Saturday 25 May 2013

แจ้งให้ท่านทราบ...นครเวียงจันทร์ สปป.ลาว

>> มีท่านนักสำรวจฯ และนักการแผนที่ชาวลาวหลายท่าน ที่ยังติดต่อกับผู้เขียนผ่านทางอีเมล์อย่างสม่ำเสมอ ในประเด็นเรื่องเกี่ยวกับงานสำรวจแผนที่ฯ และอื่นๆ และมีบางท่านได้เคยนัดพบปะกับผู้เขียน เป็นการส่วนตัว (เมื่อช่วงต้นปี) เพื่อพูดคุยในรายละเอียดงานสำรวจฯ และงานจีออยด์โมเดลของ สปป.ลาว ฯลฯ

และยังมีท่านอื่นๆ ที่ได้บอกผ่านทางอีเมล์ ในประเด็นที่อยากจะปรึกษา พูดคุย พบปะ กับผู้เขียนโดยตรง โดยเฉพาะการออกแบบถนนด้วยโปรแกรม Civil 3D ในขั้น Advance ซึ่งผู้เขียนได้ตอบกลับไปว่า มีวิธีการที่ค่อนข้างซับซ้อน และใช้เวลาค่อนข้างมากทีเดียวในการอธิบานผ่านทางเว็บ ฉะนั้นผู้เขียนจึงอยากให้ท่านผู้สนใจ ติดต่อพบผู้เขียนโดยตรง ในช่วงเวลาที่ผู้เขียนทำงานอยู่ที่นครเวียงจันทร์ สปป.ลาว

และช่วงเวลานั้น ได้เวียนกลับมาถึงอีกครั้งหนึ่ง...คือช่วงวันที่ 25, 26 และ 27 พฤษภาคม นี้ครับ ฉะนั้น ผู้เขียนจึงขออนุญาติแจ้งมายังท่านที่สนใจ หรือท่านผู้ที่ยังสงสัย ติดขัดบางขั้น บางตอน ในบทความต่างๆ และต้องการคำอธิบาย ชี้แนะ เพิ่มเติม หรือพบปะ พูดคุยเรื่องอื่นๆ...ยินดีครับ ที่นครเวียงจันทร์ สปป.ลาว

ติดต่อผ่านทางอีเมล์ครับ (หรือ เบอร์มือถือที่ลาว)

The Results:
วันอาทิตย์ที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2556
>> สอนการคำนวณปริมาตร (Volume) ของกองวัตถุ เช่นกองหิน กองดิน กองทราย ทุกรูปทรง และไร้รูปทรง อาทิ กองซ้อนกอง ด้วยโปรแกรม AutoCAD Land Desktop เริ่มจากขั้น Basic ไปจนถึงขั้น Advance...ผู้เขียนรู้จักนักสำรวจฯชาวลาวหลายท่าน แต่นักสำรวจชาวลาวท่านนี้ ถือเป็นหนึ่งในมือกระบี่งานสำรวจฯของ สปป.ลาว เลยทีเดียว...เยี่ยมครับ นับถือๆ

วันจันทร์ที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2556
>> ให้คำปรึกษากับนักสำรวจฯ (เพิ่งจบ) บริษัท 'ขัวทาง' (รับเหมางานถนน) มีชื่อแห่งหนึ่งของ สปป.ลาว  ซึ่งมีความประสงค์ ที่อยากจะเรียนรู้การออกแบบถนนด้วยโปรแกรม Civil 3D ในขั้น 'Advance' อาธิ การออกแบบทางแยก (Intersection) การขยายขอบถนน  (Road Widening) การคำนวณปริมาตรชั้นวัสดุ อาทิ Road Base, Pave ฯลฯ

ด้วยเหตุว่า เวลาที่มีจำกัด และเนื้อหาที่มีค่อนข้างมาก ผู้เขียนจึงไม่สามารถชี้แนะ หรือถ่ายทอดความรู้ (เท่าที่มี) ให้กับนักสำรวจฯท่านนี้ได้ (การใช้โปรแกรมฯ) อีกทั้งผู้เขียนพบว่า (จากการวิสาสะ) นักสำรวจฯท่านนี้ยังขาดความรู้ ความเข้าใจ 'พื้นฐาน' การออกแบบถนนอยู่หลายประการ อาทิ การออกแบบโค้งราบเบื้องต้น การกำหนดรัศมีของโค้งให้สัมพันธ์กับความเร็ว และการยกโค้ง ให้เป็นไปตามกฎความปลอดภัย ฯลฯ...ผู้เขียนแนะนำให้กลับไปศึกษาศาสตร์การออกแบบถนน ขั้นพื้นฐานให้แน่นเสียก่อน และโอกาสหน้า ผู้เขียนจะสอนให้ทำการออกแบบถนน ในขั้น Advance ต่อไป...

ขอขอบคุณทุกๆ อีเมล์ และทางโทรศัพท์ จาก น้องๆนักสำรวจฯชาวลาว (+เบียร์ลาว)
พบกัน โอกาสหน้าครับ

งานสำรวจฯ 'วงรอบ 2D' ตอนที่ 4...ตัวอย่าง งานสำรวจฯวงรอบที่คลาดเคลื่อน 'พิมพ์นิยม'

บทความอ้างอิง:
ตัวอย่าง งานสำรวจฯวงรอบที่คลาดเคลื่อน 'พิมพ์นิยม'
>> ตัวอย่างงานงานสำรวจฯ (เท่าที่ผู้เขียนจะรวบรวมได้) ซึ่งผู้เขียนได้ตรวจสอบแล้วว่า 'มีความผิดพลาด' เกิดขึ้นจริง นำมาให้เหล่าท่านได้รับทราบเป็นกรณีศึกษา และผู้เขียนขออนุญาติคัดลอกข้อความที่ผู้เขียนได้เคยกล่าวไว้ในตอนที่ 1

นานนับ 10 ปี จนถึงปัจจุบันกับงานตรวจสอบ และวิเคราะห์ดังกล่าว ผู้เขียนได้ผ่านพบเห็นอะไร ต่อมิอะไรมากมาย ทั้งงานสำรวจฯที่ถูกต้อง งานสำรวจที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อนขนาดใหญ่ หรือแม้แต่การ 'Make Up' ข้อมูลสำรวจฯ (แบบ 'ไม่เนียน' เอาเสียเลย) ก็ยังถูกส่งมาให้ตรวจสอบ (*_* '' )

1. งานสำรวจฯสิ่งปลูกสร้าง (As Built): คืองานสำรวจฯ เก็บตำแหน่งสิ่งปลูกสร้าง (ที่สร้างเสร็จแล้ว) อาทิ อาคาร ถนน ท่อน้ำ เสาไฟฟ้า ฯลฯ (คล้ายกับงานสำรวจโทโปฯ แต่ลักษณะงานจะมีความละเอียดมากกว่า โดยเฉพาะทางตำแหน่ง) เพื่อตรวจสอบว่า สิ่งปลูกสร้างที่สร้างเสร็จลงไปแล้วนั้น ถูกต้องตามแบบหรือไม่ ทั้งตำแหน่ง ขนาด ทิศทาง ฯลฯ...โรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่สร้างเสร็จแล้ว เป็นตัวอย่างของงานสำรวจฯประเภทนี้
* สังเกตุที่มุมขวาบน จะเห็นมีทิศเหนือกำกับ...บ่งชี้ว่างานสำรวจฯดังกล่าวใช้กริดสมมุติ Local Grid

โดยหลักการทั่วไป ก่อนทำการก่อสร้างใดๆ วิศวกรผู้รับผิดชอบจะต้องจัดให้มี หมุดฯควบคุม (หมุดหลักฐานอ้างอิง) เพื่อใช้ในโครงการฯ ซึ่งอาจจะได้มาจากวิธีการสำรวจฯวงรอบปิด โดยใช้กริดสมมุติ (นิยมใช้ ในไซต์ก่อสร้าง...ไม่จำเป็นต้องไปอ้างอิงกับพิกัดภูมิศาสตร์โลก ใดๆ) หรือใช้การสำรวจฯดาวเทียมด้วย GPS มากำหนดค่าพิกัดภูมิศาสตร์ให้กับหมุดฯควบคุม ซึ่งพบได้ในไซต์งานขนาดใหญ่ อาทิ นิคมอุตสาหกรรม สนามบิน เหมืองแร่ สนามกอล์ฟขนาดใหญ่ ฯลฯ

สิ่งที่ผู้เขียนตรวจพบ>> ขนาดความยาว ของตัวอาคารที่ได้จากงานสำรวจฯด้วยกล้องฯโททอล สเตชั่น 'ยาวกว่า' ความยาวที่กำหนดในแบบ (เกินไป 20 ซม.) ซึ่งจากการตรวจสอบเบื้องต้นโดยใช้เทปวัดระยะทาง พบว่าตัวอาคารถูกสร้างถูกต้องตามแบบ โดยวัดระยะด้วยเทป พบความยาวเกินมาเพียง 2 ซม. ซึ่งถือว่าใช้ได้ และเมื่อตรวจสอบความยาวของด้าน ด้วยกล้องฯโททอล สเตชั่น กับตัวสิ่งปลูกสร้างอื่นๆ พบว่าระยะทางบางด้าน ก็ถูกต้องสอดคล้องกับเทปวัดระยะ แต่ระยะทางบางด้านก็ผิดไป ต่างกันมาก...เกิดอะไรขึ้น กับงานสำรวจฯด้วยกล้องฯโททอล สเตชั่น?

