Wednesday 24 October 2012

AutoCAD: New Icon Command (การสร้างไอคอนคำสั่ง)


>> ย้อนกลับไปในยุคอดีต ในช่วงเวลาเปลี่ยนถ่ายจากการพิมพ์คำสั่งที่ Command line ใน AutoCAD 'R' series มาสู่ AutoCAD 2000 (เวอร์ชั่นถูกเรียกชื่อตามปี ค.ศ. นับแต่นั้นมา) ซึ่งมีไอคอนคำสั่งให้คลิกเลือกใช้งาน ได้อย่างสะดวกพอสมควร (แต่ไม่ทั้งหมด) และในยุคปี 2000 ดังกล่าวยังเป็นยุคทองของชนชาว AutoLisp ที่เขียนคำสั่งใช้งานเพื่ออำนวยความสะดวกในการใช้งานโปรแกรม AutoCAD มากยิ่งขึ้น 

สร้างแจกกันไปทั่วทิศ ทั่วแดน (ผู้เขียนก็ได้รับอานิสงค์อยู่หลายเติบ อาทิ Lisp การแปลงหน่วยจากตารางเมตร เป็น ไร่-งาน-ตารางวา เพียงแค่คลิกออปเจ็คที่เป็นวงรูปแบบปิด)...ยุค AutoLisp เฟื่องฟูดังกล่าว ได้ก่อให้เกิด การสร้างไอคอนคำสั่งสำหรับ ไฟล์ Lisp นั้นๆ เพื่อใช้การคลิกที่ไอคอน แทนการพิมพ์คำสั่งที่ command line (+ปัญหาพิมพ์ถูก-พิมพ์ผิด)

Hand On:
1. พิมพ์คำสั่ง CUI ที่ command line จะแสดงหน้าต่าง Customize User Interface
<คลิกที่ภาพ เพื่อขยาย>

2. คลิกที่รูปดาว (วงกลม) เพื่อสร้าง command ขึ้นมาใหม่ จะเห็นหน้าต่างทางด้านขวา แสดงคุณลักษณะของคำสั่งที่ต้องการจะสร้าง
    2.1 ใส่ชื่อคำสั่ง
    2.2 ที่ Macro ^c^c พิมพ์ _ และตามด้วยคำสั่งของโปรแกรม AutoCAD หรือคำสั่งของ Lisp ดูตัวอย่างการพิมพ์ตามภาพด้านล่าง (ต้องใช้เครื่องหมาย _ (Under score) เสมอในการสร้างคำสั่ง โดยจะอยู่หลัง ^c^c)
หมายเหตุ: การสาธิตนี้ใช้คำสั่ง overkill ซึ่งเป็นคำสั่งที่กำหนดให้ตัวโปรแกรมทำการลบตัวออปเจ็คที่ซ้อนทับกันอยู่ออกจาก drawing

    2.3 เลือกการแสดงผลของภาพ (ในการสาธิตนี้ เลือกทั้งสองแบบ)....สามารถเลือกเอาจากไอคอนที่โปรแกรมเตรียมไว้ให้ หรือนำไอคอนที่มีอยู่แล้วมาแก้ไขใหม่

3. คลิกที่คำสั่ง Edit จะปรากฎหน้าต่าง Button Editor ทำการออกแบบคำสั่งที่ต้องการ ...หรืออาจจะใช้วิธีการนำเข้าภาพอื่นๆ (ที่มีขนาดเล็กเป็นไฟล์ *.bmp) 
* Export ภาพเก็บเอาไว้ ตัวโปรแกรมจะเปิดหน้าต่าง Customize User Interface > Apply > OK

4. คลิกขวาที่แท๊ปคำสั่ง เลือก Customize จะเห็นหน้าต่าง Customize User Interface > เลือกไปที่คำสั่งที่สร้างไว้จากขั่นตอนข้างต้น

5. ลาก (Drag) ไอคอนไปวางไว้ในแท๊ปคำสั่งที่ต้องการ
* ผู้เขียนเป็นผู้ที่ใช้งานโปรแกรม AutoCAD แบบพอไปวัดไปวา ไม่ชำนาญเท่าใดนัก...แต่บุคคลซึ่งผู้เขียนขอเรียกว่า เป็นผู้มีความรู้ ความสามารถในการใช้งานโปรแกรม AutoCAD ได้อย่างชำนาญนั้น คือผู้ที่สามารถเขียนคำสั่ง Autolisp 'เป็น' ครับ ผู้ซึ่งสามารถเขียนชุดคำสั่งเหล่านี้ได้...นับวัน เริ่มจะหายากครับ ผู้เขียนเองก็รู้จักเพียงไม่กี่คน...

