้นดีใกล้ๆแม่ปิง เส้นทางระยะแรกไม่ค่อยน่าสนใจนักจนกระทั่งไปถึงเชียงดาว (Chieng Dao) ซึ่งเป็นหมู่บ้านลักษณะแปลก มีรั้วค่ายไม้ไฝ่ปักรอบ ยอดเขาเชียงดาวสูงถึง ๗,๑๖๐ ฟุต เหนือระดับน้ำทะเล เป็นผาหินปูนล้วนขนาดใหญ่ชันลิ่วเกือบตั้งฉากข้นไปจากพื้นดินที่ราบประมาณ ๖,๐๐๐ ฟุต มองเห็นได้ชัดจากตัวเมืองเชียงใหม่ และชาวบ้านก็ไม่ยอมเชื่อว่ามีเขายอดไหนสูงกว่าเขายอดนี้ ทั้งๆที่ทางทิศใต้ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่สัก ๒ ไมล์ เท่านั้นคือยอดดอยอินทนนท์ (Doi Intanon) ซึ่งสูงถึง ๘,๔๕๐ ฟุต เหนือระดันน้ำทะเล และมองเห็นได้ชัดจากตัวเมืองนั้นเอง

ในด้านการเชื่อถือโชคลางนั้นชาวบ้านเชียงดาวนับว่าเคราะห์ร้ายกว่าเพื่อนร่วมถิ่นเป็นอันมาก นอกจากจะมีความเชื่อเรื่องวิญญาณภูติผีอย่างทั่วๆไปแล้วยังถูกชาวบ้านอื่นกล่าวหาว่าสังสรรค์กับในลักษณะที่เป็นอันตรายด้วย กล่าวคือ เป็นผีปอบ (Pi Pawb) แม้แต่ผู้ปกครองซึ่งเป็นเจ้าอนุวงศ์ เมืองเชียงใหม่ เมื่อจะเรียก ประชุมชาวบ้านยังต้องร่ายคาถากันภัยจากผีปีศาจ สถานการณ์ดังกล่าวนี้เป็นเหตุให้เจ้าพนักงานมีโอกาสใช้กกหมายหาประโยชน์แก่ตน เนื่องจากตามกฎหมายห้องถิ่นถือว่าคนที่ถูกผีเข้าสิงจะต้องออกจากหมู่บ้านไปอยู่ในที่ที่จัดไว้เฉพาะตามเขตชายแดน ซึ่งประชากรมักจะมีเรื่องวุ่นวายอยู่เสมอ ดังนั้นจึงเป็นอันว่าไม่จำเป็นต้องจัดหน่วยตำรวจไปประจำตามสถานที่ดังกล่าว พอใครล้มป่วยลงก็เชื่อว่าเพราะผีปอบมาเข้าดูดเลือดเนื้อ คนป่วยซึ่งถูกถือว่าจะต้องรู้ดีว่าผีนั้นมาจากไหนก็ถูกถามซักขนานใหญ่ ยิ่งเพ้อคลั่งมาก คำตอบก็จะเป็นที่พอใจมาก และถ้าออกชื่อใครคนนั้นก็จะถูกหมายหัวทันที บ้านก็จะถูกเผา ตัวก็จะถูกขับออกนอนหมู่บ้านให้ไปอาศัยอยู่ในนิคมของพวกผีปอบของผีปอบดังกล่าวมาแล้ว

เมื่อออกจากเชียงดาว ข้าพเจ้าได้พบสตรีชรา ๔ นาง กำลังเดินทางไปทั่วไปทำบุญที่ถ้ำตับเต่า (Tum Tab Tao) คนที่อ่อนที่สุดนั้นอายุเกิน ๖๐ ปีไปแล้ว ทุกคนแต่งขาวเหมือนนางชี เดินมาจากละคร และได้ไปถึงที่พระบาทสี่รอย (Prabat Si Roi) ทั้งยังบอกแก่ข้าพเจ้าว่าไม่เสียใจเลยหากเสียชีวิตในระหว่างเดินทางไปทำบุญ เพื่อเป็นการบรรเทาภาระข้าพเจ้าจึงขันอาสาขนของไปให้ และสัญญาจะพาไปส่งให้จนถึงที่ การที่หญิงชราสามารถเดินทางไปมาในท้องถิ่น โดยพักค้างแรมตามทาง บางที่ก็กลางป่าห่างไกลจากหมู่บ้านเช่นนี้แสดงว่ามีผู้ใช้เส้นทางดังกล่าวเป็นประจำ และนับได้ว่าปลอดภัย อย่างน้อยก็ไม่มีสัตว์ร้ายรบกวน

ยิ่งเข้าใกล้สันปันน้ำหลัก เราก็ยิ่งพบโขดหินปูนมากขึ้น บางแห่งสูงจากผิวดินราว ๑๐๐-๒๐๐ ฟุต ภาคเหนือของสยามมีโขดหินชนิดนี้อยู่มากทั่วไป เมื่อดูจากที่ไกลรู้สึกรู้สึกว่าเป็นอุปสรรคอย่างยิ่ง แต่พอเข้าใกล้ก็หาทางผ่านไปได้โดยสะดวกทุกคราว สันปันน้ำในไหล่ทางเดินมีถ้ำใหญ่เป็นที่อยู่ของผีร้าย พวกหนุ่มๆ ในคณะหาเรื่องสนุกโดยการโยนก้อนหินลงไปในถ้ำ แล้วคอยฟังเสียงหินกลิ้งก้องสะท้อนกลับมาจากที่มือ การเดินทางขาลงนับจากถ้ำนั้นไปถึงทุ่งราบเมืองฝาง และถ้ำตับเต่าไม่ลำบากนัก มีที่ลุ่มกว้างอยู่แห่งหนึ่ง พอเราไปถึงก็พอดีกำลังมีการตระเตรียมต้อนรับเจ้าหลวงเมืองเชียงใหม่ ซึ่งจะเสด็จมาทำบุญ ณ ที่นั้น การเดินทางด้วยขบวนช้างถึง 120 เชือก โดยมิได้มีการงดเว้นความสนุกสนานบันเทิงแต่อย่างใดนี้ จะเรียกว่าการจาริกแสวงบุญก็เห็นจะไม่ถูกต้อง นอกจากจะสนุกกับการเดินทางแล้ว บางคราวยังถึงแก่มีการล่าสัตว์เสียอีก เพราะท้องถิ่นนั้นมีสัตว์สำหรับไล่ล่าอยู่เสมอ ข้าพเจ้าส่งของสัมภาระให้แก่หญิงชรา แล้วก็ย่างเข้าในถ้ำซึ่งดูลักษณะไม่น่าชมเลย ภายในมีพระพุทธรูปอยู่หลายองค์ และมีซอกตรอกมืด ๆ ที่ว่าเป็นทางไปสู่สถานที่มหัศจรรย์ต่าง ๆ สารพัดชนิด

วันที่ 17 กุมภาพันธ์ เราก็เข้าถึงเมืองฝาง วันนั้นฟ้าแจ่มใส สว่างคุ้มกับที่ฝนตกหนักมาแต่ตอนกลางคืน ตัวเมืองมีรูปทรงแปลก และเก่าโบราณ มีคูรอบ และกำแพงทำด้วยอิฐเผาครึ่งดิบครึ่งสุกปรกอบกับพูนดินหนา 12 ฟุต แต่เดิมใช้เป็นเชิงเทิน (Crenellated) แต่ปัจจุบันมีต้นไม้อายุไม่ต่ำกว่า 60 ปี ขึ้นงอกงามอยู่เต็ม ตัวเมืองกลายเป็นป่าทึบเสียส่วนใหญ่ ๆ เห็นแนวถนนราง ๆ อยู่สักลายสองลาย ทุ่งนาโดยรอบกว้างขวางแต่ใช้ในการทำนาจริง ๆ เพียงส่วนน้อย เจดีย์ที่มีอยู่ 2-3 องค์ ก็พังทะลายเสียกว่าครึ่ง

ที่ทางแพร่ง มีอาคารรูปทรงประหลายอยู่หลังหนึ่ง ว่ากันว่าคนสร้างเป็นเจ้าลัทธิใหม่ คำสอนที่เป็นหลักของศาสนาคือ ชาวบ้านต้องไม่เชื่อฟังเครารพนับถือเจ้านาย ในตัวเมืองมีเนินเขาเตี้ย ๆ ลูกหนึ่งและวัดกับเจดีย์ปรักหักพัง แม่น้ำแม่จ่อย (Me Choi) ที่ไหลผ่านกลางเมืองนั้นต้นน้ำอยู่ที่ดอยผ้าห่มปก (Doi Pahom Pok) ซึ่งเป็นภูเขาใหญ่อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ พนักงานการสามเหลี่ยมของอินเดีย ได้กำหนดตำแหน่งไว้แล้ว ข้าพเจ้าจึงตั้งใจมั่นว่าจะเริ่มงานจากยอดเขานี้

เจ้าเมืองที่ท่าทางหงุดหงิดที่ขาดเงิน และบ่นว่าสาเหตุเนื่องมาจากเพี้ยปราบ (Pia Pap) และพวกโจรอีกเป็นฝูงที่เดินทางมาจากสาลวิน (Salwin) เที่ยวปล้นฆ่าตามทางหลวงในท้องถิ่นนี้ เพี้ยปราบเป็นผู้นำโจรบางกลุ่มที่นำพวกเข้ายึดเมือง โชคดีว่าชาวเมืองไม่มีใครเป็นอันตราย แต่หลายของเพี้ยปราบนั้นบาดเจ็บและถูกจับตัวได้ เจ้าเมืองบ่นว่าเขาไม่สามารถจะดำเนินการปกครองต่อไปได้ และว่าเจ้าหลวงเชียงใหม่ได้อนุญาตให้คนจาเมืองนั้นมาเก็บของป่าและจับปลา เขาจึงไม่สามารถเก็บภาษีคนเหล่านี้ได้



๒๕ พวกมูเซอ - เริ่มต้นการสามเหลี่ยม
ข้าพเจ้ากระตือรือร้นจะเตรียมการเรื่องดอยผ้าห่มปก และในเมือหัวหน้าเป่ามูเซอก็อยู่ที่ฝางในช่วงนั้นพอดี ข้าพเจ้าจึงถือโอกาสสอบถาม คำตอบแรกดูเหมือนว่าจะเป็นว่า "ไม่มีถนนนายไปไม่ได้หรอก" ข้าพเจ้าถามว่าแล้วเขามาได้อย่างไร ในเมื่ออายุก็มากแล้ว และทำไมข้าพเจ้าจะเดินทางไปทางเดียวกับเขาไม่ได้ "ใช่ ข้าอายุตั้งเก้าสิบห้าแล้ว" เขาคงอายุเลยหกสิบห้าแล้วจริง "แต่นายต้องไปเมืองหาง (Maung hang) ก่อน ถ้าอยากไปดอยผ้าห่มปก" ข้าพเจ้าตอบย้อนว่า "เมืองหางต้องไปอีกหลายวัน แต่ดอยผ้าห่มปกอยู่แค่นั้น" เขาหัวเราะคิดว่าเป็นเรื่องตลก แล้วก็บอกว่าจะดีใจมากถ้าข้าพเจ้าไปเยี่ยมหมู่บ้าน และจะช่วยเหลือทุกอย่าง

หลังจากนั้นเผ่ามูเซอทั้งกลุ่มมาเยี่ยมข้าพเจ้าครั้งหนึ่ง วิสกี้เพียงเล็กน้อยทำให้พวกเขาสนิทใจมากขึ้น คนหนึ่งฉวยปี่อ้อจากในย่ามมาเป่า แล้วทุกคนก็ร่วมกันเต้นระบำชาวเขา มูเซอชราพอใจการแสดงครั้งนี้มาก ทั้งกลุ่มนั้นอารมณ์ดีมากเมื่อลาไป และสัญญาอีกว่าจะช่วยเหลือทุกหนทางที่จะทำได้

วันรุ่งขึ้น ข้าพเจ้ารวบรวมคนได้เพียง ๑๐ คน ยืมช้างได้เชือกหนึ่งจากชาวฉานที่มาตั้งหลักแหล่งอยู่แถบนั้น แล้วก็ออกเดินทางไปหมู่บ้านมูเซอ คำว่า "ฉาน" นี้ คือเสียงพม่าที่เพี้ยนจากคำว่า "สยาม" แต่ในภูมิภาคสยามเหนือนี้ ใช้เป็นคำเรียกไทยที่มาจากสาลวิน ซึ่งชาวสยามเรียกว่า "เงี้ยว" หรือ "ลาว" ชาวลาวเองนั้นไม่ชอบคำนี้ แต่เรียกตัวเองว่า ไทย ข้าพเจ้าออกเดินทางแต่เช้าตรู สัมภาระทั้งหมดบรรทุกหลังช้าง ไม่ช้าก็ปีนขึ้นเขาไปตามทางที่ค่อนข้างสะดวก เมื่อขึ้นไปสูงถึงระดับ ๔,๐๐๐ ฟุต เหนือระดับน้ำทะเล ก็เข้าเขตที่โล่งกว้างชายหมู่บ้านมูเซอ พบผู้ชายสองสามคนกำลังโค่นต้นไม้ซุงต้นงามๆ ด้วยขวานทำเอง ท่าทางชำนิชำนาญ แค่ไม่ใยดีต่อสภาพของไม้เลน ซุงไม้พวกนั้นจะถูกทิ้งไว้ตรงที่ล้ม ๒-๓ เดือน แล้วก็ถูกเผาทิ้ง

หมอกเป็นอุปสรรคร้ายแรงกีดขวางการสำรวจ ยิ่งหากมีหมอกควันที่เกิดจากการเผาป่าเพิ่มเข้าอีกด้วยแล้วก็แทบว่าจะทำอะไรไม่ได้เลย ตอนที่เราไต่ลาดเขาขึ้นไประหว่างป่าต้นโอ๊ก อากาศสดชื่นดี พอตกเย็นก็พบมูเซอกลุ่มใหญ่ทั้งชายหญิง และลูกเล็กเด็กแดงพากันเดินข้ามลาดเนินมาพบเราที่ต้นทางเข้าหมู่บ้าน พวกเขาบางคนแบกหน้าไม้มาด้วย บางคนก็ถือปืนแบบโบราณ บางกระบอกก็เป็นปืนแบบที่เรียกว่า "Brown Besss" ซึ่งผลิตขึ้นตั้งแต่สมัยพระเจ้ายอร์ชที่ 3 ยังครองราชย์ มีตราหอคอยประทับเสียด้วย เราไปถึงหมู่บ้านตอนตะวันพลบ ทางช่วงที่ปืนจากธราน้ำขึ้นไปนั้นสูงราว 200 ฟุต และชันมาก ตอนที่ข้าพเจ้าเข้าที่พักใต้ต้นไม้เหนือหมู่บ้านขึ้นไปเล็กน้อยนั้น ก็เกือบจะมืดสนิทแล้ว เด็กเล็ก ๆ มากมายเปลือยกายวิ่งเล่นอยู่ทั่วไป ดูไม่สะอาดนัก แต่ซนอย่างยิ่ง และปืนเขาเก่งมาก เราต้มชาดื่มกัน ราว ๆ ห้าทุ่มเจ้าช้างชราที่น่าสงสารจึงได้ปรากฏโฉมหลังจากไต่ขึ้นเขามาด้วยความลำบาก เลยเกิดการตื่นเต้นกันเอิกเกริก เพราะไม่เคยมีช้างขึ้นไปถึงที่นั้นมาก่อนเลย

วันรุ่งขึ้น ข้าพเจ้ายังหยุดพักอยู่กับที่ และส่งช้างกลับเพราะหาอาหารให้มันได้ยาก หมู่บ้านนั้นอยู่ในชวากเขา สูงจากระดับน้ำทะเลราว 5,000 ฟุต ต้นไม้รอบ ๆ ถูกโค่นลงทั้งหมด เรือนทุกหลังสร้างบนยกพื้นไม้ไผ่ มุงหญ้า เฉพาะเรือนของหัวหน้าเป่ามีขนาดใหญ่กว่าหลังอื่น ๆ มีเรือนหลังหนึ่งสร้างอยู่ห่างจากหลังอื่นมาก ล้อมรั้วค่ายอย่างแน่นหนาแข็งแรง ห้ามคนแปลกหน้าเยี่ยมกราย ถือว่าเป็นเรือนผีและเป็นที่ประกอบพิธีบูชา ซึ่งจัดเป็นประจำอาทิตย์ละวัน เขาบอกว่าคนที่เข้าไปในเรือนนั้นต้องอดอาหารตลอดวัน แต่ข้าพเจ้าคิดว่าเรื่องนั้นเป็นกฎที่เพิ่งคิดขึ้นเพื่อกีดขวางความอยากรู้อยากเห็นของข้าพเจ้านั้นเอง พวกเขาบกว่าในเรือนนั้นมีแต่สมุดข่อยที่เป็นมรดกตกทอดมาแต่บรรพบุรุษ แต่เรื่องนี้ก็ต้องฟังหูไว้หูอีกเข่นกัน เพราะเห็นได้ชัดเจนว่าชาวบ้านกลุ่มนี้อ่านเขียนไม่เป็นเลย กล่าวกันว่าพวกมูเซอเหล่านี้ เดิมมาจากจีน และถ้าว่าตามปากพวกเขาเอง แต่ก่อนก็เคยเป็นนักรบผู้กล้าหาญ เคยออกศึกใหญ่มาหลายคราว เท่าที่เห็นนั้นพวกนี้ถูกกผลักดันให้ถอยลงใต้ ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องมีเรื่องการรบทัพจับศึกไว้สำหรับอธิบายให้เจ้าเมืองฝางยอมเชื่อว่าพวกตนมิใช่กองหน้าฝ่ายศัตรู พวกเขาจ่ายขี้ผึ้งเป็นภาษีจำนวนไม่มากนัก แล้วก็ได้รับอนุญาตให้ตั้งถิ่นฐานอยู่ได้

คนเหล่านี้ เป็นมนุษย์กลุ่มแรกที่เข้ามาบุกเบิกป่าดิบเป็นที่อยู่ แล้วเคลื่อนที่ต่อไปเรื่อย ชาวจีนนั้นกำลังทำนุบำรุงดินแดนของตนเองอยู่ และขยายถิ่นฐานออกไปข้างทิศตะวันตกและทางใต้ ทำให้ชายเผ่าต่าง ๆ ต้องพากันอพยพหลีกลี้ไปชั่ง 10 ปีที่ผ่านมา ชนเผ่าต่าง ๆ เหล่านี้ก็ได้กระจายกันไปตั้งหลักแหล่งอยู่ในป่าทึบทีมนุษย์อื่นยังไม่เคยเหยียบย่างมาก่อน

เพราะช้างที่มาด้วยนั้นเอง ข้าพเจ้าเลยกลายเป็นผู้มีเกียรติเป็นที่สนใจของชาวบ้านทั้งเด็กผู้ใหญ่ชายหญิง ต่างพากันมาแวดล้อมรุมดูกันใหญ่ ทุกคนถือกล้องสูบยาทำจากรากไผ่ แม้แต่ที่ยังเป็นทารกเล็ก ๆ ถูกแขวนห้อยติดหลังมารดายังแอบมองข้างหลังแม่มาดู

พวกผู้หญิงเกล้าผมขึ้นเป็นจุกกลางกระหมุ่อม คาดผ้ามีปีกเป็นแถบอยู่ข้างบน ที่หูแขวนห่วงเงินเส้นผ่านศูนย์กลาง 3-4 นิ้ว หนา 1 กระเบียด รอบคอสวมวงเงินเล็ก ๆ กับสร้อยปล้องไผ่ ซึ่งเป็นอาภรณ์ชิ้นสำคัญของพวกหล่อน ใช้สำหรับกันผีไม่ให้มาลวงไป ทุกนางสวมเสื้อแขนยาวและกระโปรง ตกแต่งด้วยลวดลายแปลกประหลาดรอบชาย ถ้าเป็นชนชั้นสูงก็จะใช้ดุมเงินเม็ดใหญ่ ๆ ด้วย

ชาวเขาเผ่านี้ถือธรรมเนียมผัวเดียวเมียเดียว ตามที่เล่านั้นว่า เดิมมาจาเมืองเข่ (Maung Ke) ในเขตปกครองของจีน แต่พอลงสอบถามดูแล้ว พอจะแน่ใจได้แต่ว่าพวกนี้น่าจะมาจากแว่นแคว้นเชียงตุงและเชียงรุ้ง ไม่เกินเขตแม่น้ำโขงขึ้นไปเลย

มูเซอทั้งหมดมี 11 เผ่าด้วยกัน ปิกี (Peki) ฟโช (Fcho) ห่ายเสีย (Hai Sia) โปลา (Pola) เกลลี (Kelli) กุลัว (Kulua) เวงคา (Wenga) มาจาเชียงตุง โฮดี (Hodi) นับเป (Namp) เลาเลา (Lawlaw) มาจากเชียงรุ้ง สิ่งที่เชื่อมั่นร่วมกันคือ ภูติผีประจำภูเขา ศพคนที่ตายเพราะโรคจะต้องนำไปเผา ถ้าตายจากอุบัติเหตุจึงนำไปฝั่ง เป็นธรรมเนียมเดียวกับที่ชาวลาวถืออยู่

ต้นชาป่าขึ้นงอกงามอยู่ทั่วไปบนภูเขา พวกมูเซอเก็บใบไปใช้ แต่ไม่ดูแลต้นพืชที่ข้างกระโจมพักของพักของข้าพเจ้าก็มีอยู่ต้นหนึ่ง เรือนพุ่มสูงจากพื้นดิน 2 ฟุต วัดรอบได้ 42 นิ้ว

ข้าพเจ้าจ้างชาวเขามูเซอได้จำนวนหนึ่งล้วนมีขวานติดตัว แล้วก็พาเขาไต่ขึ้นไปยังยอดเขาด้วย ภูเขาส่วนใหญ่ในเขตอินโดจีนนั้นหากบริเวณที่เป็นจุดยอดได้ยากกว่าที่จะแลเห็นเป็นอันมาก ป่าทึบมากจนมองภูมิประเทศรอบข้างไม่เห็น นอกจากจะปืนขึ้นไปบนต้นไม้ใหญ่บนยอดเขาสูง หน้าที่นี้ข้าพเจ้าเคยทำเองตลอดมา แต่ปรากฏว่าบัดนี้ความคล่องตัวเราลดลงไปกว่าแต่ก่อน ต้องตะเกียกตะกายน่าหวาดเสียวอยู่หลายหน บ่อยครั้งที่เคยพบว่าเราไม่ได้อยู่ที่จุดยอดเขาจริง ๆ มีที่ที่สูงกว่าอยู่อีกทิศหนึ่ง อาจจะห่างออกไปสักสองไมล์ เราก็ต้องฟันผ่าเดินทางต่อ บุกลอดซุ้มไม้เตี้ย ๆ ขึ้นเขาลงห้วยเรื่อยไป พลางก็ลังเลว่าถึงที่ต้องการแน่แล้วหรือเป็นสิบกว่าหน จึงบรรลุถึงจุดที่มุ่งหมายไว้

หากฝนตก การเดินทางก็ยิ่งลำบากหนักขึ้นเพราะรักษาฝีเท้าได้ยาก ซ้ำยังมีหมอกตกทึบจนมองไม่เห็นอะไรเลย เครื่องวัดความกดอากาศแบบอะนีรอยด์อันเล็กใช้ประโยชน์ได้ดีมาก เพราะช่วยให้เราหมดความวิตกกังวลและสงสัยได้หลายครั้ง ในเมื่อพอจะทราบความสูงของภูเขามาก่อนแล้วพอเป็นเค้า

อย่างไรก็ตาม ดอยผ้าห่มปกไม่ใช่งานยากนัก และเพียงวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ข้าพเจ้าก็ขึ้นถึงยอดเขา ทางด้านตะวันตกมีผาชันตั้งฉากอยู่แห่งหนึ่ง ทำให้ถางป่าได้ง่ายขึ้น และเราก็เริ่มงานทันที

วันที่ 25 กุมภาพันธ์ ทุกคนที่มาด้วยกันมีงานทำอย่างหนัก พวกมูเซอได้พิสูจน์แล้วว่าเป็นคนงานชั้นดี พอถึงเย็นวันที่ 26 ทุกอย่างก็เรียบร้อย ต้นไม้ถูกโค่นลงเรียบ ยกเว้นแต่ต้นไม้สัญญาณ 2 ต้น และเราก็พร้อมแล้ว แต่หมอกเริ่มตก ดูท่าว่าจะทำงานไม่ได้มีคนแปลกหน้าที่เรียกตัวเองว่า มูเซอสะเลง (Muser Saleng) แวะเข้ามา หน้าตาพวกนี้ดูเป็นจีน ผู้หญิงไม่นุ่งกระโปรง แต่สวมกางเกง

ลมตะวันตกเริ่มพัดแรง และข้าพเจ้าเริ่มจะมีหวังขึ้นเมื่อนึกถึงพยากรณ์อากาศของผู้ให้สัญญาณประจำกองสำรวจแห่งอินเดียงขึ้นมาได้ ผู้ให้สัญญาณชาวอินเดียคนนั้นมีความเชื่อว่าลมใต้และลมตะวันออกทำให้เกิดหมอก แตะลมตะวันตกและลมเหนือจะพัดหมอกไปพ้นได้ ในเขตหินปูนหมอกมักจะหนาเสียด้วย

น่าแปลกที่ต้องยอมรับว่า วันรุ่งขึ้นคือ 27 กุมภาพันธ์ นั้น อากาศดีแจ่มใสจนแลเห็นยอดเขาเชียงดาวอย่างชัดเจน ลองจิจูดของเชียงใหม่ได้เคยกำหนดไว้แล้วด้วยสัญญาณโทรเลข และเชียงดาวก็กำหนดแน่จากเชียงใหม่แล้วด้วย ข้าพเจ้าจึงปรารถนาเป็นอย่างยิ่งที่จะให้ได้ตำแหน่งแน่นอนของดอยผ้าห่มปก และเมื่อรังวัดละติจูดและอะซิมุทแล้ว ก็จะได้เริ่มโครงการสามเหลี่ยม ซึ่งจะได้ดำเนินการต่อไปจนรอบดินแดนสยาม พลโท อาร์.จึ.วูดทรอป (R.G. Woodtrope, R.E,C.B) ผู้ล่วงลับแล้วได้กรุณามอบค่า (การสำรวจของดอยผ้าห่มปกจากการสำรวจแห่งอินเดียให้แก่ข้าพเจ้า และข้าพเจ้าก็ได้ใช้เป็นพื้นฐานในการทำงานทั้งหมดมาตลอด

เมื่อมองดูทิวเขาที่มีป่าปกคลุมจนถึงยอดทอดแนวแน่นเนือง สลับซับซ้อนในภูมิประเทศอันกว้างไกลอยู่นั้น ข้าพเจ้าตัดสินใจว่าจะทำงานต่อให้ทั่วประเทศ แม้ว่าการสามเหลี่ยมจะเป็นงานใหญ่มโหฬารและทำให้สำเร็จได้โดยยาก แต่ถึงอย่างไรก็ยังเป็นวิธีการสำรวจที่ดีที่สุด มีที่พอตรวจสอบละติจูดและอะซิมุทและที่ราบกว้างพอที่จะวัดเส้นฐานก็มีอยู่ความลำบากอยู่ที่ประชากรเบาบางเหลือเกิน และป่าก็ทึบ หมอกตกหนาขึ้น แล้วซ้ำฝนตกจนทำงานสามเหลี่ยมไม่ได้ เราจึงใช้เวลาระหว่างนั้นรังวัดด้วยโซ่ และทำวงรอบด้วยเข็มทิศ



๒๖.งานที่เชียงแสน
เมื่อข้าพเจ้ากลับมาถึงเมืองฝางนั้น เจ้าหลวงเชียงใหม่เสด็จมาที่ถ้ำศักดิ์สิทธิ์เพื่อทำบุญ พวกมูเซอดอยผ้าห่มปกถูกตามตัวไปแสดงการเล่นถวาย หัวหน้าเป่ามูเซอเข้าเมืองอย่างมีพิธีรีตอง นั่งม้าเล็ก ไม่ใส่เสื้อเพราะอากาศร้อนและกางร่มสีทอง มีชาวเป่ามูเซอเดินเป่าปี่อ้อที่โปรดปรานตามมาติดๆ บ้างถือดายถือปืนก็มี ท้ายขบวนมีผู้หญิงคนหนึ่งแต่งตัวเต็มที่ ประดับประดาอาภรณ์ราวกับเป็นตัวแทนความสวยและความมั่งคั่งของลาวทั้งหมู่บ้าน เจ้าหลวงเชียงใหม่เสด็จมาโดยกระบวนช้าง ๒๐ เชือก ดอกเตอร์ ชีค ผู้บัดนี้ล่วงลับแล้ว ติดตามมาด้วย

มีการตระเตรียมจะล่าสัตว์ในทุ่งเมืองฝางกันด้วย ข้าพเจ้าร่วมขบวนไปกับดอกเตอร์ชีค ซึ่งพาช้าง ๒๐ เชือก สำหรับไล่ราวเก้งและหมูป่า แต่ข้าพเจ้าเกิดจับไข้ขึ้นเลยหมดสนุก แม้จะมีสัตว์ให้ล่ามากแต่เราก็ประสบผลสำเร็จไม่เท่าไร แถมกลุ่มหนึ่งยังถูกช้างป่าเกเรไล้พากันลำบากไปเสียอีก

เจ้าหลวงเสด็จออกจากเมืองฝางอย่างโก้หร่าน มีการเป่าแตรตีฆ้องกลอง พระองค์ประทับหลังช้างงาตัวมหึมา มีกระบวนทหาร ๕๐ นายนำหน้า และอีกเป็นกองร้อยตามมาช้างหลังล้วนถือหอก ชายาที่โปรดหลายนางก็นั่งช้างตามภายในขบวน

พระสฤษดิ์มาถึงเมืองฝางเอาตอนนี้พอดี เขาทำงานได้สำเร็จเป็นผลดีมาก ความนี้นับว่ามีสุภาพบุรูษสยามอยู่กับข้าพเจ้าถึง ๘ นายด้วยกัน ข้าพเจ้าเตรียมการจะส่งแต่ละคนแยกย้ายกันไปวัดทางในทิศต่างๆ กัน แล้วนัดไปบรรจบที่เชียงแสน

