Friday, 13 January 2012

กรณีศึกษาเปรียบเทียบ 'งานสำรวจรังวัด' ของคนในสมัยโบราณ

หมายเหตุ: เป็นเพียงแนวคิด และทัศนะส่วนตัวของผู้เขียน ตามความรู้ และประสบการณ์ เท่าที่มีอยู่ อาจจะขาดตกบกพร่อง ทางประเด็นสำคัญอื่นๆ ไปบ้าง ก็ขออภัย...สิ่งที่สำคัญที่สุดของบทความชิ้นนี้ ที่ผู้เขียนต้องการนำเสนอ คือคำถามที่ว่า: คนในสมัยโบราณมีวิธีการทำการสำรวจรังวัด ก่อนทำการก่อสร้าง สิ่งต่างๆ ดังภาพที่แสดงอยู่ทางด้านล่าง อย่างไร

>> หลายท่าน คงจะเคยเดินทางไปท่องเที่ยว ณ สถานที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ เช่น วัดวาอาราม พระธาตุเจดีย์ พระปรางค์ ปราสาท พระราชวังเก่า ฯลฯ และได้สัมผัสกับบรรยากาศ กลิ่นอายแห่งอารยธรรมโบราณ ความยิ่งใหญ่ทางสถาปัตยกรรมสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรม จารีต ประเพณี ของผู้คนในยุคนั้น ซึ่งได้ถ่ายทอดผ่านทางงานภาพเขียน ลายแกะสลักโบราณตามกำแพงประสาท หรืองานสถาปัตยกรรมสิ่งปลูกสร้าง ฯลฯ

วันนี้เราจะมาย้อนยุค และจินตนาการกลับไปในอดีต เกือบๆ พันปีที่แล้ว...ณ ดินแดนแว่นแคว้น อาณาจักรทั้งหลายแถบนี้ ที่เคยเจริญรุ่งเรืองในอดีต และได้ล่มสลายลงตามกาลเวลา เหลือทิ้งไว้เพียงร่องรอยแห่งอารยธรรม ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา ถึงแนวคิด วิธีการ เหตุ และปัจจัย ของการสร้างสรรค์ผลงานทางสถาปัตยกรรมที่ยิ่งใหญ่ อลังการงานสร้างเหล่านี้...โดยเฉพาะ 'งานสำรวจรังวัด' ของคนในสมัยโบราณ

เชียงใหม่ ศูนย์กลางแห่งอาณาจักรล้านนา (716 ปี) 
>> แนวคูเมือง คือสิ่งที่เป็นตัวบ่งชี้ถึงหลักฐานงานสำรวจฯ เมื่อพิจารณาจากภาพถ่ายดาวเทียมข้างต้น วัตถุประสงค์ของผู้ออกแบบ คือการขุดแนวคูน้ำล้อมตัวเมือง ให้เป็นรูปสี่เหลี่ยมจัสตุรัส (ด้านเท่า) ส่วนทิศทางการวางตัวของแนวคูเมืองถูกอ้างอิง ตามแนวแกนหลักของทิศทั้ง 4 แต่ไม่ปรากฎหลักฐานที่ยืนยันว่า ผู้ออกแบบได้มีการอ้างอิงทิศใดเป็นทิศหลัก อาทิ การเล็งแนวดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออก ทิศที่เหลือทั้ง 3 ก็ตายตัว หรือการอ้างอิงทิศทางดาวเหนือ ในเวลากลางคืน เป็นต้น

จากภาพ จะเห็นว่าทิศทางการวางตัวของแนวคูเมือง มีการเบี่ยงเบนทางมุมประมาณ 1- 2 องศาตะวันออก...มีความเป็นไปได้ว่า ผู้สำรวจฯ ได้ใช้การเล็งแนวจากดวงอาทิตย์ (ทิศตะวันออก) แต่เนื่องด้วย 'ฤดูกาล' ที่ทำการสำรวจ ทำให้ดวงอาทิตย์ขึ้น-ตก ทำมุมคลาดเคลื่อนไปจากแนวเดิม และเป็นเหตุให้การสำรวจเล็งแนว และกำหนดตำแหน่งต่างๆ เกิดความคลาดเคลื่อนตามไปด้วย

จากภาพด้านบน จะสังเกตุเห็นถึงความผิดพลาดเพียงเล็กน้อยเท่านั้น คือระยะทาง ของแนวคูเมืองทางด้านทิศใต้ มีระยะทางสั้นกว่า เส้นด้านทั้ง 3 ทำให้เกิดการเบี่ยงของมุมเมื่อเส้นทางบรรจบ แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ด้วยระยะทางของด้านกว่า 'หนึ่งพันหกร้อยเมตร' และเมื่อกาลเวลากว่า 700 ปีที่แล้ว...ไม่มีเครื่องมือสำรวจฯ อย่างเช่นในปัจจุบัน แล้ว "ช่างสำรวจฯ ในยุคนั้น เขาทำได้อย่างไร?"

อาณาจักรสุโขทัย (764 ปี)
>> จากภาพข้างต้น คือ วัดพระพายหลวง ซึ่งสันนิษฐานว่า ถูกสร้างขึ้นก่อนการสถาปนาอาณาจักรสุโขทัย โดยชนชาวขอมเดิม (อายุกว่า 800 ปี) สังเกตุทิศทางการวางตัวของสิ่งปลูกสร้าง อาทิ คูเมือง ซึ่งมีลักษณะการวางตัวคล้ายกับ คูเมืองเชียงใหม่ นั่นคือการอ้างอิงแนวทิศ ตะวันออก - ตะวันตก ส่วนมุมเบี่ยงที่เกิดขึ้น สันนิษฐานว่าจะเป็นกรณีเดียวกันกับ การกำหนดแนวสิ่งปลูกสร้างที่เมืองเชียงใหม่ ซึ่งฤดูกาลที่ทำการสำรวจฯ อาจจะเป็นสาเหตุ ของการเล็งแนวดวงอาทิตย์...แต่...เมื่อสังเกตุ สิ่งปลูกสร้าง ภายในตัวเมือง จะพบว่า ทิศทางการวางตัวของสิ่งปลูกสร้าง ถูกกำหนดตามแนว ตะวันออก - ตะวันตก อย่างพอดี จึงมีคำถามเกิดขึ้นตามมาอีกนั่นคือ สิ่งก่อสร้างภายในตัวเมือง และ คูเมืองล้อมด้านนอก ได้ถูกสร้างขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันหรือไม่ อย่างไร
>> จากภาพ จะเห็นแนวคูเมือง (น้ำแห้งกลายเป็นป่าไปแล้ว) มีทิศทางการวางตัวทำมุมเบี่ยงไปทางทิศตะวันตก ประมาณ 1-2 องศา ซึ่ง 'ขัดแย้ง' กันกับทิศทางการวางตัวแนวคูน้ำที่วัดพระพายหลวง...และนั่นเป็นเหตุที่ทำให้ผู้เขียน (ส่วนตัว) มีความเชื่อมั่นว่า การกำหนดทิศทางของการวางแนวสิ่งปลูกสร้างจะต้องอาศัยดวงอาทิตย์

