Thursday 10 November 2016

รีวิว แบบว่าๆ 'หยวนๆ'...กับ กล้องโททอล สเตชั่น จากค่าย South รุ่น NTS-342R6A

>> ภายในเขตบ้านพักอาศัยของผู้เขียน ได้จัดสร้างหมุดหลักฐานดาวเทียม GPS, Survey Control Target Networks (ตรวจสอบค่ามุม) และแนวเส้น Base Line (ตรวจสอบ EDM) เอาไว้สำหรับ ตรวจสอบความถูกต้อง/คลาดเคลื่อนของเครื่องมือสำรวจฯเป็นการส่วนตัว ฉะนั้นจึงมักจะมีผู้ที่รู้จักคุ้นเคยส่งกล้องฯ หรืออุปกรณ์สำรวจฯมาให้ตรวจสอบอยู่ต่างกรรม ต่างวาระกันไป
และเป็นอีกครั้งที่ผู้เขียนได้มีโอกาสทำการทดสอบและใช้งาน กล้องโททอล สเตชั่น โดยในเคสนี้เป็นรุ่น NTS-342R6A จากค่าย South ซึ่งเป็นยี่ห้อที่ผู้เขียน (ส่วนตัว) ขอสารภาพว่าในอดีตกว่า 10 ปีที่แล้วว่าเคย 'ไม่ชอบ' มาก่อน ด้วยเหตุแห่งคำกล่าวอ้าง และกล่าวถึงในหมู่ชนนายช่างฯบ้านเรา ในประเด็นเรื่อง 'การทำเหมือน/การทำให้ดูคล้าย/การลอกเลียนแบบ' โดยคำกล่าวอ้างที่ว่ามียี่ห้อ Topcon เป็นต้นฉบับ หลายต่อหลายรุ่น ทั้งรูปร่าง หน้าตา ฟังก์ชั่นการใช้งานต่างๆ ฯลฯ

ในงานสำรวจฯภาคสนาม ผู้เขียนได้มีโอกาสผ่านการใช้งานกล้องฯยี่ห้อหลักอยู่บ่อยๆ นั่นคือ Topcon, Sokkia และ Leica จึงคุ้นเคย และจดจำรูปพรรณสัณฐาน ข้อมูล และคุณสมบัติของตัวกล้องฯ จากยี่ห้อหลักเหล่านี้ อยู่พอสมควร ดังนั้น 'ในอดีต' เมื่อได้มีโอกาสจับต้อง+ลองใช้งานกล้องฯจากยี่ห้อ South รุ่นเก่าๆ จึงเกิดการเปรียบเทียบอยู่ในใจขึ้นมา และ ณ เวลานั้น ต้องขออนุญาติกล่าวเช่นเดียวกันกับเหล่านายช่างฯท่านอื่นๆ นั่นคือ ถ้าใช้งานกล้องฯยี่ห้อ Topcon ได้ ก็สามารถใช้งานกล้องฯจากยี่ห้อ South ได้เช่นกัน...คล้ายกันมาก
ฟังก์ชั่นการใช้งานของกล้องฯ South NTS-360 

ฟังก์ชั่นการใช้งานของกล้องฯ Topcon ซีรี่ GTS
>> กาลเวลาหมุนเวียนเปลี่ยนไป ผู้เขียนก็ยังคงได้มีโอกาสหยิบจับใช้งานอุปกรณ์สำรวจฯจากค่าย South อยู่เนืองๆ และสิ่งที่ผู้เขียนสังเกตพบมาตลอดสำหรับอุปกรณ์สำรวจฯจากชนชาติหยวนยี่ห้อนี้ ที่แตกต่างไปจากยี่ห้อที่มาจากแผ่นดินใหญ่อื่นๆ นั่นคือ คำว่า 'พัฒนาการที่เหนือกว่า' (บางท่านกล่าวว่า เหนือกว่าต้นฉบับ เสียอีก)

ยี่ห้อ South อาจจะเริ่มต้นปฐมบทด้วยการ 'ถูกดูเบา' ในประเด็นเรื่องการทำเหมือน+ขายในราคาถูก ในยุคแรกๆของตลาดเครื่องมือสำรวจรังวัดบ้านเรา แต่กาลเวลาที่ผ่านไปพร้อมๆกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง ได้ทำให้ South มีความแตกต่างจากยี่ห้อชนชาติหยวนอื่นๆ ที่ยังคงวิถีแห่งความเป็นตำนาน 'มณฑลเซินเจิ้น' และยังคงย่ำรอยเท้าอยู่กับที่ (พัฒนาช้ามาก หรือการตั้งหน้า ตั้งตา copycat อย่างเดียว) ในขณะที่ South เริ่มขยับเข้าไปใกล้คำว่า 'แบรนด์ชั้นนำของโลก' มากขึ้น ซึ่งสามารถพิจารณาได้จาก 'ประเภท/จำนวนของอุปกรณ์สำรวจรังวัด' ที่วางขายอยู่ในท้องตลาดเครื่องมือสำรวจฯทั่วโลกอยู่ในขณะนี้ 