วันที่ ๑๕ มีนาคม ข้าพเจ้าเริ่มทำงานวงรอบจากเมืองฝาง แต่หมอกตกหนามากบนภูเขา กระทั่งว่าห่างออกไปเพียงสองไมล์ก็มองอะไรไม่เห็นเสียแล้ว ข้าพเจ้าผ่านหมู่บ้านชาวเงี้ยวหลายแห่งซึ่งอพยพมาจากเชียงตุงก็มี เมืองหางก็มี เมืองตูม(Maung Tum) ก็มีบ้าง ล้วนเป็นกองระวังชายแดนอย่างดีตามที่เชื่อกัน ก่อนที่อังกฤษจะเข้ายึดครองแคว้นฉาน ประชาชนพวกนี้ไม่อยู่กันอย่างสงบสุข แต่ต้องกระจัดกระจายแยกย้ายกันไปทุกทิศทาง พวกที่ระวังเหตุตามชายแดนเหล่านี้ยากจนมาก ต้องหาของป่าเลี้ยงชีพ ปลูกกระท่อมมุงหญ้าอาศัยอยู่ไปพลาง ระหว่างถางป่าเอาที่ไว้เตรียมทำนาในปีต่อไป

เมื่อปีก่อน เพี้ยปราบเคยหนีมาตามทางนี้ ผู้ที่ติดตามมาได้เผากระท่อมที่อยู่ ณ เมืองยอน (Maung Yawn) และเวียงเข่ (Wieng Ke) คนละฝากน้ำกก(nam Kok) เสียราบไป มีแต่ทางเดินเท้าเลาะลัดผ่านป่าไผ่ทึบ ยิ่งข้าพเจ้าเป็นไข้ ก็ยิ่งไปได้แต่ช้าๆ บุกผ่าฝ่าดงขึ้นเขาลงห้วยเรื่อยไป

วันที่ ๒๔ เกิดพายุฟ้าคะนอง และมีลูกเห็บก้อนโตๆ ข้าพเจ้าได้ลองเก็บมาตรวจดูลูกหนึ่งลักษณะคล้ายสตรอเบอรี่ ด้านที่กว้างออกจะเหลวแค่ด้านอื่นๆ ขรุขระ ราวกับเป็นลูกเห็บสี่ห้าก้อนเกาะตัวรวมกันอยู่ เส้นผ่าศูนย์กลาง ๑ ๑/๔ นิ้ว อากาศระยะนั้นเย็นลงแต่ชาวบ้านซึ่งห่วงที่ทำกินเริ่มเผาป่า การโค่นถางนั้นเสร็จไปหลายเดือนแล้ว ไม่ที่ตัดไว้กิ่งแห้งดี พอเผาก็ไหม้หมด ได้ขี้เถ้ากับปุ๋ยอย่างดี ควันที่โขมงรวมเข้ากับหมอกที่ไมให้มองอะไรไม่เห็นนอกจากดวงอาทิตย์ ซึ่งทอแสงสีแดงมัวๆ

พวกฉานเมืองยอนคงจะเป็นคนซื่อ หากเราสามารถถือจะลักษณะของคนคนเดียวเป็นตัวแทนของคนทั้งท้องถิ่นได้ ที่เมืองนั้น ข้าพเจ้าหาคนนำทางได้คนหนึ่ง ส่งเงินให้เขา ๑๐ รูปี แล้วสั่งให้ไปซื้อข้าว เขาหายตัวไปทั้งวันจึงขนข้าวกลับมาพะเนินเทินทึกนับว่าราคาถูกอย่างยิ่ง อันที่จริงเขาจะหนีกลับไปบ้านเสียก็ได้ถ้าหากว่ามีนิสัยโจรอยู่บ้างแม้แต่น้อย

ข้าพเจ้าถึงเมืองตูม ในวันที่ ๒๘ ไข้จับเสียแทบยืนไม่อยู่ หัวหน้าชาวบ้านสองคนมาหาแบะอธิบายอย่างสุภาพว่า เมืองตูมขึ้นอยู่กับเชียงตุง ข้าพเจ้าชี้แจงว่าไม่ได้มาสอบเรื่องการตั้งถิ่นฐาน แต่มาสำรวจเขตแดนเท่านั้น พอกางกระโจมเสร็จข้าพเจ้าก็รีบเข้านอนเพราะอาการไข้รุนแรงขึ้นทุกที

เมืองตูมเป็นที่ราบชั้นดี อยู่ต้นน้ำสายมียอดเขาสูงแวดล้อมรอบด้าน ซึ่งพวกมูเซออาศัยเป็นที่ทำกิน ชาวเมืองเป็นเผ่าเขิน (kern) ได้ชื่อว่าเป็นเผ่าชนที่ดีที่สุดในแคว้นฉานตลอดบ่ายวันนั้นผู้หญิงและเด็กจำนวนมากล้วนแต่งตัวดี พากันเอาขนม น้ำตาลอ้อย และไข่มาให้เรา ทุกคนยิ้มแย้มเมื่อเล่าให้เราฟังว่าได้เดินทางมาไกล

ธนาคารแห่งประเทศอังกฤษย่อมไม่อาจยินยอมให้เกิดเรื่องเช่นนั้นกับข้าพเจ้าเป็นแน่ ยังไม่ทันสิ้นวันก็มีคนสักเป็นลวดลายจากคอไปถึงสันเท้ากลุ่มหนึ่งโผล่เข้ามาพบเรา คนหนึ่งบอกว่าตนเป็นเจ้าเมืองกวาน (Maung Kwan) ท่าทางดุเดือดมาก บอกให้ข้าพเจ้าถอยกลับไปเสีย เพราะไม่มีวันที่จะอนุญาตให้ข้าพเจ้าไปยังเมืองกวานได้ พ่อเมือง(ตูม) บอกแก่ข้าพเจ้าว่า ชายนั้นอยู่ฝั่งอยู่ฝั่งตะวันตกของลำน้ำสาลวิน เคยอยู่ในกลุ่มนักผจญภัยชื่อ เตวต นาลู (Twet Nalu) ผู้ที่เคยก่ออาชญากรรมไว้มากมาย เจ้าเมืองเชียงตุงเคยจ้างเขาไว้เป็นทหารพักหนึ่งก่อนที่เขาจะก่อคดีฆาตกรรมขึ้นหลายครั้งที่เมืองไล และเมืองลิน หรือ เล็ม(Maung Lim or Lem) อนึ่ง ลูกน้องของชายผู้นี้ได้เข้าตีปล้นพ่อค้าที่มาจากหนองคายในเดือน มกราคม - เดือนกุมภาพันธ์ ๑๘๘๙

หมู่บ้านหลายแห่งในถิ่นแถบนี้ เป็นนิคมโจร เพราะทางการบ้านเมืองมีนโยบายที่จะให้พวกโจรอยู่ตามชายแดน ทำหน้าที่ระวังภัยสงครามไปด้วยในตัว พ่อค้าที่ข้าพเจ้าได้พบที่นี่เป็นชาวแคว้นฉานเชื้อจีน (ชาวจีนแคว้นฉาน) และเข้าข้างจีนอย่างเต็มที่ที่เดียว ระหว่างต่อรองราคาดาบอย่างสนุกสนาน ข้าพเจ้าได้มีโอกาสเรียนรู้เรื่องวิธีการปกครองของจีนให้แจ่มแจ้งไปด้วย

ข้าพเจ้าได้รับคำบอกเล่าว่า เวลาที่มีข้าราชการเดินทางมาหยุดพักในหมู่บ้าน ชาวบ้านจะต้องเอาอาหารมาให้สำหรับพอกินกันทั้งคณะชั่ว ๓ วัน แต่หลังจาก ๓ วันไปแล้วพวกที่มาต้องจ่ายเงินค่าอาหารเอง ข้อที่ทำให้เป็นทุกข์นั้นมีอยู่แต่ที่ว่า ท่านหัวหน้าคณะข้าราชการจีนคนนั้นเรียกร้องให้ชาวบ้านช่วยหามคานหามที่ตัวนั่ง

พ่อค้าชาวจีนแคว้นฉานคนหนึ่งอยากเป็นปืนของข้าพเจ้า และอยากลองยิงดูสักนัดหนึ่ง แต่ดูไม่ค่อยตื่นเต้นนักที่ได้เห็นปืนบรรจุท้าย เขาออกจะชอบใจเสียงของมัน แต่เมื่อส่งปืนคืนนั้นได้บอกว่า ในเมืองจีนมีปืนดีกว่านี้ยิงได้ถึงคราวละ ๑๐ นัด ตามที่ข้าพเจ้าสังเกตดูเหมือนคนไทยเชื้อจีนจะพูดภาษาสยามได้ชัดเจนกว่าพวกฉานจากลุ่มน้ำสาลวิน

พระพุทธรูปองค์หนึ่งกำลังหล่ออยู่จวนเสร็จ เขาเอาเงินที่อุทิศมาเข้าบรรจุในพระอุระ พ่อเมืองมอบคนนำทางให้ข้าพเจ้า ๔ คน ซึ่งได้อาศัยเป็นผู้ป้องกันภัยในตัว แล้วเราก็เดินทางไปเมืองกวาน ระหว่างทางได้พบคนกำลังขุดหาทอง ที่ตั้งเมืองกวานนั้นนับว่าวิเศษมาก มีเนินเขาสลับซับซ้อนและทุ่งนากว้างไกล ข้าพเจ้ากางกระโจมพักที่ริมแม่น้ำและไม่ได้เห็นหน้าคนที่มาขู่ข้าพเจ้านั้นเลย พวกที่มาตั้งหลักแหล่งที่นี่มาจากแถบสาลวินล้วนเป็นอาชญากรตัวกลั่นทั้งสิ้น กลุ่มใหญ่ที่มาแวะเวียนอยู่รอบค่ายพักของเรานั้นสักลายคลอดตัวจากหัวจดเท้า ข้าพเจ้าสังเกตเห็นเด็กคนหนึ่งอายุราวสัก ๑๐ ขวบ มีสมุนรุ่นๆ ตามหลังกว่า ๒๐ คน มีคนบอกว่าเด็กคนนี้เป็นลูกชายของ เตวด นาลู นักผจญภัยแห่งลุ่มน้ำสาลวิน เมื่อออกจากเมืองกวานนั้นข้าพเจ้าไปตามรอยทางเดินข้ามเทือกเขาไปถึงแม่น้ำสายแต่มีสิ่งกีดขวางมีมาก เพื่อให้พวกปล้นหนีได้โดยสะดวก ทางของเราทอดผ่านที่บุกเบิกของพวกกาว (Kaw) และหมู่บ้านอีกหลายแห่งที่ร้างแล้ว เรือนทั้งนั้นมีขนาดใหญ่และยังมั่นคงดี แต่พวกกาวไม่เคยอยู่ที่ไหนนาน พอมีคนตายลงสักคนสองคนก็หาว่ามีผีร้ายให้โทษต้องรีบย้ายถิ่นฐาน

ข้าพเจ้าไม่อาจพบปะกับใครได้เลย ที่ข้างทางห่างลำธารสัก ๕๐ หลา ข้าพเจ้าเห็นหญิงชราหอบของมาเต็มหลัง กำลังกวาดลานที่ตอนนั้นมีเถ้าถ่านตอไม้ระเกะระกะ แกพาเด็กมาด้วย ๒ คน แต่พอเจ้า ๒ คนนั้นเหลือบเห็นข้าพเจ้าเท่านั้นก็โกยอ้าวเข้าแฝงพงไม้วิ่งหยอยๆ ตามกันไปเหมือนลูกลิงโดดไปตามต้นไม้ ทิ้งหญิงชราไว้ตามลำพังเป็นพักๆ นานๆ ก็เข้ามาอ้อนเสียหนหนึ่ง ตาดูเหมือนหญิงชราจะไม่ได้โต้ตอบด้วยดีเท่าไรนัก

ข้าพเจ้าได้พบมูเซอกลุ่มหนึ่งเดินทางมาจากด้านตะวันออกของลำน้ำแม่โขง ต้อนควายมายังเมืองกวาน ควายนั้นได้ยืมมาจากเพื่อนๆ ที่เมืองแหลม (Maung lam) จึงเป็นค่ายร้างอยู่ติดกับวัดซึ่งร้างเช่นเดียวกัน ทั้งค่ายและวัดนี้สร้างขึ้นพร้อมกันเพื่อกำหนดหมายตำแหน่งสำหรับเรือนระวังภัย (Guard House) สันติและสงครามถูกสถาปนาขึ้นในที่เดียวกัน และเสื่อสำเร็จสมดังความประสงค์แล้วก็ถูกทอดทิ้งไปดุจกันเช่นนั้น

จากจุดนี้ เราก็เดินทางผ่านทุ่งราบเชียงแสน ซึ่งแลโล่งเกือบตลอดเพราะน้ำท่วมเพิ่งลด คงเหลือแต่ต้นไม้ประเภททนทาน เมื่อเข้าใกล้ตัวเมืองเชียงแสน เราได้เห็น หนอง บึง ปลัก ตม เป็นจำนวนมาก เมืองนั้นมีเนินเขาล้อมรอบ ล้วนแต่มีชื่อเสียงในพงศาวดาร เจ้าเมืองผู้ชราซึ่งออกจะมีอาการประสาทหวั่นไหวง่าย ตื่นเต้น เห็นได้ชัดว่าเกลียดชัง ปลัดเมืองอย่างมากนั้น ก็มีตำนานส่วนตัวที่แปลกประหลาดมากมายหลายเรื่อง

ทางทิศใต้ เลยแนวเขาออกไปประมาณ ๖ ไมล์ มีบึงใหญ่ปลาชุม ทิศตะวันออกคือแม่น้ำโขง และพื้นดินก็อุดมสมบูรณ์ สภาพการดำรงชีวิตของประชาขนจึงสะดวกสบายชาวสยามทุกคนทำนาเก่ง ที่มีฐานะก็ชอบทำสวนผลไม้ ทำความอุดมของดินให้เกิดผลสะพรั่ง

เชียงแสนมีชื่อเสียงในเรื่องการสร้างพระพุทธรูป ซึ่งบางองค์ใหญ่มากและงามมากด้วย ครั้งหนึ่งนิยมปางที่เรียกว่า "ขัดสมาธิเพชร์ (Katamapet)" ซึ่งชาวสยามยกย่องว่าเป็นแบบโบราณและขนาดพอเหมาะ เลยขนลงไปรักษาที่บางกอกหลายองค์ การนำพระพุทธรูปชำรุดมาหล่อใหม่นั้นทำไม่ได้ เพราะถือว่าเป็นการดูหมิ่นในศาสนา คนที่อยู่ในตัวเมืองเกือบทั้งหมดเป็นข้าราชการ ชาวบ้านที่อพยพจากลำพูนมาตั้งถิ่นฐานที่นี่ส่วนใหญ่อยู่ตามหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ประปรายในทุ่งราบ มีชีวิตที่แสนจะสะดวกสบายไม่ต้องเสียภาษี จึงชักจูงให้ทำงานได้ยาก

บุตรชายของเจ้าเมืองมาหา และบอกข้าพเจ้าว่า พวกสำรวจอินเดียจะเดินทางมาที่นี่ซึ่งข้าพเจ้าก็คิดว่าอาจเป็นไปได้ในเมื่อคณะนักสำรวจประเทศอินเดียก็กำลังทำงานอยู่ในบริเวณใหล้เคียง หลังจากที่สำรวจเขตแดนเรียบร้อยแล้ว แต่ออกจะแปลกใจมากที่ได้พบชาวยุโรป ๒ นาย คือ ม. วาคล์ (M.Vacle) และ ม.มาสซี (M.Massie) ม.มาสซี่ มาจากหลวงพระบาง จะไปเมืองสายหรือไซ (Sai) แล้วเลยต่อไปไร่ชาที่ต้นน้ำอูไอบัง (Ibang) และไอวู(Iwu) ส่วน ม.วาคส์ ที่สมทบมาด้วยนั้น เป็นชาวมณฑลตังเกี๋ย ทั้ง ๒ คน พากันไปที่เชียงฮุ่งมาแล้ว แต่ก่อนที่จะไปถึงที่นั้น มิสเตอร์สกอตต์ก็ได้ออกเดินทางต่อไปเชียงตุงเสียแล้ว

เขามาเชียงแสนผ่านทางเมืองแหลม และตื่นเต้นกับการเดินทางมากพอใช้ แต่ก็ออกจะผิดหวังที่พบว่านักสำรวจชาวอังกฤษได้เคยผ่านมาทางนี้ก่อนหน้าเขาแล้ว เขามีเหรียญตราที่ฝรั่งเศสออกให้ใช้ในเขตอาณานิคม (Piece de Commerce) ติดมาด้วย ขนาดสักเท่าเหรียญดอลลาร์เมกซิกัน แต่ปรากฏว่าใช้ไม่ได้ ข้าพเจ้าจึงขอแลกเหรียญเอาไว้ดูสักสองสามเหรียญคิดว่าเหรียญพวกนี้คงไม่แพร่หลายเท่าใดนัก ไม่เหมือนเหรียญรูปีซึ่งไม่กี่มานี้ข้าพเจ้ายังได้เห็นใช้กันตลอดขึ้นไปถึงอ่าวตังเกี๋ย

ชาวฝรั่งเศสทั้งสองตื่นตระหนกกับโรคสัตว์ที่กำลังระบาดอยู่เป็นอันมาก เพราะคาดว่ามันจะแพร่กระจายไปทั่วทุกสารทิศ วันที่ ๒๐ เมษายน เขาก็ออกจากเชียงแสน ล่องเรือไปหลวงพระบาง แต่ระหว่างที่อยู่เชียงแสนด้วยกันก็นับได้ว่าเป็นเพื่อเดินทางที่ดีพอควร



๒๗. ทำงานอย่างยากเข็ญ

นอกจากที่ว่า ข้าพเจ้าต้องทนทุกข์เพราะไข้ป่ารุมเร้านับเป็นเดือนๆ แล้วอุปสรรคต่อการสำรวจก็ยังตามมาอีกหลายประการ พระสฤษดิ์ฯ มาบอกแก่ข้าพเจ้าว่าหาเขาที่ข้าพเจ้าชี้ให้ไม่พบ เพราะหมอกหนาจนมองอะไรไม่เห็น นายทาหรสยามอีกผู้หนึ่งรายว่าพนักงานตัดไม้หนีไปหมด ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร ฝนเริ่มตกลงมาแล้วหมอกค่อยจางลงไปมากข้าพเจ้าจึงรวบรวมสติกำลังเดินทางออกจากเชียงแสนในวันที่ ๒๖ เมษายน ไปหยุดที่เนินเขาเล็กๆ ชื่อดอยผาเลา (Doi Palao) และสั่งให้ตัดต้นไม้ เพื่อให้พวกหนุ่มๆ ได้เคยชินกับงานที่ละน้อย เตรียมตัวไว้สำหรับงานหนักที่จะตามมาคืองานที่ยอดเขา ซึ่งจะต้องจัดการกับต้นไม้ขนาดมหึมาทั้งนั้น

ที่บ้านแม่จัน (Ban Mechan) อันเป็นจุดร่วมทางจากถิ่นเหนือมาเชียงใหม่ ข้าพเจ้าตื่นขึ้นวันหนึ่งก็พบว่าพวกคนงานหนุ่มๆ หนีไปหมด เจ้าเมืองเชียงแสนก็กำลังจะไปเชียงใหม่ แต่พอข้าพเจ้าชี้แจงว่าเขาไม่ควรทิ้งเมืองให้ปราศจากเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบ แต่ควรจะรออยู่ช่วยข้าพเจ้าในระหว่างที่อากาศยังดีอยู่ เขาก็ยินยอมเห็นด้วย

วันที่ ๑ พฤษภาคม ข้าพเจ้าหาคนได้พร้อมตอนเที่ยงจึงออกเดินทาง ตกเย็นก็หยุดพักที่พุน้ำร้อน พุเหล่านี้เป็นที่น่าชมที่สุดเท่าที่ข้าพเจ้าได้เคยเห็นมาในสยาม ที่อื่นๆ นั้นน้ำปุดขึ้นมาเพียงที่ผิวดิน แต่ที่นี่น้ำร้อนขนาดเดือดพุขึ้นมาจากรอยหินแตกสูงถึง ๒ ฟุต โดยรอบมีเสียงอื้อสนั่นเหมือนเสียงเครื่องปั่นไฟขนาดเล็กหลายๆ เครื่อง พุหนึ่งนั้นเป็นน้ำกำมะถันธรรมชาติ

ระหว่างเดินทางอยู่ในแม่จัน เราละให้บรรดาโอรสเจ้าหลวงพร้อมด้วยขบวนม้าและช้างรออยู่เชิงเขา แล้วไต่ทางผ่านหมู่บ้านมูเซอ ไปพักแรมคืนที่หมู่บ้านร้างที่พวกชาวเมืองงำ (Maung Ngam) เคยมาพักอยู่หลังจากบ้านเรือนประสบอัคคีภัย เมื่อปีกลาย

วันต่อมาเราต้องทำงานหนัก ถางทางฝ่าดงทึบ พอถึงพลบค่ำก็ลงไปหาน้ำ ป่าทึบเหลือเกิน หุบเขาก็ทั้งสูงและชันจะหารที่กางกระโจมพักสัก ๖ ตารางฟุตก็ทั้งยาก
ในระหว่างกลางคืน มีเสือตัวหนึ่งเข้ามารบกวนอยู่เรื่อยๆ ต้องตระโกนไล่กันเสียงหลง ฟังดูไม่รู้ว่ามีใครถูกมันคาบไปบ้างหรือเหล่า ข้าพเจ้าใจหิ้วใจแขวนค่าที่เคยเสียลูกหาบไปคนหนึ่งด้วยวิธีนั้น ครั้งทำงานในคาบสมุทรมลายู แต่โชคดีว่าคราวนี้ไม่มีใครเป็นอะไรไป

ในตอนเช้า คนทำทางเผ่ามูเซอแกะรอยกลับไปหมู่บ้านของตน เราจึงออกเดินทางต่อไปเอง ไม่มีใครเสียดายมากนัก เพราะพูดกันไม่ค่อยเข้าใจ ช้ำพาเราไปผิดทางบ่อยๆด้วย

ป่าไผ่ชนิดลำเล็กนั้นทึบมากทีรอยทางสัตว์ป่าเดินอยู่ทั่วไป ดูจะมีพวกวัวป่าชุกชุมต้นชาผ่าขึ้นอยู่ทั่วทุกหนแห่งหน ต้นไม้หลายต้นมีรอยขวานสับฟันด้วยฝีมือของนักเดินทางก่อนหน้าเรา ทำให้รู้ว่าเขาไปทางไหนกัน เราพยายามที่จะขึ้นให้ถึงจุดสูงสุดของเทือกเขาลักษณะฟันปลาเทือกนี้ แต่ทั้งหมอกและฝนเป็นอุปสรรคกีดขวาง และข้าวของเราก็เหลือน้อยพอเราถางยอดเขาที่คิดว่าสูงที่สุดเสร็จลง หมอกก็ยกเผยให้เราเห็นยอดที่สูงกว่าอยู่ไกลออกไปไม่ถึงไมล์ แต่ในช่วงระหว่างนั้นมีหุบเขาชันขวางอยู่ ต้องใช้เวลาวันเต็มๆ จึงจะข้ามพ้นเราจึงคิดว่ายอดเขาที่เรายืนอยู่ซึ่งอยู่ในเทือกที่มีชื่อว่าสามเส้า (Sam Sao) ก็คงจะพอใช้การได้ในกรณีนี้

เกิดมีเรื่องยุ่งยากเล็กน้อยเกี่ยวกับตะเกียงส่องที่ใช้ที่ใช้ในการรังวัดอาซิมุท ในเมื่อข้าพเจ้าสามารถวางระยะห่างสูงสุดได้เพียง ๓๐๐ หลาเท่านั้น มีเสือตัวหนึ่งเที่ยวมาวนเวียนอยู่พลางก็คำรามทำให้คนถือตะเกียงหวาดหวั่น และข้าพเจ้าต้องทำการรังวัดอย่างรีบร้อน

ต่อจากนั้น เราต้องเดินทางไปยังภูเขาชื่อ บ้านแสนป้อม ( Ban Sen Pom ) ซึ่งมีหมู่บ้านมูเซออยู่บนยอด คราวนี้คนครัวชาวจีนของข้าพเจ้าเป็นคนก่อเรื่อง เขาบอกว่าตัวเองถูกผีสิง แล้วก็หลงป่าไปเที่ยวละนานๆ ครั้งหนึ่งหายไปตลอดคืน ข้าพเจ้าจึงหาทางส่งเขากลับไปเชียงราย

ระยะนี้ ข้าพเจ้าเองเกิดมีอาการที่น่ารำคาญเป็นอย่างยิ่ง คือทั้งอาเจียนและปวดร้าวจนต้องลงนอนพักข้างทางเป็นระยะๆ ทำให้การเดินทางยิ่งลำบากมากขึ้น

บนเนินเขามีต้นไม้ตระกูลปาล์มอยู่มาก ดูเหมือนจะเป็นชนิดที่ฮัมโบลท์ ( Hum-boldt ) เคยพรรณนาไว้ มันออกผลเป็นช่อ ช่อหนึ่งหลายร้อยผล ชาวบ้านใช้เป็นอาหาร โดยไม่เคยรู้ว่ามันมีน้ำคั้นรสอร่อยดังที่ฮัมโบลท์ ได้เคยยกย่องไว้

ชาวบ้านถือโชคลางห้ามเราห้ามไม่ให้ขึ้นไปถึงยอดเขาซึ่งถือว่ามีผีสิง และทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือมีแอ่งลึก ๑๒ ฟุต วัดรอบได้ ๔๐ ฟุต กล่าวกันว่าเป็นเหมืองเงินที่เลิกใช้แล้วต้นไม้ที่งอกคลุมอยู่อายุไม่ต่ำกว่า ๓๐ ปี

ที่นี่ก็เช่นเดียวกับหมู่บ้านมูเซอแห่งอื่นๆ ที่มีเด็กมากมายเหลือนับ เปลือยกายวิ่งเล่นอยู่ทั่วไปจนตัวมอมเพราะผงถ่านไม้ที่ถูกเผา ข้าพเจ้าแลเห็นชายคนหนึ่งกำลังส่องดูเงาของตัวเองด้วยกระจกเงาที่ติดฝากล่องยาสูบ จึงขอยืมกระจกนั้นมาให้เด็กคนหนึ่งส่องดูบ้าง เจ้าหนูนั้นเห็นหน้าตัวเองเข้าก็วิ่งอ้าวราวกับกระต่ายป่า ไปล้างหน้าที่พุน้ำประจำหมู่บ้าน พวกเด้กๆ เหล่านี้เป็นนักสะสมแมลงเต่าทองชั้นหนึ่งที่เดียว วิธีจะซื้อของที่พวกเขาเอามาอวดก็คือแลกด้วยเหรียญโคโลนีฝรั่งเศสที่ข้าพเจ้าติดกระเป๋าอยู่นั่นเอง หมู่บ้านนั้นแสนที่จะรกรุงรังดีแต่ว่าตั้งอยู่บนยอดเขาและมีลมพัดแรงตลอดเขตทุ่งราบเตริง(Tering)พะเยา (Pao Yao) และเชียงราย จึงทำให้พิษต่ออนามัยน้อยกว่าที่น่าจะเป็น

พวกมูเซอปลูกฝ้าย ข้าวโพด ปอ และข้าวพันธ์ที่เรียกว่า "ข้าวเจ้า" แตกต่างหากจากข้าวเหนียว ซึ่งอันที่จริงก็เป็นอาหารของทั้งเจ้าและไพร่ ชื่อของข้าพเจ้าทำให้คนของเรางงงวยพอดู โดยเฉพาะพวกที่มาจากเชียงแสนยิ่งรู้สึกน้อยใจว่าตนเป็นชาวลาว ได้กินข้าวเจ้าแต่อย่างที่ไม่ดี ในป่ามีมะม่วงป่าอยู่มาก ทั้งผลไม้อื่นๆอีกด้วย เป็นประโยชน์แก่เรามากในระหว่างเดินทางไปนางแล (Nangle) เพราะตอนนั้นเสบียงชักจะขาดแคลนเข้าแล้ว

นอกจากนางแลจะแลเห็นภูมิประเทศโดยรอบได้อย่างดี แต่ยอดเขานั้นเป็นที่ราบกว้างการตัดต้นไม้ใหญ่ให้หมดนั้นเป็นงานหนัก ข้าพเจ้าเหลือไว้สัญญาณ ๒ ต้น แล้วจึงลงทางเชียงรายเชื่อมกับดอยธาตุทอง (Doi That Thong)

เชียงรายเป็นเมืองมีกำแพงอ้อม และเล่ากันมาว่าเก่าแก่มาก เจ้าเมืองผู้ชราป่วยอยู่ สภาพเมืองจึงดูแทบจะร้าง ต้นไม้ขึ้นแน่นเป็นป่า เราประสบอุปสรรคอย่างมาก เนื่องจากข้าราชการไม่ยอมให้คนมาช่วยงาน และไม่ขายข้าวให้เรา ทั้งยืนยันว่าไม่ยอมให้ตัดต้นไม้บนยอดเขา

ยังมียอดเขาสูงอีกยอดหนึ่งที่ข้าพเจ้าต้องขึ้นไปก่อนจะหยุดในฤดูนั้น รุ่งขึ้นข้าพเจ้าจึงออกจากเชียงรายข้ามช่องเขาซึ่งอยู่ต่ำจนแทบมองไม่เห็นไปตั้งค่ายแรมคืนที่บ้านแม่จัน ซึ่งสามารถมองเห็นดอยต่างๆ ได้ชัดเจน ดอยตุงเป็นภูเขาสูงซึ่งบนยอดมีพระเจดีย์ในสมัยก่อน ยอดสูงสุดของเทือกเขาที่เรากำลังจะขึ้นไปนั้นชื่อช้างหมอบ (Chang Mup) เราบุกปั่นผ่านหมู่บ้านหัวไล (Hue lai) ไปพักแรมที่เชิงเขา ได้พบคนจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นหญิงกำลังล้างทองอยู่ภูเขานี้สูงกว่า ๔,๐๐๐ ฟุต นับว่าเกินเขตมาเลเรีย มีต้นโอ๊กมากและมองลงมาเห็นภูมิแประเทศตลอดจนทุ่งราบเชียงแสน และเทือกเขาที่อยู่ถัดไป

ข้าพเจ้ากลับมาถึงเชียงแสนในวันที่ ๗ มิถุนายน และรู้สึกโล่งอกที่ได้เข้าพักในบ้านที่น่าสบายหลังหนึ่ง ความยากลำบากที่ผ่านมานับว่าไม่น้อยนัก และถ้าขาดความช่วยเหลือจากพระสฤษดิ์ก็อาจจะยิ่งร้ายมากกว่านี้

แม้จะยากลำบากเพียงใด การสามเหลี่ยมรอบดินแดนสยามก็ชื่อว่าได้เริ่มขึ้นแล้ว เพื่อมิให้การเริ่มงานสนามล่าช้า ข้าพเจ้าจึงตัดสินใจว่าจะคงอยู่ ณ. เชียงแสนตลอดฤดูฝน