อาณาจักรอโยธยาศรีรามเทพนคร (655 ปี) 
>> วัดพระศรีสรรเพชญ์ เป็นตัวอย่างหนึ่งของการ สะท้อนแนวคิดในการสำรวจฯ วางแนวทิศทางสิ่งก่อสร้างด้วย'เข็มทิศ' ...ไม่ปรากฎหลักฐานแน่ชัดว่า เข็มทิศ ได้เข้ามาสู่ดินแดนภูมิภาคนี้ ยุคใด สมัยใด แต่ได้มีการสันนิษฐานกันว่า น่าจะเข้ามาพร้อมกับชาวต่างประเทศ ที่เข้ามาติดต่อค้าขายในสมัยกรุงศรีอยุธยา (โดยเฉพาะการอาศัยเข็มทิศช่วยในการเดินเรือในทะเล)

จากภาพ จะสังเกตุเห็นทิศทางการวางตัวของสิ่งก่อสร้าง ในแนวทำมุมออกจากทิศเหนือกริด เล็กน้อยไปทางทิศตะวันตก ซึ่งเป็นไปตามกฎของทิศทางแม่เหล็กที่ชี้เข้าหาขั้วโลกเหนือ...อยุธยา ตั้งอยู่ ณ ตำแหน่งเส้น ลองจิจูดที่ 100 องศา 33 ลิปดาตะวันออก (เกินมา 10.33 องศา ทางตะวันออก)

เมืองลพบุรี (356 ปี) ราชธานีแห่งที่ 2 ในสมัยอาณาจักรอโยธยาศรีรามเทพนคร
>> แนวกำแพงเมือง (พระราชวังนารายณ์ราชนิเวศน์) ทางด้านซ้ายของภาพ แสดงแนวคิดร่วมสมัยเดียวกันกับ การก่อสร้าง วัดพระศรีสรรเพชญ์ นั่นคือการใช้เข็มทิศในการสำรวจฯ กำหนดทิศทาง วางแนว

สิ่งปลูกสร้างทางด้านขวาของภาพ (วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ) เป็นสิ่งปลูกสร้าง ที่ถูกสร้างขึ้นในสมัยที่ อาณาจักรละโว้ยังเจริญรุ่งเรือง (เช่นเดียวกับ พระปรางค์สามยอด อายุกว่า 754 ปี) ก่อนการล่มสลายของชนชาวขอม ในดินแดนอาณาจักรทวารดี ในเวลาต่อมา

จากภาพ จะสังเกตุเห็นทิศทางการวางตัวของแนวสิ่งปลูกสร้าง ในทิศตะวันออก-ตะวันตก อย่างพอดี โดยมีความคลาดเคลื่อนทางมุม เบี่ยงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ในเขตกำแพงเมืองด้านใน

เมืองนครราชสีมา (354 ปี) 
>> ในสมัยแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ ได้ทรงโปรดให้สร้างเมืองนครราชสีมาขึ้นใหม่ (ย้ายไปจากเมืองเสมา ที่ อ.สูงเนิน) โปรดให้มีการสร้างแนวกำแพงเมือง และขุดคูเมืองขึ้นใหม่ทั้งหมด ด้วยเหตุว่า มณฑลนครราชสีมานั้น เป็นเมืองหน้าด่านทางทิศตะวันออก ซึ่งเป็นเมืองที่มักจะถูก การบุกยึด ทำลายอยู่บ่อยครั้ง

จากภาพ จะสังเกตุเห็นว่า ทิศทางการวางตัวของแนวคูเมือง มีทิศทางอ้างอิงทิศเหนือแม่เหล็ก เช่นเดียวกันกับที่อยุธยา และลพบุรี นั่นคือการใช้เข็มทิศในการสำรวจฯ...แต่ที่เมืองนครราชสีมานี้ ดูเหมือนว่าผลงานของช่างสำรวจฯ จะออก error แบบขนมเปียกปูน นิดๆ (ทิศทางใช้ได้ แต่การออกฉาก อาจจะมีปัญหาเล็กน้อย)

เมืองพิมาย (วิมาย) 955 ปี
>> งานสถาปัตยกรรมสิ่งปลูกสร้างที่ยังสมบูรณ์ที่สุดของชนชาวขอมโบราณ ที่ยังคงหลงเหลืออยู่ในประเทศไทย ณ ปัจจุบัน และยังถูกใช้เป็น 'ต้นฉบับ' (Original) ของงานสร้างสรรค์สิ่งมหัศจรรย์ของโลกอย่าง นครวัด-นครธม ซึ่งถูกเรียกว่า 'เมืองหลวงของชนชาวขอม' หรือบรรพบุรุษของชาวเขมรในยุคต่อมา

จากภาพข้างต้น นอกจากแนวคิดทางอารยธรรม งานสร้างสรรค์แนวกำแพงเมือง ที่มีประตู 4 ทิศ หรือที่เรียกว่า 'เวียง' แล้ว จะสังเกตุเห็นทิศทางการวางตัวของแนวกำแพง และตัวปราสาท ซึ่งแตกต่างไปจากศิลปะขอมด้วยกันเอง อาทิ พระปรางค์สามยอด หรือนครวัด-นครธม ในยุคต่อมา ซึ่งมีทิศทางการวางตัวของสิ่งก่อสร้างในแนวทิศตะวันออก-ตะวันตก ตามหลัก พราห์ม-ฮินดู ...และเช่นเดียวกับข้อสันนิษฐาน เรื่องทิศทางการวางตัวแนวคูเมืองเชียงใหม่ คือ 'ฤดูกาล' ที่ทำการสำรวจ ทำให้ดวงอาทิตย์ขึ้น-ตก ทำมุมคลาดเคลื่อนไปจากแนวเดิม ทำให้การสำรวจเล็งแนว และกำหนดตำแหน่งต่างๆ เกิดความคลาด เคลื่อนตามไปด้วย
* มีผู้สันนิษฐานว่าทิศทางการวางตัวของตัวปราสาทนั้น ต้องการให้ตัวปราสาทหันหน้าไปทางเมืองหลวงของพวกขอม (ในประเทศเขมร)

นครวัด-นครธม (805 ปี)
>> 1 ใน 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลก โดยชนชาวขอมโบราณ กับคำถามที่ตามมามากมาย และหนึ่งในคำถามเหล่านั้นคือ มันถูกสร้างขึ้นได้อย่างไร? ทั้งงานทางปติมากรรม ศิลปกรรม สถาปัตยกรรม และวิศวกรรม ในส่วนของงานสำรวจรังวัด เพื่อกำหนดแนวสิ่งปลูกสร้างนั้น 'แค่คิดก็ขนลุกแล้ว' ให้เดินไปข้างหน้าตรงๆ สักร้อยสองร้อยเมตร โดยไม่เบ้ไป เบ้มา ยังยาก แล้วคนในยุค 800 ปีที่แล้ว เขาได้มีการ กำหนดวางแนวทิศทาง วางแนวฉาก กำหนดตำแหน่งกันอย่างไร และเป็นที่ทราบกันดีว่า 'ต้นฉบับ' การก่อสร้างตัวปราสาทนั้น ได้เลียนแบบมาจากปราสาทหินพิมาย แต่ถูกขยายให้ใหญ่ขึ้นอีกหลายเท่าตัว ความยากในการสำรวจรังวัด ก็ต้องเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว

จากภาพ ตัวปราสาทนครวัดและแนวคูเมืองทางทิศใต้ ถูกกำหนดตำแหน่งในทิศ ตะวันออก-ตะวันตก ตามหลักศาสนา พราห์ม-ฮินดู ส่วนตัวปราสาทนครธม และแนวคูเมือง ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศเหนือ ก็เช่นกัน มีการกำหนดทิศทางโดยอ้างอิงทิศ ตะวันออก-ตะวันตก เช่นเดียวกับการสร้าง นครวัด และจุดสังเกตุหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือ การใช้เส้นฐาน (ด้านหน้า) ของนครวัด ทำการยึดโยงเข้ามาสู่จุดศูนย์กลางของ นครธม (แต่ดูเหมือนเส้นฐาน หลังจากข้ามคูเมืองมาแล้ว จะเบี่ยงออกไปทางซ้าย 1-2 องศาตะวันตก ทำให้การกำหนดตำแหน่ง และการยึดโยงต่างๆ คลาดเคลื่อนทางมุมตามไปด้วย...ถ้าคะแนนเต็ม 10 ก็
ได้ไป 9.5 คะแนน
* ผู้เขียนขอสันนิษฐานว่า 'ผู้สั่งการ' ให้สร้างเมื่องนครธมนั้น ต้องการสร้างเมื่องนครธม ให้ใหญ่กว่าเมืองนครวัด ขนาด 4 เท่าตัว...ภาพข้างต้น เป็นข้อบ่งชี้ เช่นนั้น

บาราย ตะวันตก (800 ปี)
>> ขอยกให้เป็นสิ่งก่อสร้างทางหลักการเรขาคณิต ด้วยฝีมือมนุษย์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยชนชาวขอมโบราณ มันคือ 'สระน้ำ' หรือระบบชลประทาน ทำหน้าที่ผันน้ำ เพื่อการอุปโภค บริโภค ให้กับเมือง นครวัด-นครธม และยังมี 'บาราย' อีกแห่งหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะ และขนาดเดียวกัน อยู่ทางทิศตะวันออก ของตัวเมือง นครวัด-นครธม

จากภาพ ทิศทางการกำหนดตำแหน่ง ถูกอ้างอิงตามแนวทิศ ตะวันออก-ตะวันตก เช่นเดียวกับ การก่อสร้าง นครวัด-นครธม และสิ่งที่ทำให้รู้สึกทึ่ง นั่นคือ เขามีวิธีการสำรวจฯ อย่างไร ในการรักษาระยะให้เป็นแนวตรง และการรังวัดระยะทางถึง 8 กิโลเมตร ทางด้านยาว และ 2 กิโลเมตรทางด้านกว้าง...มีความคลาดเคลื่อนทางมุมเพียงเล็กน้อย อาจจะเนื่องมาจาก ความยาวของเส้น มีความยาวไม่เท่ากัน หรือ ความคลาดเคลื่อนในการออกฉาก หรือการรักษาระยะฉาก

บทส่งท้าย
ในการศึกษาเปรียบเทียบ เรื่องของงานสำรวจรังวัดของคนในสมัยโบราณ มีประเด็นที่จะต้องพิจารณาหลักๆ อยู่ 3 ประการ คือ

1. มีวิธีการอย่างไรในการ ทำการวัดระยะทาง (ยาวไกล) และรักษาแนวระยะให้เป็นแนวตรง (ในสภาพพื้นที่ๆ น่าจะรกทึบด้วยป่าไม้ ใหญ่น้อย)
2. มีวิธีการอย่างไร ในการทำการออกฉาก และรักษาระยะฉากนั้นให้เป็นแนวตรง
3. มีวิธีการอย่างไร ในการตรวจสอบความถูกต้อง ของการรังวัด

>> ผู้เขียน พยายามตกผลึกทางความคิด (ของตนเอง) ในเรื่องของวิธีการที่จะใช้ทำการสำรวจฯ ใน 3 ประเด็นหลักดังกล่าว แต่ก็ยัง เคลือบแคลง สงสัยในบางประเด็น อาทิ

- การกำหนดแนวทิศทาง การวางแนวของสิ่งปลูกสร้าง ตามทิศทาง ตะวันออก-ตะวันตก ต้องอาศัยดวงอาทิตย์ และอาจจะต้องมีการสอบทิศ (เล็งแนวด้วยสายตา กับหลักไม้ 3 หลัก) ทั้งช่วงเวลา ดวงอาทิตย์ขึ้น และตก เทียบกับเส้นขอบฟ้า
- การออกฉาก ผู้เขียนพยามคิดแล้วคิดอีก แต่ก็คิดไม่ออก ว่ามีวิธีการใดบ้างที่ใช้ในการออกฉากแบบละเอียด โดยยึดหลักเครื่องไม้เครื่องมือ เมื่อยุคสมัย 800 ปีก่อน ส่วนเรื่ององค์ความรู้ทางด้าน 'มุม' ก็ไม่ปรากฎหลักฐานใดๆ ชี้ชัดว่าชนชาวขอมโบราณ ได้มีการคิดค้น ทฤษฎีว่าด้วยเรื่องมุม เหมือนอย่างที่ ปิธาโกรัส ค้นพบ ทฤษฎีทางด้านสามเหลี่ยม...ส่วนแนวคิดโดยการเปรียบเทียบ หลักการออกฉากแบบง่ายๆ เช่นเดียวกับการก่อสร้างบ้านเรือนทรงสี่หลี่ยม ขนาดเล็ก (ระยะมองเห็นกัน) ความคลาดเคลื่อนจากการออกฉาก แม้จะเกิดขึ้นจากการวัด แต่ก็เพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่สำหรับสิ่งปลูกสร้างขนาดใหญ่ สิ่งที่จะเป็นปัญหาต่อไปคือ ความคลาดเคลื่อนสะสมทางมุม ที่เกิดจากการเล็งแนวด้วยสายตา

- การวัดระยะทาง เชือกที่รู้ระยะความยาวคงที่ เช่น เชือกความยาว 50 เส้น สามารถนำมาใช้ในการวัดระยะแบบต่อเนื่อง โดยวัดเป็นทอดๆ ต่อๆกันไป แต่ปัญหาที่จะเกิดขึ้นตามมาคือ 'ความคลาดเคลื่อนสะสมของระยะทาง' ของการวัดแบบต่อเนื่องกันไป ทั้งจากสภาพพื้นที่สูง-ต่ำ หรือต้นไม้ขนาดใหญ่ ขวางแนวรังวัด (อาจจะมีวิธีคิดแบบ วัดออปเซ็ต ในสมัยนั้น) ส่วนการวัดระยะทางแบบต่อเนื่องกันไปให้ 'ตรงตามแนว' อาจจะต้องใช้วิธี 'เล็งหลัก 3 หลัก' แต่ด้วยระยะทางสำรวจฯ มีความยาวหลายกิโลเมตร จะทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนสะสมทางมุม ที่เกิดจากการเล็งแนวด้วยสายตา
* ยุคปัจจุบัน แค่การลากเทปไม่ตึง เกิดการหย่อนยาน ตกท้องช้าง และต้องทำการปรับแก้กันวุ่นไปหมด ก็ว่นวายเกินพอแล้ว แต่ในยุคโบราณนั้นเล่า เขาแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้อย่างไร