แต่ทั้งนี้ ด้วยเหตุผลทางการตลาด/การลงทุนข้ามชาติที่สลับซับซ้อนในจีนแผ่นดินใหญ่ ที่บางครั้งยากที่จะเข้าใจ ในประเด็นเรื่อง OEM (ได้กล่าวไว้ในบทความ อื่นๆ)...เราจึงเห็นกล้องโททอล สเตชั่น ที่มีหน้าตา รูปร่างเหมือนกัน การใช้งานที่เหมือนกัน ไปปรากฏในชื่อแบรนด์ใหม่ ชื่อรุ่นใหม่ วางจำหน่ายในทวีปอื่นๆ แม้แต่กล้องฯ South รุ่น NTS-342R6A ที่ผู้เขียนกำลังวิสาสะอยู่นี้ ก็ได้มีญาติพี่น้อง ไปปรากฏตัวอยู่ในตลาดอุปกรณ์สำรวจรังวัด อยู่ในหลายชื่อ ซึ่งผู้เขียนเองก็ไม่แน่ใจว่า เป็นเจ้าของเดียวกันหรือไม่ หรืออาจจะทำการตลาดแบบ 'แยกกันเดิน รวมกันตี' (เงินก็ไหลมาเข้ากระเป๋าเดียวอยู่ดี) อาทิ
RUIDE ซีรี่ RIS >> http://www.ruideinstrument.com/products/pro_info.asp?id=178
Horizon H9A >> http://www.horizon.sg/wp-content/uploads/2012/12/H9A_Brochure.pdf
* บางตัวมีกล้องถ่ายถ่ายรูปติดมาด้วย (เป็นออปชั่นเสริม)

>> ต้องขออภัย ที่ผู้เขียนมัวแต่ชักแม่น้ำแยงซีเกียงกับแม่น้ำฮวงโห ซะยืดยาว จนเกือบลืมเข้าเนื้อหาหลักของบทความ  (โรคเก่าอีกแล้ว^^) 
ประเด็นหลักที่ผู้เขียนขออนุญาตินำเสนอในบทความนี้ เป็นเรื่องการรีวิวกล้องโททอล สเตชั่น จากค่าย South รุ่น NTS-342R6A และการใช้งานทั่วไป โดยมีหัวข้อพิจารณาหลัก (เช่นเคย) ดังนี้