พอดูแลให้ขนของส่วนตัวเข้าไว้ในบ้าน ข้าพเจ้าก็ออกไปทำงานต่อบนเนินเขาเล็กๆ ที่อยู่ห่างไปทางใต้ราว ๒ ไมล์ ขณะที่กำลังวัดมุมรอบอยู่นั้นเอง ก็ต้องใจหายวาบเมื่อค่ายพักกำลังไปไหม้โพลงอยู่ แต่ในเมื่อระยะไกลเกินกว่าจะรับกลับไปช่วยได้ ข้าพเจ้าจึงทำงานไปจนเสร็จแล้วจึงไต่เขาลงมาพบว่า บ้านพักไหม้ราบลงกับดิน แต่ข้าวของส่วนใหญ่ปลอดภัย พระสฤษดิ์เหลือเพียงเสื้อผ้าที่สวมอยู่เท่านั้น เคราะห์ร้ายยิ่งนัก สำหรับเขาผู้ต้องผจญกับงานหนักมาแล้วตลอดฤดูฝน แค่เรื่องที่ร้ายยิ่งกว่านั้นยังจะมีมาอีก

นายถัด พี่ชายของพระสฤษดิ์ได้เดินทางไปเมืองสิงห์ โดยเลือกทางเอง ไปได้ ๖ วัน พระสฤษดิ์ก็พรวดพราดเข้ามาปลุกข้าพเจ้าตอนเที่ยงคืน แจ้งข่าวว่าพี่ชายถูกฆ่าตายเสียแล้ว พ่อหนุ่มน้อยนั้นเป็นชาวสยามที่เงียบขรึมที่สุดที่ข้าพเจ้าเคยรู้จัก ไม่มีทางที่จะเป็นผู้ก่อการวิวาทอันเป็นเหตุแห่งฆาตกรรมได้เลย ข้าพเจ้าออกเดินทางไปห้วงลึก(Hwang luk) ทันที แต่ระหว่างทางนั้นเองก็ได้พบหัวหน้าเจ้าพนักงานผู้รักษาสถานี เขาขอร้องมิให้ข้าพเจ้าเดินทางต่อไป เพราะได้ข่าวว่า จะมีคนคอยลอบฆ่าข้าพเจ้าอีกคนหนึ่งและว่ามีคนคอยตรารอยข้าพเจ้ามาเป็นเดือนแล้ว ข้าพเจ้ามีคนจากเชียงแสนมาด้วย ๑๐ คน ปืนคายศิลาพร้อม ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์เมื่อครวจำเป็น ข้าพเจ้าจึงต้องกลับมาเชียงแสนเพื่อหาทางเอาตัวเจ้าพวกฆาตกรมาขึ้นศาลให้จงได้

นายถัดเป็นผู้ชำนาญในการเดินป่ามากอยู่ เนื่องจากได้เคยติดตามนายทหารฝรั่งเศสเดินทางไปเชียงขวาง หลวงพระบาง และเมืองหัวพันทั้งห้าทั้งหก มาหลายปีแล้ว

เขามีเงินมากพอสำหรับซื้อเสบียงและจ่างคนนำทางไปเมืองสิงห์ เมื่อผ่านห้วงลึกอันเป็นสถานที่นัดพบของพวกโจรจากสาลวินไปแล้ว เขาก็ไปตั้งค่ายพักอยู่นอกเมืองก่อ(Maung Ko) เจ้าเมืองนั้นเป็นชาวเขิน ผ่านไปกลางแสงจันทร์ มีบางคนที่เขาจำได้ว่าเคยพบที่เหวลึก

เช้าวันที่ ๑๕ มิถุนายน เขาออกเดินทางไปช่องเขาเมืองแหลม (Maung lem) โดยมิรู้ตัวว่าจะเป็นอันตราย แต่ทันที่นั้นเองก็ถูกระดมยิงเขาบาดเจ็บล้มลง พวกลูกหาบก็ทิ้งของหนีระหว่างกำลังยิงกันใหญ่ นายถัดยังไม่ตายในขณะที่ได้พวกที่โจมตีเข้ามาตัดขาของเขา ตัดนิ้ว และในที่สุดก็เฉือนคอเขาเสีย พวกมันกรีดกระเป๋า ดึงกระดุมเสื้อเอาไปจนสิ้น ทั้งนาฬิกาสายห้อย และข้าวของที่แบกหามอีก ๒๘ ห่อ ซึ่งมีทั้งโครโนมิเตอร์และเซกสตันท์รวมอยู่ด้วย ผู้ร่วมทางกับนายถัดผู้หนึ่งเป็นเด็กหนุ่มที่กำลังเรียนงานอายุ ๑๘ ปี ทำหน้าที่เป็นลูกหาบมาในขบวนก็ถูกไล่ยิงด้วย แต่ยังหนีมาถึงเมืองก่อได้ เจ้าเมืองต้อนรับเขาอย่างดี ช่วยคุ้มกันพวกเขากลับไปยังที่เกิดเหตุและช่วยฝังผู้เคราะห์ร้ายไว้ ณ ที่นั้นด้วย

ข้าพเจ้าส่งโทรเลขไปยังมิเตอร์สก๊อตต์ (Mr.Scott) ล่วงหน้า แต่เคราะห์ร้ายที่เขาถูกย้ายไปยังลาเชียว (Lashio) เสียแล้ว หลังจากนั้นมีการสอบสวน แต่ผลสรุปที่ได้ก็เลือนรางเต็มทน เป็นอันว่าต้องมีใครสักคนเป็นฆาตกรก็เท่านั้น

ข้าพเจ้าส่งพระสฤษดิ์กลับกรุงเทพฯ และในเมื่อลูกมือพากันเป็นไข้ไปหมดข้าพเจ้าจึงตัดสินใจว่าจะพักแรมอยู่ที่เชียงใหม่จนตลอดฤดูฝน ทั้งๆที่ยังลังเล เพราะการทำดังกล่าวย่อมทำให้การทำงานสนามฤดูหน้าต้องล่าช้าออกำอีก



๒๘. ถอยหลังกลับเชียงใหม่ - แม้วกับเย้า - เชียงเข็ง (Chieng Keng)

วันที่ ๕ กรกฎาคม ข้าพเจ้าออกจากเชียงแสน ล่องลงมาตามลำน้ำโขงซึ่งกระแสเชี่ยวกรากมาถึงเชียงของในช่วงเวลาไม่ถึง ๖ ชั่วโมงดี เมืองนี้มีกำแพงล้อม ๓ ด้าน เปิดโล่งทางริมแม่น้ำ แลดูเหมือนอยู่ระหว่างภูเขา และคงมีน้อยคนที่จะสงสัยว่าเลยแนวเขาเตี้ยๆ ทางใต้นั้นออกไปจะเป็นทุ่งราบกว่างของลุ่มแม่น้ำอิง (Me Ing)

สุดแนวเขาทิศตะวันตก มีนิคมคนโรคเรื้อน และเจดีย์องค์หนึ่งสร้างเป็นที่ระลึกถึงแม่ทัพพม่าที่สิ้นชีวิตระหว่างเดินทางกลับ หลังจากไปตีหลวงพระบางได้สำเร็จ ป่าที่ปกคลุมแนวเขาทั้งเทือกนั้นมีแต่ต้นสัก บางทีอาจเป็นป่าสักที่ดีที่สุดในสยาม ฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงไม่มีป่าสักเลย ลำน้ำนี้เท่าที่เห็นเป็นเส้นเขตแดนธรรมชาติ อย่างน้อยที่สุดก็สำหรับพืชพันธ์ในอินโดจีน

เราได้พบว่า มีการตื่นเต้นกันยกใหญ่ที่คนพบนิลในเขตรอบๆเมืองเชียงขวาง แต่เท่าที่พบก็ไม่ค่อยมีราคานัก เคยมีคนพบอัญมณีกันหลายแห่งในเขตจังหวัดน่าน และที่เมืองสา (Maung Sa) ซึ่งอยู่ใต้ลงไปอีกเล็กน้อยก็ว่ามีอยู่มากมาย เมืองนั้นมีประชากรที่เป็นพม่าอยู่กว่าพัน ล้วนมาอยู่เพราะที่นั่นมีป่าสัก และที่สำคัญที่สุดคือมีพลอยนี่เอง เพราะเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า เจ้าหลวงเมืองน่านไม่ยอมให้มีสัมปทานแก่ชาวพม่าเลย เนื่องจากชาวพม่าคนหนึ่งเคยก่อเรื่องวุ่นวาย ปลอมลายตราประจำองค์ที่ใช้ประทับเอกสาร

วันที่ ๑๓ กรกฎาคม ข้าพเจ้าออกจากเชียงของ ทำวงรอบตามเส้นทางเชิงเนินเขาซึ่งเป็นถนนมีสภาพดีเยี่ยมเมื่อเข้าใกล้บ้านทุ่งยาง (Ban Tung Yang) ช่องเขานั้นสูงหว่าเชียงรายไม่เกิน ๑๕๐ ฟุต

ผาหินปูนประหลาดแห่งหนึ่งสูง ๒๐๐ ฟุต บนยอดมีรอยเท้าศักดิ์สิทธิ์ บริเวณโดยรอบมีทรากเมืองโบราณด้วย ทางเข้าจากด้านตะวันตกมีป่าทึบ และเชิงหวายก่อนถึงลานโล่ง พื้นเป็นหินชนวน ซึ่งทำให้เกิดความรู้สึกระแวงหวั่นได้อย่างประหลาด ที่ตรงนี้ว่ากันว่ามีผีสิง และมีตำนานว่า พวกฮ่อ(จีน) ถูกประหัตประหารเป็นจำนวนมาก ณ ที่นี้ในกาลก่อน

ภูมิประเทศแถบนี้คงจะเป็นแดนสวรรค์สำหรับนักธรณีวิทยา เพราะแถบที่ใกล้เคียงกันนี้เองเคยมีผู้พบฟอลซิลสัตว์เลื้อยคลานขนาดยักษ์ เมื่อแปดสิบปีก่อนพม่าเคยยกกองทัพผ่านช่องเขาเข้ามาตีปล้นลุ่มแม่น้ำอิงทำลายเมืองพะเยา และเตริง(Tering) เมืองหลังนี้เพิ่งสร้างขึ้นใหม่เป็นเมืองหลงของมณฑลอันกว้างขวาง ซึ่งรุ่งเรืองอยู่ด้วยการค้าสัก การทำเหมืองพลวงซึ่งค้นพบว่ามีปริมาณมาก และยังพบทองคำอีกด้วย

ทางลงมาสู่หุบแม่เลา เป็นทางเดินผ่านทุ่งหญ้าต้นสูงใหญ่ในพื้นที่ซึ่งน้ำท่วมเพราะฝนตกหนัก ไม่มีลมเลยและอากาศก็ร้อนจัด

วันที่ ๑๗ กรกฎาคม ข้าพเจ้ามาถึงเชียงรายทั้งๆที่ไข้ยังจับอยู่ไม่สร่าง และเหนื่อยเพราะต้องบุกดินโคลนมาแต่ไกล จึงพักผ่อนเสีย ๒-๓ วัน และเมื่อหาช้างได้เชือกหนึ่งแล้วก็ออกเดินทางไปเชียงใหม่ โดยใช้เส้นทางที่รัฐบาลสยามให้ทำการสำรวจอย่างละเอียดไว้แล้วเพื่อวางเส้นทางรถไฟ

วันที่ ๒๗ กรกฎาคม ข้าพเจ้ามาถึงเชียงใหม่ ซึ่งเวลานั้นวงสังคมของชาวยุโรปกำลังขยายตัว แลสนุกสนานกันเป็นอันดี มีนักสอนศาสนาอยู่ประมาณ ๑๒ คน วิศวกรรถไฟก็ตั้งค่ายพักอยู่ในเมือง ตอนนั้นคนทั้งเมืองกำลังสนใจการแข่งม้า มาดูกันหมดเมืองแม้แต่เจ้าหลวงผู้ชรา

ข้าพเจ้าหาที่พักได้ ในบ้านอันแสนสบายของดอกเตอร์ ชีค นั่นเอง ถือเป็นที่สำหรับพักงานในระหว่างฤดูฝน พลางคำนวณผลงานที่ทำมาแล้ว และเตรียมตัวทำงานสามเหลี่ยมต่อจากที่เริ่มไว้แล้วด้วยความลำบากยากเข็ญ ต้องฝ่าฟันอุปสรรคนานาประการ

สามสี่ปี่ที่ผ่านมานี้ ฝนตกน้อยมากผิดสังเกตในประเทศสยาม และในเชียงใหม่ปรากฏการณ์ธรรมชาติดังกล่าวถูกถือว่าองค์เจ้าหลวงเป็นผู้ต้องรับผิดชอบ ว่ากันว่าเนื่องมาจากทรงขาดความเคารพในพระธาตุดอยสุเทพ และว่าเทวดาได้มาปรากฏองค์ ประกาศว่าให้บูรณะยอดพระเจดีย์เสียใหม่ ประดับอัญมณีและให้เจ้าหลวงเสด็จเลียบเมืองพร้อมด้วยกองเกียรติยศ พิธีเลียบเมืองนี้น่าสนใจมาก และเป็นโอกาสแสดงขบวนช้างที่ดีที่สุดในเชียงใหม่ด้วย

ข้าพเจ้าส่งคำขอพาหนะล่วงหน้ามา ๒ เดือน และได้หวังไว้ว่าจะออกจากเชียงใหม่ไม่ล่ากว่า ๑ ตุลาคม แต่วันนั้นได้มาถึงและผ่านไปโดยพาหนะก็ยังไม่มี อากาศกำลังดีพิเศษ เห็นเขาเชียงดาวตระหง่านชัด เพื่อที่จะมิให้พลาดโอกาสอันงามนี้เสียโดยสิ้นเชิง ข้าพเจ้าก็เริ่มทำงานวงรอบตามทางไปเมืองฮอด (Muang Haut) และกลับตามทางเดินตามริมฝั่งแม่น้ำ

ระบบการระบายน้ำของชาวลาวสมบูรณ์น่าประทับใจเป็นอย่างยิ่ง แควต่างๆ ของแม่น้ำปิงถูกซัดน้ำเข้าคลองขุดไปหล่อเลี้ยงนา และสวนอย่างเต็มที จนกระทั่งไม่อาจกล่าวได้ว่าน้ำในแควใดแม้แต่แม่จันจะไหลสู่แม่น้าใหญ่ได้จริงๆ

จากต้นน้ำแม่จันไหลผ่านป่าสนใบยาวเป็นบริเวณกว้าง แล้วเลยต่ำลงมายังป่าสักอันมีสภาพดีเยี่ยม แต่มีอยู่ช่วงหนึ่งที่ร่องน้ำแคบเข้าเป็ฯหุบลึก ทำให้แทบจะล่องซุงผ่านไปไม่ได้ เพราะกระแสน้ำเชี่ยวพอที่จะซัดไม้ให้แตกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย เคยมีผู้พยายามทำลายอุปสรรคนี้ แต่ไม่สู้จะประสบผล ที่บริเวณปากน้ำและตามแนวแม่ปิงใกล้เชียงใหม่เห็นระหัดวิดน้ำชั้นดี น้ำหนักเบา เว้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๒๐ ฟุต ซึ่งมีเฉพาะในท้องถิ่นนี้ สร้างขึ้นสำหรับชักน้ำไปใช้ในบ้านเรือน มิใช่เพื่อการชลประทาน

เป็นที่น่าสังเกตอีกอย่างหนึ่ง คือเจ้าเมืองลำพูนได้พยายามสร้างทางอย่างน่าชมยิ่ง ขุดดินมาถมเป็นแนวได้ตลอดเส้นทาง ตามปกติแล้วการทำถนนในท้องถิ่นนี้อาศัยเพียงโอกาสกับเวลา ผู้บุกเบิกรายแรกเป็นผู้วางแนวทางการติดต่อที่สะดวกที่สุด โดยใช้มีดพร้าผ่าฟันพุ่มพงไม้ทึบเรื่อยไป คนที่ตามภายหลังเดินทางไปกลับบ่อยเข้าก็เกิดเส้นทางอย่างถาวร ดูเหมือนงูเลื้อยคดเคี้ยวผ่านไปในผ่า จนถึงปัจจุบันนี้การทำถนนก็คอการตัดต้นไม้เป็นทางผ่านเข้าไปในป่า ซึ่งก็ต้องทำซ้ำๆเป็นครั้งคราว เมื่อต้นไม้ทำท่าจะงอกงามมาเป็นพุ่มทึบขึ้นมาอีก

ลำน้ำแม่ปิงทำหน้าที่เป็นเส้นแบ่งเขตแดนจังหวัดลำพูนกับเชียงใหม่ แต่เลยนั้นไปเขตแดนก็แบ่งตามหัวคันนา ซึ่งเป็oเหตุให้เกิดพิพาทระหว่างกันไม่รู้จบ เหตุที่ทำให้เกิดเรื่องวุ่นวายขึ้นเป็นอันมากก็คือข้อตกลงประหลาดที่ถือว่าทางแยกออกไปจะอยู่ต่างเขตการปกครองด้วย (isolate tracks are under seperate jurisdiction)

เส้นทางโทรเลข ซึ่งงานสำรวจชะงักไปชั่ง ๔ เดือน ก็เริ่มดำเนินการต่อปีกข้าพเจ้าได้ทราบว่าคณะผู้สำรวจมีชาวยุโรปเพิ่มมาอีก ๒ นาย ชื่อนาย สไมลส์ (Smiles) และแอนเจียร์ (Angier) ตามลำดับ ล้วนเคยทำงานสำรวจทางรถไฟในสยามมาแล้วคนละสองสามปี และได้ข่าวมาอีกว่ากองสนามในบังคับพระสฤษดิ์กำลังเดินทางผ่านทางเมืองน่านมาพบข้าพเจ้าที่เชียงของ

สไมลส์และเอนเจียร์ ออกจากเชียงใหม่ไปแล้ว ข้าพเจ้าจึงออกตามในวันถัดมา ๒๙ พฤศจิกายน โดยเลี่ยงจากเส้นทางที่คนทั่วไปใช้ประจำ เนื่องจากต้องการจะลงเส้นทางอื่นๆให้ถูกต้อง ไปถึงเชียงแสนวันที่ ๑๑ ธันวาคม ระหว่างทางไม่มีอะไรน่าสังเกต นอกจากกองเกวียนพวกจีนเดินทางไปมะละเหม่งผ่านทางเชียงใหม่ดูมีจำนวนมากผิดปกติ ลูกม้าจากเชียงตุงและเมืองสิงห์ที่ผ่านทางเดียวกันก็ดูจะมากกว่าที่เคยมา พวกมูเซอลงจากเขาเอาขี้ผึ่งและฝ้ายมาแลกกับหมากและพลู

เมื่อมาถึงเชียงของ ข้าพเจ้าได้พบพระสฤษดิ์ ซึ่งเดินทางมาทางเมืองน่าน และได้ทำงานสำเร็จผลอย่างดีมาเช่นเคย

เมื่อมาเชียงของคราวที่แล้ว ข้าพเจ้าได้คำนวณอัตราไหลของน้ำที่จุดอันไม่เหมาะสม เพราะตลิ่งสองฝากอยู่ห่างกันกว่า ๒,๐๐๐ ฟุต ระดับน้ำต่ำสุดอยู่ต่ำกว่า ๕๐ ฟุต เวลาที่วัดเป็นช่วงที่น้ำมีระดับต่ำที่สุดคือในเดือนมีนาคม กระนั้นจำนวนที่วัดได้ก็สูงถึง ๔๒,๐๐๐ ลูกบาศก์ฟุตต่อวินาที

เราเริ่มไต่เขาสูงเด่นที่อยู่ทางทิศตะวันตกขึ้นไปทันที เกือบถึงยอดมีหมู่บ้านแม้วอยู่สองสามแห่งออกจะน่าขำอยู่ที่ได้เห็นชาวบ้านเดินเข้ามาเขย่ามือ "ตบหลังตบไหล่" กับเจ้า ทั้งๆที่การทักทายแบบนี้มิใช่แบบที่นิยมกันในหมู่แม้วหรือชาวลาว

ป่าช้าของหมู่บ้าน มีที่ฝังศพก่อด้วยหินกับโคลน แลดูสะอาดตา แค่ก็เป็นที่สะอาดที่เดียวที่มีอยู่ในหมู่บ้าน ที่อื่นๆละล้วนสกปรกเพราะมีไก่ หมู เที่ยวอยู่กลาดเกลื่อนทั่วไป

อย่างไรก็ตามแม้ว่าสภาพภายนอกจะดูไม่ได้เรื่อง แต่สภาพภายในที่พักอาศัยก็นับว่าพอใช้ได้ ก่อนหน้านี้สัก ๘ ปี ที่ฝั่งขวาแม่น้ำโขงนี้ไม่มีพวกแม้วอาศัยอยู่เลย แต่หลังจากนั้นพวกนี้ก็อพยพหลั่งไหลกันลงมาเรื่อยๆ

ชาวแม้วกลุ่มหนึ่งซึ่งข้าพเจ้าไม่มีโชคพอจะได้พบ ว่ากันว่าเป็นเผ่าที่ขี้อายที่สุดและพวกผู้หญิงมีชื่อว่าแต่งผมแบบแปลกที่สุดด้วย เหตุการณ์ที่สำคัญที่สุดในชีวิตของเด็กหญิงก็คือ การลงขี้ผึ้งให้ทั่วศีรษะให้ผมคงรูปอยู่เช่นนั้นเป็นปีๆ และเพื่อแก้ปัญหาในกรณีที่เกิดคันหนังหัว ด้วยเหตุนี้หรือเหตุอื่นก็ตาม พวกเด็กเหล่านี้ก็จะได้รับเข็มเงินแหลมๆ สำหรับติดเข้ากับปลอกนิ้ว (สำหรับเกา)

เปรียบกันในหมู่ชาวเขาแม้ว พวกเย้าดูจะเป็นพวกที่ดีที่สุด มีช่างเงินและช่างโลหะฝีมือเยี่ยม ขนาดทำขวานได้รูปและคุณภาพทัดเทียมกับฝีมือช่างชาวอเมริกัน วิธีการเพาะปลูกก็ก้าวหน้าดีกว่าชาวเขาเผ่าอื่นๆ พวกผู้หญิงมีอาภรณ์ประดับศีรษะฝีมือประณีตใช้เป็นเครื่องกันแดดได้ดี และมีฝีมือเย็บปักถักร้อยได้งดงาม
พวกเย้าดูเหมือนจะเป็นเชื้อชาติจีนชาวเขาจากกวางตุ้ง นิสัยขยันขันแข็งและรักสงบ แยกออกเป็น ๑๒ เผ่าๆ ได้แก่ เล่าลี่(Lao Li) เล่าปง(Lao Pong) เล่าจาง(Lao Chao) เล่าต่วน(lao Tuan) สินปัน(Sin Pan) สินเต็น(Sin Ten) สินเจา(sin Chao) สินจาง(sin Chang) สินเติน(Sin Tuen) สินปัง(Sin Pung) สินตู(Sin Tu) และสินลุง(Sin Lung) กับอีกกลุ่มย่อย ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในนามลานเต็น(Lan Ten) มีลักษณะแตกต่างจากกลุ่มอื่นๆบ้างเล็กน้อย ทุกเผ่าบัดนี้อพยพข้ามน้ำโขงมาแล้ว และเทือกทิวเขาที่แต่แกนเป็นที่อาศัยของสัตว์ป่า ก็กลายมาเป็นที่ทำกินของชนเผ่านี้ ซึ่งได้ตั้งถิ่นฐานอยู่อย่างสงบ มีหัวหน้าหมู่บ้านเป็นผู้ดูแล ร่วมมือกันปลูกผิ่นและพืชไร่โดยเสียผลผลิตเป็นภาษีบ้างเล็กน้อย

เมื่อทำงานบนดอยหลวงแม่กุม (Doi Luang Me Kum) สำเร็จแล้ว ข้าพเจ้าก็หันไปสนใจดอยตูม(Doi Tum) เนินเขาลาด ซึ่งอยู่อีกฝากหนึ่งของแม่น้ำโขงใกล้เมืองขาง (Maung Kang) แต่การจะเดินทางไปที่นั่นมีอุปสรรค เนื่องจากเมื่อฤดูก่อนคณะกำหนดเขตแดนฝ่ายพม่า ได้เดินทางไปยังเมืองลิง (Muang Ling) และได้ประกาศเป็นทางการแล้วว่าเมืองนั้นขึ้นอยู่ในการปกครองของพม่าในเมื่อประชากรของเมืองขางทั้งหมดขึ้นต่อเมืองลิง สถานการณ์จึงออกจะขลุกขลักอยู่

เชียงเขง(Chieng Keng) เป็นรัฐเล็กๆ ซึ่งขึ้นอยู่กับเชียงตุง ผู้ปกครองมักเป็นญาติ (ชั้นพี่น้อง หรือ อา ลุง) กับเจ้าผู้ครองเมืองแม่ ก่อนอังกฤษจะเข้ายึดครองพม่าเหนือ เขตนี้มักมีการวิวาทเป็นสงครามย่อยๆ อยู่เสมอ เมื่ออังกฤษเข้ามาวางระบบการบริหารเสียใหม่ ก็ปรากฏว่ามีคนหลั่งไหลหลบหนีเข้าไปในเชียงตุง ระหว่างนั้นเจ้าแคว้นเชียงตุงกำลังวิวาทกับเจ้าเมืองเชียงเขง ซึ่งเป็นอนุชา เรื่องภาษีท่าข้ามแม่น้ำโขง และเคราะห์ร้ายที่ได้ใช้กำลังพวกฉานอพยพเข้ามาช่วยทุ่มเทด้วย เมืองเชียงเขงนั้นตั้งอยู่ในตำแหน่งที่ไม่น่าพอใจนักอยู่แล้ว ที่นาก็แคบ ยิ่งพอเกิดเหตุเข้าก็เลยพาลทำนาไม่ได้เลย เจ้าเมืองจึงหันไปสนใจทุ่งราบเมืองสิงห์ ซึ่งอยู่ห่างไปทางทิศตะวันออกชั่วเดินทางไม่กี่วันและเป็นที่ดินอุดม น้ำดี ปลูกข้าวได้กว้างขวาง แต่ที่นั่นก็เกิดปัญหามาแต่ก่อนกาล เดิมทุ่งราบอันอุดมสมบูรณ์นี้ได้อยู่ในปกครองของสิบสองปีชันนา เมืองสิงห์อยู่ห่างไปทางเหนือขึ้นอยู่กับมณฑลน่าน และอยู่คนละฟากแม่น้ำโขง แต่ถึงอย่างนั้นเนื่องจากการสงครามกับพม่าชั่วระยะ ๕๐ ปีที่ผ่านมา ฝ่ายน่านก็ได้มุ่งมองดูผู้คนเข้ามาตั้งถิ่นฐานในบริเวณนี้ด้วยความริษยา และได้ขัดขวางอยู่ตลอดมาด้วยวิธีปล้นสะดม พวกเชียงเขงอพยพมาในราว ค.ศ.๑๘๘๘ กองกำลังจากน่านรุกเข้ามาปราบปรามพวกอพยพ แต่เมื่อเจ้าผู้นำยอมอ่อนน้อม ก็เลยได้ตั้งถิ่นฐานอยู่ต่อไปโดยสงบสุข ระหว่างเวลาที่ข้าพเจ้าไปถึงนั้น กำลังมีปัญหาการเมืองที่น่าสนใจ เพราะเมื่อปีที่แล้วคณะชาวอังกฤษจากพม่า ได้รับการยกย่อง (ไม่พักกล่าวถึงการปฏิญาณจากเจ้าเชียงใหม่) ในฐานะตัวแทนของเจ้าเหนือหัวผู้ทรงสิทธิสมบูรณ์ ฝ่ายเมืองน่านปฏิเสธไม่ยอมเกี่ยวข้อง และเจ้าเมืองสิงห์ก็ตัดสินใจที่จะเจรจาเองโดยตรงไม่ใช่กับฝ่ายน่าน แต่กับบางกอก

ระหว่างวางแผนการสามเหลี่ยมไปยังหลวงพระบาง ข้าพเจ้าต้องตัดสินใจว่าจะไต่เขาไปทางเมืองสิงห์ แต่เอกสารจากบางกอกซึ่งบอกจุดมุ่งหมายของการทำงานนั้น มิได้มีชื่อข้าพเจ้าอยู่ด้วย เจ้าพนักงานที่น่านอ่างว่าไม่อาจรับคำสั่งจากข้าพเจ้าได้ ในเมื่อเห็นชัดว่าจะเกิดอุปสรรคขึ้นมากมาย ข้าพเจ้าจึงได้ส่งแอนเจียร์ลงไปขอคำสั่งแต่งตั้งอันจำเป็นต้องมีจากบางกอก แต่แล้วเราก็ตกลงกันได้ว่าการขึ้นดอยตูสี ( Doi Tusi ) นั้น เป็นการเสี่ยงเกินไปไม่ควรกระทำ

ตามทางไปเมืองสิงห์นี้เองที่นายถัดถูกฆ่าตาย และในเมื่อเห็นได้ว่าจะเกิดเรื่องยุ่งยากขึ้นอีก ข้าพเจ้าก็ตัดสินใจเดินทางไปเอง มอบให้พระสฤษดิ์คุมงานถางป่า รังวัดยอดเขาตรงไปหลวงพระบาง



๒๙. กลางเผ่าละเม็ด ( Lamet ) - เมืองสิงห์

วันที่ ๑ มกราคม ข้าพเจ้าออกจากเมืองเชียงของ หลังจากที่ได้แบ่งกลุ่มหนุ่มชาวสยามออกทำงานวงรอบและช่วยงานพระสฤษดิ์แล้ว ช่วงแรกใช้คานหามพร้อมด้วยมิสเตอร์ เอฟ.เอช.สไมลส์และ ม.ร.ว. สนาน เจ้าพนักงานเมืองน่านได้ตัดถนนชั้นดีไปยังเมืองหลวงภูคา ( Maung Laung Puka ) และเจ้าบุญเลื่อง ( Chao Bun Luang ) โอรสเจ้าอุปราชเมืองน่านซึ่งพิราลัยแล้วนั้นก็ได้เดินทางมากับเราด้วย หลังจากเดินไปพักหนึ่ง ข้าพเจ้าก็เลี้ยวออกจากถนนเรียบ บุกเข้าไปในป่าลึกตามทางเดินแคบๆ ขึ้นเขาลงห้วยตรงไปยังยอดเขาสูงที่หมายตาเอาไว้ ท่านเจ้าพนักงานเมืองน่านสหายของข้าพเจ้าไม่ค่อยชอบการกระทำดังนี้นัก ข้าพเจ้าจึงเตรียมตัวไว้พบกับอุปสรรคนานา เราผ่านหมู่บ้านพวกละเม็ดไปหลายแห่ง ทั้งยุ้งฉางด้วย ซึ่งออกจะน่าดูไม่น้อย เพราะปลูกรวมกันไว้เป็นหมู่ ราว ๒๐-๓๐ ยุ้ง อยู่ห่างจากบริเวณที่พักอาศัยราว ๒- ๓ไมล์เสมอ แลดูเหมือนหมู่บ้านร้าง เงียบกริบ วิธีการไล่หนูออกจะซับซ้อนมากอยู่ ที่โคนเสาซึ่งมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๑๘ นิ้ว มีหนามไผ่แหลมเหมือนเข็มสะเป็นวงรอบตัวเสานั้นเองก็เอาใบไผ่ซึ่งมันลื่นไต่ยากผูกรอบไว้ด้วย ถ้าพ้นจากนี้ไปได้ก็ยังมีจานไม้แก่นกลึงผ่าศูนย์กลางราวฟุตหนึ่งประกบไว้กับเสาอีก น่าสนุกเมื่อได้เห็นว่าหนูหรือนกยูงซึ่งเข้ามาตืดกับอยู่นั้นเป็นศัตรูตัวร้ายที่สุดที่ต้องระวัง