- การตรวจสอบความถูกต้อง ไม่สามารถสันนิษฐานได้ว่า แนวคิดเรื่อง 'การเล็งสกัด และการวัดระยะสกัด' ได้มีการนำมาใช้ หรือมีองค์ความรู้ทางด้านนี้หรือไม่ แต่สามารถสันนิษฐานได้ว่า น่าจะมี 'การรังวัดซ้ำ' เกิดขึ้น เพื่อสอบระยะทาง หรือสอบแนวระยะทางออกฉาก แบบไป-กลับ

>> ไม่แน่นะครับ...ท่านผู้ที่กำลังอ่านบทความนี้อยู่ ในอดีตชาติ ท่านอาจจะเคยเกิดเป็น ท่านขุนก่อสร้าง ท่านหมื่นงานทาง หลวงโยธา หรือพระยารังวัด อะไรซักอย่าง ก็เป็นได้ใครจะไปรู้

มาตราวัดระยะ ของไทย (ในสมัยอดีต)

1   โยชน์   =   400   เส้น
1   เส้น      =     40   วา
1   วา        =       4   ศอก
1   ศอก     =       2   คืบ 
1   คืบ       =      12   นิ้วมือ
1   นิ้วมือ   =       4   กระเบียด

* อ้างอิงเรื่อง ขอม (กรอม) คือใคร >> http://www.oknation.net/blog/mekong/2009/07/21/entry-2

"เพิ่มเติม"
ผลงาน การสำรวจรังวัด ของช่างรังวัดชาวไทย ที่ได้ประกาศให้โลกได้รับรู้ ผ่านทางโปรแกรม Google Earth ว่า 'กระบี่มือหนึ่ง' ก็มีอยู่บนดินแดนแห่งนี้เช่นกัน กับผลงานการออกแบบ สำรวจและก่อสร้าง โครงการจัดสรรที่ดินทำกินเพื่อเกษตรกร กว่าแสนไร่ (ทางภาคใต้) โครงการหนึ่ง ซึ่งได้สำเร็จเสร็จสิ้นลง เมื่อสิบกว่าปีก่อน เทคโนโลยีที่ใช้ในการสำรวจรังวัด มีอย่างครบถ้วน อ้างอิงพื้นหลักฐาน Indian Thailand - 1975 (UTM)
- ทิศทางการวางตัว 'คลาดเคลื่อน' จากระบบกริด (UTM) 1 องศาทางตะวันตก 
- แบบก่อสร้างมีลักษณะเป็นรูปวงกลม รัศมีวงใน-วงนอก 220 ม. และ 320 ม. ตามลำดับ (แต่คลาดเคลื่อนทางระยะรัศมี เฉลี่ย 10 ม.) ส่วนความคลาดเคลื่อนของการวางโค้งในสนาม เป็นที่ปรากฎดังภาพ

...ผีปู่ย่า ตาทวด ของทวด ๆ ๆ ๆ เฝ้ามองดูอยู่...



>> มีวิธีการตรวจสอบความถูกต้อง และความคลาดเคลื่อนของการออกฉาก ด้วยหลักการง่ายๆ ดังภาพ
>> มีวิธีการตรวจสอบความถูกต้อง และความคลาดเคลื่อนของการออกฉาก ด้วยหลักการง่ายๆ ดังภาพ
กำหนดให้ A เป็นแนวออกฉาก (เส้นหลัก)ไปที่จุด a' ซึ่งมีระยะทาง 2 กิโลเมตร
ที่เส้นฐานของการออกฉาก กำหนดให้ B และ C มีระห่างจาก A เป็นระยะทาง 50 ม. 
ทำการออกฉาก จากจุด B ไปที่จุด b' และจากจุด C ไปยังจุด c' 

ความถูกต้องของการออกฉาก คือระยะทาง 50 ม. ระหว่าง a'-b' และ a'-c' ต้องเท่ากับระยะ 50 ม. ระหว่าง A-B และ A-C

>> ยังคิดไม่ตกสำหรับ 'วิธีการทำการออกฉาก ออกจากจุดเริ่มต้น เช่นที่จุด A, B และ C ตามภาพ' ว่าคนในสมัยโบราณเขาจะใช้วิธีการอย่างไรบ้าง...ลองคิดแบบง่ายๆ อาทิ เอาไม้ยาวๆ ตรงๆ 2 ท่อน มาวางไขว้กันเป็นเครื่องหมายบวก และต่อจากนั้น ก็ใช้วิธีเล็งด้วยหลัก 3 หลักต่อเนื่องกันไป แต่วิธีการนี้มันก็ยังง่ายเกินไป น่าจะมีวิธีการที่ดีกว่านี้...ต้องลองถามช่างไม้ แถวๆบ้าน เผื่อมีไอเดียแปลกๆ

อดแปลกใจไม่ได้ว่า ระยะทางเป็นกิโลๆ งานตัด ถากถาง วางไลน์ คงจะสนุกกันน่าดู



ปราสาทหินพนมรุ้ง ที่ จ.บุรีรัมย์ เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของสถาปัตยกรรมสิ่งปลูกสร้าง ของชนชาวขอมโบราณ ถูกสร้างขึ้นในยุคเดียวกันกับปราสาทหินพิมาย สังเกตุการวางตัวทิศทาง ของแนวสิ่งปลูกสร้าง ในแนวทิศตะวันออก-ตะวันตก โดยมีมุมเบี่ยงเพียงเล็กน้อย และที่ปราสาทหินพนมรุ้งแห่งนี้ มีลักษณะเด่นอย่างหนึ่ง คือ ทุกๆ วันที่ 1-7 เมษายน หรือขึ้น 15 ค่ำ ของทุกปี จะเกิดปรากฎการณ์ พระอาทิตย์ขึ้น ซึ่งอยู่ในแนวทิศทางเดียวกับการวางแนว สิ่งก่อสร้าง อย่างพอดี...และนี่อาจจะเป็นข้อสนับสนุน สันนิษฐานที่ว่าคนในสมัยโบราณใช้ดวงอาทิตย์ในการกำหนดทิศทาง การวางแนวของสิ่งปลูกสร้าง ส่วนความคลาดเคลื่อน หรือมุมเบี่ยงที่เกิดขึ้น ก็น่าจะมาจากสาเหตุ เรื่องของฤดูกาล หรือวันเวลา ที่ทำการสำรวจ
น่าทึ่งจริงๆ กับ แนวคิดและองค์ความรู้ของงานสำรวจ ในสมัยโบราณ

>> อีกหนึ่งสถานที่ๆ ตั้งอยู่ใกล้เคียงกัน คือปราสาทหินเมืองต่ำ ซึ่งสันนิษฐานว่าถูกสร้างขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันกับการสร้างปราสาทหินพนมรุ้ง และจุดที่น่าสนใจที่ปราสาทหินเมืองต่ำ คือมีการสร้าง "บาราย" เพื่อการชลประทานให้กับตัวเมือง และเมื่อตรวจสอบในบริเวณใกล้เคียงพบว่า มีร่อยรอย หรือหลักฐาน ที่ยืนยันได้ว่า พื้นที่แห่งนี้เคยเป็น อ่างเก็บน้ำ หรือ บาราย มาก่อน ซึ่งกระจายอยู่ทั่วไปใน บริเวณพื้นที่ดังกล่าว....(ชาวขอมโบราณ น่าจะเรียกได้ว่า 'นักขุด' ระดับโลก)


