Tuesday 1 October 2019

เรื่องขิงๆ กับงานสำรวจฯ Levelling ในประเทศเพื่อนบ้าน...ความ 'ย้อนแย้ง' ที่ยอมรับ 'บ่ได้'

มีประเด็นขิงๆ เกี่ยวกับงานสำรวจฯ Levelling ในประเทศเพื่อนบ้าน ที่มีระยะทางของการถ่ายทอดค่าระดับ (Differential Levelling) จากตำแหน่งหนึ่ง ไปยังอีกตำแหน่งหนึ่ง ที่มีระยะทางกว่า 100+ กิโลเมตร ด้วยเหตุว่า งานสำรวจรังวัดค่าระดับดังกล่าว ได้ก่อให้เกิด 'ข้อพิพาท' ทางด้านวิธีการสำรวจฯ (Levelling Procedure) และวิธีการคำนวณ (Levelling Computationทั้งจากฟากฝั่งที่เห็นด้วย (วิธีการถูกต้อง/ทำได้) และฟากฝั่งที่ไม่เห็นด้วย (วิธีการไม่ถูกต้อง/ทำไม่ได้) และเรื่องราวดังกล่าวนี้ ได้ถูกส่งผ่านต่อมายังผู้เขียนว่า มีความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นนี้อย่างไร จะขึ้นกับฝั่งไหน?

และเมื่อผู้เขียนได้ทำการตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกต่างๆ และได้ตอบกลับไปว่า ผู้เขียน 'เห็นด้วย' กับฝั่งไหนแล้ว?...ก็ได้ทำให้เกิด 'การไม่ยอมรับ' จากอีกทางฟากฝั่งหนึ่งขึ้นมาทันที และการ 'ไม่ยอมรับเหตุและผล ที่ผู้เขียนได้ตอบกลับไป' นี้ ได้กระตุ้นเตือนให้ผู้เขียนต้อง Take Action ออกมาเป็นกรณีศึกษา (ด้วยเหตุผลกลใด ทำไมผู้เขียนถึง 'ไม่เห็นด้วย') ดังเรื่องราวต่อไปนี้...
เรื่องมีอยู่ว่า...ผู้เขียนได้รับการ 'บอกเล่า' จากทางมิตรสหายฝั่งผู้จ้างงาน (สายงานเขื่อนฯ) ถึงประเด็นการจัดจ้าง 'บ.สำรวจฯเอกชน' มีชื่อแห่งหนึ่งในประเทศเพื่อนบ้าน ให้ทำการสำรวจรังวัดถ่ายทอดค่าระดับ จากจุดตำแหน่งหมุดฯที่ทราบค่าระดับ ไปยังตำแหน่งหมุดฯที่ไม่ทราบค่าระดับ (Unknown) แห่งหนึ่ง ที่อยู่ห่างไกลออกไป เป็นระยะทางกว่า 100+ กิโลเมตร (รวมถึงหมุดฯถาวร ที่สร้างขึ้นใหม่ในสายทางการระดับ) โดย บ.สำรวจฯดังกล่าว ได้นำเสนอวิธีการสำรวจฯ ด้วยวิธีการถ่ายทอดค่าระดับแบบ Differential Levelling โดยใช้กล้องระดับแบบอ่านค่า/คำนวณอัติโนมัติ หรือ Digital Level เพื่อทำการสำรวจรังวัด ถ่ายทอดค่าระดับแบบต่อเนื่องกันไป
* เมื่อแวบแรกที่ผู้เขียนได้ยินประโยคข้างต้นนี้ ก็อดนึก 'แปลกใจ' ไม่ได้ว่า ทำไม? บ.สำรวจฯดังกล่าว จึงเลือกวิธีการทำระดับแบบปรกติ ในระยะทางที่ไกลมากๆเช่นนี้ (ณ พ.ศ. นี้)...ทำไม? ไม่ใช้วิธีการสำรวจรังวัดดาวเทียม แบบโครงข่าย Networks (ขออนุญาติไม่ลงในรายละเอียด) โดยใช้วิธีการสำรวจฯแบบ Static ที่เพิ่มเวลาในการรับสัญญาณให้มากยิ่งขึ้น หรือใช้วิธีการสำรวจรังวัดดาวเทียม ด้วยระบบ CORs Network มาใช้เป็นสถานีฐานฯ (ที่อยู่ใกล้กับพื้นที่สำรวจฯ ซึ่งในประเทศเพื่อนบ้าน มีระบบ CORs Network เกือบจะครอบคลุมทั่วประเทศแล้ว ณ ชั่วโมงนี้) ในการทำการสำรวจรังวัดดาวเทียม ซึ่งจะใช้เวลาในการสำรวจฯที่สั้นกว่า และมีเกณฑ์ความถูกต้อง ที่สามารถยอมรับได้...แต่เอาล่ะ เมื่อเลือกวิธีการสำรวจฯค่าระดับแบบ Differential Levelling ก็ว่ากันไป ไม่ผิดกติกา...เพียงแต่ว่ามันใช้เวลาในการสำรวจฯที่ 'ยาวนานกว่า' ก็เท่านั้น
>> ก่อนที่ผู้เขียนจะกระโจนลงไปตะลุมบอน ในประเด็นทางด้านวิธีการสำรวจรังวัดค่าระดับ ที่ทำได้/ทำไม่ได้ หรือถูกต้อง/ไม่ถูกต้องอย่างไรนั้น ผู้เขียนขออนุญาตินำเอา 'มะพร้าวห้าว มาขายสวน' ปูพื้นฐาน ปรับความเข้าใจ ให้ตรงกันในหลักวิธีการแบบ 'เอาแต่เนื้อมะพร้าว' เสียก่อนว่า ชนชาวเรามี 'จุดร่วม' ในประเด็นเรื่อง 'การสำรวจรังวัดค่าระดับ ขั้นพื้นฐาน'...ตรงกันหรือไม่

และบทความนี้ถือว่าเป็น '1st Article' ที่ผู้เขียนได้หยิบยกเอาประเด็นเรื่อง 'การสำรวจรังวัดค่าระดับ ด้วยวิธี Differential Levelling' ขึ้นมาสาธยาย ขยายความ ในบริบทที่ว่า 'ความรู้ในตำรา+วิชา งานสำรวจรังวัดของจริง'  


The Principle of Differential Levelling

>> การสำรวจรังวัดค่าระดับ ด้วยวิธี Differential Levelling มีหลักวิธีการ (Procedure) ที่เป็น 'สากล' (ทั่วโลก ปฏิบัติเหมือนกัน) ที่เข้าใจได้ง่าย 'ไม่ซับซ้อน' มีหลักเกณฑ์ในการตรวจสอบความถูกต้อง และมีเกณฑ์การยอมรับ เป็นไปตามมาตรฐานงานสำรวจรังวัดค่าระดับในเกณฑ์ชั้นต่างๆ
จากภาพตัวอย่างข้างต้น แสดง 'ค่าระดับ ที่ตำแหน่งหมุดฯ B' สามารถทำการคำนวณได้จากการยึดโยงค่าระดับ (RL, Reduced Level) จากหมุดฯที่ทราบค่าระดับ A ถ่ายทอดค่าระดับไปยังหมุดฯ TP-1, TP-2 และสิ้นสุดที่ตำแหน่งหมุดฯ B...ภายหลังจากการคำนวณในขั้นตอนนี้ จะทำให้ทราบค่าระดับที่หมุดฯ B...แต่ ค่าระดับของหมุดฯ B ที่คำนวณได้นั้น เป็นเพียงค่าระดับ 'เบื้องต้น' ที่ยังไม่มีคุณภาพใดๆรับรอง อีกทั้งไม่สามารถตรวจสอบความถูกต้องได้ ฉะนั้น หลักวิธีการสำรวจรังวัดค่าระดับ ด้วยวิธี Differential Levelling จึงกำหนดให้มีวิธีการตรวจสอบความถูกต้องของงานระดับ โดยวิธีการสำรวจฯระดับ 'ย้อนกลับไปยังหมุดฯเริ่มต้น' (Closed Loop) 
Figure-3

ค่าความต่างทางระดับ ไป-กลับ (Forward-Backward) ที่หมุดฯเริ่มต้น สามารถนำมาคำนวณตรวจสอบตามเกณฑ์ความถูกต้อง และเกณฑ์การยอมรับทางงานระดับชั้นต่างๆ ร่วมกันกับ 'ระยะทางรวม ไป-กลับ จากการสำรวจฯระดับ'
* ระยะทางรวม ไป-กลับ จากการสำรวจฯระดับ หมายถึง ระยะทางจากตัวกล้องฯระดับ ไปยังไม้ Staff หน้า-หลัง แบบต่อเนื่องกันไป และ มิใช่ การนำเอาระยะทางจากการเดินทางโดยรถ, ระยะทางจากการเดินทางโดยเรือ หรือระยะทางจากทางอากาศ (เป็นเส้นตรง) มาใช้ในการคำนวณ 
* การนำผลรวมของ 'จำนวนจุดตั้งกล้องฯ' มาใช้ในการคำนวณปรับแก้ แทนการใช้ระยะทางรวม 'ไม่เป็นที่นิยม' 
สูตรการคำนวณ การผ่านเกณฑ์มาตรฐานงานสำรวจรังวัดระดับของ FGCC
Credited: www.ngs.noaa.gov

จากตัวอย่างงานสำรวจฯระดับตามภาพ Figure-3 แสดงค่าความคลาดเคลื่อนเข้าบรรจบ (Mis-Closure Error) = +0.005 เมตร...หมายความว่า; 



  • งานสำรวจรังวัดระดับ ด้วยวิธี บรรจบตัวเอง ชั้นที่ 1 Class 1 > 4x√0.9629 = 3.85 มม. (ไม่ผ่านเกณฑ์)
  • งานสำรวจรังวัดระดับ ด้วยวิธี บรรจบตัวเอง ชั้นที่ 1 Class 2 > 5x√0.9629 = 4.90 มม. (ไม่ผ่านเกณฑ์)
  • งานสำรวจรังวัดระดับ ด้วยวิธี บรรจบตัวเอง ชั้นที่ 2 Class 1 > 6x√0.9629 = 5.88 มม. (ผ่านเกณฑ์)
  • งานสำรวจรังวัดระดับ ด้วยวิธี บรรจบตัวเอง ชั้นที่ 2 Class 2 > 8x√0.9629 = 7.85 มม. (ผ่านเกณฑ์)
  • งานสำรวจรังวัดระดับ ด้วยวิธี บรรจบตัวเอง ชั้นที่ 3 Class - > 12x√0.9629 = 11.77 มม. (ผ่านเกณฑ์)
  • ฉะนั้น งานสำรวจรังวัดระดับจากหมุดฯ A ไปยังหมุดฯ B ดังกล่าว มีความคลาดเคลื่อน และเกณฑ์การยอมรับสูงสุด อยู่ในระดับงานสำรวจรังวัดระดับ ด้วยวิธี 'บรรจบตัวเอง' ชั้นที่ 2 Class 1...ส่วนในกรณีที่ค่าความคลาดเคลื่อนเข้าบรรจบ ในสายทางการระดับสายนี้ มีค่าเกินกว่า 11.77 มม. ขึ้นไป ต้องทำการ Re-Survey! 