หลังจากการสืบสาวราวเรื่อง พบว่าทีมสำรวจฯได้ใช้เครื่องมือ GPS ทำการกำหนดพิกัดทางราบให้กับหมุดฯควบคุมใหม่ (ของเดิมถูกไถทิ้งไปแล้ว) เป็นคู่ๆ (ตามภาพตัวอย่างด้านล่าง) เพื่อให้กล้องโททอล สเตชั่นใช้ออกงาน เก็บตำแหน่ง ฯลฯ
<คลิกที่ภาพ เพื่อขยาย>
จากภาพข้างต้น กล้องฯที่หมุดฯ GPS-1 ทำการส่องหลัง (B.S) ไปที่ GPS-2 ในขั้นตอนนี้กล้องฯ จะทำให้ทราบค่ามุมอะซิมัทไป-กลับระหว่างตัวกล้องฯ และเป้าหลัง และมีค่าความคลาดเคลื่อนของตำแหน่งพิกัดที่ได้จาก GPS  (มาก-น้อย) รวมอยู่ด้วย...จากนั้น หมุนกล้องส่องไปอ่านเก็บตำแหน่งของมุมอาคาร GYM...และในกรณีที่กล้องฯส่องไม่เห็นตัวมุมอาคารอีกด้าน ทีมสำรวจได้ใช้ GPS มาทำการกำหนดตำแหน่ง หมุดฯคู่ออกให้ คือ GPS-5 และ GPS-6 และใช้กล้องฯ ทำการสำรวจฯเก็บตำแหน่งต่อไป (ทีมสำรวจฯ ได้ทำซ้ำในลักษณะเดียวกัน สำหรับด้านอื่นๆ ที่กล้องฯส่องไม่เห็น

>> เมื่อผู้เขียนตรวจสอบ และ Process ข้อมูล Raw Data ของ GPS แต่ละหมุดฯ พบว่าค่าความคลาดเคลื่อนมากที่สุด (แสดงในตัวโปรแกรมฯ) มีเพียง 1 ซม. เท่านั้น...จากนั้น ผู้เขียนได้ทำการตรวจสอบ 'สมุดสนาม' ของผู้อ่านกล้อง ฯ ซึ่งได้จดบันทึก ความคลาดเคลื่อนทางมุม และระยะทางที่กล้องฯอ่านได้ ซึ่งปรากฎว่า...มีความคลาดเคลื่อนเฉลี่ยแกนละ 8-10 ซม. และนั่นคือที่มาของปัญหา ว่าทำไมระยะทางที่อ่านได้จากกล้องโททอล สเตชั่น ถึงได้แตกต่างจาก การวัดด้วยเทปวัดระยะ
แนวทางการแก้ไข: ให้ทำการสำรวจใหม่ โดยทำการเลือกหมุดฯ GPS ที่มีค่า Error (ค่าต่างทางมุม และระยะทาง) น้อยที่สุด นำมาใช้เป็นหมุดหลักฐานโครงงานฯ จากนั้น ทำการสำรวจฯขยายวงรอบออกไป และเข้าบรรจบกับหมุดฯคู่ออก และทำการคำนวณปรับแก้วงรอบ (ถ้างานวงรอบ 'ตกเกณฑ์ ให้กลับไปทำการสำรวจฯใหม่)...จากนั้น ใช้หมุดฯที่ปรับแก้ค่าพิกัดแล้ว ออกงาน เก็บตำแหน่ง (Side Shot) ต่อไป
>> ปัญหาการใช้เครื่องมือสำรวจฯดาวเทียม GPS ร่วมกับการใช้งานกล้องฯ ในงานสำรวจฯสิ่งปลูกสร้าง As Built ข้างต้น เป็นปัญหาที่ผู้เขียนตรวจพบ 'บ่อย' มากที่สุด ทั้งจากข้อมูลสำรวจฯที่ถูกส่งเข้ามาให้ทำการจาก บ.ในประเทศ และจากประเทศเพื่อนบ้าน (ปัญหาเดียวกัน 'เป๊ะ') ซึ่งสามารถสันนิษฐานได้ว่าปัจจุบันนี้ เครื่องมือสำรวจฯดาวเทียม GPS มีราคาถูกลงมาก จึงถูกนำมาใช้ในงานกำหนดตำแหน่งให้กับหมุดฯควบคุม แทนการทำการสำรวจรังวัดวงรอบ...และเมื่อไม่ให้ความสำคัญ หรือ 'มองข้ามงานสำรวจวงรอบ'...ตัวอย่างความคลาดเคลื่อนข้างต้น คือคำตอบ...'ต้องกลับไปทำการสำรวจฯใหม่'
* เคยเห็นโครงการบ้านจัดสรร และไซต์ก่อสร้างเล็กๆบางแห่ง เอา GPS ไปสร้างหมุดฯแบบข้างต้น แล้วรู้สึก 'เสียว' แทน...การสร้างหมุดฯลอย โดยใช้กริดสมมุติจะได้ผลลัพธ์ที่ดีกว่า อีกทั้งค่า 'มุม และระยะทาง' จะแน่นกว่า ไม่ต้องมาเสียวเรื่องมุมอะซิมัทเหวี่ยงไป เหวี่ยงมา อันเนื่องมาจากค่าพิกัดที่ได้จาก GPS (ณ พ.ศ. นี้, ในอนาคต อาจจะดีกว่านี้)


2. หน้าเดียว ก็เสียวได้: เป็นวิธีการ 'พิมพ์นิยม' ของนายช่างฯเด็กแนว พ.ศ. นี้ ที่ผู้เขียนพบเห็นอยู่บ่อยๆในหน้างาน ทั้งเด็กแนวในสารขันธ์ประเทศ และนายช่างฯเด็กแนวในประเทศเพื่อนบ้าน...เมื่อเด็กแนวทำการสำรวจฯวงรอบ เด็กแนวจะทำการอ่านค่าพิกัดจากกล้อง 'หน้าซ้าย'...BS/FS ไปเรื่อยๆ อ่านกล้องฯหน้าเดียวตลอดทั้งงานวงรอบ (ไม่เปลืองว่างั้น) และเมื่อกลับเข้ามาบรรจบกับหมุดฯแรกออก เด็กแนวจะทำการเปรียบเทียบค่าพิกัดที่ใช้ออก กับค่าพิกัดที่กล้องฯอ่านได้ตอนเข้าบรรจบ...ต่างกันกี่เซนติเมตร (หรือกี่เมตร?) ถ้าต่างกันมากเด็กแนวจะเริ่มลังเล เพราะไม่รู้จะปรับแก้ยังงัยดี เพราะจดบันทึกไว้เฉพาะค่าพิกัดหน้า กับค่าพิกัดหลัง มุมภายในก็ไม่ได้จดเอาไว้...ซวยล่ะสิ เอางัยดี ถ้าเสียเวลากลับไปสำรวจฯวงรอบใหม่เดี๋ยวโดนหัวหน้าด่า อ่อ...นึกออกแล้ว! เอาค่าพิกัดที่กล้องฯอ่านได้ มาคำนวณหาค่าอะซิมัท กับระยะทาง เท่านี้ก็คำนวณวงรอบได้แล้ว ถ้างานวงรอบไม่เข้ามาตรฐานค่อย Make Up เอาก็แล้วกัน...มุบมิบ อุบอิบ เอาไว้ ไม่มีใครรู้ อิอิ ^_^

อีกหนึ่งวิธีการที่เด็กแนวนิยม คือการขยายหมุดฯควบคุม ด้วยกล้องหน้าซ้าย ไปเรื่อยๆ 'แบบเปิด' ไม่ต้องไปเสียเวลา 'เข้าปิด' กับหมุดฯใดๆ ให้เสียอารมณ์ 
>> ผู้เขียนได้มีโอกาสตรวจสอบ ตารางคำนวณวงรอบในลักษณะเช่นนี้ ของชนชาวเด็กแนว อยู่บ่อยๆ นั่นคือ มีแต่มุมอะซิมัท+ระยะทาง และตารางการปรับแก้ค่า Latitude กับ Departure ส่วนมุมภายใน 'ไม่มี'
* งานสำรวจรังวัดวงรอบ เป็นงานที่มีการตรวจสอบสภาวะทางมุมและระยะทาง ด้วยกฏของเรขาคณิต จากจุดเริ่มต้นออกงานไปจนถึงจุดเข้าบรรจบ ฉะนั้นมุมภายใน (หรือคำนวณปรับแก้แบบใช้มุมภายนอก) ในแต่ละแขนของมุม จึงมีความสำคัญมาก...จึงได้มีการตั้งเป็นกฏเกณฑ์มาตรฐานงานสำรวจฯวงรอบ ในการอ่านกล้องฯทั้งหน้าซ้าย-หน้าขวา เพื่อขจัดความคลาดเคลื่อนทางมุม

3. จะ Make Up งานคำนวณวงรอบทั้งที ก็ Make ให้มัน เนียนๆ หน่อย อย่า 'ปล่อยไก่: งานตรวจสอบข้อมูลสำรวจฯชิ้นนี้ คืองานตรวจการคำนวณวงรอบ ของงานสำรวจฯชลประทาน (คลองระบายน้ำ) ที่ประเทศเพื่อนบ้าน...ผู้เขียนตรวจฯงานไป ก็ขำ+ฮา ไปด้วย เหตุที่ว่า แค่มองเผินๆ ก็รู้แล้วว่า Make ข้อมูลส่งมา แต่ทำไมถึงได้ Make แบบ 'ปล่อยไก่' กันทั้งเล้าขนาดนั้น 'ไม่เนียน' เอาเสียเลย....เรื่องมีอยู่ว่า ผู้รับผิดชอบโครงการฯได้ตรวจพบค่า Ratio เข้าบรรจบของตารางคำนวณวงรอบ (Excel) ได้เกือบ 1:500,000  ประมาณว่า 'งานสำรวจวงรอบชั้นที่ (เกิน) 1' ขั้นเทพ!...,มันจะเป็นไปได้หรือ? ตารางคำนวณดังกล่าว จึงถูกส่งต่อมาให้ผู้เขียนตรวจสอบ
Cut ภาพ ตัวอย่างมาบางส่วน
>> จากตารางข้างต้น จะเห็นว่ามีมุมภายใน ระหว่างหมุดฯถูกสำรวจฯมาด้วย (งานวงรอบ มันต้องมีมุมภายในแบบนี้สิ ถึงจะถูก) แต่เริ่มแปลกใจว่าทำไม หมุดฯ B1, B2, B3 และ B4 ทำไมถึงมีค่ามุมภายใน 'เท่ากัน' เป๊ะๆ ทั้ง 4 หมุด ทำได้งัยเนี่ย?...พอมองไปที่คอลัมน์ ระยะทาง โอวว...แม่เจ้า! ระยะ 300-400 ม. ถือว่าไกลมากแล้ว ผู้เขียนมิหาญกล้าเด็ดขาด โดยเฉพาะตอนอากาศร้อนๆ ไอแดดระยิบระยับ...แถมท้ายด้วย หมุดฯ B5 และ B6 ทำไมระยะทางวงรอบถึง 'สั้นได้ใจ' จริงๆ เพียงแค่ 7.775 ม.?? ...แต่ที่ทำเอาตะลึง พรึงเพลิดกันทั้งแว่นแคว้น แดนสารขันธ์ ต้องระยะทาง 1727.391 ม. นี่สิ คุณพระช่วย...ทำได้งัยเนี่ย (1.7 กิโลเมตร) ? ผู้เขียน ยังไม่เคยอาจหาญ เอากล้องไปอ่านเป้าไกลๆถึงเพียงนั้น...มันต้อง 'ขั้นเทพ' เท่านั้น ถึงจะรังสรรค์ผลงาน จากสวรรค์เช่นนั้นได้...