1. รูปพรรณ สัณฐานทางกายภาพ ทั่วไป
>> ด้วยเหตุว่า ผู้เขียนเคยหยิบจับ+ทดลองใช้กล้องฯของ South ในรุ่น NTS-342R5 มาก่อน จึงมีความคิดแต่เดิมว่า ก็ไม่น่าจะแตกต่างกันมากนัก สำหรับกล้องฯรุ่นน้อง อย่าง NTS-342R6A...ซึ่งเมื่อแรกเปิดกล่องกล้องฯออกมา เห็นสีเหลืองตัดดำ ความคิดแวบเข้ามาในหัวทันที 'นี่มันคือกล้องฯยี่ห้อ CST/ฺBerger ไม่ใช่เหรอ'? ผิดวิสัยของยี่ห้อ South ซึ่งมักจะใช้โทนสีเหลืองอ่อนๆทั้งตัว เป็นสีประจำของผลิตภัณฑ์ หรือแม้แต่กล้องฯรุ่น 342R5 ก่อนหน้านี้ก็ใช้สีเหลืองอ่อน และสำหรับส่วนประกอบของตัวเครื่องส่วนอื่นๆ ถือว่าดู 'ผิดหู ผิดตา' เปลี่ยนแปลงไปมากทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นเฟรมหน้าจอสัมผัส ตำแหน่งของช่องเสียบประเภทเมโมรี่ต่างๆ แผงปุ่มกดที่เปลี่ยนมาใช้ระบบ 'ปุ่มเข็ม' แทนปุ่มกดแบบยาง และฝาปิด (พลาสติกแข็ง) ที่ด้านข้าง ทั้ง 2 ด้าน...แต่ทั้งนี้ยังคงกลิ่นอายของ Topcon ที่ตัวล๊อคแกนราบ-แกนดิ่ง และตัวส่องเล็งหัวหมุดฯ
NTS-342R5 หน้าจอระบบสัมผัส
วัสดุที่ใช้ประกอบตัวเครื่องฯ อันหมายถึงความแข็งแรง ทนทาน ของตัวกล้องฯ คือสิ่งที่ผู้เขียนให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกเมื่อได้หยิบจับ สัมผัสแรก ซึ่งเจ้า NTS-342R6 รุ่นนี้ ก็ทำเอาทึ่ง+อึ้งไปไม่น้อยทีเดียวนั่นคือ การใช้ 'โลหะ' อัลลอยด์แข็ง ประกอบเป็นตัว body หลัก (แทนการใช้ พลาสติกแข็ง) ซึ่งแม้แต่กล้องฯจากยี่ห้อหลักๆอย่าง Sokkia และ Topcon รุ่นแพงๆบางรุ่น ยังไม่ใช้ตัววัสดุดังกล่าวทำเป็นตัว body (แต่ Leica ในซีรี่ TPS-1200 หลายรุ่น ใช้วัสดุดังกล่าวประกอบเป็นตัว body)
* ตัว NTS-342R6A ที่ผู้เขียนได้ทำการทดสอบนี้ เป็นรุ่นที่มีความละเอียดทางมุมของกล้องฯ 2" มาพร้อมระบบ Reflectoress ที่ระยะทำการ 600 เมตร โดยมีตัวส่องหัวหมุดฯเป็นแบบ dot เลเซอร์ และหน้าจอเป็นระบบสัมผัส
* ตัวกล้องฯค่อนข้างจะมีน้ำหนักมากกว่า กล้องฯยี่ห้ออื่นๆใน class เดียวกัน (หนักมาก ทั้งที่ตัวกล้องฯก็ไม่ได้ใหญ่โตเกินไปนัก)
* การ 'ไม่มี' ที่ใส่ตัวป้องกันแสงแดดให้กับเลนส์หน้ากล้อง (Lens hood) อาจจะไม่สะดวกนัก ในกรณีที่ต้องใช้งานกล้องฯในพื้นที่ประเภท 'หันหน้ากล้องฯสู้แสงตะวัน'
>> ประเด็นสำคัญที่ผู้เขียน ตรวจพบในกล้องฯซีรี่นี้ ซึ่งถือว่าดีเยี่ยม นั่นคือ การมีเซ็นเซอร์ตรวจจับสภาพอากาศ ทั้งอุณหภูมิ ความชื้นสัมพัทธ์ และความดันบรรยากาศ โดยตัวกล้องฯสามารถทำการปรับแก้ค่าการรังวัดระยะทางแบบ Real Time ตลอดการทำการรังวัด (สภาพอากาศส่งผลโดยตรงต่อการวัดระยะทาง ของตัว EDM ภายในกล้องฯ)
NTS-342R6 มาพร้อมกับเซนเซอร์ ตรวจวัดสภาพอากาศ
ตั้งค่าไว้ที่ ON เป็นการปรับแก้ค่าการรังวัด แบบ Real Time
ในยุคเมื่อ 10 กว่าปีก่อน กล้องโททอล สเตชั่น ยังไม่มีออปชั่นการปรับแก้ค่าการรังวัดจากปัจจัยทางด้านสภาพอากาศเหล่านี้ เราจึงพบว่าการทำการรังวัดในช่วงตอนเช้าที่มีอากาศเย็น ได้ค่าผลลัพธ์การรังวัด (ดีกว่า) 'แตกต่าง' จากการทำการรังวัดในช่วงตอนกลางวันที่มีอากาศร้อน...ในยุคนั้น เราจึงเห็นการตั้งกล้องฯจึงมักจะมี 'ร่ม แบบชายหาด' กางไว้เพื่อป้องกันแสงแดด กันความร้อนให้กับตัวกล้องฯ หรือคนอ่านกล้องฯ ? (ตัวผู้เขียนเอง ก็เป็นหนึ่งในนั้น lol)
ภาพ: ผู้เขียน กับงานสำรวจฯภูมิประเทศ แขวงสาละวัน สปป.ลาว ปี พ.ศ. 2551
ในกล้องฯยุคต่อมา มีการเพิ่มออปชั่นเมนู การตั้งค่า (ป้อนข้อมูล) สภาพอากาศ ขณะทำการรังวัด ซึ่งก็ออกจะขลุกขลัก อยู่พอสมควร เพราะเป็นการ 'fix ค่าตัวแปร' อาทิ อุณหภูมิขณะทำการรังวัด ซึ่งบางพื้นที่สำรวจฯ อุณหภูมิอาจจะมีขึ้น-ลง ตลอดทั้งวัน (รวมถึงฝนตก) การจะไปกำหนดค่าอุณหภูมิแบบ 'ตายตัว' สำหรับ Job หนึ่งๆ นั้น ไม่น่าจะถูกต้อง ครั้นจะสร้าง Job ใหม่ๆตามอุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลงไป (มีเทอโมมิเตอร์วัด) ก็ออกจะ 'งานงอก' เกินไปหน่อย ส่วนทางด้านค่าความชื้นสัมพัทธ์ และค่าความดันบรรยากาศ ที่ต้องป้อนค่าเหล่านี้ลงไปในตัวกล้องฯด้วย ก็ต้องมีเครื่องมือวัดค่าสภาพอากาศเหล่านี้โดยเฉพาะ...วุ่นวายหนัก เข้าไปอีก
* ผู้เขียนเคยใช้งานกล้องฯ Leica ในซีรี่ TPS-1200 บางรุ่นที่มีชุดคำสั่งเหล่านี้ ปรากฎว่าต้องใช้ 'ค่าเฉลี่ยตลอดทั้งปี' ทั้ง 3 ค่า ของสภาพอากาศในท้องที่นั้นๆ ซึ่งเป็นการป้อนค่า fix แบบตายตัวเข้าไป (ใช้ตลอดทั้งโครงการฯ)...เอาน่า ไม่ใช่ก็ใกล้เคียง...ถูๆ กันไป (เพราะในยุคนั้น ยังไม่มีตัวเซนเซอร์ ปรับแก้ดังกล่าว)
* การผลิตกล้องฯ และการตั้งค่าพารามิเตอร์ต่างๆให้กับตัวกล้องฯ จากโรงงานผู้ผลิต (ต่างประเทศ) ที่มีสภาพแวดล้อมทางด้านสภาพอากาศ ทั้งอุณหภูมิ (ห้อง) ความชื้นสัมพัทธ์ และความดันบรรยากาศ 'มีความแตกต่าง' ไปจากการใช้งานตัวกล้องฯจริงในสภาพอากาศที่แตกต่างกันไป อาทิ ในประเทศสารขัณฑ์ของเรา (ร้อนมาก) รวมไปถึงการขนส่ง (การสั่นสะเทือน)...ปัจจัยเหล่านี้ มีผลโดยตรงต่อการทำการรังวัด ของตัวกล้องฯ