    วิธีการ 'ปรับแก้' ค่าความคลาดเคลื่อนทางระดับ +0.005 เมตร "ที่เกินมานี้" นิยมใช้วิธีแบบ Manual (คำนวณแบบลูกทุ่งๆ) นั่นคือ การกระจายความคลาดเคลื่อนไป 'ตามระยะทาง' ในแต่ละ Section ดังต่อไปนี้
    - สายทางระดับ A > TP-1 มีระยะทาง 140.807 ม. จะได้ว่า (0.005/0.9629) x 0.1408 = -0.0007 มม. 
    - สายทางระดับ TP-1 > TP-2 มีระยะทาง 162.024 ม. จะได้ว่า (0.005/0.9629) x 0.1620 = -0.0008 มม. 
    - สายทางระดับ TP-2 > B มีระยะทาง 179.058 ม. จะได้ว่า (0.005/0.9629) x 0.1791 = -0.0009 มม. 
    - สายทางระดับ B > TP-3 มีระยะทาง 161.264 ม. จะได้ว่า (0.005/0.9629) x 0.1612 = -0.0008 มม. 
    - สายทางระดับ TP-3 > TP-4 มีระยะทาง 164.556 ม. จะได้ว่า (0.005/0.9629) x 0.1645 = -0.0009 มม.
    - สายทางระดับ TP -4 > A มีระยะทาง 154.680 ม. จะได้ว่า (0.005/0.9629) x 0.1546 = -0.0008 มม. 
    ส่วนในกรณีที่ต้องการทำการ 'ปรับแก้อย่างละเอียด' โดยการใช้โปรแกรมประยุกต์ (มีมากมาย หลายโปรแกรมฯ) ที่ส่วนใหญ่จะใช้ module การปรับแก้ด้วยวิธีการทาง Least Square Analysis โดยมีค่าความถูกต้องภายหลังการปรับแก้ อยู่ในเกณฑ์ที่ดีกว่าวิธีการ (ปรับแก้แบบลูกทุ่ง) ข้างต้น 
    ภาพตัวอย่าง แสดงการปรับแก้ค่าระดับ ด้วยโปรแกรม MicroSurvey Star*NET (ในตำนาน)
    >> จากตัวอย่างสาธิตข้างต้น คือหลักวิธีการสำรวจรังวัดระดับแบบ Differential Levelling (Closed Loop) 'ทั่วไป' ซึ่งเป็นหลักวิธีการ 'พื้นฐาน' ที่ชนชาวนักสำรวจฯในสายงาน Land Surveying ต่างพากันรับทราบ และเข้าใจกันเป็นอย่างดี

    แต่...ด้วยข้อจำกัดทางด้านสภาพภูมิประเทศ ในสายทางการสำรวจรังวัดค่าระดับ ที่มีความยากลำบาก ในการ 'สำรวจรังวัดค่าระดับ แบบย้อนกลับมายังหมุดฯเริ่มต้น' จึงมีผู้คิดค้นวิธีการสำรวจรังวัดระดับ ประเภท 'ไปข้างหน้า' ในทิศทางขาเดียว โดยมีวิธีการตรวจสอบความถูกต้อง ตามวิธีการดังต่อไปนี้

    การสำรวจรังวัดค่าระดับ ด้วยวิธี Double Rodded Levelling
    Figure-4
    >> เป็นวิธีการสำรวจรังวัดค่าระดับประเภทหนึ่ง แบบ 'ปลายเปิด' หรือ Opened Levelling (จัดอยู่ในสาขาย่อยของ Differential Levelling) ที่ต้องอาศัยการอ่านค่าระดับ BS จากตำแหน่ง Turning Point ที่ต่างกันจากทั้ง 2 ตำแหน่ง โดยการใช้กล้องฯระดับเพียง 1 ตัว และทำการอ่านค่า FS ไปยังไม้ Staff หน้า FS ทั้ง 2 ตำแหน่ง...หลังจากนั้น ทำการย้ายกล้องฯ และอ่านค่า BS จากไม้ Staff ทั้ง 2 จากขั้นตอนก่อนหน้านี้ และทำการอ่านค่า FS ไปยังไม้ Staff หน้า (ถัดไป) FS ทั้ง 2 ตำแหน่ง...ทำซ้ำในลักษณะเช่นนี้ ต่อเนื่องกันไปจนถึงหมุดฯเป้าหมาย

    วิธีการตรวจสอบความถูกต้อง: วิธีการ Double Rodding ข้างต้นนั้น อาศัยการเปรียบเทียบ 'ค่าความสูงแกนกล้อง' หรือค่า HI (High of Instrument) ที่จุดตั้งกล้องฯ จากการอ่านค่า BS จากทั้ง 2 ไม้ Staff โดยถ้ามีค่าความสูงแกนกล้อง (HI) ต่างกันเกินเกณฑ์ยอมรับ (ขึ้นอยู่กับประเภทงานสำรวจฯระดับ) แสดงว่าได้เกิดการ 'อ่านค่าผิด'...ให้ทำการตรวจสอบ และอ่านค่าระดับ และคำนวณค่า HI ใหม่ จนกว่าจะมีค่า HI เท่ากัน หรือต่างกันเพียงเล็กน้อย อยู่ในเกณฑ์ยอมรับได้

    เกณฑ์มาตรฐานงานสำรวจรังวัดระดับ: วิธีการ Double Rodding เป็นวิธีการสำรวจรังวัดถ่ายทอดค่าระดับ แบบต่อเนื่อง 'ไปข้างหน้า' มิได้ย้อนกลับเข้าบรรจบหมุดฯแรกออกงาน ฉะนั้นจึงไม่มีเกณฑ์การรับรองความถูกต้องในชั้นงานประเภทนี้...ซึ่งผู้เลือกวิธีการดังกล่าว จึงควรที่จะตระหนักในประเด็นนี้ และควรที่จะหลีกเลี่ยงวิธีการดังกล่าว ในสายทางการสำรวจรังวัดค่าระดับ ที่มีระยะทางยาวไกล

    วิธีการปรับแก้ค่าระดับ: จากตัวอย่างภาพงานสำรวจฯ Double Rodding (Figure-4) ข้างต้น แสดงค่าระดับที่ถูกถ่ายทอดค่าระดับจากหมุด A ไปยังหมุดฯเป้าหมาย B คือ 106.521 และ 106.523...โดยถ้าการทำการสำรวจรังวัดถ่ายทอดค่าระดับดังกล่าว มีความปราณีต ละเอียด ถูกต้องตามหลักวิธีการ และได้กำหนดให้มีเกณฑ์การยอมรับ อาทิ ค่าผลต่างทางระดับ ไม่เกิน 5 มม. ที่หมุดฯ B แล้ว...ค่าเฉลี่ยทางระดับที่หมุดฯ B = 106.522 สามารถยอมรับ (ในหลักวิธีการดังกล่าวฯ) ได้ เป็นต้น
    * วิธีข้างต้น ไม่มีการกระจายความคลาดเคลื่อน (Error Distribution) ใดๆ ไปยังหมุดฯย่อยต่างๆ ในสายทางการระดับ

    การสำรวจรังวัดระดับ ด้วยวิธี Double Run Levelling
    >> วิธีการสำรวจรังวัดค่าระดับแบบ Double Running (จัดอยู่ในสาขาย่อยของ Differential Levelling) ซึ่งเป็นวิธีการสำรวจฯที่ตัวผู้เขียนเอง ก็มิได้เคยผ่านการเรียน-การสอนการสำรวจรังวัดค่าระดับ ด้วยวิธีการเช่นนี้มาก่อน (ไม่มีในตำราเรียน) อีกทั้งวิธีการสำรวจฯดังกล่าว ยังเป็นวิธีการสำรวจรังวัดค่าระดับที่ยังไม่มีผู้ใด ให้คำ 'นิยาม' (แบบ Absolute) อย่างเป็นทางการ ถึงวิธีการ และกฎเกณฑ์ต่างๆ...ยังไม่เคลียร์ How to?

    และเมื่อ 'ยังไม่เป็นทางการ' จึงมีผู้นำวิธีการที่เรียกว่า Double Running ไปใช้อธิบายขยายความ งานสำรวจรังวัดทางระดับในแบบต่างๆ ซึ่งต่างฝ่าย ต่างก็พากัน 'เคลม' ว่า วิธีการของตน คือวิธีการ Double Run Levelling ที่ถูกต้อง

    ผู้เขียน เป็นผู้หนึ่งที่ได้ถูก Training วิธีการสำรวจรังวัดระดับในแบบ Double Running เหล่านี้ มาเช่นกัน แต่ก็ยัง 'ไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้' ว่าวิธีการใด ที่สมควรจะถูกเรียกว่า Double Running จริงแท้...โดยผู้เขียนขออนุญาติยกเอาความคิดเห็น (ส่วนตัว) ขึ้นมาพิจารณา โดยอาศัยประสบการณ์การสำรวจรังวัดถ่ายทอดค่าระดับ (ในต่างประเทศ) ที่ชาวฝรั่งพากันเรียกว่า Double Run Levelling ขึ้นมา 'เป็นกรณีตัวอย่างเทียบเคียง' ซึ่งมีวิธีการสำรวจฯอยู่ 3 วิธีหลักๆ คือ
    1. Double Run Levelling Closed Loop (งานแท้): 
    >> วิธีการ (งานแท้) ข้างต้น เป็นการจำลองลักษณะวิธีการสำรวจรังวัดค่าระดับแบบ Differential Levelling มาทั้งองคาพยพ ไล่ตั้งแต่วิธีการสำรวจฯ การเข้าบรรจบแบบ ไป-กลับ (Closed Loop) ไปจนถึงวิธีการคำนวณ การปรับแก้ (ตรวจสอบ และการกระจายความคลาดเคลื่อนๆ) เกณฑ์มาตรฐานการยอมรับในชั้นงานสำรวจฯทางระดับต่างๆ...โดยวิธีการสำรวจฯดังกล่าว ได้จัดให้มีการ 'เพิ่ม' กล้องฯระดับเข้าไปอีก 1 ตัว และเพิ่มผู้ถือไม้ Staff อีก 2 คน (หรือการเพิ่มทีมกล้องฯเข้าไป อีก 1 ทีม กลายเป็น 2 ทีม หรือเรียกว่า Double Running นั่นเอง)
    * มีผู้ตั้งชื่อวิธีการสำรวจฯระดับข้างต้น ว่างานสำรวจฯ 'วงรอบระดับ' แบบละเอียด

    วิธีการสำรวจรังวัดถ่ายทอดค่าระดับ จากหมุดฯ A ไปยังหมุดฯ B ของทั้ง 2 ทีม เป็นไปโดยอิสระมีความเป็นเอกเทศ (Individual) โดยอาจจะมี/หรือไม่มี จุดตำแหน่ง Check Point (จุด Closure ร่วมกัน) ในสายทางระดับ...ซึ่งวิธีการ Double Run Levelling ดังกล่าว จะสามารถให้ผลงานสำรวจรังวัดทางระดับ มีความถูกต้อง แม่นยำสูง อยู่ในเกณฑ์ชั้นงานสำรวจฯทางระดับ แบบละเอียด (Precise Levelling) 

    2. Double Run Levelling Closed Loop (งานเทียบ):
    >> วิธีการ (งานเทียบ) ข้างต้น เป็นการจำลองลักษณะวิธีการสำรวจรังวัดค่าระดับแบบ Differential Levelling มาใช้เช่นเดียวกัน โดยการใช้ทีมกล้องฯเพียง 1 ทีม แต่...มีข้อแตกต่างในประเด็นเรื่องการสำรวจรังวัดค่าระดับย้อนกลับเข้าบรรจบ (Re-Turn) ซึ่งต้องจัดให้มี 'ความแตกต่าง' อาทิ ต่างวัน ต่างเวลา ต่างอุณหภูมิ (เช้า-เย็น) หรือแม้กระทั่งการใช้ผู้อ่านกล้องฯ และผู้ถือไม้ Staff ต่างชุด/ต่างทีม เข้ามาสำรวจฯแทนที่ ส่วนวิธีการตรวจสอบความถูกต้อง การปรับแก้ เกณฑ์มาตรฐานการยอมรับ เป็นไปตามกรรมวิธีแบบ Differential Levelling (Closed Loop) ทุกประการ
    * อ้างอิงวิธีการฯ จากหนังสือ Precision Surveying: The Principles and Geomatics Practice ผู้แต่ง John Olusegun Ogundare Ph.D.