Author supported to Thai Topo and Land Surveyors United

Monday 22 October 2012

วิธีการโพสต์ข้อความในบล๊อค

>> มีหลายท่านที่สอบถามเข้ามา เกี่ยวกับการโพสต์ข้อความในบทความต่างๆ ว่าต้องทำอย่างไรบ้าง ดังนั้นผู้เขียนจึงขออนุญาติเขียนอธิบายขั้นตอน ดังต่อไปนี้ครับ

วิธีการเขียนข้อความ/ข้อเสนอแนะ ฯลฯ
>> หลังจากพิมพ์ข้อความที่ต้องการแล้ว ให้เลือก Anonymous หรือลงชื่อด้วย Account อื่นๆ เช่น Gmail, WordPress แล้วคลิกที่ปุ่ม Publish (ตามภาพด้านล่าง) 
<<คลิกที่ภาพ เพื่อขยาย>>

>> จะพบกับหน้าต่าง ให้พิมพ์รหัสตามภาพที่เห็น (ถ้าต้องการเปลี่ยนภาพ ให้คลิกที่รูป ลูกศรกึ่งวงกลมทางด้านขวาล่าง) เมื่อเสร็จแล้ว คลิก Publish จากนั้น ข้อความก็จะถูกโพสต์ขึ้น
** ระหว่างตัวหนังสือที่พิมพ์ลงไป กับตัวเลข ให้เคาะเว้นวรรค หนึ่งครั้ง


วันอังคารที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2555
'กลัวว่าจะเก่งกว่า'

>> สำหรับท่านนักสำรวจฯ และนักการแผนที่ฯชาวลาว ที่มีจำนวนผู้เข้ามาอ่านบทความต่างๆ มีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ และหลายท่านได้ส่งอีเมลล์เข้ามาสอบถามเรื่องต่างๆ โดยเฉพาะปัญหาในการใช้งานโปรแกรม ฯลฯ...ซึ่งผู้เขียนได้ตอบอีเมลล์คำถามทุกฉบับ ทุกข้อสงสัย/ปัญหา (สำหรับขั้นตอนสั้นๆ) ส่วนผู้ที่ต้องการศึกษาวิธีการในเรื่องที่ต้องใช้เวลามากในการอธิบาย อาธิ การใช้งานโปรแกรม Discover ของ MapInfo...ผู้เขียนต้องขออภัย เนื่องด้วยข้อจำกัดทางด้านเวลา แต่ทั้งนี้ผู้เขียนได้จด/ลิส หัวข้อดังกล่าวเก็บไว้แล้ว เผื่อว่าในอนาคตจะมีโอกาสเขียนอธิบายวิธีการ เผยแพร่ต่อไปครับ

ส่วนท่านที่ส่งอีเมลล์เข้ามาสอบถามถึงการพิมพ์ข้อความ หรือคำถามเป็นภาษาลาวได้หรือไม่นั้น...ผู้เขียนยินดีครับ และสามารถอ่านเข้าใจได้ (มีฟ้อนท์ภาษาลาว) และสามารถเขียนได้พอสมควร  ^_^ (ทำงานอยู่ที่ลาว มาหลายปี) ส่วนท่านที่พิมพ์เป็นภาษาไทย สะกดถูกบ้าง ผิดบ้าง ไม่ว่ากันครับ ตามสบาย (หรือจะพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษก็ยินดี)