ในที่สุด เราก็พ้นจากป่าทึบเข้าเขตที่โล่ง ซึ่งพอจะมองเห็นเทือกเขาผาลุย ( Paluil ) ที่ข้าพเจ้ามุ่งหมายจะไปถึง ไม่มีใครสักคนในหมู่เราที่รู้ว่าที่ตรงนั้นเรียกว่าอะไร และดูเหมือนไม่มีใครอยากรู้ด้วย เมื่อได้ขอร้องให้เจ้าพนักงานเมืองน่านตั้งค่ายพักที่หมู่บ้านโคกสัก ( Mok Suk ) แล้วข้าพเจ้ากับสไมลส์ก็ไปเที่ยวสำรวจหาทางที่เหมาะสม แต่พอกลับมาปรากฏว่าค่ายพักย้ายไปเสียแล้ว ไม่มีทางอื่นจะทำได้นอกจากรีบตามรอยไป กว่าจะทันก็อีก ๕ ไมล์ข้างหน้า

อุปสรรคมิใช่ว่ามีแต่เพียงนี้ เราจำเป็นมีพนักงานไปด้วย และกลายเป็นว่าต้องอยูในอำนาจเขา เขาไม่เข้าใจจุดประสงค์ของเราเลย และเห็นว่าการที่เราออกนอกทางมานี่เป็นเรื่องยุ่งยากที่ควรหลีกเลี่ยง เขาจึงแกล้งทำเป็นไม่เชื่อใจเรา และการใช้ภาษาใน (สาร) ตรา ( Kra ) ก็อำนวยโอกาสแก่เขาเสียด้วย อย่างไรก็ดี เมื่อพวกเรายังคงยืนยันที่จะย้อนหนทางกลับไปปีนเขาอีก แค่ได้รับคำสั่งครั้งเดียว ปรากฏว่าไม่มีกุลีขนของเหลืออยู่ในค่ายเลยแม้แต่สักคน

อากาศกำลังดีเหลือเกิน สไมลส์กับข้าพเจ้าออกเดินทางเพียงลำพัง ท่านเจ้าเริ่มอ่อนข้อ ส่งคนมาบอกแก่เราว่าให้รออยู่ที่โมกสัก แล้วจะจัดการเรื่องขนส่งที่จำเป็นให้ เป็นอันว่าเสียเวลาที่อากาศดีไปเปล่าๆ แต่ก็ไม่มีทางทำอะไรได้ เย็นนั้นท่านเจ้าก็มาถึง และอธิบายแก่เราว่าบริเวณนี้เป็นเขตชายแดน ซึ่งยังไม่เป็นที่ตกลงกันว่าอยู่ในปกครองของน่านหรือหลวงพระบาง ข้าพเจ้าอธิบายว่างานที่ทำไม่เกี่ยวกับกรณีพิพาทเรื่องกรรมสิทธิ์ที่ดินแม้แต่น้อย และถึงอย่างไรก็ต้องทำทั้งในเขตน่านและเขตหลวงพระบางอยู่ดี ท่านจึงเสนอว่าช่วยเหลือเรื่องการขนส่งจนถึงสุดเขตที่เชื่อว่าเป็นแดนของหลวงพระบางข้าพเจ้าก็จำต้องยอมรับตามนั้น ท่านค่อยใจอ่อนลงทีละน้อย ยิ่งได้รับการเลี้ยงวิสกี้ไปจนหมดขวดก็ยิ่งได้การ เป็นอันตกลงกันว่าในเมื่อทางที่ไปออกจะทุรกันดาร ท่านเจ้าก็จะไม่เดินทางไปด้วย แต่ที่จริงทางจะเรียบราบหรือขรุขระ เราก็ไม่ต้องการให้ท่านไปด้วยทั้งสิ้นแหละ เพราะเช่นเดียวกับข้าราชการสยามคนอื่นๆ ท่านดูเหมือนจะเป็นสิ่งกีดขวางเราเสียมากกว่า ไม่ใช่ว่าตัวท่านอารมณืเสียเองหามิได้ แต่คน ๒ คนทีมากับท่าน ท่าทางเป็นข้าราชการนั่นแหละที่เป็นต้นตออุปสรรคของเรา ท่าทางอวดดี ตอนที่ข้าพเจ้ายืนยันให้ส่งตัวกลับไปนั้น แม้แต่ท่านเจ้าก็ดูจะโล่งใจขึ้นเสียด้วยซ้ำ

วันที่ ๑๒ มกราคม สไมลส์กับข้าพเจ้าพร้อมด้วยคนนำทาง และลูกหาบ ๔๐ คนก็ออกเดินทาง เราผ่านหลายหมู่บ้านที่ต้นส้มกำลังติดผลสะพรั่งแทบไม่เห็นใบ ซ้ำกำลังสุกด้วยทำให้ห้ามปราบคนในคณะได้ยาก หมู่บ้านพวกนี้เป็นของชาวละเม็ค แต่คนในหมู่บ้านหนีไปซ่อนกันหมดเนื่องจากถือตัวเป็นฝ่ายหลวงพระบาง กลัวว่าจะถูกเต้าพนักงานฝ่ายน่านเข้ามาปราบปราม มีหมู่บ้านซึ่งซ่อนอยู่ในป่าทึบ หมู่หนึ่ง ที่ชายป่ามีโครงประตูบอบบางเป็นเครื่องหมายบอกทางเข้าหมู่บ้าน พอคนนำทางเข้าไปใกล้ก็มีเสียงฮือฮากันใหญ่ ทีแรกข้าพเจ้าก็นึกว่าจะเกิดเรื่อง แต่ที่แท้เป็นธรรมเนียมของเป่าชนที่น่าสงสารนั่นเอง เมื่อเห็นคนแปลกหน้าก็กลัวและตื่นเต้น สำเนียงที่พูดก็ออกจะขาดความไพเราะไปสักหน่อย

เราไปถึงน้ำทา (Nam Ta) ที่บ้านหาดน้ำ (Ban Hat Nam) ลำธารนั้นลึก น้ำใสเต็มไปด้วยพ่วงแพของพวกละเม็ดที่ขนข้าวลงไปขายที่หลวงพระบาง อารามที่กลัวว่าลูกหาบจะหนีกลับ เราจึงเดินทางกันทั้งวัน จนพลบค่ำจึงตั้งค่ายพักที่ริมน้ำสอง (Nam Song) ซึ่งเป็นลำธารที่น้ำใสเย็นเฉียบ และภูมิประเทศงดงามยิ่ง พวกละเม็ดยังคงเอะอะกันอยู่ แต่ดูๆ ออกจะซึมเซา ไม่เห็นใครหัวเราะเลยแม้แต่สักคนหนึ่ง พวกเขารูปร่างล่ำสัน นุ่งห่มน้อยชิ้น ผ้าที่พันกายผืนแคบแทบว่าจะปิดกายไม่มิดตามเจตนา วิธีขนของคือใส่ในตะหร้าแบกขึ้นหลังโดยมีสายหวายถักโยงไปรั้งรอบหน้าผาก ระหว่างเวลาขึ้นเขาลงห้วยแต่ละคนก็หอบเสียงนกหวีดเบาๆ ต่ำๆ ฟังดูรวมๆคล้ายเสียงนกเขาขันคู เพราะทั้งทุ้มและวังเวงใจไปพร้อมกัน พวกนี้เจาะติ่งหูแล้วเอาท่อนไม้เสียบคาไว้ บางคนวัดหน้าท่อนไม้ได้เส้นผ่าศูนย์กลางถึง ๑ นิ้ว กับอีก ๑ กระเบียด ถือกันว่ายิ่งหูยานเท่าไร ก็ยิ่งงามขึ้นเท่านั้น บางคนถึงกับหูขาดไปก็มี แต่ข้าพเจ้าก็ไม่ค่อยแน่ใจนักว่าการเสียโฉมเช่นนี้ จะถือกันว่าให้ลดคุณค่าทางสังคมไปด้วยหรือไม่ พวกละเม็ดดูเหมือนออกจะโง่อยู่ แม้แต่จะจำชื่อตัวเองก็ทั้งยาก ลำบากที่จะจ่ายเงินค่าแรงให้ถูกตัวเป็นอันมาก ในคณะพวกเรามีข่าหลายคนมาจากหลวงพระบางบ้าง น่านบ้าง น่าขันความพยายามที่จะแยกพวกข่าออกจากกัน ข้าราชการฝ่ายน่านพยนยามจะสอนพวกข่าที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในเขตฝ่ายของตนเมื่อไม่กี่ปีมานี้ว่าตัวเป็นข่าแคว้น(ka Kwen) มีฐานะสูงหว่าข่าลาว(Ka Lao) คำว่าลาวนั้นใช้เมื่อดูหมิ่น จึงเป็นที่น่ารังเกียจของทั้งชาวน่านและชาวหลวงพระบาง

เมื่อเรามาถึงเชิงเขาผาลุยที่ข้าพเจ้าต้องการจะไต่ขึ้นไปแล้ว เราก็ออกเดินทางแต่เช้า ลาดเขามีป่าปกคลุมทึบเช่นเคย มองทะลุออกไปไม่ได้ แต่มีทางจากหมู่บ้านขึ้นไปจนเกือบถึงยอด และแม้ต้นไม้จะหนาทึบ ไม่ช้าการโค่นถางก็ได้ผล เพราะพวกชาวเขาร่างเล็กเหล่านี้ใช้ขวานชำนาญยิ่งนัก ภูมิทัศน์ที่มองจากยอดเขางดงามมาก ทิศใต้คือผายาง (Pa Yang) ซึ่งพระสฤษดิ์ได้ขึ้นไปถางไว้แล้ว เห็นต้นไม้สัญญาณสองต้นเด่นชัดตามลาดเนินมีหมู่บ้านหลายแห่ง บางแห่งนับว่าใหญ่มากตามมาตรฐานท้องถิ่น กล่าวคือมีบ้านมากว่า ๒๐๐ หลัง มองไปทิศใต้เห็นร่องรอยการตั้งถิ่นฐานอยู่ทั่วไป ทำให้ออกจะมีหวังมากขึ้นสำหรับการถางป่ายอดเขา ยอดภูเขาที่ใช้ทำการสามเหลี่ยมต่อไปยังหลวงพระบางแลเห็นเด่นชัดว่ามีผู้คนอาศัยอยู่มากพอดู

สไมลส์เริ่มทำงานวงรอบไปทางทิศเหนือ ตามทางเดินระหว่างหมู่บ้านเลียบไปตามสันปันน้ำของลำน้ำทา ส่วนข้าพเจ้าต้องถอยหลังกลับไปพบบรรดาสหายนักก่ออุปสรรคคือเจ้าพนักงานเมืองน่าน แล้วไปรอพบสไมลส์ที่เมืองภูคา (Muang Puka) แต่ได้ตั้งกระเช้าสัญญาณไว้ และเหลือต้นสัญญาณไว้ ๒ ต้น ข้าพเจ้าทำการสำรวจด้วยโซ่และเข็มทิศกลับมายังโมกสัก แล้วต่อไปยังภูคา โดยใช้โต๊ะราบทุกแห่งที่โอกาสเปิด แต่ก็ไม่ใคร่จะมีโอกาสทำนัก นอกจากบริเวณต้นแม่น้ำงาว (Me Ngao) และแม่ปา (Me Pa) ซึ่งเป็นเขตเขาสูงและมีการเพาะปลูกมาก เมื่อใหล้จะถึงภูคา ข้าพเจ้าได้พบชุมชนเย้าที่น่าสนใจกลุ่มหนึ่ง ซึ่งกำลังเดินทางไปเชียงของ ครั้งหนึ่งเมืองภูคาเคยเป็นเมืองมีทุ่งนารอบ แต่ถูกละทิ้งไปหลายปีจนกลายเป็นป่าทึบ เนินเขารอบๆ มีพวกข่าอยู่กันเต็ม โดยมากตั้งหมู่บ้านอยู่บนยอดลูกเนินที่ยื่นชะโงกออกมา

ระหว่างเที่ยวค้นหายอดเขาที่เหมาะสม ข้าพเจ้าได้พบที่แห่งหนึ่งมีเครื่องกีดขวางทางเดิน และมีทางเปิดใหม่หลีกลัดเลี่ยงไปจากต้นไม้ที่ถูกฟ้าผ่า ต้นไม้เช่นนี้ถือว่ามีผีสิงแต่ในเมื่อทางใหม่นั้นมีผึ้งซึ่งต่อยเจ็บเหลือประมาณมายึดครอง ข้าพเจ้ายอมเสี่ยงกับผีดีกว่าแม้ว่าคนนำทางจะไม่ค่อยพอใจนักก็ตาม ไปได้สักไมล์หนึ่งก็พบต้นไม้ที่ถูกฟ้าผ่าเข้าอีกคราวนี้มีผลสะท้อนรุนแรงกว่า ต้นไม้อยู่กลางกอข้าวตามลาดเขา และแม้ว่าพืชผลจะหายากสักเพียงไร เจ้าของข้าวก็สู้อุตสาห์ทิ้งนาไปโดยไม่เก็บเกี่ยว เพราะถือว่าข้าวนั้นกลายเป็นสมบัติของผี ซึ่งในกรณีนี้ ว่าที่จริงก็คือฝูงนกเล็กๆ ซึ่งมีจำนวนมากและอ้วนเสียแทบจะบินไม่ขึ้น

ข้าพเจ้าเลือกได้เนินเขาคำพวน (Kampuan) ซึ่งมีป่าปกคลุมแน่นทึบ และกางพระโจมพักที่แอ่งเขาเกือบถึงยอด ในระหว่างดงต้นไม้โอ๊คกับเชอรี่ ก่อนลงจากเขานั้นวันหนึ่งได้มีคนมาบอกที่ตรงนั้นเป็นป่าช้า ทำให้ข้าพเจ้าแปลกใจมาก เพราะคนแถบนั้นขุดหลุมฝั่งศพกันตื้นๆ ไม่น่าจะเป็นไปได้ที่จมูกข้าพเจ้าจะไม่ได้กลิ่น แต่อย่างไรก็ตามคำอธิบายก็คือ ป่าช้านั้นดูเหมือนจะไม่มีผู้ใช้มาสัก ๔ หรือ ๕ ปีแล้ว เขาว่ากันว่าหัวหน้าพวกข่าคนหนึ่งถูกผีสิง ข้าพเจ้าก็ไปดูเห็นเขาสั่นงั่กๆ ท่าทางเป็นไข้ป่าอย่างแรง ข้าพเจ้าให้เขากินยาคลอโรตีน (Chrorodyne) แต่ดูเหมือนจะไม่ได้ผล ชายอีกคนหนึ่งก็เริ่มพิธีสวดมนต์ไล่ผีซ้ำไปซ้ำมา พลางหวดคนเจ็บไปด้วยเป็นพักๆ เสียงสวดซ้ำซากดังอยู่ตลอดทั้งคืน รุ่งขึ้นเช้าข้าพเจ้ารีบพาตัวเขามาจัดการให้กินน้ำมันละหุ่งกับเกลือเข้าไปมากโขอยู่ แต่ก็ดูเหมือนจะได้ผลน้อยเต็มที อย่างไรก็ตามที ในที่สุดเขาก็ไล่ผีออกไปได้ และกลับมีสุขภาพดีขึ้น แต่ก็ยังมีคนคิดว่าข้าพเจ้าไปกางกระโจมพักในป่าช้าซึ่งมีผีร้ายสิงอยู่ และพวกผีอาจจะไม่พอใจที่ข้าพเจ้าตัดต้นไม้ได้

เจ้าราชบุตรเมืองน่าน เดินทางมาภูคาด้วยกระบวนอิสริยยศ มีคนแห่ธง ฆ้องกลอง ปืนคาบศิลา นำหน้ามาร่วมกับกองกำลังคุ้มครองประมาณ ๑๐ คน สวมเสื้อแดงถือปืนบรรจุท้ายหลายยี่ห้อ สไมลส์มาสมทบกับข้าพเจ้าที่ภูคานี้ และข้าพเจ้าก็เร่งเตรียมการจะไต่เขาสูงชื่อ เชียงกุง (Chieng Kung) ในระหว่างที่สไมลส์จะทำวงรอบในภูมิประเทศไปบรรจบกันอีกครั้งที่เมืองไข (Sai) ข้าพเจ้าใช้เส้นทางไปเมืองสิงห์ เดินไปจนถึงสันเขาระหว่างน้าปากับน้ำมา (Nam Ma) แล้วก็เลี้ยวไปทางทิศตะวันตก ทางนั้นขรุขระต้องบุกฝ่าพุ่มพงและเถาวัลย์ที่ขึ้นพ้นเหย้าเรือนของพวกเย้าที่ถูกทิ้งร้างแล้ว แต่ในที่สุดก็ขึ้นไปได้ถึงยอด ซึ่งโชคดีที่ว่าต้นไม้ไม่หนาทึบยัก ข้าพเจ้าจึงพอคลายใจว่าจะโค่นถางได้แล้ว ไม้พวกเฟิร์น สวยงามมากจริงๆ เมื่อถางยอดเสร็จในเช้าวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ หมอกหนาเสียจนกระทั่งมองอะไรไม่เห็น พอตกบ่ายลมพัดขึ้น และมีเมฆมาก ชื่อยอดเขาสูงมักมีคำว่า "เชียง"เป็นอุปสรรคเสมอ มีผู้บอกข้าพเจ้าว่าคำนี้ในภาษาสยามแปลว่าที่สูง (hightland) พันตรี เยรินีบอกข้าพเจ้าว่า เมืองและชาวเมืองในท้องถิ่นนี้ถูกเรียกว่าเชียง แม้ในทุกวันนี้พวกข่าที่อยู่ในที่ราบสูงเมืองพวกนี้ก็ยังถูกเรียกว่า "ข่าเชียง"

งานต้องล่าช้าไปเพราะหมอกเป็นเหตุ แต่ข้าพเจ้าก็พอจะมองเห็นภูมิประเทศโดยรอบได้เป็นครั้งคราว จึงพอจะลงยอดเขาได้ในวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ต้องถางยอดที่อยู่ต่ำลงมาจากยอดเดิม ๒๐๐ ฟุตด้วย เพื่อมิให้กีดขวางทิวทัศน์เมื่อมองจากยอดคำพวน แต่ได้ทิ้งต้นไม้สัญญาณไว้ต้นหนึ่ง ข้าพเจ้าเดินทางต่อไปดาววา (Dao Wa) ลาดเนินโดยรอบมีพวกเย้าอยู่กันเต็ม บางหมู่บ้านมีคนกว่า ๒๐๐ หลังคาเรือน ข้าพเจ้าได้มีโอกาสสนุกกับชาวบ้านที่นั่นหลายหน เขาเอาพลงานเย็บปักไหมงามๆมาขาย และยังมีหนังสือจีนบางเล่มที่คนครัวของข้าพเจ้าอ่านออก ในหมู่คนเหล่านั้นมีช่างเงินอยู่คนหนึ่ง ดูออกจะภูมิใจในผลงานของตนมาก และเท่าที่ข้าพเจ้าได้เห็นแหวน สร้อยข้อมือที่เขาทำแล้ว ก็น่าที่จะภูมิใจได้จริง พวกเย้าเหล่านี้ส่วนใหญ่อพยพมาจากเมืองไล นัยแต่คราวที่ฝรั่งเศสเข้ายึดเมืองนั้น เพื่อจะไปตั้งถิ่นฐานอยู่เมืองสิงห์


๓๐. ชุมชนชาวลาวเต็น (Lanten) -- รัฐสิบสองปันนา

วันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ข้าพเจ้าได้พบเจ้าบุญเลือง (Chao Bum Luang) ที่ท่าเมืองนาง (Ta Maung Nang) เขาไม่ชอบการไต่เขา และข้าพเจ้าก็ไม่อยากให้เขาไปด้วย แต่ทว่าเมื่อใดก็ตามที่ข้าพเจ้าเสียเวลาล่าช้าไป เขาจะอยู่ด้วยหรือไม่ก็ตาม ข้าพเจ้าก็ต้องขึ้นอยู่ในอำนาจเขาอย่างไม่มีทางเลี่ยงได้ เพราะต้องอาศัยเสบียงข้าวจากเขานั่นเอง และเขาก็ไม่เคยละโอกาสที่จะอวดอ้างอำนาจเสียด้วย

แต่แรกข้าพเจ้าหวังจะทำการรังวัดจากเนินเขาหลายๆ ลูก แต่เวลาก็ล่วงเข้ากลางฤดูแล้วถ้าหากล่าช้าก็อาจจะกำหนดตำแหน่งเมืองสิงห์ไม่ได้ ข้าพเจ้าจึงเร่งรีบฝ่าหมอกข้ามช่องเขาต่ำลงไปยังทุ่งราบเมืองสิงห์ ซึ่งอุดมด้วยลำธารหลายสายที่ไหลลงสู่น้ำลา (Nam La) เมื่อใกล้จะถึงหมู่บ้าน ข้าพเจ้าได้พบกับหัวหน้าเผ่าเย้า ๒-๓ คน มีดุมเสื้อโลหะดุนลายพระเศียรราชินีและมีอักษรจารึกว่า "Victory Queen" ข้าพเจ้าตั้งข้อสังเกตเรื่องดุมนั้น และรู้สึกว่า เขาจะรู้เรื่องว่ามันเป็นรูปอะไรอยู่เหมือนกัน ในเวลานั้นข้าพเจ้านึกว่าดุมนั้นคงทำมาจากเหรียญฉาบเงินราคา ๑/๘ รูปี แต่ไม่ได้มีโอกาสพินิจดู แต่ภายหลังได้เห็นมีขายเกลื่อนกลาดในตลาดหนองคาย เมืองสิงห์มีอาณาเขต ๑.๐๐๐ ตารางหลา ล้อมรอบด้วยกำแพงดินและคูเมืองทุกอย่างดูเหมือนสร้างขึ้นใหม่ๆ บ้านเจ้าเมืองอยู่กลางมีรั้วค้านกั้นรอบอย่างแข็งแรง มีถนนหลายสายตัดพื้นที่เป็นส่วนๆ แต่ละส่วนอยู่ในความควบคุมดูแลของข้าราชการแต่ละคนในทุ่งซึ่งกว้างราว ๔- ๖ ไมล์ และยาวสัก ๑๑-๑๒ ไมล์นั้น มีหมู่บ้านผู้อพยพมาตั้งถิ่นฐานจากเชียงตุง ๗ หมู่บ้าน จากเมืองหุน (maung Hun) และเมืองฮำ(Maung Ham) แคว้นสิบสองปันนาประมาณ ๘ หมู่บ้าน ทุ่งนี้ยังจะปรับปรุงให้ดีขึ้นได้อีก พอเลี้ยงคนได้เป็นพันๆ ที่เดียว

ข้าพเจ้ากางกระโจมพักในบริเวณวัดตรงใกล้ทางออก หลังจากไปเยี่ยมเจ้าเมืองซึ่งเป็นชายฉลาดวัยประมาณ ๔๐ เป็นลุงหรืออาของเจ้าแคว้นเชียงตุง เขาไม่ค่อยพอใจนักที่รัฐเล็กๆ ของเขา ถูกแบ่งออกเป็นสองส่วน ขึ้นกับสยามส่วนหนึ่งและพม่าอีกส่วนหนึ่ง ทางตะวันตกของเมืองสิงห์ มียอดเขาสูงสัก ๗,๐๐๐ ฟุตตระห่านล้ำริมแม่น้ำโขงซึ่งอยู่ห่างออกไปเป็นเส้นตรงไม่ไกลนัก
บนภูเขา มีชาวเขารักสงบที่น่าสนใจเผ่าหนึ่ง เรียกว่าพวกอะข่า (Aka) พวกนี้ลงมาติดต่อค้าขายที่ตลาดนัดเมืองสิงห์ ซึ่งจัดขึ้นทุกๆวันพฤหัสบดี เช่นเดียวกับที่อื่นๆ ในภาคเหนือ โดยมากในทุ่งนามีพวกพ่อค้าจีนตั้งค่ายพักอยู่มาก พวกนี้ไม่เคยเดินทางไกลกว่าเมืองสิงห์เลย พอรับซื้อฝ้ายดิบได้มากพอก็จะเดินทางกลับยูนนานทางเชียงรุ้ง ใช้เวลาประมาณ ๘ วัน

เมื่อได้พบจุดที่จะทำการแบ่งซอยค่า (Interpolation) ข้าพเจ้าก็ทำการเชื่อมโยงจุดนั้นเข้ากับจุดที่อยู่นอกเมืองทางทิศตะวันออก ซึ่งเป็นจุดที่ทำการรังวัดละติจูด และอะซิมุทแล้ว ด้วยการทำวงรอบอย่างประณีต ต่อจากนั้นข้าพเจ้าก็เดินทางไปพบเจ้าราชบุตรแห่งน่าน ซึ่งเดินทางมาโดยกระบวนช้างครึ่งยศ มีฆ้องกลองนำหน้าเอิกเกริกพอดู แต่เจ้าเมืองไม่ได้ออกไปต้อนรับเอง ท่านเจ้าเป็นผู้แก้ปัญหาโดยเรียกตัวเจ้าเมืองไปพบ ข้าพเจ้าไม่สงสัยเลยว่าทั้งสองคนจะเป็นมิตรที่ดีต่อกันอย่างยิ่ง

ถึงเวลาที่ควรจะเคลื่อนย้าย เมื่อออกจากน่าน ข้าพเจ้าเอากำลังทหารมา ๓๐ คน ปัจจุบันเหลือไว้เพียง ๙ คน นอกนั้นจ่ายเงินแล้วให้กลับบ้านไปทั้งหมด วันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๑๘๙๒ หมอกหนามาก ข้าพเจ้าออกเดินทางไปภูบ่อกาด (Pubakat) คนของเราตามไปโดยทางเกวียนข้ามทุ่ง ต่พอถึงช่องเขาซึ่งสูงขึ้นไปอีกสักไม่กี่ร้อยฟุต ก็ละจากทางเกวียนตัดขึ้นทางตะวันออกเลียบทางสันเขา ช่องเขานั้นมีความสำคัญเพราะเป็นเส้นเขตแดนระว่างสิบสองปันนา น่าน และสิงห์ ระหว่างเดินตามสันเขาสามารถมองเห็นเมืองมาง(Maung Mang)และทุ่งนาเมืองปาง (Maung Pang) อยู่ในหุบเขา เมื่อถึงยอดภูบ่อกาด ข้าพเจ้าสั่งตัดต้นไม้แต่หมอกหนาเสียจนกระทั่งมองไม่เห็นอะไรเลย เจ้าบุญเลื่องได้ไห้แกะเปลือกไม้ต้นใหญ่เป็นเครื่องหมายที่ระลึกที่ได้มาเยือน และให้ถือเป็นจุดหมายเขตแดนด้วย

ต่อนั้นข้าพเจ้าเดินทางเลียบฝั่งน้ำตุ่ง (Nam Duang) ตรงไปเมืองหลวงภูคา (Muang Laung Puka) ทางขรุขระ น้ำท่วมตลอด จนกระทั่งถึงจุดร่วมน้ำทา (Nam Ta) จึงละจากแนวลำน้ำ ที่นั่นเองเราพลหมู่บ้านร้างของพวกลานเต็น และหลุมฝั่งศพใหม่ๆ ด้วย พวกชาวบ้านพากันอพยพไปอยู่ในปกครองของเมืองสิงห์กันหมด ออกจากน้ำทาเลี้ยวขวา ทางซึ่งสภาพไม่เลวนัก ก็ค่อยไต่ระดับขึ้นลูกเนินซึ่งถูกโค่นถางสำหรับใช้เป็นที่เพาะปลูกอย่างกว้างขวาง ผ่านหมู่บ้านขนาดใหญ่ของชาวลานเต็มหลายแห่งล้วนมีผลิตผลฝ้ายดิบเป็นห่อใหญ่ๆ เตรียมพร้อมสำหรับส่งไปเมืองสิงห์ พวกเขามีความฉลาดเฉลียวเป็นพิเศษในการใช้กำลังน้ำตำข้าว และฝัดข้าว ในที่อื่นๆ นั้นใช้วิธีให้เด็กสาว ๒-๓ คน ยืนบนปลายไม้ยาวที่อีกด้านหนึ่งเชื่อมติดกับตะลุมพุกหนักๆ แล้วผลัดกันก้าวขึ้นก้าวลงอย่างสม่ำเสมอ แต่ที่นี่ใช้กล่องใส่น้ำแทนคน กล่องนั้นด้านล่างมีบานพับเปิดเข้าใน เมื่อถูกน้ำหนักน้ำถ่วงลงจนถึงจุดที่กำหนดไว้ ส่วนกันจะถูกดันขึ้นให้น้ำไหลออก แล้วกล่องเปล่าซึ่งเบาลงก็จะเคลื่อนขึ้นสู่ที่เดิมเพื่อรับน้ำจนเต็มอีกครั้งวนเวียนไปเช่นนี้

เมื่อจวนจะถึงเมืองหลวงภูคา ข้าพเจ้าได้พบกองเกวียนซึ่งมีลูกม้ามาราว ๕๐ ตัว ขนฝ้ายดิบผ่านเมืองลา (Maung La) จะไปเมืองกุ(Maung Ku) ในยูนนาน ผู้นำกองเกวียนอยากรู้ว่าเขาจะสามารถไปเมืองสิงห์โดยทางที่ข้าพเจ้ามาได้หรือไม่ ข้าพเจ้าได้อธิบายว่ามีช่วงหนึ่งที่พวกม้าต่างบรรทุกของผ่านได้ยาก แค่เขาก็คิดว่าจะทดลองผ่านไปในฤดูหน้าเรามาถึงจุดที่น้ำทาร่วมกับน้ำท่ารุ้ง (Nam Tarung) ต้นน้ำสายหลังนี้มีบ่อเกลือซึ่งน่าแปลกใจที่ถือว่าอยู่ในปกครองของเมืองลา เขตแดนสิบสองปันนายื่นเลยสันปันน้ำออกไปเป็นรูปสามเหลี่ยม รวมอาณาบริเวณที่มีย่อเกลือเข้าไว้ด้วย ข้ามลำน้ำทาไปก็ถึงทุ่งราบของเมืองหลวงภูคา ซึ่งไม่กว่างใหญ่เท่าทุ่งเมืองสิงห์ แต่ก็อุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การปลูกข้าวเช่นเดียวกัน เป็นพื้นที่ที่ใช้ทำการเกษตรมา ๖๐-๗๐ ปีแล้ว และเจ้าหลวงเมืองน่านก็ได้เริ่มตั้งทุ่งตอนใต้ พ่อค้าจีนนำแร่เหล็กและภาชนะทองแดงมาแลกฝ้าย หมอกจัดมากจนข้าพเจ้ากำหนดตำแหน่งได้แต่การรังวัดละติจูดและอะซิมุทไปยังยอดเขาที่หมายไว้เท่านั้น ส่วนลองติจูดต้องตรวจสอบโดยวิธีการวงรอบ