    3. Double Run Opened Levelling งานเทียม (พิมพ์นิยม):
        3.1 การใช้ทีมกล้องฯ 2 ทีม (รวมทั้งหมด 6 คน)
    >> วิธีการสำรวจฯค่าระดับแบบ 'ปลายเปิด' (งานเทียม) ข้างต้น เป็นวิธีการที่มีชนนายช่างฯ 'จำนวนไม่น้อย' ทั้งชาวเขา-ชาวเรา ต่างนิยมใช้วิธีการดังกล่าวในการถ่ายทอดค่าระดับจากตำแหน่งหนึ่ง ไปยังอีกตำแหน่งหนึ่ง ด้วยเหตุผลที่ว่ามีความสะดวก รวดเร็ว และมีทิศทาง 'ไปข้างหน้า เพียงขาเดียว' (ไม่ย้อนกลับ) โดยการใช้ทีมกล้องฯ 2 ทีม (เคลมเอาว่า นี่คือวิธีการ Double Running ทำระดับตีคู่ไปด้วยกัน 'ของแท้') ทำการสำรวจถ่ายทอดค่าระดับในทิศทาง 'ไปข้างหน้า' ด้วยกันทั้ง 2 ทีม การสำรวจฯค่าระดับเป็นอิสระต่อกันแบบเอกเทศ โดยอาจจะมี/หรือไม่มี จุดตำแหน่ง Check Point (จุด Closure ร่วม) ในสายทางการระดับ

    ผลลัพธ์ค่าระดับที่หมุดฯตำแหน่งเป้าหมาย B จะมีค่าระดับเพียง 2 ค่า โดยอาศัยแนวคิดที่ว่า 'ใช้ผลลัพธ์ ตรวจสอบ ยันกันเอง' ซึ่งในกรณีนี้ ถ้าได้ผลลัพธ์ค่าระดับที่หมุดฯ B มีค่าแตกต่างกันไม่มากนัก (ยอมรับได้) ชนนายช่างฯ 'ส่วนใหญ่' มักจะนิยมใช้วิธีการ 'จับมาบวกกัน แล้วหารด้วย 2' นั่นคือ วิธีการคำนวณหาค่าระดับเฉลี่ยที่หมุดฯ B...ส่วนในกรณีที่ผลลัพธ์ค่าระดับ 'มีความแตกต่างกันมาก' และไม่รู้ว่าเกิดจากความผิดพลาดของทีมกล้องฯใดกันแน่ โดยในประเด็นนี้ ต้องใช้ทีมกล้องฯอย่างน้อย 1 ทีม ทำการสำรวจฯใหม่ทั้งหมด เพื่อยืนยันผลลัพธ์

    เกณฑ์มาตรฐานงานสำรวจรังวัดระดับ: วิธีการ Double Running โดยการใช้ทีมกล้องฯ 2 ทีมข้างต้น เป็นวิธีการสำรวจรังวัดถ่ายทอดค่าระดับ แบบต่อเนื่อง 'ไปข้างหน้า' มิได้ย้อนกลับเข้าบรรจบหมุดฯแรกออก ฉะนั้นจึงไม่มีเกณฑ์มาตรฐานการรับรองความถูกต้อง สำหรับงานสำรวจฯค่าระดับประเภทดังกล่าว....แต่ช้าก่อน "ชนนายช่างฯส่วนใหญ่" มักจะนิยม 'เคลม' เอาว่าเมื่อได้ผลลัพธ์ค่าความต่างทางระดับ ออกมา 2 ค่า เช่นนี้แล้ว น่าจะสามารถ (เคลมแบบเนียนๆ) จัดงานสำรวจฯระดับด้วยวิธีการที่ว่านี้ เข้าสู่ชั้นมาตรฐานงานทางระดับได้ อาทิ ค่าความต่างทางระดับของงานสำรวจฯระดับงานหนึ่ง มีค่าความต่างระดับ (ผลลัพธ์ค่าระดับ จากทั้ง 2 ทีม) = 50 มม. ต่อระยะทาง 20 กม. นั่นหมายความว่า (12x√20 = 54 ซม.) งานสำรวจฯค่าระดับดังกล่าว สามารถจัดเข้าอยู่ในชั้นงานสำรวจฯ ชั้นที่ 3 ได้ 'แบบเนียนๆ' ??
    * ส่วนในกรณีที่มีค่าความต่างทางระดับ ต่อระยะทาง 'สูงเกิน' เกณฑ์มาตรฐานงานสำรวจฯค่าระดับ (เกินชั้นที่ 3)...ต้องทำการ Re-Survey เท่านั้น (พยายามที่จะยกวิธีการสำรวจฯดังกล่าว ขึ้นไปเทียบเคียงกับกฎเกณฑ์งานสำรวจฯค่าระดับมาตรฐาน)
    * ถ้ามี 'ไอ้ปื๊ด' ยกมือขึ้นถามว่า ถ้าในกรณีที่ทีมกล้องฯทั้ง 2 ทีม เกิดมีความผิดพลาดขนาดใหญ่ขึ้นทั้งคู่ ทีมละ 1 เมตร เท่ากันในสายทางการระดับ โดยที่แต่ละทีมต่างไม่รู้ตัวว่า ได้มีความคลาดเคลื่อนเกิดขึ้น (ตรวจสอบไม่ได้) แล้วบังเอิญว่า ได้ค่าผลลัพธ์สุดท้ายที่หมุด B มีความต่างทางระดับเพียง 2-3 มม. เท่านั้น...คำถามคือ การใช้วิธีการสำรวจฯดังกล่าว มีความถูกต้อง สามารถยอมรับค่าระดับที่เฉลี่ยแล้วนั้นได้ ใช่หรือไม่??

    วิธีการปรับแก้ค่าระดับ: ไม่มีวิธีการปรับแก้ใดๆ สำหรับวิธีการสำรวจฯดังกล่าว ด้วยเหตุว่าวิธีการสำรวจฯเช่นนี้ จะใช้วิธีการพิจารณาเปรียบเทียบ 'ผลลัพธ์ค่าระดับ' ที่หมุดเป้าหมาย จากทั้ง 2 ทีม (วิธีการ 'จับมาบวกกัน แล้วหารด้วย 2' ไม่ถูกเรียกว่าเป็นวิธีการปรับแก้ที่แท้จริง)
    * วิธีข้างต้น ไม่มีการกระจายความคลาดเคลื่อน (Error Distribution) ใดๆ ไปยังหมุดฯย่อยต่างๆ ในสายทางการระดับ
      
        3.2 การใช้ทีมกล้องฯ 3 ทีม (รวมทั้งหมด 9 คน)
    >> เนื่องด้วย อาจจะยังมีข้อกังขาในประเด็นเรื่องความถูกต้อง จากวิธีการใช้ทีมกล้องฯ 2 ทีม (รวมทั้งหมด 6 คน) โดยเฉพาะประเด็นคำถามจาก 'ไอ้ปื๊ด' ข้างต้น...จึงได้มี ผู้คิดค้นแนวทางการตรวจสอบความถูกต้อง 'เพิ่มเติม' โดยการเพิ่มทีมกล้องฯเข้าไป (อย่างน้อย) อีก 1 ทีม (รวมเป็น 3 ทีม จำนวนบุคลากร 9 คน หรือเรียกว่าวิธีการ Triple Running) ซึ่งทีมกล้องฯทีมที่ 3 จะช่วย 'ยืนยัน' ผลลัพธ์ค่าระดับที่หมุด B ให้กับทีมที่ 1 และทีมที่ 2 
    * สำหรับวิธีการสำรวจฯข้างต้นนี้ ถ้ามี 'ไอ้ปื๊ด' (คนเดิมอีกแล้ว) ยกมือขึ้นถามว่า ถ้าผลลัพธ์ค่าระดับที่หมุดฯ B จากทีมที่ 1 = 100.050, จากทีมที่ 2 = 100.100 และจากทีมที่ 3 = 100.150 ...จะทำอย่างไรดี? ทั้ง 3 ทีมต้องทำการสำรวจฯใหม่ทั้งหมด ใช่หรือไม่?? หรือว่าจะใช้วิธี จับมาบวกกัน แล้วหารด้วย 3 ?? เนียนๆกันไปเลย

       3.3 การใช้ทีมกล้องฯ 1 ทีม...โดยใช้วิธี 'สับขา (กล้องฯ)'
    >> วิธีการข้างต้น คือวิธีการสำรวจฯค่าระดับแบบ 'ปลายเปิด' ที่เป็นวิธี 'พิมพ์นิยม' โดยชนชาวเราทั้งหลาย และรวมถึงตัวผู้เขียน ล้วนต่างพากัน 'นิยมใช้/ได้ใช้/เคยใช้' วิธีการดังกล่าว ในการสำรวจรังวัดถ่ายทอดค่าระดับ ในทิศทางแบบ 'ไปข้างหน้า' ขาเดียว โดยการใช้กล้องฯระดับเพียง 1 ตัว และใช้ผู้ถือไม้ Staff 2 คน โดยวิธีการสำรวจฯนั้น ใช้วิธีการอ่านค่าระดับ BS/FS > จดบันทึก > คำนวณค่าความต่างทางระดับ (ΔH) ต่อจากนั้น 'สับขากล้องฯ (ย้ายกล้องฯ)' ไปในตำแหน่งใกล้เคียง > ทำการอ่านค่า BS/FS (ตำแหน่งเดิม) > จดบันทึก > คำนวณค่าความต่างทางระดับ (ΔH) > ทำการเปรียบเทียบค่าความต่างทางระดับ (ΔH)  จากการอ่านกล้องฯทั้ง 2 ตำแหน่ง > ยอมรับ (ไปต่อ)/ไม่ยอมรับ (ย้ายกล้องฯ อ่านค่าใหม่)...ทำซ้ำขั้นตอนข้างต้น จนถึงหมุดตำแหน่งเป้าหมาย

    วิธีการย้ายกล้องฯ จำนวน 2 ครั้ง ในระหว่างไม้ Staff หน้า-หลัง ในแต่ละช่วง (Session) ได้ทำให้เกิดการบันทึกข้อมูลการอ่านค่าระดับ จำนวน 2 ชุด นั่นหมายความว่า ที่ตำแหน่งหมุดเป้าหมาย จะได้ค่าผลลัพธ์ค่าระดับ จำนวน 2 ค่า ดังนั้นวิธีการพิมพ์นิยม ที่มักจะถูกนำมาใช้นั่นคือ 'จับมาบวกกัน แล้วหารด้วย 2' เป็นค่าเฉลี่ย

    เกณฑ์มาตรฐานงานสำรวจรังวัดระดับ: วิธีการดังกล่าว เป็นวิธีการสำรวจรังวัดถ่ายทอดค่าระดับ แบบต่อเนื่องกัน 'ไปข้างหน้า' (ไปยังหมุดฯที่ไม่ทราบค่าระดับ) โดยมิได้ย้อนกลับเข้าบรรจบหมุดฯแรกออกงาน ฉะนั้นจึงไม่มีเกณฑ์การรับรองความถูกต้องในชั้นงานประเภทนี้

    วิธีการปรับแก้ค่าระดับ: ไม่มีวิธีการปรับแก้ใดๆ สำหรับวิธีการสำรวจฯดังกล่าว ด้วยเหตุว่าวิธีการสำรวจฯเช่นนี้ จะใช้วิธีการพิจารณาเปรียบเทียบ 'ผลลัพธ์ค่าระดับ' ที่หมุดเป้าหมาย คล้ายคลึงกับวิธีการสำรวจฯค่าระดับแบบ Double Rodding
    * วิธีการฯข้างต้น ไม่มีการกระจายความคลาดเคลื่อน (Error Distribution) ใดๆ ไปยังหมุดฯย่อยต่างๆ ในสายทางการระดับ
    * มีผู้นำวิธีการฯ ตามข้อ 3.3 ข้างต้น ไปทำการ Feturing เข้ากับวิธีการ ตามข้อ 3.1 ซึ่งทำให้เกิดค่าผลลัพธ์ ที่หมุดฯเป้าหมาย จำนวน 4 ค่า (ถ้าได้ผลลัพธ์ใกล้เคียงกัน จะจับมาบวกกัน แล้วหารด้วย 4) นั่นหมายถึง มีความถูกต้องทางงานระดับที่สูงขึ้น
    >> 'หลักวิธีการ' ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดข้างต้น ที่ผู้เขียนได้อธิบายขยายความนั้น เพื่อที่จะใช้เป็น 'กำแพงอ้างอิง' ในประเด็นคำถาม ที่จะตามมาทางด้านล่าง ถัดไป