ผู้เขียนไล่ตรวจสอบ หาค่าแปลกปลอมอื่นๆ ก็ไม่พบ เป็นแค่เพียงตารางวงรอบ ที่สร้างจากโปรแกรม Excel  (ใส่สูตรฯ) ธรรมดา แต่ที่ไม่ธรรมดาจริงๆ เมื่อมีค่า Misclosure วงรอบเท่ากับ 1:480,520 นี่มัน งานวงรอบชั้นที่ 1 Class A ขั้นในฝัน ของชนชาวรังวัด ที่ได้แต่แค่ฝันถึง...เมื่อสอบถามถึงชนิด+รุ่นของกล้องสำรวจฯที่ใช้ ปรากฏว่าเป็นกล้อง Topcon รุ่น 102N ธรรมดา หรือรุ่นสับขาหลอก แล้วปล่อยให้ งง ที่ชื่อ Gowin 102
  
>> บั้นปลาย ท้ายที่สุด ผู้เขียนทราบต่อมาว่าผู้บริหารฯเรียกผู้เกี่ยวข้องไปสอบถามในความผิดปรกติของข้อมูลงานวงรอบดังกล่าว และค้นพบว่า Make ข้อมูลกันจริงๆ...โดน 'เฉ่ง' ตั้งแต่หัวหน้ายันลูกน้อง โทษฐานรังสรรค์ผลงานวงรอบ 'ขั้นเทพ' (ขั้นสวรรค์สร้าง)

4. ในพื้นที่สำรวจฯ มีหมุดฯ GPS ให้แล้ว...แต่มีให้เพียงหมุดเดียว: นายช่างรังวัดบางท่าน ถึงกับออกอาการ 'ไปไม่เป็น' กันเลยทีเดียว เพราะไม่รู้ว่า จะเอาอะไรมาเป็นแบ๊คไซด์ (เครื่องมือสำรวจฯดาวเทียม GPS ก็ไม่มี) แล้วทำงัยดีล่ะ?

- บางท่าน นำเอาเป้าแบ๊คไซต์ (B.S) ไปตั้งที่หมุดฯ GPS ที่ทราบค่าพิกัด จากนั้นไปเดินหาตำแหน่ง ที่ควรจะใช้เป็นจุดตั้งกล้องฯ โดยเมื่อเล็งมาที่เป้าแบ๊คไซต์ (B.S) ตั้งอยู่ จะต้องเห็นอยู่ในตำแหน่งทิศเหนือพอดี (เทียบเอาจากเข็มทิศ)...วิธีการนี้ ผู้เขียนเอง ก็ไปไม่เป็นเหมือนกัน (*_* " )

- บางท่านใช้วิธีตั้งกล้องฯ บนหมุดฯ GPS นั่นล่ะ แล้วเอาเป้าแบ๊คไซต์ (B.S) ไปตั้งทางทิศเหนือของหมุดฯ (เล็งเอาจากเข็มทิศ) ก็สามารถทำการออกงานต่อได้ โดยใช้ค่าพิกัดจากหมุดฯ GPS ที่มีอยู่แล้วเป็นค่าออกพิกัด และคำนวณต่อๆกันไป...แต่ 'ลืมคิดไปว่า' ได้ใช้เข็มทิศเป็นตัวกำหนดทิศทางของโครงงานสำรวจฯ และค่าพิกัดของหมุดฯ GPS ที่ใช้ออกค่าพิกัดนั้นก็เปรียบประหนึ่ง 'ค่าสมมุติเท่านั้น' (แต่เข้าใกล้ค่าจริง)


การนำเข็มทิศมากำหนดทิศทางให้กับงานสำรวจแผนที่ฯนั้น จะทำให้โครงงานสำรวจฯ ถูกหมุนไปในทิศที่เรียกว่า 'ทิศเหนือแม่เหล็ก' (เรียกมุมอ้างอิงทิศเหนือแม่เหล็กว่า 'อะซิมัทแท้' แต่ไม่จริงแท้ 100% เพราะเป็นทิศเหนือที่ได้จากเข็มแม่เหล็ก ซึ่งยังมีความคลาดเคลื่อนอยู่มาก ในการชี้ทิศไปที่ตำแหน่งขั้วโลกเหนือที่แท้จริง) 

>> เมื่องานสำรวจฯดังกล่าว (เป็นไฟล์ CAD) ถูกส่งมาถึง...ผู้เขียนได้ตรวจพบว่า จุดสำรวจฯทั้งหมดถูกบิด/หมุน ไปตามทิศทางของเข็มทิศ ชี้ไปทางทิศเหนือ (ไม่ได้ถูกหมุนไปตามทิศเหนือกริด ในระบบ UTM) แต่ในรายงานการสำรวจ กลับอ้างถึงการใช้ระบบ WGS84-UTM โซน 47N เป็นระบบที่ใช้ในการสำรวจทั่วทั้งโครงงานฯ ซึ่ง 'ไม่ถูกต้อง' ในความเป็นจริง
* การกำหนดทิศทาง ของโครงงานสำรวจฯให้อ้างอิงเข้ากับทิศเหนือ "จริงๆ" (ไม่ใช่ ทิศเหนือลับ ลวง พราง ที่ได้จากเข็มทิศ 'ป๋องแป๋ง') นั้น...เท่าที่ ผู้เขียนทราบ ค่าย Sokkia (Topcon) มีกล้องโททอล สเตชั่น ที่สามารถค้นหาตำแหน่งทิศเหนือ "จริง" โดยมีค่าความคลาดเคลื่อนจากทิศเหนือจริง เพียง 15" เท่านั้น คือ Sokkia รุ่น 'GYRO X' และที่สำคัญ มันไม่ต้องการแบ๊คไซด์...O_o
ชนชาวช่างรังวัด ที่ชื่นชอบการสร้าง 'หมุดลอย' ในไซต์งานก่อสร้าง
ต่างพากันซี๊ดปาก อยากได้ซักตัว (เรือนล้านบาท)


Conclusion:
>> "งานสำรวจรังวัดวงรอบ" เป็นงานที่ 'ยังมิได้ล้มหายตายจากไป' อย่างที่ชนบางกลุ่มเข้าใจ และยังเป็นงานที่มี 'ความสำคัญอย่างยิ่ง' ในศาสตร์การสำรวจรังวัด...แต่ที่ไม่ปรากฏ ให้พบเห็นบ่อยนัก ดังเช่นในอดีต ด้วยเหตุว่าในปัจจุบันนี้ งานสำรวจรังวัดวงรอบได้ถูก 'ละเลย และไม่ให้ความสำคัญ หรือคิดว่าไม่ใช่สิ่งจำเป็น'...ซึ่งความคิดเช่นนั้น เป็นความคิดที่ Absolutely Wrong และได้นำมาซึ่ง 'ความผิดพลาด' ของงานสำรวจฯ ดังตัวอย่างข้างต้น

ถึงแม้ว่าอุปกรณ์สำรวจรังวัดดาวเทียม GPS จะเป็นเครื่องมือที่เข้ามามีบทบาทในงานสำรวจฯ เกือบทุกประเภทในปัจจุบัน...แต่...ก็เป็นเพียงงานสำรวจฯในพื้นที่เปิดโล่งเท่านั้น ส่วนในพื้นที่ปิด อาทิ พื้นที่ป่าทึบที่ต้องใช้การถากถาง  ตัดฟัน อุโมงค์ใต้ดิน หรืออุโมงค์รถไฟ ฯลฯ ซึ่งต้องอาศัยงานสำรวจฯวงรอบปิด เท่านั้น...เป็นอื่นไปมิได้

อุปกรณ์สำรวจรังวัดดาวเทียม GPS ณ พ.ศ. นี้ ยังเป็นอุปกรณ์ที่มีความคลาดเคลื่อนทางมุม และระยะทาง อยู่พอสมควร 'จึงไม่เหมาะสม' สำหรับงานสำรวจฯที่ต้องการความละเอียดสูง หรืองาน Detail ทางวิศวกรรม ต่างๆ


ผู้เขียนมีความคาดหวังว่า บทความในชุด งานสำรวจฯ 'วงรอบ 2D' ทั้ง 4 ตอนนี้ 
จะเป็นสิ่งที่ช่วยกระตุ้นเตือนให้ท่านผู้ศึกษา ได้เห็นถึงความสำคัญของงานสำรวจฯวงรอบ
เพื่อผลสัมฤทธิ์ และมีความถูกต้อง ของงานสำรวจรังวัดที่ดำเนินอยู่ ต่อไป
Author supported to Thai Topo and Land Surveyors United

Sunday 19 May 2013

งานสำรวจฯ 'วงรอบ 2D' ตอนที่ 3...ตอบโจทย์

บทความอ้างอิง:
ผู้เขียนขออนุญาติ 'คัดลอกข้อความ' ที่ท่านผู้อ่านได้โพสไว้ในตอนที่ 2 เพื่อนำมาตอบในบทความนี้ ไปในคราวเดียว ในประเด็นเรื่อง ความคลาดเคลื่อนที่เกิดขึ้น เมื่อนำเครื่องมือสำรวจฯดาวเทียม GPS มาสร้างหมุดฯควบคุม (คู่) ออกให้กับงานกล้องฯ และกล้องฯอ่านตรวจพบว่า ความสำพันธ์ 'เชิงมุม' ระหว่างค่าพิกัดที่ได้จาก GPS 'ไม่ตรง' กับค่าพิกัด หรือค่ามุม ที่กล้องฯอ่านได้