วันศุกร์ที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2555
'โดยช่างสำรวจฯไทย บนแผ่นดินไทย ณ จ.ตรัง'
>> ผู้เขียนจำได้ว่าเมื่อช่วงปี 2001 หรือประมาณ 11 ปีที่แล้ว ได้เคยเห็นภาพข้างต้นอยู่ในฟิล์มภาพถ่ายทางอากาศ (ยังไม่มีต้นไม้ขึ้นปกคลุม+ยุคนั้นยังไม่มีโปรแกรม Google Earth) ซึ่ง ณ เวลานั้นยังอดแปลกใจไม่ได้ว่า ทำไมเจ้าของที่ดินถึงได้ลงทุนเอาเนื้อที่กว่า 80 ไร่ มาสร้างอะไรที่ดูแล้วไม่น่าจะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจแต่อย่างใด  ส่วนพื้นที่รอบๆ เป็นพื้นที่ปลูกปาล์ม ยางพารา ฯลฯ

>> ผ่านไปกว่า 11 ปี พอมาดูอีกทีด้วยโปรแกรม Google Earth ปรากฎว่ามีต้นไม้ปกคลุมเกือบทั่วบริเวณ...ต้องขอยกนิ้วให้เลยครับว่า เจ้าของที่ ท่านน่าจะเป็นคนที่ 'รักเธอประเทศไทย' ตัวจริง เสียงจริง

>> ในประเด็นเชิงวิชาการงานสำรวจรังวัด...ถ้าสวิงมุมกลับมาทางทิศตะวันออกอีกสัก 2-3 องศา แบบทิศเหนือกริด นี่น่าจะสุดยอดครับ เอาไป 10 คะแนนเต็มเลย ส่วนในประเด็นเรื่องทิศทางการวางตัวที่ว่า ทำไมพื้นที่ถึงถูกบิด หรือเอียงไปทางทิศตะวันตกเกินไปเล็กน้อยนั้น ผู้เขียนก็ไม่แน่ใจเช่นกันครับว่า ช่างสำรวจฯ เมื่อ10 กว่าปีก่อนเขาทำการวางแนวสำรวจฯ กันอย่างไร...ถ้าใช้เข็มทิศในการวางมุม ผลงานที่ได้ก็ไม่น่าจะเอียงมากขนาดนี้ จะว่าย้อนยุค โดยใช้การเล็งแนวพระอาทิตย์ขึ้น-พระอาทิตย์ตก แบบงานสำรวจฯรังวัดโบราณข้างต้น ยิ่งเป็นไปไม่ได้  O_O 

Zone 47 N
E:561895
N:835822


วันจันทร์ที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2555
'ตามหาบารายที่แท้จริง ของปราสาทหินพิมาย'

>> เป็นการฉุกคิดขึ้นโดยบังเอิญของผู้เขียน สำหรับ 'สิ่งที่ขาดหายไป' ณ ปราสาทหินพิมาย ซึ่งเป็นสิ่งปลูกสร้างโดยชนชาวขอมโบราณ ยุคพระเจ้าสุริยะวรมันที่ 1 และเป็นที่ทราบกันดีว่า ปราสาทหินพิมาย ถือเป็นต้นฉบับหรือแม่แบบของสิ่งปลูกสร้างของพวกขอมโบราณในกาลต่อมา ไม่ว่าจะเป็น นครวัด นครธม ปราสาทหินเมืองต่ำ ฯลฯ ซึ่งสิ่งปลูกสร้างในยุคหลังๆนี้ ต่างล้วนมีระบบการชลประทานสำหรับตัวเมือง ที่เรียกว่า 'บาราย' ด้วยกันทั้งสิ้น...อ้าว...แล้วตัวต้นฉบับ หรือตัวแม่แบบล่ะ มี บาราย หรือไม่?

เมื่อช่วงเริ่มต้นเขียนบทความตอนปราสาทหินพิมาย แวบแรกที่ผู้เขียนเห็นจากภาพถ่ายดาวเทียม ด้วยโปรแกรม Google Earth ผู้เขียนก็บอกกับตนเองทันทีว่า อ่างน้ำใหญ่ๆ ทางขวามือ (ภาพด้านล่าง) คือ บาราย เพื่อการชลประทานของเมืองนั่นเอง...สังเกตุจะพบว่าตัวอ่างน้ำ มีขนาดกว้างใหญ่กว่าตัวอาณาเขตปราสาทหินพิมายทางด้านซ้ายเสียอีก

แต่...เมื่อไม่นานมานี้ ในขณะที่ผู้เขียนกำลังเรียบเรียงเนื้อหาสำหรับ 'ปราสาทวัดพู' ใน สปป.ลาว ซึ่งก็ได้พบ 'บาราย' อีกเช่นกัน และมันทำให้ผู้เขียนฉุกคิดถึงเรื่อง 'รูปทรงของบาราย' ที่แตกต่าง และหลังจากนั้นผู้เขียนจึงทำการไล่ตรวจสอบรูปทรงของบาราย ณ สถานที่ต่างๆ ที่ถูกสร้างโดยชนชาวขอมโบราณ...และปรากฎว่า ทุกๆ สถานที่ๆ มี บาราย หรือบ่อขุดจากฝีมือมนุษย์ ล้วนมีรูปทรงเดียวกันทั้งสิ้นคือ 'สี่เหลี่ยมผืนผ้า' และจะถูกวางตัวอยู่ในแนวเดียวกันกับตัวปราสาท หรือตัวแนวคูเมือง กำแพงเมือง เสมอ...อ้าว (อีกแล้ว) แล้วทำไม บารายของตัวปราสาทหินพิมาย ตามภาพข้างต้น ถึงเป็นรูปทรง 'สี่เหลี่ยมจัสตุรัส' ล่ะ...