วันที่ ๒๙ กุมภาพันธ์ ข้าพเจ้าเดินทางจากเมืองหลวงภูคาไปเมืองไซ(Maung Sai) ตัดผ่านหมู่บ้านลาวเต็นหลายแห่งที่ปลูกยาสูบ คราม ฝิ่น ข้าวโพด และข้าวไร่ ข้ามสันเขาที่แบ่งน้ำให้ไหลลงบนเมืองหลวงภูคา และเป็นที่หมายเขตถิ่นฐานของพวกลาวเต็นด้วยบริเวณนั้นพวกขมุ(Kamus) ได้โค่นถางลาดเขาที่ค่อนข้างชัน จนกระทั่งน่าสงสัยว่าฝนที่ตกชุกในเขตนี้จะชะเอาเมล็ดพันธ์ที่หว่านปลูกไปเสียหมดละหรือ ทางทิศตะวันออกคือเขาดงวิน(Dong Wing) ซึ่งมีป่าปกคลุมทึบ แต่ข้าพเจ้าก็ได้ข่าวว่าพวกเย้าขึ้นไปตั้งถิ่นฐานอยู่กันแล้ว อีกไม่กี่ปีก็คงถูกโค่นลงจนเกลี้ยง ที่ปากน้ำหา (River Ha) มีหมู่บ้านขมุแห่งหนึ่งชื่อ ปากหุ่ม (Pak Hum) ซึ่งมีวัดและมีพระอยู่ด้วย หลังจากเดินบุกมาตามทางทุรกันดาร เราก็ออกมาถึงท่าริมน้ำทาตรงบริเวณใต้ปากน้ำเซ (Nam Se) เล็กน้อย

ในเมื่อเราเข้ามาอยู่ในอาณาเขตหลวงพระบางแล้วเช่นนี้ เจ้าพนักงานฝ่ายน่านก็อยากจะให้ส่งลูกหาบกลับไป แต่ข้าพอจ้ายังไม่มีเงินจะจ่ายให้เป็นค่าจ้าง ต้องรอจนกว่าจะพบหลวงภูมิวัดสถาน(laung Pu Wat Satan) ซึ่งจะมาจากเมืองไซเสียก่อน จึงจำเป็นต้องรอให้พวกเขารออยู่สักสองวัน หลังจากที่ได้มีการเปลี่ยนแปลงบางอย่างแล้ว เจ้าพนักงานเมืองน่านก็ยอมตกลงตามนี้

เขตแดนระหว่างน่านและหลวงพระบาง คือตามลำน้ำทาจากน้ำเซมา ส่วนที่ตัดข้ามลำน้ำทาต่อไปนั้นเป็นแนวที่ยังเป็นกรณีพิพาทระหว่างทั้งสองฝ่ายอยู่ น่านถือว่าเขตแดนของตนแผ่มาถึงลำน้ำทา แต่ฝ่ายหลวงพระบางก็ยืนยันว่าการที่ร่านล่วงล้ำเข้ามาในเขตลุ่มน้ำทานั้น ถือว่าเป็นการรุกราน

เส้นทางทอกข้ามเนินหลายต่อหลายลูก ไม่ว่าจะมองไปทางทิศใดก็เห็นว่ามีประจักษ์พยานแสดงการเพาะปลูกอย่างกว้างขวาง เราย่ำผ่านหมู่บ้านของพวกที่อพยพมาจากสิบสองปันนา และสิบสองจุไทหลายแห่ง ล้วนมีคนจำนวนมาก เห็นพวกผู้ชายแบกเกลือเดินกันมาเป็นหมู่ๆ เกลือนั้นสกัดเป็นรูปก้อนอิฐ ขนาด ๙ x ๓ x ๒ ๑/๒ นิ้ว คุณภาพดีมาก มาจากบ่อหลวง(Baw Laung) และบ่อเห (Baw He)

วันที่ ๔ มีนาคม ข้าพเจ้าทำงานวงรอบได้ถึง ๑๗ ไมล์ นับว่าเป็นระยะทางยาวเป็นพิเศษ ทั้งนี้เพราะทางสะดวกและข้าพเจ้าทำอยู่ตลอดวัน ช่วงระยะค่อนข้างใกล้ และเนื่องจากป่าทึบต้องอ่านเข็มทิศบ่อยครั้งจึงเสียเวลามาก ข้าพเจ้าพักแรมที่ผาผึ้ง(Pa Pung) ซึ่งเป็นโขดหินปูนโดดสูง ๒๐๐ ฟุต อยู่ตรงจุดร่วมทางจากเมืองลา แคว้นสิบสองปันนา ไม่ไกลจากนั้นนักเป็นที่พวกขมุทำเหมืองตะกั่วอยู่

ชาวยุโรปคนแรกที่เคยมาถึงแคว้นสิบสองปันนาคือ พลโท แมคเลอด (General Meleod) ผู้ล่วงลับแล้ว เขาอยู่ที่เชียงรุ้ง ค.ศ. ๑๘๕๕ รัฐบาลอินเดียส่งตัวจากมะละแหม่ง เพื่อให้มาลอบถามเรื่องความสะดวกทางการค้า ๔๐ ปีก่อนสภาวการณ์ของท้องถิ่นก็ดุจเดียวกับปัจจุบันนั้นเอง การปกครองเป็นอนาธิปไตย เจ้าหลวงยังต้องหนีจากเชียงรุ้งไปพำนักอยู่ที่ใดที่หนึ่งทางทิศที่ไปเมืองสะไม (smo) ผู้ที่ตั้งตำแหน่งเจ้าหลวงคือ อังวะ (Ava) และจีน แต่เมื่อเกิดความวุ่นวายขึ้นที่มัณฑะเล (Mandalay) อังวะก็พลอยระส่ำระสายไปด้วยแม้จะไม่มากเท่ารัฐฉานอื่นๆ เนื่องจากอยู่ชิดแดนจีน แม่น้ำโขงเป็นเส้นเขตแดนระหว่างรัฐคู่แข่งทั้งสอง และเป็นต้นเหตุของกรณีพิพาท พลโทแมคเลอด ได้เขียนไว้ว่า "ต่อจากนั้นฝ่ายพม่าได้ตั้งมหาวัง (Maha Wang) โอรสที่สองของเจ้าธีวัน (Chao Thi Wan) ขึ้นอีก ทั้งเจ้ามหาน้อย (Maha Noi) และเจ้ามหาวัง ครองอยู่ร่วมระยะเวลาเดียวกัน คนหนึ่งอยู่ถึงฝั่งซ้าย และอีกคนหนึ่งอยู่ฝั่งขวาของแม่น้ำโขง แต่ไม่ใคร่จะเป็นปกติสุขนัก มักจะมีการรบราฆ่าฟันกันเป็นประจำ แม้ฝ่ายมหาน้อยจะได้รับการช่วยเหลือจากหลวงพระบางและน่าน แต่ดูเหมือนว่าฝ่ายมหาวัง จะประสบความสำเร็จมากกว่า ระหว่างเกิดกรณีพิพาททั้งฝ่ายพม่าและจีนจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวด้วยเลย เมื่อมหาน้อยหายตัวไป ฝ่ายจีนจึงยอมรับมหาวัง

ในอีกแห่งหนึ่ง พลโท แมคเลอด เขียนไว้ว่า "ราชสำนักอังวะช่วยเหลือโอรสของมหาวังและฝ่ายจีนก็ดุจกัน"

ข้อนี้แสดงว่า ประเทศที่มีบทบาทเกี่ยวข้องกับสิบสองปันนาได้แก่พม่า และจีนเท่านั้น อีกประการหนึ่งยังเห็นได้ชัดว่า เชียงตุงและเชียงรุ้งมีสัมพันธภาพระหว่างกันอย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้นเรื่อยๆ มาจนปัจจุบัน และมีผลประโยชน์ผูกพันกันแนบแน่น

พลโท แมคเลอด เขียนไว้อีกว่า "ไม่น่าเป็นได้ที่ชอบวา (เจ้าฟ้า) แห่งเกียงตอง(Kieng Tong) โดยเฉพาะ (องค์ที่ธิดาหมั้นกับโอรสท้าวมหาวัง) พวกเจ้าเกียงเขง (Kieng Kheng) และเมืองเขง (Maung Kheng) จะเข้ามาเกี่ยวพันกับสถานการณ์ที่เป็ฯอยู่โดยส่งทหารเข้ามา พวกทหารเหล่านี้คอยเฝ้าดูว่า อะไรจะเกิดขึ้นบ้าง และจัดการตามข้อตกลงที่ปรึกษากันแล้วเท่านั้น"

การที่จะกำหนดว่ารัฐทั้งสิบสองในแคว้นสิบสองปันนาได้แก่รัฐใดบ้าง ไม่ใช่เรื่องง่าย พวกชาวฉานที่อยู่ในแคว้นนั้นเรียกว่าพวกลู้ (Lu) เหมือนกันหมด เป็นอารยธรรมชั้นดีที่เดียว แต่เดินอาจแบ่งออกเป็น ๑๒ กลุ่มย่อยก็ได้ แต่เจ้าหลวงผู้มีอำนาจสูงสุดประทับอยู่ที่เมืองหลวงคือ เชียงรุ้งหรืออลาเว (Alave) ริมฝั่งน้ำโขง ความยากลำบากข้อหนึ่งอยู่ที่ชื่อเมืองลา (La) ซึ่งมีใช้บ่อยๆ แต่ต่างระดับเสียง และหมายถึงต่างเมืองกันด้วย

ที่ริมน้ำคู บริเวณสันปันน้ำด้านตะวันออกเป็นเส้นเขตแดนระหว่างสิบสองปันนาและสิบสองจุไท ส่วนสันปันน้ำด้านเหนือปันแดนระหว่างสิบสองปันนาและประเทศจีนนั้นคือแคว้นอู แบ่งเป็นอูเหนือลอูใต้ (U Nua - U Tai) ซึ่งเป็นแหล่งเกลือ และเชียงของอยู่บนยอดน้ำอู มีไร่ชาที่มีชื่อเสียงลือเลื่อง คือไอบัง และไอวู ซึ่งคนจีนเป็นผู้จัดการ และเป็นผู้เลือกเอาพนักงาน ข้าราชการที่มีตำแหน่งควบคุมกันเองด้วย พวกลู้มีเจ้าผู้ครองซึ่งได้รับมอบหมายอำนาจมาจากเจ้าหลวงเมืองเชียงรุ้ง รัฐด้านตะวันออกของแม่น้ำโขงมี ๕ รั้ฐ คือ ลาเหนือ (La Nua) ลาใต้ (La Tai) พง (Pong) หิง (Hing) เชียงของ (Chieng Kong) และอู ลาใต้อยู่ใกล้เมืองสิงห์ เป็นถิ่นที่มีชื่อทางเหมืองเกลือ บ่อเกลือที่ดีที่สุดชื่อบ่อเห มีเกลืออยู่ใต้ผิวดินลึกลงไปเพียงประมาณ ๑๐ ฟุต

ด้านตะวันตกของแม่น้ำโขงมีอีกหลายรัฐ ไห่ (Hai) และหลิง (Ling) วัง (Wang) กับพง (pong) ปัน (Pan) และเชียงโล (Chieng Lo) งอด (Ngot) กับออง (Ong) เจมัง (Che Mong) และหลง (Long) เมืองหลวงคือเชียงรุ้งมีอำนาจปกครองทั้งสองฝากฝั่งแม่น้ำโขงฟากตะวันตกได้แก่เมืองคอน (Kon) หาม(Ham) และหัน (Hun) ฟากตะวันแกได้แก่เมืองเว็น (Wen) และนำ (Num)

ข้าพเจ้าได้พบหลวงภูมิวัดสถานซึ่งนำเงินมาด้วย จึงได้จ่ายเงินให้แก่ลูกหาบที่มาจากแคว้นน่าน สไมลส์ก็มาถึงพอดี เชื่อมโยงงานวงรอบจากเมืองไซเข้ากับงานของข้าพเจ้า เราเดินทางต่อไปพักแรมที่บ้านเก่าน้อย (Ban Kao Noi) เส้นทางที่ผ่านเดินสะดวก มีคนใช้ประจำ ผ่านข้ามลูกเนินอันเป็นถิ่นฐานของแม้วเย้า และขมุ ทั่วไปทุกทิศ ได้พบขบวนม้าต่างลาต่างบรรทุกฝ้ายดิบมุ่งหน้าไปยูนนานหลายขบวน หมู่บ้านนี้มีสถานีระวังภัยอยู่แห่งหนึ่ง ไม่ว่าจะมีผู้วิจารณ์การปกครองของหลวงพระบางอย่างไรก็ตาม ที่เห็นได้ชัดก็คือชาวบ้านเป็นสุขที่ได้รู้สึกว่าปลอดภัยกว่าเมื่อ ๘ ปีก่อน คณะกรรมาธิการได้วางกฏเกณฑ์ให้เป็นระบบใช้แบบเดียวกันทั่วทั้งแคว้น พ้นจากความวุ่นวายมาได้ มีผู่กล่าวว่าประชาชนถูกเก็บภาษีอย่างหนักเกินไป แต่เท่าที่ข้าพเจ้าเข้าใจมีแต่ค่ารัชชูปการเก็บจากชายฉกรรจ์คนละ ๔ รูปีเท่านั้น ไม่มีอย่างอื่นอีก การเกณฑ์แรงงานหรือการพนันถูกยกเลิกไปแล้ว การเสพฝิ่นและสุราก็อยู่ในข่ายควบคุม



๓๑. งานวงรอบเมืองไซ
วันที่ ๗ มีนาคมเวลาประมาณ ๘ นาฬิกา เราเดินทางมาถึงเมืองไซ ตั้งค่ายพักในวัดบนเนินเขาเป็นที่ร่มเย็นและพ้นจากการจับจ้อง ข้าพเจ้าได้รับจดหมายจากพระยาฤทธิรงค์(P'ia Ridhirong) กรรมาธิการ (ข้าหลวงใหญ่) ประจำหลวงพระบางฉบับหนึ่ง และจากเจ้าราชวงศ์คนเดิมซึ่งปัจจุบันคือเจ้าหลวงแห่งหลวงพระบางอีกฉบับหนึ่ง แสดงความกรุณาอย่างยิ่งมาทั้ง ๒ ฉบับ ท่านเจ้านั้นเป็นสหายเก่าของข้าพเจ้าเอง

ข้าพเจ้ามีโอกาสดีได้รู้จักกับพระยาฤทธิรงค์ หลังจากเริ่มเข้ารับราชการในสยามได้ไม่นานนัก เวลานั้นท่านกำลังร่วมมือกับพระยาสุรศักดิ์จัดตั้ง และปรับปรุงระบบบริหารกองทัพบก

การที่เราเคยขัดแย้งกันเล็กน้อยมาก่อนในครั้งกระนั้นทำให้ข้าพเจ้าคาดว่า เมื่อเข้ามาทำงานภายในอาณาเขตที่ท่านปกครองอยู่คงจะต้องพบอุปสรรคการขัดขวางบ้างไม่มากก็น้อย จึงได้เขียนจดหมายไปถึงท่านตั้งแต่อยู่เชียงใหม่ ผลลัพธ์ที่ปรากฏทั้งน่าแปลกใจและน่ายินดียิ่ง ความช่วยเหลือและความเห็นอกเห็นใจที่ท่านให้แก่ข้าพเจ้านั้นมากกว่าที่ข้าพเจ้าได้เคยรับจากที่อื่นหรือคนอื่นในสยาม ไม่ว่าข้าพเจ้าจะไปที่ใดในแคว้นนั้น ข้าพเจ้าย่อมจะได้รับการสนับสนุนทุกเมื่อ ทำให้การทำงานกลายเป็นความชื่นบานอย่างที่ไม่เคยได้เป็นมาหลายปี จดหมายที่มาถึงนั้นได้ใส่ซองเรียบร้อยผนึกตีตราไปรษณีย์ของหลวงพระบาง

สไมลส์ได้ถางยอดเนินเขาสูงเด่นด้านทิศเหนือแล้ว และลงรายละเอียดงานรอบเมืองไซเพิ่มด้วย ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้เลยทุ่งนาไปมียอดเขาสูงโดดอยู่ต่อยอดหนึ่งชื่อหิปี(Hipi) ข้าพเจ้าปีนขึ้นไปถางเอง ทุ่งนาที่เมืองไซนี้สามารถใช้วัดเส้นฐานยาว ๑ ไมล์ ได้อย่างสะดวก และสไมลส์ก็ทำการวัดอย่างประณีต จำเป็นที่เราจะต้องเชื่อมโยงเมืองไซเข้ากับการสามเหลี่ยมที่จะต้องทำไปยังหลวงพระบาง แต่หมอกตกหนาทึบเหลือเกิน แม้ในวันอากาศดีระยะที่พอมองเห็นได้ก็เพียงประมาณ ๔ ไมล์เท่านั้น เวลาหมดไปกับการแบ่งซอย(ตัดระยะ)เส้น และพยามยามที่จะทำการรังวัดดาว คืนหนึ่งมีแสงดาวริบหรี่ ข้าพเจ้าพยายามที่จะทำการรังวัด แต่ถูกพวกแมลงรุมเสียจนกระทั่งทนไม่ไหว พวกลูกมือพากันว่าภูติผีปีศาจพยายมขัดขวางไม่ให้ข้าพเจ้าทำงานสำเร็จ ข้าพเจ้าถางป่าทึบบนเนินเล็กๆ ลูกหนึ่ง แล้วพบว่ามีพระเจดีย์องค์หนึ่งอยู่บนนั้น โดยไม่มีใครสักคนได้เคยสงสัยมากก่อน

เมืองไซมีชื่อเสียงในเรื่องสินแร่เหล็ก เนินเขาเตี้ยๆ ในบริเวณใกล้เคียงชื่อภูเหล็ก (Pu Lek - the Iron Hill) นั้น ว่ากันว่าเป็นเหล็กทั้งลูก ทางตอนใต้น้ำต่ำจากจุดร่วมกับน้ำปก (nam Pok) ลงไปคือเมืองลา (Maung La) ซึ้งเป็นแหล่งเสือใหญ่ ทุ่งเกลืออยู่บริเวณชายน้ำ จึงทำเหมืองได้เฉพาะในหน้าแล้ง แลเห็นเกลือเป็นเกล็ดเรืองแสง เขาขุดผิวดินอย่างเบามือใส่ตะกร้ามายังเพิงไม่ไผ่ แล้วเขาก็เทลงในถังปูน ใส่น้ำลงกวน น้ำเกลือจะไหลไปตามข้างปล้องไม่ไผ่ที่ก้นถังเข้าไปในรางซึ่งขุดไว้ในดินและใช้ดินเหนียวฉาบทั่วกันน้ำซึม เขาเอาไม่ไผ่มาตัดปล้องติดข้อทำเป็นภาชนะตักน้ำเกลือนั้นไปวางบนเตาปูนซึ่งก่อยาว ๑๕ ฟุต ลึก ๒ ฟุต และกว้าว ๑ ฟุต พื้นล่างเอียงเป็นมุมประมาณ ๑๕" โดยวางเรียงปล้องขนานไปตามความยาว ใส่ฟืนจากด้านปลายเพียงด้านเดียว เตาหนึ่งๆ ผลิตเกลือได้วันละประมาณ ๑๐๐ ปอนด์ ซึ่งจะนำไปขายที่หลวงพระบางได้ราคา ๓ รูปี น้ำที่ไหลออกจากถังนั้นจะมีคนคอยชิมอยู่เสมอเพื่อให้แน่ใจว่า เหลือไหลไปกับน้ำหมดสิ้นแล้วก็จะเทถังถ่ายเอาดินไปโรยไว้ขายน้ำให้ซับเอาเหลือไว้ใหม่อีก เมืองลาต้องส่งส่วยเหลือให้แก่หลวงพระบางปีละ ๒๐๐ ปอนด์ เป็นค่าสิทธิสำหรับการทำเหมืองเกลือชายน้ำนี้

เมืองลาอยู่ริมน้ำปก ซึ่งต้นน้ำอยู่บนดอยหลักหาน (Lakhan) ซึ่งสันนิษฐานว่าน่าจะมีเสาหลักปักหมายเขตแดนระหว่างสิบสองปันนาและหลวงพระบางอยู่ที่นั่นมาก่อน แต่ว่ากันว่าพวกลู้ลอบมาถอนออกเสีย เพื่อพวกตนจะได้ข้ามแนวสันปันน้ำได้อย่างอาจหาญ

ตะกั่วและเงินพอหาได้จากเทือกเขาแถบนี้ และที่เมืองเงิน (Maung Ngun) นั้นก็น่าที่จะมีอะไรอื่นมากกว่าจะมีเพียงชื่อ เขานั้นอยู่ห่างตัวเมืองสัก ๔ - ๕ ไมล์ ถนนไปบ่อเกลือทอดข้ามไปที่เดียว ข้าพเจ้าส่งผู้ช่วยชาวสยามไปตรวจสอบรายละเอียดในบริเวณนั้นตัวเมืองซึ่งเมื่อ ๘ ปีก่อนยังร้างอยู่ บัดนี้มีคนอพยพจากสิบสองปันนาตั้งหลักฐานอยู่เต็มไปหมด

วันที่ ๒๒ มีนาคม ข้าพเจ้าออกจากเมืองไซ ระหว่างเดินทางพบเด็กหญิงอายุสักห้าขวบเดินเตาะแตะอยู่ตามลำพัง ดูท่าทางกำลังหิว ข้าพเจ้าพาตัวมากินข้าวกับกล้วยแล้วจึงพาตัวไปล้างหน้าในลำธาร ปรากฏว่าแม่หนูดิ้นรนเป็นการใหญ่ ข้าพเจ้านำแกมาถึงบ้านนาหวง (Ban Na Huang) และมอบตัวให้แก่ผู้ใหญ่บ้านนำไปเลี้ยง พร้อมกับให้เงินช่วยด้วยอีก ๒๐ รูปี พ่อแม่ของแกคงจะเป็นแม้ว คงทิ้งลูกซึ่งท่าทางเป็นเด็ก ปัญญาอ่อนไว้ระหว่างย้ายหมู่บ้านอาจเป็นไปได้ว่าผู้เป็นแม่อาจล้มป่วย เมื่ออุ้มลูกไม่ไหวก็ปล่อยในเส้นทางที่คนเดินผ่านไปมาเสมอ เพื่อให้คนที่พบพาไปเลี้ยงและตามที่ข้าพเจ้าคาด หล่อนอาจกลับมาตามหาลูกอีกในภายหลัง

สไมลส์ทำงานวงรอบอย่างประณีตตรงไปยังเมืองงา (Maung Nga) และโยงวงรอบเข้ากับยอดเขาสูงเด่นใกล้ตัวเมืองนั้น เขาได้ตั้งกระเช้าไว้บนยอดเขาด้วย ข้าพเจ้าเดินทางต่อไปยังเมืองเพ็ญหรือเบน (Maung Ben) พอถึงจุดที่ทางเดินตัดกับสันปันน้ำอูก็เลี้ยวไปตามสันเขาปีนขึ้นไปบนยอดนอนช้าง(Nawn Chang) ซึ่งมองเห็นได้ชัดจากเมืองไซ หนองช้าง (Nawng Chang) ไปทางตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ ๒ ไมล์เป็นสันเขา ซึ่งสูงกว่าและปิดบังทัศนียภาพเสียจนสิ้น ข้าพเจ้าถางยอดเขาด้านใต้สุด แต่ก็ยังมองไม่เห็นเมืองไซ จึงจำเป็นต้องทำงานที่ยอดเขาทั้งสองนั้นด้วย

คราวหนึ่งระหว่างเดินทางกลับจากยอดเขาด้านตะวันออกเฉียงใต้มายังค่ายพัก ฝนเกิดตกหนักมือจนข้าพเจ้าหลงทาง เดินผ่านเข้าไปในหมู่บ้านแม้ว ถึงบ้านหลังใหญ่เห็นชายหญิงและเด็กมากมายนั่งชุกกันเป็นกลุ่ม เขาประหลาดใจและออกจะตกใจที่เห็นข้าพเจ้าแต่ในเมื่อเขารู้ดีว่าจะไปค่ายพักได้ทางไหน ข้าพเจ้าจึงขอร้องให้เขาชี้ทาง ครู่เดียวก็พบทางและกลับมาถึงที่พักได้ด้วยความโล่งอก และแม้จะเปียกชุ่มโชกก็ดีใจเป็นกำลังเพราะแน่ใจว่าหมอกจะจาง และข้าพเจ้าจะได้ทำงานต่อให้สำเร็จสมประสงค์

วันที่ ๒๘ มีนาคม อากาศเริ่มดีน่าชื่นใจ ถึงวันที่ ๓๐ ข้าพเจ้าก็ทำการรังวัดบนยอดเขากี่นาง (Ki Nang) ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ได้สำเร็จ ยอดเขานี้มีลักษณะคล้ายจะเป็นที่ฝั่งศพของแม้วคนหนึ่ง แต่พวกแม้วไม่ยอมเชื่อว่ามีหลุ่มศพอยู่ที่นี่น ข้าพเจ้าเสียดายที่ตอนนั้นก็ไม่มีความอยากรู้อยากเห็นมากพอที่จะทำการตรวจสอบ

มียอดเขาลักษณะดีอยู่ทางทิศใต้ยอดหนึ่ง (ผาลาด - Parat) ห่างออกไปประมาณ ๑๕ ไมล์ เป็นที่เราต้องขึ้นไปโค่นถางต้นไม้ด้วย แน่นอนที่ว่าไม่มีใครรู้จักภูเขานี้สักคนเดียว แต่ในเมื่อยังเห็นยอดมันอยู่ด้วยตาเช่นนี้ ข้าพเจ้าไม่อาจจะถอยหลัง เป็นอันว่าบุกต่อไป ตามสันแบ่งน้ำงา (Nam Nga) และน้ำเพ็ญ (Ma, Ben) เรื่องเสบียงนั้นเป็นปัญหาใหญ่ที่เดียว ในเมื่อพอจะมองเห็นหมู่บ้านเย้าหลายแห่ง และทางเดินไปอีกหลายหมู่บ้าน ข้าพเจ้าจึงตัดสินใจเดินต่อตามแนวสันแบ่งน้ำนั้นเรื่อยไป ซึ่งนับว่าทำถูกเพราะพอเดินทางไปได้ราว ๕ - ๖ ไมล์ ก็เข้าถึงกลางหมู่บ้านเย้าที่ค่อนข้างเจริญมีทั้งลุกม้าลูกแพะทั้งยังมีทางเดินชั้นดีทอดไปตรงยอดเขาที่ข้าพเจ้าอยากจะไต่ขึ้นไปนั้นด้วย ระหว่างทางข้าพเจ้าได้พบหนุ่มเย้านักขับเกวียนอารมณ์รื่นคนหนี่งซึ่งผิวปากเล่นเวลาไม่มีอะไรจะพูด ขับเกวียนเทียมวัวเดี่ยวมาตามลำพัง พอได้ยินเสียงเขา พ่อคนนำทางของข้าพเจ้าก็คว้าพิณแยยยิวขึ้นมาอวดฝีมือให้ข้าพเจ้าได้เห็นด้วยความเบิกบายว่า เขามิได้มีความสามารถด้อยไปกว่าเย้าคนนั้นเลย ข้าพเจ้านั้นไม่เคยคิดเลยว่าจะได้ยินเสียงพิณแบบยิวในแถบนื้ และย่ามของคนนำทางนั้นเป็นแหล่งสุดท้ายที่ข้าพเจ้าจะคิดไปค้นหาพิณ

ข้าพเจ้าหยุดเพื่อเจราจากับพวกเย้า หาคนนำทางไปผาราด ซึ่งพอมองเห็นอยู่สิบๆ ไต่เนินขึ้นไปได้สักหน่อยก็พบที่ไร่ร้าง พอทำให้แน่ใจได้ว่าพวกนี้คงจะพอรู้ทางดีเป็นแน่ ข้าพเจ้าได้เอาเงินออกจ่ายลวงหน้าซื้อข้าว ให้เขานำขึ้นไปส่งให้บนยอดเขาด้วย และปรากฎว่าไม่ต้องเสียใจเลยในการที่เลือกไว้ใจชาวเขาเหล่านี้ เพราะได้รับข้าวอย่างซื่อตรงตามกำหนดเวลาอย่างที่สุด เราเดินทางต่อไปทั้งๆ ที่ ฝนตกหนักผ่านหมู่บ้านร้างหลายแห่ง กระนั้นเมื่อเดินกันวันทั้งวันก็ยังไม่ถึงยอดเขา รุ่งขึ้นทั้งเมฆทั้งหมอกก็หนาทึบเสียจนดูไม่ออกว่ายอดเขาอยู่ตรงไหน ทั้งๆที่ข้าพเจ้าแน่ใจว่าคงอยู่ใกล้มากแล้ว คนนำทางชาวบ้านบอกว่าไม่มียอดไหนสูงกว่ายอดที่เรากำลังยืนอยู่อีกแล้ว และเขาก็อยากจะกลับลงไปหาญาติที่กำลังป่วยอยู่ในหมู่บ้าน ข้าพเจ้าจึงปล่อยเขากลับไป แล้วออกคำสั่งให้ตั้งค่ายพักริมน้ำ ทิ้งคนไว้สำหรับลาดตระเวน ๒-๓ คน ตนเองออกเดินทางไปไม่นานก็พอรู้ชัดว่าที่เดิมไม่ใช่ยอดสูงสุดแน่ ข้าพเจ้าขึ้นไปได้ยอดสุดก่อนที่จะกลับมาถึงค่ายพักในตอนเย็น และวันรุ่งขึ้นเราก็เคลื่อนย้ายขึ้นไปทั้งหมด พอวางกระโจมพักที่ใกล้ๆ ยอดเขาเสร็จเราก็เริ่มงานตัดต้นไม้ ซึ่งมีแต่สูงใหญ่มหึมากินที่กว้างขวาง เพราะบนยอดเขานั้นเป็นที่ราบอาณาเขตประมาณ ๒๐๐ ตารางฟุต บนต้นไม้ใหญ่ต้นหนึ่งมีร่องรอยหมีขึ้นไปการังผึ้งที่อยู่ในโพรงไม้กินเมื่อไม่นานนักมานี้ มันใช้อุ้งตีนช่วยเขี้ยวฉีกกระชากโพรงไม้แหวกเข้าไปเอารังผึ้งไปได้สำเร็จ