    มิตรสหายฝั่งผู้ว่าจ้างฯ ได้บอกกับผู้เขียนว่า ภายหลังจากได้รับข้อมูลงานสำรวจฯระดับ จาก บ.สำรวจฯดังกล่าวแล้ว ทีมงานได้ตรวจพบความผิดปรกติ มีความน่าสงสัย อยู่ 2 ประเด็นใหญ่ๆ คือ
    1. ค่าความคลาดเคลื่อนบรรจบ 'ภายหลังการปรับแก้' ที่มีค่าเพียง '2-3 มิลลิเมตร' ?? จากระยะทางการสำรวจฯ 100+ กิโลเมตร และในสายทางการสำรวจฯระดับดังกล่าวนั้น ต้องทำการถ่ายทอดค่าระดับข้ามแม่น้ำโขง อยู่หลายตำแหน่งแห่งที่ โดยมีระยะความกว้างของแม่น้ำฯเฉลี่ยประมาณ 200 เมตร จากขอบฝั่งหนึ่ง ถึงอีกขอบฝั่งหนึ่ง (วิธีการถ่ายค่าระดับข้ามแม่น้ำโขง ทีมสำรวจฯได้ใช้กล้องฯ Total Station แทนการใช้กล้องระดับแบบ Digital Level ที่มี 'ระยะทำการ' ไม่ไกลมากนัก)...ค่าความคลาดเคลื่อนเข้าบรรจบ 2-3 มม. (Final Result) ที่เกิดขึ้น เป็นไปได้หรือไม่?
    2. การใช้คำว่า 'เข้าบรรจบ' (Closed Loop) ที่หมุดฯเริ่มต้นออกงานสำรวจฯระดับ จากการที่ใช้วิธีการ 'รังวัดระดับไปข้างหน้า' เพียงทิศทางเดียว (ไม่ได้ เข้าบรรจบแท้จริง)...โดยมีรายละเอียด Procedure ดังนี้;
       2.1 บุคลากร:ในสายทางการระดับที่ยาวไกลดังกล่าว ได้ใช้กล้องฯระดับแบบ Digital level จำนวน 2 ตัว และใช้คนอ่านกล้องฯ 2 คน และได้ใช้ผู้ถือไม้ Staff จำนวน 2 คน (รวมจำนวนบุคลากร ทั้งหมด 4 คน)
       2.2 วิธีการสำรวจฯ: ใช้วิธีการถ่ายทอดค่าระดับแบบ Differential Levelling ทั่วไป (จากหมุดฯ BM ไปหาหมุดฯ GP ตามภาพตัวอย่างด้านล่าง) โดยทำการสำรวจรังวัดค่าระดับแบบ 'ไปด้วยกัน' หรือเรียกว่า Double Running และใช้วิธีการตรวจสอบค่าความคลาดเคลื่อนทางระดับ จากการอ่าน 'สอบค่าระดับ' ระหว่างไม้ Staff หน้า-หลัง จากการอ่านกล้องฯระดับ 2 ตัว (ใช้ไม้ Staff หน้า-หลัง ร่วมกัน/ตำแหน่งเดียวกัน) และเมื่อตรวจดูที่จอแสดงผลค่าระดับที่ตัวกล้องฯ (คำนวณอัติโนมัติ) ถ้าพบว่ามีความต่างทางระดับไม่เกิน 2 มม. สามารถทำการย้ายกล้องฯไปต่อได้ หรือในกรณีถ้าค่า error มีค่าเกิน 2 มม. ต้องทำการอ่านค่าใหม่ จนกว่าค่าความต่างทางระดับจะมีค่าใกล้เคียงกัน หรือเหมือนกัน...ทำซ้ำเช่นนี้ จนไปถึงหมุดฯตำแหน่งเป้าหมาย
    3. ค่าความคลาดเคลื่อนก่อนการปรับแก้: ณ หมุดฯตำแหน่งเป้าหมาย พบว่ามีค่าความแตกต่างทางระดับระหว่าง กล้องฯระดับ ตัวที่ 1 และกล้องฯระดับ ตัวที่ 2 มีค่า = 0.10x เมตร (หรือประมาณ 10 ซม.)
    4. วิธีการปรับแก้ค่าระดับ: 'ด้วยวิธี ไป-กลับ แบบบรรจบตัวเอง (Closed Loop)' โดยการนำข้อมูล (BS/FS) จากการอ่านกล้องฯระดับตัวที่ 2 มาทำการ 'กลับค่า' (กลับหัว กลับหาง) ทั้งหมด และเปลี่ยนค่า BS ให้เป็น FS  เพื่อที่จะสามารถทำการ 'คำนวณย้อนกลับ' จากหมุดฯตำแหน่งเป้าหมาย กลับไปหา หมุดฯตำแหน่งเริ่มต้น (ตามตัวอย่างภาพ Figure-1) โดยภายหลังจากการปรับแก้ ปรากฎว่า มีค่าความคลาดเคลื่อนเข้าบรรจบ เหลือเพียง 2-3 มม. เท่านั้น
    คำถาม: วิธีการสำรวจฯดังกล่าว มีความถูกต้องหรือไม่ และผลลัพธ์การคำนวณโดยอ้างการเข้าบรรจบแบบ 'ไม่ได้เข้าบรรจบแท้จริง' จะมีความถูกต้อง ยอมรับได้หรือไม่ ?
    Figure-1
    * บางท่านอาจจะฟังวิธีการสำรวจฯข้างต้นแล้ว รู้สึกราบรื่น ระรื่นหู ท่าทีดูขึงขลัง น่าคล้อยตาม...แต่ผู้เขียนกลับรู้สึกทะแม่งๆ รู้สึกถึงความ 'ย้อนแย้ง' ในหลายประเด็น เกิดคำถาม 'เกาะอยู่ตามขอบโต๊ะ' ขึ้นมาทันที...ท่านผู้อ่าน ก็อาจจะรู้สึกคล้ายๆกัน

    ความ 'ย้อนแย้ง' ที่ยอมรับ 'บ่ได้' 
    >> ในประเด็นแรก...ความคลาดเคลื่อนเข้าบรรจบ หรือค่า Mis-Closure Error ที่มีค่าเพียงแค่ 2-3 มม. ต่อระยะทางการสำรวจฯระดับกว่า 100+ กม. นั้น ผู้เขียน (ส่วนตัว) มองว่า 'เป็นไปได้ยากมาก ถึงยากที่สุด' (หรืออาจจะใช้คำว่า 'เหลือเชื่อ' แทนก็ได้) ที่จะได้ค่าความคลาดเคลื่อนเพียงเล็กน้อยเช่นนั้นได้ เอาแค่การบริหารค่า 'ความคลาดเคลื่อนสะสม' (Cumulative Error) ไปตามเส้นทางการระดับ อันเป็นเรื่องปรกติที่ต้องเกิดขึ้นในสายทางการสำรวจฯค่าระดับ นี่ก็ว่ายากแล้ว และยิ่งเมื่อทราบว่าทีมสำรวจฯต้องทำการถ่ายค่าระดับ 'ข้ามแม่น้ำโขง' ที่ค่อนข้างมีระยะทางกว้างมากนั้น ยิ่งทำให้มีโอกาสที่จะเกิดความคลาดเคลื่อนสูงขึ้นไปอีก อีกทั้งต้องทำการถ่ายค่าระดับ ข้ามไป-ข้ามมา ในหลายๆตำแหน่ง ถึงแม้ว่าจะใช้กล้องฯ Total Station ในภารกิจนี้ก็ตามที ซึ่งมีหลายปัจจัย ที่อาจจะก่อให้เกิดความคลาดเคลื่อน (ขนาดใหญ่) ขึ้นได้...ในประเด็นนี้ ผู้เขียนได้ตอบกลับไปว่า "ไม่เชื่อ ว่าค่าความคลาดเคลื่อน (Final Result) ในสายทางการระดับข้างต้น จะมีค่าแค่เพียง 2-3 มม. ส่วนค่า Error ที่มีค่ามากกว่านี้ จะไปตกหล่น ลด-เพิ่ม ที่แห่งหน ตำบลใดนั้น ผู้เขียนมิอาจทราบได้"
    * วิธีการสำรวจรังวัดถ่ายทอดค่าระดับข้ามแม่น้ำ ลำคลอง ด้วยวิธีการแบบ 'สากล' นั้น จะใช้วิธีการสำรวจฯค่าระดับ ที่เรียกว่า Reciprocal Levelling หรือวิธีการรังวัดสอบค่าระดับ ไป-กลับ เพื่อคำนวณหาค่าความต่างทางระดับ ระหว่างหมุดฯ แต่ละฟากฝั่ง...ส่วนในกรณีการรังวัดค่าระดับ 'ข้ามแม่น้ำโขง' ซึ่งมีระยะความกว้างเกินกว่าที่กล้องฯระดับทั่วไป (ระยะทำการ <300 ม.) จะทำการรังวัดได้อย่างแม่นยำ ซึ่งในประเด็นนี้ ผู้เขียน 'เห็นด้วย' ว่าการนำกล้อง Total Station มาใช้ในการรังวัดจะให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่า...แต่ ในการทำการรังวัดนั้น ควรที่จะจัดให้มีการ สอบค่าไป-กลับ เพื่อหาค่าเฉลี่ย จากจำนวนการรังวัดหลายๆครั้ง (ยิ่งมากครั้ง ยิ่งมีความละเอียด) และจำเป็นที่จะต้องพิจารณาเลือก สภาวะแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการรังวัด โดยเฉพาะ 'อุณหภูมิ และความชื้น/ไอน้ำ/คลื่นความร้อน เหนือผิวน้ำ' เป็นสำคัญ อันจะส่งผลโดยตรงต่อความคลาดเคลื่อน ที่จะเกิดขึ้นมาก-น้อย ในการทำการรังวัดนั้นๆ
    Reciprocal Levelling
    * ผู้เขียน เป็นผู้หนึ่งที่ได้เคยผ่านงาน Differential Levelling มาไม่น้อย โดยเฉพาะในสายทางงานระดับที่มีระยะทางยาวไกล ขึ้นๆ-ลงๆ ไปตามเส้นทางบนภูเขาสูงชัน มีระยะทางเกือบร้อยกิโลเมตร...ค่า Error 100 มม. ก็เคยได้ผ่านพบ 'บรรจบมาแล้ว' (ตกไปอยู่ในเกณฑ์งานสำรวจฯระดับชั้นที่ 3)...ไม่ต้องไปพูดถึง ค่า Error เพียงแค่ 2-3 มม. ต่อระยะทาง 100+ กม. ให้เมื่อยตุ้ม...(ส่วนตัว) ขอสารภาพว่า 'ข่อยเฮ็ดบ่ได้'

    >> ในประเด็นที่สอง ซึ่งถือว่าเป็น 'แก่นสาร' อันนำมาซึ่ง 'ข้อพิพาท' ในเรื่องวิธีการ และการตรวจสอบความถูกต้องในงานสำรวจรังวัดค่าระดับดังกล่าว โดยผู้เขียนขออนุญาติแยก ออกมาเป็น 2 ประเด็น คือ
    1. ประเด็นเรื่อง วิธีการสำรวจรังวัดค่าระดับ: ทีมสำรวจฯ ได้ใช้กล้องฯระดับ 2 ตัว และมีผู้ถือไม้ Staff 2 คน นั่นหมายความว่า ระหว่างไม้ Staff หน้า และไม้ Staff หลัง จะใช้กล้องฯระดับ 2 ตัวทำการอ่านค่า BS/FS ที่ตำแหน่งไม้ Staff เดียวกัน และเมื่อสอบค่าความต่างทางระดับระหว่างไม้ Staff หน้า-หลังทั้งสองแล้ว 'ผ่าน' จึงจะสามารถไปต่อได้ หรือในกรณีที่ 'ไม่ผ่าน' ต้องทำการอ่านค่าใหม่ จนกว่าจะผ่าน (ยอมรับได้)...ซึ่งวิธีการดังกล่าว ได้สอดคล้อง ตรงกันกับวิธีการสำรวจฯค่าระดับ ที่ผู้เขียนได้อธิบายขยายความเอาไว้ในเรื่อง "Double Run Levelling งานเทียม (พิมพ์นิยม)" ข้อ 3.3 (การใช้ทีมกล้องฯ 1 ทีม...โดยใช้วิธี 'สับขา') โดยเปลี่ยนจากการย้ายกล้องฯไปที่ตำแหน่งใหม่ในบริเวณใกล้เคียง 'เปลี่ยนมาเป็นการใช้กล้องฯระดับอีก 1 ตัว ทำการอ่านค่าระดับแทน'
    ฉะนั้น ต่อคำถามที่ว่า วิธีการสำรวจฯดังกล่าว ถูกต้องตามหลักวิธีหรือไม่?...ผู้เขียน (ส่วนตัว) ขออนุญาติตอบว่า ไม่ถูกต้องตามหลักวิธีการตามแบบ 'สากล' แต่มีความถูกต้องยอมรับกันได้ ในระดับหนึ่ง ในหมู่ชนกลุ่มหนึ่งๆ' ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้;
       1.1 เนื่องด้วย วิธีการสำรวจฯค่าระดับดังกล่าว ถือว่าเป็นงานสำรวจฯ Double Run Levelling 'แบบปลายเปิด' ประเภทหนึ่ง ที่ไม่ได้ย้อนกลับเข้าบรรจบที่หมุดฯเริ่มต้น หรือเข้าบรรจบที่หมุดฯทราบค่าระดับใดๆ นั่นหมายถึง "การขาดการตรวจสอบทางด้านคุณภาพ"...ด้นกันไปสดๆ ถึงเป้าหมายแล้วหยุด 'กองไว้ตรงนั้น' ทั้งคู่ โดยอาศัยการเทียบเคียงข้อมูลสำรวจฯจากกล้องฯอีกหนึ่งตัว โดยถ้าสมเทียบกันแล้ว ข้อมูลสำรวจฯมีความใกล้เคียงกันมาก ก็ Happy...แต่ในทางกลับกัน ถ้าข้อมูลสำรวจฯมีความแตกต่างกันมาก อันเนื่องมาจากความคลาดเคลื่อนสะสมมาก-น้อย ในสายทางการระดับของแต่ละทีม...ก็นั่นล่ะ Re-Survey!
       1.2 การใช้ปัจจัยแวดล้อมที่เหมือนกัน ระหว่างการอ่านกล้องฯทั้ง 2 ตัว นั่นคือ ตำแหน่งไม้ Staff หน้า และหลัง ที่ตำแหน่งเดียวกัน ในทุกๆ ตำแหน่ง Turning Point...อาจจะทำให้เกิดพฤติการณ์ที่ว่า การลืมตั้งไม้ Staff ให้อยู่บน plate/หลัก (Basic Error) หรือพฤติการณ์ที่ว่า 'ความไม่พร้อม' ของคนถือไม้ Staff (ไม้ Staff เอียง/ไม่ได้ระดับ) ในขณะที่กล้องฯ ทั้ง 2 ตัวกำลังส่องเล็งอ่านค่ามาพอดี (อย่าชะล่าใจ ว่าเหตุการณ์เช่นนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้ โดยเฉพาะในสายทางการระดับ ที่มีระยะทางยาวไกล)
    * ดังที่ผู้เขียนได้กล่าวเอาไว้ในข้อ 3.3 ว่าวิธีการสำรวจฯเช่นนี้ เป็นวิธีการ 'พิมพ์นิยม' โดยทั้งๆที่ต่างก็รู้ว่าวิธีการดังกล่าว ไม่ถูกต้องตามหลักวิธีการ แต่ก็มีผู้คนจำนวนมาก นิยมเลือกใช้วิธีการฯดังกล่าว...ด้วยเหตุผลสำคัญ ที่ว่าใช้กล้องฯระดับเพียงแค่ 1 ตัว ทำการตั้งกล้องฯ 2 ครั้ง (ไปข้างหน้าขาเดียว ไม่ต้องย้อนกลับ) โดยถ้าทำการสำรวจรังวัดค่าระดับอย่างปราณีต ใส่ใจในทุกๆรายละเอียดแล้ว...ผลลัพธ์ที่ได้ ถือว่า 'ดีหนึ่ง ประเภทหนึ่ง' ได้เหมือนกัน (จับบวกกัน แล้วหาร 2)