>> มี 2-3 ท่านที่ให้ข้อมูลกับผู้เขียนว่า ความรู้ทางด้านงานสำรวจฯ รวมถึงการใช้งานโปรแกรมประยุกต์ต่างๆ ฯลฯ ไม่มีคนลาวท่านใดๆ ออกมาเขียนเผยแพร่ให้ความรู้ในลักษณะนี้ รวมถึงตำรา หรือคู่มือต่างๆ ก็ไม่มีท่านใดแต่งขึ้นมา ฉะนั้นการเข้าถึงความรู้ วิชา เหล่านี้ จึงมีข้อจำกัด...แม้แต่การสอนต่อๆ กัน หรือถ่ายทอดความรู้ให้กันนั้น ถ้าไม่ฮักแพง (รักกันมาก) กันจริงๆ ก็จะไม่สอนให้...ผู้ให้ข้อมูลพูดเป็นภาษาลาวว่า 'ย่านลื่นกัน' ซึ่งมีความหมายในภาษาไทยประมาณว่า 'ถ้าข้าบอกเอ็ง สอนเอ็ง ว่าทำอย่างนี้ อย่างนั้น ต่อไปเอ็งรู้แล้ว ทำเป็นแล้ว เอ็งก็จะเก่งกว่าข้า'

>> ไม่เฉพาะแต่ในประเทศของท่านดอกครับ ที่มีความคิดเช่นนี้ (หวงวิชา) ในประเทศสารขันธ์ของผู้เขียนก็มีเหตุการณ์ในลักษณะนี้เช่นกัน...ไม่ว่ากันครับ เป็นสิทธิของเขา ที่จะไม่บอก ไม่สอน ไม่ถ่ายทอดความรู้ให้ (กลัวว่าถ้ารู้แล้ว เดี๋ยวจะเก่งกว่า)

แต่อย่างน้อยที่สุดในเว็บบล๊อคแห่งนี้ ผู้เขียนไม่เคยมีความคิดเช่นนั้น และยินดีที่จะเผยแพร่ความรู้ และประสบการณ์สู่ท่านผู้สนใจศึกษา และมีใจรักในศาสตร์ทางด้านนี้ครับ

"ยินดีและเป็นเกียรติครับที่ท่านเข้ามาเยี่ยมชม ศึกษาหาความรู้ในเว็บบล๊อคเล็กๆแห่งนี้"
"และผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่า เนื้อหา ความรู้ต่างๆ จะเป็นประโยชน์ต่อท่านบ้าง ไม่มากก็น้อย"

ขอบคุณครับ
Author supported to Thai Topo and Land Surveyors United

Tuesday 16 October 2012

AutoCAD: Layer State

ขออธิบายคำสั่ง โดยขอยกตัวอย่างดังนี้ครับ
>> ผู้เขียนมีงาน drawing [A] ซึ่งประกอบด้วยเลเยอร์จำนวนมาก และแต่ละเลเยอร์ ยังถูกกำหนด ชนิดของลายเส้น, สเกล, สี, และอื่นๆ แยกปลีกย่อยซับซ้อนลงไปอีก...และถ้าผู้เขียน ต้องการสร้าง drawing [B] ขึ้นมาใหม่ โดยยังคงรูปแบบ และข้อกำหนด ต่างๆ ของเลเยอร์ให้เหมือนกับ drawing [A] ทุกประการ...ถ้าเป็นสมัยก่อน ผู้เขียนต้องเสียเวลามานั่งปรับ นั่งแก้ไปทีละเลเยอร์ หรือไม่ก็ 'ลักไก่' โดยการ ก๊อปปี้ตัว drawing ต้นฉบับ แล้วเอามาลบออปเจ็คออกให้หมด แล้วเซฟเป็น drawing ใหม่ที่ต้องการ...และนั่นคือเวลาที่เคยเสียไปแล้ว (เลเยอร์ยิ่งมาก เวลาที่ใช้ก็มากตามไปด้วย)

ยุคนี้คำสั่ง Layer State จึงเป็นเครื่องมืออำนวยความสะดวกเพื่อการนี้ครับ 
<<คลิกที่ภาพ เพื่อขยาย>>
จากภาพข้างต้น คือเลเยอร์ ที่ผู้เขียนได้ตั้งค่าลายเส้น ชื่อ/Code สเกล สี ฯลฯ และต้องการที่จะนำค่าเซ็ตติ้ง+จำนวนของเลเยอร์เหล่านี้ไปใช้ใน drawing ที่จะสร้างขึ้นใหม่ อีกทั้งต้องการจะส่งค่าเซ็ตติ้งของเลเยอร์เดียวกันนี้ไปให้ทีมงานใช้ ในต่างจังหวัด O_o