ถ้าจะว่าตามทฤษฎีการลอกแบบจากตัวต้นฉบับ ก็ควรจะต้องลอกแบบไปทั้งหมด ใช่หรือไม่? และคำถามดังกล่าว คือต้นเหตุแห่งการตามหาบารายที่แท้จริง สำหรับตัวเมืองปราสาทหินพิมาย...และแล้วก็พบ 'มัน' วางตัว 'หลบซุ่ม' หลบหลีกจากสายตาอันเผลอเรอของผู้เขียน (พร้อมกับคำเยาะเย้ยที่ว่า 'เมิงหากรูไม่เจอล่ะสิ อิอิ')

>> ผู้เขียนเคยไปเที่ยวชม ปราสาทหินพิมาย มาแล้ว 2 ครั้ง...แต่คราวหน้าถ้ามีโอกาสได้ไปเยือนอีกครั้ง...พลาดไม่ได้ด้วยประการทั้งปวง ที่จะต้องเข้าไปดู ไปสำรวจ บาราย 'ต้นฉบับ'...อลังการ 'งานขุด' ระดับโลก

วันอังคารที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2555
'มุมฉาก 3-4-5'

>> ได้มีโอกาสวิสาสะกับลุงช่างไม้ผู้มากประสบการณ์ท่านหนึ่ง ผู้เขียนจึงเล่าเรื่องราวในบทความนี้ให้ลุงแกฟัง และขอคำปรึกษาเกี่ยวกับเทคนิกทางด้านงานก่อสร้าง โดยเฉพาะการสร้าง และตรวจสอบมุมฉาก ซึ่งลุงแกก็แนะนำวิธีการตรวจสอบมุมฉาก ในแบบที่แกเรียกว่าวิธีบ้านๆ คือ 'มุมฉาก 3-4-5' (โอ้ว...ผู้เขียน ลืมวิธีนี้ไปเสียสนิท) ที่ช่างไม้นิยมใช้ในการวัดสอบแนวฉาก เวลาก่อสร้างบ้านเรือน...แต่ลุงแกบอกว่า ไม่มั่นใจในวิธีการดังกล่าวเมื่อต้องตรวจสอบความฉาก ที่มีระยะทางยาวเป็นกิโลๆ (แถมตลับเมตรก็ไม่มี) จะให้เอาเถาวัลย์ มาฟั่นเป็นเชือกมัดต่อกัน คงจะคลาดเคลื่อนน่าดู อีกทั้งยังไม่รู้ว่า เมื่อกว่า 800-1,000 ปีที่แล้ว ผู้คนในยุคนั้น เข้าใจ หรือมีองค์ความรู้ทางด้านทฤษฎีมุมฉากหรือไม่?

และคำถามของลุง ที่ถามผู้เขียนกลับคืนมาว่า ผู้คนในยุคนั้นเขามีวิธีการวัดระยะทาง และรักษาระยะทางให้เป็นเส้นตรงได้อย่างไร? โดยไม่เฉ ไม่เบี้ยว ในระยะทางตั้ง 7-8 กิโลเมตร
>> อืม...??? 


วันอังคารที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2556
ปราสาทพระวิหาร (950 ปี)

>> ผู้เขียนขออนุญาติหยิบยก เรื่องงานออกแบบก่อสร้างปราสาทพระวิหาร ของชนชาวขอมโบราณ ขึ้นมาวิสาสะ แทนการพูดถึงเรื่องดินแดน ซึ่งกำลังเป็นที่ฮือฮาอยู่ในขณะนี้ ซึ่งมีท่านผู้รู้ได้เล่าแจ้ง และลงลึกในรายละเอียดกันมากแล้ว
>> ในการศึกษา การสำรวจออกแบบการก่อสร้างปราสาทพระวิหาร มีข้อสังเกตุที่น่าสนใจ นั่นคือการวางแนวของตัวปราสาทในแนว เหนือ-ใต้ ซึ่งแตกต่างไปจากสิ่งปลูกสร้างอื่นๆ ที่ถูกสร้างขึ้นในยุคสมัยเดียวกัน อาทิ ปราสาทหินพิมาย

สิ่งปลูกสร้างอื่นๆ ข้างต้น ส่วนใหญ่จะอ้างอิงทิศทางการวางตัว หรือกำหนดแนวสิ่งปลูกสร้างไปตามทิศ ตะวันออก-ตะวันตก ซึ่งมีดวงอาทิตย์เป็นที่หมาย ในการเล็งแนว

แต่ปราสาทพระวิหาร ซึ่งมีอัตราส่วนด้านยาว มากกว่าด้านกว้าง ดังนั้นผู้เขียน (ส่วนตัว) เชื่อว่าผู้ทำการออกแบบในยุคโบราณ จะต้องทราบ หรือตระหนักถึงความคลาดเคลื่อนที่จะเกิดขึ้น ถ้ายังเลือกใช้การเล็งแนวทิศตะวันออก-ตะวันตก ด้วยดวงอาทิตย์ มากำหนดแนวทิศเหนือ-ใต้

แล้วผู้ทำการออกแบบในยุคโบราณ เขาใช้อะไรเป็นตัวกำหนดแนว เหนือ-ใต้?
>> ผู้เขียนเชื่อว่า ผู้ทำการออกแบบจะต้องใช้ 'การสังเกตุ ดวงดาว' หรือที่บ้านเราเรียกว่า 'ดาวเหนือ' (จะขึ้นอยู่ทางทิศเหนือเสมอ โดยอยู่ในกลุ่มดาวหมีเล็ก และกลุ่มดาวหมีใหญ่) เป็นตัวกำหนดการวางแนวของตัวปราสาทในแนว เหนือ-ใต้ และเมื่อมีการใช้ดาวเหนือ เป็นตัวกำหนดทิศทางในแนวยาวของตัวปราสาท นั่นหมายความว่า การสำรวจ และการกำหนดหมายหลักแนว ต้องถูกกระทำการในเวลากลางคืน...อืม ไม่ธรรมดาจริงๆ สำหรับ 'ขอมเซอร์เวย์เยอร์' 

*ผู้เขียนเชื่อว่า ในรอบปีหนึ่งๆ จะต้องมีหนึ่งคืนที่สามารถมองเห็น 'ดาวเหนือ' ลอดผ่านซุ้มประตู ทุกประตู จากตัวหัวบรรไดทางขึ้น ไปจนถึงหางตัวปราสาท เป็นแนวตรง....แต่ก็นั่นล่ะ ตัวปราสาท ถูกพิพากษาให้เป็นของเขมรไปตั้งนานแล้ว ทำให้การศึกษาหาความสัมพันธ์ระหว่าง ดวงดาว กับสิ่งปลูกสร้าง ไม่สามารถกระทำได้...ครั้นจะไป ถามทหารเขมรที่เฝ้าอยู่ที่ตัวปราสาท ว่าเคยเห็นปรากฏการณ์ดังกล่าวหรือไม่....คำตอบที่ได้รับ น่าจะเป็นอย่างอื่นเสียมากกว่า ខ្ញុំមិនដឹងទេ

วันพุธที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2556
'เล่นของใหญ่' ไปกับ ขอมเซอร์เวย์เย่อร์
>> ผู้เขียนได้อ่านงานเขียนของท่านอาจารย์ สรรค์สนธิ บุณโยทยาน เรื่อง 'สามเหลี่ยมพุทธมหายาน' ซึ่งท่านอาจารย์ได้กล่าวถึง การวางตำแหน่งของตัวปราสาททั้ง 3 เป็นรูปสามเหลี่ยมด้านเท่า อย่าง 'พอดิบพอดี'...แต่อาจารย์ท่าน ก็ยังไม่กล้า 'ฟันธง' ว่าเป็นการเจตนา หรือบังเอิญของผู้สร้าง ฉะนั้นผู้เขียนขออนุญาติ นำมาเขียนต่อยอดในแบบฉบับงานเขียน (ใต้ดิน) ของ Geospatial Article ผู้ที่กำลัง อึ้ง ทึ่ง ฉงง กับความรู้ ความสามารถของชนชาวขอมโบราณ เมื่อเกือบพันปีที่แล้ว
>> เป็นที่ทราบกันดีว่า ในยุคสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 (พ.ศ. 1700-1800) เป็นยุคที่มีความเจริญรุ่งเรืองทางอารยธรรมมากที่สุด ของชนชาวขอมโบราณ ซึ่งพิสูจน์ได้จากสิ่งปลูกสร้างที่อลังการงานสร้าง ตามบทความข้างต้น และในยุคเดียวกันนี้ มีสิ่งปลูกสร้างโบราณสถาน ถูกสร้างขึ้นมากมาย รวมถึงสถาปัติยกรรมระดับโลกอย่าง นครวัด-นครธม ซึ่งได้ถูกสร้างขึ้น โดยมีต้นฉบับ (Original) มาจากปราสาทหินพิมาย จ.นครราชสีมา 