2. การใช้งาน เมนูคำสั่ง
>> (ส่วนตัว) ฟังก์ชั่นการใช้งานตัวโปรแกรม เหมือนกับรุ่นก่อนหน้านี้ทุกประการ (ไม่ใช้ระบบวินโดว์) โดยตัวโปรแกรมในซีรี่ 342Rx เป็นโปรแกรมที่ใช้งานค่อนข้างง่าย บันทึกข้อมูลจากการอ่านได้รวดเร็ว ไม่แฮ้งค์ ค้าง อืด เหมือนกล้องฯที่ใช้ระบบวินโดว์ ซึ่งผู้เขียนขออนุญาติไม่ลงในรายละเอียดมากนัก ด้วยเหตุว่ากล้องฯ รุ่นใหม่ๆทุกวันนี้ มีหลักการใช้งาน 'พื้นฐาน' ที่คล้ายๆกันไปหมด นั่นคือเริ่มจากการสร้าง Job > ตั้งค่าจุดตั้งกล้องฯ+เป้า B.S. หรือจากวิธีการ Resection ซึ่งเมื่อตัวกล้องฯรู้ตำแหน่งแห่งที่+ค่าระดับของตัวกล้องฯแล้ว ก็สามารถทำการรังวัดใดๆ ต่อไปได้
* ผู้เขียน เคยใช้งานกล้องฯที่มีระบบปฏิบัติการวินโดว์ เป็นตัวโปรแกรมหลักอยู่นานหลายปี  (ส่วนตัว) รู้สึกไม่ค่อยชอบเท่าไหร่ ด้วยเหตุผลหลักนั่นคือ มันอ่าน/บันทึกจุดได้ 'ช้า' เสียง (เหมือนมี) เข็มมันจะตี แต๊ก ๆๆ (แม้แต่อยู่ในโหมดอ่าน แบบหยาบ) รวมถึงมีอาการหน้าจอค้าง ต้องคอยถอดแบตฯออก แล้วใส่เข้าไปใหม่ จึงจะเปิดเครื่องฯได้
Youtube Credited: Alfa Topografia

สำหรับตัวโปรแกรมเสริม ที่ทำงานกับจุดสำรวจฯ COGO ต่างๆ กล้องฯรุ่นใหม่ๆ ในยุคนี้ มักจะมีโปรแกรมเหล่านี้มาให้เลือกใช้อย่างพร้อมสรรพฯ ยกเว้น กล้องฯจากยี่ห้อหลักๆบางรุ่น ที่ต้อง 'เสียเงินเพิ่ม' ถ้าต้องการมีโปรแกรมเหล่านั้นไว้ในตัวเครื่องฯ

Export File: ในซีรี่ 342Rx สามารถทำการส่งออกไฟล์ได้ในหลายรูปแบบ ทั้งประเภทไฟล์ RAW, Code, XYZ รวมไปถึงไฟล์ CAD (.dxf)...แต่ก็มีปริศนา? ให้ขบคิดกันเล็กน้อยในประเด็นเรื่องการ Export ไฟล์ RAW ซึ่งมีให้เลือกส่งออกเป็นไฟล์ของ Topcon และ Sokkia...มีบางอย่างผิดปกติ?

