Sunday 14 June 2015

งานสำรวจฯ 'วงรอบ 2D' ตอนที่ 5...ตารางการคำนวณ และปรับแก้งานสำรวจวงรอบ (ชิวๆ by Geospatial)

บทความอ้างอิง: 

Credited: twitter.com/rplsnews/status/703997843980156929

>> ไปๆ มาๆ 'ตอนที่ 5' ก็ถูกเขียนขึ้นมาจนได้ (เกือบๆ 2 ปี หลังจากการเขียนบทความ ตอนที่ 4) หลังจากที่ได้มีการติดต่อหลังไมค์ หลายกรรม หลายวาระกับน้องๆ นักสำรวจฯจาก สปป.ลาว และนายช่างสำรวจฯจากสารขัณฑ์ประเทศบางท่าน ในประเด็นเรื่อง 'ตารางการคำนวณ และปรับแก้งานสำรวจวงรอบ' ซึ่งบางท่าน บอกกับผู้เขียนว่าได้รับ 'มรดกตกทอด' จากรุ่นพี่ (สมัยเรียน) หรือไม่ก็หน่วยงาน/บริษัทฯ (ที่ทำงาน) ต่อๆกันมา โดยต่างมีประเด็นร่วมที่เหมือนกันคือ 'การใช้งานยาก' อาทิ บางตารางฯ ต้องลบค่าเดิมทั้งหมดออกเสียก่อน จึงจะป้อนข้อมูลใหม่ลงไปได้ หรือบางตารางฯ มีการบังคับจำนวนหมุดฯ เท่านั้น เท่านี้ จำนวนตายตัว (มิเช่นนั้น จะคำนวณไม่ได้) ฯลฯ...และที่หนักไปกว่านั้น กับคำบอกเล่า ที่ว่า "งานสำรวจรังวัดวงรอบ ไม่มีความจำเป็นเท่าใดนัก แค่การ RUN ทราเวิรส ไปข้างหน้าเรื่อยๆ  ส่อง B.S./F.S ให้ถูก ก็แค่นั้น"....โอววว นายช่างฯเด็กๆ สมัยนี้ (T_T '') 

และนั่นคือ ที่มาของบทความ ในตอนที่ 5 นี้ครับ
>> เป็นความจริงที่ว่า...ในยุคหนึ่ง สมัยหนึ่ง 'ตารางการคำนวณ และปรับแก้งานสำรวจวงรอบ' ถือเป็น Rare Item (ของหายาก) ประเภทหนึ่งในวงการสำรวจฯ เฉกเช่นเดียวกับสูตรงานสำรวจฯในเครื่องคิดเลข ซึ่งการมีไว้ครอบครอง หรือการเป็นเจ้าของ หาได้มีกันได้ง่ายๆ และการส่งต่อเป็น 'มรดกตกทอด' ให้แก่กันนั้น ค่อนข้างอยู่ในวงจำกัด (ถ้าไม่รักกันจริง ก็ไม่ให้กันง่ายๆ) โดยผู้ที่มีไว้ครอบครอง ส่วนใหญ่จะเป็นการพัฒนาโดยใช้โปรแกรม Excel 'ใช้กันเอง' ในหน่วยงาน, บริษัทฯ (ของใครของมัน ไม่มีแบ่ง) 

การที่ผู้เขียน ได้มีโอกาสวิสาสะ สนทนากับท่านผู้อ่าน แบบ Interactive ข้างต้น ทำให้ผู้เขียนได้ตระหนักถึงความขาดแคลน และการเข้าถึง Rare Item ประเภทดังกล่าว จึงทำให้เกิดแนวคิดที่จะ 'ตัดแบ่งเวอร์ชั่น'  'ตารางการคำนวณ และปรับแก้งานสำรวจรังวัดวงรอบ' ที่ผู้เขียนได้พัฒนาใช้อยู่ในหน่วยงาน นำมาเผยแพร่ ต่อท่านผู้สนใจ ที่เอาใส่ใจในเรื่อง 'ความถูกต้อง' ในวิชาการงานสำรวจรังวัด ได้ลองเอาไปใช้งานกันครับ


Password: ใช้ Password เพื่อปลดล๊อค *.rar จากการอ่านบทความ (ใช้ Password เดียวกัน) http://geomatics-tech.blogspot.com/2012/01/casio-fx-cg10-prizm.html

REPEAT!
>> ในการเขียนบทความงานสำรวจฯลงเว็บบล๊อค ผู้เขียนมักจะเขียนย้ำเตือนท่านผู้อ่านอยู่เสมอๆ เพื่อชี้ให้เห็นถึงความสำคัญ "อย่างยิ่งยวด" ในประเด็นเรื่อง ความถูกต้องของค่าพิกัด/ระดับ ของหมุดหลักฐานฯ ที่ใช้เริ่มต้นออกงานสำรวจฯ ไม่ว่าจะเป็นการใช้กล้องฯ หรือเครื่องมือ GPS...โดยมีแนวคิดง่ายๆ ที่ว่า ถ้าเริ่มต้นออกงานสำรวจฯจากค่าพิกัด/ระดับ ที่ถูกต้อง มีความแม่นยำสูง (หรือ มีความคลาดเคลื่อนน้อยที่สุด)...ผลลัพธ์ หรือข้อมูลสำรวจฯที่ได้ ก็จะมีความถูกต้อง และแม่นยำตามไปด้วย แต่ ในทางกลับกัน ถ้าการสำรวจฯนั้น ได้เริ่มต้นออกงานสำรวจฯ จากค่าพิกัด/ระดับ ที่ไม่ถูกต้อง มีความคลาดเคลื่อนสูง...ข้อมูลจากการสำรวจฯที่ได้รับ ก็จะมีความคลาดเคลื่อนสูงตามไปด้วย...Basic Logic!