เช้าวันที่ ๘ เมษายน อากาศสว่างไสว มองจากยอดเขาที่ถางต้นไม้ออกแล้วแลเห็นภูมิทัศน์ที่แสนมหัศจรรย์ ข้าพเจ้ารู้สึกชื่นชมยินดีเป็นที่สุด เมื่อสามารถมองเห็นจุดเชื่อมโยงยึดการสามเหลี่ยมที่พระสฤษดิ์ เป็นผู้วางตำแหน่งจากหลวงพระบางมานั้นได้ครบทุกจุด ยอดเขาสูงโดดทั้ง ๑๐ ยอด ทีทั้งต้นไม้สัญญาณกระเช้าสัญญาณครบ แม้แต่ที่ผาหินซึ่งชะโงกเงื้อมอยู่เหนือเมืองหลวงพระบาง นับเป็นผลงานชั้นเลิศ ซึ่งต้องฝ่าฟันความยากเข็ญและเสียสละแรงงานอย่างมาก งานรังวัดก็ได้ทำอย่างประณึตระมัดระวังและฉลาดเฉลียว บางจัดต้องกลับไปวัดถึง ๓ ครั้ง เนื่องจากหมอกทึบ มีการลงตำแหน่งไว้แล้วมากมายหลายจุดและการสำรวจแบบโต๊ะราบ ก็ทำได้สำเร็จ

แนวทางเส้นทางของน้ำอู พอจะตามรอยได้จากแนวยอดเขาหินปูนที่สลับซับซ้อน ที่เด่นชัดก็เช่นผาสาง (Pa Sang) ซึ่งสูงถึง ๖,๑๑๐ ฟุต เหนือระดับน้ำทะเล ผาไก่แก้ว(Pa Kai Taw) ใกล้น้ำข้น (Nam Kan) ซึ่งมีชื่อเสียงอยู่ในหลวงพระบางทำนองเดียวกับที่เชียงดาวมีชื่ออยู่ในเขตเชียงใหม่ เห็นเด่นแหลมเหมือนเข็มเพราะความสูงถึง ๗,๓๖๐ ฟุต เหนือระดับน้ำทะเล แต่ถึงเช่นนั้นก็ยังพิสูจน์ได้ว่ามิใช่ยอดเขาสูงสุดในแถบถิ่นนั้น

เมื่อทำงานบนผาราดสำเร็จแล้ว เราละต้นไม้ใหญ่ไว้เป็นต้นสัญญาณ ๒ ต้นต้นหนึ่งนั้นสูงกว่า ๗๐ ฟุต คนงานขมุล้มเจ็บลง ๒-๓ คน เขื่อกันว่าเป็นเพราะวิญญาณปู่เจ้าแระจำเขาซึ่งพำนักในต้นใหญ่ต้นนั้นโกรธแค้นที่ต้นอื่นๆ ถูกโค่นถาง ต้องมีการนำไก่มาสังเวยปู่เจ้า มิฉะนั้นพวกคนเจ็บก็คงจะพร้อมใจกันตายเสียเป็นแน่

ในเมื่อยังไม่สามารถมองเห็นเนินเขาที่สไมลส์ถางยอดเพื่อตั้งสัญญาณและทำวงรอบปิดไว้ได้ ข้าพเจ้าก็จำเป็นต้องถางต้นไม้บนยอดเขาอีกยอดหนึ่งเพื่อให้มองเห็น และสามารถเชื่อมโยงกับเขากี่นางได้ ตามเส้นทางมีเห็ดงอกเต็มไป พวกลูกมือของข้าพเจ้าก็ระดมกันเห็บเป็นที่เบิกบาน ตอนนั้นเสบียงของข้าพเจ้าก็ชักจะงวด อาศัยความช่วยเหลือจากหนุ่มเย้าผู้พร้อมเสมอ เราจึงตัดออกทางไปเมืองงาได้ เจ้าหมาฟอกซ์เทเรียร์ตัวจ้อยของข้าพเจ้าก็เกิดจะก่อความวุ่นวายเพิ่มมาอีก โดยการที่มันตกลูกออกมาให้เป็นภาระแก่เราต้องจัดการช่วยเหลือเลี้ยงดู พายุฝนก็เริ่มมีบ่อยเข้า พอเรามาถึงน้ำเซ(Nam se) อันเป็นแควของน้ำงา เราก็เข้าไปพักอยู่ในหมู่บ้านขมุ และชาวเย้านั้นพอรู้สึกถึงความร้อนอบในหุบเขา ก็เลี้ยวกลับไปสู่ยอดเขาเลยที่เดียว

วันที่ ๑๒ เมษายน เราไปถึงเมืองงา ที่นั้นมีทุ่งนาอยู่บ้าง แม้ว่าประชากรตะอาศัยพืชผลจากการทำไร่ตามลาดเขาเป็นหลักก็ตาม ข้าพเจ้าจ่ายเงินให้คนที่ติดตามมาจากเมืองไซ แล้วก็ลงเรือล่องตามน้ำงาในวันต่อมา คนนำทางบอกข้าพเจ้าว่ามีผู้พยายามจะค้นหาเกลือตามฝั่งแม่น้ำนี้บางแห่ง และได้ค้นพบร่องรอยบ้างแล้ว แหล่งเหลือย่อมเป็นที่รู้จักดีทุกแห่ง


๒. คืนเยือนหลวงพระบาง

ที่บ้านสบหญ้า (Ban Sob Ya) เป็นจุดที่เราเห็นว่าเหมาะจะพักผ่อน แต่นายบ้านหวาดกลัวที่ข้าพเจ้าเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับผีสาง เพราะป่าช้าของหมู่บ้านอยู่ในดงไปใกล้ๆนั้นเอง พวกนี้มีธรรมเนียนที่จะเอาศพคนยากจนไปโยนทิ้งตามกุ่มตามพง แล้วพอฝนตกหนักก็จะชะทรากไหลลอยไปตามน้ำ ข้าพเจ้าหยุดคอยลูกหาบอยู่ที่ปากน้ำแม่เงา (Me Ngao) สลกับแม่น้ำงา (Me Mga) เปรียบกันดูแล้ว แม่เงาจะกว้างกว่า และเมื่อรวมเป็นกระแสเดียวกันแล้วก็น่าจะเรียกว่าแม่เงาต่อไป แต่กลับกลายเป็นเรียกว่าแม่งา ทั้งนี้อาจเป็นด้วยชื่อเมืองงาเป็นหลัก

เมื่อลูกหาบมาถึง เราก็ไต่ขึ้นภูเขาภูลอย(Pu loi) เส้นทางต้องผ่าป่าหญ้าลำต้นสูงร้อนระอุ ไม่มีลมพัดมาเลยสักวูบ หายใจเกือบจะไม่ออก ภูลอยนี้เมื่อถางยอดแล้วก็ได้ทำเป็นจุดแบ่งซอยค่า (ประมาณค่าในช่วง) จำเป็นที่จะต้องทำการรังวัดผาราดจากจุดที่พระสฤษดิ์ ทำไว้แล้วจุดหนึ่ง เพื่อโยงยึดงานให้ดียิ่งขึ้น ข้าพเจ้าตัดสินใจจะไต่ขึ้นเขานางวัง (Nang Wang) ซึ่งอยู่คนละฟากลำน้ำโขง เหนือเมืองหลวงพระบาง เมื่อได้เดินผ่านที่โล่งเกิดจากการโค่นถางเพื่อปลูกพืชมาตามทางของพวกขมุได้พักหนึ่งก็มาถึงหมู่บ้านท่าตลาด (Ta Talat) ริมผั่งน้ำโขง หมู่บ้านหลายแห่งที่มีคำว่า ลาด (Lat) ประสมอยู่ในชื่อ (ตลาดในคำสยาม) ล้วนเคยเป็นแหล่งค้าขายมาก่อนทั้งสิ้น แม่น้ำโขงตรงท่าตลาดนั้นตลิ่งกว้างแต่ในฤดูแล้งมีแต่ร่องน้ำเล็กๆ ไหลเชี่ยวอยู่ในระหว่างโขดหินมหึมาซึ่งเป็นเงาระยับเหมือนถ่าน สีของโขดหินนั้นขึ้นอยู่กับที่ตั้ง อยู่ต่างแห่งก็ต่างสีกัน บางคราวสีดำบ้างก็สีเขียวเหลืองแก่อ่อน บางคราวก็ออกแดง อะไรที่ทำให้สีสันผิดกันเช่นนั้นก็บอกไม่ถูกเพราะคุณสมบัติของหินก็อย่างเดียวกันนั่นเอง

ข้าพเจ้าไต่เขานางวังขึ้นไปถึงที่กางกระโจมพักทันเวลาก่อนฝนตกหนัก ตลอดคืนนั้นมีพายุจัดฟ้าคะนอง น้ำฝนไหลทะลุลงมาในกระโจมของข้าพเจ้าราวกับลำธารเชี่ยวแทบว่าจะรักษากระโจมให้อยู่กับที่ไม่คว่ำเค้เก้เพราะแรงลมไม่ได้ "ฟ้าจะใสหลังฝน" วันรุ่งขึ้นฝนก็ยังตกอยู่ และกลางคืนก็ยังมีพายุอีก แต่ยังดีกว่าคืนก่อน และข้าพเจ้าก็เตรียมตัวไว้พร้อม

วันที่ ๒๐ เมษายน ข้าพเจ้าหวังว่าจะสามารถแลเห็นภูมิทัศน์ได้ชัดเจนเสียที แต่พวกชาวบ้านที่กระตือรือรั้นจะถางป่าทำนาได้เริ่มจุดไฟเผาต้นไม้ที่ตัดทิ้งไว้เมื่อหลายเดือนก่อน และได้เลี้ยงไฟไว้ตลอดวันตลอดคืน แต่ถึงอย่างไรก็ตาม เราก็โยงผาราดเข้ากับจุดต่างๆ ได้ และข้าพเจ้าก็อยากจะโยงนอนช้างกับกี่นางเพื่อให้งานสำเร็จสมบูรณ์ขึ้น

กระเช้าสัญญาณที่นี่นับว่าดีมาก เพราะเสาซึ่งใช้ไม้ทั้งต้นนั้นตอกลึกลงไปในเนื้อดิน ราวๆ ๒๐-๑๒ ฟุต เวลาจะเปลี่ยนเสาคงจะต้องเปลืองแรงเอาการอยู่ แต่มันก็คงจะทนทานอยู่ได้สักยี่สิบปี

บนภูเขานี้เราได้พบว่าแมลงเต่าทองชนิดมีเขา (Horned Enoplotrupis) ซึ่งมิสเตอร์เบทส์ (Mr.Bates) ผู้ล่วงลับเคยอยากได้หนักหนานั้นที่นี่มีอยู่มากมาย พวกหนุ่มๆ ตั้งวงจับเล่นกันทุกเย็น แมลงชนิดนี้เพิ่มมีผู้ค้นพบในพม่าเมื่อไม่นานมานี้เอง ผู้พบคือ ซินญอร์ ฟีอา(Signor Fea) นักธรรมชาติวิทยา ชาวอิตาลี ข้าพเจ้าสงสัยอยู่ว่ามันมาจากไหน เพราะมีจำนวนมากมายเหลือเกิน และพวกกินมูลสัตว์เป็นอาหารด้วย แต่ก็ได้รับคำบอกเล่าว่าลาดเขาแถบนี้มีแรดชุม แม้ว่าข้าพเจ้าจะไม่เคยเห็นรอยของมันเลยก็ตามที

บ่ายวันหนึ่งอากาศแจ่มกระจ่าง แลเห็นหลวงพระบางได้แจ่มชัด เมื่อเย็นลงยอดเจดีย์และหลังคาวัดฉายสีทองก็สะท้อนแสงอาทิตย์อัสดงแพรวพราย เพิ่มความงามแก่ลักษณะธรรมชาติของภูมิประเทศอันกอร์ปด้วยเนินเขาทุ่งราบ และแม่น้ำใหญ่น่าพิศวง ทำให้ข้าพเจ้าเกิดความรู้สึกอ้างว้างอย่างสุดที่จะข่มได้ นับแต่เวลาที่เคยมาเยือนในกุมภาพันธ์ ค.ศ.๑๘๘๗ มาแล้ว หลวงพระบางได้ประสบความทุกข์เข็ญมามากนัก ถูกพวกฮ่อบุกเข้าปล้นสะดม ประชาชนถูกปล้นฆ่า ถูกไล่จากถิ่นฐาน แม้แต่เจ้าหลวงผู้ชราก็รอดมาได้เพียง เพราะถูกโอรสบังคับพาหนีไปสู่ที่ปลอดภัย เมืองนี้ราวกับมีชะตาต้องทนทุกข์อยู่ไม่สร่าง เมื่อสองเดือนก่อนก็ถูกเผาไปอีกครั้ง และหลังจากนั้นไม่นานมานี้เอง ชาวเมืองก็ตายเพราะโรคระบาดไปอีกราว ๕๐๐ คน

วันที่ ๒๘ ข้าพเจ้าเดินทางไปหลวงพระบาง และในระว่างคอยจะหาเรือจะข้ามฝั่งนั้นก็ได้ใช้เวลาสำรวจความเปลี่ยนแปลงต่างๆ บนฝั่งขวาฟากเดียวกับข้าพเจ้ามีอาคารไม้หลังใหญ่ทาสีแดงกับน้ำเงิน มีรั้วไม้ไผ่กั้นบริเวณโดยรอบไว้กว้างขวาง ภายในบริเวณมีบ้านหลายหลัง ที่นี่คือสถาน (รอง) กงศุลฝรั่งเศส สร้างขึ้นหลังจากสยามเซ็นสัญญาข้อตกลงกับฝรั่งเศสแล้ว แต่ฝ่ายฝรั่งเศสยังมิได้ลงสัตยาบัน

ฝั่งอีกฟากหนึ่ง บริเวณที่เจ้าหลวง ข้าหลวงตรวจการฝ่ายสยาม และชาวเมืองอาศัยอยู่นั้น ก็ดูแปลกตาไปมีแต่เจดีย์บนเนินเขา คือ ธาตุชอนศรี (Tat Chawn Si) เท่านั้น ยังคงอยู่ในสภาพเดิม ขณะที่มองอยู่หูก็ได้ยินเสียงฆ้องกลองประโคมบอกเวลาเปลี่ยนเวรยามตลอดวันตลอดคืน กำหนดช่วงละ ๓ ชั่วโมง ในการประโคมย่ำยามเช่นนี้เป็นเครื่องหมายตลอดมาทุกยุคทุกสมัย น่าชื่นชมที่ได้เห็นว่าในท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงทั้งปวงนี้ยังมีขนบประเพณีหนึ่งที่ยังคงปฏิบัติอยู่อย่างสม่ำเสมอ เนินเขาเตี้ยสูงสัก ๒๐๐ ฟุต ยังดูไม่แปลกหูแปปลกตาไปเท่าใดนัก นอกจากป่าจะทึบเข้า และศาลาแบบจีนหลังเก่าทรุดโทรมผุพังไปอย่างรวดเร็ว

ทางทิศที่ตั้งคุ้มหลวง แลเห็นตึกปูนหลังใหม่ยังก่อสร้างไม่เสร็จ และมีเรือนมุงจากอีกหลายหลังที่ดูยังใหม่อยู่ คงเพิ่งสร้างหลังจากไฟไหม้ครั้งที่แล้ว แต่ก่อนเคยมีหมากและมะพร้าวงอกงามอยู่เต็มพื้นที่ แต่ปัจจุบันถูกโค่นลงหมด มีท่าจะพยายามทำถนน และที่ตรงกันข้ามพอดีกับจุดที่ข้าพเจ้ายืนอยู่นั้นคือท่าเรือชั้นดี มีถนนอย่างดีตัดตรงไปยังที่พำนัหของชาวสยาม ข้างท่าเรือคือที่ทำการไปรษณีย์ มีป้ายตัวอักษรสยามและอังกฤษตัวโต

ข้าพเจ้ายินดีอย่างยิ่งที่ได้พบพระสฤษดิ์ และได้แสดงความยินดีกับเขาในการที่ได้ทำงานอย่างวิเศษ ทั้งได้ถือโอกาสขอบคุณพระยาฤทธิรงค์อย่างมาก เนื่องจากท่านได้ช่วยเหลือให้งานสำเร็จลงได้ เมื่อข้ามแม่น้ำโขงมาแล้วข้าพเจ้าได้เข้าพำนักอย่างสุขสบายในเรือนที่ปลูกขึ้นสำหรับจะใช้เป็นโรงเรียน พื้นนั้นลาดซีเมนต์ แต่ฝาและเพดานเป็นไม้ไผ่ทาสีขวาอย่างเอี่ยมอ่อง เสาทาสีเหลือง สีขาวเหลือง สีสนิมเหล็ก สีทองแดง และสีแดงเจือโลหะนั้น ล้วนหาได้งายในหลวงพระบาง

ท่านข้าหลวงตรวจการมีความกรุณาจัดหาเครื่องอำนวยความสะดวกให้แก่เราทุกคนอย่างดีเลิศ สไมลส์ผู้มาถึงก่อนข้าพเจ้าสัก ๗ วัน ดูมีสุขภาพดี ผู้ช่วยชาวสยามหนุ่มๆทุกคนก็สุขภาพสมบูรณ์ เราได้ไปเยี่ยมเจ้ากลวงองค์เก่า ซึ่งทรงพระชรามากแล้ว และได้ไปเยี่ยมเจ้าหลวงองค์ใหม่ด้วย ดูเหมือนทรงพระชราลงไปมากอยู่ และก็ทรงทักข้าพเจ้าว่าดูแก่ลงไป เราดีใจที่ได้เข้าเฝ้า และได้เห็นว่ายังทรงมีลักษณะเงียบขรึม พระอารมณ์เย็นเช่นเคยมา ยังทรงทักข้าพเจ้าแก่ลงไปจยเห็นได้ชัด เมื่อกลับมาถึงบ้านพักอันแสนสบายอีกครั้ง ข้าพเจ้าก็เริ่มเตรียมการรังวัดละติจูดและอะซิมุทที่พระเจดีย์ทองบนเนินเขาธาตุชอนศรี เป็นที่น่าพอใจอย่างยิ่งเมื่อได้รู้สึกว่าบัดนี้ตำแหน่งเมืองหลวงพระบางได้เข้าโยงยึดกับข่ายการสามเหลี่ยมแห่งอินเดีย แม้การโยงยึดจะใช้กลวิธีง่ายๆ และค่อนข้างหยาบ ไม่เป็นเชิงภูมิมาตรา(geodetic)แท้ แต่ภูมิประเทศแถบนี้ก็สุดแสนทุรกันดาร ข้าพเจ้าจึงขอละให้อนาคตเป็นผู้ตัดสินผลงานและเชื่อมั่นว่าแม้เมื่อทำการทดสอบอย่างละเอียดในภายหลังความถูกต้องก็จะยิ่งปรากฏชัด

สไมลส์เตรียมการและเริ่มวัดเส้นฐานในระยะทาง ๒ ไมล์ ปรากฏว่าผลลัพธ์ต่างจากค่าที่ได้จากการสามเหลี่ยมเพียง ๒ นิ้วเท่านั้น

เราพากันไปเยี่ยม ดอกเตอร์ มาสชี (Dr. Massie) และ เมอสิเออร์ กาวีญอง(M.Cavillon) ซึ่งเป็นบุคคลที่น่าสนใจมาก ดอกเตอร์ มาสซี เป็นนักธรณีวิทยาผู้กระฉับกระเฉงมากคนหนึ่ง

ขณะนั้น พอดีพระสฤษดิ์ได้รับข้อเสนอโอกาสที่จะได้ก้าวหน้าต่อไปในอนาคต แม้ว่าข้าพเจ้าจะเสียดายที่เขาจะไม่ได้อยู่ช่วยงานตอสักเพียงใด ก็ยังรู้สึกอยู่ว่าไม่อยากจะทำตัวเป็นอุปสรรคต่อโอกาสก้าวหน้าของหนุ่มน้อยผู้นี้ ดังนั้นข้าพเจ้าจึงจำยอมอนุญาตให้เขาเดินทางกลับบางกอกทั้งที่เสียดาย ผลของการทำงานหนักอย่างซื่อตรง ทำให้เขาได้รับการแต่งตั้งเป็นเลขานุการเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ได้รับพระราชทานยศและราชทินนามเป็นพระสฤษดิ์ และยังได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ็ชั้นมหามงกุฏ (Commander of the Crown)อีกด้วย ข้าพเจ้าได้รับข่าวว่าตนเองตะถูกเรียกกลับบางกอก แต่ผังดูไม่น่าจะเป็นไปได้ในเมื่อพิจารณาดูแล้ว ข้าพเจ้ามี (สาร) ตรา (Kra) ใหญ่สำหรับ (ข้าหลวงใหญ่ประจำ) เชียงใหม่ หลวงพระบาง หนองคาย จำปาศักดิ์ Bassac และพระตะบอง (Pratambawng)แลตราเล็ก(small seal) สำหรับใช้การส่วนตัว ข้อความในสารนั้นเข้าใจว่าเป็นอย่างเดียวกันทุกฉบับ เนื้อหาพอสรุปได้ดังนี้

"เสนาบดี ผู้ว่าการมณฑลฝ่ายเหนือ ถึงข้าหลวงตรวจการ เจ้าเมืองและข้าราชการผู้น้อยในมณฑลนี้

มีพระบรมราชโองการตรัสสั่งให้พนักงานสำรวจเดินทางไปจนถึงชายเขตแดน และทำการสำรวจในมณฑลดังต่อไปนี้ นครสวรรค์ พิษณุโลก พิชัย ตาก เชียงใหม่ เถิน นครลำปาง น่าน หลวงพระบาง หนองคาย พวน นครจำปาศักดิ์ อุบลราชธานี พระตะบอง นครราชสีมา สกลนคร นครพนม ท่าอุเทน และมณฑลเล็กๆ ตลอดแนวชายแดนในอำนาจปกครองของเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย เมื่อเจ้าพนักงานสำรวจมาถึงให้ข้าราชการทุกคนช่วยเหลือจ้ดหาพาหนะ คนงานและเสบียงให้ และในเมื่อเจ้าพนักงานสำรวจได้รับพระราชทานเงินทุนมาจัดดำเนินการสำรวจแล้ว ก็ให้จ่ายค่าแรงตามธรรมเนียนพื้นเมือง ยกเว้นแต่ค่าเสบียงสำหรับคนรับใช้ รัฐบาลจะเป็นผู้จัดหาให้" คำสั่งนี้ครอบคลุมประเด็นกว้างขวาง ข้าพเจ้ายังทำงานได้ไม่ถึงครึ่ง จะด่วนกลับโดยยังมิได้รับคำสั่งพิเศษที่คอยอยู่ย่อมไม่ได้ เราใช้เวลาระหว่างรอเตรียมการคำนวณผลงาน ข้าพเจ้าออกจะเริ่มรู้สึกหงุดหงิด เราจึงพากันไต่ขึ้นภูกุ้มข้าว (Pu Kum Kao) อันเป็นเนินเขาสวยงาม เหนือเมืองหลวงพระบาง ข้าพเจ้าพักอยู่บนนั้นเกือบอาทิตย์ แม้ว่าฝนจะตกเกือบตลอดเวลา แต่อากาศก็บริสุทธิ์ และพอได้เปลี่ยนที่เสียบ้างก็ค่อยรู้สึกสบายขึ้น

เจ้าหลวงเสด็จพร้อมข้าหลวงตรวจการขึ้นมาพักอยู่ด้วย ๒-๓ คน ที่จริงออกจะเป็นเรื่องเปลืองพระกำลังเอาการ เพราะพระรูปมิใช่ว่าจะเพรียวนัก แต่ข้าพเจ้าเห็นว่าทรงพระสำราญดี ถ้าหากทรงขึ้นเขามาได้โดยไม่ต้องทรงปีนเองก็คงจะเสด็จมาบ่อยกว่านี้เป็นแน่ ข้าพเจ้าจึงแนะถวายให้ทรงทำถนนไปยังกุ้มข้าวน้อย (Kum Kao Noi) ซึ่งทำได้ไม่ยากแล้วต่อจากนั้นก็อาจทรงม้าขึ้นไปได้ถึงยอดเขาซึ่งมีที่พอจะทรงสร้างเรือนเป็นที่สำหรับไปพักผ่อนทุกปี พร้อมกับเจ้าหลวงองค์เดิมนั้น

เมื่อเรากลับลงมาหลวงพระบางอีกครั้ง ก็เห็นแม่น้ำโขงเป็นภาพพึงพิศวงยิ่งนักน้ำเปี่ยมฝั่ง คงขึ้นสูงกว่าระดับน้ำต่ำสุดมากว่า ๕๐ ฟุต และขุ่นแดง ชาวบ้านพายเรือออกเก็บกิ่งไม้ที่ลอยสะเปะสะปะไปทุกทิศ น้ำขัน (Nam Kam) ก็เปี่ยมฝั่งเหมือนกัน และที่ปากน้ำนั้นแทบจะไม่ไหลขึ้นลงเลย เพราะกระแสน้ำในแม่น้ำโขงไหลเชี่ยวกรากเป็นกำแพงกั้นไว้


๓๓. แห่งอินโดจีน

เวลาที่เราอยู่หลวงพระบางนั้นมิใช่ว่าน่าเบื่อหน่าย ท่านข้าหลวงพระยาฤทธิรงค์ได้พยายามทุกวิถีทางที่จะทำได้ ที่จะให้เวลาพักรอผ่านไปด้วยความสนุกเพลิดเพลิน

เราจัดงานเลี้ยงกันหลายครั้ง วันที่ ๒๔ พฤษภาคม เฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระราชินี ทั้งท่านข้าหลวง ดอกเตอร์ มาสซี และ ม.กาวิญอง ก็ได้มาร่วมชุมนุมพร้อมกัน

วันที่ ๑๓ กรกฏาคม สถานกงศุลฝรั่งเศสได้มีการตกแต่งอย่างหรูหรา สำหรับงานฉลองรื่นเริงติดต่อกันสามหรือสี่วันเนื่องในโอกาสราชาภิเศกเจ้าหลวง วันที่ ๒๐,๒๑ และ ๒๒ กันยายน เป็นงานเฉลิมฉลองพระชนมพรรษาพระเจ้าอยู่หัว ในงานฉลองคราวนี้ ท่านข้าหลวงผู้มีรสนิยมดีเลิศ จัดได้วิเศษกว่าครั้งก่อน ทั้งเมืองหลวงพระบางตกแต่งประดัยไฟแพรวพราว อาคารไม้หลังใหญ่งามหรูที่เพิ่งสร้างเสร็จได้ใช้เป็นที่กินเลี้ยง มีคนมากันเต็มเบียดกันแออัดเข้าไปชมพระบรมฉายาลักษณ์ จนกระทั่งดอกเตอร์ มาสซี ออกจะรำคาญคอยถามแต่ว่านั้นคือ "เทพเจ้า" หรืออย่างไร

ดอกเตอร์ มาสซี่ ท่าทางหุนหัน แต่ที่จริงอารมณ์ดี ตอนที่ไปทำวิจัยทางธรณีวิทยาบนภูไซ(Pu Sai) ใกล้หลวงพระบางนั้น เขาได้พบถ่านหิน และยังบอกว่ามีท่าทางจะพบทุ่งเกลืออีกด้วย เขาเก็บ celts มาเป็นจำนวนมาก ซึ่งบ้างก็นับว่าสวยที่เดียว แต่เขาต้องเสี่ยงกัยการเปียกน้ำจนชุ่มโชก โดยไม่มีเครื่องป้องกันความไข้แม้แต่น้อย เขาเที่ยวท่องไปทั่วอินโดจีนด้วยวิธีนี้มา ๘ ปีแล้ว และยังไม่เคยเจ็บไข้แม้แต่วันเดียว กรณีเช่นนี้หากล้มเจ็บลงเมื่อใดก็อาการหนัก สำหรับเขาก็เป็นดังนั้นเช่นกัน จับไข้เพียงครั้งเดียวก็เป็นอันว่า "ไป"ตอนที่ล้มเจ็บลงนั้นเขากำลังเดินทางไปไซง่อน ได้พบกับหมอสอนศาสนานิกายโรมันคาธอลิกที่นครพนม พวกนี้ขอร้องให้เขาพักอยู่ด้วยจนกว่าจะแข็งแรงแล้วค่อยไปต่อ แต่เขาก็ยืนยันว่าจะเดินทางต่อไปทั้งๆที่ สภาพในเวลานั้นราวกับทรากศพ แล้วไม่ช้าก็ตายลงระหว่างที่ล่องเรือตามน้ำลงไปนั้นเอง

อย่างไรก็ตาม เราก็ต้องคิดหาทางทำงานต่อ เมื่อฤดูฝนสิ้นลงในสัปดาห์แรกแห่งเดือนตุลาคมท่านข้าหลวงเร่งจัดหากุลีขนของให้เราได้อย่างรวดเร็วทันใจ เราต้องจ่ายค่าจ้างให้พวกเขาคนละ ๔ บาท ต่อเดือน พร้อมทั้งจัดข้าว เกลือ และพริกด้วย ที่หายากคือข้าวนั่นแหละ ต้องสร้างยุ้งเก็บไว้ช่วงๆ และในเมื่อแต่ละคนกินข้าวมากเกือบจะพอๆกับที่ขนได้ การที่จะรวบรวมข้าวให้พอก็เสียเวลาอยู่สักหน่อย

พนักงานสยามแต่ละคนมีลูกหาบ ๑๔ คน สำหรับการเดินสำรวจเต็มขนาด พร้อมทั้งเสบียงด้วยข้าพเจ้ากับสไมลส์ก็มีลูกมือฝ่ายละ ๔๐ คน ล้วนมีขวานเป็นอาวุธประจำมือครบคนสำหรับตัดฟันไม้ถางป่าบนยอดเขา ดังนั้นเมื่อได้ทุกอย่างครบ เราก็ลามิตรเก่าในหลวงพระบาง ออกเดินทางในวันที่ ๖ ตุลาคม ท่านข้าหลวงและบรรดาโอรสเจ้าหลวงองค์เดิมได้มาส่งด้วย