3. ความถูกต้องของข้อมูล ที่ได้จากการรังวัด โดยเปรียบเทียบกับ Base line และ Control Networks
>> ในประเด็นนี้ ตัวกล้องฯเพิ่งจะผ่านการคาริเบท มาหมาดๆ ฉะนั้นเมื่อนำมาเช็คสอบกับแนวเส้น  Base line และ Control Networks ผลลัพธ์ที่ได้จึงอยู่ในเกณฑ์ปกติ...(ส่วนตัว) มีข้อวิจารณ์เล็กๆเกี่ยวกับการแสดงผลของจำนวนตำแหน่งทศนิยม ซึ่งในซีรี่ดังกล่าวสามารถแสดงตำแหน่งทศนิยม ของระยะทางได้ 3 ตำแหน่ง ซึ่งถ้าเปลี่ยนเป็น 4 ตำแหน่งได้นี่ จะให้เพิ่มอีก 1 คะแนน (งานละเอียด^^) 

4. ความเหมาะสมทางด้านราคา และคุณภาพ
>> เท่าที่ได้รับการบอกเล่าถึงราคาค่างวดของรุ่น NTS-342R6A (Reflectorless 600 เมตร) ข้างต้น ราคา ณ ปัจจุบัน ต่ำกว่า 2 แสนบาทนิดๆครับ และราคาจะเกิน 2 แสนบาท ในรุ่นที่มีระบบ Reflectorless ที่ระยะทาง 1000 เมตร...ซึ่งราคาในระดับนี้ กับ Spec. แบบนี้ ทางค่ายกล้องฯใหญ่ๆ แบรนด์ดังๆ 'มีหันหน้ามาค้อนขวับๆ' เพราะถ้า Spec. แบบนี้ ค่ายใหญ่ๆกำหนดราคาขายทะลุ 4 แสนบาทขึ้นไป อย่างแน่นอน

สำหรับท่านที่กำลังพิจารณาเลือกซื้อกล้องโททอล สเตชั่น ในงบประมาณที่มีอย่างจำกัด แต่อยากได้ Spec.กล้องฯ ในระดับราคา 4-5 แสนบาท ในกล้องฯแบรนด์ดัง (ยกเว้น Leica ซึ่งราคาจะสูงกว่านั้นมาก)...NTS-342R6A เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจทีเดียวครับ และสำหรับสารขัณฑ์บ้านเรา มีศูนย์บริการไว้รองรับพร้อมสรรพ >> www.wisai.co.th

>> อีกนิด สำหรับท่านที่เมียงมองไปถึงซีรี่ NTS ที่ดู 'ล้ำหน้ากว่า'...ก็จัดไปสิครับ จะรออะไร กับ NTS-391S Robotic (ตัวนี้ 'รุ่นโอปป้า')
NTS-391S Robotic...ผู้เขียน ได้แต่ออกอาการ 'น้ำลายหยด แหมะๆ'
Youtube Credited: Geoinfo d.o.o.


หมายเหตุ: บทความข้างต้น เป็นบทความที่ 'มิใช่' รายการเชียร์สินค้า หรือรายการโฆษณาสินค้าแต่อย่างใด โดยตัวผู้เขียนเองก็มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับทางค่ายผู้ผลิต ใดๆทั้งสิ้น...แต่เป็นความรู้สึก 'ส่วนตัว' ภายหลังการทดลองใช้งานตัวกล้องฯรุ่นดังกล่าว รู้สึกนึกคิดอย่างไร ก็เขียนไปอย่างนั้น ตามสภาพความเป็นจริง อ้างอิงจากความรู้ และประสบการณ์ส่วนตัวที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการนี้ มาเนิ่นนาน...

Tuesday 25 October 2016

Civil 3D: การแสดงผลจำนวนจุดทศนิยมของค่าระดับ หลังจากการอัพโหลดไฟล์จุดสำรวจเข้าสู่ตัวโปรแกรมฯ

>> ขออนุญาติโพสต์ เป็น trick เล็กๆน้อยๆ ในประเด็นเรื่อง การปรับเปลี่ยนการแสดงผลของจำนวนจุดทศนิยมของค่าระดับ ในตัวโปรแกรม AutoCAD Civil 3D หลังจากที่มีท่านผู้สนใจ ส่งอีเมล์เข้ามาสอบถามในประเด็นดังกล่าว ก็เลยตามน้ำ หยิบยกเอามาเขียน เล่าสู่กันฟัง (อีกแล้ว) ^^

หลังจากที่อัพโหลดไฟล์ข้อมูลจุดสำรวจเข้าสู่ตัวโปรแกรม ซึ่งค่า Default ของการแสดงผลจำนวนจุดทศนิยมในตัวโปรแกรมฯ ได้ถูกตั้งค่าการแสดงผลไว้ที่ 2 ตำแหน่ง (P2) ตามภาพทางด้านล่าง
Hand On:
1. คลิกที่ตำแหน่งจุดสำรวจใดๆ ที่ตัว drawing >> เลือก Point Group Properties ที่แถบ Ribbon 
ที่หน้าต่าง Point Group Properties เลือกปรับเปลี่ยนการแสดงผลของจุดสำรวจที่ต้องการ 
 1.1 Point Style: กำหนดการแสดงผล/สี ของจุดสำรวจ อาทิ รูปกากบาท รูปสามเหลี่ยม รูปสี่เหลี่ยม ฯลฯ
 1.2 Point Label Style: กำหนดการแสดงผลของรายละเอียดของจุดสำรวจ โดยในการสาธิตนี้ เลือกการแสดงผลเฉพาะ 'ค่าระดับ' และมุ่งเน้นไปที่การปรับเปลี่ยนการแสดงผลของ 'จำนวนจุดทศนิยม'
>> คลิกเลือกที่ตำแหน่ง (วงกลมสีแดง) ตามภาพข้างต้น จะพบกับหน้าต่าง Label Style Composer >> ที่ Text> Contents > คลิกที่ตำแหน่ง (วงกลมสีแดง) ตามภาพด้านล่าง จะพบกับหน้าต่าง Text Component Editor