Hand On:
1. ที่ Layer Stage Manager >> เลือก New และตั้งชื่อ+รายละเอียด (หรือปล่อยว่าง)

2. คลิกที่ Edit จะพบหน้าต่าง Edit Layer State ตามภาพด้านล่าง ซึ่งจะแสดง layer ทั้งหมด ทีมีอยู่ใน drawing 'ต้นฉบับ' และในขั้นตอนนี้ สามารถที่จะ นำเข้า/ลบ เลเยอร์ที่ไม่ต้องการ ได้ที่คำสั่ง ที่มุมซ้ายล่าง

3. คลิกที่คำสั่ง Export แล้วเซฟเป็นไฟล์ *.las เก็บเอาไว้

4. ที่ drawing ใหม่ >> ที่ Layer Stage Manager >> เลือก Import >> เลือกไฟล์ *.las ที่เซฟเอาไว้จากข้อที่ 3
* อย่าลืมส่งอีเมลล์ไฟล์ *.las ไปให้ทีมงาน ที่ต่างจังหวัด :)

Thursday 11 October 2012

การทำระดับด้วยกล้อง Total station (ตรีโกณมิติ)

บทความอ้างอิง >> การถ่ายค่าระดับจากหมุดที่ทราบค่ามาสู่ตัวกล้องฯ ด้วยหลักทฤษฎี 'ตรีโกณมิติ'
>> ในบางสภาวะการณ์หน้างานสนาม ที่ไม่มีกล้องระดับ+ไม้สตาฟให้ใช้ การประยุกต์กล้องโททอล สเตชั่น มาใช้ในงานระดับ เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ซึ่งสามารถทำได้โดยการใช้หลักทฤษฎีตรีโกณมิติ มาช่วยในการคำนวณ เมื่อทราบมุมดิ่ง Zenith และระยะทางลาด SD (หรือระยะทางราบ HD) ไปยังเป้าปริซึม

* ไม่ใช่การล็อคแกนดิ่งของตัวกล้องส่องให้เป็น 90* 0' 00" แล้วนำไปตั้งอ่าน FS./BS. กับไม้สต๊าฟ...ถึงแม้จะทำได้จริงในทางทฤษฎี แต่...'เสียดายของ'

>> การใช้งานกล้องโททอล สเตชั่น ทั่วๆไป ตัวกล้องฯมักจะถูกตั้งอยู่บนจุด/หมุดที่ทราบค่าระดับ เพื่อใช้ถ่ายค่าระดับจากจุดตั้งกล้องฯไปยังเป้าหมายที่ต้องการ แต่ในการสาธิตการคำนวณการทำระดับด้วยหลักของตรีโกณมิติ นี้ จะใช้วิธีการถ่ายค่าระดับ จากเป้าหลัง BS. ผ่านไปสู่เป้าหน้า FS. โดยการตั้งกล้องฯ ณ ตำแหน่งใดๆ ระหว่างเป้าหลัง และเป้าหน้า โดยที่ไม่จำเป็นจะต้องตั้งกล้องฯอยู่บนจุด/หมุด ที่ทราบค่าระดับ (เช่นเดียวกับการใช้งานกล้องระดับ ที่ตั้งกล้อง ณ จุดใดๆ ระหว่างไม้สตาฟหลัง และไม้สตาฟหน้า)
<คลิกที่ภาพ เพื่อขยาย>

จากภาพสาธิตข้างต้น สามารถคำนวณหาค่าระดับที่จุด/หมุดของเป้าหน้า FS. เมื่อทราบค่า;
- ค่าระดับที่หมุดเป้าหลัง BS. = 105.211
- ระยะทางลาดจากตัวกล้องไปยังเป้าหลัง BS. (Slope distance) = 55.784
- ค่ามุมดิ่ง Zenith อ่านไปยังเป้าหลัง BS. = 73* 47' 27"
- ความสูงของกล้องฯ = 0.8843
- ความสูงของเป้าหลัง BS. = 1.255