อาทิตย์ก่อนหน้าที่เราจะออกเดินทางนั้นฝนตกหนัก น้ำป่าล้นตลิ่งลุยข้ามลำบากมากสำหรับกุลีขมุตัวเล็กๆ ข้าพเจ้าสั่งให้เขาจับมือกนเป็นราว ข้ามตรงบริเวณที่เป็นแก่งน้ำสูงเพียงอก กระแสน้ำไหลเชี่ยวกราก ข้าวของเปียกโชกเกือบหมดทุกชิ้น เว้นแต่ที่ทูนหัวไว้และมีคนช่วยจับอีกแรงหนึ่ง เส้นทางที่เราไปเป็นทางเดียวกับที่พระยาพิชัยคุมคน ๒,๐๐๐ คนไปยังทุ่งเชียงคำเมื่อหลายปีก่อน สภาพยังคงเดิม ลดเลี้ยวไปตามฝั่งแม่น้ำปา ซึ่งเป็นหน้าผาหินปูนชันตระหง่านอยู่ประปรายทั้งสองฝั่ง ภูมิทัศน์งามมากแต่การที่ต้องข้ามลำธารเป็นประจำ(เดินพักหนึ่งต้องข้ามกว่า ๒๐ เที่ยว) ก็ทำให้เราไม่ค่อยได้รู้สึกชื่นชมกับภาพที่เห็นนัก

ทางเดินตัดข้ามภูเหงส์(Pu Hong) ซึ่งเราได้จัดการถางยอด เหลือต้นไม้สัญญาณไว้ ๒ ตัน และหระเช้าสัญญาณขนาดใหญ่ ซึ่งจะทนอยู่ได้นานปี ยอดเขาสูงๆ จะมีเมฆคลุมอยู่จนกระทั่งบ่าย ทำให้เกิดความรู้สึกที่ไม่ค่อยดีนัก เมื่อถางยอดเขาหงส์เสร็จเราก็พบว่าได้เดินทางมาล้ำหน้าเป้าหมายเสียแล้ว เป็นอันว่าต้องย้อนรอยถอยหลังกลับไปขึ้นผาไก่เฒ่า(Pa Kai Taw) ซึ่งกั้นสายตาอยู่ เนินเขานี้เป็นอุปสรรคแก่เรามากกว่าที่ได้คาดไว้ มียอดหินปูนแหลมๆ สูงชะเงื้อมอยู่ทั่วไปทุกทิศ น้ำก็หายาก คนนำทางชาวแม้วของเราก็ไม่ยอมจนปัญญา จัดการฟันไม้ไผ่ใช้ต่างท่อน้ำ แล้วระหว่างยอดหิน ทำให้เข้าไปตัดลงได้ไม่ง่ายนักในภูมิภาคแถบนี้ไม่เป็นเรื่องผิดปกติในการที่จะได้เห็นกอไผ่ กล้วยป่าและต้นโอ๊กขึ้นรวมกันอยู่เป็นกลุ่ม ที่ทำให้พอโล่งใจก็คือ วัว และหมูป่ามีมาก นกยูงสีเงินแสนสวนก็มีชุก

ทำงานบนยอดเนินนี้เสร็จลงแล้ว เราก็กลับไปยังภูหวงส์ แล้วจึงเดินทางต่อไปเมืองยิว(Maung Yiw) ซึ่งอยู่ในลุ่มแม่น้ำขัน เราใช้เนินที่ถางลงสำหรับประมาณค่าในช่วง เป็นที่กำหนดตำแหน่งของเมืองยิวด้วย เส้นทางของเราตัดข้ามลุ่มน้ำขัน ซึ่งเป็นพื้นที่อันตรายต่อสุขภาพอย่างยิ่ง แต่ในที่สุดพอไต่ขึ้นผาทิง(Pa Ting) ทุกอย่างก็เปลี่ยนไปทั้งบรรยากาศพืชพันธุ์และภูมิทัศน์ เราเดินผ่านดงสนซีดาร์ ซึ่งมองลอดออกไปเห็นทุ่งกว้างโล่งเป็นเนินสลับซับซ้อนได้เป็นระยะๆ และไปตั้งค่ายใกล้วัดโบราณที่พวกฮ่อเคยมาปล้นทำลาย บัดนี้เราล่วงเข้ามาในเขตเมืองพวนแล้ว แต่ในเมื่อเป็นที่ที่เคยมา ข้าพเจ้าจึงไม่ถึงแก่ตะลึงในความงามของมัน ต่อนี้ไปไม่มีป่าทึบที่จะต้องบุกฝ่าไปอีก ทุกคนต่อให้เท้าเปล่าก็สามารถเดินไปได้อย่างสะดวกสบาย ความงามตามธรรมชาติของที่นี่ยังคงทำให้หูตาสว่างและจิตใจซาบซึ้งต่อภูมิทัศน์อันงมตายิ่งขึ้น ที่ขาดไปมีอย่างเดียวคือเหย้าเรือนที่อยู่อาศัยของมนุษย์ แม้ว่าจะมีร่องรอยเป็นประจักษ์พยานว่าท้องถิ่นนี้เคยรุ่งเรืองมาแต่กาลก่อน สิ่งเดียวที่คงเหลืออยู่ให้พวกเราได้ใช้ประโยชน์ก็คือถนนที่เราเดินไปนี่เอง ถึงกระนั้นบางช่วงก็ทรุดโทรมไปเพราะขาดคนดูแลและบางแห่งบริเวณที่ดินแฉะ หรือใกล้ๆธารน้ำด้วยแล้ววางใจไม่ได้

เรากางกระโจมพักในเขตวัดลาวโพนทอง (Lao Pon Tawng) มีคนรับใช้ของปลัดเมืองมาดคอยดูแล คนเหล่านี้แต่ละคนอ้างว่ามียศ ทำท่าว่าไม่รู้อะไรเกี่ยวกับเราเลย และก็มาถามสอบสวนว่าเราเป็นใคร มาทำไม ข้าพเจ้าถามกลับว่าเขามีอำนาจใดที่จะมาไต่ถามเช่นนี้ พวกเขาก็ตอบว่า การที่เขามาเองก็มีค่าเท่ากับสานสน์แต่งตั้งเหมือนกัน ข้าพเจ้าจึงนำ(สาร) ตรา ออกมาแสดง และเมื่อเขาต้องการจะนำไปให้ปลัดเมืองดู ข้าพเจ้าก็ยินยอมโดยดี เพราะยังมีสำเนาอยู่อีกหลายฉบับ ต่อจากนั้นข้าพเจ้าจึงถามเขาบ้างว่า เหตุใดขึงข่มขู่คนที่ข้าพเจ้าส่งไปหาข้าว และซ้ำยังส่งคนมาข่มขู่ไม่ให้ข้าพเจ้าเดินทางมาที่นี่อีกด้วย แต่พวกเขาก็ปฏิเสธว่ามิได้ทำเช่นนั้น ข้าพเจ้าเตรียมตัวมาพร้อมสำหรับกลโกงแบบนี้ และต้องขอบคุณท่านข้าหลวงตรวจการหลวงพระบางที่ช่วยให้ข้าพเจ้าไม่จำเป็นต้องพึ่งพาข้าราชการท้องถิ่นแถบนี้ จนกว่าจะถึงเวลาที่พวกนี้จะต้องทำตามคำสั่งของเจ้าชายประจักษ์ ข้าหลวงตรวจการพิเศษประจำหนองคาย

เราไต่ข้ามภูสุน (Pu Sun) วันที่ ๒๒ พฤศจิกายน ฟ้ากระจ่างหลังจากที่ฝนตกหนักข้าพเจ้าใช้กล้องธีโอโดไลท์ขนาด ๘" ของทรัหตัน และซิมม์ (Troughton ans Simm) ส่องเห็นตะกร้าสัญญาณบนภูนางวง (Pu Nang Wong) และภูซังหนาม(Pu Sung Nam) ซึ่งอยู่ห่างออกไปแห่งละหว่า ๑๐๐ ไมล์ได้ชัด เพราะตะกร้านั้นมีเส้นผ่าศูนย์กลางถึง ๒๐ ฟุต ทำด้วยไม้ไผ่ผ่าซีกสานเอาด้านในออกลักษณะเป็นรูปวงรีออกขาว เมื่อยังใหม่อยู่นั่นแม้พื้นหลังจะเป็นสีทึบเท่าใดก็อาจมองเห็นได้ชัดจากที่ไกล หากแดดออกจะแจ่มยอดภูสุนเป็นหินกรานิต ซึ่งเป็นลักษณะร่วมของเนินเขาส่วนใหญ่ในเขตสันปันน้ำแห่งนี้ ภูมิประเทศที่มองเห็นได้จายอดเขานี้กว้างไกลไม่ต่ำกว่า ๑,๐๐๐ ตารางไมล์ เป็นส่วนใหญ่ และส่วนที่ดีที่สุดในที่ราบสูงพวน ทั่วภูมิภาคมีทั้งไร่ข้าวโพดไสว และสวนผลไม้ที่ได้รับน้ำจากธารซึ่งไหลผ่าน ดงไม้ครึ้มออกมาเห็นเป็นเส้นสายสีเงินแล้วหายลับไปในเทือกเขาไหลลิบๆ ลาดเนินที่อยู่ต่ำลงไปไม่มีต้นไม้ใหญ่ แต่หญ้าขึ้นเขียวชอุ่มลดหลั่นลงไปตามระดับเส้นชั้น ซึ่งห่างกันช่วงละ ๓-๔ ฟุต รวมกับฝีมือมนุษย์จงใจประดิษฐ์ไว้ แต่ที่แท้คือรอยเท้าทางเดินปศุสัตว์ที่เคยถูกต้อนมากินหญ้าในบริเวณทั่วที่ราบสูงแห่งนี้ เมื่อครั้งยังเจริญรุ่งเรืองและสงบสุข ยอดเขาล้วนมีป่าปกคลุมทั่ว ทางลงลาดใต้ไปถึงเส้นเขตแดนโดยธรรมชาติที่กำหนดไว้ตามกฏหมายป่าไม้(Natural Forest Law) ซึ่งดูหยิกหยักไม่เรียบตรงแต่เห็นได้ชัดประหนึ่งคำสั่งประกาศว่า "เพียงเท่านี้ อย่าก้าวเกินไปอีก"

ที่อยู่ชิดทางทิศตะวันออก คือ ภูสุ่มน้อย (Pu Sun Noi) ซึ่งยอดตัด มีป่าแกคลุมและน้ำบริบูรณ์ จัดเป็นสถานที่พักผ่อนได้อย่างดี เขานี้กันสายตามิให้มองเห็นทุ่งเชียงคำที่ซึ่งฝ่ายสยามต้องสูญเสียกำลังบางส่วนไปก่อนที่จะสามารถขับไล่พวกฮ่อออกไปจากที่มั่นได้ ต้นไม้สัญญาณชั้นดี ๒ ต้นยังอยู่ กับทั้งตะกร้าสัญญาณ ไม่ห่างจากลาวพงทอง ๑ (Lao Pawng Tawng) นัก ก็ถึงบ้านหมอน (Ban Mawn) เป็นที่ทำเหมืองเหล็กขนาดใหญ่ ได้เหล็กคุณภาพดีเยี่ยม

เราตั้งค่ายพักใกล้วัดเวียงกาด (Wieng Kat) ในที่ใกล้ ๆ นั้นมีร่องรอยว่าเคยมีคนมาร่อนทอง อาจมีคนค้นพบเทือกทองได้สักวันหนึ่งกระมังภูมิอากาศช่างเหมาะกับที่จะมีเหมืองทองนี่กระไร

เราไต่ขึ้นภูเข (Pu Ke) เกือบถึงยอก็พบชุมชนแม้วค่อนข้างเจริญ ทำมาหากินกันอย่างขยันขันแข็ง น่าคบหาเช่นเคยพบมาเสมอ

บนยอดเขานี้ ในเช้าตรุ่วันที่ ๒๖ พฤศจิกายน เราได้ประสบทัศนียภาพที่ข้าพเจ้าเองไม่เคยได้พบเห็นมาก่อน เราเห็นหมู่เมฆซึ่งแผ่

กระจายคลุมทั่วเทือกเขาในระดับความสูง ๖,๐๐๐ ฟุต เหนือระดับน้ำทะเล แลดูดุจมมหาสมุทรสีขาวหิมะ ยอดเขาสูงโดดเด่นขึ้นมาเป็นจุดเกาะทาบอยู่กับท้องฟ้าสีน้ำเงินใสแจ่ม ที่เชิงเขามีน้ำเนีย (Nia - ภาษาสยามว่าเงือก - Noak) ไหลไปทางทิศตะวันออก โดยที่เราไม่อาจมองเห็นได้ แต่ถึงเช่นนั้นก็ยังพอรู้แนวการไหลของมันได้จากแนวเมฆที่เคลื่อนลอยไปราวกับถูกกระแสน้ำพัดดา ที่แห่งหนึ่งเห็นเมฆเหมือนน้ำตกดูเป็นควันม้วนเหมือนหลั่งลงมาเป็นสาย จนกระทั่งมองแล้วพาลรู้สึกว่าจะต้องได้ยินเสียงน้ำตกกึกก้อง แต่ผิวพื้นเมฆนั้นค่อน ๆ ลดระดับลงทีละน้อย เผยให้เห็นเทือกเขามากขึ้นเรื่อย ๆ จนไนที่สุดแสงตะวันก็ส่องลอดลงไป ไล่เมฆให้กระจัดกระจายหายสูญไปทั้งหมด

ข้าพเจ้ารู้สึกปวดร้างใจเมื่อได้รู้ว่า เพื่อนเก่าที่เมืองพวนเสียชีวิตไปแล้วสิ้น เพราะหวังอยู่ว่าจะได้พบพวกเขาผู้ซื่อตรง ดีประเสริฐ ผู้ที่ได้เสี่ยงชีวิตช่วยข้าพเจ้าทำงานเมื่อครั้งก่อนที่มา

เราลงจากเขา ลาจากพวกแม้วใจดีเดินทางไปเชียงขวาง ประสบปัญหาพอสมควรในเรื่องการซื้อข้าว ซึ่งส่งมาเป็นตะกร้า และแต่ละใบปะตราบอกขนาดบรรจุ และข้าพเจ้าพบว่ามีปริมาณเป็นเครื่องหนึ่งของที่ได้จากเมืองยิว

ภูเขายอดต่อไปที่จะต้องไต่ขึ้นคือ ภูเสา (Pu Sao) ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ทั้ง ๆที่หมอกหนา และมีอุปสรรคนานาเราก็ฝ่าฟันกันไป คนนำทางของข้าพเจ้ามีวิธีจุดไฟที่ฉลาดมาก เครื่องมือของเขาลักษณะคล้ายปืนเด็กเล่น ปลายข้างหนึ่งอุดแน่นด้วยไม้สำหรับกระทุ้งเข้าที่แล้วดึงออก เชื่อไฟก็จะติดลุกขึ้นแล้ว มีกับดักนกอยู่มกมายทั่งไปสำหรับล่อนกยูงซึ่งมีชุม และทั้งนกกระทา และไก่ป่าอีกหลายชนิด เราพบรอยเท้าช้าง และไล่หนีกระเจิงไปตัวหนึ่งเมื่อจวนจะถึงยอดเขา

ในที่สุด เราก็ขึ้นถึงยอดซึ่งสูง ๘,๖๑๔ ฟุต เหนือระดับน้ำทะเล ต้นโอ๊กและโรโดเดนครอนทึ่งอกงามอยู่บนนั้นล้วนมีลำต้นและกิ่งก้านบิดงอ แสดงว่าลมพัดแรงอยู่เป็นนิจ ตะไคร่ (มอส) บนยอดเขานั้นหนาถึง ๒ ฟุต

วันที่ ๘ ธันวาคม อากาศสว่างใส แดดแจ่ม อุณหภูมิ ๔๐ F มีแสงระยิบอยุ่ตามพื้นดินคล้ายน้ำค้างแข็ง และเห็นหน้าในแม่น้ำโขงใสแจ๋วจับแสงอรุณ และที่ไกลลิบ ๆ เลยเขตลุ่มน้ำอ้นกว้างขวางนี้ออกไป แลเห็นภูเขาเป็นเพียงเส้นสีครามแก่ สไมลส์จัดการตั้งกระเช้าสัญญาณขนาดใหญ่เท่าต้นไม้สัญญาณต้นหนึ่งในสองต้นที่กำหนดไว้ แล้วเราก็หันไปสนใจกับภูเบี้ย (Pu Bia) ซึ่งเป็นยอดสูงสุดในภูมิภาคแถบนี้ มองจากที่เรายืนอยู่เห็นยอดนั้นมีดขดผาหินปูนแหลมสูงรายรอบ ท่าทางจะทำไต่ขึ้นได้ยาก แต่โชคดีที่คนของเราบางคนรู้ทิศทางพอที่จะพาเราไต่ขึ้นทางที่สะดวกที่สุดได้ เป็นอันว่าเราต้องย้อนรอยกลับมาตามทางใหญ่จากเฉียงขวางไปแม่น้ำโขงพอถึงบ้านนาหลวง (Ban Na Laung) ก็เลี้ยวทางเมืองออม (Maung Awm) ซึ่งเป็นที่ที่ดีมากมีทุ่งนากว้างขวาง เราพักอยู่วันหนึ่ง จัดการแจกจ่ายยาสูบ เกลือ และพริกให้แก่กุลีลูกหาบ ให้เตรียมตัวสำหรับปีนเขาต่อไป

ออกจากเมืองออม เราก็เดินทางไปดึงเมืองชา (Maung Cha) ซึ่งถูกทิ้งร้างอยู่สังเกตจากสภาพขอบงทุ่งนาได้ว่าคงถูกทอดทิ้งไปนานมากแล้ว ที่นี่เคยมีชื่อเสียงว่าเป็นแหล่งเลี้ยงม้าชั้นเลิศ เราเดินทางต่อไปจนถึงหมู่บ้านแม้วขนาดใหญ่ที่เชิงผาหินปูนเหล่านั้น เดิมที่ตั้งหมู่บ้านอยู่ต่ำกว่านั้น แต่ฤดูฝนที่ผ่านมาเกิดน้ำท่วม จึงต้องอพยพย้ายที่ให้สูงขึ้น

ได้คนนำทางชาวแม้วมาคนหนึ่ง เราจึงเริ่มไต่เขาขึ้นไป พักนอนบนลาดเขา พอตื่นขึ้นเช้าตรู่เตรียมเดินทางต่อก็พบว่าดินแฉะจังแข็งไปเสียแล้ว ขึ้นไปอีกหน่อยได้เห็นบึงที่ผิดน้ำกลายเป็นน้ำแข็งหนาราว ๑/๒ นิ้ว พวกกุลีตัวเล็ก ๆ สนุกกับน้ำแข็งเป็นอันมาก พากันเคาะน้ำแข็งมาแทะกันคนละก้อน บริเวณยอดเขาเป็นชั้นดินเหนียวคลุมหินปูนอยู่บาง ๆ จึงมีแต่ต้นไม้ขนาดย่อมจำพวกเนื้ออ่อน (box wood) มอสขึ้นงอกงามดีมาก เมื่อเตรียมปลูกกระท่อมเล็ก ๆ ไว้พัก ก็อาศัยเป็นเครื่องปูพื้นได้อย่างดี

กุลีชาวขมุของเราก็เช่นเดียวกับชาวเขาเผ่าอื่น ๆ ในข้อที่สวมเสื้อฟ้าน้อยชิ้นที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ บางทีก็ใช้เพียงผ้าผืนแคบ ๆ แทบว่าจะปิดกายไม่มิดตามประสงค์ ไม่พอที่จะกันหนาวได้เลยไม่ว่าในกรณีใด

เมื่อเข้าใกล้ผาหินปูนขนาดมโหฬาร เป้ฯที่นำอินทรีสร้างรังนั้นมากขึ้น ก็ยิ่งเห็นได้ช้ดขึ้นว่าไม่มีหนทางจะขึ้นถึงยอดเขาโดยทางทิศเหนือหรือตะวันออกได้เลยเป็นอ้นขาด

คืนวันที่ ๒๐ ธันวาคม ๑๘๙๒ อากาศโปร่ง เช้าตรู่วันรุ่งขึ้นเทอร์โมมิเตอร์วัดอุณหภูมิได้ ๒๗ F มีน้ำแข็งจับหนากว่า ๑/๔ นิ้ว คนครัวเก็บเอามาละลายแล้วก็ต้องแปลกใจที่พบว่าน้ำเข็งที่ละลายแล้วนั้นมีสีเหมือนกาแฟที่เตาตั้งใจจะชงนั้นเอง เกิดความลำบากพอดูด้วยเรื่องหาน้ำ เพราะได้น้ำแต่จากคูเล็ก ๆ แห่งหนึ่งเท่านั้น แต่สองสามวันต่อมาก็ค่อนยังชั่วขึ้น ตลอดคือวันที่ ๒๑ พายุพัดแรงจัด แต่อุณหภูมิได้ลดลงถึงจุดเยือกแข็ง รุ่งขึ้นเช้าวัดได้ ๓๐ F วันที่ ๒๒ น้ำแข็งอีก วันที่ ๒๓ ตั้งสัญญาณเสร็จเราก็พากันลงจากยอดเขาซึ่งเป็นที่ที่เหมาะที่สุดสำหรับการรังวัด เพราะสามารถมองเห็นแม่น้ำโขงได้บางส่วน ภูเขานี้สูง ๙,๓๕๕ ฟุต นับว่าเป็นอันดับหนึ่งในบรรดาภูเขาทั้งปวงที่อยู่ใต้เส้นขนานที่ ๒๓ ภูเขาที่สุงที่สุดในครบสมุทรมาลายา ณ ต้นน้ำปะหังนั้นเตี้ยกว่า ๙,๐๐๐ ฟุต เสียอีก แม้จะมียางคนเชื่อว่ามันสูงกว่า ๑๒,๐๐๐ ฟุต ก็ตาม

เรากลับมายังหมู่บ้านแม้วเชิงเขาที่เก่าอีก เสบียงอาหารก็เกือบจะหมดอยู่แล้ว จึงออกดีใจที่ได้แป้งข้าวโพด ผักสด น้ำตาลทรายแดง และขิงจากแม้วเหล่านี้ คนครัวเอาขิงมาต้มดื่มแทนชาหรือกาแฟได้รสไม่เลวนัก น้ำตาลก็เอามาต้มเดือด ตอกไข่ลงไปสองฟอง ค่อย ๆ ช้อนผงที่มีมากพอ ๆ กับน้ำตาลขึ้นให้หมด ก็ได้ไข่หวานอย่างอร่อยกัน เราสนิทสนมกับพวกแม้วเป็นอันดี และในเมื่อพวกเขาต้องการจะซื้อปศุสัตว์อยู่แล้ว ก็เลยตกลงใจเดินทางมากับเราจนถึงบ้านโตนหก (Ban Ton Hok) กลุ่มผู้ใหญ่บ้านนั้นกำลังมีปัญหาเนื่องจากวิวาทกับขมุเมืองปา (Maung Pa) เรื่องแย่งกันเป็นเจ้าของรังผึ้งซึ่งมีอยู่มากตามหน้าผาหินปูนแถบนั้น และเป็นวัตถุดิบสำหรับผลิตสินค้าคือ ขี้ผึ้ง

เราละจากน้ำโม (Nam Mo) อันเป็นแควใหญ่ของน้ำงึม (Nzm Ngum) แต่สองฟากฝั่งไม่มีหมู่บ้านเลยนั้น เดินทางต่อมาถึงหมู่บ้านนาหลวงซึ่งร้างอยู่ เห็นเหย้าเรือนเป็นอย่างสร้างขึ้นเป็นที่พักถาวรแน่นหนา แต่เกิดมีโรคประหลาดระบาดในหมู่ชาวบ้าน มีอาการรุนแรงตายในชั่ววันเดียวที่เป็นช้าบ้านก็ตื่นตระหนกคาดว่าเป็นเพราะผีทำเลยพากันอพยพหนีไปหมด ข้าพเจ้าเองสงสัยว่าน่าจะเป็นเพราะน้ำมากกว่า เพราะลำธารแถบนี้ขุ่นข้นดูมีเงามันๆโดยเฉพาะสายที่เป็นแหล่งน้ำหลักของหมู่บ้านยิ่งมีลักษณะดังกล่างมากกว่าสายอื่นๆ ซึ่งซ้ำร้ายพวกชาวบ้านยังถูกหนูนาระบาดรบกวนอีก พวกหนูนี้แพร่พันธุ์ไปทำลายทุ่งนาเป็นบริเวณกว้างขวางในเขตกลวงพระบาง

เราตัดข้ามน้ำงึม ข้าพเจ้าออกไม่แน่ใจนักว่าจะเคยมีใครล่องตามลำน้ำนี้ลงไปหรือไม่เพราะวัดจากจุดข้ามไปสักหน่อยก็ดูเหมือนลอดหายเข้าไปไต้เขากว่า ๑,๕๐๐ ฟุต ชาวสยามดูจะคุ้นกับน้ำดีมาก ข้าพเจ้าส่งหลวงภูมิวัดสถานไปทำงานวงรอบด้วยโซ่และเข็มทิศแม้จะไม่ใช่งานง่ายนัก แต่เขาก็ทำได้สำเร็จสมบูรณ์ดีตลอดระยะทาง ถ้าที่น้ำไหลลอดไปนั้นมีนกนางแอ่นมาอยู่เป็นจำนวนมาก ทำรังเกาะไว้กับเพดานถ้ำ แล้วยังมีผึ้งทำรังอยู่ตามซอกหิน แง่หินปูนอีก ชาวบ้านจะแห่หันมาเก็บรังนกและขี้ผึ้งกันมากทุกปี แต่ด้วยเหตุที่ไต่ขึ้นไปเอาได้ยาก จึงมักมีคนตกลงมาตายแทบจะทุกปีเหมือนกัน

เราเดินไปจนถึงเมืองปูน (Maung Pun) และได้พบนายเฮ็ง๑ (Nai Heng) ผู้ช่วยฝีมือดี ซึ่งเพิ่งเสร็จจากขึ้นไปถางยอดเขาภูเมื่ยง(Pu Mieng) เขาเดินทางต่อไปเมืองกาสี(Maung Kasi) เพื่อเร่งขบวนขนส่งที่เจ้าชาย(กรมหลวง)ประจักษ์ฯ ทรงส่งมา และกะจะมาพบเราที่บ้านสอด(Ban Sawt) ระหว่างที่เรากำลังเดินทางไปยังภูเมี่ยง เราได้พบคนนำทางชาวแม้วอีกครั้ง และเขาก็ยินดีที่จะไปกับเรา ในคราวนี้ข้าพเจ้าก็เห็นเขาขนขวดวิสกี้ติดตัวมาด้วย และยกขึ้นดวดกันบ่อยๆ แต่ไม่มีท่าว่าจะมึนเมาเลย โขดหินเหล็กไฟขนาดใหญ่แห่งหนึ่งเป็นอุปสรรคทำให้ล่าช้า เพราะใครต่อใครในขบวนก็ต้องการจะสกัดตอกเอาไปใช้ตีเหล็กจุดไฟกันทั้งนั้น พวกนกกระทาและนกอื่นๆ ตื่นออกมาติดแร้วเป็นอันมาก เราก็เลือกปล่อยชนิดสวยงามมากไปสองตัว

ยอดภูเมี่ยงสูง ๘,๑๓๒ ฟุต เหนือระดับน้ำทะเล ด้านเหนือ ตะวันตก และด้านใต้ชันเกือบเป็นแนวดิ่ง ไม่มีทางจะไต่ขึ้นได้เลย เช้าๆเย็นๆ เงาของเทือกเขาจะทอดทาบลงบนเนินที่อยู่ห่างออกไปราว ๔๐ ไมล์ ราวกับภาพเงาฉายเลื่อนไปเรื่อยๆน่ามอง และทำให้ภูมิภาพงดงามยิ่งขึ้น

วันที่ ๙ มกราคม ขณะที่เราเดินทางจากเขานั้น ลมบนกำลังพัดจากทางใต้ และหมอกที่เรากลัวกันนักก็เริ่มก่อตัว เราจะต้องไต่ขึ้นเขาหอช้อย(Haw Chai) ซึ่งนายเฮ็งได้ถางยอดไว้แล้วนั้นอีกยอดหนึ่ง เพื่อทำงานให้สำเร็จก่อนที่หมอกจะตกหนา เส้นทางของ

เราจะตัดผ่านเมืองเชียงดี(Chieng Di) ร้าง ริมฝั่งน้ำเสน (Nam Sen) ซึ่งเป็นแควของน้ำเหนือ ที่นั่นเชื่อกันว่ามีผีร้ายสิงอยู่ เป็นวิญญาณของเจ้าเมืองและบริวารซึ่งถูกชาวเมืองเวียงจันทน์ลอบฆ่าระหว่างที่บ้านเมืองกำลังรุ่งเรือง แม้ว่าจะเป็นเขตดินอุดม และแม้ว่าเมืองพวนจะมีพลเมืองหนาแน่นในครั้งนั้น ก็กาตัวคนที่จะมาเป็นเจ้าเมืองได้โดยยาก

เราเดินไปตามลาดเนินที่เลี่ยนโล่ง ผ่านบ้านนาวัน (Ban Na Wan) ไต่สันแบ่งน้ำระว่างน้าเหนือและน้ำงึม ซึ่งอยู่เหนือน้ำเสนประมาณ ๒๐๐ ฟุต แล้วไต่ต่อไปอีกน้อยกว่านนั้นเล็กน้อยจึงถึงทุ่งราบใหญ่ ซึ่งไม่มีต้นไม้สูงเลย กุ่ง(ที่ชาวสยามเรียกว่าทุ่ง) ลาดเสน(Kung Lat Sen)นี้จะอยู่สูงจากระดับน้ำทะเล ๔,๐๐๐ ฟุต หมาของเราไล่นกกระทาแตกกระเจิง แต่แม้พื้นดินจะยังพอเดินเท้าเปล่าได้ก็ดูจะยังขรุขระเกินไปสำหรับการไล่จับนก เราเดินต่อไปอีสามพักจึงข้ามพ้นทุ่งนี้และทุ่งใหญ่อีกทุ่งหนึ่งซึ่งอยู่ติดต่อกัน และน้ำบริบูรณ์เช่นกัน ชื่อว่าทุ่งม้าเล่น


๓๔. เสร็จการสามเหลี่ยมในมณฑลฝ่ายเหนือ

เมื่อมาถึงบ้านสอด เราได้พบกองขนส่งที่เจ้าชายประจักษ์ส่งมา แต่เนื่องจากวัวต่างไปได้ช้า และ (ค่าเช่า)แพง เราจึงแทบจะไม่เอาไปด้วยเลย คราวนี้ก็ต้องลาจากสหายชาวหลวงพระบางเสียที พวกขมุทุกคนมีสุขภาพดีมาก ล่ำสัน เพราะไม่เคยได้กินอาหารมากอย่างเมื่ออยู่กับเรานี้มาแต่ก่อนเลย แถมแต่ละคนยังมีเงินติดตัวไปอีกคนละนิดละหน่อยด้วย
วันที่ ๒๘ มกราคม เราทำงานบนเขาหอช้อยเสร็จ พอดีหมอกลงจัดตามฤดูเช่นเคย ที่จะหวังเห็นรัศมีระยะยาว นั้นเป็นอันไม่ได้จนกว่าจะมีฝนตกเสียก่อน เราทำอะไรไม่ได้นอกจากจะกำหนดตำแหน่งสำคัญโดยรัศมีระยะสั้น2 ไปก่อนจนกว่าจะถึงหน้าฝน