    2. ประเด็นเรื่อง วิธีการคำนวณ และการปรับแก้: เป็นที่เข้าใจตรงกันว่า วิธีการสำรวจฯ Double Run Levelling 'แบบปลายเปิด' ข้างต้น จะได้ผลลัพธ์ค่าระดับที่หมุดฯเป้าหมายเพียง 2 ค่าเท่านั้น โดยถ้าค่าระดับทั้ง 2 มีความใกล้เคียงกัน (ยอมรับได้) วิธีการ 'พื้นบ้าน' อย่าง 'จับมาบวกกัน แล้วหารด้วย 2' จึงเป็นตัวเลือกทางยุทธวิธี ที่มักจะถูกนำมาใช้เป็นอันดับแรก (โดยไม่สามารถทำการปรับแก้ใดๆได้)

    ประเด็นขิงๆ มันอยู่ตรงนี้
    วิธีการปรับแก้ค่าระดับ: 'ด้วยวิธี ไป-กลับ แบบบรรจบตัวเอง (Closed Loop)' โดยการนำข้อมูล (BS/FS) จากการอ่านกล้องฯระดับตัวที่ 2 มาทำการ 'กลับค่า' (กลับหัว กลับหาง) ทั้งหมด และทำการเปลี่ยนค่า BS ให้เป็น FS เพื่อที่จะสามารถทำการ 'คำนวณย้อนกลับ' จากหมุดฯตำแหน่งเป้าหมาย กลับไปหา หมุดฯตำแหน่งเริ่มต้น

    >> ประโยคข้างต้น ได้นำมาซึ่ง 'ความย้อนแย้ง' อยู่ในตัวมันเอง ซึ่งมีคำถามตามมาว่า "จะทำเช่นนั้น ไปเพื่อ??" ก็ในเมื่อวิธีการสำรวจฯที่ได้เลือกใช้นั้น เป็นวิธีการฯแบบ 'ปลายเปิด' จากการใช้กล้องฯระดับ 2 ตัว ทำการสำรวจฯคู่กันไปในทิศทางทางเดียวกัน จนถึงหมุดเป้าหมาย ซึ่งผลลัพธ์ค่าระดับที่ได้ จะมีอยู่เพียง 2 ค่าเท่านั้น ส่วนจะนำค่าระดับ 2 ค่า มาก-น้อยเหล่านี้ มาทำการหาค่าเฉลี่ย ก็ขึ้นอยู่กับว่า จะยอมรับผลงานกันได้หรือไม่...ณ จุดๆนี้ ถือเป็นอันสิ้นสุด
    แต่ที่ไม่ยอมสุด...เมื่อนำเอาข้อมูลการอ่านค่า BS/FS จากกล้องฯตัวที่ 2 มากลับหัว-กลับหาง เปลี่ยนค่า BS ให้เป็น FS เพื่อที่จะสามารถทำการ 'คำนวณย้อนกลับ' จากหมุดฯตำแหน่งเป้าหมาย กลับไปหา หมุดฯตำแหน่งเริ่มต้น...ซึ่งวิธีการเช่นนี้ 'มองเป็นอื่นไปไม่ได้' ว่านี่คือวิธีการ 'ลักไก่ หลอกนายจ้างฯ' โดยการ เคลม/ตีเนียน เอาว่า งานสำรวจรังวัดระดับของตนนั้น "ได้เข้าบรรจบ" และสามารถทำการปรับแก้ค่าความคลาดเคลื่อนได้ ตามหลักวิธีการงานสำรวจรังวัดค่าระดับ ตามมาตรฐานสากล

    ชาวฝรั่งเขามีคำพูดในเชิง 'ดูแคลน' ต่อวิธีการสำรวจรังวัดค่าระดับ เช่นนี้ว่า

    "Artificial Levelling"

    >> 'ในเชิงคณิตศาสตร์' การนำเอาข้อมูลการอ่านค่า BS/FS ที่มีทิศทางไปข้างหน้า มาทำการกลับหัว กลับหาง แล้วทำการคำนวณย้อนกลับนั้น 'สามารถทำได้' ดังตัวอย่างต่อไปนี้
    ภาพตัวอย่าง ตารางคำนวณค่าระดับ (แบบปรกติ) โดยใช้ข้อมูลสำรวจฯจากทีมกล้องฯ 2 ทีม

    ภาพตัวอย่าง แสดงวิธีการนำข้อมูลการอ่านค่า BS/FS จากกล้องฯตัวที่ 2 
    มาทำการ กลับหัว-กลับหาง กลับทิศทางการคำนวณ เพื่อให้ดูเหมือนว่า 'ย้อนกลับเข้าบรรจบ'
    >> ฉะนั้น ต่อคำถามที่ว่า ผลลัพธ์การคำนวณโดยอ้างการเข้าบรรจบ แบบ 'ไม่ได้เข้าบรรจบแท้จริง' จะมีความถูกต้องหรือไม่ ?...ผู้เขียน (ส่วนตัว) ขออนุญาติตอบว่า "ผลลัพธ์ที่คำนวณได้มีความถูกต้อง ในเชิงการคำนวณทางคณิตศาสตร์ แต่ไม่ถูกต้อง และไม่ถูกยอมรับ ในหลักวิธีการสำรวจรังวัดค่าระดับ ตามข้อ 3.1, 3.2 และข้อ 3.3 ซึ่งวิธีการฯเหล่านั้น เป็นวิธีการสำรวจรังวัดค่าระดับ 'แบบปลายเปิด' (Opened Levelling) โดยมีการตรวจสอบความถูกต้อง (ด้วยวิธีเปรียบเทียบผลลัพธ์กันเอง) จากข้อมูลการสำรวจฯอย่างน้อยอีก 1 ชุด เพื่อยืนยันผลต่างทางระดับที่ตำแหน่งหมุดฯเป้าหมายว่า ผ่าน (ยอมรับได้)/ไม่ผ่าน (ยอมรับไม่ได้) ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจ ของผู้เกี่ยวข้อง...โดยไม่จำเป็นที่จะต้องทำการ 'ปลอม/จำลอง' ข้อมูลสำรวจฯ ว่าได้ทำการย้อนกลับเข้าบรรจบ ครบถ้วนกระบวนความ ตามมาตรฐานสากล

    การสำรวจรังวัดค่าระดับที่มี 'เงื่อนงำ': ตามคำบอกเล่าจากมิตรสหาย (สายงานเขื่อนฯ) ที่ว่า;
    3. ค่าความคลาดเคลื่อนก่อนการปรับแก้: ณ ตำแหน่งหมุดฯเป้าหมาย พบว่ามีค่าความแตกต่างทางระดับระหว่าง กล้องฯระดับ ตัวที่ 1 และกล้องฯระดับ ตัวที่ 2 มีค่า = 0.10x เมตร (หรือประมาณ 10 ซม.)
    >> จากที่ผู้เขียนได้อธิบายเอาไว้ข้างต้นว่า การเลือกแนวทางการสำรวจฯประเภทนี้ จะยังผลให้มีผลลัพธ์ที่ตำแหน่งหมุดฯเป้าหมาย เพียง 2 ค่าเท่านั้น ส่วนจะมีค่าความต่างทางระดับมาก-น้อย ยอมรับ/ไม่ยอมรับ เป็นเรื่องที่ผู้เกี่ยวข้อง ต้องร่วมกันพิจารณา 

    จากคำบอกเล่าที่ว่า ความต่างทางระดับที่เกิดขึ้น มีค่าเท่ากับ 10 ซม. (ก่อนการปรับแก้)...บ.สำรวจฯดังกล่าว อาจจะมองว่า 'มันมีค่าความต่าง มากเกินไป' ครั้นจะจับมาบวกกัน แล้วหารด้วย 2 เพื่อหาค่าเฉลี่ย ก็ยังเป็นตัวเลขที่ไม่น่าพอใจนัก จึงได้ใช้วิธีการ 'ลับ ลวง พราง' ข้างต้น ในการทำให้ข้อมูลสำรวจฯ กลับหัว-กลับหาง สามารถที่จะย้อนกลับเข้าบรรจบได้ และเมื่อสามารถคำนวณย้อนกลับได้ ก็จะสามารถทำการคำนวณปรับแก้ ค่าความต่าง 10 ซม. 'ให้กระจาย สลายไป' ยังหมุดฯตามรายทางอื่นๆ...Happy Ending

    บทส่งท้าย:
    เรื่องราววุ่นๆ ในงานการสำรวจรังวัดค่าระดับ ที่เกิดขึ้นข้างต้น ก็เนื่องมาจาก 'มีผู้ที่ไม่เข้าใจ' หลักการพื้นฐานในงานสำรวจรังวัดถ่ายทอดค่าระดับ อีกทั้งยังได้ใช้วิธีการ ลับ ลวง พราง เพื่อให้ผู้ว่าจ้างฯเข้าใจ ไปในแนวทางที่ 'ตนต้องการ'
    Author supported to Land Surveyors United

    Sunday 15 September 2019

    Drafting Google Map (Vector) to CADs as Background...ชิล ชิล

    >> สัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้เขียนได้มีโอกาสเดินทางไปเยี่ยมยามมิตรสหายนักสำรวจฯ ถึงที่ทำงาน ซึ่งในขณะที่เดินผ่านโต๊ะทำงานของน้องๆ ที่กำลังมะรุมมะตุ้มอยู่กับงาน Drafting โดยกำลังพากันวาดเส้น (Digitize) ไปตามขอบถนน, ขอบอาคารบ้านเรือนในโปรแกรม Google Earth 

    เมื่อผู้เขียนได้ถามไถ่ที่มา-ที่ไป ก็ได้ใจความว่า น้องๆกำลังทำแบบร่าง ข้อมูลสภาพพื้นที่ข้างเคียง ที่ติดกับแปลงสำรวจฯ โดยต้องการแสดงขอบเขตของถนน, คู คลอง ตำแหน่งอาคารบ้านเรือน ฯลฯ และเมื่อนำมารวมกับข้อมูลสำรวจฯแล้ว จะทำให้ตัวแผนที่ฯ มีข้อมูลอ้างอิงลักษณะทางกายภาพของพื้นที่ข้างเคียง มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น และโปแกรม Google Earth คือโปรแกรมที่ถูกเลือกนำมาใช้ ในการเป็นแผนที่ต้นแบบ ใช้อ้างอิงทางตำแหน่ง โดยการลากเส้นขอบเขตต่างๆ แล้ว save ออกมาเป็นไฟล์ .kml/.kmz และขั้นต่อไปคือการนำไฟล์ .kml/.kmz เหล่านี้ไปเปิดในโปรแกรม GlobalMapper แล้วทำการ Export ออกมาเป็นไฟล์ CADs (.dwg/.dxf) เพื่อนำไปใช้ในโปรแกรม AutoCAD ต่อไป