- ผมก็มีประสบการณ์เดียวกันครับ สงสัยมาตลอดว่าเวลาใช้กล้องโททอล อ่านแบ๊กซายไประหว่างหมุดจีพีเอส ทำไมมันถึงต่างกัน แต่ถ้าเป็นหมุดวงรอบ ที่เขาสำรวจให้ มุมกับระยะทาง เป๊ะๆ เลยท่าน
วิ เซอร์เวย์

- มารอคำตอบด้วยคนครับ ผมเคยมีปัญหากับพวกทีมจีพีเอสเรื่องนี้แหละ เขาก็บอกว่าทีมเขาทำถูกแล้ว ผมบอกว่าไม่ถูก เพราะเอากล้องโททอล เช็คแล้ว ปิดjobวงรอบไม่ได้ คลาดเคลื่อนเยอะ

ช่างใหญ่ ไทยแลนด์

- เหมือนกันครับพี่ มีปัญหาประจำเลย เวลาใช้จุดจากจีพีเอสสองจุดเอามาออกกล้องในไซต์ก่อสร้าง ไม่รู้ว่าจุดไหนถูกจุดไหนผิด B.S ไปมา เหมือนรูปที่พี่ลงไว้เลย สร้างกริดสมมุติออกวงรอบดีกว่า มุมกับระยะทางทีละด้านจะเนี๊ยบสุด รอคำตอบด้วยคนครับ


>> เครื่องมือสำรวจรังวัดดาวเทียมด้วย GPS (ของ NAVSTAR อเมริกา) Galileo ของยุโรป, Glonass ของรัสเซีย, Compass/Beidou ของจีน หรือที่เรียกแบบเหมารวม ว่า ระบบ GNSS...ซึ่งจะชื่ออะไรก็แล้วแต่ สิ่งสำคัญมันอยู่ที่ 'เครื่องมือฯเหล่านี้ ยังมีความคลาดเคลื่อนแฝง' ทั้งจากตัวเครื่องมือ (ppm) และความคลาดเคลื่อนจากปัจจัยต่างๆ (ที่ควบคุมไม่ได้) ขณะทำการสำรวจฯรังวัดดาวเทียม อาทิ PDOP, GDOP, VDOP, HDOP ฯลฯ
ปัจจัยเหล่านี้ คือความคลาดเคลื่อน ที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อ 'ตำแหน่ง' ที่ตัวเครื่องรับสัญญาณ GPS ตั้งอยู่ (Static)...หมายความว่า ค่าพิกัดที่ได้จาก GPS ภายหลังการ Post Processing  เป็นเพียงค่า 'ที่ใกล้เคียง' กับค่าพิกัดแท้จริง (ค่าในอุดมคติ) ซึ่งตรงกับตำแหน่ง 'หัวตะปู/หัวหมุดฯ' ที่ทำการสำรวจฯนั้นๆ

และ 'ไม่มี' ค่าพิกัดที่ได้ GPS 2 หมุด (คู่ออกงาน) ใดๆ ที่เมื่อนำมาตรวจสอบสภาวะเชิงมุมด้วยกล้องฯ สำรวจแล้ว จะไม่พบความคลาดเคลื่อน...ส่วนความคลาดเคลื่อนที่ตรวจพบ จะมาก-น้อย ขึ้นอยู่กับคุณภาพของงานสำรวจฯรังวัดดาวเทียม นั้นๆ (คน, เครื่องมือ, สภาพแวดล้อม และวิธีการ) ฉะนั้น 'ชนชาวเรา' (ผู้ใช้) จึงควรที่จะพิจารณาเลือกวิธีการใช้เครื่องมือสำรวจรังวัดดาวเทียมด้วย GPS " ให้เหมาะสมกับลักษณะงานสำรวจฯ"

* เมื่อต้องทำการสำรวจรังวัดวงรอบ 'อย่างละเอียด' โดยจำเป็นที่จะต้องอ้างอิงค่าพิกัด เข้ากับระบบพิกัดภูมิศาตร์ (ใช้เครื่องรับสัญญาณ GPS)
1. ถ้าตรวจพบว่า มีค่าความคลาดเคลื่อนเชิงมุมของหมุดฯ GPS คู่ออก 'มาก'...ผู้เขียน (ส่วนตัว) แนะนำให้กำหนดหมุดฯ B.S. เป็นเพียงหมุดฯควบคุมมุมอะซิมัทเท่านั้น (ควบคุมทิศทางของโครงงานฯ) และทำการสำรวจรังวัดวงรอบ (ตามกฏ) และกลับมาเข้าบรรจบ 'ที่หมุดแรกออก' เท่านั้น และทำการคำนวณปรับแก้วงรอบด้วย กฏของมุมภายใน (หรือภายนอก) ตามปรกติ

'สาเหตุ' ที่ต้องเข้าบรรจบกับหมุดฯแรกออกนั้น ก็เพื่อต้องการ 'หลีกเลี่ยง' สภาวะทางมุมที่คลาดเคลื่อนระหว่างหมุดฯ GPS 2 หมุด ที่ตรวจพบความคลาดเคลื่อน (มาก) มาก่อนหน้านี้ ซึ่งเมื่อทำการปรับแก้งานวงรอบ ค่าความคลาดเคลื่อน (มาก) ดังกล่าวจะถูก 'กระจายจ่ายแจก' หรือแชร์ ไปให้หมุดฯรังวัดอื่นๆในวงรอบด้วย (งานสำรวจฯวงรอบอาจจะตกเกณฑ์)

2. ถ้าตรวจพบว่า มีค่าความคลาดเคลื่อนเชิงมุมของหมุดฯ GPS คู่ออก 'น้อย'...ผู้เขียนแนะนำ ให้ทำการสำรวจฯวงรอบ และทำการปรับแก้ตามวิธีการปรกติ นั่นคือการออกงานวงรอบและเข้าบรรจบ ทั้งหมุดฯ B.S และหมุดฯแรกออก

3. ถ้าพื้นที่สำรวจฯมีขนาดใหญ่ และมีความยากลำบากในการทำการสำรวจฯวงรอบ ซึ่งการขยายหมุดฯควบคุมออกไปต้องกระทำโดยการใช้เครื่องมือสำรวจฯดาวเทียม GPS เท่านั้น (การใช้กล้องฯส่องอ่าน ในระยะทางระดับกิโลเมตร+ขึ้นไป เช่นการสามเหลี่ยม ดังในอดีต ไม่นิยมใช้ในยุคสมัยนี้)...ผู้เขียน (ส่วนตัว) แนะนำให้ทำ 'เลือกคู่หมุดฯ GPS ที่มีความคลาดเคลื่อนน้อยที่สุด มาใช้เป็นแนวเส้น Base line เพื่อทำการคำนวณปรับแก้ "โครงข่ายสามเหลี่ยมแบบยึดโยงกันไป" โดยใช้โปรแกรมประยุกต์

=> จากวิธีการข้างต้น สิ่งที่ผู้เขียนไม่สามารถแนะนำท่านได้ นั่นคือการแยกแยะคำว่า คลาดเคลื่อน 'มาก' กับ คลาดเคลื่อน 'น้อย' ว่าจะใช้อะไรเป็นเกณฑ์ตรวจสอบ หรือคลาดเคลื่อนเท่าไหร่ จึงเรียกว่ามาก และคลาดเคลื่อนเท่าไหร่ ถึงจะเรียกว่าน้อย...งานสำรวจฯวงรอบ เป็นงานสำรวจฯที่อาศัยความสำพันธ์ระหว่างมุม และระยะทาง รวมถึงจำนวนหมุดฯวงรอบ ซึ่งในงานสำรวจฯวงรอบที่มีพื้นที่ขนาดเล็ก ระยะทางรวมสั้น ค่าความคลาดเคลื่อนบรรจบที่เกินไปเพียง 2-3 ซม./หมุด อาจจะถูกเรียกว่า 'คลาดเคลื่อนมาก' ไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน

และสำหรับงานสำรวจฯวงรอบ ที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่ ระยะทางรวมมีระยะยาว ค่าความคลาดเคลื่อนบรรจบที่เกินไปเพียง 2-3 ซม./หมุด อาจจะถูกเรียกว่า 'คลาดเคลื่อนน้อย' เข้าเกณฑ์มาตรฐาน...ฉะนั้นท่านผู้ศึกษา ต้องเรียนรู้จากประสบการณ์ด้วยตัวของท่านเอง โดยการทำการศึกษา และทดลองในสมมุติฐานต่างๆ

Author supported to Thai Topo and Land Surveyors United

Sunday 12 May 2013

งานสำรวจฯ 'วงรอบ 2D' ตอนที่ 2...สิ่งเล็กๆ? ที่เรียกว่า ''Error''

บทความอ้างอิง: 
>> ในยุคสมัยที่ อุปกรณ์ที่มีความสามารถในการระบุตำแหน่งบนพื้นโลกได้ หรือที่เรียกว่า อุปกรณ์สำรวจรังวัดดาวเทียมด้วย GPS "ยังเดินทางมาไม่ถึง" สารขันธ์ประเทศของเรา ซึ่งในยุคดังกล่าว 'การขยายหมุดควบคุมฯ' เพิ่มเติมออกไป จะต้องทำการ "สำรวจฯวงรอบเท่านั้น" (ไม่มีทางเลือกเป็นอย่างอื่น)...ถ้าพื้นที่สำรวจฯวงรอบ เป็นพื้นที่ราบเรียบ เปิดโล่ง ทุ่งนา ก็โชคดีไป แต่ถ้าพื้นที่เป็นป่าทึบ ภูเขาสูงชัน...ทางเลือกเดียวที่ 'ต้องทำ' คือการถากถาง ตัดฟัน เคลียร์ทางสำหรับไลน์กล้องฯ เพื่อให้กล้องฯสามารถทำการส่องมองเห็นเป้าหมายได้อย่างชัดเจน