หน้าต่าง Text Component Editor
2. จากภาพข้างต้น จะพบว่าตัวโปรแกรมแสดงค่า Default ของการแสดงผลจำนวนจุดทศนิยมได้ถูกตั้งค่าการแสดงผลไว้ที่ 2 ตำแหน่ง (P2) (วงกลม) >> ให้ทำการลบ Delete ชุด Content ออกให้หมด
   2.1 เลือก Point Elevation (1)
   2.2 เลือกการแสดงผลจำนวนตำแหน่ง (2) ของทศนิยมเป็น 3 หรือ อื่นๆ 
   2.3 คลิก ที่ตำแหน่งลูกศร (3) เพื่อเพิ่ม Content เข้าไปใหม่...จะเห็น P3 (แสดงจำนวนทศนิยม 3 ตำแหน่ง) ตามภาพทางด้านล่าง

>> คลิก Apply >> Ok หน้าต่างทั้งหมด ตัวโปรแกรมจะแสดงผลข้อมูลจำนวนตำแหน่งทศนิยม ของค่าระดับ เป็น 3 ตำแหน่ง

หมายเหตุ: นอกจากการปรับแต่ง การแสดงผลในเมนู Text Content โดยการกำหนดจำนวนตำแหน่งทศนิยมตามขั้นตอนต่างๆ ข้างต้นแล้ว ในเมนูดังกล่าวยังสามารถกำหนดการแสดงผล ในรูปแบบอื่นๆ ได้หลายอย่าง อาทิ การกำหนด คำ/ประโยค ต่างๆ ให้กับ ข้อมูลสำรวจ เป็นต้น 

Sunday 18 September 2016

Interpolation Method of Surface Representation...เส้นสวย ด้วยการปรับแต่ง? ในงานแผนที่ฯ EP.1

>> เป็นอีกหนึ่งบทความ ที่ผู้เขียนขออนุญาติหยิบยกเอาประเด็นคำถาม ที่น่าสนใจเกี่ยวกับวิธีการ Interpolation (การประมาณค่าในช่วง) ที่ถูกถามเข้ามาผ่านทางอีเมล์ เพื่อนำมาเขียนเป็นบทความพอสังเขป เผื่อท่านใดที่สนใจในประเด็นเดียวกันนี้ จะได้ใช้ต่อยอดความรู้ ให้ดียิ่งๆขึ้นไป และกลับมาชี้ทางสว่างให้กับผู้เขียน ในกาลถัดไป จักเป็นพระคุณยิ่ง...ด้วยเหตุว่าองค์ความรู้เกี่ยวกับวิธีการ Interpolation หรือ 'การประมาณค่าในช่วง' เพื่อให้ได้มาซึ่งค่าพิกัดตำแหน่งและค่าระดับ 'ที่ไม่รู้' เปลี่ยนเป็น 'ค่าที่รู้' และมีความถูกต้องมากที่สุด ซึ่งองค์ความรู้ดังกล่าว เป็นศาสตร์ที่ต้องอาศัยกระบวนการทางคณิตศาสตร์ชั้นสูง ทั้งฟังก์ชั่น, อัลกอริทึ่ม, ลีส สแควร์ ฯลฯ โดยกระบวนการต่างๆเหล่านี้ เป็นเรื่องที่ผู้เขียนเรื้อๆ หลงๆ ลืมๆ ส่งคืนอาจารย์ผู้สอนกลับไป มิใช่น้อย...(T_T '')

Radial Basic Function Method
ก่อนจะลงในรายละเอียดถึงวิธีการปรับแก้/ปรับแต่ง ด้วยวิธีการ Interpolation ต่างๆ ผู้เขียนต้องขออนุญาติท้าวความถึงสาเหตุของปัญหาว่า ทำไม? เราถึงจะต้องใช้วิธีการปรับแก้/ปรับแต่ง Interpolation เหล่านี้...คำตอบคือ การสรรหาวิธีการ หรือกระบวนการต่างๆที่จะสามารถ 'จำลอง' แผนที่ หรือ สร้างแผนที่ 'ให้มีความเสมือน' สภาพพื้นที่ทางกายภาพของจริง 'ให้มากที่สุด' โดยเมื่อมีข้อจำกัดบางประการที่ไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลสำรวจฯเหล่านั้นได้อย่างเพียงพอ ในการสร้างแบบจำลองแผนที่ฯ