    ได้ยินดังนั้น ผู้เขียนจึงได้แนะนำน้องๆ ถึงวิธีการที่ผู้เขียนนิยมใช้ ในกรณีที่ต้องการอ้างอิงพื้นที่งานสำรวจฯเข้ากับข้อมูลพื้นที่ข้างเคียง ในรูปแบบข้อมูล Line/Polygon โดยไม่ต้องมาเสียเวลาทำการลากเส้นใดๆ ทั้งสิ้น

    วิธีการใช้โปแกรม Google Earth และตามด้วยโปรแกรม GlobalMapper นั้น 'มาถูกทางแล้ว' แต่มันมีวิธีที่สะดวกกว่านั้น เมื่อเปลี่ยนมาใช้ Open Street Map (www.openstreetmap.org) และในประเด็นเทคนิค วิธีการดังกล่าว ผู้เขียนคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ต่อท่านผู้อ่านบ้าง ไม่มากก็น้อย จึงขออนุญาตินำวิธีการดังกล่าว มานำเสนอในแบบ Hand On (ทำตามไปด้วยกัน)

    Hand On:
    1. ที่เว็บเพจ www.openstreetmap.org ซูมเลือกพื้นที่ๆ ต้องการที่จะสร้างข้อมูล Vector >> คลิก Export

    Zoom in พื้นที่ตัวอย่าง ตลาดนัดจตุจักร

    2. คลิกเลือกที่ Manually Select a different area (ในกรณีที่ต้องการกำหนดขอบเขตพื้นที่ ไปตามค่าพิกัด Lat/Lon ให้ทำการเติมค่าพิกัดฯ ที่ด้านทั้ง 4 ตามต้องการ)

    3. คลิกที่มุมของอาณาเขต เพื่อ เพิ่ม-ลด ขนาด ของพื้นที่ๆต้องการ

    4. คลิก Export (Save ออกมาเป็นไฟล์ นามสกุล .osm)


    5. เปิดไฟล์นามสกุล .osm ด้วยโปรแกรม GlobalMapper

    6. ทำการตรวจสอบ (หรือปรับเปลี่ยน) ระบบพิกัดที่ต้องการ >> Export Vector LiDAR format >> เลือก (.dwg/.dxf)
    * หรือ Export เป็น .shp/.tab เพื่อนำไปเปิดในโปรแกรมทางด้าน GIS

    7. เปิดไฟล์ .dwg/.dxf ในโปรแกรม AutoCAD และทำการปรับเปลี่ยน ลายเส้นต่างๆ ตามความต้องการ

    8. ตัวอย่างพื้นที่ แถวๆสนามหลวง

    Sunday 1 September 2019

    CHC - GPS (GNSS)...'หยวน' เขามาแรงในชั่วโมงนี้

    บทความอ้างอิง:


    หมายเหตุ: ผู้เขียนต้องขออนุญาติออกตัวแบบล้อฟรี ดัง เอี๊ยดๆ เลยว่า บทความนี้ 'มิได้มีส่วนได้ ส่วนเสีย' ใดๆ กับ 'ยี่ห้อจากแผ่นดินใหญ่' ดังกล่าว โดยการวิเคราะห์ วิจารณ์ต่างๆนั้น เป็นทรรศนะ ความคิดเห็นส่วนตัว เป็นไปโดยสุจริต ไม่ได้มีอคติใดๆ ทั้งสิ้น

    >> ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ประเด็นเรื่องเครื่องมือรับสัญญาณดาวเทียมยี่ห้อ CHC นับเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ผู้เขียนถูกถามเข้ามาผ่านทางอีเมล์ และทางโซเชียลฯอยู่บ่อยครั้ง ทั้งจากชนชาวนายช่างฯกรมที่ดิน และจากสายนายช่างสำรวจฯภาคเอกชน โดยประเด็นคำถามส่วนใหญ่ ต่างมุ่งเน้น ตั้งคำถามไปที่ตัว Hardware ของตัวเครื่องมือสำรวจฯดาวเทียม รุ่น i50, i70 และ i80 เป็นสำคัญ ซึ่งถือว่า 'เป็นเรื่องที่แปลก' พอสมควร ซึ่งโดยปรกติแล้ว ผู้เขียนมักจะถูกตั้งคำถามในประเด็นเรื่องคุณภาพ ความถูกต้องแม่นยำ และทางด้านราคา เสียเป็นส่วนใหญ่

    ฉะนั้น ผู้เขียนจึงขออนุญาติ นำความรู้ และประสบการณ์ส่วนตัว (เท่าที่มี/ทราบ) ที่เกี่ยวข้องกับเครื่องมือรับสัญญาณดาวเทียมยี่ห้อ CHC ดังกล่าว มาเล่าแจ้งแถลงไข จัดเป็นไกด์ไลน์กันสักครั้ง และจะว่าอันที่จริงแล้ว ตัวผู้เขียนเองก็เป็นผู้หนึ่งที่ได้ผ่านการ Training จากวิศกรของ CHCNav ที่ได้บินตรงจากแผ่นดินใหญ่ มาสอน/อบรม ทั้งภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติ ให้กับผู้เขียนโดยตรง ซึ่งได้ถ่ายทอดกลเม็ด เคล็ดลับ (อีกแล้ว) ให้ผู้เขียน ได้นำไปใช้งาน

    โดยส่วนตัว ผู้เขียนเป็นผู้หนึ่งที่มีความคุ้นเคยกับอุปกรณ์สำรวจรังวัดยี่ห้อหลักๆของโลก (Trimble, Leica, Topcon, Magelland ฯลฯ) มาโดยตลอด ตั้งแต่ในยุคอดีต จนถึงยุคสมัยเซินเจิ้น ที่การ 'ลอกการบ้าน' มีความเจริญรุ่งเรือง งอกงามไปทั่วทุกวงการ ผู้เขียนจึงมีความรู้สึก 'ดูแคลน' กับสินค้าราคาถูก จากแผ่นดินใหญ่อยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะในประเด็นที่ว่า 'มันดีจริงหรือ' มันถูกต้องจริงหรือ? ฯลฯ

    การมาถึงของเครื่องมือรับสัญญาณดาวเทียมยี่ห้อ CHC ตัวแรกๆ ในตลาด (ล่าง) ที่สนนราคาต่ำกว่ากันครึ่งต่อครึ่ง เมื่อเปรียบเทียบราคากับยี่ห้อหลักๆใน Class เดียวกันนั้น ผู้เขียน (ส่วนตัว) มองว่าเป็นกลยุทธทางการตลาด ที่สามารถ 'แจ้งเกิด' อยู่พอสมควร ด้วยเหตุผลที่ว่า ไม่ใช่แค่การทำเหมือน หรือทำเลียนแบบ แล้วมีคุณภาพการใช้งานที่ต่ำ หรือชำรุด/หมดอายุขัยเร็ว เหมือนกับแบรนด์เซินเจิ้นอื่นๆ...แต่เป็นการนำเอาบอร์ดรับสัญญาณฯ/ประมวลผล (OEM) คุณภาพสูง จากยี่ห้ออุปกรณ์สำรวจฯหลักๆของโลก มาใช้ในผลิตภัณฑ์ของตนเอง ซึ่งในประเด็นนี้ ผู้เขียน (ส่วนตัว) มองว่า 'เป็นเรื่องปรกติ' ในยุคปัจจุบัน ที่การไขว้ขา สับขาหลอก เป็นเรื่องธรรมดาในวงการธุรกิจ...ดูตัวอย่างกล้องฯ Topcon กับกล้องฯ Sokkia (แยกกันเดิน รวมกันตี)


    Huace x20
    >> x20 ตัวปฐมบทของค่าย Huace (ชื่อเดิมของ CHC) ถูกปล่อยออกมาสู่ตลาดเครื่องมือสำรวจฯ ในราวปี 2005-2006 ซึ่งเป็นยุคที่เครื่องมือสำรวจรังวัดดาวเทียม 'ทั่วไป' ส่วนใหญ่ ยังคงใช้ระบบคลื่นวิทยุในย่าน PRN (Pseudo Random Noise) Codes หรือนิยมเรียกในชื่อ C/A Codes แม้ว่าระบบการใช้คลื่นวิทยุดังกล่าวในงานสำรวจรังวัดดาวเทียม จะให้ผลการสำรวจฯไม่ละเอียดมากนักก็ตาม แต่ในยุคสมัยนั้น ใครมีใช้ ถือว่า 'ไฮโซ' ทีเดียว

    x20 ใช้ระบบคลื่นวิทยุในย่าน C/A Codes ในการรับสัญญาณดาวเทียม แบบความถี่เดี่ยว และสามารถรับสัญญาณได้เพียงระบบดาวเทียม GPS ของ Navstar เท่านั้น (ยุคนี้ หยวนยังไม่มีระบบดาวเทียม Compass/Beido)...ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องปรกติ เมื่อเปรียบเทียบกับเครื่องมือสำรวจรังวัดดาวเทียม ร่วมยุคสมัยยี่ห้ออื่นๆ ใน class เดียวกัน (รับสัญญาณได้เฉพาะระบบ GPS ) แต่...สิ่งที่ทำให้ x20 มีลักษณะเด่น และแตกต่างกว่าเครื่องมือสำรวจรังวัดดาวเทียมเพื่อนบ้าน ในยุคเดียวกัน ได้แก่การสนนราคา 'ถูกกว่ามาก' และการมาพร้อมกับเมนบอร์ดรับสัญญาณฯ/ประมวลผลยี่ห้อ Hemisphere (ARM) นั้น หมายถึงการซื้อยี่ห้อ CHC ในราคาถูก แต่ได้คุณภาพการใช้งานของยี่ห้อ Hemisphere (ระดับโลก) ราคาแรงมาใช้งาน
    * เครื่องมือสำรวจฯดาวเทียมร่วมยุคสมัยใน Class เดียวกัน ได้แก่ Trimble R3 ราคาเกินกว่าครึ่งล้านบาท หรือแม้แต่ Astech ProMark 3 ราคาจานรับสัญญาณ Thale ของ PM3 เพียง 1 เครื่อง สามารถซื้อ x20 ได้ 2 เครื่องครึ่ง

    CHC x20 (ตัวตัดขาคู่แข่ง)
    - ระบบการรับสัญญาณหลัก: L1 รับสัญญาณได้เฉพาะ ระบบดาวเทียม GPS 
    จำนวนช่องรับสัญญาณ: 12
    ระยะทางการรังวัดสูงสุด (ห่างจากตัวสถานีฐาน): 10 กม.

    ความคลาดเคลื่อน ในการรังวัดแบบสถิต (Static)
      ทางราบ: 5 mm + 1 ppm
      ทางดิ่ง: 10 mm + 2 ppm

    ความคลาดเคลื่อน ในการรังวัดแบบจลน์ (RTK): ไม่รองรับ
    เมนบอร์ด/Chipset: Hemisphere (ARM)


    CHC x90 (RTK-GNSS)
    >> 'ตีเหล็กกำลังร้อน' น่าจะเป็นนิยามที่สามารถนำมาใช้ได้กับเรื่องราวของ x90 ที่ถูกส่งเข้าสู่ท้องตลาดฯ (ล่าง) ในราว 2-3 ปีให้หลัง โดยรุ่น x90 ได้มาพร้อมกับระบบการสำรวจฯแบบ RTK (L1/L2 GPS+GLONASS) ในราคาระดับแสน+ บาท ซึ่งได้สร้างทางเลือกสำหรับชนชาวนักสำรวจฯเบี้ยน้อย หอยน้อย ชาวเรา ในการเสาะแสวงหาระบบ RTK มาใช้ในการสำรวจฯแทนกล้องฯ Total Station ที่มีข้อจำกัดทางด้าน Line of Sight ในการรังวัด

    ซึ่งในยุคสมัยดังกล่าว (ในราวปี พ.ศ. 2553) อุปกรณ์สำรวจรังวัดดาวเทียมด้วยระบบ RTK (L1/L2 GPS+GLONASS) 'ราคาเรือนล้าน+' ในยี่ห้อหลักๆ ของโลก กำลังครองตลาด (บน) อาทิ Trimble R4, Leica GS8, Topcon Hyper II ซึ่งถ้าทุนหน้าตักไม่หนาจริงๆ ก็เป็นการยากที่ชาวเราจะเข้าถึงอุปกรณ์สำรวจฯในกลุ่มนี้ (เท่าที่ผู้เขียนพบเห็น ส่วนใหญ่จะใช้ Astech ProMark 500 ถูไถ RTK กันไปเป็นส่วนใหญ่ หรือดูมีระดับขึ้นมาสักหน่อย ก็เคยพบเห็น Leica GPS GX1230 แบบน้อยราย)

    ด้วยการสนนราคาค่าตัว x90 ที่ต่ำกว่ายี่ห้อชั้นนำหลักๆ 'กว่าครึ่งต่อครึ่ง' ได้ทำให้ x90 พร้อมระบบ RTK แจ้งเกิดอยู่พอสมควร รวมไปถึงการผ่านการรับรองมาตรฐาน ISO จากประเทศโปแลนด์ ได้ช่วยให้ x90 เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้นในวงการสำรวจฯ อีกทั้งการที่ใช้เมนบอร์ด/Chipset รับสัญญาณดาวเทียมจาก OEM ยี่ห้อชั้นนำหลัก (Trimble รุ่น BD-950) ทำให้ผู้ใช้งานสายทุนน้อย มีทางเลือกในการเข้าถึงอุปกรณ์สำรวจฯด้วยระบบ RTK-GPS มากยิ่งขึ้น

    CHC x90 (ตัวดับ ตะวัน)
    - ระบบการรับสัญญาณหลัก: L1/L2 (GPS และ GLONASS, เริ่มมีการใช้คำศัพท์ GNSS แทนคำว่า GPS)
    - จำนวนช่องรับสัญญาณ: 24 (Up to 54)
    - ระยะทางการรังวัดสูงสุด (ห่างจากตัวสถานีฐาน): - กม.