และถ้าตัวกล้องฯมี EDM ในการวัดระยะทางติดอยู่ด้วยก็ถือว่า 'ช่วยได้มากโข' แต่ถ้าตัวกล้องฯที่ไม่มีระบบ EDM ดังกล่าว...งาน+ เข้าไปอีก ในการลากเทปวัดระยะทาง ซึ่งถ้าเป็นระยะทางราบ ก็ยังพอถูไถไปได้...แต่ถ้าเป็นพื้นที่สูงชัน 'งานนี้มีปาดเหงื่อ' แถมตามมาด้วยความคลาดเคลื่อนจากการ 'ดุึง' เทปวัดระยะ ทั้งตึง ทั้งหย่อน ทั้งยาน ตกท้องช้าง ปัญหาสารพัด ฯลฯ
สำหรับงานกำหนดพิกัดตำแหน่ง (ทางราบ) ให้กับหมุดควบคุมฯแรกออกนั้น มีทางเลือกเพียงหนทางเดียวสำหรับพื้นที่ทุรกันดาร (ที่ไม่มีหมุดหลักฐานฯ อยู่ในบริเวณใกล้เคียง) นั่นคือต้องทำการ 'กำหนดค่าพิกัด/ระดับขึ้นมาเอง' (บ้างเรียกว่า 'หมุดฯลอย') หรือเรียกว่าการใช้ระบบพิกัดแบบ Local Grid สมมุติขึ้นมาเอง (จะกำหนดเป็น E 1000 N 5000 ก็สุดแท้แต่ ขอเพียงให้มีระยะทางครอบคลุมพื้นที่สำรวจฯ โดยไม่ให้ค่าพิกัดฉากมีค่าติดลบ (-) เป็นใช้ได้)

สำหรับหมุดฯอ้างอิง (หมุดฯลอย) 'ทิศทาง' (เด็กแนวยุคนี้ เรียกกันว่า หมุดฯ Back Sight O_O) จะทำการกำหนด/สร้างขึ้นมาเอง โดยมีระยะทางที่เหมาะสม เมื่อทำการเล็งแนวไปที่หมุดฯแรกออก และไม่จำเป็นที่จะต้องทำการกำหนดทิศทางอ้างอิง ให้อยู่ในแนวทิศเหนือ ของหมุดฯแรกออกอย่างที่หลายท่านเข้าใจ โดยสามารถที่จะกำหนดหมุดฯอ้างอิงดังกล่าว ให้อยู่ในทิศทางใดๆก็ได้
* ช่างรังวัดฯบางท่าน นิยมกำหนดทิศทาง (เล็งแนวด้วยเข็มทิศ ) ของหมุดฯอ้างอิง ให้อยู่ในแนวทิศเหนือของหมุดฯแรกออก เพื่อที่จะให้โครงงานสำรวจฯ ถูกอ้างอิงอยู่กับทิศเหนือ...'แต่ลืมคิดไปว่า' งานสำรวจฯวงรอบที่กำลังดำเนินการอยู่นั้น ถูกอ้างอิงให้อยู่ในระบบพิกัดฉาก 'สมมุติ' (ในระนาบ) ซึ่งนั่นคือ 'ทิศเหนือกริด' (เรียกมุมอ้างอิงทิศเหนือกริดว่า กริดอะซิมัท) และการนำเข็มทิศมาใช้ในการกำหนดทิศทางให้กับงานสำรวจนั้น จะทำให้โครงงานสำรวจฯ ถูกหมุน/บิดไปในทิศที่เรียกว่า 'ทิศเหนือแม่เหล็ก' (เรียกมุมอ้างอิงทิศเหนือแม่เหล็กว่า 'อะซิมัทแท้' แต่ไม่จริงแท้ 100% เพราะเป็นทิศเหนือที่ได้จากเข็มแม่เหล็ก ซึ่งยังมีความคลาดเคลื่อนอยู่มาก ในการชี้ทิศไปที่ตำแหน่งขั้วโลกเหนือที่แท้จริง) ...และนั่นคือ 'มุมเบี่ยงเบน' (Declination) ที่เกิดขึ้น ซึ่งต้องทำการปรับแก้กันต่อไปอีก โดยถ้าโครงงานสำรวจฯนั้น ต้องการปรับข้อมูลสำรวจฯ มาอยู่ในระบบ UTM อ้างอิงกับระบบพิกัดภูมิศาสตร์ (ทิศเหนือกริด UTM)
* ในยุคอดีต (ก่อนยุคสมัย GPS) ถ้าต้องการให้ค่าพิกัดของโครงงานฯอ้างอิงเข้าสู่ระบบพิกัดของโลก นิยมใช้วิธีกำหนดหมุดฯควบคุม (หมุดหลักฐานของโครงงานฯ) โดยการรังวัดค่าละติจูด และค่าลองจิจูด โดยอาศัยการวัดค่ามุมอะซิมัท จากดวงดาวเวลากลางคืนเพื่อกำหนดค่าละติจูด และการวัดมุมอะซิมัทของดวงอาทิตย์ เพื่อกำหนดค่าลองจิจูด
* สำหรับงานทางระดับ ในกรณีที่พื้นที่สำรวจอยู่ห่างไกล (มาก) จากหมุดฯ BM ที่ทราบค่า ค่าเริ่มต้นทางระดับจะถูกกำหนดโดยใช้ค่าสมมุติใดๆ เช่นเดียวกับการกำหนดค่าพิกัดเริ่มต้น 
* ในยุคอดีต ผู้เขียนเคยได้ยินว่านักสำรวจชาวต่างชาตินำเครื่องมือที่เรียกว่า Altimeter มากำหนดค่าระดับเริ่มต้นให้กับโครงงานฯ (ค่าระดับที่ได้ อยู่ในเกณฑ์ 'คร่าวๆ')

วิธีการสำรวจฯวงรอบข้างต้น ถือเป็นหลักวิธีปฏิบัติทั่วๆไปในหน้างานภาคสนามฯ ในยุคสมัยที่ยัง 'ไม่มี' อุปกรณ์กำหนดตำแหน่งบนพื้นโลก หรืออุปกรณ์สำรวจรังวัดดาวเทียมด้วย GPS...และผลงานสำรวจฯวงรอบที่ได้จากวิธีการดังกล่าว (ใช้กล้องฯ) เมื่อปฎิบัติตามหลักเกณฑ์ และวิธีการสำรวจฯอย่างเคร่งครัดแล้ว...สามารถจัดลำดับอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานงานสำรวจฯวงรอบ ได้

เมื่อ...GPS ("ระบบกำหนดตำแหน่งบนโลก"...ศัพย์ราชบัณฑิตฯ) 
เดินทาง 'มาถึง' สารขันธ์ประเทศ 
>> ผู้เขียนไม่ทราบว่า หน่วยงานใดเป็นผู้ริเริ่มนำระบบการสำรวจรังวัดดาวเทียม GPS เข้ามาใช้ในสารขันธ์ประเทศเป็นเจ้าแรก แต่ขออนุญาติทายว่าน่าจะเป็น กรมแผนที่ทหารฯ เพราะว่าในปี พ.ศ. 2542 ผู้เขียนเห็นมีใช้กันแล้ว...และช่วงปี พ.ศ. 2545 เป็นช่วงปีที่ผู้เขียนพบเห็นว่าเครื่องมือสำรวจรังวัดดาวเทียม GPS ถูกนำมาใช้กันอย่างกว้างขวางใน บ.สำรวจฯใหญ่ๆ ทั่วไป ซึ่งราคาค่างวดในการจ้างมาทำหมุดหลักฐานฯ GPS ต่อ 1 หมุด คิดเป็นเงิน ก็อักโข (เกินหมื่น) ในยุคสมัยนั้น 
บางท่าน กล่าวว่าการมาถึงของเครื่องมือสำรวจรังวัดดาวเทียม GPS ทำให้งานสำรวจฯวงรอบ ล้มหายตายจากไป (ไม่จำเป็นต้องทำการสำรวจฯวงรอบให้เสียเวลา เสียอารมณ์) เพราะว่าการใช้ GPS ทำการวางหมุดฯวงรอบแทน จะใช้เวลาการสำรวจฯที่สั้นกว่า และมีความถูกต้อง แม่นยำมากกว่า...ผู้เขียนได้ยินคำพูดเหล่านี้บ่อยๆ ก็เออ ออ ห่อหมกไปตามเรื่อง...แต่ จากประสบการณ์ส่วนตัว...มันหาได้เป็นเช่นนั้นไม่ 

...ยุคสมัยนี้ ไม่จำเป็นต้องไปเสียเวลาตัดถางไลน์กล้องฯ เพื่อทำการสำรวจฯออกวงรอบ และเข้าบรรจบ และเสียเวลาทำการคำนวณวงรอบให้วุ่นวาย ขายปลาช่อน แค่เอา GPS ไปตั้ง สร้างจุด/หมุดฯ ควบคุม ใช้เวลาไม่นานนัก ก็ได้มาแล้ว ทั้งค่าพิกัด และค่าระดับ (หมุดฯคู่ ใช้ออกงานกล้องฯ)
ภาพแสดง การสร้างหมุดฯควบคุมด้วย GPS เพื่อใช้ออกงานกล้องฯ เพื่อเก็บตำแหน่ง 
(โดยไม่ต้องอาศัยงานสำรวจฯวงรอบ แบบปรกติ)

ผู้เขียน (ส่วนตัว) ขออนุญาติกล่าวว่า 'วิธีการข้างต้นนั้นเหมาะสม' กับงานสำรวจฯที่ต้องการความ 'ละเอียดต่ำ' เท่านั้น อาทิ งานสำรวจฯเส้นชั้นความสูง หรืองานสำรวจสภาพภูมิประเทศ/Topo (Interval 1 ม. ขึ้นไป) งานสำรวจฯลำน้ำ งานสำรวจสอบกองปริมาตรฯ เป็นต้น ซึ่งความละเอียดทางตำแหน่งในระดับ 5-10 ซม. ถือว่ายอมรับได้ (*ถ้ามุมอะซิมัท 'ไม่เหวี่ยง' มากนัก และอยู่ในเกณฑ์ยอมรับได้)
* งานสำรวจสภาพภูมิประเทศ (Topographic Survey)  ในปัจจุบัน...อุปกรณ์สำรวจรังวัดดาวเทียม GPS ได้กลายเป็นเครื่องมือที่ถูกใช้เป็นอันดับแรก เพื่อสร้างหมุดฯควบคุม (เป็นคู่) และดำเนินการสำรวจฯต่อไปโดยการใช้กล้องฯสำรวจ ในพื้นที่เปิด หรือพื้นที่ปิด อาทิ พื้นที่ป่าเขา (หรือใช้อุปกรณ์สำรวจรังวัดดาวเทียม GPS ระบบ RTK ในพื้นที่เปิดโล่ง)