- ระยะทางลาดจากตัวกล้องไปยังเป้าหน้า FS. (Slope distance) = 55.784
- ค่ามุมดิ่ง Zenith อ่านไปยังเป้าหน้า FS. = 115* 56' 7"
- ความสูงของกล้องฯ = 0.8843
- ความสูงของเป้าหน้า FS. = 1.315

วิธีการคำนวณ การถ่ายค่าระดับจากเป้าหลังมาสู่แกนกล้องฯ;
1. ค่าระดับที่หมุดเป้าปริซึม + ความสูงของเป้าปริซึม = 106.466 (ค่าระดับที่จุดกึ่งกลางดวงปริซึมหลัง)
2. 90 องศา - ค่ามุมดิ่ง Zenith = 90*-73? 47' 27" = 16* 12' 33" (มุมภายใน)
3. 106.466 - (55.784 x Sin 16* 12' 33") = 90.894 (ค่าระดับที่แกนกล้องฯ)

วิธีการคำนวณ การถ่ายค่าระดับจากแกนกล้องฯ ไปสู่จุด/หมุด ของเป้าหน้า;
4. 90 องศา - ค่ามุมดิ่ง Zenith = 90*-115? 56' 7" = -25* 56' 7" (มุมภายใน)
5. กลับเครื่องหมายลบ (มุมภายใน,มุมก้ม) ให้เป็นเครื่องหมายบวก โดยการคูณด้วย (-1) = 25* 56' 7''
6. 90.894 (ค่าระดับที่แกนกล้องฯ) - (55.784 x Sin 25* 56' 7") = 66.497 (ค่าระดับที่จุดกึ่งกลางดวงปริซึมหน้า)
7. 66.667 (ค่าระดับที่จุดกึ่งกลางดวงปริซึมหน้า) - 1.315 (ความสูงของเป้าหน้า FS.) = 65.182 (ค่าระดับที่หมุดของเป้าหน้า)

ดังนั้น ค่าระดับที่ จุด/หมุดของเป้าหน้า ? = 65.182
(* ในโอกาสถัดไป จะแสดงวิธีการคำนวณด้วยการใช้ Cos แทนการใช้ Sin)

>>  ยกกล้องไปตั้งอ่านเป้าหน้า FS. ดังกล่าว (ซึ่งจะกลายเป็นเป้าหลัง BS.) ทำต่อเนื่องกันไป เช่นเดียวกับการใช้งานกล้องระดับ

หมายเหตุ;
* ความคลาดเคลื่อนของผลลัพธิ์ที่คำนวณได้ จะขึ้นอยู่กับความละเอียดของตัวกล้องฯ (สเป็คเครื่อง) และค่าความคลาดเคลื่อนของการวัดระยะทางด้วย EDM (ppm) 
อ่านเพิ่มเติม >> ppm (Parts Per Million)...1 ใน 1,000,000 ส่วน

* ข้อได้เปรียบที่สำคัญในการทำระดับด้วยกล้องโททอล สเตชั่น คือความสะดวก และรวดเร็ว โดยเฉพาะในพื้นที่ๆ มีความลาดชันสูง หรือการเข้าถึงกระทำได้ยากลำบาก
* ไม่แนะนำวิธีการข้างต้น ในงานระดับที่ต้องการความละเอียดสูง

*** สูตรการทำระดับด้วยกล้อง Total station (ตรีโกณมิติ) ข้างต้น จะถูกแปลงเป็นสูตรงานสำรวจฯ ในเครื่องคิดเลข fx-5800P (v.2013, ท่านที่สั่งซื้อหลังปีดังกล่าว จะมีสูตรนี้อยู่ในตัวเครื่องฯ) ส่วนท่านที่ได้ติดต่อขอซื้อเครื่องคิดเลข+สูตรงานสำรวจฯ ไปก่อนหน้านี้ ท่านจะได้รับเอกสาร (ผ่านทางอีเมลล์) ชี้แจงวิธีการบันทึกสูตรเหล่านี้ โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ซึ่งผู้เขียนได้จัดให้มีการอัพเดทสูตรใหม่ๆ เป็นประจำทุกปี (เท่าที่สามารถ) ตลอดจนอัพเดทสูตรฯไปยังเครื่องคิดเลข fx-CG10 Prizm (Free Download) 