    - ความคลาดเคลื่อน ในการรังวัดแบบสถิต (Static)
      ทางราบ: 5 mm + 1 ppm
      ทางดิ่ง: 10 mm + 2 ppm

    - ความคลาดเคลื่อน ในการรังวัดแบบจลน์ (RTK)
      ทางราบ: 10 mm + 1 ppm
      ทางดิ่ง: 20 mm + 2 ppm

    - Controller และชุด Modem: OEM ยี่ห้อชั้นนำหลัก
    เมนบอร์ด/Chipset: Trimble  BD-950
    Photo Credited: nhbbobb


    CHC x900 (RTK-GNSS)
    >> เจ้าตัว x900 ผู้เขียน (ส่วนตัว) ขออนุญาติเรียกว่าเป็น "ตัวแป๊ก" ของ CHCNav เลยก็ว่าได้ เพราะว่านอกจากการเพิ่มจำนวนช่องรับสัญญาณ จาก 24/54 ช่อง มาเป็น 72 ช่องแล้ว พร้อมกับเปลี่ยนรูปทรงตัวจานฯ นิดๆหน่อยๆ สเป็คอย่างอื่นแทบจะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปจากตัว x90 ก่อนหน้านี้ อีกทั้งการที่มีอุปกรณ์สำรวจรังวัดดาวเทียม จากชนชาติหยวน ยี่ห้อ SunNav ถูกส่งเข้ามาทำตลาดแบบตีคู่ไปด้วยกัน (สับขาหลอก แล้วปล่อยให้ งง) ได้ทำให้เกิดข้อกังขาถึงคำว่าใครเป็นคน 'ลอกการบ้าน' ของใคร หรือว่า 'หยวนหลอกหยวน' กันเอง....มีความ 'ไม่เชื่อมั่น' ในตัวผลิตภัณฑ์เกิดขึ้น
    SunNav รุ่น M5 (ดูคล้าย CHC x900)

    SunNav รุ่น M500 (ดูคล้าย CHC x90)

    CHC x900 (ตัวเสียรังวัด)
    - ระบบการรับสัญญาณหลัก: L1/L2 (GPS และ GLONASS)
    - จำนวนช่องรับสัญญาณ: 72
    - ระยะทางการรังวัดสูงสุด (ห่างจากตัวสถานีฐาน): - กม.

    - ความคลาดเคลื่อน ในการรังวัดแบบสถิต (Static)
      ทางราบ: 5 mm + 1 ppm
      ทางดิ่ง: 10 mm + 2 ppm

    - ความคลาดเคลื่อน ในการรังวัดแบบจลน์ (RTK)
      ทางราบ: 10 mm + 1 ppm
      ทางดิ่ง: 20 mm + 2 ppm

    - Controller และชุด Modem: OEM ยี่ห้อชั้นนำหลัก
    - เมนบอร์ด/Chipset: NovAtel 628 (OEM)



    CHC x91 (RTK-GNSS)
    >> ผู้เขียนขออนุญาติเรียกเจ้ารุ่น x91 ว่าเป็นตัว 'พลิกเกมส์' ของ CHCNav อย่างแท้จริง หลังจากออกอาการ 'แป๊ก' เดินสะดุดขาตัวเอง ไป 2-3 ปี จากรุ่นก่อนหน้านี้ โดยเจ้าตัว x91 (เวอร์ชั่น x90 ปัดฝุ่น) มาพร้อมกับการ 'จัดเต็ม' กับความสามารถในการรับสัญญาณดาวเทียมจาก 4 ระบบหลัก (ในยุคนี้ หยวน ได้มีระบบดาวเทียม Compass/Beido ของตนเองแล้ว) พร้อมๆกับการมีจำนวนช่องรับสัญญาณฯที่เพิ่มมากขึ้นถึง 220 ช่อง และด้วยสเป็คขนาดนี้ เมื่อเหลือบสายตามอง (บน) ไปยังอุปกรณ์สำรวจรังวัดดาวเทียมใน Class เดียวกัน ในยี่ห้อหลักๆของโลกแล้ว...'เงินล้านต้องมีในกระเป๋า' ในขณะที่การเข้าถึงเจ้าตัว x91 จำนวน 1 ชุด (Base+Rover) เพียงแค่ในระดับไม่กี่แสนบาท ก็สามารถเสาะแสวงหามาครอบครองได้

    x91 ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่ในวงการสำรวจรังวัดด้วยดาวเทียมอยู่พอสมควร นั่นคือความละเอียด ความถูกต้องของข้อมูลสำรวจฯที่สูงขึ้น 'มาก' เมื่อเปรียบเทียบกับยุคก่อนหน้า ในราคาค่าตัวที่ 'ทำไม มันถูกกว่าชาวบ้านเขา' สิ่งสำคัญที่ถูกมองว่าการซื้อ CHC x91 มีความคุ้มค่า คุ้มราคานั้น ก็เพราะว่าเหมือนกับการ ได้ซื้อ Trimble R8 มาใช้งานนั่นเอง ด้วยเหตุผลที่ว่า ตัวประมวลผล/Chipset ยี่ห้อ Trimble รุ่น BD970 อันเป็นตัวเดียวกันกับที่ถูกใช้อยู่ใน Trimble R8 ได้ถูกฝังอยู่ภายในตัวจานรับสัญญาณฯ x91 
    * ผู้เขียน ก็เป็นผู้หนึ่งที่ได้กระโจนเข้าไปตะลุมบอนกับเจ้าตัว x91 กับเขาด้วย ก็ด้วยเหตุผลเดียวกันนี้ ที่ว่า ซื้อ CHC x91 แต่ได้คุณภาพ Trimble R8 มาใช้งาน...คุ้มจริงๆ
    * ชนชาวหม่อง เพื่อนบ้านของชาวเรา จัด CHC x91 ไป 520 เครื่อง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557...ข้อมูลเพิ่มเติม >> คลิก

    CHC x91 (ร่างทรงของ Trimble R8)
    - ระบบการรับสัญญาณหลัก: GPS, GLONASS, Galileo และ Compass/Beido
    * ระบบรอง SBAS, QZSS ไม่นับรวมในการพิจารณา (จำนวนดาวเทียม ยังไม่มากพอ ณ พ.ศ. นี้)
    - จำนวนช่องรับสัญญาณ: 220
    - ระยะทางการรังวัดสูงสุด (ห่างจากตัวสถานีฐาน): 200 กม.

    - ความคลาดเคลื่อน ในการรังวัดแบบสถิต (Static)
      ทางราบ: 2.5 mm + 1 ppm
      ทางดิ่ง: 5 mm + 2 ppm

    - ความคลาดเคลื่อน ในการรังวัดแบบจลน์ (RTK)
      ทางราบ: 10 mm + 1 ppm
      ทางดิ่ง: 20 mm + 1 ppm

    - Controller และชุด Modem: OEM ยี่ห้อชั้นนำหลัก, CHCNav
    เมนบอร์ด/Chipset: Trimble BD-970


    CHC i50, i70, i80 (RTK-GNSS)
    >> i50, i70 และ i80 รุ่น 'หม้อ' หุงข้าว (แทน 'จาน' รับสัญญาณฯ) เป็นซีรี่ที่ผู้เขียนถูกถามเข้ามาทางอีเมล์มากที่สุดในช่วง 1-2 ปีมานี้ โดยเฉพาะประเด็นที่ว่าจะเลือกซื้อรุ่นไหนดี? ทำไมสเป็คมันดูคล้ายกันไปหมด? สับขาหลอกหรือปล่าว? ใช้เมนบอร์ด Trimble เหมือนกับตัว x91 หรือว่าใช้เมนบอร์ดของ CHCNav ?...ฯลฯ
    * ผู้เขียน (ส่วนตัว) ได้ยินมาว่าตัว i80 นั้น ใช้บอร์ดรับสัญญาณฯ Trimble รุ่น BD-930?
    เมนบอร์ด CHCNav BD380 OEM
    ประเด็นนี้มันดูจะขำๆ ออกแนวย้อนแย้ง ก็ตรงที่ว่า เหล่าท่านทั้งหลายที่ได้สอบถามมายังผู้เขียนเรื่องเมนบอร์ด/ชิปเซต ที่ถูกใช้อยู่ในรุ่น/ซีรี่ i เหล่านี้ เหล่าท่านล้วนต่างมีความต้องการ หรืออยากได้เมนบอร์ดของ Trimble มาใช้งาน 'มากกว่า' การที่จะต้องได้ใช้เมนบอร์ดของ CHCNav อันเป็นเจ้าของตัวผลิตภัณฑ์โดยตรง (อารมณ์ประมาณว่า อยากได้บรรยากาศแบบ x91 ที่ได้ใช้ Trimble ของดี ในราคาหยวนๆ...แต่ไม่อยากใช้เมนบอร์ด/ชิปเซต 'เมดอินหยวน' ในราคาหยวนๆ)

    ผู้เขียน (ส่วนตัว) ในฐานะที่เป็นนายช่างสำรวจฯผู้หนึ่ง ที่ต้องได้เกี่ยวดองหนองยุ่งอยู่กับตัวผลิตภัณฑ์ในกลุ่มนี้ อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ได้ตั้งข้อสังเกตอยู่หลายประการ สำหรับความแตกต่าง ระหว่างรุ่น/ซีรี่ i เหล่านี้ กับตัวรุ่น x91 ก่อนหน้า ว่าได้มีการพัฒนา ปรับปรุง เปลี่ยนแปลงไปอย่างไร โดยเฉพาะประเด็นที่สำคัญที่สุด นั่นคือ ความละเอียด ความถูกต้องแม่นยำของข้อมูลสำรวจฯ เมื่อนำตัวอุปกรณ์ฯไปใช้งานจริง