จากภาพข้างต้น ถ้าตั้งสมมุติฐานว่าผู้สร้าง หรือผู้ออกแบบได้ 'เจตนา' ที่จะให้ตำแหน่งสิ่งปลูกสร้างทั้ง 3 มีความสัมพันธ์เชิงมุม ซึ่งกันและกัน...ผู้เขียนพยายามคิดหาทาง ที่จะพิสูจน์สมมุติฐานดังกล่าว แต่ก็มืดแปดด้าน  จะว่าชนชาวขอมโบราณในยุคพันปีก่อน ได้รู้ และเข้าใจ หรือมีองค์ความรู้เรื่อง 'มุม' หรือหลักทฤษฎีสามเหลี่ยมกันมานานนมแล้ว ก็ไม่มีอะไรเป็นเครื่องพิสูจน์ (อย่างน้อย น่าจะมีการเขียน หรือสลักไว้ที่กำแพงปราสาท เหมือนภาพจิตรกรรมฝาผนังอื่นๆ ที่เล่าเรื่องราว เครื่องมือเครื่องใช้ และความเป็นไปของผู้คนในยุคนั้น...
* ผู้เขียนหวังที่จะเห็นภาพแกะสลักนูนต่ำ ประมาณว่า เป็นกล้องมุมตั้งบนสามขา แต่ก็หามีไม่ ก็คงต้อง 'ซตพ' กันต่อไป...อิอิ
>> การกำหนดทิศทางในแนวเหนือ-ใต้ ให้มีระยะทางที่เท่ากัน โดยมีตัวปราสาทหินพิมาย เป็นจุดศูนย์กลางนั้น ไม่ใช่เรื่องยากถ้า 'ขอมเซอร์เวย์เย่อร์' เข้าใจ หรือมีองค์ความรู้ในกฎของ 'ธรรมชาติ' ที่ว่า ถ้าเห็นดาวเหนืออยู่สูง เหนือเส้นขอบฟ้า มากเท่าใด แสดงว่า ผู้ทำการสังเกตุได้เข้าใกล้ขั้วโลกเหนือมากขึ้นเท่านั้น...หมายความว่า ถ้าผู้สังเกตุ ยืนอยู่ที่อาณาจักรศรีวิชัยทางภาคใต้ และทำการสังเกตุดาวเหนือ จะพบว่าดาวเหนือโผล่พ้น เส้นขอบฟ้า ขึ้นมานิดเดียว ในขณะเดียวกัน ถ้าผู้สังเกตุยืนอยู่ที่อาณาจักรล้านนา ทางภาคเหนือ และทำการสังเกตุดาวเหนือ จะพบว่าดาวเหนือโผล่พ้น เส้นขอบฟ้าสูงกว่า ตอนที่ยืนสังเกตุอยู่ทางภาคใต้...และถ้าผู้สังเกตุ ยืนอยู่ที่อาณาจักรหมีขาว ที่ขั้วโลกเหนือ...ผู้สังเกตุจะเห็นดาวเหนือ ลอยอยู่ตรงศีษะพอดี เป็นต้น
* ขอมเซอร์เวย์เย่อร์ เมื่อพันปีก่อนจะมีองค์ความรู้ในเรื่องนี้ แล้วหรือยัง?

แต่...สิ่งที่ทำให้ผู้เขียน นั่งคิด นอนคิด กลับหัวคิด แต่คิดอย่างไรก็คิดไม่ออก นั่นคือการกำหนดตำแหน่งในแนวทิศตะวันออก-ตะวันตก ขอมเซอร์เวย์เย่อร์ มีวิธีการกำหนดตำแหน่งให้ตัวปราสาทภูเพ็ก และตัวปราสาทบายน ตรงกันพอดีได้อย่างไร (หรือที่เรียกในยุคนี้ว่า มีค่าลองจิจูด เดียวกัน)...ถ้าห่างกันเพียงไม่กี่กิโลเมตร ก็ยังพอถากถาง วางแนว เล็งทิศกันไปได้ แต่สำหรับระยะทาง 415 กิโลเมตร...ทำได้อย่างไรกัน?

ผู้เขียนพยายามนึกถึงหลักการง่ายๆ ในการวัดมุมดวงอาทิตย์กับเส้นขอบฟ้า และการกำหนดตำแหน่งของผู้สังเกตุจากดวงอาทิตย์ ซึ่งในยุคที่ผู้เขียนเรียนอยู่ชั้นมัธยม อาจารย์ท่านสอนให้ทำเครื่องมือวัดมุมแบบง่ายๆ จากไม้โปรแทร๊คเตอร์ หรือครึ่งวงกลม (จำลองหลักการมาจากเครื่องมือ Sextant สำหรับหาค่ามุม ของนักเดินเรือในทะเล)...แต่ทว่า ภูมิปัญญาของชนชาวขอมโบราณ จะเข้าใจถึงหลักการดังกล่าวหรือไม่

* มีวิธีการอย่างไร ในการกำหนดตำแหน่งตัวปราสาทภูเพ็ก และตัวปราสาทบายน 'ให้ตรง' อยู่ในแนวเดียวกัน?

ขอม เซอร์เวย์เยอร์ เมื่อพันปีก่อน ทำได้อย่างไร...

วันศุกร์ที่ 19 กรกฏาคม พ.ศ. 2556
ปราสาทวัดพู ณ ดินแดนลาวใต้'...งานสำรวจฯที่หยุดค้างเอาไว้ก่อน?
>> ถ้าจะใช้ความเก่า หรือความโบราณเป็นตัวชี้วัดถึง แหล่งที่มาแห่งอารยธรรมของชนชาวขอม 'ปราสาทวัดพู ณ ดินแดนลาวใต้' คือคำตอบที่ดีที่สุด...จากหลักฐานทางโบราณคดี ได้บ่งชี้ว่าตัวปราสาทวัดพูมีอายุเกินกว่า 1,500 ปีจนถึงปัจจุบัน โดยผ่านการก่อสร้าง บูรณะ ต่อเติม ใน 4 ยุคอาณาจักรสมัย คือ
1. อาณาจักรจาม (พบศิลาจารึกพระนาม เทวนิกา กษัตริย์จาม และระบุถึงดินแดนนี้เป็นของพวกจาม)
2. อาณาจักรเจนละ (บก)
3. อาณาจักรขอม
4. อาณาจักรล้านช้าง