ผู้เขียนในฐานะที่เป็นนักสำรวจฯ ที่วุ่นวาย ขายปลาช่อนอยู่กับข้อมูลสำรวจฯ (COGO) จากภาคสนามอยู่เป็นกิจวัตร ก็ประสบพบเจอปัญหากับการร่างแบบจำลองแผนที่ฯ หรือการทำให้เสมือนจริง เช่นเดียวกันกับชนชาวนายช่างฯทั้งหลาย อันเนื่องมาจากข้อจำกัดทางด้านงานสำรวจรังวัดบางประการ อาทิ อุปสรรคต่อการเข้าถึงตำแหน่งแห่งที่ บ้างเป็นพื้นที่หุบเหวลึก หน้าผาสูงชัน พื้นที่อันตรายต่างๆ ฯลฯ เป็นต้น...จากปัญหาดังกล่าว ผู้เขียนจึงได้นำกระบวนการ Interpolation มาช่วยในการปรับแก้ ประมาณค่า ตำแหน่ง/ระดับ ที่ไม่สามารถเข้าถึงตำแหน่งเหล่านี้ได้

* การขาดข้อมูลสำรวจฯ 'ที่เพียงพอ' เป็นสาเหตุหลักของความคลาดเคลื่อนไปจากความเสมือนจริง เมื่อทำการเปรียบเทียบแบบร่างจำลองที่สร้างขึ้น กับสภาพพื้นที่จริง ตามหลักการทางเรขาคณิต 

ตัวอย่างความ 'ไม่เพียงพอ' ของข้อมูลสำรวจฯ 
(นำมาซึ่งเส้นชั้นระดับความสูงที่คลาดเคลื่อน และไม่ตรงกับสภาพพื้นที่จริง)
เมื่อเกิดความ 'ไม่เพียงพอ' ของข้อมูลสำรวจฯ โดยหลักปฎิบัติที่ถูกต้องแล้ว ผู้ทำการสำรวจฯจะต้องกลับไปทำการสำรวจฯ 'เพิ่มเติม' (Data Infill) เพื่อให้ได้ข้อมูลสำรวจฯอย่างเพียงพอ ที่จะนำมาประมวลผลในกระบวนการจัดสร้างแผนที่ฯต่อไป...แต่ทั้งนี้ จากที่ได้กล่าวเอาไว้ข้างต้นว่า มี 'บางกรณี' ที่ไม่สามารถทำให้ได้มา หรือเข้าถึงซึ่งข้อมูลสำรวจฯนั้นๆได้ ดังนั้นวิธีการ Interpolation ต่างๆ จึงถูกนำมาช่วยในการแก้ปัญหาดังกล่าว ข้างต้น


Surface Interpolation
>> การประมาณค่าในช่วง เพื่อหาพิกัดตำแหน่ง และค่าระดับ ต้องอาศัยข้อมูลสำรวจฯ 'ที่ทราบค่า' (Known value) รอบๆ ตำแหน่งที่ต้องการทราบค่าเพื่อใช้อ้างอิง และ 'ประมาณค่า' ตามหลักวิธีการต่างๆ ซึ่งมีอยู่หลากหลายวิธี มีให้เลือกใช้ให้เหมาะสมกับประเภทของงาน (ที่ต้องการใช้การประมาณค่าในช่วง) โดยในแต่ละวิธี มีข้อดี-ข้อเสีย แตกต่างกันไป...

จุดสีน้ำเงิน คือตำแหน่งที่ถูกประมาณค่า โดยอาศัยข้อมูลสำรวจฯที่อยู่รอบๆ

วิธีการ 'ประมาณค่าในช่วง' (Surface Interpolation Method)
- Inverse Distance
- Krigging
- Shepard Method
- Natural Neighbor 
- Nearest Neighbor
- Polynomial Regression
- Radial Basic Function
- Triangulation with Linear 
- Moving Average
- Data Metrics
- Local Polynomial
-Trend
- Median 4
- Median 16
- และ อีกมากมาย ฯลฯ

>> ในวงการนักการสำรวจฯ, แผนที่ฯ, GIS ชาวเรา ต่างพากันคุ้นชื่อ คุ้นหูกับวิธี Krigging และ Natural Neighbor เสียเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งวิธีการทั้ง 2 ต่างก็มีข้อดี-ข้อเสีย แตกต่างกันไป ซึ่งผู้เขียนขออนุญาติไม่ลงในรายละเอียด ในประเด็นดังกล่าว ซึ่งส่วนใหญ่จะว่าด้วยเรื่องความแตกต่างในวิธีการคำนวณทางคณิตศาสตร์ และการได้มาของผลลัพธ์ค่าตัวแปรต่างๆ อาทิ วิธี Krigging ไม่หมาะสมกับข้อมูลสำรวจฯขนาดใหญ่ (เป็นหมื่นๆจุดขึ้นไป) เพราะค่าผลรวมจำนวนข้อมูล (N) ที่มีค่ามากจะถูกนำมาหาร/กระจาย ไปแต่ละ Node ของตัว Gridding และวิธี Natural Neighbor ไม่เหมาะสมที่จะนำมาใช้ประมาณค่าในช่วง กับข้อมูลสำรวจทางปฐพี (ชั้นดิน-ชั้นหิน) และข้อมูลสำรวจทางชลศาสตร์ เพราะจะทำให้รูปร่าง รูปทรงของแบบจำลองมีความคลาดเคลื่อนผิดเพี้ยนไป ฯลฯ เหล่านี้เป็นต้น