วันพฤหัสบดีที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556
การใช้ Cos แทน Sin
>> เป็นวิธีการคำนวณอีกแบบหนึ่งโดยการใช้ Cos แทน Sin ในสมการ
จากภาพสาธิตข้างต้น สามารถคำนวณหาค่าระดับที่จุด/หมุดของเป้าหน้า FS. เมื่อทราบค่า;
- ค่าระดับที่หมุดเป้าหลัง BS. = 105.211
- ระยะทางลาดจากตัวกล้องไปยังเป้าหลัง BS. (Slope distance) = 55.784
- ค่ามุมดิ่ง Zenith อ่านไปยังเป้าหลัง BS. = 73* 47' 27"
- ความสูงของกล้องฯ = 0.8843
- ความสูงของเป้าหลัง BS. = 1.255

- ระยะทางลาดจากตัวกล้องไปยังเป้าหน้า FS. (Slope distance) = 55.784
- ค่ามุมดิ่ง Zenith อ่านไปยังเป้าหน้า FS. = 115* 56' 7"
- ความสูงของกล้องฯ = 0.8843
- ความสูงของเป้าหน้า FS. = 1.315

วิธีการถ่ายค่าระดับ จากหมุดที่ทราบค่าระดับมาที่แกนกล้องฯ: 
=> ค่าระดับที่หมุดเป้าปริซึมหลัง - ((ระยะทางลาดจากตัวกล้องฯไปยังเป้าหลัง x Cos ค่ามุมดิ่ง Zenith) + ความสูงของกล้องฯ) - ความสูงของเป้าปริซึมหลัง)

จะได้ 105.211 - ((55.784 x Cos 73* 47' 27") - 1.255) = 90.894 (ค่าระดับที่แกนกล้องฯ)

วิธีการถ่ายค่าระดับแกนกล้องฯ ไปที่หมุดฯของเป้าหน้า
=> ค่าระดับที่แกนกล้องฯ + (ระยะทางลาดจากตัวกล้องฯไปยังเป้าหน้าx Cos ค่ามุมดิ่ง Zenith) - ความสูงของเป้าปริซึมหน้า)

จะได้ 90.894 + ((55.784 x Cos 115* 56' 7") - 1.315) = 65.182 (ค่าระดับที่หมุดฯของเป้าหน้า)

* ที่มาของวิธีการคำนวณโดยการใช้ Cos แทน Sin ข้างต้น มาจากการชี้แนะจากสหายนักสำรวจชาวลาว (กระบี่มือหนึ่ง) ผู้ที่ยืนอยู่ในเรือ (ภาพโลโก้ด้านบนของเว็บ)...ขอขอบคุณ มา ณ โอกาสนี้

Sunday 7 October 2012

Terrestrial Scanner





Article Rejected !












Saturday 6 October 2012

ประสบการณ์เล็กๆ กับ Leica Builder

>> ในช่วงปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ผู้เขียนได้สังเกตุพบว่ากล้องมุม Theodolite ยี่ห้อ Leica ซีรี่ Builder มีให้เห็นหนาตามากขึ้นตามเหมืองแร่ขนาดเล็ก และตามไซต์ก่อสร้างคอนโดฯสูงๆ (แต่ทำไม คนส่องกล้องเป็นคนจีน?) และเมื่อช่วงกลางปีที่ผ่านมา ผู้เขียนได้มีโอกาสสนทนา สอบถาม กับคนอ่านกล้อง รุ่นดังกล่าวในหน้างาน...ก็ต้องถึงกับ อึ้ง ทึ่ง ฉงน เมื่อเห็นความสามารถของตัวกล้องรุ่นนี้กับตา (เดี๋ยวนี้มันทำได้ขนาดนี้เลยหรือ?)
แต่เดิม ผู้เขียนเข้าใจมาตลอดว่า กล้องมุม (Theodolite) ทั่วๆ ไป เป็นกล้องสำหรับงานในไซต์ก่อสร้าง สำหรับการสอบมุมดิ่ง-มุมราบ วางแนว วางไลน์ ส่วนการวัดระยะทางก็ใช้เทปลากกันไปมาให้ว่อนหน้างาน ก่อสร้างอาคาร บ้านจัดสรร ฯลฯ ดึงเทปตึงบ้าง หย่อนบ้าง ตามเรื่อง (พูดจาภาษาพม่ากัน ล้งเล้ง...ออปชั่นเสริม) ดูไปแล้วมันค่อนข้างหยาบพอสมควร ส่วนความละเอียดของมุมอยู่ที่ประมาณ 7" หรือ 9" ซึ่งก็เหมาะสมกับงานในลักษณะนี้