ผู้เขียนได้มีโอกาสศึกษา และทำการทดสอบ ตรวจหาความคลาดเคลื่อนของ 'หมุดฯวงรอบที่ทำการสำรวจฯด้วย GPS' อยู่หลายครั้ง ทั้งวงรอบขนาดใหญ่ และวงรอบขนาดเล็ก (ระยะทางต่อด้าน ไม่เกิน 100 ม.) โดยการเลือกหมุดฯ GPS คู่ออกงานกล้องฯ มาหนึ่งคู่ เพื่อกำหนดเป็นแนวเส้น Base line+อะซิมัท จากนั้นทำการสำรวจฯวงรอบด้วยกล้องฯธีโอโดไลท์ หรือกล้องโททอล สเตชั่น (อ่านหน้าซ้าย และหน้าขวา เป็นมุมชุด) โดยการรังวัดร้อยหมุดฯ GPS เข้าเป็นวงใหญ่ และวงเล็กซ้อนกัน เพื่อตรวจสอบ 'ผลรวมค่ามุมภายใน' ดังตัวอย่าง ภาพด้านล่าง
ภาพ แสดงการตรวจสอบ มุมวงรอบ ของหมุดฯ GPS

ผลการสำรวจที่ได้หลังจากการทดสอบเหล่านั้น มีทั้งวงรอบที่เข้าเกณฑ์ (ชั้น 3) และวงรอบที่ 'ตกเกณฑ์' มาตรฐาน...สิ่งที่ผู้เขียนได้ติดตามตรวจสอบอีกครั้ง นั่นคือการตรวจสอบ 'คุณภาพ' ของงานสำรวจฯ GPS ที่หมุดฯ หรือด้านที่มีปัญหา ซึ่งผู้เขียนพบว่า บางหมุดฯถูกตั้งอยู่ในมุมอับสัญญาณดาวเทียม และบางหมุดฯมีเวลาที่ทำการรับสัญญาณดาวเทียม สั้นเกินไป
* แต่บางวงรอบ ที่อยู่ในพื้นที่เปิดโล่ง สัญญาณดี ก็มีตรวจพบว่า 'ตกเกณฑ์' มาตรฐานงานวงรอบ เช่นกัน ??

ท่านทั้งหลาย ที่เกี่ยวดองหนองยุ่งอยู่กับงานสำรวจฯดาวเทียม GPS (การตั้งอ่านแบบ 'สถิต' หรือ Static) ต่างทราบเป็นอย่างดีว่า ภายหลังการ post processing ข้อมูลดาวเทียม และทำการ 'ปรับแก้ Loop วงรอบ GPS' แล้ว...ค่าพิกัดที่ได้จากการปรับแก้ จะแสดงค่า 'Error' ทางตำแหน่ง และระดับ ในระดับมิลลิเมตร/เซนติเมตร ซึ่งหมายความว่า ที่หมุดฯ หรือตำแหน่งที่ทำการสำรวจรังวัดมีความคลาดเคลื่อน ตามค่าดังกล่าว...ใช่หรือไม่??
<คลิกที่ภาพ เพื่อขยาย>
และ...ผู้เขียนเชื่อว่า ท่านทั้งหลายที่เคยเอากล้องฯ โททอล สเตชั่น หรือกล้องฯมุม ไปตั้งอ่านตรวจสอบระยะทาง และภาคทิศอะซิมัทระหว่างหมุดฯ GPS ทั้งสอง ต่างพบว่า...ค่า Error ที่เกิดขึ้นจากการตรวจสอบด้วยกล้องฯ ซึ่งมีความละเอียดกว่า มิได้เป็นไปตามค่าความคลาดเคลื่อนที่แสดง หลังจากการ process ข้อมูล GPS??
* จากภาพข้างต้น แสดงค่า Error ของแต่ละหมุดฯ ในระดับ 'มิลลิเมตร' ภายหลังการ process ข้อมูล GPS...แต่เมื่อนำกล้องฯ ไปตั้งอ่านตรวจสอบค่ามุม และระยะทางระหว่างคู่หมุดฯดังกล่าว พบว่ามีคลาดเคลื่อน 3-5 ซม. ในแต่ละแกน โดยมีระยะทางการรังวัดระหว่างหมุดฯทั้ง 2 ห่างกันเพียงร้อยเมตร เท่านั้น (ความโค้งของผิวโลกไม่มีผลกระทบ)
ภาพ แสดงผลกระทบที่เกิดจากหมุดฯ GPS 2 หมุดฯ มีความคลาดเคลื่อนทางตำแหน่ง

จากประสบการณ์นับจากอดีต ที่ถูกสอนสั่ง และได้ลงมือทำงานสำรวจฯวงรอบ และงานคำนวณวงรอบ ตั้งแต่ 'ยุคสมัยลากเทป' ทำให้ผู้เขียน เชื่อมั่นในกระบวนการตรวจสอบความถูกต้องของงานสำรวจฯวงรอบด้วยกล้องฯ+EDM โดยอาศัยความสัมพันธ์ระหว่าง 'มุมและระยะทาง' เป็นไปตามหลักการทางเรขาคณิต สามารถตรวจสอบได้ 'มากกว่า' ความเชื่อมั่น ในหมุดฯวงรอบที่ได้จากการสำรวจฯ GPS (ณ พ.ศ. นี้) ซึ่งยังคงตรวจพบความคลาดเคลื่อนทางตำแหน่ง (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม ในตอนที่ 3) 
* แต่...เมื่อพื้นที่สำรวจมีขนาดที่กว้างใหญ่ ซึ่งความโค้งของผิวโลกมีผลกระทบต่อระยะทางในแนวราบ การใช้กล้องฯ+EDM ทำการวัดระยะทาง จะเกิดความคลาดเคลื่อนสูง...ฉะนั้น การสำรวจฯโดยการใช้ GPS จะให้ผลสำรวจที่ถูกต้อง แม่นยำมากกว่า ในกรณีที่พื้นที่สำรวจมีขนาดใหญ่

>> ปัญหาที่ประสบพบเจอข้างต้น ในการใช้อุปกรณ์สำรวจรังวัดดาวเทียมด้วย GPS  ร่วมกับการใช้งานกล้องสำรวจฯ ที่ติดตั้งอุปกรณ์วัดระยะทาง (EDM)...ได้ 'ตกผลึก' เป็นองค์ความรู้ (ส่วนตัว) และเป็นสิ่งที่คอยย้ำเตือนผู้เขียนว่า งานสำรวจฯชนิดใด เหมาะสมกับวิธีการสำรวจฯอย่างไร (ติดตามอ่านได้ใน ตอนที่ 3)

>> ติดตามเรื่องราวงานสำรวจฯวงรอบ ได้ต่อไปในตอนที่ 3...และผู้เขียนขอทิ้งท้าย ภาพ ไว้ 1 ภาพ...ที่แทนความหมายของคำว่า 'ความคลาดเคลื่อน' ในการใช้กล้องมุม หรือกล้องโททอล สเตชั่น ร่วมกับหมุดฯ ที่ได้จากการสำรวจ GPS
* จุดตำแหน่งสีขาวที่กระจายกันอยู่ คือค่าความคลาดเคลื่อนทางตำแหน่งที่ได้จากการสำรวจฯ GPS ซึ่งสามารถที่จะเป็นตำแหน่ง ณ จุดใดๆ ดังภาพข้างต้น...และถ้า 'จุดตำแหน่ง' มีความห่างจากจุดตำแหน่งพิกัดในอุดมคติ (ถูกต้องที่สุด) มากเท่าใด...ความคลาดเคลื่อนเชิงมุม และระยะทาง ของหมุดฯคู่ ก็จะเพิ่มมากขึ้นเป็นเงาตามตัว ...

Author supported to Thai Topo and Land Surveyors United

Wednesday 8 May 2013

งานสำรวจฯ 'วงรอบ 2D' ตอนที่ 1...อดีต สอนปัจจุบัน

บทความอ้างอิง: 
>> นอกจากงานหลักในหน้าที่ คือการเป็นนักสำรวจฯแล้ว ผู้เขียนยังมีหน้าที่ (งานออฟฟิศ) ในการเป็นผู้ตรวจสอบ วิเคราะห์ (Analysis) งานสำรวจฯ ทั้งที่เป็นแบบร่าง หรือข้อมูลสำรวจฯต่างๆ ที่ถูกส่งมาจากผู้ว่าจ้าง, Main/Sub Contractor หรือจาก บ.คอนซัลท์ ทั้งในประเทศ และจากประเทศเพื่อนบ้าน (ลาว,กัมพูชา, พม่า ฯลฯ)  อาทิ งานสำรวจเขื่อน, งานสำรวจชลประทาน, งานสำรวจเหมืองแร่, งานสำรวจโทโปฯ, งานสำรวจแนวสายไฟฟ้าแรงสูง, งานสำรวจถนน, ฯลฯ

กว่า 10 ปี จนถึงปัจจุบันกับงานตรวจสอบ และวิเคราะห์ ข้อมูลสำรวจฯดังกล่าว ผู้เขียนได้ผ่านพบเห็นข้อมูลสำรวจฯในหลากหลายเวอร์ชั่น ทั้งงานสำรวจฯที่ถูกต้อง และงานสำรวจที่ผิดพลาด-คลาดเคลื่อนขนาดใหญ่ หรือแม้แต่การ 'Make Up' ข้อมูลสำรวจฯ (แบบ 'ไม่เนียน' เอาเสียเลย) ก็ยังถูกส่งมาให้ตรวจสอบ (*_* '' )

จากประสบการณ์ที่ยาวนานพอสมควร ในงานตรวจสอบวิเคราะห์ข้อมูลงานสำรวจข้างต้นฯ ผู้เขียนพบว่า 'งานสำรวจรังวัดวงรอบ' เป็นงานที่ถูกตรวจพบว่า 'คลาดเคลื่อน' และมีปัญหา มากที่สุด...และนั่น คือที่มาของบทความในชุด 'มหากาพย์ งานสำรวจฯวงรอบ' ชุดนี้