ที่ตีนเขาหอช้อย ทางถนนที่จะไปเมืองยิว มีไหหินขนาดใหญ่อยู่จำนวนหนึ่ง แต่ไม่ใหญ่มากหรือสมบูรณ์เท่ากลุ่มอื่นๆ (ที่ได้พบ) ในหุบห้วย บางใบที่แตกเห็นมีปุ่มควอทซ์ ติดอยู่ในเนื้อด้วย ตามลาดเนินมีหินก้อนอยู่มากเขละขละ เข้าใจว่าไหหินทั้งหลายนั้นก็จะทำมาจากก้อนหินเหล่านี้เอง

เราค่อยๆ ขุดดินใต้หินไหใบหนึ่ง ดูเหมือนจะเคยมีการขุดดินข้างใต้ไหหินพวกนี้ทุกใบมาแล้ว และคงเป็นเหตุให้มันเอียงเช่นนั้น เราได้พบไหหินเผาฝีมือหยาบๆใบหนึ่ง ข้างในบรรจุดินเหนียวและลูกปัดอำพัน อีกใบหนึ่งบรรจุโกศกระดูกฝีมือดีสีออกขาว มีรอยแตก เห็นได้ชัดว่าเคยมีผู้ขุดค้นมาก่อนแล้วได้เห็นเหล็กท่อนหนึ่งซึ่งเข้าใจว่าเป็นเครื่องมือของนักขุดรายก่อนๆ ดูเหมือนถูกตัดมาจากเสาตะเกียงข้างวัดร้างในบ้านสอดนั่นเอง เมื่อเรายกขบวนออกจากแม่สอดนั้น มีคน ๒๐ คน ช้าง ๘ เชือก ช่วยกันขนเครื่องมือและอื่นๆ ทุกอย่าง ที่ข้างทางเมื่อขึ้นไปถึงยอดหิน เห็นโขดหินก้อนใหญ่หลายห้อนมีรอยแกะสลักแต่ไม่เห็นเป็นรูปอะไร ก้อนหนึ่งยาว ๑๕ ฟุต สกัดลึก ๒ ฟุต ปลายด้านหนึ่งกว่าง ๒ ฟุต แล้วเรียวลงเหลือ ๑ ฟุต ที่ปลายด้านตรงข้าม มีอีก ๓-๔ ก้อน รูปทรงแบบเดียวกันแต่ไม่ใหญ่ไม่เท่ากัน ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นที่นอนของคนแต่ก่อนมา หรือนัยหนึ่งต้นกระกูลขมุ ตั้งแต่สมัยที่ท้องถิ่นนี้ยังเป็นเมืองข่าปทุม (Kapatum)

ที่ลาดเนินโล่งซึ่งสูงกว่าระดับน้ำทะเล ๔,๐๙๕ ฟุต และมองลงไปเห็นทุ่งลาดแสนนั้น มีไหหินอยู่อีกกลุ่มหนึ่ง และเมื่อมองจากหัวช้าง (Hua Chang) ก็แลเห็นอีกกลุ่มหนึ่งในหุบเขาลุ่มน้ำแสน

เดือนกุมภาพันธ์ วันแรกๆ มีหมอกจัด วันที่ ๑๐ ข้าพเจ้าเดินเล่นอยู่ในทุ่งราบที่ลาดเทลงสู่น้ำงึมด้านหนึ่ง และน้ำแสนซึ่งเป็นแควน้ำเหนือด้านหนึ่ง บริเวณนี้เรียกว่า หนองแดง (Nawng Tang) ข้าพเจ้าจึงคาดว่าจะเห็นทะเลสาบสวยงามอย่างที่เคยพบ ณ. เมืองสุย(Maung Sui) แต่ปรากฏว่าได้พบแต่บึงเลี้ยงเป็ดซึ่งดูเหมือนเกิดจากการขุดค้นเอาดินเหนียวสีน้ำเงิน ที่ใช้ในการปั้นหม้อ ก็เอาเถอะ ถึงอย่างไรก็ยังดีที่ได้เดินเที่ยวเล่นบ้างพอสบายใจ มองจากเขาหัวช้างซึ่งโล้นเลี่ยน สามารถเห็นกุ่งลาดแสนอันกว้างใหญ่ได้ส่วนหนึ่งทางทิศตะวันออก จนถึงที่จดกับป่าไม้บนเนินเขาดอยเติง (Doi Terng) ซึ่งเป็นที่กำเนิดน้ำก่อ (Nam Ko) ซึ่งมีน้ำขุ่นคลั่กไหลวกวนอยู่ในเขตทุ่งนั้น มีวัดร้างอยู่แก่งหนึ่ง และหมู่บ้านร้างแห่งหนึ่ง มีต้นหางจระเข้ ขึ้นรายเป็นรั้วส่งช่อดอกสูงจากกอใบที่มีหนามนั้นขึ้นไปสัก ๑๒-๑๕ ฟุต บางแห่งก็มีกอไผ่ใบเหลือง และบางแห่งก็มีกระท่อมมุงด้วยหญ้าแอบอยู่ในที่เร้นราวกับกลัวใครจะเห็นหรือมีแระสงค์จะซ่อนตัว ถัดไปด้านหลังเป็นทุ่งนาซึ่งถูกทิ้งร้างมานานหลายปีแล้ว ครั้งที่ท้องถิ่นแถบนี้ ยังมีคนอาศัยอยู่มากนั้น คงจะลำบากเรื่องหาเชื้อเพลิงมิใช่น้อย แต่อาจจะพอแก้ไขได้โดยวิธีเดียวกับแถบแคว้น เบงกอล (บังคลาเทศ) คือใช้มูลของปศุสัตว์แทนได้

หญ้าต้นเตี้ยที่ขึ้นสะพรั่งอยู่ทั่วทุ่งนั้น มีตนมาเผาเสียเมื่อสักเดือนหนึ่งล่วงมาแล้ว แต่น้ำค้างและหมอกที่ชุ่มฉ่ำก็ทำให้มันกลับคืนสภาพเขียวชอุ่มได้อีกเกือบเท่าเดิมมา เราทำการรัววัดจากภูหวด (Pu Huat) บ้านโทน(Ban Ton) ซึ่งเป็นเนินเขาโล้น และลงกำหนดจุดในเขตที่ดีที่สุดของภูมิภาคนี้

วันที่ ๑๖ กุมภาพพันธ์ ข้าพเจ้ากับกุลี ๑๔ คน และลูกหาบขนเครื่องมือ ๖ คน ก็ไต่ขึ้นภูเข (Pu Ke) และในที่สุดก็สามารถกำหนดตำแหน่งของมันได้ โดยอาศัยสัญญาณที่ตั้งไว้บนยอดเขา ๒ ยอด ในเชียงขวาง เราเดินทางมาถึงเชียงขวางในวันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ และตั้งค่ายพักอยู่ที่วัดกะเบา (Wat Kabaw) เพื่อให้พ้นหูพ้นตาปลัดเมืองผู้จงใจจะก่อความรำคาญให้แก่เราทุกวิถีทาง

หลังจากกำหนดตำแหน่งของเมืองนี้ด้วยการรังวัดจากภูหวด และภูกะเบา (Pu Kabaw) ซึ่งอยู่เหนือขึ้นไปอีกด้วยแล้ว เราก็เดินทางไปยังภูเขาเหนือเมืองงัน ซึ่งนายเฮ็งได้เลือกถางยอดไว้แล้ว

ระหว่างอยู่ที่บนภูกะเบานั้น วันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ฝนตก หมอกจาง พอมองเห็นทิวเขาที่อยู่ไกลๆได้ เราไม่ยอมเสียเวลาเลย รีบเดินทางไปยังเมืองปาง(Maung Pang) ซึ่งเมื่อผ่านมาครั้งก่อนยังร้างอยู่ ปต่ปัจจุบันมีผู้คนกลับมาตั้งถิ่นฐานใหม่แล้ว ดูท่าทางครึกครื้นขึ้น จากเมืองปาง เราก็มุ่งไปยังทิวเขาเหนือเมืองงัน ลาดเขาฟากตะวันตกมีป่าดิบกินอาณาเขตเป็นไมล์ๆ แต่ฟากตะวันออกโล้นเลื่ยนปราศจากต้นไม้ มีหมู่บ้าน หลายแห่งและหุบห้วยงามน่าชม ตามลาดเขานั้นมีร่องรอยกำแพงค่ายเก่าอยู่ทั่วไปและพวกปศุสัตว์ก็ถือเอาเป็นที่กินหญ้าอย่างสงบสุข

เราลงมาถึงตัวเมืองงัน ซึ่งได้ตั้งสัญญาณไว้ที่แม่น้ำ ณ ระดับสูง ๔,๘๖๗ ฟุตเหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง อากาศสดชื่นดีมาก ต่อจากเมืองนี้เราก็เดินทางไปยังดอยสามสุ่ม (Doi sam Sum) ซึ่งสูงถึง ๘,๗๑๐ ฟุต จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ต้องปีนเขาผ่านป่าทึบไปออกสนุกกันเต็มที่ เก็บใบเฟิร์มและดอกไม้ได้เต็มมือทุกคน เดินผ่านต้นซีดาร์ขนาดยักษ์ที่เขาเรียกกันว่า ไม้เล-เล(Maile-le) ต้นหนึ่งวัดรอบได้ถึง ๑๗ ฟุต ๖ นิ้วหอมกรุนอบอวลอยู่ในป่านั้น แต่ข้าพเจ้าหาต้นมันไม่พบ นกกระทาก็มีชุม ข้าพเจ้าซื้อนกต่อมา ๓ ตัว เอามาปล่อย ๒ ตัว ในจำนวนนั้นถูกขังมาหลายปีแล้วสำหรับใช้ต่อนกอื่น พอได้อิสระก็บินหวือหายวับไปราวสายฟ้าแลบ ยอดเนินเป็นโขดหินกรานิตขนาดใหญ่ ส่วนยอดสูงสุดอยู่ในแนวสันปันน้ำหลัก

ผู้ที่ไปกับข้าพเจ้าคือคนนำทาง ซึ่งเคยทำงานร่วมกันมาแต่ ค.ศ. ๑๘๘๔ เมื่อเดินทางจากเมืองปาง ไปเมืองงัน เขาเป็นพี่หรือน้องเขยของเจ้าเมืองงาด (Maung Nhat) ซึ่งถูกเจ้าเมืองหมอก(Maung Mawk) ฆ่าตาย เมื่อ ค.ศ. ๑๘๘๓ พร้อมทั้งลูกชาย ๕ คน ซึ่งคนสุดท้องอายุเพียง ๕ ขวบ เท่านั้น ภรรยาหรือบุตรี (ซึ่งเป็นพี่หรือน้องและหลานของคนนำทางของข้าพเจ้า) ถูกเอาต้วไปให้เจ้าขันติที่ท่าตม (Ta Tom) แต่คนนำทางของข้าพเจ้าไถ่ต้วกลับมาด้วยเงิน ๙๐ รูปี ตัวน้องสาวนั้นสิ้นชีวิตไปแล้วแต่หลานนั้นยังอยู่ที่เมืองงัน ในเมื่อเขารู้จักเมืองงันดี ข้าพเจ้าจึงให้เขาเดินทางไปกับนายเฮ็งเพื่อถางป่าและตั้งสัญญาณบนเขาซึ่งมีชื่อว่าภูทรายหลายแล้ง (Pu Sai Lai Leng)

บนโขดหินกรานิตยอดดอยสามสุ่มนั้น สไมลส์ได้จัดตั้งสัญญาณไว้อย่างเหมาะสมและแน่นหนามั่นคงทนฝนและพายุได้นานหลายฤดูกาล เมื่อข้ามน้ำจัน(Nam Chan) ไปเราได้เห็นต้นสนหลายต้นมีรอยควั่นรอบโคน เตรียมไว้สำหรับตัดฟันลงมาทอนให้ยาวสัก ๑ หลาแล้วก็ล่องตามลำน้ำลงไปสำหรับใช้ทำฟืน พอเลี้ยวอ้อมชะง่อนเขา ก็มองแลเห็นหุบเขาที่ตั้งเมืองงันโดยตลอด ลาดเนินตอนล่างไม่มีต้นใหญ่แต่มีหญ้าขึ้นเขียวชอุ่มเหลือบสีอ่อนแก่งามตา แนวเส้นทางโค้งคดซึ่งอยู่ห่างกันราว ๒ ฟุต คล้ายเส้นชั้นความสูงดูเหมือนมีผู้คนเดินเล่นเป็นประจำ เพื่อนเดินทางของข้าพเจ้าเป็นชายอายุกว่าหกสิบปีแล้ว เมื่อถูกข้าพเจ้าถามว่ารอยแนวนั้นเกิดจากอะไร ก็ตอบว่า "เป็นทางที่วัวควายเดินกินหญ้า" พอข้าพเจ้าชมว่าภูมิประเทศนี้งามมาก ชายชราก็เริ่มพอใจที่จะโต้ตอบมากขึ้น "ใช่แล้ว" เขาว่า "กระผมเกิดที่นี่ พ่อกระผม ปู่กระผม ทุกคนที่กระผมรู้จักว่าเป็นญาติก็เกิดที่นี่ทั้งนั้น ป้อมค่ายพวกนี้เห็นกันมานานจนไม่มีใครจำได้ว่าตั้งเมื่อไร ปู่กระผมยังไม่รู้เลย แต่ที่นายเห็นเป็นเส้นอ้อมเขาน่ะ แต่ก่อนเป็นทางเกวียนขนเชื้อเพลิงไปเมืองงัน ที่เป็นเส้นตามลาดเนินเป็นขอบคันนาที่เคยปลูกข้าวนาสวน ที่นั่นเราทำบึงเก็บน้ำด้วยวิธีเขื่อนขวางลำธารขุดคลองซอยชักน้ำไปในทุ่ง แต่ก่อนแถวนี้มีคนอยู่เต็ม ล้วนแต่มั่งมีศรีสุขแต่เดียวนี้ก็หมดแล้ว บ้านเมืองก็ทรุดโทรมไปหมด"

วันที่ ๑๘ มีนาคม เราก็ลาจากเมืองงัน ข้ามขึ้นภูเมี่ยง (Pu Mieng) ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นสวนต้นเมี่ยงหรือชา แล้วตัดสันปันน้ำหลักลงไปสู่ภูมิประเทศที่เป็นป่าดงดิบ เข้าเขตลุ่มน้ำโม (Nam Mo) ครวญช้างคนหนึ่งเกิดอุบัติเหตุ ขณะกำลังขนข้าวไปเมืองโม ช้างล้มกลิ้งลงไปตามทางชัน ซึ่งลื่นปราดเพราะฝนตกมาก่อนนั้นไม่นาน ข้าเจ้าได้พบเจ้าเมืองโมระหว่างที่เขากำลังเดินทางไปดื่มน้ำสาบานที่เชียงขวาง จึงได้เร่งรัดให้เขากลับไปโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะเหตุการณ์ระหว่างที่เขาไม่อยู่น่าจะไม่ดีนัก เราตั้งค่ายพักที่บ้านมุง(Ban Mung) ซึ่งเพิ่งจะเกิดเหตุตื่นเต้นเกี่ยวกับเสือกินคนที่เข้ามาลากคนไปกินเสียถึง ๔ ศพ เมื่อ ๑๐ วันก่อน เวลากลางคืนมืดสนิทและซ้ำฝนตก เราไม่ได้คอยเฝ้าเสือตัวนั้นแต่ให้ลูกหาบไปอยู่ในเรือนหลังหนึ่งในหมู่บ้าน และใส่รั้วรอบกระโจมพักเสีย

ลุ่มน้ำโมเป็นเขตทุรกันดาร ป่าทึบเป้ฯป่าดงดิบ ฝั่งขวาของแม่น้ำเป็นหน้าผาปูนสูงชัน เมืองงาดอยู่ในที่เหมาะสมอย่างยิ่ง ทำให้นึกถึงเมืองพวน แต่กระนั้นนับแต่เจ้าเมืองและลูกถูกฆาตกรรม ชาวเมืองก็หนีกระจัดกระจายไปสิ้น เนินเขารอบเมืองมีต้นไม้เต็มเป็นป่าทึบและสัตว์ชุมอย่างยิ่ง มีนกยูงงามชนิดหนึ่ง เรียกว่า นกอางกวด (Ang Kaut) ร้องเสียงเหมือนสุนัขไม่มีผิด เราได้พบรอยโขลงช้างอีกด้วย เมื่อบุกไปจนถึงต้นน้ำโมแล้ว เราก็เริ่มไต่ขึ้นภูทรายหลายแล้ง ซึ่งสูง ๙,๐๕๙ ฟุต จากระดับน้ำทะเลบนยอดเขาสูงตระหง่านที่นายเฮ็งได้ถากถางไว้แล้วนั้น เราได้พบต้นโรโดเดนดรอนสองชนิดดอกสีขวา กับสีแดง นอกนั้นก็มีกล้วยไม้ ที่งามน่าชมมีสองชนิด ชนิดหนึ่งใจกลางดอกขวามีกลีบห้ากลีบสีชมพู และอีกชิดหนึ่งนั้นมีสีขวาปลอด

งานของเราบนยอดเขาที่ต้องทำให้สำเร็จสมบูรณ์เท่าที่จะทำได้ เพราะเป็นจุดที่เริ่มเขตแดนฟากตะวันตกของสยาม แต่หมอกก็หนาทึบจนแลไม่เห็นภูมิประเทศ และเราก็ได้แต่รอคอยด้วยความกระวนกระวายใจจนเสบียงเริ่มจะขาดแคลน กว่าจะทำการรังวัดเสร็จสิ้นก็ตกเข้าวันที่ ๒๒ เมษายน ข้าพเจ้าจึงส่งคนส่วนหนึ่งลงไปยังบ้านนางนอย(Ban Na Ngoi) ซึ่งอยู่ที่ฐานเชิงเขาด้านเหนือ เพื่อซื้อข้าว ส่วนคนอื่นๆก็กลับไปเมืองโม พวกชาวนางอยสองสามคนขึ้นมาช่วยชี้เส้นเขตแดนระหว่างสยามกับอันนัม พวกนี้เป็นคนลาวธรรมดาที่อยู่ในบังคับอันนัม

ข้าพเจ้าเคยคาดคะเนว่า เมื่อมองจากยอดเขานี้จะแลเห็นภูมิประเทศโล่งไกลลิบไปทางตะวันออก จนจรดฝั่งทะเล แต่ที่จริงมีภูเขากั้นขวางซับซ้อนต่อเนื่องเป็นแนวไปตลอดจนถึงชายฝั่ง ยอดใหญ่ยอดหนึ่งคือภูหวด (Pu Huat) นั้น ข้าพเจ้าคาดว่าคงจะมองเห็นได้จากชายฝั่งทะเลที่เดียว แปลว่าที่ขวางอยู่ระหว่างข้าพเจ้ากับอ่าวตังเกี๋ยนั้นก็คือภูเขาไม่กี่ลูกเท่านั้น แต่ข้าพเจ้าก็ต้องหันหลังมาทำการสามเหลี่ยมต่อไปทางใต้จนถึงแม่น้ำโขง

การเดินทางยิ่งลำบากมากขึ้น ทางก็แสนลื่น บางแห่งทากชุม และฝนก็ตกทุกวันสันปันน้ำหลักยังคงเป็นแนวหินกรานิต เราตัดเข้าเมืองหมอก (Maung Maok) ซึ่งมีป้อมค่ายโบราณ แต่ร้างเสียแล้ว การเดินทางตามแนวลำน้ำบาง (Nam Mang) แสนจะยากเข็ญน้ำเอ่อท้นฝั่ง และซ้ำต้องข้ามฝั่งบ่อยด้วย พวกลูกหาบต้องระวังตัวเป็นพิเศษ แต่ก็ชั่วไม่นานพอถึงบ้านทิน่า (Ban Tinum) ในวันที่ ๔ พฤษภาคม ก็สิ้นทุกข์

ในเมื่อฝนเริ่มตกแล้ว ก็ย่อมเป็นการไม่เหมาะสมที่จะยกขบวนคนจำนวนมากๆ ไปขึ้นเขาลงห้วยด้วยพร้อมๆกัน สไมลส์จึงล่องลงไปตามลำน้ำแม่จัน เพื่อเตรียมการวัดเส้นฐานในทุ่ง ข้ามฟากแม่น้ำโขง ส่วนข้าพเจ้าก็ไต่ขึ้นภูมุ่น (Pu Mun) และภูกาบ (Pu Kap) เพื่อทำการรังวัดให้สำเร็จบริบูรณ์ ที่บนยอดภูกาบนั้น เราจับสัตว์ประหลาดได้ตัวหนึ่งจากดงเต่า หางซึ่งยาวราว ๔ นิ้ว มีคนกล่าวว่าเหมือนหางจรเข้ แต่หัวติดอยู่ข้างนอก มันหลุดหนีไปได้ตอนกลางคืน คนในกลุ่มเราไม่มีใครเคยเห็นมันมาก่อนเลย

วันที่ ๑ มิถุนายน ข้าพเจ้ากับนายเฮ็งออกเดินทางไปภูผาง(Pu Pang) ด้วยกันทางที่ไต่ขึ้นนั้นช่วงแรกน่าสนใจมาก เป็นป่าทึบมีรอยช้างและแรดอยู่มากมาย แรดนอเดียวนี้มี ๒ ชนิด ชาวบ้านเรียกว่า กระซู่ กับแรด นอนั้นเป็ฯที่ต้องการมากที่ราคาสูงสุดคือที่มีโหนกยื่นออกมาด้านล่าง อบเชยก็มีมากในแถบนี้
ยิ่งไต่ขึ้นสูงขึ้นทางยิ่งลำบาก โขดหินอูไลท์(Oolite) บางแห่งก็ผุกร่อนจนดูเหมือนส่ายไปมาได้ที่ลึกเว้าเป็ฯหลุมบ่อก็มี น้ำลำธารแดงขุ่นเพราะสารเฟอริก แกไซด์ (Ferric Oxide) เราเข้าไปติดอยู่กลางดงหินที่เป็นโขดสูงชันอยู่รอบด้านบ่อยครั้ง ต้องรอให้คนที่มากระจายกันหาทางออก บางทีก็ต้องลอดไปตามทางมืดๆ ตัดเลียบข้ามเหวลึก หรือใช้กิ่งไม้รากไม้ผูกมัดกันเป็นกระไดจำเป็นไต่ข้ามโขดหินไป บางคราวขึ้นไปได้ถึงยอดหนึ่งแล้วก็พบว่ามียอดอื่นๆ แวดล้อมอยู่จนไปต่อไม่ได้ ต้องถอยหลังไปตั้งหลักหาจุดที่จะปีนขึ้นไปใหม่อีก ความฉุกเฉินละหุกยิ่งเพิ่มมากขึ้นเพราะฝนตกทุกวัน และหมอกก็คอยแต่จะก่อตัวหราทึบบังสายตา ยิ่งสูงขึ้นก็ยิ่งไต่ยากและช้ามากยิ่งขึ้นตามลำดับ แต่ในที่สุดเราก็ขึ้นไปถึงยอดภูผางซึ่งสูง ๖,๐๘๕ ฟุต เหนือระดับน้ำทะเล ด้านใต้ของภูเขานั้นเป็นหน้าผาตัดชันดึงลงไปหุบเขาลุ่มน้ำทวาย (Nam Tawan)

คนในคณะของเราเหน็ดเหนื่อยกันแสนสาหัส คนรับใช้ชาวมัดราสของข้าพเจ้าซึ่งทรมานด้วยโรคหัวใจมานานก็ถึงแก่ความตายลงด้วย เราฝังศพเขาไว้บนภูเขานั้น

มองจากยอดภูผางเห็นภูมิประเทศงามมหัศจรรย์ ในหุบเขาลุ่มน้ำทวาย เห็นทุ่งร้างเป็นหย่อมๆ และที่ตั้งชุมนุมชาวจีนครั้งเวียงจันทน์ยังรุ่งเรือง เรียกว่าเมืองทวาย เมื่อทำการรัววัดบนภูผางเสร็จเราใช้ต้นสนเป็นต้นไม้สัญญาณแล้ว ข้าพเจ้าก็ฝ่าหมอกตรงไปยังภูกะต้า(Pu Kata) ซึ่งสูง ๖,๙๐๖ ฟุต มีผาชันเป็นหินล้วนขวางกั้นอยู่ จำเป็นต้องเลิกพยายามที่จะไปยังภูละแวกพอดีกับระยะปลายฤดูสำรวจ (๑๕ มิ.ย) ยอดเขาเหล่านี้ไต่ขึ้นไปยากไม่ว่าฤดูไหนอยู่แล้วเพราะมักเกิดมีหมอกคลุมอยู่โดยรอบ และลมบนก็เป็นพายุกล้า พัดเข้ามาปะทะทุกด้าน การหาน้ำกินน้ำใช้ก็เป็นเรื่องลำบาก เราอาจได้ยินเสียงน้ำไหลซอกซอนอยู่ในหุบห้วยหิน แต่ก็มองไม่เห็น และไม่มีหนทางจะเข้าไปถึงได้ น้ำที่อาศัยกินใช้แระจำวันก็คือ น้ำฝน

ละจากภูเขานั้น ข้าพเจ้าก็ล่องน้ำเหนือลงมายังแม่น้ำโขง เมื่อมาถึงที่นั้นในวันที่ ๑๗ มิถุนายน ก็ได้ทราบเป็นครั้งแรกว่าฝรั่งเศสประกาศยึดครองดินแดนนั้นมาตลอดถึงแม่น้ำโขง ประชากรพากันตื่นตกใจและโกรธเคืองทั่วไป และข้าพเจ้าก็ได้รับคำสั่งด้วยให้กลับบางกอก

ด้วยเหตุที่ต้องการให้ผลงานสำเร็จสมบูรร์มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ข้าพเจ้าก็เริ่มลงมือวัดเส้นฐานแต่ปรากฏว่าทำได้เพราะระดับน้ำสูงขึ้นอย่างรวดเร็วจนที่ที่กำหนดทำเส้นฐานไว้ ข้าพเจ้าทำการรังวัดละติจูดและอะซิมุทจนสำเร็จได้ผลพอนับว่าตรง (สมนัย) กับค่าที่ลดทอนได้จากการสามเหลี่ยม ข้าพเจ้าตั้งใจว่าจะหยุดพักอยู่ที่หนองคายชั่วคราว พอหมดฤดูฝนจะได้เริ่มปฏิบัติการสำรวจต่อไปใหม่ การที่ต้องละงานไว้เพียงนั้นทำให้เกิดความลังเลอาลัยอยู่มากที่เดียว

ที่แก่งสะดวก (Keng SaDawk) ริมแม่น้ำโขง มีชุมชนชาวโรในคาธอลิกแห่งหนึ่ง บาดหลวงชาวจันทรบูรณ์ (Chantabun) ซึ่งอยู่ในคณะผู้สอนศาสนาเป็นผู้ดูแลสำนักงานใหญ่ที่นครพนม เขาไม่สามารถบอกข่าวที่แน่นอนแก่เราได้ แต่ก็มีความเชื่อว่าเกิดความยุ่งยากขึ้นแล้ว เพราะเห็นทหารจำนวนมากล่องลงไปตามแม่น้ำโขง และมีข่าวเล่าลือกันว่า หากพวกฝรั่งเศสเข้ามา ผู้ที่ถือศาสนาคริสตร์จะถูกฆ่าทั้งหมด สยามเป็นประเทศหนึ่งในจำนวนน้อยประเทศที่ไม่เคยกีดกันศาสนาคริสตร์ และเจ้าชายประจักษ์ สู้อุตสาห์ทรงเดินทางไปถึงนครพนมด้วยพระองค์เอง เพื่อปลอบใจพวกนักศาสนาเหล่านี้ เรารีบเดินทางไปหนองคาย ในวันที่ ๖ กรกฏาคม พอไปถึงเจ้าชายก็ประทานพระเมตตาแก่เราเป็นอันมาก

การที่จะเดินทางเดินทางกลับบางกอกผ่านโคราชนั้น เป็นอันเลิกคิดได้ เพราะตลอดลุ่มน้ำโขงถูกน้ำท่วมทั้งหมด เราต้องกลับทางอุตรดิตถ์ ทวนน้ำขึ้นไปปากลาย การที่น้ำท่วมนั้นทำให้มองไม่เห็นแก่ง เราจึงต้องค่อยๆเลียบไปตามริมฝั่ง พอถึงปากลายก็ได้พบช้างจำนวนหนึ่งกำลังจะเดินทางกลับไปอุตรดิตถ์ เราก็ว่าจ้างเป็นราคาเชือกละ ๒๐ รูปี เดินทาง ๘ พักก็ถึงอุตรดิตถ์ จากที่นั่นเราก็ลงเรือล่องมาถึงบางกอกในวันที่ ๖ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๘๓

วันที่ ๗ สิงหาคม ยกเลิกการปิดล้อมการปิดล้อมเมืองท่า และ ม.ปาวี ซึ่งบัดนี้ดำรงตำแหน่งหัวหน้ากงศุล ควบคุมคนในบังคับฝรั่งเศสประจำสยาม และข้าพเจ้าก็ไม่ได้เคยพบปะอีกเลย หลังจากแยกกันที่ปากน้ำโพ ใน ค.ศ. ๑๘๘๖ นั้น ก็ได้กลับมาบางกอกอีกครั้งหนึ่ง ความสัมพันธ์ทางการฑูตระหว่างฝรั่งเศสกับสยามก็เริ่มดำเนินต่อไป

สไมลส์มิตรผู้มีใจมั่นคงและเพื่อนร่วมเดินทางที่ดีที่สุด สิ้นชีวิตในปีถัดมา ระหว่างสำรวจจังหวัดในท้องถิ่นภาคตะวันออก

จบบริบูรณ์

Author supported to Thai Topo and Land Surveyors United

2 comments:

  1. เป็นกุศโลบายที่ยอดเยี่ยมครับ ที่เอา password มาซ่อนอยู่ในเรื่องนี้ ทำให้คนต้องมาอ่าน เพื่อตามหา password ไปปลดล๊อคเพื่อดาวน์โหลดสูตรงานสำรวจ
    พอผมอ่านจบ ผมได้ password แล้ว แต่สิ่งที่ผมได้เพิ่มเติมคือความรู้ ที่ไม่เคยรู้มาก่อน ขอบคุณเป็นอย่างสูงครับ

    ReplyDelete
  2. ขอบคุณมากค่ะ สำหรับความรู้เพิ่มเติมที่ไม่เคยรู้มาก่อนเลยค่ะ

    ReplyDelete