ฉะนั้น วิธีที่จะอธิบายให้ท่านผู้อ่านเข้าใจได้มากที่สุด ในบทความนี้...ผู้เขียนจึงขออนุญาตินำตัวอย่างข้อมูลสำรวจฯบ่อน้ำ 1 ชุด มาทำการประมาณค่าในช่วง (Interpolation) ด้วยหลักวิธีการต่างๆ (เป็นที่นิยม) โดยเซ็ตค่าพารามิเตอร์ต่างๆ เป็นค่า Default เพื่อสร้างเส้นชั้นความสูง 0.5 ม...โดยที่ท่านผู้อ่านต้องพิจารณา 'เปรียบเทียบ' ผลลัพธ์ของวิธีการแต่ละวิธี โดยเฉพาะการพิจารณาที่ตำแหน่งที่มีข้อมูลน้อย (ไม่เพียงพอ) หรือ ไม่มีข้อมูลสำรวจฯ และพิจารณาว่า วิธีการ Interpolation ต่างๆ ได้ทำการปรับแก้/ปรับแต่ง ตัวแผนที่ฯอย่างไร

ข้อมูลสำรวจฯ (ดิบ) 'ก่อน' ทำการประมาณค่าในช่วง (Interpolation)

วิธี Inverse Distance

วิธี Krigging

วิธี Shepard

วิธี Natural Neighbor 

วิธี Nearest Neighbor

วิธี Polynomial Regression

วิธี Radial Basic Function

วิธี Triangulation with Linear 

วิธี Moving Average

วิธี Data Metrics

วิธี Local Polynomial
>> จะเห็นได้ว่า การนำมาวิธีการต่างๆ ของ Interpolation มาใช้ในการปรับแต่ง/ปรับแก้ ตัวแผนที่ฯจากตัวอย่างข้างต้นนั้น ได้ให้ผลลัพธ์ที่แตกต่างกัน (หรือแตกต่างกันมาก ในบางวิธีการ ซึ่งอาจจะเป็นไปได้ว่าวิธีการประมาณค่าในช่วง วิธีนั้นๆ อาจจะไม่เหมาะสมกับข้อมูลสำรวจฯที่มีลักษณะการกระจาย/กระจุกตัว ของข้อมูลข้างต้น)  และนั่นได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อความ 'เสมือน' ของแบบจำลองแผนที่ฯที่สร้างขึ้น กับสภาพพื้นที่จริง
(ส่วนตัว) ผู้เขียนเป็นผู้ทำการสำรวจฯตัวบ่อดังกล่าว รู้จัก และคุ้นเคยกับสภาพพื้นที่จริงว่ามีลักษณะทางกายภาพเช่นไร ฉะนั้น เมื่อนำข้อมูลสำรวจฯมาปรับแก้ ด้วยวิธีการของ Interpolation แล้ว ผู้เขียนพบว่า วิธี Triangulation with Linear, Natural Neighbor และ Kriging ล้วนแล้วแต่ให้ผลลัพธ์ หลังการปรับแก้/ปรับแต่ง 'เสมือน' พื้นที่จริง ทั้งสิ้น

** ผู้เขียน ขออนุญาติย้ำเตือนอีกครั้งว่ากระบวนการข้างต้นดังกล่าว 'ถ้า' หลีกเลี่ยงได้ก็ควรที่จะหลีกเลี่ยง ถ้าสามารถทำให้ได้มาซึ่งข้อมูลสำรวจฯที่มากพอแล้ว หรือสามารถกลับไปทำการสำรวจฯเพิ่มเติมได้ ก็ไม่ควรที่จะใช้วิธีการดังกล่าว ด้วยเหตุว่า วิธีการเหล่านี้ เป็นวิธีการที่ใช้การ 'ประมาณค่า' ซึ่งถึงแม้ว่า จะมีหลักการทางคณิตศาสตร์ที่น่าเชื่อถือมารองรับก็ตาม แต่...ก็ไม่ใช่ข้อมูลสำรวจฯที่ได้มา 'จากพื้นที่จริง'

*** และบทความนี้ อาจจะถือได้ว่า เป็นดาบ 2 คม 'เมื่อ' ถูกนำไปใช้ในการ 'ลดจำนวนจุดสำรวจฯ' ลง (ประหยัดเวลาในการทำการสำรวจฯ ประหยัดต้นทุน ประหยัด...ฯลฯ) โดยอาศัยการ 'ประมาณค่า' จากวิธีการข้างต้น...วิธีการสำรวจฯแบบ สุกเอา เผากิน เป็นสิ่งที่ชนชาวเรา เหล่านักสำรวจฯควรที่จะหลีกเลี่ยง...