แต่เมื่อ...มาเจอกับเจ้า Leica Builder ที่ว่านี้ความคิดเดิมๆ ของผู้เขียนเหล่านั้นได้ถูก 'กลบ,ลบ และเขียนทับใหม่' (Overwrite) ด้วยความรู้ใหม่ๆ ที่ว่า เดี๋ยวนี้;

- กล้องมุม ถูกพัฒนา (ติด EDM) ให้อ่านระยะทางได้กันแล้ว
- มีระบบ Reflectoress ไม่ต้องใช้เป้าสะท้อน
- มีโปรแกรมคำนวณมากมาย ได้คำตอบเสร็จสรรพ 
- มี Wireless
- มี Bluetooth
- บันทึกข้อมูลจุดสำรวจได้ แต่เมื่อโหลดออกมาจากตัวกล้องฯแล้ว จะแสดงผลเป็นค่ามุม และระยะทาง (อันนี้ 'งง'...เหมือนมีกั๊ก จากทางผู้ผลิตฯ)

>> ย้อนกลับมาที่การสนทนาของผู้เขียนกับ คนกล้องฯ ซึ่งกำลังอ่านเก็บงาน สอบปริมาตรกองแร่ (ผู้เขียนแอบคิดในใจ แร่กองเบ้อเริ่ม เดินตั้งโพล กันไม่ถึง 20 จุด...'งานหยาบ' น่าดู) จับเวลาได้ไม่ถึง 20 นาที คนกล้องฯบอกเสร็จแล้ว แถมกดปุ่มคำนวณคลิกเดียว ได้คำตอบออกมาแล้ว xxx คิวบิคเมตร...โอว แม่เจ้า (อะไร มันจะไวปานวอกขนาดนั้น)...และก็ถึงบางอ้อ (ขึ้นในใจ) ที่ว่าทำไมพักนี้ถึงเห็นเจ้าตัว Leica Builder หนาหู หนาตาขึ้นตามไซต์เหมืองแร่ ซึ่งน่าจะมาจากความสามารถในการคำนวณปริมาตร แบบอัติโนมัตินี่เอง (ไม่ต้องเสียเวลาไปดาวน์โหลดข้อมูลจากกล้องฯ เข้าโปรแกรมคำนวณให้ยุ่งยากเสียเวลา)

ข้อสังเกตุของผู้เขียน:
- การสอบกองปริมาตร ถ้าเป็นกองเดี่ยวๆ ที่มีรูปทรงพื้นฐานง่ายๆ สูตรคำนวณที่ใช้น่าจะเป็นแบบ Prism Modal (Prismoid) ที่ไม่ซับซ้อน แต่ในกรณีที่รูปทรงของกอง ที่มีการซ้อนกอง เกยกัน เป็นชั้นๆ และมีการอ่านเก็บตำแหน่ง+ระดับ เป็นร้อยๆ พันๆ จุด...อยากถามว่า Leica Builder จะทำการคำนวณปริมาตรได้หรือไม่ และด้วยวิธีการคำนวณปริมาตรแบบใด (ถ้ายังตอบว่า Prismoid...ผลลัพธิ์การคำนวณปริมาตรที่ได้คงจะคลาดเคลื่อนน่าดู)

- ชื่อที่ถูกเรียกเจ้ากล้องตัวนี้คือ 'กล้องมุม' (Theodolite) ถ้าการดาวน์โหลดข้อมูลออกจากกล้องฯออกมาเป็นค่าพิกัด และ ค่าระดับได้...ก็น่าที่จะเรียกว่า กล้องโททอล สเตชั่น ได้เลย

- ราคาตัวท๊อปๆ ของรุ่น Builder (หลายแสน)...ราคานี้ ผู้เขียนเอาไปซื้อ กล้องโททอล สเตชั่น ดีกว่า