    ประเด็นสำคัญ ที่ถูกนำมาพิจารณาสำหรับรุ่น i50. i70 และ i80
    1. การมาพร้อมกับระบบที่ช่วยเพิ่มความสะดวกในการใช้งานทางด้าน Networks ที่ถูกพัฒนาให้ดีขึ้น (ใช้ระบบ 4G) นั่นคือสามารถรับ-ส่งข้อมูลได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น (ในประเด็นนี้ ผู้เขียนไม่ได้ให้น้ำหนัก โดยถ้าไม่ได้ใช้งานเกี่ยวกับระบบ Networks แบบ VRS โดยใช้ CORS เป็นสถานีฐานด้วยแล้ว ระบบดังกล่าว ไม่มีความจำเป็น)
    2. การมาพร้อมกับระบบ WiFi ซึ่งสามารถช่วยให้ตัว Controller สามารถสื่อสารกับตัวจานรับสัญญาณฯได้รวดเร็ว และมีระยะทางในการสื่อสารได้ไกลกว่าการใช้สัญญาณ Bluetooth  (ในประเด็นนี้ ผู้เขียนไม่ได้ให้น้ำหนักเช่นกัน ด้วยเหตุผลที่ว่า ผู้ทำการสำรวจฯ (ทั่วไป) ต้องเคลื่อนที่ไปพร้อมกับ pole RTK+จานรับสัญญาณฯ ในระยะใกล้ด้วยกันอยู่แล้ว สัญญาณ Bluetooth ที่มีระยะทำการประมาณ 10 เมตร จึงมีความเพียงพอ) และการเชื่อมต่อสัญญาณ WiFi สำหรับการกำหนดค่า IP/Browser และอื่นๆ ผู้เขียนมองว่า เป็นเพียงออปชั่นเสริม เพื่ออำนวยความสะดวกในการใช้งานตัวจานรับสัญญาณฯเท่านั้น
    3. การเพิ่มออปชั่น มีแบตเตอรี่ 2 ก้อน เพื่อที่จะสามารถใช้งานได้ยาวนานขึ้น หรือการมีหน้าจอแสดงผล/ระบบสัมผัส , การที่ไม่ต้องใช้เสาอากาศ, การเอียงจานรับสัญญาณ ก็ยังสามารถทำการรังวัดได้, การมีความจุของข้อมูลสำรวจฯที่เพิ่มขึ้น ฯลฯ...ผู้เขียน (ส่วนตัว) มองว่าเป็นเพียงลูกเล่นของผลิตภัณฑ์ เท่านั้น (ออปชั่นเสริม)
    4. ผู้เขียน (ส่วนตัว) เชื่อว่ายังคงใช้จำนวนช่องรับสัญญาณฯ 220 ช่อง เหมือนกับรุ่น x91 ก่อนหน้านี้?...ในประเด็นนี้ ผู้เขียนได้ให้น้ำหนักเต็มที่ และขออนุญาติตั้งข้อสังเกตแบบ ?? ตัวใหญ่ๆ เลยว่า โดยปรกติทั่วไปแล้ว อุปกรณ์สำรวจฯรังวัดดาวเทียมรุ่นหนึ่งๆ จะมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น ก็ต่อเมื่อมีจำนวนช่องรับสัญญาณฯ (Channel) ที่ถูกเพิ่ม/ขยาย ให้กว้างมากยิ่งขึ้น แปรผันไปตามความสามารถในการรับสัญญาณฯจากระบบดาวเทียมต่างๆ ที่เพิ่มมากขึ้น (หลายระบบ)

    แต่ในรุ่น/ซีรี่ i ข้างต้นนั้น การมีจำนวนช่องรับสัญญาณฯ ที่ยังคง Fix ไว้ที่ 220 ช่อง พร้อมกับความสามารถในการรับสัญญาณดาวเทียมที่ถูกเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย (เพิ่ม L/E code) 'แบบไม่มีนัยยะ' มากนัก...ได้ทำให้ผู้เขียน (ส่วนตัว) ตระหนักว่า ในรุ่น/ซีรี่ i50, i70 และ i80 เหล่านี้ อาจจะยังคงใช้เมนบอร์ด Trimble (BD970) ของเดิม จากตัว x91 อยู่หรือไม่?? (พูดแบบนี้ เหล่าสาวก CHC รุ่น/ซีรี่ i ทั้งหลายต่างพากันร้อง เฮ ด้วยความดีใจ...อยากให้มี Trimble ชิปเซต อยู่ภายในเครื่องฯที่ตนเองครอบครองอยู่)
    * Trimble R10 รุ่นเทพ มีจำนวนช่องรับสัญญาณฯ สูงถึง 672 ช่อง
    * ในประเด็นเรื่องความคลาดเคลื่อนแฝงคงที่ ของตัวอุปกรณ์ อาทิ  x mm + x ppm ...ผู้เขียน (ส่วนตัว) มองว่า 'บางยี่ห้อ' ได้ใช้เป็นเพียงลูกเล่นทางตัวเลข เพื่อใช้เป็นกลยุทธ์การตลาด เท่านั้น 
    * แนวคิดที่ว่า รุ่น/ซีรี่ i50, i70 และ i80 เหล่านี้ อาจจะยังคงใช้เมนบอร์ด Trimble (BD970) ของเดิม จากตัว x91 นั้น...ผู้เขียนได้แนวคิดนี้มาจากเว็บไซต์ ตัวแทนจำหน่ายของ CHC ในแบรนด์ย่อยที่ชื่อว่า iGage ซึ่งได้นำเอารุ่น i70 มาแปลงร่างเป็น iG8 จำหน่ายเป็นเซ็ตคู่กับโปรแกรม Carlson SurvCE (ไม่ใช้ LandStar?) โดยในหน้าเพจ 'Spec.' ได้ระบุถึง 'ตัวเมนบอร์ด' เอาไว้ว่า Trimble BD-970
    Credited: https://ig8g.com/specifications.htm

    >> ประเด็นคำถามเรื่องยี่ห้อของเมนบอร์ด/ชิปประมวลผล ในตัวอุปกรณ์รับสัญญาณดาวเทียมของ CHC ในรุ่น/ซีรี่ i เป็นประเด็นที่เหล่าสาวกผู้ถือครอง/ใช้งาน ตัวเครื่องมือฯจากยี่ห้อดังกล่าว ต่างพากันให้ความสำคัญมากกว่าประเด็นอื่นๆ...ครั้น ผู้เขียนจะตอบกลับไปว่า 'ก็ลองแกะ ออกมาดูสิ' ว่าเมนบอร์ด/ชิปเซต ที่อยู่ข้างในนั้น มันคือ 'หมู่ หรือ จ่า' ซึ่งคำตอบเช่นนี้ อาจจะก่อให้เกิดการยุยง ส่งเสริม 'การทำเครื่องมือพัง' โดยไม่เจตนาก็เป็นได้ ฉะนั้น ผู้เขียนจึงขออนุญาตินำพาท่านผู้อ่าน เดินทางไปดูงานที่ 'ประเทศยูเครน' เพื่อใช้เป็นกรณีศึกษา ในประเด็นเรื่องเมนบอร์ด/ชิปเซต ที่ว่านี้ก็แล้วกัน


    ElNav i70 (ยูเครน)
    >> มิใช่เรื่องแปลก ในแวดวงธุรกิจยุคสมัยนี้ ที่เครื่องมือสำรวจรังวัดของยี่ห้อหนึ่งๆ จะไปปรากฎตัว แปลงร่าง เปลี่ยนสี เปลี่ยนชื่อ เปลี่ยนยี่ห้อ ในอีกพื้นที่หนึ่งๆ ซึ่ง CHC i70 เป็นอีกตัวอย่างหนึ่ง ที่ได้ไปปรากฎตัวอยู่ในประเทศยูเครนในชื่อยี่ห้อ ElNav รุ่น i70 โดยในประเด็นทางด้าน Specification ของตัวอุปกรณ์นั้น ไม่ต้องมาเสียเวลาสาธยายกันให้เมื่อยตุ้ม มาดู 'เครื่องใน' กันถึงห้องแลปเลยดีกว่า
    ภาพแสดง x91 นอนหงาย ตายกันเป็นแพ

    ภาพแสดง เครื่องใน ของ x91

    ภาพแสดง ElNav i70 ถูกเปิดฝาหม้อออก

    เห็นเมนบอร์ด ไกลๆ ไม่ชัด

    Zoom in เข้ามาอีกนิด ก็นั่นล่ะ...ท่านผู้ชม (เฮ)
    All Photo Credited to ElNav i70: www.elnav.com.ua/production/
    >> ผู้เขียนขออนุญาติสงวนท่าที และ 'ไม่ขอยืนยัน' ว่า เจ้าตัว CHC i70 ที่อยู่ในมือของท่านนั้น ได้มีเมนบอร์ด/ชิปเซตของ Trimble ฝังอยู่ในตัวเครื่องฯ เฉกเช่นเดียวกับตัว ElNav i70 ข้างต้น หรือไม่? และขออนุญาติเตือนเหล่าท่านทั้งหลายว่า 'อย่าได้แกะ หรือเปิดฝาหม้อ ออกมาดู เป็นอันขาด'...ส่วนท่านทั้งหลายที่ใช้เครื่องมือฯ รุ่น i ข้างเคียงอย่าง i50 และ i80 ก็เช่นเดียวกัน 'อย่าได้เปิดฝาหม้อออก' (ถ้าไม่อยาก...หงายเงิบ)


    ยังไม่จบ...กับการ 'ไขว้ขา' + ตีลังกา ม้วนหน้า 3 ตลบ แล้วปล่อยให้ งงๆ กับรุ่นย่อย ล่าสุด
    CHC x5, x9 และ x10 (RTK-GNSS)

    >> ผู้เขียนขออนุญาติ ไม่ลงในรายละเอียด ว่าอะไร ยังงัย...แต่ขอกล่าว สั้นๆ แค่ว่า เจ้า 3 ตัวใหม่ล่าสุด ข้างต้นนี้ 'อาจจะ' ยังคงใช้จำนวนช่องรับสัญญาณ 220 ช่อง ขนาดเท่าเดิม เพียงเท่านี้ ก็คงจะพอทำให้ท่านผู้อ่าน คิดมโนกันเอาเอง สามารถเดากันไปต่างๆ นา ได้...ขออนุญาติเตือนกันอีกครั้งว่า 'อย่าได้ทำการเปิดฝาหม้อ ออกมาดู'

    ยัง 'ฟิน' ได้ต่อเนื่องกับ CHC รุ่น M6
    Credited: www.youtube.com/watch?v=6_xMp9McrxA
    >> เวอร์ชั่นล่าสุด ณ ชั่วโมงนี้ กับ CHC รุ่น M6 ซึ่งมาพร้อมกับ จำนวนช่องรับสัญญาณ 220 ช่อง ขนาดเท่าเดิม (อีกแล้ว)
    * มีตัวสับขาหลอก ในยี่ห้อ Geobox รุ่น FORA A20

    รุ่น i90 ล่าสุด ส่งท้ายปี 2019 (336 ช่องสัญญาณ)
    * ผู้เขียน (ส่วนตัว) เชื่อว่าตัว i90 ข้างต้น อาจจะใช้เมนบอร์ด/Chipset ของ Trimble รุ่น BD990 (336 ช่อง)...ข้อมูลเพิ่มเติม >> คลิก

    * ชั่วโมงนี้ ในตลาด OEM ของเมนบอร์ด/Chipset ระบบ Multi-GNSS ที่ค่ายเล็ก ค่ายน้อยต่างกำลังพากันมะรุมมะตุ้ม ตะลุมบอน กับเมนบอร์ด/Chipset ยี่ห้อ NovaAtel รุ่น OEM-719 กันให้ฝุ่นคลุ้ง ด้วยความที่มีระบบการรับสัญญาณดาวเทียม 'จัดมาเต็มทุกดอก' และมาพร้อมกับ จำนวนช่องรับสัญญาณสูงถึง 555 ช่อง....ในขณะที่ทาง CHC์Nav กลับยังคง 'ขี่ม้าเลียบเมืองไปเรื่อย' (เล่นกับเมนบอร์ด 220 ช่อง อยู่หลายรุ่น จน 'งง')
    เมนบอร์ด/Chipset ทรงพลัง: NovAtel 719 (OEM)

    บทส่งท้าย: ณ ชั่วโมงนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่าเครื่องมือสำรวจฯรังวัดดาวเทียม ยี่ห้อ CHC สัญชาติหยวน ข้างต้น ได้เข้ามามีบทบาทแบบ 'คลื่นกำลังแรง' ในสารขันฑ์ถิ่นของชาวเรา ทั้งภาครัฐ (กรมที่ดิน) และภาคเอกชน ด้วยเหตุผลที่สำคัญ อยู่ 2 ประการ นั่นคือ 'ราคา และคุณภาพ' ซึ่งทางด้านคุณภาพนั้น สามารถตอบโจทย์ การใช้งานในการรังวัดทั่วไป ได้เป็นอย่างดี และทางด้านราคา ที่สามารถคบหาได้ เข้าถึงได้ มากกว่ายี่ห้อหลักๆ ของโลก ที่แค่เพียงตัว Base กับตัว Rover ก็ปาเข้าใกล้น้องๆตัวเลข 7 หลัก ทั้งที่มีคุณภาพ การใช้งานอยู่ใน Class เดียวกัน...
    * ณ ปัจจุบัน CHCNav ได้ทำการ 'อัพเกรด' รุ่น x20+, x90+, x900+ (ต่อท้ายด้วย เครื่องหมาย + หรือต่อท้ายด้วย i ในบางประเทศ) ให้มีความสามารถในการรับสัญญาณดาวเทียม จากระบบดาวเทียมหลักๆ ได้ทัดเทียมรุ่นอื่นๆแล้ว


    CHC x20i (รุ่น อัพเกรดเป็นระบบ GNSS)

    Author supported to Land Surveyors United