งานสำรวจ 'วงรอบ 2D' ตอนที่ 1...อดีต สอนปัจจุบัน
หมายเหตุ: บทความงานสำรวจฯวงรอบทางด้านล่าง ถูกเขียนขึ้นตามความรู้ ประสบการณ์ และความเข้าใจส่วนตัว ซึ่งได้สรุปเนื้อหาให้มีความกระทัดรัด โดยบทความนี้ 'มุ่งเน้น' อธิบายแนวคิดพื้นฐาน หลักและวิธีการในการดำเนินการสำรวจวงรอบจากยุคอดีต จนถึงปัจจุบัน...ซึ่งผู้เขียนต้องขออนุญาติ 'ข้ามผ่าน' หรือ 'ละไว้ในฐานที่เข้าใจ' การลงลึกในรายละเอียดการคำนวณ และการใช้งานสูตรฯต่างๆ อันเป็นความรู้ขั้นพื้นฐานที่ถูกบรรจุเป็นหลักสูตรเอาไว้แล้วในวิชาการสำรวจรังวัด ที่นักเรียน-นักศึกษา สายงานสำรวจฯ ต้องศึกษาเรียนรู้ และเข้าใจในหลักการฯเป็นอย่างดี ก่อนที่จะออกไปประกอบอาชีพเป็นช่างสำรวจฯ หรือในสาขาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ต่อไป

ย้อนอดีต
 
ภายหลังการ'หมดยุค'ของกล้องฯ Transit และถูกแทนที่ด้วยกล้องสำรวจธีโอโดไลท์ ในยุคต่อมา โดยเฉพาะในกล้องสำรวจตระกูล WILD (Heerbrugg) T-Series ซึ่งมีรุ่น T0 (var) , T1, T1-A, T2, T3, T16 เป็นตัวชูโรง และเป็นที่นิยมกันมากในสารขัณฑ์ชาวเรา ในยุคสมัย 30-40 ปีที่แล้ว รวมถึงการถูกใช้เป็นเครื่องมือในการสอนวิชาสำรวจฯในวิทยาลัย และมหาวิทยาลัย...ซึ่งผู้เขียนเอง ก็ไม่พลาดที่จะได้เรียนรู้ และใช้งานตัวกล้องฯในกลุ่มนี้ ประเดิมด้วยรุ่นในพิพิธภัณฑ์ อย่าง Wild T16 เป็นปฐมบท
Theodolite Wild T16 (ทางซ้าย) และ Wild T2 
   
(ตัว Wild T2  สุดยอดความละเอียดทางมุม 0.5"...กล้องโททอลฯ ยังชิดซ้าย)

กล้องสำรวจธีโอโดไลท์ในซีรี่ดังกล่าว ยังถูกแบ่งไปตามประเภทการอ่านค่ามุมออกเป็น 2 ชนิด คือ
1. กล้องฯประเภทอ่านค่ามุมทบ (Repeating Theodolite): คือ การอ่านค่าจานองศาราบ โดยตั้งค่าจานองศาเท่ากับ 0° 0' 00'' เมื่อส่องด้วยกล้องหน้าซ้ายไปที่เป้าหลัง จากนั้นทำการส่องไปที่เป้าหน้า อ่านค่ามุมที่จานองศา (เรียกว่าทบที่ 1)

ทำการล๊อคจานองศา แล้วหมุนกล้องฯ (ตามเข็มนาฬิกา) ไปยังเป้าหลัง แล้วปลดล๊อคจานองศาราบ เมื่อส่องไปยังเป้าหน้า อ่านค่ามุมที่จานองศาราบ (เรียกว่าทบที่ 2) ซึ่งจะต้องเป็น 2 เท่า ของค่ามุมที่อ่านได้จากทบที่ 1 ทำการอ่านมุมทบซ้ำอย่างน้อย 4 ทบ...ดังตัวอย่าง;
(ทบที่ 1) อ่านค่ามุมได้ 23° 19'
(ทบที่ 2) อ่านค่ามุมได้ 46° 40'
(ทบที่ 3) อ่านค่ามุมได้ 69° 59'
(ทบที่ 4) อ่านค่ามุมได้ 93° 23'
(ทบที่ 5) อ่านค่ามุมได้ 116° 44'
(ทบที่ 6) อ่านค่ามุมได้ 140° 02'
ค่าเฉลี่ยของมุม ทั้ง 6 ทบ คือ 23° 20'

1. กล้องฯประเภทอ่านค่ามุมจากทั้ง 2 หน้า (Direction Theodolite): คือ การอ่านค่ามุมจานองศาราบ จากกล้องทั้งหน้าซ้าย และหน้าขวา โดยการเริ่มต้นที่กล้องหน้าซ้าย ส่องไปยังเป้าหลัง ล๊อคจานองศาให้อยู่ในตำแหน่งค่ามุมองศาหลัก อาทิ 0° 0' 00" จากนั้นส่องไปยังเป้าหน้า อ่านค่ามุม

เปลี่ยนเป็นกล้องหน้าขวา ส่องไปที่เป้าหน้า และหมุนกล้องส่องไปยังเป้าหลัง อ่านค่ามุม เสร็จจากขั้นตอนนี้เรียกว่า "การอ่านค่ามุม 1 ชุด" (ให้ทำการวัดค่ามุมซ้ำอีก อย่างน้อย 2 ชุด (ชั้นที่ 3)  โดยการเปลี่ยน/ล๊อคจานองศาราบ ในการอ่านด้วยกล้องหน้าซ้ายขั้นตอนแรก เป็น 45° 90° 135° ตามลำดับ)...ดังตัวอย่าง; การวัดค่ามุมชุดที่ 1 เริ่มจากตั้งค่าจานองศาเป็น 0° 0' 00"
- กล้องหน้าซ้าย อ่านไปยังเป้าหลัง (A) ตั้งค่าจานองศาราบเป็น 0°
- หมุนกล้อง (ตามเข็มนาฬิกา) ส่องไปยังเป้าหน้า (B) อ่านค่ามุมได้ 139° 58' 11" 
(ค่ามุมที่อ่านได้จากกล้องหน้าซ้ายคือ 139° 58' 11")
- เปลี่ยนกล้องเป็นหน้าขวา ส่องไปยังเป้าหน้า (B) อ่านค่ามุมได้ 319° 58' 11"
- หมุนกล้อง (ทวนเข็มนาฬิกา) ส่องไปยังเป้าหน้า (B) อ่านค่ามุมได้ 179° 59' 57"
(ค่ามุมที่อ่านได้จากกล้องหน้าซ้ายคือ 139° 58' 14")
ดังนั้น ค่ามุมเฉลี่ยจากการวัดค่ามุมชุดที่ 1 เท่ากับ 139° 58' 12"
* ในยุค Wild T-Series เฟื่องฟูดังกล่าว ถึงแม้จะมีกล้องสำรวจธีโอโดไลท์ ที่มีความละเอียดทางมุมอยู่ในเกณฑ์ที่ดีเยี่ยม แต่ก็ยังติดปัญหาอยู่ที่ 'การวัดระยะทาง' ซึ่งต้องกระทำโดยการลากเทปเหล็ก เทปผ้า ฯลฯ เท่านั้น และนั่นคือความคลาดเคลื่อนที่เกิดขึ้น เมื่อนำระยะทางที่วัดได้ไปคำนวณร่วมกับค่ามุมที่อ่านได้จากกล้องสำรวจฯ (ระยะทางยิ่ง 'มาก' ความคลาดเคลื่อนจากการวัดฯ ก็ยิ่งเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว)
>> หลักการพื้นฐานในการรังวัดค่ามุม หรือการหาความสัมพันธ์เชิงมุมระหว่างแขนของมุมทั้ง 2 ด้าน ข้างต้น เป็นหลักทฤษฎีที่ถูกคิดค้นมาตั้งแต่ยุคกรีกโบราณ และหลักทฤษฎีการคำนวณดังกล่าวยังคงถูกใช้ต่อเนื่องมาจนถึง 'ปัจจุบัน' ผ่านการเวลามาหลายร้อยปี...ถึงแม้ว่าเครื่องมือสำรวจฯได้ถูกพัฒนาไปตามยุค ตามสมัย มีความถูกต้อง แม่นยำมากขึ้น...แต่สิ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลง และยังคงดำรงค์อยู่เช่นนั้นนับจากอดีต จนถึงปัจจุบัน...นั่นคือ "สูตรฯทางเรขาคณิต" สูตรฯเมื่อยุคร้อยปีก่อนเป็นเช่นไร...วันนี้ ก็ยังคงเป็นเช่นนั้น...หาได้เปลี่ยนไปไม่

งานสำรวจวงรอบ ปฐมบท
เส้นฐาน Base line AB เส้นหนึ่ง ที่ทราบค่าภาคของทิศ+ระยะทาง และเมื่อทราบค่ามุมระหว่างเส้น AB ไป AC จะทำให้สามารถคำนวณหาค่ามุม ระยะทาง ภาคของทิศของด้านที่เหลือได้ ตามกฏของเรขาคณิต 
เมื่อพื้นที่สำรวจมีขนาดใหญ่ที่ใหญ่ขึ้น เกินกว่าที่หมุดควบคุมทางราบที่มีอยู่เพียง 2 หมุด (AB ตามภาพข้างต้น) จะทำการสำรวจรังวัดไปได้ทั่วถึง...จึงจำเป็นที่จะต้องสร้าง หรือขยายหมุดควบคุมทางราบเพิ่มเติม เพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่สำรวจทั้งหมด
การขยายหมุดควบคุมทางราบ ต้องอาศัยหลักการคำนวณทางเรขาคณิตช่วยในการตรวจสอบความถูกต้องของค่ามุม เมื่อทำการรังวัดค่ามุมแบบต่อเนื่องกันไป และเส้นรังวัดเข้าบรรจบตัวเอง  (Loop Misclosure) หรือบรรจบกับหมุดควบคุมฯที่ทราบค่า (Known Azimuth)