จากการศึกษา และการค้นพบหลักฐานทางโบราณคดี พบว่าในเขตดินแดนประเทศลาวตอนใต้ ในยุคโบราณ ได้เคยเป็นเมืองสำคัญเมืองหนึ่งของอาณาจักรจามปา (จาม) โบราณ โดยสันนิษฐานว่า ปราสาทวัดพู (ดั้งเดิม) ได้ถูกสร้างขึ้นในยุคสมัยของจาม เพื่อใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีทาง 'ศาสนาพราห์ม-ฮินดู' (รูปปั้นพระศิวะ พระพรหม แท่งศิวลึงค์ คือตัวบ่งชี้) และมีการค้นพบหลักฐานการใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธี 'บูชายัญ' ด้วยมนุษย์!
ภายหลังการเสื่อมอำนาจของพวกจาม และถูก Take Over โดยอาณาจักรเจนละ (บก) ซึ่งเป็นต้นตระกูลชาวขอม (และชาวขอม คือต้นตระกูลของชาวขแมร์/เขมรในยุคปัจจุบัน) ปราสาทวัดพู ได้ถูกบูรณะอีกครั้งหนึ่ง และยังคงไว้ซึ่งพิธีกรรม ความเชื่อ รวมถึงพิธีกรรมการบูชายัญ
* มีบันทึกในสมัยกรุงศรีอยุธยาว่า ชาวจามปา (จาม) มิใช่ชนกลุ่มเดียวกันกับชาวขอม (หรือขแมร์)

ในยุคถัดมา หรือที่เรียกกันว่ายุค 'ขอมเรืองอำนาจ' ปราสาทวัดพู และเมืองบริวารของอาณาจักรเจนละ (บก) ได้ถูก Take Over โดยชนชาวขอม และในยุคขอมเรืองอำนาจดังกล่าวนี้เอง ที่ได้มีการต่อเติม บูรณะ เสริมแต่งปราสาทวัดพู ในแบบฉบับ 'ขอม Original' ขนานใหญ่ อาทิ การก่อสร้างตัวปราสาทในแบบอารยธรรมขอม การสร้างเมือง (ปุระ) และที่พลาดไม่ได้ก็คือ 'งานขุดบาราย' หรืออ่างเก็บน้ำ เพื่อการชลประทานของเมือง
<คลิกที่ภาพ เพื่อขยาย>
>> ภายหลังการเข้ามายึดครองของชนชาวขอม ได้มีการสร้างเมืองติดริมแม่น้ำโขงที่ชื่อว่าเมือง 'เศรษฐปุระ'...ด้วยเหตุว่า ปราสาทวัดพู และเมืองเศรษฐปุระดังกล่าว ได้ถูกบูรณะ ต่อเติม เสริมแต่ง จากกษัตริย์ขอมในหลายยุคหลายสมัย ทำให้ไม่สามารถชี้ชัดลงไปได้ว่า สิ่งปลูกสร้างใด ถูกสร้างขึ้นในยุคของใคร 

จากหลักฐานที่ปรากฎในภาพถ่ายทางอากาศข้างต้น ได้บ่งชี้ถึงความเป็นไปได้ว่า 'งานขุด และงานก่อสร้าง' ไม่น่าจะแล้วเสร็จอย่างที่ต้องการ' ทั้งแนวขอบของเมือง หรือแม้แต่ สิ่งปลูกสร้างในเมือง ซึ่งมีลักษณะเหมือนว่า 'ไม่แล้วเสร็จ' ?
จากภาพแนวเขตเมืองเศรษฐปุระ ข้างต้นจะพบว่า 'แนวคันคู' (ขอบของเมือง) มีระยะทางมากกว่า 1 กิโลเมตร ทางด้านทิศเหนือ นั้น 'ไม่มี หรือได้หายไป' โดยถ้าจะสันนิษฐานว่า กาลเวลาทำให้คันคูเหล่านี้หายไป หรือเปลี่ยนแปลงไป 'ก็ไม่น่าจะใช่' เพราะว่าแนวคันคูด้านอื่นๆ ยังพอเห็นได้ชัดเจนพอสมควร...ผู้เขียน (ส่วนตัว) อยากจะสันนิษฐานว่า 'ได้มีเหตุ' การณ์บางอย่าง ที่ทำให้ไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างให้แล้วเสร็จ

และเมื่อพิจารณา 'การขุดแนวคันคู' (ที่เห็นเป็นแนวเส้นตรงขอบด้านนอก-ด้านใน) ซึ่งมีลักษณะเป็นร่องไม่กว้างมากนัก...ผู้เขียน (ส่วนตัว) อยากจะสันนิษฐานว่า ร่องคูดังกล่าว มีไว้เพื่อการกำหนดวางแนวเส้น ทิศทาง (วางกรอบ) 'เพื่อที่จะขุดดิน' จากขอบด้านนอก เข้ามาจนถึงขอบเมืองด้านในออกให้หมด เพื่อเป็นสระน้ำเพื่อการชลประทานขนาดใหญ่ ดังเช่นการออกแบบก่อสร้างตัวปราสาทนครวัด ตามภาพด้านล่าง

>> ถ้าข้อสันนิษฐานของผู้เขียนข้างต้น 'ถูกต้อง' นั่นหมายความว่า 'งานสำรวจรังวัดของชนชาวขอมโบราณ' โดยเฉพาะการ 'วางไลน์' เพื่อกำหนด และรักษาทิศทางให้เป็นแนวเส้นตรงนั้น คือ 'การขุดร่องคูเล็กๆ' ไปตามทิศทางที่กำหนด (หมายตำแหน่งขอบเขตงาน)...ส่วนวิธีการสำรวจ+เครื่องมือสำรวจ เพื่อให้ได้มาซึ่งทิศทาง และความยาวของร่องคันคูนั้น ยังเป็นปริศนาอยู่ ??
* ในยุคสมัยอาณาจักรล้านช้าง ที่ได้แผ่อิทธิพลลงมาครองดินแดน แถบถิ่นนี้ ได้มีการเปลี่ยนระบบความเชื่อจากการนับถือศาสนา พราห์ม-ฮินดู มาเป็นการนับถือศาสนาพุทธ โดยได้นำพระพุทธรูปเข้าไปประดิษฐานไว้ในตัวปราสาท และยกเลิกพิธีกรรมการบูชายัญ ในที่สุด...

5 comments:

  1. พอดีเสริชมาเจอ คนเขียนสุดยอดครับ คิดเรื่องนี้ได้ยังงัย นับถือๆ
    Pok

    ReplyDelete
  2. ผมทำงานด้านโบราณคดี มีคนแนะนำให้ผมเข้ามาดูที่เว็บของท่าน น่าสนใจมากครับ ผมไม่เคยเห็นข้อมูลการเปรียบเทียบสิ่งปลูกสร้างโบราณด้วยภาพแบบนี้มาก่อน ผมขออนุญาติคัดลอกข้อความเพื่อนำไปสอน และเผยแพร่แนวคิดการเปรียบเทียบแบบนี้ ต่อไปนะครับ
    เดชา

    ReplyDelete
  3. ยินดีครับ ขอบคุณครับ

    ReplyDelete
  4. พี่สุดยอดมาก

    ReplyDelete
  5. น่าสนใจมากครับ

    ReplyDelete