ตัวอย่างวิธีการใช้งาน

1. พิมพ์ข้อมูล (หรือ Copy/Paste) ข้อมูลสำรวจฯจากภาคสนาม ลงในตาราง ที่ช่อง Cell สีเหลือง
        1.1 พิมพ์ชื่อหมุดฯ ตำแหน่งตั้งกล้องฯ (Station No./ID)
        1.2 พิมพ์ค่าระยะทางราบ (Horizontal Distance)
        1.3 พิมพ์ค่ามุม อะซิมัทจากตำแหน่งตั้งกล้องฯที่หมุดฯแรก 'เวียนไปทางขวา' และ ค่ามุม อะซิมัท "เข้าบรรจบ" กับหมุดฯแรกอีกครั้งหนึ่ง
            1.3.1 ในกรณีที่ผู้ทำการสำรวจฯ ต้องการความละเอียดทางมุม 'มีความถูกต้องสูง' สามารถทำการอ่านค่ามุม (ระหว่างแขนของมุม แต่ละหมุดฯ) เป็นชุด/ทบ จากนั้นจึงนำค่ามุม (ชุด/ทบ) ดังกล่าวมาหาค่าเฉลี่ย และทำการคำนวณกลับมาเป็นค่ามุมอะซิมัท เพื่อใช้ในตารางฯต่อไป...ซึ่งผู้เขียน ขออนุญาติไม่ลง  ในรายละเอียดวิธีการคำนวณดังกล่าว และขออนุญาติละไว้ในฐานที่เข้าใจ (ความรู้พื้นฐานเรื่อง มุมอะซิมัท)
       1.4 พิมพ์ข้อมูลค่าพิกัดเริ่มต้น หรือจุดตั้งกล้องฯจุดแรก (จุด A) สำหรับใช้ออกงานสำรวจฯ ลงในตารางที่ช่อง Cell สีเหลือง (มุมขวาบน ของตาราง)

2. ตารางแสดงค่าพิกัด [2D] ที่ถูกปรับแก้แล้ว ซึ่งค่าพิกัดดังกล่าว สามารถนำไปใช้เป็นค่าพิกัดควบคุมทางราบ ในงานสำรวจฯต่อไป

3. ตารางแสดงค่าความคลาดเคลื่อนที่เกิดขึ้น และเกณฑ์การยอมรับ ในงานสำรวจรังวัดวงรอบ

หมายเหตุ:

1. สำหรับงานทางระดับ [1D] ในสายทางการสำรวจฯวงรอบ ในกรณีที่ต้องการค่าระดับ มีเกณฑ์ความถูกต้องอยู่ในเกณฑ์สูง ควรใช้วีธี 'เดินระดับ' (Levelling) ร้อยหมุดฯ ในวงรอบเข้าด้วยกัน แล้วปรับแก้ตามเกณฑ์งานระดับ ซึ่งจะให้ความถูกต้องมากกว่าค่าระดับที่ได้จากการใช้กล้องวัดมุม หรือกล้องโททอล สเตชั่น

2. ตารางการคำนวณ และปรับแก้งานสำรวจรังวัดวงรอบข้างต้น ได้กำหนดให้มีจำนวนจุดตั้งกล้องฯ สูงสุด 12 จุด (หมุดฯ)...ในงานสำรวจฯภาคสนาม ผู้ทำการสำรวจฯ จึงควรที่จะวางแผนงาน กำหนดทิศทางของวงรอบ และกำหนดจำนวนจุดตั้งกล้องฯ ให้ครอบคลุมพื้นที่การสำรวจฯ โดยให้มีจำนวนจุดตั้งกล้องฯ น้อยที่สุด  เพื่อลดความคลาดเคลื่อนที่จะเกิดขึ้น และพึงระลึกไว้เสมอว่า "เมื่อเริ่มต้นการสำรวจรังวัด ความคลาดเคลื่อน (Error) ก็ได้เกิดขึ้นแล้ว"

3. ตัวอย่างภาพด้านล่าง แสดงตัวอย่างแบบจำลองการคำนวณปรับแก้หมุดฯควบคุมทางราบ โดยเปรียบเทียบก่อน-หลัง การทำการคำนวณปรับแก้

4. ในเชิงธุรกิจ (หน่วยงานของผู้เขียน) ผู้เขียนได้พัฒนาตารางการคำนวณ และปรับแก้งานสำรวจรังวัดวงรอบ ข้างต้น โดยให้มีการคำนวณปรับแก้ ตำแหน่งสำรวจฯ หรืองาน Details อื่นๆ ในสายทางวงรอบ ไปในคราวเดียวกัน

5. ในงานสำรวจฯทางวิศวกรรม ที่ต้องการความถูกต้องทางตำแหน่ง และทางระดับ [3D] อยู่ในเกณฑ์สูง (+/- 2 มิลลิเมตร) ผู้เขียนได้พัฒนาตารางการคำนวณการปรับแก้ หมุดสำรวจฯ แบบโครงข่าย (Control Networks) ด้วยวิธี Least Squares Analysis ซึ่งให้ผลลัพธ์ความถูกต้อง ของการคำนวณปรับแก้ฯ อยู่ในเกณฑ์สูง