ความคลาดเคลื่อนที่เกิดขึ้นจะถูกนำไปเปรียบเทียบกับงานวงรอบ 'ในอุดมคติ' นั่นคือ การรังวัดค่ามุมบรรจบ มีค่า Error = 0.000 ซึ่งไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในความเป็นจริง ฉะนั้น 'ค่าความคลาดเคลื่อนต่าง' ที่เกิดขึ้น จะถูกนำมาปรับแก้ด้วยกฏการคำนวณงานวงรอบ ซึ่งภายหลังจากการคำนวณปรับแก้แล้ว ค่าความถูกต้องที่เกิดขึ้น สามารถนำไปเปรียบเทียบในระบบงานมาตรฐานการสำรวจวงรอบ ว่าอยู่ในเกณฑ์ความถูกต้องในลำดับใด หรือต้องทำการสำรวจฯวงรอบ ซ้ำอีกครั้ง
* การคำนวณงานวงรอบ เมื่อต้องอ้างอิงเข้ากับระบบพิกัดฉาก (Rectangle Polar) ในแนวระนาบคาร์ทีเชียน (Plane Grid) คือการยึดโยงค่าพิกัดจากหมุดควบคุม (หมุดแรกออก) ที่ทราบค่า แล้วทำการคำนวณถ่ายทอดค่าพิกัดไปยังหมุดควบคุมถัดไป โดยอาศัยค่ามุม และระยะทาง มาใช้ในการคำนวณ
ตัวอย่าง การตรวจสอบผลรวม 'มุมภายใน' ของงานวงรอบ

กฏการคำนวณงานวงรอบ
>> ผู้เขียน ในยุคสมัยที่ยังเป็นลูกศิษย์ขั้นฝึกหัดในสถานศึกษา ครูฝึกท่านถ่ายทอดวิทยายุทธการคำนวณปรับแก้งานวงรอบ (แบบเขียนตารางปรับแก้ฯ ลงกระดาษ) ให้เพียง 2 วิธี (เมื่อกว่า 20 ปีที่แล้ว) ได้แก่วิธี Bowditch/Compass Rule และ Transit Rule 
เมื่อลูกศิษย์ก้าวออกมาสู่ยุทธภพ งานสำรวจฯอาชีพของจริง...ยุทธจักรอันกว้างใหญ่นี้ ยังมีสุดยอดเคล็ดวิชาการปรับแก้งานคำนวณวงรอบขั้นล้ำลึก ซับซ้อน ที่อาจารย์ท่านไม่ได้สอนสั่ง
- Crandall Rule
- Least Squares (ใช็โปรแกรมประยุกต์ อาทิ Carlson Survey, MicroSurvey Star*NET ฯลฯ)
* ผู้เขียนนิยมคำนวณงานวงรอบด้วยวิธี Bowditch/Compass Rule เพื่อใช้ในงานสำรวจฯทั่วๆไป และนิยมใช้โปรแกรมประยุกต์ MicroSurvey Star*NET หรือ Control Networks Analysis สำหรับงานคำนวณวงรอบ/บรรจบ ชั้นสูง (งานสำรวจฯทางวิศวกรรม)

หลักเกณฑ์การตรวจสอบความถูกต้องของ งานวงรอบ (เข้าบรรจบ) 
มาตรฐานค่าความคลาดเคลื่อนของระยะบรรจบ (Misclosure) หลังจากการปรับแก้ค่าอะซิมัทแล้ว
  • งานชั้นที่ 1     0.04√K หรือ 1:100,000
  • งานชันที่ 2 
                   Class 1  0.08√K หรือ 1:50,000
                   Class 2  0.20√K หรือ 1:20,000
  • งานชันที่ 3 
                   Class 1  0.40√K หรือ 1:10,000
                   Class 2  0.80√K หรือ 1:5,000

>> จากที่ได้ลำดับความ วิธีการสำรวจฯ และการคำนวณปรับแก้งานวงรอบข้างต้น...ผู้เขียนต้องการที่จะ ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการ 'ขยาย' หมุดควบคุมทางราบต่อเนื่องออกไป ซึ่งจะต้องอาศัยการสำรวจรังวัด และการคำนวณที่ถูกต้อง เพื่อให้ได้มาซึ่ง 'ค่าพิกัดประจำหมุดฯ' (งานสำรวจฯวงรอบแบบ 2D) ที่มีความคลาดเคลื่อนน้อยที่สุด และอยู่ในเกณฑ์ความถูกต้องที่ยอมรับได้ ตามมาตรฐานงานสำรวจรังวัดวงรอบ...อีกทั้งยังสามารถทำการตรวจสอบอ้างอิงกับหมุดควบคุมฯ อื่นๆได้

และถึงแม้ว่าในยุคสมัยข้างต้น ที่ผู้เขียนขอเรียกว่าเป็นยุค 'Manual' ที่ต้องทำการส่องเล็งอ่านด้วยสายตาตนเอง การจดบันทึกด้วยมือ การเดินเท้าลากสายเทปวัดระยะทาง ฯลฯ...ถึงกระนั้น งานสำรวจวงรอบ ที่เกิดจากระบบ 'Manual' ดังกล่าว ก็ยังสามารถจัดเข้าลำดับมาตรฐานงานสำรวจฯวงรอบได้
* ผู้เขียน เป็นพวกกลุ่มอนุรักษ์นิยม ที่แม้ว่าจะมีกล้องฯ Total station เอาไว้ใช้งานแทนกล้องฯ Theodolite...แต่...คราวใดที่ต้องการขยายหมุดควบคุมฯออกไป และเข้าบรรจบหมุดฯเป็นวงรอบ ผู้เขียนนิยมที่จะนำเอากล้องฯโททอล สเตชั่น มาอ่านค่ามุม 'เป็นชุดๆ' และคำนวณปรับแก้วงรอบ ตามหลักการข้างต้นเสมอ (ค่ามุมอะซิมัทของเส้นรังวัดจะ 'นิ่ง' มากกว่าการขยายหมุดควบคุมฯด้วยการรังวัดดาวเทียมด้วย GPS ในกรณีที่พื้นที่สำรวจฯมีขนาดไม่ใหญ่มากนัก)
* ในบางไซต์งานที่ต้องการความละเอียดสูงทางมุม ผู้เขียนมักจะนำกล้องธีโอโดไลท์ Wild T2 (รุ่นคุณปู่) ซึ่งมีความละเอียดทางมุม 0.5" ไปอ่านค่ามุม  แทนการใช้กล้องโททอล สเตชั่น ที่มีความละเอียดทางมุม 5.0"
    

* สำหรับท่าน ที่ยังคงใช้งานกล้อง 'ธีโอโดไลท์' ทั้งที่เป็นแบบ Manual รุ่นเก่า อาทิ ตระกูล Wild  T-Series ข้างต้น หรือจะเป็นรุ่นดิจิตอลในยุคปัจจุบัน...ผู้เขียน 'ขอคารวะ' ท่านด้วยใจ เพราะ...การที่จะใช้กล้องฯในกลุ่มนี้ได้อย่างถูกต้องสมบูรณ์...ท่านจะต้องเข้าใจหลักวิธีการ รวมถึงมีพื้นฐานความรู้ 'การคำนวณ' เป็นอย่างดี ซึ่งนับวันท่านเหล่านี้ จะหาได้ยากในบ้านเรา...

ซึ่งต่างจากผู้ใช้งานกล้องโททอล สเตชั่นในยุคนี้ ที่ชนชาวนักสำรวจฯบางกลุ่ม 'กดปุ่ม' เป็นอย่างเดียว หรือมีศัพท์สแลงของฝรั่งที่เรียกคนกลุ่มนี้ว่า "The Button Man" (TBM)

นิยาม: The Button Man (TBM) หมายถึง ช่างสำรวจรังวัดที่เก่งเรื่องงานสำรวจฯ ในหน้างานสนาม สามารถใช้เครื่องไม้ เครื่องมือสำรวจได้คล่องแคล่ว ดูแล้วมีความชำนาญในวิชาชีพ เป็นอย่างดี...แต่...เมื่อให้อธิบาย หรือบอกเล่าถึงวิธีการ หลักการคำนวณ หรือที่มา-ที่ไปของงานสำรวจฯที่ตนเองกำลังดำเนินอยู่...ปรากฏว่า 'ดับสนิท' ไม่รู้เรื่องอะไรเลย อธิบายอะไรไม่ได้ ซึ่งคำศัพท์ดังกล่าวของชาวฝรั่ง แปลเป็นภาษาของชาวสารขันธ์ได้ประมาณว่า 'คนที่ กดปุ่มเป็นอย่างเดียว'

ยุคนี้ ที่ดีกว่าเดิม?
>> ในยุคปัจจุบัน ที่มีความเจริญก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีงานสำรวจฯสมัยใหม่ ที่มีทั้ง Laser, Infrared, GPRS, GPS, Terrestrial Scanner, WiFi, Bluetooth ฯลฯ ถูกติดตั้งในอุปกรณ์สำรวจฯมาให้พร้อมสรรพ ซึ่งทำให้เครื่องมือสำรวจฯมีความถูกต้อง มีความแม่นยำสูงขึ้น และยังสามารถทำงานได้ในระบบอัติโนมัติในการส่องเล็ง ตลอดจนบันทึกข้อมูลสำรวจ ให้เสร็จสรรพ
จากกล้องฯ Theodolite + เทปวัดระยะทาง เปลี่ยนมาเป็นกล้องฯ Total station ที่สามารถรังวัดค่ามุม และระยะทางได้ในคราวเดียว อีกทั้งการวัดระยะทางด้วย EDM ในกล้องโททอล สเตชั่น จะให้ผลลัพธิ์ที่ 'ดีกว่ามาก' เมื่อเปรียบเทียบกับการวัดระยะทางด้วยการลากเทปวัดระยะ...แต่...ท่านทราบหรือไม่ว่า เมื่อต้องทำการสำรวจรังวัดวงรอบ...หลักและวิธีการเมื่อร้อยปีที่แล้วเป็นเช่นไร...การใช้งานกล้องฯ Total station รุ่นไฮเทคที่สุด ณ ปี พ.ศ. นี้ ก็ยังคงอาศัยหลัก และวิธีการเหล่านั้นเช่นเดียวกัน ในการทำการสำรวจฯ และคำนวณวงรอบ
คำถามมีอยู่ว่า: การมีเครื่องมือสำรวจฯในยุคปัจจุบัน ที่มีความถูกต้องแม่นยำสูง เอาไว้ใช้งาน...แต่ด้วยเหตุผลกลใด ทำไมผลงาน หรือข้อมูลสำรวจฯที่ได้มา (บางครั้ง) กลับมี 'ความคลาดเคลื่อนมากกว่า' การใช้เครื่องมือสำรวจ 'ยุคโบราณ' เสียอีก โดยเฉพาะงานสำรวจฯวงรอบ...มันเกิดอะไรขึ้น? คน? เครื่องมือ? ดินฟ้าอากาศ? เกิดอาเพศ อาถรรพ์?

Author supported to Thai Topo and Land Surveyors United